-
พิธีกร: ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ
เข้าสู่ TEDxChulalongkornU ครับ
-
ขอเชิญทุกท่าน พบกับ
อาจารย์อุ๊ อุไรวรรณ ศิวะกุล
-
กับทอล์คที่มีชื่อว่า "ศรัทธาราคาสิบบาท" ครับ
-
(เสียงปรบมือ)
-
เป็นไงคะ ฟังเพลงแล้ว กำลังระลึกถึงใครอยู่รึเปล่า
-
มีมั้ย ครูในดวงใจ
-
ครูที่เป็นแรงบันดาลใจ
-
ครูที่เปลี่ยนชีวิตเรา
-
ครูในที่นี้ครูไม่ได้หมายถึง
คนที่สอนหนังสือในห้องเรียนเท่านั้นนะ
-
เราพบเขาได้ทุกที่
-
แต่แค่ว่าเข้ามาในชีวิตเราเมื่อไหร่
-
เขานี่แหละจะหยิบยื่นสิ่งเล็ก ๆ สิ่งหนึ่งให้กับคุณ
-
และเจ้าสิ่งนี้แหละ มันจะจุดประกายบางอย่างในตัวคุณ
-
แล้วทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปเลย
-
ครูขอเรียกสิ่งนี้ว่า ศรัทธา
-
คุณรู้มั้ย อาจารย์อุ๊ที่มายืนอยู่บนเวทีแห่งนี้
-
ไม่ใช่คนเก่งแล้วก็คนดีเลิศมาตั้งแต่เกิดนะ
-
ตอนเด็ก ๆ คนรอบข้างเขามองครูว่ายังไงรู้เปล่า
-
เป็นเด็กไม่มีอนาคต
-
เป็นยังไง ครูเกเรเหรอ หรือครูติดยา
-
เปล่านะ ครูไม่ใช่เป็นคนแบบนั้น
-
แต่ครูเป็นเด็กที่ไม่เรียนหนังสือเลย
-
แล้วเรียนหนังสือไม่เก่ง
-
วัน ๆ ครูก็เอาแต่เล่น เล่น แล้วก็เล่น
-
พอครูจบป.7 ปั๊บ ครูไปบอกแม่เลย
-
แม่ หนูไม่เรียนต่อแล้วนะ หนูไม่อยากเรียน
-
หนูเบื่อมากเลย
-
แม่ดูมั้ย เพื่อนหนูทุกคนเขาลาออกกันหมดเลย
แล้วแม่เขาก็ให้ออกด้วย
-
แม่ก็บอกว่า แล้วเราล่ะ เราจะออกมาทำอะไร
-
ครูก็บอก ค้าขายไงแม่ ช่วยแม่ค้าขายไง
-
แม่บอกไม่ต้อง ไปเรียนต่อ
-
ครูก็เลยจำใจ ก็ได้ เพราะครูเป็นเด็กไม่ดื้อ
-
ครูก็ไปสอบเข้าโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด ม.หนึ่งนะ
-
แล้วผลเป็นไง สอบไม่ติด
-
ก็นำความเดือดร้อนมาให้แม่
-
แม่ก็เลยไปฝาก เขาก็รับนะ
-
เขาใจดีมาก เขารับทุกคน
-
เพราะเด็กที่สอบตก มีไม่กี่คน
-
แล้วครูก็เป็นหนึ่งในนั้นนะ
-
แล้วเขาก็บอกว่า
ให้แม่ช่วยทำโต๊ะเก้าอี้ไปให้เด็กเรียน
-
เพราะว่าโต๊ะเก้าอี้ไม่เพียงพอกับจำนวนเด็ก
-
แม่ก็อะ รับปาก
-
แล้วโต๊ะที่ทำไปนะ มันทาเชลแลค สีมันมันวับเลย
-
แล้วพอครูเข้าไปเรียนวันแรกนะ
-
ครูหันไปดูรอบห้อง
-
โอโห สีโต๊ะเรา
ทำไมมันดันไปแดงกว่าทุก ๆ คนเลย
-
พออาจารย์ดุ อาจารย์โมโห ชี้มาที่พวกเราเลย
-
พวกเราไอ้กลุ่มหลังห้องนะ
-
ไอ้เด็กโต๊ะแดง
-
เป็นที่รู้แล้ว
-
ไอ้เด็กเรียนอ่อนไง
-
ไอ้เด็กส่วนเกินไง
-
ไอ้เด็กฝากไง
-
ถึงแม้ว่าตอนเด็ก ๆ นี่
