วันหนึ่งในปี ค.ศ. 1965 ขณะที่ขับรถ ไปเที่ยวกับครอบครัวที่อะคาพูลโค นักข่าวสายเลือดโคลัมเบีย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เควซ หันรถกลับ ฝากฝังให้ภรรยาช่วยดูแลเรื่องการเงิน ในอีกหลายเดือนที่กำลังจะมาถึง แล้วกลับบ้าน จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มใหม่ มาถึงเขาอย่างกระทันหัน "หลายปีต่อมา ขณะที่เขาเผชิญกับการยิงประหาร ผู้พัน เอาเรเลียโน บอยเดีย ระลึกถึงยามสายของวันในอดีต เมื่อคุณพ่อพาเขาได้พบกับน้ำแข็ง" กว่าสิบแปดเดือนต่อมา คำเหล่านั้นปรากฏอยู่ในหนังสือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว นิยายที่ส่งให้วรรณกรรมลาตินอเมริกา ขึ้นสู่แถวหน้าแห่งการจินตนาการระดับโลก ทำให้การ์เซีย มาร์เควซได้รับ รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1982 อะไรทำให้ "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" เป็นเรื่องที่น่าจดจำ นิยายได้บันทึกเหตุการณ์ทั้งดีและร้าย ของครอบครัวบอยเดียตลอดเจ็ดรุ่น ด้วยคำบรรยายที่เต็มไปด้วยอรรถรส และรายละเอียด ตัวละครต่าง ๆ มากมาย และการเล่าเรื่องที่ยุ่งเหยิง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" ไม่ใช่หนังสือที่อ่านง่ายนัก แต่คุ้มค่ายิ่งที่จะอ่าน ด้วยเรื่องราวความรักสุดเข้มข้น สงครามกลางเมือง กลอุบายทางการเมือง นักเดินทางที่ค่อย ๆ ผจญภัยไปทั่วโลก และตัวละครชื่อ อะเรลิอาโน ที่เยอะแยะเต็มไปหมด แต่มันไม่ได้เป็นแค่นิยายทางประวัติศาสตร์ "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" เป็นตัวอย่างที่รู้จักกันดี ของวรรณกรรมประเภทที่เรียกว่า สัจนิยมมหัศจรรย์ เหตุการณ์และความสามารถเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ถูกอธิบายในลักษณะที่สมจริง และเป็นเหตุเป็นผล ในขณะที่เหตุการณ์จริง จากชีวิตมนุษย์และประวัติศาสตร์ กลับกลายเป็นมหัศจรรย์ไร้เหตุผล ปรากฏการณ์เหนือจริง ในหมู่บ้านสมมุติแห่งมาคอนโด ผสานไปอย่างแนบเนียนกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศโคลอมเบียซึ่งมีอยู่จริง ตอนต้น ถิ่นอาศัยนั้น เป็นดินแดนโดดเดี่ยวพิศวง แต่แล้วมันก็ค่อย ๆ เปิดสู่โลกภายนอก และเผชิญกับภัยพิบัติมากมายหลายครา หลายปีผ่านไป แม้ว่าตัวละครหลายตัว จะชราและตายจาก พวกเขากลับมาในรูปแบบของวิญญาณ หรือกลับชาติมาเกิดเป็นคนในรุ่นถัดไป เมื่อบริษัทผลไม้สัญชาติอเมริกา มาถึงเมืองนี้ เช่นเดียวกันกับนายช่างสุดโรแมนติก ผู้มีฝูงผีเสื้อบินสีเหลืองติดตามไม่เคยห่าง หญิงสาวก็ตัวลอยและบินออกไป แม้เรื่องราวจะดำเนินต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น แต่เวลานั้นดำเนินไปราวกับเป็นวัฏจักร ตัวละครมากมายมีชื่อและลักษณะ ที่คล้ายกับชาติก่อน ๆ ของพวกเขา แล้วก็มักจะทำเรื่องผิดพลาดซ้ำ ๆ คำทำนายแปลก ๆ และ การเข้ามาของเหล่ายิปซีลึกลับ เปิดทางให้เกิดการปะทะและระดมยิง ในสงครามกลางเมืองซ้ำแล้วซ้ำอีก บริษัทผลไม้จากอเมริกา ทำสวนใกล้กับหมู่บ้าน และจบลงด้วยการสังหารหมู่ คนงานที่ลุกขึ้นประท้วงหลายพันคน สะท้อนเหตุการณ์จริง "การสังหารหมู่ บานานา" ในปี ค.