ก เอ๋ย กอไก่ ข ในเล้า ฃ ของเรา ค เข้านา ฅ ขึงขัง ฆ ข้างฝา สวัสดีค่ะ วิวจากแชนเนล Point of View ค่ะ แหม ฟังเมื่อกี้วิวท่องไป ก เอ๋ย กอไก่ ข ในเล้า ฃ ของเรา เชื่อว่า ทุกคนที่ฟังอยู่ตรงนี้จะต้องเคยเรียนภาษาไทยใช่ไหมคะ? และที่ท่องไปเมื่อกี้ น่าจะเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนจะต้องท่องเลย ว่าแต่ อยากรู้กันไหมคะว่า ไอ้ที่ท่องๆ ไปเมื่อกี้มีที่มาจากไหน? ใครเป็นคนแต่ง? ทำไมจะต้องเป็น ก เอ๋ย กอไก่? ก กาได้ไหม? หรือว่า ก กง ก กุ้ง หรือได้เปล่านะคะ? บังเอิญว่า วิวเนี่ยอยากรู้เรื่องนี้มากๆ ค่ะ ดังนั้นนะคะ วิวก็เลยไปรวบรวมหาคำตอบมา แล้วก็สรุปมาเล่าให้ทุกคนฟังแล้วค่ะ เอาตั้งแต่ต้นกำเนิดเลยนะว่า มันเกิดขึ้นได้ยังไง? ไล่มาจนถึงที่เราท่องๆ กันในปัจจุบัน ที่สำคัญนะคะ ระหว่างฟัง รับรองว่า คุณจะได้รับคำตอบของหลายๆ คำถามที่ถามกันมาใน #วิวเอ๋ยบอกข้าเถิด ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นที่มีคนถามมาว่า ทำไม ฑ ต้องเป็น ฑ นางมณโฑ เป็น ฑ อื่นไม่ได้เหรอ? ทำไมจะต้องเป็นชื่อนางในวรรณคดีตัวนี้? หรือหลายๆ คนที่ถามว่า ขอที่มาตัว ฌ หน่อยได้ไหม? แบบ อือฮืม ช่วงนี้ ฌ มาแรงเหลือเกินนะคะ ทั้งจากฝั่งไอดอลและจากฝั่งอีกฝั่งนึงอ่ะนะ เอาเป็นว่า อาจจะไม่ได้คำตอบเป๊ะๆ ในทุกคำถามนะคะ แต่ฟังประวัติที่มาของตัวอักษรกันเนี่ย น่าจะพอได้คำตอบคร่าวๆ แล้วค่ะ ดังนั้นพร้อมจะไปฟังเรื่องราวที่ทั้งสนุก แล้วก็ได้สาระนี้กันหรือยังคะ? ถ้าพร้อมกันแล้ว ก็ไปฟังกันเลยค่ะ ถ้าเราจะพูดถึงที่มาของ ก เอ๋ย กอไก่ ข ในเล้า ฃ ของเราเนี่ยนะคะ อย่างแรกค่ะ เราต้องย้อนเวลากลับไปนะคะ ไปที่ที่มาของ ก ข ค ง ก่อนค่ะ ต้องบอกว่า ในยุคสมัยแรกนะคะ ที่มันมีภาษาไทยเกิดขึ้น หรือมันมีตัวอักษรไทยเกิดขึ้นเนี่ย ตัวอักษรเหล่านี้ยังไม่เคยมีชื่อมาก่อนนะคะ ก็น่าจะเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับภาษาไทยนั่นแหละ ไม่งั้นเราก็คงไม่สามารถเอามาผสมเป็นคำ เป็นอะไรต่างๆ ได้เนอะ แม้ว่าจริงๆ ไอ้พวก ก ข อะไรพวกนี้ มันจะมีมาก่อนในภาษาอื่นๆ แล้วก็ตาม แต่เราพูดถึงเฉพาะเวอร์ชันภาษาไทยนะคะ ที่นี้หลังจากที่มันเกิดขึ้นมานะคะ ก็ต้องบอกว่า มันก็ไม่มีชื่อแบบนี้มาเรื่อยๆ เช่นเดียวกับแบบภาษาอังกฤษอ่ะ เห็นไหมว่าทุกวันนี้เราพูดถึงตัว A มันก็คือ A มันก็คือ B มันก็คือ C มันไม่ใช่แบบ อ่อ ตัวนี้ตัว A Ant ตัวนี้ตัว C Cat อะไรอย่างนั้น จะเห็นว่า มันไม่ได้เป็นชื่อทางการใช่ไหมคะ? ของภาษาอังกฤษ เราไม่ได้ใช้เหมือนกันในทุกประเทศทั่วโลก แม้ว่าจะมีระบบที่แบบทำให้บอกง่ายขึ้น อะไรเวลาที่บอกทางโทรศัพท์ แต่เวลาที่เรียนหนังสือ เค้าก็ไม่ได้เรียนตามระบบอย่างนั้นใช่ไหม? ทีนี้เช่นเดียวกันค่ะ ตัวหนังสือไทยของเราเนี่ย ก็ไม่มีชื่อมาเรื่อยๆ นะคะ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ไล่มาจนกระทั่งถึงสมัยอยุธยา แม้แต่ในหนังสือจินดามณีนะคะ ซึ่งเป็นแบบเรียนไทยเล่มแรกเนี่ย ก็ยังไม่ได้มีการระบุชื่ออะไรต่างๆ จินดามณี นี่ก็คือเล่มที่บูมๆ กันว่า พระโหราธิบดีเขียน ที่อยู่ในเรื่องบุพเพสันนิวาสก็คือ คุณลุงของแม่การะเกดเป็นคนเขียนนั่นแหละค่ะ นั่นเลยนะคะ ในนั้นเนี่ย เวลาที่จะสอนเรื่อง ก ข ค ง อะไรต่างๆ เค้าก็ไม่ได้มีการตั้งชื่อว่าเป็น ก ไก่ ข ไข่ อะไรนะคะ แต่ว่าในนั้นเนี่ย ก็คือจะเหมือนกับยกตัวอย่างขึ้นมาเลยว่า นี่คือตัว ก วิธีใช้ตัว ก ก็คือ... แล้วก็ไล่คำที่ใช้ตัว ก เนี่ย ปึ้บๆๆ มานะคะ เพื่อให้เด็กเนี่ย ท่องจำไปเรื่อยๆ ค่ะ จินดามณีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเนี่ย ก็ยังเป็นลักษณะนั้นอยู่ ยังไม่ได้มีชื่อ ก ไก่ ข ไข่ อะไรต่างๆ นะคะ ไล่มาจนกระทั่งถึงจินดามณีในสมัยของรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของเราเนี่ย ก็ยังไม่มีชื่อเช่นเดียวกันค่ะ แล้วทีนี้ถามว่า ความเปลี่ยนแปลงของตัวหนังสือเนี่ย เกิดขึ้นได้ยังไง? ทำไมอยู่ดีๆ มันถึงเริ่มมีชื่อขึ้นมานะคะ? บอกเลยว่า มันไปเกี่ยวกับวงการๆ นึงค่ะ และจะเป็นวงการที่หลายคนตกใจนะคะว่า เอ้า แล้วมันมาเกี่ยวกับวงการตัวอักษรได้ยังไง? มาเกี่ยวกับการเรียนหนังสือได้ยังไง? วงการนั้นก็คือ วงการหวย นั่นเองค่ะ เอ้า หวยมาเกี่ยวอะไรกับการตั้งชื่อตัวอักษรนะคะ? ก็ต้องบอกว่า ในยุคสมัยก่อนรัชกาลที่ 3 ค่ะ ที่ประเทศจีนเนี่ย มีการคิดค้นหวยชนิดนึงขึ้นนะคะ เป็นหวยที่น่าสนใจมากก็คือ เค้าเนี่ย จะเอากระดาษ หรือว่าแผ่นไม้เนี่ยนะคะ ขึ้นมาค่ะหลายๆ แผ่น ประมาณ 30 กว่าแผ่นเนี่ย แล้วมีการเขียนชื่อคนเนี่ย ลงไปในกระดาษ หรือในแผ่นไม้แต่ละแผ่นนะคะ หลังจากนั้น เจ้ามือหวยเนี่ยก็จะมีการหยิบเอาชื่อคนนึงเนี่ย เอาไปซ่อนไว้บนหลังคาค่ะ แล้วก็เปิดให้ทุกคนแทงกันนะคะว่า เฮ้ย ชื่อที่เราหยิบออกไปเนี่ย เป็นชื่อของใครกันแน่? ทุกคนก็มีการลงเงินกัน ใครแทงถูกก็ได้เงินไป ถูกต้องไหมคะ? ทีนี้ต้องบอกว่า หวยชนิดนี้ค่อนข้างจะแพร่หลาย และได้รับความนิยมมากๆ ในประเทศจีนค่ะ ดังนั้นเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ของไทยนะคะ แน่นอนว่า ในยุคสมัยนั้นเป็นยุคสมัยที่เราค้าขายกับคนจีนเยอะมาก ถูกต้องไหม? มีความสัมพันธ์ มีความเกี่ยวข้องกับคนจีนเยอะมาก มีการค้าขายสำเภากัน และในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ค่ะ เกิดเหตุการณ์นึงขึ้นในบ้านเมืองนะคะก็คือ เหตุการณ์ข้าวยากหมากแพงค่ะ เกิดเงินฝืดขึ้น คือมีความอดยากอยากแค้นอะไรต่างๆ ทำให้ประชาชนเนี่ย รู้สึกว่า เฮ้ย ฉันไม่มีเงินใช้ นี่มันอะไร? ข้าวยากหมากแพง ฉันจะต้องเก็บเงินตุนไว้ อย่าเอาออกมาใช้เลยนะคะ ซึ่งพอคนยิ่งไม่เอาเงินออกมาใช้ ก็ไม่มีเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจใช่ไหมคะ? ดังนั้นมันก็เลยเกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะเงินฝืดขึ้น อ่ะ อันนี้ค่อนข้างที่จะเป็นปัจจุบันนะคะ ปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่นี้นะ ตามหลักเศรษฐศาสตร์อะไรต่างๆ ซึ่งเมื่อเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นเนี่ย ถ้าเป็นสมัยปัจจุบัน เราเรียนเศรษฐศาสตร์กันมา เราก็จะรู้ว่า รัฐบาลต้องแก้ไขด้วยการกระตุ้นให้ประชาชนเนี่ยใช้จ่าย ถูกต้องไหมคะ? จะได้มีเงินเข้าไปหมุนในระบบ พอคนเริ่มใช้เงิน อ่ะ ร้านค้าก็ได้กำไรอะไรต่างๆ เหมือนกับช่วงนี้แหละที่เค้าพยายามโปรโมทกันว่า ให้คนไทยไปช่วยเท่ียวไทย อะไรอย่างนี้นะคะ นี่ก็เป็นมาตรการจัดการเงินฝืดแบบนึงนะ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เนี่ยนะคะ มันก็จะต้องมีการพยายามกระตุ้นจากรัฐบาลในยุคนั้นค่ะว่า ทำยังไงดีที่จะทำให้ทุกคนออกมาใช้เงินกัน? แน่นอนค่ะว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 เนี่ย ความฟุ้งเฟ้ออย่างนึงที่เรียกได้ว่า ประชาชนในยุคนั้นเนี่ย เค้านิยมกัน ก็คือ การสูบฝิ่น นะคะ แต่ว่าตอนนั้นเนี่ย