ครูจะเป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่ง
-
แต่ครูก็อยากได้การยอมรับนะ
-
อยากได้ความรัก
อยากได้การชื่นชมจากครูบาอาจารย์บ้าง
-
แต่รู้มั้ย ครูแทบจะไม่ได้สิ่งนั้นจากโรงเรียนเลย
-
กิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่โรงเรียนจัดขึ้นนี่
ครูอยากมาก
-
อยากจะได้มีส่วนร่วมกับเขา
-
แต่เชื่อมั้ย คนไม่เก่งแบบเรานี่อย่าหวัง
-
อย่าหวังที่จะได้เป็นตัวแทนทำอะไรกับเขาทั้งสิ้น
-
แม้กระทั่งกิจกรรมง่าย ๆ นะ ใคร ๆ ก็ทำได้
-
เชิญธงตอนเช้าอะ ครูยังอยากทำเลยนะ
-
เชื่อมั้ย เขายังคัดเด็กเก่งทำ
วนเวียนกันอยู่ไม่กี่คู่น่ะ
-
ครูก็นั่งรอ รอ รอ เมื่อไหร่จะถึงคิวเรา
-
เขามองว่าเราเป็นเด็กไม่เก่งไง
ให้ทำมันคงทำไม่ได้หรอก
-
ครูก็อยากถามว่าแล้วมันยากตรงไหน
-
มันยากตรงไหน
-
กับไอ้ที่มีเชือกมาแล้วจับมันมาดึง ดึง ดึงอะ
-
มันยากนักเหรอ ลองคิดดู
-
แค่นี้เขายังไม่ให้ทำ
-
เรียนตั้งสิบปีอะ ไม่ได้ทำเลยนะ
-
นั่นครูมานั่งคิดนะ
-
ถ้าสมมติว่าครูเรียนเก่ง แล้วครูสอบได้ที่หนึ่ง
-
แล้วหน้าตาสวย ๆ อย่างนี้ มีเหรอจะไม่ได้ทำ
-
ลองคิดดู ใช่มั้ยคะ
-
นี่ไงคะ ครูว่าโรงเรียนนะ
เขามีเส้นกั้น เด็กเก่ง เด็กอ่อน ชัดเจน
-
แล้วความรู้สึกอันนี้
พอนานวันมันไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องเรียนนะ
-
มันเข้ามาอยู่ในชีวิตจริงนะ
-
แล้วมันก็ติดตัวครูไปทุกหนทุกแห่ง
-
เหมือนครูโดนตัดสิน ตีตราไปเรียบร้อยละ
-
ไอ้เด็กคนนี้มันทำอะไรไม่ได้หรอก
-
ครูได้ยินได้ฟัง ได้ถูกการกระทำซ้ำ ๆ จนครูเชื่อ
-
ใช่ เราทำไม่ได้หรอก เราดีไม่ได้หรอก
-
เราเก่งไม่ได้หรอก เราเป็นได้แค่นี้แหละ
-
ความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวครูนะ ถดถอยลงทุกวัน
-
คุณเคยรู้สึกอย่างนี้มั้ย
-
เคยมีมั้ยซักครั้ง เคยมั้ยคะ
-
สมมติว่าอยากสอบเข้ามหาวิทยาลัย
-
อยากได้มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ชั้นนำของโลก
-
แต่อย่า อย่าคาดหวังเลย
-
เราไม่ใช่คนเก่งและหัวดีขนาดนั้น
-
นี่ไง นี่แหละ ความคิดของคนที่ขาดศรัทธาในตัวเอง
-
จุดเปลี่ยนในชีวิตครูนะ เกิดขึ้นตอนครูอยู่ม. 2
-
เมื่อก่อนนะ
ครูไม่เคยอ่านหนังสือไปสอบเลยซักครั้งเดียว
-
ครูไม่สนใจด้วยซ้ำไปว่าเขาสอบกันเมื่อไหร่
-
ครูใช้ชีวิตสบาย ๆ ชิล ๆ ไปวัน ๆ มีความสุขมาก
-
เป็นไง อิจฉามั้ย
-
แล้วครูไม่เคยคิดอะไรเลยนะ
วัน ๆ ครูอยู่อย่างนี้ของครูทุกวัน
-
จนมีอยู่ครั้งนึงนะ ตอนครูอยู่ม. 2
-
วันนั้นครูตั้งใจมาก
-
ตั้งใจไม่ใช่ตั้งใจเรียนนะ
-
ตั้งใจจะไปนั่งเล่นบ้านเพื่อน
-
เพราะบ้านเขาติดกันนะ
-
พอไปปึ๊บ เพื่อนเขานัดกันมาติวในวิชาภาษาไทย
-
ครูก็เลยไม่มีเพื่อนเล่น
อ้ะ นั่งติวด้วยก็ได้
-
ครูก็ไปนั่งร่วมกลุ่มกับเขา
-
แล้วเขาติวกันโดยการถามกันไป ถามกันมา
-
ซ้ำอยู่นั่นแหละ
-
เชื่อมั้ย เขาไม่หันมาถามครูเลย
-
แต่เราต้องคิดบวกถูกมั้ย ใช่มั้ยคะ
-
ที่เขาไม่ถามเรานี่นะ
เพราะเขาคิดว่า เขาให้เกียรติเรา
-
ถ้าถามแล้วเราตอบไม่ได้ เดี๋ยวเราก็อายสิคะ
-
นี่เห็นมั้ย ครูมีเพื่อนดี ๆ ทั้งนั้น
-
แล้วบรรยากาศในการติววันนั้น อื้อหือมันดีมาก
-
เป็นกันเอง ไม่กดดัน
และที่สำคัญมาก ไม่มีครูดุ
-
อื้อหือครูชอบมาก เรียนสนุก
-
แล้วก็ครูก็เลยจดจำได้ดี
-
พอครูไปสอบ โอ้โห ทำไมทำได้เยอะจังเลย
-
ยังไม่เคยทำได้แบบนี้มาก่อนในชีวิตเลยนะ
-
ผล ครูได้คะแนนสูงสุดในห้องเรียน
-
วันนั้นครูดีใจมาก
-
ครูไม่เล่นแล้วที่โรงเรียน ครูรีบกลับบ้านเลย
-
พอครูลงจากรถปั๊บครูวิ่งไปหาแม่ แล้วก็กอดแม่
-
แล้วเล่าให้แม่ฟัง
-
ครูจำได้ แม่ดีใจมาก
-
แม่คงคิดไม่ถึงว่าลูกคนที่ทำให้แม่ทุกข์ใจ
เรื่องการเรียนมาตลอดจะทำได้
-
แม่กอดนะ แล้วน้ำตาแม่ก็ไหล
-
ตอนนั้นครูรู้สึกผิดมาก
ที่ครูไม่ได้ตั้งใจเรียนมาตลอด
-
ครูอยากขอโทษแม่ แต่แปลก ครูไม่กล้าทำ
-
แล้ววันนี้ ตอนนี้ มันอยากจะทำ แต่ไม่มีโอกาส
-
วันนั้นนะ แม่ให้รางวัลเป็นเงินสิบบาท
-
แต่สิ่งที่แม่ให้วันนั้นมันมีค่ายิ่งใหญ่มาก
-
มันคือศรัทธาที่แม่ยื่นให้กับเรา
-
จากเด็กที่ไม่มีใครเห็นคุณค่าเลย
-
แล้วกำลังขาดความเชื่อมั่นตัวเองไปแล้วอะนะ
-
แต่แม่กลับเชื่อมั่นว่า
เราจะประสบความสำเร็จได้ ถ้าเป็นคนที่ตั้งใจ
-
แล้วหลังจากนั้น
แม่นี่ไปเล่าเพื่อนบ้านหมดนะ ไปเล่าหมดนะ
-
ครูรู้ได้ไง พอครูเดินไปไหน มีแต่คนทัก
-
อุ๊ยอุ๊เรียนเก่งแล้ว
-
อุ๊สอบได้ที่หนึ่งเหรอ
ทั้ง ๆ ที่ครูไม่ได้สอบได้ที่หนึ่งนะ
-
อุ๊สอบได้ที่หนึ่งเหรอ อุ๊เก่งมาก
-
จนครูรู้สึกว่า เฮ้ย ครูเก่งนะ
-
แม่ไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่แม่ทำในวันนั้น
-
มันได้จุดประกายบางอย่างในตัวครู
-
ทำให้ครูศรัทธาในตัวเอง เราเก่งนะ
-
นี่แหละมันคือจุดเปลี่ยนในชีวิตของครูเลย
-
ครูเริ่มคิด
ครูทำได้ ครูดีได้ และครูเก่งได้
-
และสิ่งที่ตามมาคืออะไร ครูกล้าที่จะฝัน
-
ครูตั้งจุดมุ่งหมายไว้สูงมาก
ครูต้องไปตามฝันให้ได้
