พลังของคำว่า "ยัง" ดิฉันเคยได้ยินเรื่อง โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในชิคาโก ที่นักเรียนต้องสอบผ่านวิชาจำนวนหนึ่ง จึงจะจบการศึกษา ถ้าใครยังไม่ผ่าน เขาจะได้เกรดที่เรียกว่า "ยังไม่จบ" ดิฉันว่าเป็นความคิดที่เลิศมาก เพราะถ้าได้เกรด "ตก" คุณจะรู้สึกว่า ฉันไม่มีค่า ฉันไม่ก้าวหน้าไปไหน แต่ถ้าคุณได้เกรด "ยังไม่จบ" คุณจะเข้าใจว่า คุณยังอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้ มันบอกเส้นทางไปสู่อนาคต "ยังไม่จบ" ยังให้แง่คิดที่ลึกซึ้งแก่ดิฉัน เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญตอนฉันเริ่มงานใหม่ๆ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตจริงๆ ตอนนั้นฉันอยากรู้ว่า เด็กๆ รับมือกับงานยากและท้าทายอย่างไร ฉันทดลองกับเด็ก 10 ขวบกลุ่มหนึ่ง โดยเอาโจทย์ปัญหาที่ยากเกินไปหน่อย สำหรับเขาให้เขาลองทำ เด็กบางคนตอบสนองด้วย ปฏิกิริยาทางบวกอย่างไม่น่าเชื่อ เขาพูดทำนองว่า "ฉันชอบความท้าทาย" หรือ "ฉันหวังว่าจะได้เรียนรู้ อะไรที่เป็นประโยชน์จากงานนี้" พวกเขาเข้าใจว่า ความสามารถของเขานั้นพัฒนาได้ นั่นคือสิ่งที่ฉันเรียกว่า "ความเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้" (growth mindset) แต่ก็มีนักเรียนคนอื่นๆ ที่รู้สึกว่า มันเป็นโศกนาฏกรรม เป็นหายนะ จากมุมมองของคนที่เชื่อว่า มนุษย์เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (fixed mindset) สถานการณ์แบบนี้ทำให้เขาถูกประเมิน ความฉลาด แล้วเขาก็ดันล้มเหลว แทนที่จะได้ประโยชน์จากพลังของการยังไม่รู้ เขากลับถูกผูกยึดอยู่ใน ความโหดร้ายของปัจจุบัน แล้วเขาทำยังไงต่อ ดิฉันจะบอกให้ว่าเขาทำยังไงต่อ ในการวิจัยงานหนึ่ง เด็กพวกนี้บอกว่า ถ้าเขาสอบตก คราวหน้าเขาจะโกงการสอบ แทนที่จะอ่านหนังสือให้มากขึ้น ในงานวิจัยอีกงานหนึ่ง หลังจากความล้มเหลว เด็กพวกนี้มองหาว่าใครทำได้แย่กว่าตัวเอง เพื่อเขาจะได้รู้สึกดีกับตัวเอง งานวิจัยงานแล้วงานเล่าพบว่า เด็กพวกนี้วิ่งหนีความยากลำบาก มีนักนักวิทยาศาสตร์ ที่วัดระดับคลื่นไฟฟ้าในสมอง ขณะที่นักเรียนเผชิญหน้ากับความผิดพลาดของตน ทางซ้ายมือเป็นสมองของนักเรียน ที่เชื่อว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แทบไม่มีกิจกรรมอะไรเลย พวกเขาหลีกหนีความผิดพลาด ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับความผิดพลาด แต่ทางขวามือ นั่นคือสมองของนักเรียน ที่เชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้ เชื่อว่าความสามารถเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ พวกเขาสนใจความผิดพลาดอย่างลึกซึ้ง สมองสว่างวาบด้วยความคิดว่าอะไรที่ยังไม่ดี พวกเขาสนใจอย่างลึกซึ้ง คิดใคร่ครวญเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เรียนรู้จากมัน และแก้ไขมัน พวกเรากำลังเลี้ยงลูกหลานของเรากันอย่างไร? เราเลี้ยงเขาให้สนใจผลลัพธ์ในปัจจุบัน