มีใครในที่นี้ที่บังเอิญสนใจเรื่องมิติพิเศษบ้างครับ (เสียงปรบมือ) เยี่ยมเลย ก่อนอื่น ผมขอขอบคุณทุกท่านสำหรับเวลา... และพื้นที่ของท่าน (เสียงหัวเราะ) ดีครับ ผมดีใจที่มุขนี้ฮา เอาล่ะ ลองจินตนาการถึงโลก ที่ซึ่งผู้อยู่อาศัย เกิดและตาย โดยเชื่อว่ามีมิติทางพื้นที่แค่ 2 มิติ เป็นระนาบ "ชาวโลกแบน" กลุ่มนี้จะเห็นสิ่งประหลาดเกิดขึ้น สิ่งที่ไม่มีทางอธิบายได้ ภายใต้ข้อจำกัดของเรขาคณิตในแบบของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น ลองจินตนาการว่าวันหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ชาวโลกแบนบางคนสังเกตเห็นสิ่งนี้: ชุดของแสงสีที่ปรากฏขึ้นแบบสุ่ม ในบริเวณต่างๆ ตามเส้นขอบฟ้า ไม่ว่าพวกเขาจะพยายาม จะอธิบายแสงเหล่านี้อย่างไร พวกเขาก็ไม่สามารถจะหาทฤษฎี ที่ใช้อธิบายสิ่งนี้ได้ นักวิทยาศาสตร์บางคนที่ฉลาดขึ้นมาหน่อย อาจคิดค้นวิธีที่จะบรรยาย แสงวูบวาบเหล่านี้ในเชิงสถิติ เช่นทุกๆ 4 วินาที มีโอกาส 11% ที่แสงสีแดงจะวาบขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งบนเส้น แต่จะไม่มีชาวโลกแบนคนไหนที่จะคาดเดาได้ อย่างแม่นยำว่า เมื่อใด หรือ ณ จุดใด ที่แสงสีแดงจะปรากฏขึ้นอีกครั้ง ผลที่ตามมาก็คือ พวกเขาเริ่มที่จะคิดว่า โลกนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คิดว่า เหตุผลที่แสงเหล่านี้หาคำอธิบายไม่ได้ เป็นเพราะโดยพื้นฐานแล้ว ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ พวกเขาคิดถูกหรือเปล่า ความจริงที่ว่าพวกเขาถูกบังคับ ให้บรรยายแสงเหล่านี้ในเชิงสถิติ แปลว่า โลกนั้นคาดเดาไม่ได้ อย่างนั้นหรือ บทเรียนที่เราเรียนรู้จาก โลกแบน ก็คือ เมื่อเราคิดบนพื้นฐานของเศษเสี้ยว ของเรขาคณิตที่สมบูรณ์ของธรรมชาติ เหตุการณ์ที่สามารถคาดเดาได้ จะดูเสมือนเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราขยายมุมมองของเรา และเข้าถึงเรขาคณิตที่สมบูรณ์ของระบบ ความดาดเดาไม่ได้ก็จะหายไป อย่างที่คุณเห็น ตอนนี้เราคาดเดาได้แม่นยำว่า ที่ใดและเมื่อไหร่ แสงสีแดงจะปรากฏขึ้นบนเส้นนี้ เรามาที่นี่ คืนนี้ เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ที่ว่าเราเองก็อาจเป็นเช่นชาวโลกแบน เพราะที่จริงแล้ว โลกเรานั้น ก็เต็มไปด้วยปริศนามากมาย ที่ซึ่งดูเหมือนจะไม่ลงตัว กับสมมติฐานของเรขาคณิตที่เรามี เรื่องลึกลับเช่น การบิดโค้งของอวกาศและเวลา, หลุมดำ, อุโมงค์ควอนตัม ค่าคงที่ทางธรรมชาติ, สสารมืด, พลังงานมืด, ฯลฯ รายชื่อยาวทีเดียว แล้วเราตอบสนองต่อสิ่งลึกลับเหล่านี้อย่างไร เรามีสองทางเลือก: เราอาจเลือกที่จะยึดถือสมมติฐาน ที่มีก่อนหน้านั้น และประดิษฐ์สมการขึ้นใหม่ ที่อยู่นอกระบบ ใช้ความพยายามแบบคลุมเครือ เพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น หรือเราอาจเลือกทางเดินที่อาจหาญ โยนสมมติฐานเก่าทิ้งไป แล้วสร้างพิมพ์เขียวใหม่สำหรับความเป็นจริง พิมพ์เขียวที่ได้รวมเอาปรากฏการณ์เหล่านั้นไว้แล้ว มันถึงเวลาที่จะเลือกทางเดินนั้นแล้ว เพราะเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับชาวโลกแบน กลศาสตร์ควอนตัมที่ต้องอธิบายในเชิงสถิติ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ของเรา เชื่อว่า โดยลึกๆ แล้ว โลกเรานั้นคาดเดาไม่ได้ และเชื่อว่าเมื่อเราศึกษาให้ลึกขึ้น เรายิ่งค้นพบ ว่าธรรมชาตินั้นไม่สมเหตุผลเอาเสียเลย อืม... บางทีเรื่องลึกลับเหล่านี้กำลังบอกเราว่า มันมีอะไรมากกว่าภาพที่เราเห็น ว่าธรรมชาตินั้นมีเรขาคณิตที่สมบูรณ์มากกว่าที่เราคิด บางทีปรากฏการณ์ลึกลับหลายๆ อย่างในโลกเรา จะสามารถถูกอธิบายได้โดยเรขาคณิตที่สมบูรณ์กว่า ด้วยมิติที่มากขึ้น นั่นก็จะแปลว่า เรานั้นติดอยู่กับโลกแบบในแบบของเราเอง และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราจะหนีออกไปได้อย่างไร อย่างน้อยก็ในเชิงความคิด ขั้นแรกที่ต้องแน่ใจเสียก่อนก็คือ เราต้องรู้ให้แน่ชัดว่ามิติคืออะไร คำถามเริ่มต้นที่ดีก็คือ ทำไม x, y, z ถึงประกอบกันเป็นมิติทางพื้นที่ได้ คำตอบก็คือ การเปลี่ยนตำแหน่งในมิติหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าตำแหน่งในมิติอื่นๆ จะต้องเปลี่ยนด้วย มิติคือตัวบ่งชี้ตำแหน่งที่เป็นอิสระต่อกัน ดังนั้นแกน z จึงเป็นหนึ่งมิติ เพราะวัตถุสามารถ อยู่ที่ตำแหน่ง x และ y ใดๆ ในขณะที่มันเคลื่อนที่ในแกน Z ดังนั้น การที่จะบอกว่ามีมิติทางพื้นที่อื่นๆ แปลว่าจะต้องเป็นไปได้ที่วัตถุนั้น จะต้องอยู่นิ่งๆ ในตำแหน่ง x, y และ z แต่กำลังเคลื่อนไหวในมิติอื่นๆ แล้วมิติเหล่านั้นอยู่ไหนล่ะ เพื่อไขปริศนานั้น เราต้องเปลี่ยนแปลงสมมติฐานพื้นฐาน เกี่ยวกับเรขาคณิตเรามีเกี่ยวกับอวกาศ เราต้องคิดว่าพื้นที่นั้น แบ่งออกเป็นหน่วยเล็กๆ ที่ไม่ต่อเนื่อง (ควอนตัม) และพื้นที่นั้นประกอบขึ้นจากส่วนเล็กๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ถ้าพื้นที่ประกอบไปด้วยควอนตัม มันจะไม่สามารถถูกแบ่งให้ย่อยลงเป็นอนันต์ เมื่อเราแบ่งมันลงจนถึงขนาดพื้นฐานขนาดหนึ่ง เราจะแบ่งมันเพิ่มไม่ได้ โดยยังคงการพิจารณาเรื่องระยะทางในพื้นที่อยู่ ลองพิจารณาอุปมานี้ครับ: จินตนาการว่าเรามีทองคำบริสุทธิ์อยู่ก้อนหนึ่ง เราตั้งใจจะแบ่งครึ่งมันไปเรื่อยๆ มีคำถามสองข้อให้เราตอบ: เราแบ่งครึ่งมันได้กี่ครั้ง และ เราแบ่งครึ่งมันได้กี่ครั้ง แล้วโดยสิ่งที่เหลือที่ยังเป็นทองอยู่ สองคำถามนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อเราแบ่งมันจนเหลือทองหนึ่งอะตอม เราจะตัดแบ่งต่อไปอีกไม่ได้ โดยไม่ทำลายนิยามของทองคำ ถ้าพื้นที่ถูกแบ่งในระดับควอนตัม การอุปมาแบบเดียวกันก็ใช้ได้ เราไม่สามารถพูดถึงระยะทางภายในพื้นที่ ที่น้อยกว่าหน่วยพื้นฐานได้ ด้วยเหตุผลเดียวกัน เราไม่สามารถพูดถึงปริมาณทองคำ ที่น้อยกว่า 1 อะตอมของทองคำได้ การแยกอวกาศออกเป็นหน่วยเล็กๆ นำเราไปสู่เรขาคณิตแบบใหม่ ที่ซึ่งคล้ายกับแบบนี้ ชิ้นส่วนเล็กๆ เหล่านี้ หรือควอนตัมเหล่านี้ ประกอบกัน กลายเป็นเนื้อแห่งมิติ x, y, z รูปทรงแบบนี้มี 11 มิติ ดังนั้น ถ้าคุณมองแบบนี้ คุณก็เข้าใจมันแล้ว มันไม่ได้ยากเหนือความเข้าใจ เราเพียงแค่ต้องเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น โปรดสังเกตว่ามีปริมาตรที่แตกต่างกันอยู่ 3 แบบ และปริมาตรทุกแบบ มี 3 มิติ ระยะห่างระหว่างสองจุดใดๆ ภายในพื้นที่ จะเท่ากับจำนวนควอนตัม ที่อยู่ระหว่างสองจุด ณ ขณะนั้น ปริมาตรในแต่ละควอนตัมนั้นเรียกว่า อินเตอร์สเปเชียล (interspatial) ปริมาตรที่ควอนตัมกินเนื้อที่ขณะเคลื่อนที่ไปมานั้น เรียกว่า ซุปเปอร์สเปเชียล (superspatial) โปรดสังเกตว่า การมีข้อมูลตำแหน่ง x, y, z ครบถ้วน ทำให้เราบ่งชี้ได้เพียงหนึ่งควอนตัมทางพื้นที่ และโปรดสังเกตว่ามันก็เป็นไปได้ ที่วัตถุชิ้นหนึ่ง จะเคลื่อนที่ในแบบอินเตอร์สเปเชียล หรือซุปเปอร์สเปเชียล โดยไม่เปลี่ยนแปลงพิกัด x, y, z เลย นั่นแปลว่า มีวิธีทั้งหมด 9 แบบที่เป็นอิสระต่อกัน ที่วัตถุสักชิ้น จะเคลื่อนที่ไปมา นั่นรวมเป็น 9 มิติทางพื้นที่ 3 มิติของปริมาตรแบบ x, y, z 3 มิติของปริมาตรแบบซุปเปอร์สเปเชียล และ 3 มิติของปริมาตรแบบอินเตอร์สเปเชียล และเรายังมีมิติของเวลา ซึ่งสามารถนิยามได้ว่า เป็นเลขจำนวนเต็มของการสั่นพ้อง ที่แต่ละควอนตัมประสบ และเวลาแบบซุปเปอร์ไทม์ (super-time) ทำให้เราอธิบายการเคลื่อนไหวของควอนตัม ผ่านซุปเปอร์สเปซได้ เอาล่ะ ผมรู้ว่ามันฟังดูงง และผมไปเร็วมากกว่าที่ผมตั้งใจไว้ เพราะว่ามีรายละเอียดมากมายที่เรา สามารถเจาะลึกลงไปได้ แต่มีประโยชน์สำคัญอยู่ข้อหนึ่ง ในการที่เราสามารถอธิบายพื้นที่ ว่าเป็นตัวกลางที่มีคุณสมบัติของ ความหนาแน่น การบิดเบือน และการกระเพื่อม ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถอธิบาย การบิดโค้งของมิติพื้นที่และเวลาของไอน์สไตน์ ได้โดยโดยไม่ต้องลดมิติของภาพลง การบิดโค้งคือการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่น ของควอนตัมอวกาศเหล่านี้ ยิ่งควอนตัมหนาแน่นมากเท่าไหร่ พวกมันยิ่งมีอิสระน้อยลงในการสั่นพ้อง ดังนั้นมันจึงประสบกับเวลาที่เดินช้าลง