-
ครูกล้าที่จะทำ ครูกล้าสู้
ไม่กลัวอุปสรรคอะไรทั้งสิ้นแล้ว
-
และผลสุดท้าย ครูก็ประสบความสำเร็จ
-
จากไอ้เด็กโต๊ะแดง
กลายเป็นเด็กที่สอบได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
-
และเป็นอาจารย์อุ๊ ที่มีลูกศิษย์หลายล้านคน
-
นี่คือจุดที่ครูประสบความสำเร็จ
-
คุณจำเส้นกั้นเด็กเก่งเด็กอ่อนได้มั้ย
-
วันที่ครูก้าวผ่านพ้นมันไป
ชีวิตครูเปลี่ยนไปเลยนะ
-
ครูเหมือนมาอยู่ในโลกอีกใบนึง
-
โลกที่เต็มไปด้วยการชื่นชม การยอมรับ
-
รางวันต่าง ๆ เข้ามาหาครูเพียบ
-
แต่ว่าครูว่ามันมาช้าไป
-
ในวันที่เราขาดสิ่งนั้น
เราต้องการใครซักคนนึงเขาหยิบยื่นให้เราหน่อย
-
มันกลับไม่มีเลยนะ
ไม่มีใครหยิบยื่นให้เราเลย
-
ณ วันนั้น ถ้าไม่มีแม่เป็นผู้ให้โอกาสและผลักดัน
-
ครูจะมีวันนี้มั้ย
-
นี่นะ คุณเคยมั้ย คุณเคยได้ยินมั้ย
-
นั่นเป็นคติในการสอนของครูมาตลอดนะ
-
มันเลยกลายเป็นคติในการสอนของครูมาตลอด
-
ว่า เด็กทุกคนที่ครูสอน ครูจะต้องรักเขา
ครูจะต้องให้โอกาสเขาทุกคน
-
ผู้ปกครองนี่ชอบถามครูบ่อยมาก
-
อาจารย์อุ๊ ทำไม เวลาอาจารย์สอนใคร
ทำไมเด็กถึงรักมาก
-
ทำไมพูดอะไรเด็กก็เชื่อ
-
อาจารย์มีเคล็ดลับอะไรรึเปล่า
-
ครูก็บอกเลย
-
เคล็ดลับของครูอะเหรอ
นอกจากเนื้อหาทางวิชาการแล้ว
-
นี่ไงคะ เหรียญสิบ
ที่แม่เคยหยิบยื่นให้กับครู
-
ครูจะยื่นศรัทธานี้แหละ ให้กับลูกศิษย์ครูทุกคน
-
ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นเด็กที่เรียนเก่ง
หรือเรียนอ่อนก็ตาม
-
เพราะนั่นคือคติในการสอนของครู
ที่ครูยึดมั่นมาตลอด
-
คุณเคยได้ยินมั้ยคะ
-
ที่เขาเปรียบเทียบว่าเด็กคือผ้าขาว
-
เคยได้ยินมั้ยคะ เคยใช่มั้ย
-
เขาชอบบอกว่าเด็กน่ะคือผ้าขาว
-
ส่วนผู้ใหญ่ก็ทำหน้าที่แต่งแต้มสีลงไปในผ้า
เพื่อให้ได้ภาพที่ออกมาสวยงาม
-
คุณเชื่อแนวคิดนี้มั้ย
-
แล้วอะไรจะเกิดขึ้น
-
ถ้าเกิดผ้าผืนนึง กว่ามันจะถึงมือคุณ
-
มันไม่ใช่สีขาวแล้ว
มันเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปแล้ว
-
คุณจะเอาผ้าผืนนั้นกลับมาวาดใหม่
ให้สวยงามไม่ได้อีกแล้วใช่มั้ย
-
แล้วคุณจะเอาผ้าผืนนั้นไปไว้ที่ไหน
-
หรือคุณจับมันโยนทิ้งไป
เหมือนกับเด็กเรียนอ่อนที่ถูกทิ้ง
-
สำหรับครูแล้ว ครูว่าเด็กไม่ใช่ผ้าขาว
-
ถ้าให้ครูเปรียบเทียบเด็กเป็นผ้า
-
ครูว่าเขาเป็นผ้าหลากหลายสีสันมาก
-
และหลากหลายชนิดที่ไม่ได้ซ้ำกันเลย
-
ทุกชนิดมีจุดเด่นของมันเอง
-
