ผมรู้ว่ามันออกจะฟังดูแปลก แต่ผมคิดว่าหุ่นยนต์ สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ให้เราเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นได้ ผมโตขึ้นในเมืองเบธเลแฮม รัฐเพนซิลวาเนีย แหล่งกำเนิดเหล็กเบธเลแฮม พ่อของผมเป็นวิศวกร ผมเติบโตขึ้นมา โดยมีพ่อคอยสอน ว่าสิ่งต่างๆ ทำงานอย่างไร เราสร้างโปรเจคต่างๆ ด้วยกัน เช่นจรวดของเล่น รถแข่งบังคับในราง นี่คือรถโกคาร์ทที่เราสร้างด้วยกัน และนั่นคือผมที่นั่งหลังพวงมาลัย พร้อมด้วยพี่สาวและเพื่อนรักของผมในตอนนั้น แล้ววันหนึ่ง พ่อกลับบ้าน ตอนนั้นผมอายุ 10 ขวบ และบนโต๊ะอาหาร เขาก็ประกาศขึ้นว่า โครงการต่อไปของเรา คือการสร้างหุ่นยนต์ หุ่นยนต์นะครับ ตอนนั้น ผมตื่นเต้นกับมันมาก เพราะที่โรงเรียน มีเด็กเกเรคนหนึ่งชื่อเควิน และเขาชอบแกล้งผม เพียงเพราะผมเป็นเด็กชาวยิวคนเดียวในห้อง ดังนั้นผมจึงแทบรอไม่ได้ที่จะเริ่มโปรเจคนี้ เพื่อที่ผมจะให้เควินได้เจอกับเจ้าหุ่นยนต์ของผม (เสียงหัวเราะ) (เสียงหุ่นยนต์) แต่นั่นไม่ใช่หุ่นยนต์แบบที่พ่อคิดเอาไว้ในใจ คือ เขาเป็นเจ้าของโรงงานชุบโครเมียม และพวกเขาต้องการเคลื่อนย้าย ชิ้นส่วนเหล็กหนักๆ จากถังน้ำยาเคมีถังหนึ่ง ไปอีกถังหนึ่ง ดังนั้นพ่อจึงต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบนี้ เพื่อให้มันยกของหนักๆ ได้ แต่พ่อผมก็ไม่ได้หุ่นยนต์แบบที่เขาต้องการเช่นกัน พ่อและผมสร้างมันหลายปี แต่นั่นมันเป็นในช่วงปี 1970 เทคโนโลยีที่พวกมือสมัครเล่นจะใช้ได้ ก็ยังไม่มีในตอนนั้น ดังนั้น พ่อจึงต้องทำงานแบบนี้ด้วยมือต่อไปเรื่อยๆ และ 2-3 ปีหลังจากนั้น เขาถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง เห็นไหมครับ สิ่งที่หุ่นยนต์ที่เราพยายามสร้าง ได้บอกแก่พ่อ ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวการยกของหนัก แต่มันคือคำเตือนเกี่ยวกับการที่พ่อต้องสัมผัสสารพิษ พ่อไม่ได้ตระหนักในตอนนั้น เขาเป็นลูคิเมีย และตายเมื่ออายุ 45 ปี ผมเสียใจมาก และผมไม่เคยลืมเรื่องหุ่นยนต์ที่พ่อกับผมพยายามสร้าง ตอนผมเข้าเรียนมหาลัย ผมตัดสินใจเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ เหมือนพ่อ ผมเรียนที่ คาร์เนกี้ เมลอน (Carnegie Mellon) และได้รับปริญญาเอกในสาขาหุ่นยนต์ ผมศึกษาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ตั้งแต่นั้นมา ดังนั้น สิ่งที่ผมจะเล่าให้คุณฟัง คือโปรเจคหุ่นยนต์ 4 ตัว และวิธีที่พวกมันสร้างแรงบันดาลใจให้ผม เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น เมื่อปี 1993 ผมเป็นศาสตราจารย์หนุ่มอยู่ที่ USC และในตอนนั้นผมเพิ่งสร้างห้องปฏิบัติการ หุ่นยนต์ของผมเอง และปีนั้นเป็นปีที่ เวิร์ลไวด์เว็บ เปิดตัว ผมจำได้ว่านักเรียนของผม เป็นคนบอกผมเรื่องนี้ และเราต่างก็พากันทึ่ง เราเริ่มเล่นกับมัน และบ่ายวันนั้นเอง เราก็ตระหนักว่าเราสามารถใช้วิธีเชื่อมต่อสากลแบบใหม่นี้ เพื่อให้ใครก็ตามบนโลก ควบคุมหุ่นยนต์ในห้องปฏิบัติการของเราได้ ดังนั้น แทนที่จะให้พวกมันต่อสู้ หรือทำงานโรงงานหนักๆ เราตัดสินใจสร้างสวนดอกไม้ เอาหุ่นยนต์ใส่ไว้ตรงกลาง แล้วเราเรียกมันว่า สวนดอกไม้ทางไกล เราติดกล้องไว้กับที่จับบนมือ ของหุ่นยนต์ และเราเขียนสคริปต์ และซอฟท์แวร์พิเศษไว้ ที่ให้ทุกคนบนโลก สามารถเข้ามา และด้วยการคลิ้กบนจอภาพ พวกเขาสามารถสั่งให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปรอบๆ และชมสวนดอกไม้ได้ เรายัง ติดตั้งซอฟท์แวร์แวร์อื่นๆ ที่ยอมให้คุณเข้าไปมีส่วนร่วม ช่วยเรารดน้ำต้นไม้ จากระยะไกล และถ้าคุณรดน้ำมันเพียงไม่กี่ครั้ง เราจะให้เมล็ดพันธุ์กับคุณเพื่อปลูกเอง นี่เป็นโปรเจคหนึ่ง เป็นโปรเจคทางวิศวกรรม และเราตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบ การออกแบบระบบ แต่เราก็คิดว่ามัน เป็นศิลปะชิ้นหนึ่งด้วยเช่นกัน หลังจากถูกสร้างขึ้นเพียงปีเดียว มันได้รับการเชิญ จากพิพิธภัณฑ์ อาร์ส อิเล็คโทรนิคส์ (Ars Electronics Museum) ในออสเตรีย เพื่อนำไปติดตั้งไว้ในล็อบบี้ ผมภูมิใจที่จะบอกว่ามันยังคงออนไลน์อยู่ที่นั่น 24 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลาเกือบ 9 ปีมาแล้ว หุ่นตัวนั้นถูกควบคุมโดยคนจำนวนมาก กว่าหุ่นยนต์ตัวไหนๆ ในประวัติศาสตร์ ทีนี้ วันหนึ่ง จู่ๆ ผมก็ได้รับโทรศัพท์ จากนักเรียนคนหนึ่ง ผู้ซึ่งถามคำถามง่ายๆ แต่ลึกซื้ง เขาถามว่า "หุ่นยนต์ตัวนั้นมันมีอยู่จริงๆ หรือเปล่าครับ?" ทุกคนคิดเอาเองว่ามันมีอยู่จริง และเราก็รู้ว่ามันมีอยู่จริงเพราะเราสร้างมันกับมือ แต่ผมเข้าใจสิ่งที่เขาถาม เพราะมันก็เป็นไปได้ที่จะถ่ายรูปจำนวนมาก ของดอกไม้ในสวน แล้วจัดเรียงมัน ในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มันดูเหมือนว่า มันมีหุ่นยนต์อยู่ ทั้งที่มันไม่มีจริง และยิ่งผมคิดเกี่ยวกับคำถามนี้มากเท่าไหร่ ผมก็ไม่สามารถหาคำตอบที่ดี ว่าเขาจะแยกมันออกได้อย่างไร นั่นเป็นตอนช่วงที่ผมได้รับเสนอตำแหน่ง ที่เบิร์กลีย์แห่งนี้ เมื่อผมมาถึง ผมพยามหาตัว ฮิวเบิร์ต ดรายฟัส (Hubert Dreyfus) ผู้ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาชื่อก้องโลก ผมเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเขาพูดว่า "นี่คือหนึ่งในปัญหาหลัก ที่เก่าแก่ที่สุด ในวิชาปรัชญา