และในบริเวณที่มีความหนาแน่นสูงสุด และควอนตัมเหล่านี้ถูกอัดรวมเข้าด้วยกัน เช่นในหลุมดำ ควอนตัมเหล่านั้นจะไม่รู้สึกถึงเวลาเลย แรงโน้มถ่วงนั้นคือผลลัพธ์ง่ายๆ ของวัตถุที่เดินทางเป็นเส้นตรง ผ่านห้วงอวกาศที่บิดโค้ง การเดินทางเป็นเส้นตรงผ่านมิติ x, y, z แปลว่าทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของคุณ เดินทางด้วยระยะทางเท่ากัน มีปฏิสัมพันธ์กับจำนวนควอนตัมที่เท่ากัน แต่เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงความหนาแน่น เกิดขึ้นในห้วงอวกาศ ทางเดินที่เป็นเส้นตรง จะให้ความรู้สึกทางพื้นที่ที่เท่ากัน สำหรับทุกๆ ส่วนของวัตถุนั้น นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าคุณเคยเห็นกราฟเส้นโค้งของไอน์สไตน์มาก่อน การโค้งของมิติอวกาศและเวลา คุณอาจไม่สังเกตว่ามีอยู่หนึ่งมิติที่ไม่ได้ตั้งชื่อเอาไว้ เราสมมติว่า เราใช้ระนาบตามแบบของเรา เมื่อใดก็ตามที่มีมวลอยู่บนระนาบนี้ ระนาบจะยืดออก ถ้ามีมวลมากขึ้น ระนาบก็ถูกยืดมากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นการบิดโค้งที่มากขึ้น แต่เรายืดมันออกไปในทิศทางไหนล่ะ เรากำจัดแกน z ออกไป เราทำพลาดแบบนี้ทุกครั้งในตำราเรียน ตอนนี้ เราไม่ต้องกำจัดมิติแกน z ออกไป เราสามารถแสดงให้เห็นการบิดโค้งได้ ในรูปแบบเต็มๆ และนี่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ปริศนาอื่นๆ ที่ผุดขึ้นมาจากเรขาคณิตแบบใหม่นี้ เช่น อุโมงค์ควอนตัม (quantum tunneling) จำ "ชาวโลกแบน" ของเราได้ไหมครับ พวกเขาเห็นแสงสีแดงปรากฏขึ้น ณ จุดหนึ่งบนขอบฟ้า และจากนั้นมันก็จะหายไป และเท่าที่พวกเขารู้ มันได้หายไปจากเอกภพ แต่ถ้าแสงสีแดงนั้นปรากฏขึ้นอีก ณ อีกจุดหนึ่งบนเส้นขอบฟ้า พวกเขาอาจเรียกมันว่าอุโมงค์ควอนตัม เช่นเดียวกับที่เราสังเกตเห็นอิเล็กตรอน หายไปจากห้วงอวกาศ และปรากฏขึ้นอีกครั้ง ณ อืกแห่งหนึ่ง และที่แห่งนั้น สามารถอยู่นอกเหนือขอบเขตที่มัน ไม่ควรจะหลุดออกไปได้ เอาล่ะ เราสามารถใช้ภาพนี้ได้ เพื่อไขปริศนานั้นได้ไหม คุณเห็นไหม ว่าปริศนาต่างๆ บนโลกเรา สามารถเปลี่ยนเป็นมุมมองที่สวยงาม ภายใต้ภาพของเรขาคณิตแบบใหม่นี้ สิ่งที่เราต้องทำ ก็เพียงแต่ พยายามเข้าใจปริศนาเหล่านี้ เปลี่ยนสมมติฐานเรื่องเรขาคณิตต่างๆ ให้เป็นพื้นที่แบบควอนตัม ภาพนี้บอกเราได้อีกอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับว่าค่าคงที่ต่างๆ ในธรรมชาตินั้นมาจากไหน เช่น ความเร็วแสง ค่าคงที่ของแพลงค์ ค่าคงที่ของแรงดึงดูด และอื่นๆ เนื่องจากหน่วยวัดต่างๆ นิวตัน จูล ปาสคาล ฯลฯ สามารถลดรูปลงได้เป็นการผสมกันของ 5 หน่วย คือ ความยาว มวล เวลา