ฉันออกแบบโปรเจ็คต์ด้านวิศวกรรม ให้กับนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย โดยมักจะใช้วัสดุที่คุณเองคงคาดไม่ถึง แรงบันดาลใจของฉัน มาจากปัญหาในชีวิตประจำวันค่ะ อย่างเช่น ครั้งหนึ่งที่ฉันต้องการหาชุดใส่ เพื่อไปงานคอมมิคคอน แต่ไม่อยากใช้เงินมากจนเกินไป ฉันก็เลยตัดชุดของฉันขึ้นมาเอง พร้อมมงกุฎและกระโปรงทอแสง (เสียงหัวเราะ) อีกครั้งหนึ่ง ฉันรู้สึกเจ็บช้ำใจมาก ที่เจ้าเกมมือถือสุดโปรด "แฟลปปี้ เบิร์ด" กำลังจะถูกถอดออกจากแอพสโตร์แล้ว (เสียงหัวเราะ) ฉันต้องผจญกับภาวะตัดสินใจไม่ถูก ว่าจะเลือกไม่ต้องอัพเดทมือถืออีกเลย หรือไม่ได้เล่นแฟลปปี้ เบิร์ดอีกเลยดีนะ (เสียงหัวเราะ) เมื่อไม่ถูกใจกับทั้งสองทางเลือก ฉันจึงทำสิ่งที่ดูจะเข้าท่าที่สุดแล้วสำหรับฉัน คือสร้างเกมแฟลปปี้ เบิร์ดรูปแบบจับต้องได้ ที่ไม่มีทางถูกถอดไปจากแอพสโตร์ขึ้นมาเอง (เสียงหัวเราะ) (เสียงเพลง) (ส่งเสียงปี๊ป ปี๊ป) (เสียงเพลง) (เสียงหัวเราะ) เพื่อนของฉันหลายคน ติดเกมนี้กันมากเชียวล่ะค่ะ และฉันก็ชวนพวกเขาให้มาเล่นด้วยเช่นกัน (ในวิดิโอ) เพื่อน : อุ๊ย! (เสียงหัวเราะ) (ในวิดิโอ) เพื่อน : อะไรเนี่ย! (เสียงหัวเราะ) พวกเขาบอกว่า มันน่าโมโหพอ ๆ กับของจริงเลยล่ะค่ะ (เสียงหัวเราะ) ฉันจึงได้อัพโหลดวิดิโอสาธิตตัวอย่าง ของโปรเจ็คต์นี้ แล้วก็ต้องแปลกใจ เมื่อมันได้กลายมาเป็นกระแส มีผู้เข้ามารับชมกว่าสองล้านครั้ง ในเวลาเพียงไม่กี่วัน (เสียงหัวเราะ) สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น คือความเห็นของผู้รับชมค่ะ มีคนมากมายที่อยากทำเกมของเขาเอง ไม่ก็ถามฉันว่าจะทำขึ้นมาได้อย่างไร นี่จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ความคิดของฉัน ผ่านโปรเจ็คต์ที่สร้างสรรค์ชิ้นหนึ่ง ว่าเราสามารถสอนวิศวกรรม ให้แก่ผู้คนทั่วไปได้ ด้วยเงินที่ได้รับจากวิดิโอที่แพร่หลาย เราสามารถทำให้เด็ก ๆ ในชั้นเรียนของเรา ทำเกมของตัวเองขึ้นมาในกล่องกระดาษได้ ถึงแม้จะค่อนข้างท้าทายมากทีเดียว แต่พวกเขาก็ได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ ๆ ทางวิศวกรรม และการเขียนโปรแกรม อีกทั้งพวกเขาทุกคนก็ตั้งใจเรียน เพื่อจะได้เล่นเกมจนจบ (เสียงหัวเราะ) ก่อนที่จะทำกล่องแฟลปปี้ เบิร์ด ฉันมีความคิดที่จะสอนนักเรียน ด้วยโปรเจ็คต์วิศวกรรมเชิงสร้างสรรค์ ตอนฉันยังสอนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมต้น เราสอนให้นักเรียนสร้างหุ่นยนต์ จากชุดสำเร็จรูป แต่ฉันรู้สึกได้ว่า เด็กหลาย ๆ คนไม่ได้สนุกไปกับมันนัก ทันใดนั้น ก็มีบางคนเริ่มเอาเศษกระดาษ มาตกแต่งหุ่นยนต์ของตัวเอง จากนั้น นักเรียนคนอื่นก็ทำตามบ้าง พวกเขาจึงสนใจในงานนั้นกันมากขึ้น ดังนั้น ฉันจึงเริ่มมองหา แนวทางการสอนที่สร้างสรรค์เข้ามาใหม่ เพื่อแนะนำให้นักเรียนรู้จักกับเทคโนโลยี สิ่งที่ฉันรับรู้ คือชุดอุปกรณ์ส่วนใหญ่ ที่มีอยู่ในโรงเรียนนั้น ออกจะดูขูดรีดนิด ๆ พวกมันทำขึ้นด้วยชิ้นส่วนพลาสติกทั้งหมด ที่เราปรับเปลี่ยนตามความต้องการไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น อุปกรณ์พวกนี้มีราคาแพงลิบ เป็นเงินหลายร้อยเหรียญต่อชุดเลยค่ะ แน่นอนว่าไม่สามารถสู้ราคาได้ไหวนัก จากงบประมาณของห้องเรียนส่วนใหญ่ ในเมื่อฉันหาสิ่งที่ต้องการไม่ได้ ฉันจึงตัดสินใจ ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาเอง ฉันเริ่มต้นจากกระดาษและเนื้อผ้า ถึงอย่างไร พวกเราก็เล่นของเหล่านี้ มาตั้งแต่เรายังเด็ก อีกทั้งราคาย่อมเยา และมีอยู่แล้วที่บ้าน ฉันจึงได้สร้างโปรเจ็คต์ต้นแบบขึ้นมา ที่ให้นักเรียนได้สร้างตุ๊กตาส่องแสง ด้วยการใช้ผ้าและสายตาสนใจใคร่รู้ไปทั่ว พวกเขาช่วยเหลือซึ่งกันและกันในห้องเรียน หัวเราะและปรึกษากันถึงโปรเจ็คต์ และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการที่พวกเขาได้ใส่จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในโปรเจ็คต์ และเนื่องด้วยความสำเร็จของโปรเจ็คต์นี้ ฉันจึงเดินหน้าสร้างโปรเจ็คต์วิศวกรรม เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจของนักเรียน อีกทั้งได้เริ่มนำเวิร์กช็อปนี้เผยออก สู่นอกโรงเรียน และในชุมชน และสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็บังเกิดขึ้น ฉันสังเกตได้ว่ามีคนจากหลากหลายพื้นเพ มาเข้าร่วมเวิร์กช็อปของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีทั้งผู้หญิงและคนกลุ่มน้อย มาร่วมมากกว่าที่ฉันคิดเอาไว้ และเป็นสิ่งที่คุณจะพบเห็นได้ไม่มากนัก ในเวิร์กช็อปวิศวกรรมรูปแบบเดิม ๆ เรามาดูรายงานการว่าจ้างของบริษัทชั้นนำ ด้านเทคโนโลยีในปี ค.