มันย้อนไปถึงสมัยของกลุ่มวิมตินิยม (Skeptics), จนถึงสมัย เดอคาร์ท (Descartes) นี่คือปัญหาในสาขาญาณวิทยา การศึกษาว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าบางอย่างมีอยู่จริง" ดังนั้น เขาและผมจึงเริ่มร่วมงานกัน เราตั้งศัพท์ใหม่ โทรญาณวิทยา (telepistemology) การศึกษาของความรู้จากระยะไกล เราได้เชิญศิลปิน วิศวกร และนักปราชญ์ชั้นนำ มาเพื่อเขียนเรียงความเกี่ยวกับสิ่งนี้ และผลที่ได้ ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ จากสำนักพิมพ์ MIT ดังนั้น ต้องขอบคุณนักเรียนคนนั้นที่สงสัย ในสิ่งที่คนอื่นๆ ทึกทักเอาเองว่าเป็นจริง โปรเจคนี้สอนผมบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับชีวิต ซึ่งก็คือ จงสงสัยสมมุติฐานทั้งหลาย โปรเจคที่สองที่ผมจะเล่าให้คุณฟัง เกิดขึ้นมาจาก สวนดอกไม้ทางไกล ในขณะที่มันกำลังทำงานอยู่ นักเรียนของผมและตัวผมนั้นสนใจ ว่าผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร และพวกเขาทำอะไรกับสวนดอกไม้ เราจึงเริ่มคิดว่า ถ้าหุ่นยนต์สามารถออกจาก สวนดอกไม้ แล้วออกไปยัง สภาวะแวดล้อมอื่นๆ ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นล่ะ? เช่น ถ้ามันเข้าไปในงานเลี้ยงอาหารเย็น ที่ทำเนียบขาวล่ะ? (เสียงหัวเราะ) เพราะตอนนั้นเราสนใจในเรื่องการออกแบบระบบ และการติดต่อกับผู้ใช้มากกว่าในเรื่องฮาร์ดแวร์ เราตัดสินใจกันว่า แทนที่จะให้หุ่นยนต์แทนตัวมนุษย์เพื่อไปงานปาร์ตี้ เราจะให้มนุษย์ทำหน้าที่แทนหุ่นยนต์ เราเรียกมันว่า นักแสดงทางไกล เราให้มนุษย์ ใครบางคนที่ชอบสังสรรค์ และชอบเข้าสังคม และเธอถูกให้สวมชุดที่มีหมวก ที่ติดตั้งเครื่องมือหลายชนิด กล้อง ไมโครโฟน และเป้หลังที่มีการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เนตไร้สาย แนวคิดก็คือ เธอจะไปยังสภาพแวดล้อมที่น่าสนใจและห่างไกล และจากนั้น โดยผ่านทางอินเตอร์เนต ผู้คนสามารถได้รับประสบการณ์เช่นเดียวกับที่เธอได้รับ พวกเขาจะได้เห็นสิ่งที่เธอเห็น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ พวกเขาจะได้มีส่วนร่วม โดยการมีปฏิสัมพันธ์กัน และเสนอความเห็นว่าเธอควรจะทำอะไรต่อไป และเธอควรจะไปไหน และสื่อสารสิ่งเหล่านั้นไปยังนักแสดงทางไกล เรามีโอกาสที่จะนำนักแสดงทางไกล ไปยังงานประกาศรางวัลเว็บบี (Webby Awards) ในซานฟรานซิสโก และในปีนั้น แซม โดแนลสัน (Sam Donaldson) ได้เป็นพิธีกร ก่อนที่ม่านจะเปิดขึ้น ผมมีเวลา 30 วินาที เพื่ออธิบายให้คุณโดแนลสันฟังว่าเราจะทำอะไร และผมกล่าวว่า " นักแสดงทางไกล กำลังจะเป็นพิธีกรคู่กับคุณบนเวที และนี่เป็นโปรเจคการทดลองใหม่ และผู้คนจำนวนมากกำลังดูเธออยู่บนหน้าจอ และเธอมีกล้อง มีไมโครโฟน และหูฟังอยู่ในหู และผู้คนจำนวนมาก จะให้คำแนะนำ ว่าเธอควรทำอะไรต่อไป ผ่านทางระบบเครือข่าย" และเขากล่าวว่า "เดี๋ยวก่อนนะ นั่นเหมือนงานของผมเลยนี่" (เสียงหัวเราะ) เขาชอบแนวคิดนี้ และเมื่อนักแสดงระยะไกลเดินขึ้นสู่เวที เธอเดินตรงไปหาเขา และเธอจูบเขานานทีเดียว บนริมฝีปากเสียด้วย (เสียงหัวเราะ) พวกเราประหลาดใจมาก เราไม่คิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น และเขาตอบสนองได้ดีมาก เขากอดเธอครั้งใหญ่เป็นการตอบแทน และมันออกมาดูดีมาก แต่คืนนั้น ระหว่างที่เรากำลังเก็บของกลับ ผมถามนักแสดงทางไกล ว่าเหล่าผู้กำกับทางไกล ตัดสินใจกันอย่างไรว่าจะให้เธอจูบ แซม โดแนลสัน และเธอกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้บอกให้ทำ เธอเล่าว่า ตอนที่เธอกำลังจะก้าวขึ้นเวที เหล่าผู้กำกับทางไกลยังมัวแต่เถียงกันอยู่ว่าจะให้ทำอะไร ดังนั้นเธอเลยเดินขึ้นบนเวลาแล้วทำ ในสิ่งที่รู้สึกเป็นธรรมชาติมากที่สุด (เสียงหัวเราะ) ดังนั้น ความสำเร็จของนักแสดงทางไกลคืนนั้น เป็นเพราะเธอเป็นนักแสดงที่ยอดเยี่ยม เธอรู้ว่าเมื่อไหร่ควรเชื่อสัญชาตญาณ และโปรเจคนั้นสอนผมบทเรียนชีวิตอีกบทหนึ่ง ซึ่งก็คือ ถ้าคุณกำลังลังเล ให้ด้นสด (เสียงหัวเราะ) ทีนี้ โปรเจคที่สาม ผุดขึ้นจาก ประสบการณ์ของผม เมื่อตอนที่พ่ออยู่ในโรงพยาบาล เขาได้รับการรักษา โดยเคมีบำบัด และมีการรักษาที่เกี่ยวเนื่องด้วย ซึ่งเรียกว่า การฝังแร่กัมมันตรังสี ซึ่งเม็ดกัมมันตรังสีเล็กๆ จะถูกนำไปฝังไว้ในร่างกายเพื่อรักษาเนื้อร้าย และวิธีทำก็คือ ศัลยแพทย์แทงเข็มหลายๆ เข็มเข้าไปในร่างกาย เพื่อฉีดเม็ดกัมมันตรังสีเข้าไป และเข็มเหล่านี้ แทงเข้าไปในทิศทางขนานกัน ดังนั้น มันเป็นปกติ ถ้าเข็มบางเล่ม จะแทงไปโดนอวัยวะสำคัญ และผลที่ตามมาคือ เข็มทำลายอวัยวะเหล่านั้น ซึ่งสร้างความเสียหาย และนำไปสู่การบาดเจ็บและสร้างผลข้างเคียง ดังนั้น นักเรียนของผมและตัวผม จึงคิดกันว่า ถ้าเราปรับปรุงระบบ เพื่อให้เหล่าเข็มทิ่มมาจากหลายๆ ทิศทางหล่ะ? ดังนั้น เราจำลองสิ่งนี้ และพัฒนา ระเบียบวิธีคิดที่หาทางที่ให้ผลดีที่สุด และเราจำลองมัน เราสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า เราสามารถเลี่ยง อวัยวะที่ละเอียดอ่อน และยังครอบคลุม เนื้องอกไว้ด้วยรังสีได้ครบถ้วน ดังนั้น เราจึงทำงานร่วมกับเหล่าแพทย์ที่ UCSF และวิศวกรที่ จอห์น ฮอปกินส์ (John Hopkins) เรากำลังสร้างหุ่นยนต์ที่ ออกแบบมาเป็นพิเศษ และมีข้อต่อจำนวนมาก ที่ทำให้ เข็มสามารถแทงเข้าไปในแง่มุมต่างๆ กันไม่จำกัด และคุณจะเห็นได้ว่า