แทนที่จะสนใจสิ่งที่ยังไม่รู้หรือเปล่า? เราเลี้ยงเขาให้โตมาเป็นคนหมกมุ่น กับการได้เกรด A หรือเปล่า? เรากำลังสร้างเด็ก ที่ไม่รู้จักการสร้างความฝันที่ยิ่งใหญ่ เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขา คือ การได้เกรด A เพิ่มอีกตัว หรือคะแนนสอบดีๆ และมีความต้องการให้ผู้อื่น มาชื่นชมตนอยู่ตลอดเวลา เมื่อเขาโตขึ้นไปหรือเปล่า มีนายจ้างหลายคนมาบอกกับฉันว่า พวกเราได้สร้างคนทำงานรุ่นใหม่ ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตผ่านแต่ละวันไปได้ หากไม่ได้รับรางวัล แล้วเราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง? เราจะสร้างสะพานสู่การยอมรับ ว่าเรายังไม่รู้ ได้อย่างไร? นี่คือบางอย่างที่เราสามารถทำได้ อย่างแรกคือ เราใช้วิธีชมที่ดีกว่าเดิมได้ อย่าไปชื่นชมที่ความฉลาดหรือพรสวรรค์ เป็นวิธีที่ไม่ดีเลย อย่าทำแบบนั้นอีกนะคะ ขอให้ชื่นชมกระบวนการที่เด็กๆ ทำ เช่น ชมความพยายาม ยุทธศาสตร์ที่เขาใช้ ความมุ่งมั่นจดจ่อ ความมานะบากบั่น พัฒนาการที่ดีขึ้น การชมที่กระบวนการแบบนี้ สร้างเด็กที่เข้มแข็งและไม่ท้อถอยแม้ล้มเหลว ยังมีวิธีอื่นอีกที่จะส่งเสริม ความสนใจในสิ่งที่ยังไม่รู้ เราเพิ่งร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์ด้านเกม จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน เพื่อสร้างเกมคณิตศาสตร์ออนไลน์ที่ให้รางวัล กับกระบวนการเรียนรู้เมื่อยังไม่รู้ ในเกมนี้ นักเรียนจะได้รับรางวัลที่พยายาม มียุทธศาสตร์ที่ดี และมีความก้าวหน้า เกมคณิตศาสตร์ทั่วๆ ไป มักให้รางวัลเมื่อตอบได้ถูกต้องเดี๋ยวนี้ แต่เกมนี้ให้รางวัลที่กระบวนการ และเราก็พบว่า เด็กๆ มีความพยายามมากขึ้น วางยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา มีความใส่ใจทำงานนั้นอย่างจริงจังยาวนานขึ้น และมีความมานะบากบั่นมากกว่า เมื่อเจอปัญหาที่ยากมากๆ เราพบว่า แค่ใช้คำว่า "ยัง" หรือ "ยังไม่" ทำให้เด็กๆ มีความมั่นใจมากขึ้น เห็นแนวทางไปสู่อนาคต ทำให้เด็กๆ มานะพากเพียรมากขึ้น และเราก็สามารถเปลี่ยนความเชื่อฝังหัว ของนักเรียนได้ด้วยนะคะ ในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เราสอนเด็กๆ ว่า ทุกครั้งที่พวกเขาลองทำอะไรที่ไม่คุ้นเคย เพื่อเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ยากๆ เซลส์ประสาทในสมองของเขา จะสร้างการเชื่อมโยงใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม นานๆ เข้า พวกเขาก็จะฉลาดขึ้น ลองดูสิคะว่าเกิดอะไรขึ้น ในงานวิจัยนี้นะ นักเรียนที่ไม่ได้รับการสอนเรื่องนี้ ว่าสมองและความฉลาดของมนุษย์พัฒนาได้ มีเกรดลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงที่ต้องปรับตัวเข้ากับโรงเรียนใหม่ แต่พวกที่ได้รับการสอนบทเรียนนี้ เกรดกลับดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราทำวิจัยและพบผลแบบนี้ การพัฒนาในทางที่ดีขึ้นแบบนี้ ในเด็กๆ หลายต่อหลายพันคน โดยเฉพาะบรรดาเด็กด้อยโอกาส