ศ. 2016 กันค่ะ ผู้หญิงมีจำนวนเพียงแค่ 19 เปอร์เซ็นต์ ของบุคลากรด้านเทคโนโลยี และคนกลุ่มน้อย (คนผิวดำ ลาตินอเมริกา) เพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สถิตินี้คงจะดูคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หากคุณได้ก้าวเข้าไปในชมรม วิทยาการหุ่นยนต์ของโรงเรียนไฮสคูล หรือชั้นเรียนวิศวกรรมในมหาวิทยาลัย ทีนี้ มันมีปัญหาอยู่หลายอย่าง ที่ทำให้เราขาดความหลากหลาย ในกำลังคนด้านเทคโนโลยี วิธีหนึ่งที่อาจแก้ปัญหาได้ คือแนะนำให้นักเรียนรู้จักกับเทคโนโลยี ผ่านโปรเจ็คต์สร้างสรรค์เหล่านี้ ฉันไม่ได้หมายความว่า วิธีนี้จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมดนะคะ แต่มันสามารถแนะนำเทคโนโลยี ให้กับคนที่ไม่เคยสนใจด้านนี้ได้ เพราะวิธีที่อธิบายถึงมัน และที่สอนกันมาในโรงเรียน แล้วเราจะเริ่มต้นปรับเปลี่ยนมุมมอง ที่มีต่อเทคโนโลยีได้อย่างไร นักเรียนส่วนใหญ่ต่างคิดว่า มันน่าเบื่อหรือไม่พึงปรารถนา ฉันจึงได้สร้างโปรเจ็คต์ทั้งหมด โดยยึดหลักการทั้งสามนี้อยู่เสมอ ข้อแรกคือ การมีชานต่ำ หมายความว่า โปรเจ็คต์นี้ต้องง่ายแก่การเริ่มต้น เราลองมาดูวิดีโอการสอนนี้กันค่ะ นี่เป็นโปรเจ็คต์แรกที่เราสอนนักเรียน คือ ให้สร้างวงจรไฟฟ้าบนแผ่นกระดาษ คุณจะเห็นได้ว่า มันใช้เวลาไม่นานเลย และค่อนข้างง่าย แม้แต่กับมือใหม่ การมีชานต่ำยังหมายถึง เป็นการทลายอุปสรรคด้านการเงิน ที่ขวางกั้นผู้คนไม่ให้ทำโปรเจ็คต์ได้สำเร็จ ด้วยกระดาษ เทปทองแดง หลอดไฟ และถ่านก้อนหนึ่ง ใคร ๆ ก็สามารถทำโปรเจ็คต์นี้สำเร็จได้ ในราคาที่ต่ำกว่าหนึ่งเหรียญ หลักการที่สอง คือการมีเพดานสูง นี่หมายความว่า มีหลายสิ่งให้พัฒนาต่อยอดได้อีกมาก และมีการกระตุ้นนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ตอนแรกอาจจะเป็นแค่ตุ๊กตาส่องแสง แต่ต่อจากนั้น คุณก็สามารถเพิ่มเซ็นเซอร์ และไมโครคอนโทรลเลอร์ลงไปได้ และเริ่มเขียนโปรแกรมให้ตุ๊กตา ตอบสนองกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว (เสียงหัวเราะ) และสุดท้าย หลักการข้อที่สาม คือ มีการปรับตัวไปตามความต้องการ แปลว่า เราสามารถทำให้โปรเจ็คต์นี้ เชื่อมโยงสัมพันธ์กันได้กับทุกคน นี่คือข้อดีของการใช้ วัสดุที่เราใช้ในชีวิตประจำวันค่ะ เราสามารถปรับให้รับกับความต้องการ ได้จากกระดาษ และผ้า ฉะนั้น ต่อให้คุณไม่ชอบแฟลปปี้ เบิร์ด คุณก็ยังทำเกมของคุณขึ้นมาได้ค่ะ นักเรียน : "เกมของเราเกี่ยวกับจัสติน บีเบอร์" เขากำลังจะโดนจับเพราะขับรถเร็ว ส่วนของพวกนี้ จะคอยกั้นไม่ให้ตำรวจจับเขาได้" (เสียงหัวเราะ) นักเรียน : "ฮะ เขาค่อย ๆ ดีขึ้นแล้ว เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของแก๊งเดียวกัน" (เสียงหัวเราะ) ขอบคุณค่ะ (เสียงปรบมือ)