รัชกาลที่ 3 ไม่ค่อยปลื้มค่ะ ประมาณว่า เออ ไม่อยากให้ทุกคนสูบฝิ่นนะคะ ก็เลยมีการเผาทำลายฝิ่นต่างๆ ไป ดังนั้นคนก็เลยไ่ม่มีที่เอาเงินไปลงค่ะ ก็เลยไม่รู้จะเอาเงินไปใช้ฟุ่มเฟือยอะไร? จะเอาไปซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค? สมัยก่อนก็ไม่ต้องซื้อขนาดนั้น ก็สามารถทำเองขึ้นมาได้ใช่ไหมคะ? ปรากฎว่ามีคนจีนคนนึงเนี่ยนะคะ ชื่อว่า จีนหง ค่ะ ก็เลยเข้าไปกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 3 นะคะ บอกว่า เออ จริงๆ แล้วเหตุการณ์นี้ อั๊วว่า มันเกิดขึ้นในประเทศจีนค่อนข้างบ่อยน้า ซึ่งเวลาที่เกิดในประเทศจีนเนี่ย เค้าก็มีวิธีแก้กันอยู่ ก็คือ การออกหวย นั่นเอง พอออกหวยมาเนี่ย คนชอบเล่นพนัน คนก็จะเอาเงินไปเล่นพนัน เงินก็จะเข้าไปในระบบ แล้วก็มีการใช้จ่ายเกิดขึ้น เงินฝืดก็จะหายไป น่ะ ทำไมทำเสียงจีนได้ธรรมชาติขนาดนี้? เหมือนไม่ได้แกล้งทำ เหมือนพูดเป็นปกตินะคะ อย่างไรก็ตาม ช่างมันค่ะ กลับมาที่จีนหงของเรานะคะ หลังจากที่จีนหงแนะนำแบบนี้ไปนะคะ แน่นอนว่า รัชกาลที่ 3 ก็เห็นด้วยค่ะ ดังนั้นก็เลยเกิดหวยขึ้นในประเทศไทยนะคะ ทีนี้พอเอาหวยแบบนี้เนี่ยนะคะมาใช้ในไทยเนี่ย ก็ต้องบอกว่า คนไทยสมัยก่อน จำชื่อคนจีนไม่ได้ค่ะ เพราะว่ามันไม่คุ้นหูไง เหมือนแบบเราเล่นโปเกมอนวันแรกอ่ะ เราก็จำชื่อโปเกมอนไม่ได้หรอกว่า อะไรแบบไนจู ปิกาจู อะไรก็ไม่รู้ ชื่องงๆ เต็มไปหมดนะคะ ดังนั้นก็เลยมีการตั้งชื่อด้วยการเอาตัวอักษรไทยเนี่ยค่ะ ใส่เข้าไปนะคะ คนจะได้จำได้ แต่ไม่ได้ใส่ทุกตัวเนอะ ก็ตัดๆ ตัวที่มันซ้ำบ้างอะไรบ้างออกไปค่ะ สุดท้ายนะคะก็เลยกลายเป็นตัวอักษรไทยทั้งหมด 36 ตัวเนี่ย ประกบกับชื่อคนจีนที่เป็นหวยดั้งเดิมนะคะ เค้าเรียกหวยชนิดนี้ว่า หวย ก ข ค่ะ ส่วนใครที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ไม่เคยรู้เลยว่า เอ๊ แล้วตัวอักษรที่มันประกบกับชื่อคนจีน มันเป็นยังไง อะไรยังไงนะคะ? ขออนุญาตอ่านให้ฟังสักเล็กน้อยนะคะ เพราะว่าอันนี้เราอาจจะไปเจอตามพวกนิยายเก่าๆ อะไรต่างๆ จะได้พอเก็ทไงว่า เค้าพูดถึงอะไร ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องสี่แผ่นดินก็มีการพูดถึงเรื่องหวย ก ข อันนี้เหมือนกัน ดังนั้นนี่แหละค่ะ เค้าก็จะประกบกันแบบนี้นะคะ เช่น ก สามหวย ข ง่วยโป๊ ฃ เจียมฃวย ค เม่งจู ฅ ฮะตั๋ง ฆ ยี่ซัว ง จีเกา ฉ ขายหมู อะไรประมาณนี้ แบบที่ขึ้นให้ดูตรงน้ีนี่แหละค่ะ มันก็จะเรียงๆ กันไปใช่ไหมคะ? ทีนี้เนี่ย หลังจากที่หวยชุดนี้ออกมานะคะ ก็บอกเลยว่า บูมเป็นพลุแตกค่ะ เพราะว่าคนไทยของเราก็เป็นคนที่ค่อนข้างจะชื่อชอบการพนันอยู่แล้วใช่ไหมคะ? เล่นถั่วเล่นโปกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เจอหวยที่เป็นการพนันชนิดใหม่เข้าไป แหม ติดกันระนาวนะ เรียกได้ว่าก็กระตุ้นเศรษฐกิจกันไปนะคะ อย่างไรก็ตามค่ะ เราจะไม่ไปพูดถึงเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรต่างๆ เราจะมาพูดถึงเรื่องตัวอักษรกันว่า ในยุคสมัยแรกเนี่ยนะคะ เราใช้ตัวอักษรเพื่อจำชื่อหวย ถูกต้องไหม? แต่ว่า พอเล่นไปเรื่อยๆ นะคะ เกิดความชอบ เกิดความอิน ต่อให้ชื่อมันจะ 36 ชื่อ เราก็จำได้ค่ะ เหมือนกับบางคนก็ท่องชื่อโปเกมอนร้อยกว่าตัว สองร้อยกว่าตัวได้ ประมาณนั้นเลยนะคะ ดังนั้นค่ะพอมันเกิดความชอบ เกิดการจำชื่อหวยได้เนี่ย มันก็เกิดกลับกันขึ้น ประมาณว่า แต่ก่อนเราบอกว่า เอ๊ เราจะซื้อสามหวยเนี่ย เราจำไม่ได้ เราต้องบอกว่า เราจะซื้อหวย ก แต่พอเราจำคำว่า สามหวยได้ปุ๊บ เราก็บอกว่า เราจะซื้อสามหวย แล้วสามหวยก็คือ ตัว ก นั่นเอง เหมือนกับว่า มันพูดกลับไปอีกทางนึงอ่ะค่ะ แล้วถามว่า เกิดอะไรขึ้น? แน่นอนนะคะว่า ต่อให้ตัดตัวอักษรที่มันเสียงซ้ำกัน อะไรออกไปบ้างแล้ว มันก็ยังมีตัวอักษรอีกหลายตัวค่ะ ที่เสียงซ้ำกันแล้วก็มาปรากฎเป็นชื่อหวย ยกตัวอย่างเช่น ข กับ ฃ ซึ่งตอนนั้นยังเป็น ข กับ ฃ เหมือนกันเป๊ะอยู่เลย แค่หน้าตามันต่างกัน แล้วก็ใช้สะกดคำต่างกันนะคะ ดังนั้นคนสมัยก่อนเนี่ย เวลาที่จะเขียนหนังสือ แล้วมีคนถามว่า เอ๊ ตัวนี้สะกดด้วยขอไหนนะ? ข หรือ ฃ? คือเค้ายังไม่มีคำว่า ข กับ ฃ เค้าก็เลยเอาชื่อหวยเข้ามาแทนค่ะว่า โอ๊ย คำนี้สะกดด้วย ข ง่วยโป๊ นะไม่ใช่ ฃ เจียมฃวย ประมาณนั้นเลยนะคะ ดังนั้นมันก็เลยเกิดการเอาชื่อหวยเนี่ย มาเรียกเป็นตัวอักษรตั้งแต่นั้นมาค่ะ และแล้วคนไทยนะคะ ก็ใช้วิธีนี้เรียกชื่อตัวอักษรมาเรื่อยๆ ค่ะ จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 นะคะ ปรากฎว่า มีคนๆ นึงค่ะ เค้าเกิดรู้สึกขึ้นมาว่า เฮ้ย