กระแสไฟฟ้า และอุณหภูมิ การแบ่งพื้นที่ออกเป็นควอนตัม แปลว่าหน่วยทั้ง 5 นั้นจะต้องอยู่ ในรูปหน่วยควอนตัมที่แบ่งออกไม่ได้อีก นี่ทำให้เราได้ตัวเลข 5 ตัว ที่เกิดขึ้นมาจากเรขาคณิตแบบใหม่ของเรา ผลทางธรรมชาติจาก 11 มิติ ซึ่งมีหน่วยเป็นหนึ่ง มีตัวเลขอีก 2 ตัวในมุมมองใหม่ของเรา ตัวเลขที่สะท้อนถึงข้อจำกัดด้านการบิดโค้ง พาย (Pi) สามารถใช้เพื่อแสดงส่วนโค้งที่น้อยที่สุด หรือความโค้งเป็นศูนย์ ในขณะที่ตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่เราเรียกว่า เฌอ (Zhe) สามารถใช้เพื่อแสดงสถานะการบิดโค้งสูงสุด เหตุผลที่เราต้องมีค่าสูงสุดเพราะ เรามีอวกาศแบบควอนตัม เราไม่สามารถแบ่งมันออกไปได้เป็นอนันต์ แล้วเลขเหล่านี้ให้อะไรแก่เรา รายชื่อยาวเหยียดเหล่านี้ คือค่าคงที่ตามธรรมชาติ และถ้าคุณสังเกต แม้ในขณะที่เรามองมันแบบผ่านๆ พวกมันต่างประกอบขึ้นด้วยตัวเลขห้าตัว ที่เกิดจากเรขาคณิตแบบใหม่ของเรา และตัวเลขอีกสองตัว ที่มาจากข้อจำกัดของการบิดโค้ง นั่นมันเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับผมมันสำคัญมาก มันแปลว่าค่าคงที่ของธรรมชาติ เกิดจากเรขาคณิตของพื้นที่ พวกมันเป็นผลพวงโดยตรงที่เกิดจากแบบจำลองนั้น เอาล่ะ ถึงตอนสนุกแล้ว เพราะมีประโยคเด็ดๆ อยู่หลายที่ ออกจะยากสักหน่อยที่จะรู้ว่า ใครจะชอบตรงไหน ด้วยเรขาคณิตในมิติแบบใหม่นี้ ทำให้เราสามารถอธิบายแรงดึงดูด ได้ในเชิงแนวคิดทั้งหมด คุณจะเห็นภาพทั้งหมดได้ในหัวของคุณ หลุมดำ อุโมงค์ควอนตัม ค่าคงที่ในธรรมชาติ และในกรณีที่ไม่มีสิ่งไหนเลยที่คุณสนใจ หรือคุณไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับพวกมันมาก่อน คุณคงแทบไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับสสารมืด และพลังงานมืดเป็นแน่ สองสิ่งนี้ก็เป็นผลพวงมาจากเรขาคณิตแบบใหม่ สสารมืดนั้น เมื่อเราสังเกตดาราจักรที่ห่างไกลออกไป และสังเกตเหล่าดาวฤกษ์ที่โคจรอยู่ในดาราจักรเหล่านั้น ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ขอบดาราจักรนั้นเคลื่อนที่เร็วเกินไป ราวกับว่าพวกมันมีแรงดึงดูดมากกว่าปกติ เราจะอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร เราอธิบายไม่ได้ เราจึงคิดว่าต้องมีสสารอย่างอื่นอยู่ที่นั่น ซึ่งสร้างแรงดึงดูดเพิ่มเติม ที่ส่งผลกระทบแบบนั้น แต่เรามองไม่เห็นสสารนั้น เราจึงเรียกมันว่าสสารมืด และเรานิยามสสารมืด ว่าเป็นบางสิ่งที่เรามองไม่เห็น! ซึ่งก็ดี มันเป็นขั้นตอนที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ในแบบจำลองของเรา เราไม่ต้องใช้วิธีคิดก้าวกระโดดแบบนั้น เราคิดแบบก้าวกระโดด ในเชิงที่ว่าพื้นที่นั้นเป็นควอนตัม