เหล่าเข็มสามารถเลี่ยงอวัยวะสำคัญ และยังไปถึงจุดหมายที่ต้องการไปได้ ดังนั้น โดยการตั้งข้อสงสัยสมมุติฐานที่ว่า เข็มทั้งหมด ต้องขนานกัน โปรเจคนี้สอนผม ถึงบทเรียนสำคัญว่า เมื่อเส้นทางของคุณถูกขวางกั้น จงหักมุม และโปรเจคสุดท้ายก็เกี่ยวกับหุ่นยนต์ด้านการแพทย์เช่นกันครับ นี่คือสิ่งที่ต่อยอดมาจากระบบที่มีชื่อว่า หุ่นยนต์ผ่าตัด ดาวินชี และนี่เป็นอุปกรณ์ที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว มันถูกใช้ในโรงพยาบาลกว่า 2000 แห่งทั่วโลก แนวคิดคือมันสามารถให้ศัลยแพทย์ ผ่าตัดอย่างสบายในสภาพแวดล้อมของเขา แต่หน้าที่ย่อยๆ อื่นๆ ในการผ่าตัด เป็นหน้าที่ซ้ำๆ ที่น่าเบื่อ เช่น การเย็บแผล และในปัจจุบันนี้ ทุกอย่างถูกทำ ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของศัลยแพทย์ ดังนั้นศัลยแพทย์จึงเกิดความล้าในระยะยาว เราจึงคิดว่า ถ้าเราตั้งโปรแกรมให้หุ่นยนต์ ทำงานยิบย่อยเหล่านี้แทนหล่ะ และนั่นจะช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถมีสมาธิ กับงานที่ซับซ้อนมากขึ้นในการผ่าตัดได้ และจะช่วยร่นเวลาการผ่าตัดให้สั้นลง ถ้าเราทำให้หุ่นยนต์ทำงานเหล่านี้ให้เร็วยิ่งขึ้น ทีนี้ มันยากที่จะโปรแกรมหุ่นยนต์ให้ทำงานละเอียดแบบนี้ แต่เพื่อนร่วมงานของผม ปีเตอร์ แอบบีล (Pieter Abbeel) ซึ่งอยู่ที่เบิร์กลีย์ ได้พัฒนา เทคนิคใหม่สำหรับสอนหุ่นยนต์ให้เรียนตามตัวอย่าง เขาสอนหุ่นยนต์ให้ขับเฮลิคอปเตอร์ และทำท่าผาดแผลงได้อย่างงดงาม และน่าเหลือเชื่อ โดยการดูการบินของคนเก่งๆ ดังนั้น เราจึงเอาหุ่นยนต์แบบนี้มาตัวหนึ่ง เราร่วมงานกับปีเตอร์และนักเรียนของเขา และเราขอให้ศัลยแพทย์ ทำงานสักอย่าง ด้วยหุ่นยนต์ สิ่งที่เราทำคือ เราขอให้ศัลยแพทย์ ทำงานสักอย่าง ด้วยหุ่นยนต์ แล้วเราก็บันทึกการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ นี่เป็นตัวอย่างครับ ผมจะใช้รูปเลขแปด การเขียนเส้นทางเป็นรูปเลขแปด เป็นตัวอย่าง มันออกหน้าตาเป็นอย่างนี้ครับ เมื่อหุ่นยนต์ นี่คือหน้าตาเส้นทางของหุ่นยนต์ สามตัวอย่างนั่น นี่มันดีกว่าการให้มือใหม่ อย่างผมทำ แต่มันยังสั่น และไม่แม่น ดังนั้นเราจึงบันทึกข้อมูลตัวอย่างเหล่านี้ แล้วก็ค่อยๆ ดูในแต่ละขั้นตอน ขั้นแรก เราใช้เทคนิคที่เรียกว่า ไดนามิกไทม์วอร์ปปิง จากสาขาด้านการรู้จำเสียงพูด และนี่ทำให้เรา สามารถจัดเรียงทุกตัวอย่างได้ และจากนั้นเราใช้ตัวกรองคาลแมน (Kalman filter) เทคนิคจากทฤษฎีการควบคุม ที่ทำให้ เราวิเคราะห์สัญญาณรบกวนได้ในทางสถิติ และคัดเอาเฉพาะทางเดินที่ต้องการที่รวมอยู่ในนั้นออกมา ทีนี้ สิ่งที่เราทำคือ เราเอา