งั้นเรามาพูดถึงความเท่าเทียมกันต่อดีกว่า ในประเทศของเรา [สหรัฐอเมริกา] มีนักเรียนกลุ่มที่ มีผลการเรียนแย่กว่าที่ควรจะเป็นอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น เด็กๆ ในชุมชนแออัดในเมืองต่างๆ หรือเด็กๆ ที่อยู่ในเขตสงวน สำหรับชนเผ่าพื้นเมือง เด็กเหล่านี้เรียนแย่มาตลอด เป็นเวลายาวนาน จนหลายคนคิดว่าช่วยอะไรไม่ได้แล้ว แต่เมื่อนักการศึกษาสร้างห้องเรียนที่เชื่อ ว่ามนุษย์พัฒนาได้ โดยใช้หลักคำว่า "ยัง" ความเท่าเทียมก็เกิดขึ้น และนี่คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ในหนึ่งปี นักเรียนชั้นอนุบาล ในย่านฮาเลม นิวยอร์ก ได้คะแนนการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระดับชาติ อยู่ที่เปอร์เซนไทล์ที่ 95 ตอนแรกเข้าโรงเรียน เด็กเหล่านี้หลายคน ยังจับดินสอไม่เป็นเลย ภายในปีเดียว เด็กประถมสี่ในเมืองบรองซ์ตอนใต้ ซึ่งผลการเรียนรั้งท้าย กลับกลายเป็นชั้นเรียนประถมสี่ ที่มีคะแนนเป็นที่หนึ่งในรัฐนิวยอร์ก ในการทดสอบคณิตศาสตร์ของรัฐ ภายในปีหรือปีครึ่ง นักเรียนชาวพี้นเมืองอเมริกัน ในเขตสงวนสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองแห่งหนึ่ง ขยับจากรั้งท้ายไปเป็นหัวแถว ในเขตการศึกษานั้น ซึ่งเขตการศึกษาที่ว่านั้น รวมย่านคนรวยของซีแอตเทิลอยู่ด้วย นั่นแปลว่า เด็กๆ ชนเผ่าพื้นเมือง ชนะเด็กจากเมืองไมโครซอฟต์นะคะ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความหมายของ ความพยายามและความยากนั้นถูกเปลี่ยนไป เมื่อก่อน ความพยายามและความยาก ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าตัวเองทึ่ม ทำให้เขาอยากล้มเลิก แต่ตอนนี้ ความพยายามและความยาก คือสิ่งที่ทำให้เซลส์ประสาท เกิดการเชื่อมโยงจุดใหม่มากขึ้น และแข็งแรงขึ้น และเมื่อนั้น เขาก็จะฉลาดขึ้น ดิฉันเพิ่งได้รับจดหมายจากเด็กชาย อายุ 13 ปีคนหนึ่ง เขาบอกว่า "อาจารย์ดเว็คที่เคารพ ผมชื่นชมงานเขียนของอาจารย์ที่ตั้งอยู่บน งานวิจัยที่ทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่น นั่นเป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจ เอาสิ่งที่อาจารย์เขียนไปใช้ ผมเพิ่มความพยายามในการเรียน ในการจัดการความสัมพันธ์กับครอบครัวของผม และความสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นในโรงเรียน ผมพบว่าชีวิตทุกๆ ด้านที่ว่ามา ล้วนดีขึ้นมาก ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า ผมใช้ชีวิตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ ไปอย่างเปล่าประโยชน์ อย่าให้ชีวิตใครถูกใช้ไปอย่างเปล่าประโยชน์ อีกเลยนะคะ เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่า ความสามารถของคนเรานั้นพัฒนาให้เติบโตได้ มันก็จะกลายเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพี้นฐาน ของเด็กๆ ทุกคน ที่จะได้อยู่ในที่ที่สร้างการเติบโตนี้ ในที่ที่เต็มไปด้วยความเชื่อว่า "ยังเรียนรู้ได้อีก" ขอบคุณค่ะ (เสียงปรบมือ)