ทำไมเราต้องเอาชื่อหวยมาเป็นชื่อตัวอักษรเราด้วยอ่ะ? คือเวลาที่เราจะสอนหนังสือเด็ก เราก็จะต้องไปสอนเล่นหวยด้วยเหรอ? หรืออะไรนะ? มันไม่ healthy เท่าไหร่เลย เราควรจะมีชื่อตัวอักษรที่เป็นชื่อตัวอักษรจริงๆ หรือเปล่านะ? คนคนนั้นนะคะ ก็คือ พระยาศรีสุนทรโวหาร ค่ะ เดี๋ยวก่อนทุกคน ก่อนที่หลายคนจะเข้าใจว่า อุ๊ย ชื่อคุ้นๆ นี่จะต้องเป็นช่ือของสุนทรภู่ใช่ไหม? ต้องบอกว่า ไม่ใช่นะคะ สุนทรภู่คือ พระสุนทรโวหาร ค่ะ อันนี้คือ พระยาศรีสุนทรโวหาร หรือว่า น้อย อาจารยางกูร นะคะ เป็นคนที่เขียนตำราเรียนภาษาไทยต่างๆ อ่ะนะ ท่านเนี่ยนะคะ เริ่มคิดขึ้นมาก่อนว่า ทำไมเราจะต้องเอาชื่อหวยมาสอนเด็กด้วย? ดังนั้นท่านก็เลยตั้งชื่อตัวอักษรของท่านเองค่ะ แล้วก็นำไปสอนในกูหลวงนะคะ หรือว่าโรงเรียนหลวงที่ท่านสอนอยู่ โดยตั้งชื่อนะคะ เน้นตัวที่พ้องเสียงกันค่ะ เช่น ข กับ ฃ อะไรแบบนี้นะ เพื่อให้เด็กจำง่ายๆ ค่ะ แต่ว่ายังไม่เป็น ข ยังไม่เป็น ฃ นะคะ ชื่อที่ท่านตั้งมาเนี่ย ก็เช่น ข ขัดข้อง ฃ อังกุษ ค คิด ฅ กัญฐา ฆ ระฆัง ช ชื่อ ฌ ฌาน ญ ญาติ ฎ ชฎา ฏ รกชัฏ ฐ สันฐาน ฑ บิณฑบาต ฒ จำเริญ พอฟังแบบนี้ไป อ่านตรงนี้ไป หลายคนก็จะแบบ เฮ้ย บางตัวมันไม่เห็นได้สะกดด้วยตัวนั้นเลย เช่น ตัว ข ขัดข้องเนี่ย ใช่ มันใช้ ข จริง ทั้งขัด ทั้งข้องเลย แต่ว่า เอ๊ะ แล้ว ฃ อังกุษ มันเกี่ยวอะไร? คำว่า ฃ อังกุษ ไม่เห็นมีการใช้ตัว ฃ เลยแม้แต่นิดเดียวนะคะ ก็ต้องบอกว่า ท่านไม่ได้เน้นการสะกดขนาดนั้นค่ะ ท่านเน้นทำยังไงก็ได้ให้เด็กจำได้นะคะ ดังนั้นบางอันก็เป็นตัวที่ใช้ตัวนั้นสะกด บางอันเนี่ย ก็เป็นคำที่เป็นความหมายของตัวอักษรนั้นๆ แล้วก็เป็นคำที่นิยมจะใช้ตัวนั้นสะกดนะคะ เช่น คำว่า ฃ อังกุษ เนี่ย อังกุษ แปลว่า ขอไอ้ที่มันเอาไว้เกี่ยวช้างอ่ะค่ะ ที่ไว้สับช้าง ขอสับช้าง ประมาณนั้น ดังนั้นเวลาพูดถึงอะไรที่เป็นแบบขอ แบบงอๆ อย่างนี้ สมัยก่อนเค้าใช้ ฃ สะกดค่ะ เห็นไหมก็จำง่าย หรือว่าอีกตัวนึงนะคะ ก็คือ ค คิดกับ ฅ กัณฐา อันนี้ค คิด ชัดเจนมากว่า คำว่า คิด เนี่ยใช่ ค ควายใช่ไหม? แต่กัณฐาเนี่ย เกี่ยวอะไรกับ ฅ? ต้องบอกว่า คำว่า กัณฐา เนี่ยนะคะ คือคำว่า กัณฐะ เหมือนคำว่า ทศกัณฐ์ นั่นแหละค่ะ ที่แปลว่า คอ นะคะ ทศกัณฐ์คือ ผู้ที่มี 10 คอ ถูกต้องไหม? ดังนั้นตัว ฅ สมัยก่อนนะคะ เค้าไม่ใช้เขียนคำว่า คน ค่ะ แต่เค้าใช้เขียนคำว่า คอ ที่แปลว่าแบบ คอ แบบ neck อย่างนี้ เช่นอะไรที่เกี่ยวข้องกับคอ อย่างคอเสื้อเนี่ยนะคะ ก็จะเขียนด้วย ฅ นั่นเองค่ะ ที่น่าสนใจจุดนึงนะคะ ก็คือตัว ฌ นั่นเอง ที่หลายๆ คน สงสัยว่า เอ๊ย มันเป็น ฌ ตั้งแต่เมื่อไหร่? ตอนนี้มันยังไม่เป็น ฌ นะคะ เพราะว่าถ้าไปสังเกตดีๆ จะเห็นว่า มันเป็น ฌ ฌานค่ะ ก็คือ การเข้าฌาน อะไรต่างๆ อยู่นะคะ ซึ่งเดี๋ยวมันจะเปลี่ยนเป็น ฌ เฌอ ตอนไหน? เดี๋ยวเรามาดูกันค่ะ แต่เราก็จะเห็นนะคะว่า ท่านเนี่ยไม่ได้คิดขึ้นมาจนครบ 44 ตัว ท่านคิดเฉพาะตัวที่แบบซ้ำกัน เช่น เวลาบอกรอ เอ๊ะ รอไหน? ร? ล? ฤ? ร อะไรต่างๆ ก็จะแบบ อ่ะ ตั้งชื่อให้มัน หรือว่า ข นี่ ข ไหน? อ่ะ ก็จะตั้งชื่อให้มันค่ะ แต่ว่าอย่างไรก็ตามนะคะ เราก็ถือว่าท่านก็เป็นบุคคลสำคัญคนนึง ที่เริ่มการตั้งชื่อตัวอักษรขึ้นมาค่ะ และแล้วนะคะ วิวขอ fast forward นิดนึงค่ะ จากกลางสมัยรัชกาลที่ 5 มาที่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 นะคะ เมื่อปีพุทธศักราชที่ 2442 ค่ะ มีคนสำคัญแห่งยุคคนนึงนะคะ ทำแอคชันๆ นึงขึ้นมา แล้วก็ส่งผลกระทบมาจนถึง ก เอ๋ย กอ ไก่ ของเราในปัจจุบันนี้ค่ะ คนๆ นั้นนะคะ ต้องบอกว่า พระองค์นั้นดีกว่า ก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ นะคะ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั่นเอง แหม ชื่อนี้คุ้นจริงๆ เพราะว่าท่านทำแทบทุกอย่างเลยนะคะ ซึ่งถามว่า ท่านทำอะไร? ท่านเนี่ย แต่งหนังสือเรียนขึ้นมาเล่มนึงค่ะ เรียกว่า แบบเรียนเร็วเล่ม 1 นะคะ ทีนี้ถามว่า เอ้า แล้วทำไมต้องเรียนเร็ว แล้วเรียนช้าเป็นยัไง? ก็ต้องบอกว่า ท่านที่เมื่อกี้เราพูดถึงไปเนี่ยนะคะ ก็คือ พระยาศรีสุนทรโวหาร หรือว่า น้อย อาจารยางกูร คนที่วิวบอกว่า แต่งหนังสือเรียนมาก่อนเนี่ยนะคะ ก็คือ คนที่แต่งหนังสือเรียนหลวงเนี่ย ท่านเคยแต่งหนังสือเรียนขึ้นมาทั้งหมด 6 เล่มค่ะ เป็นตำราเล่าเรียนหลวงนะคะ ชื่อคล้องจองกันสวยงามกันมากว่า มูลบทพรรกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ นะคะ ก็เป็นแบบเรียนที่ยาวมากนะคะ ถึง 6 เล่มจบ คือเรียกได้ว่า คุณจะต้องเรียน 6 เล่มจบเนี่ย ถึงจะอ่านภาษาไทยออก ทีนี้ถามว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยุคก่อนสมัยรัชกาลที่ 