คุณกลัวแมวดำหรือเปล่า คุณจะกางร่มในอาคารไหม และคุณรู้สึกอย่างไรกับหมายเลข 13 ไม่ว่าคุณจะเชื่อมันหรือไม่ คุณอาจจะคุ้นเคย กับความเชื่อโชคลางเหล่านี้มาบ้าง แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่คนทั่วโลก เคาะไม้ หรือเลี่ยงที่จะเหยียบรอยแยกบนทางเท้า เอาล่ะ แม้ว่าพวกมันจะไม่ได้มีพื้นฐาน เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ หลายความเชื่อและการปฏิบัติ อย่างเฉพาะเจาะจงและแปลกประหลาดนี้ มีที่มาที่เฉพาะเจาะจงและพิสดารพอกัน เพราะพวกมันเกี่ยวข้องกับเหตุเหนือธรรมชาติ ไม่น่าประหลาดใจที่ความเชื่อโชคลาง หลายเรื่อง มีพื้นเพที่มาจากศาสนา ตัวอย่างเช่น เลข 13 ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับ อาหารมื้อสุดท้าย ในคัมภีร์ไบเบิ้ล ที่พระเยซูร่วมเสวยมื้อค่ำ กับสานุศิษย์ทั้งสิบสองคน ก่อนพระองค์จะถูกจับกุมและตรึงไม้กางเขน เกิดเป็นความเชื่อว่า หากมีผู้ร่วมโต๊ะสิบสามคนจะโชคร้าย สุดท้ายก็ขยายวงกว้างออก ทำให้สิบสามเป็นเลขแห่งโชคร้ายไปหมด ปัจจุบันความกลัวเลขสิบสาม ที่เรียกว่า ไตรไคเดคคาโฟเบีย นี้ พบเห็นได้ทั่วไป โดยหลายตึกทั่วโลกไม่มีชั้นที่สิบสาม จากชั้นสิบสองจะกลายเป็นชั้นสิบสี่เลย แน่นอน หลายคนเชื่อว่าเรื่องราว ของอาหารมื้อสุดท้ายเป็นเรื่องจริง แต่ความเชื่อโชคลางอื่น ๆ ที่มาจากขนบธรรมเนียมทางศาสนา มีคนไม่มากนักที่เชื่อหรือจำมันได้ การเคาะไม้ คาดว่ามาจากประเพณีพื้นบ้าน ของชาวอินโดยูโรเปียนโบราณ หรืออาจจะเป็นผู้คนยุคก่อนนั้น ที่เชื่อว่า ต้นไม้ เป็นที่อยู่ของดวงวิญญาณต่าง ๆ การสัมผัสต้นไม้ เป็นการขอความคุ้มครอง หรือขอพรจากดวงวิญญาณในต้นไม้ และด้วยเหตุผลบางประการ ธรรมเนียมนี้ยังคงอยู่มายาวนาน หลังความเชื่อเรื่องวิญญาณเลือนหายไปแล้ว ความเชื่อโชคลางหลายอย่างที่พบได้บ่อย ในรัสเซียไปจนถึงไอร์แลนด์ในปัจจุบัน คาดว่าหลงเหลือมาจากลัทธินอกศาสนา ที่ถูกแทนที่ด้วยศาสนาคริสต์ แต่ไม่ใช่ว่าความเชื่อโชคลางทั้งหมด จะเกี่ยวกับศาสนา บางอย่างก็มาจากเหตุบังเอิญ หรือความเชื่อมโยงที่โชคร้าย ตัวอย่างเช่น ชาวอิตาเลียนจำนวนมาก กลัวเลข 17 เพราะเลขโรมัน XVII สามารถเรียงได้เป็นคำว่า vixi ที่แปลว่า ชีวิตฉันจบสิ้นแล้ว เช่นเดียวกันกับคำที่หมายถึงเลขสี่ ที่ออกเสียงเหมือนกับคำว่า ตาย ในภาษาจีนกวางตุ้ง รวมทั้งภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาญี่ปุ่น และเกาหลี ที่ยืมตัวเลขของจีนไป และเนื่องจากเลขหนึ่งออกเสียง เหมือนกับคำว่า ต้อง หมายเลขสิบสี่จึงออกเสียง