และสิ่งอื่นๆที่เหลือ เป็นผลพวงจากสมมติฐานนั้น เราเชื่อว่า พื้นที่นั้นสร้างขึ้นจากสิ่งพื้นฐาน แบบเดียวกับที่เราเชื่อ ว่าอากาศนั้นเกิดจากโมเลกุล ถ้านั่นเป็นจริง แปลว่าข้อกำหนดที่ตามมาก็คือ คุณสามารถมีการเปลี่ยนแปลงของความหนาแน่น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแรงโน้มถ่วง และคุณควรจะต้องมีการเปลี่ยนสถานะ แล้วอะไรเป็นตัวกระตุ้นการเปลี่ยนสถานะล่ะ ก็อุณหภูมิไง เมื่อบางสิ่งเย็นตัวถึงจุดหนึ่ง การเรียงตัวของโครงสร้างของมันจะเปลี่ยนไป และมันจะเปลี่ยนสถานะ การเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นนี้ ณ บริเวณขอบนอกของดาราจักร จะก่อให้เกิดสนามแรงโน้มถ่วง เพราะนั่นคือนิยามของสนามแรงโน้มถ่วง มันคือการเปลี่ยนแปลงของความหนาแน่น เอาล่ะ ข้ามพวกนี้ไปเลย ทีนี้ ผมจะอธิบายเรื่องพลังงานมืด ในเวลา 15 วินาที เมื่อเรามองออกไปยังขอบอวกาศ เราสังเกตว่าแสงจากที่ห่างไกล จะเกิดปรากฏการณ์เรดชิฟท์ (redshift - ความยาวคลื่นเคลื่อนไปทางสีแดง) แปลว่ามันสูญเสียพลังงานบางส่วน ในขณะที่เดินทางมาหาเรา โดยใช้เวลานับพันล้านปี แล้วเราจะอธิบายเรดชิฟท์ได้อย่างไร ณ ปัจจุบัน เราเข้าใจว่า มันแปลว่าเอกภพกำลังขยายตัวออก ข้อกล่าวอ้างของเราทั้งหมดที่ว่าเอกภพ กำลังขยายตัว ล้วนมาจากสิ่งนี้ จากการวัดว่า เรดชิฟท์ นั้นเปลี่ยนแปลงอย่างไร ณ ที่ระยะห่างเท่านี้ ระยะห่างนี้ ระยะห่างนี้ และเช่นกัน เราวัดการขยายตัวด้วยวิธีนี้ แต่มีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถอธิบายเรดชิฟท์ได้ เช่นเดียวกับที่ อาจมีวิธีอื่นที่จะใช้อธิบายว่า ทำไม ถ้าผมถือส้อมเสียงอันหนึ่ง ที่ปรับมาให้เป็นเสียงโน้ตดนตรี C แต่เมื่อผมนำมันไปไว้ในอุโมงค์แล้ว คุณกลับได้ยินเสียงโน้ต B แน่นอนว่า คุณอาจบอกว่านั่นเป็นเพราะ ผมกำลังเคลื่อนที่ออกห่างจากคุณในอุโมงค์ แต่มันก็อาจเป็นได้ว่า ความดันอากาศในอุโมงค์ นั้นลดลงในขณะที่เสียงเดินทางมายังหูของคุณ นั่นฟังดูออกจะเป็นไปได้ยากสักหน่อย เพราะความดันอากาศไม่ได้ลดลงเร็วแบบนั้น แต่เมื่อเราคิดถึงแสงที่เดินทางมานับพันล้านปี ที่เราต้องการ ก็คือเหล่าควอนตัม ที่มีความยืดหยุ่นเพียงเล็กน้อย แล้วผลของเรดชิฟท์ก็จะโดดเด่นขึ้นมา ยังมีอะไรอีกมากมายในการสำรวจแนวคิดนี้ ถ้าคุณสนใจ เชิญไปยังเว็บไซต์นี้ได้ และเชิญติชมได้ตามสบายเลยนะครับ เวลาจะหมดแล้ว ดังนั้นให้ผมสรุป ว่าพิมพ์เขียวใหม่ ของมิติทั้ง 11 นี้ ให้เครื่องมือทางความคิดแก่เรา เครื่องมือที่ใช้ขยายขอบเขตของจินตนาการ และ บางที อาจจุดประกายความโรแมนติก ในภารกิจของไอน์สไตน์ขึ้นมาอีกครั้ง ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)