การสาธิตจากมนุษย์หลายๆ ครั้ง ซึ่งเต็มไปด้วยสัญญาณรบกวน และความไม่สมบูรณ์ เราดึงเฉพาะส่วนที่เป็นทางเดินที่เราต้องการ และส่วนที่ใช้ในการควบคุม สำหรับหุ่นยนต์ และเราสั่งให้หุ่นยนต์ทำงาน เราสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น จากนั้นก็ปรับตัวควบคุมต่างๆ ด้วยเทคนิค ที่เรียกว่าการควบคุมแบบเรียนรู้ซ้ำ จากนั้น เราเพิ่มความเร็วขึ้นอีกเล็กน้อย เราสังเกตผล และปรับแต่งตัวควบคุมอีกที แล้วก็สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น เราทำแบบนี้หลายๆ รอบ และนี่คือผลที่ได้ นั่นคือเส้นทางเดินที่ต้องการ นี่คือหุ่นยนต์กำลังเคลื่อนไหวด้วยความเร็วของมนุษย์ และนี่คือที่ความเร็ว 4 เท่าของมนุษย์ นี่คือ ที่ความเร็ว 7 เท่า และนี่ คือหุ่นยนต์ทำงานที่ความเร็ว 10 เท่า ของมนุษย์ เราสามารถทำให้หุ่นยนต์ทำงานละเอียดอ่อน ดังเช่นงานย่อยๆ ในการผ่าตัด ที่ความเร็ว 10 เท่าของมนุษย์ โปรเจคนี้ เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับการฝึกฝน และเรียนรู้ ที่จะทำบางอย่าง ครั้งแล้วครั้งเล่า โปรเจคนี้ก็ให้บทเรียนบทหนึ่ง นั่นก็คือ ถ้าคุณอยากทำอะไรให้เก่งๆ ไม่มีอะไรดีกว่าการฝึก ฝึก และฝึก นี่คือสี่บทเรียนที่ผมได้เรียนรู้ จากหุ่นยนต์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และสาขาด้านหุ่นยนต์ ได้พัฒนามาขึ้นมาก ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกวันนี้ นักเรียนม.ปลาย สามารถสร้างหุ่นยนต์ เช่นเดียวกับหุ่นต์ในอุตสาหกรรมที่พ่อและผมพยายามจะสร้าง และตอนนี้ ผมมีลูกสาวคนหนึ่ง ชื่อ โอเดสซา เธออายุ 8 ขวบแล้ว และเธอชอบหุ่นยนต์เสียด้วย บางทีมันอาจเป็นพันธุกรรมนะครับ (เสียงหัวเราะ) ผมอยากให้เธอได้เจอกับพ่อของผม ตอนนี้ผมมีโอกาสสอนให้เธอรู้ว่าสิ่งต่างๆ ทำงานอย่างไร เราได้ทำโปรเจคต่างๆ ร่วมกัน และผมก็อยากรู้ว่า เธอจะได้บทเรียนอะไรจากโปรเจคเหล่านี้บ้าง หุ่นยนต์ คือสิ่งที่ใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด ท่ามกลางเครื่องจักรที่เราสร้างขึ้น มันไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างบนโลกนี้ แต่ผมคิดว่ามันมีบางสิ่งที่สำคัญที่สอนเรา ผมขอเชิญทุกท่านให้ลองคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ ที่คุณสนใจ จักรกลที่คุณอยากได้ และลองคิดว่ามันจะสอนอะไรแก่คุณ เพราะผมมีลางสังหรณ์ว่า หลายนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ที่เราฝันถึง จะสร้างแรงบันดาลใจให้เราเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นได้ ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)