เหมือนวลี ต้องตาย มีตัวเลขหลายตัวที่ลิฟท์ และโรงแรมนานาชาติหลีกเลี่ยง และเชื่อหรือไม่ว่า ความเชื่อโชคลางบางอย่างก็สมเหตุสมผล หรืออย่างน้อยมันก็เป็นอย่างนั้น จนเราลืมจุดประสงค์แต่แรกของมัน ยกตัวอย่างเช่น ฉากเวทีละคร เดิมใช้ฉากหลังทาสีขนาดใหญ่ ที่ถูกยกขึ้นลงโดยผู้ควบคุมเวที ซึ่งจะผิวปากส่งสัญญาณให้กันและกัน คนอื่นที่ใจลอยผิวปากออกมา อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่เรื่องต้องห้ามของการผิวปากหลังเวที ก็ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ ซึ่งผู้คุมเวที เริ่มใช้หูฟังวิทยุสื่อสารกันมานานแล้ว ทำนองเดียวกัน การจุดบุหรี่สามมวน จากไม้ขีดก้านเดียวกัน อาจจะทำให้โชคร้ายได้จริง ๆ ถ้าคุณเป็นทหารในหลุมหลบภัย ซึ่งถ้าจุดไม้ขีดนานเกินไป อาจดึงดูดความสนใจของมือปืนซุ่มยิงฝ่ายศัตรู ตอนนี้คนที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ ไม่ต้องกังวลเรื่องมือปืนซุ่มยิงแล้ว แต่ความเชื่อนี้ก็ยังคงอยู่ แล้วทำไมคนถึงยังยึดติด อยู่กับเรื่องเล็ก ๆ ของศาสนาที่ถูกลืมไปแล้ว เหตุบังเอิญ และคำแนะนำที่ล้าสมัยล่ะ พวกเขาช่างไม่มีเหตุผลเสียเลยใช่ไหม อืม ก็ใช่นะ แต่สำหรับหลาย ๆ คน ความเชื่อโชคลางมาจากความเคยชินทางวัฒนธรรม มากกว่าความเชื่อระดับจิตสำนึก อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครเกิดมาก็รู้ว่าเลยว่า ต้องหลีกเลี่ยงการเดินลอดใตับันได หรือผิวปากในบ้าน แต่ถ้าคุณเติบโตขึ้นมา โดยที่ครอบครัวบอกให้หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นไปได้มากที่มันจะทำให้คุณไม่สบายใจ แม้ว่าต่อมาคุณจะเข้าใจด้วยเหตุผลแล้ว ว่ามันจะไม่มีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้นหรอก และการทำอะไรบางอย่างเช่น การเคาะไม้ ก็ไม่ต้องใช้ความพยายามมากมายอะไรนัก การทำตามความเชื่อในโชคลาง ก็มักจะง่ายกว่าการตั้งใจที่จะต่อต้านมัน นอกจากนี้ ความเชื่อในโชคลาง ก็ดูเหมือนว่ามักจะได้ผลซะด้วย บางทีคุณอาจจะจำได้ว่า คุณตีโฮมรันได้ ตอนใส่ถุงเท้านำโชคของคุณ นี่ก็แค่การทำงานแบบอคติทางจิตวิทยาของเรา คุณมักจะจำไม่ค่อยได้หรอกว่า ทุกครั้งที่คุณตีลูกออกนั้น ก็เป็นตอนที่คุณใส่ถุงเท้าคู่นั้นแหละ แต่การเชื่อว่ามันได้ผล อาจทำให้คุณเล่นได้ดีขึ้นจริง ๆ ด้วยการให้ภาพลวงกับว่า คุณสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ความมั่นใจ สามารถสร้างความแตกต่างได้ อย่างเช่น กีฬา ความเชื่อโชคลางประหลาดพวกนี้ ก็อาจจะไม่ประหลาดเลยก็ได้