ศ. 1928 เมื่อถูกผสมเข้ากันสัจนิยมมหัศจรรย์ในนิยาย มันให้ความรู้สึกว่า ประวัติศาสตร์มีแรงดูดราวกับน้ำวน ที่ตัวละครทั้งหลายไม่อาจฝืนอำนาจนั้น ภายใต้เวทมนตร์ คือเรื่องราวประวัติศาสตร์ของโคลัมเบีย และลาตินอเมริกา ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมเป็นต้นไป นี่คือประวัติศาสตร์ ที่นักเขียนได้ประสบพบเจอมากับตัว กาเบรียล การ์เซีย มาร์เควซ เติบโตมา ท่ามกลางความขัดแย้งในสังคมโคลัมเบีย ระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคเสรีนิยม เขายังเคยใช้ชีวิตในช่วงเผด็จการแม็กซิโก รวมถึงช่วงรัฐประหารเวเนซูเอล่า ค.ศ. 1958 ในฐานะนักข่าวด้วย แต่สิ่งที่มีอิทธิพลต่อเขามากที่สุด อาจเป็นคุณตาคุณยาย นิโคลาส ริคาโด มาร์เควซ เป็นทหารผ่านศึก "สงครามพันวัน" ผู้ทำหน้าที่เป็นกบฏ ต่อต้านรัฐบาลอนุรักษ์นิยมของโคลัมเบีย ทำให้กาเบรียล การ์เซีย มาร์เควซ มีทัศนคติแนวสังคมนิยม ในขณะที่ การเชื่อในโชคลางทุกรูปแบบของ ดอนย่า ทราคิวลินา อิกัวราน โคเทส กลายเป็นพื้นฐานของรูปแบบในเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" บ้านหลังเล็กในอะราอัตตาคา ที่ผู้เขียนอาศัยในช่วงวัยเด็ก ก่อร่างเป็นแรงบันดาลใจสำหรับมาคอนโด สำหรับ "หนึ่งร้องปีแห่งความโดดเดี่ยว" กาเบรียล การ์เซีย มาร์เควซ ค้นพบวิธีที่เป็นเอกลักษณ์ ในการนำเสนอประวัติศาสตร์ ของลาตินอเมริกาอันโดดเด่น เขาสามารถบรรยายความเป็นจริงแปลก ๆ ของชีวิตในสังคมยุคหลังล่าอาณานิคม และขับให้มันเผยความโศกเศร้าจากอดีต ถึงจะดำเนินไปแบบสุดแต่ชะตาฟ้าลิขิต นิยายเรื่องนี้ยังคงกุมความหวังเอาไว้ ณ งานรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม กาเบรียล การ์เซีย มาร์เควซ บรรยายถึง ประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกันอันยาวนาน ที่ถึงจะเต็มไปด้วยการแก่งแย่งกันในสังคม และความอยุติธรรมอย่างรุนแรง เขาก็ยังสรุปการบรรยาย ด้วยความมั่นใจ ถึงความเป็นไปได้ในการสร้างโลกที่ดีกว่านี้ "โลกที่ไม่มีใครเป็นผู้ตัดสิน ว่าผู้อื่นต้องจบชีวิตลงเช่นไร โลกที่ความรักจะถูกพิสูจน์ว่าจริงแท้ และความสุขเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โลกที่ทุกชนชาติผู้ต้องอาญาแห่ง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ในที่สุดและตลอดไป จะมีโอกาสอีกครั้งบนโลกใบนี้"