หน้าที่ของผู้ใหญ่ ต้องมอง มองให้เห็นคุณค่า
-
แล้วให้โอกาสกับผ้าทุก ๆ ผืน
-
หยิบมันขึ้นมาดูหน่อย
-
นี่ผ้าฝ้าย เหมาะกับอากาศร้อนนะ
-
นี่ผ้าไหม สีสันสวยสดดีไม่ใช่เหรอ
-
แม้กระทั่งผ้ายืดนะ ก็ดี
ซักง่าย แห้งเร็ว แล้วก็ไม่ต้องรีด
-
เห็นมั้ยคะ ทุกอย่างมันมีจุดเด่นของมันเอง
-
มอง มองให้เห็นจุดเด่นของมัน
-
แล้วดึงจุดนั้นออกมา นั่นคือหน้าที่ของพวกเรา
-
เพราะความจริงแล้วเด็กทุกคนไม่ได้เกิดออกมา
แล้วสมบูรณ์แบบเหมือนกันหมด
-
แต่เด็กทุกคน ควรได้รับความรัก ความเมตตา
-
และมีใครซักคนเชื่อมั่นในตัวเขา ในแบบที่เขาเป็น
-
หน้าที่ของผู้ใหญ่ไม่ใช่ไปตีกรอบ
ให้เขาอยู่ในแม่พิมพ์ที่ผู้ใหญ่ต้องการ
-
ถ้าเด็กคนไหนไม่อยู่ในกรอบล่ะก็
เขาคือความล้มเหลวเหรอ
-
ครูว่าไม่ใช่
-
หน้าที่ของผู้ใหญ่ ต้องส่งเสริม ผลักดัน
-
ให้เขาเติบโตไปตามศักยภาพที่แท้จริง
ของเขาต่างหากล่ะ
-
เราโตมาถึงทุกวันนี้แล้ว
-
ครูเชื่อนะ เราต่างก็มีคน ๆ นั้น
-
คนที่เชื่อมั่นในตัวเรา
ในยามที่อาจจะไม่มีใครเชื่อเราเลย
-
คนที่ปลุกให้เราศรัทธาในตัวเอง
จนเราอยากจะเป็นคนที่ดีขึ้น
-
แต่ถ้าในชีวิตนี้ ยังไม่มีใครเลย
ที่เขาเคยหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ให้กับคุณ
-
คุณไม่ต้องไปรอคน ๆ นั้นแล้ว
-
คุณยื่นศรัทธาให้ตัวคุณเองเถอะ
-
อย่ากลัวที่จะลงมือทำ
-
เพราะไม่มีใครที่เกิดมา
แล้วสมบูรณ์แบบไปเสียหมด
-
แล้วก็ไม่มีใครเช่นกัน
ที่เกิดมาแล้วแย่ไปเสียทุกอย่าง
-
เชื่อเถอะว่าทุกคนมีดีทั้งนั้นแหละ
-
ให้เชื่อมั่นในตัวเอง
-
แล้วบอกตัวเองว่า
-
ตั้งแต่วินาทีนี้ไป
ฉันทำได้ ฉันดีได้ ฉันเก่งได้
-
แล้วลงมือทำเสีย
-
ดูสิคะ เด็กคนนึงที่ถูกใครต่อใครเขาตราหน้า
ว่าเป็นเด็กไม่มีอนาคต
-
เพียงเพราะเหรียญสิบเหรียญเดียว
-
กับคำพูดชื่นชมไม่กี่ประโยค
-
ณ วันนี้ เขายังมายืนถึงจุดนี้ได้
-
เราลองคิดดูนะ
-
ถ้าเราต่างคนต่างส่งเสริมซึ่งกันและกัน
-
ให้เกียรติซึ่งกันละกัน เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน
-
ถามว่าสังคมเรานี่จะไปได้ดีขนาดไหน
-
วันนี้ในใจของคุณมีเหรียญสิบ
ที่จะหยิบยื่นให้ใครรึยัง
-
ลองให้สิ แล้วคุณจะพบกับสิ่งที่มหัศจรรย์มาก
-
เหรียญเดียวนี้ คุณจะให้ได้ครั้งแล้ว ครั้งเล่า
-
ไม่มีวันสิ้นสุด
-
เหมือนกับที่ครูให้กับลูกศิษย์
มาตลอดสามสิบกว่าปีของการเป็นครู
-
สิ่งเล็ก ๆ สิ่งเดียวนี้ ที่ครูเรียกว่า
-
ศรัทธา
-
ราคาสิบบาท แต่คุณค่ามหาศาล
-
(เสียงปรบมือ)