6 ถูกต้องไหม? ฟังดูกำปั้นทุบดินมาก แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็คือ พระราชบัญญัติประถมศึกษา ใช่ไหมคะ? ที่มีการบังคับให้เด็กเนี่ย จะต้องไปเข้าเรียนทุกคน อะไรต่างๆ ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เนี่ย ไม่มีการบังคับให้เข้าเรียนค่ะ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กๆ เนี่ยมาโรงเรียนนะคะ แล้วก็ไม่ได้เรียนตลอดเวลา บางคนมาเรียน อ่ะ เรียนครึ่งเทอม อ่ะ ได้เวลาหน้าทำนาละ ขอกลับไปช่วยพ่อแม่ทำนาก่อน เดี๋ยวทำนาเสร็จ ค่อยกลับมาเรียนต่อนะคะ แล้วหนังสือ 6 เล่มยาวขนาดนี้ เกิดอะไรขึ้น? เด็กลืมค่ะ เรียนเล่มแรกไปครึ่งเล่ม กลับมา เอ้า เค้าขึ้นเล่ม 3 แล้ว เรียนไม่รู้เรื่องนะคะ อ่านหนังสือไม่ออก ดังนั้นเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาขึ้น ในช่วงปลายรัชสมัยของสมัยรัชกาลที่ 5 เนี่ยนะคะ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเนี่ยนะคะ ก็เลยแต่งหนังสือเรียนขึ้นมา ชื่อว่า แบบเรียนเร็ว ค่ะ เพื่อที่ว่าจะได้ให้เด็กเนี่ยเรียนเล่มนี้เล่มเดียว แล้วก็อ่านหนังสือออกนะคะ ทีนี้นอกเรื่องเวิ่นเว้อไปซะไกล ถามว่า ในเล่มนี้มีอะไรสำคัญ? ในเล่มนี้สำคัญเพราะว่า พระองค์เนี่ยคิดว่า เออ ไหนๆ ก็ไหนๆ มีการตั้งชื่อตัวอักษรมาแล้ว ตั้งแต่สมัยพระยาศรีสุนทรโวหาร ทำไมเราไม่ตั้งให้ครบทุกตัวเลยล่ะ? เราจะได้มีชื่อเรียกตัวอักษรทุกไง และที่สำคัญ บางตัวเนี่ยมันจะต้องมีการตีความ จะต้องมีอาจารย์มานั่งอธิบาย เช่น ฃ อังกุษ เด็กเพิ่งอ่านหนังสือ ใครจะไปเข้าใจ? หรือว่า ฅ กัณฐา เนี่ย เด็กที่ไหนจะไปเข้าใจ? เราตั้งชื่อง่ายๆ ด้วยตัวหนังสือที่ใช้ตัวนั้นสะกด แบบไม่ต้องตีความเลยดีกว่า ดังนั้นนะคะ ท่านก็เลยตั้งชื่อตัวอักษรขึ้นมาค่ะ เรียกได้ว่า ครบทั้ง 44 ตัวอักษรขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยนะคะ และทั้ง 44 ตัวเนี่ยก็เหมือนกับที่เราท่องทุกวันนี้นี่แหละ ก็คือ ก ไก่ ค ควาย ง งู อะไรต่างๆ นะคะ แต่ว่าจะมีอยู่ทั้งหมด 2 ตัวนะคะที่แตกต่างกัน ที่วิวไปนั่งอ่านตัวแบบเรียนเร็วมานะ ก็คือตัว ฅ ค่ะ ซึ่งปัจจุบันเราเป็น ฅ คน ใช่ไหม? แต่ว่าสมัยนั้นเค้าคือ ฅ ฅอ เลย คอแบบคออ่ะ คออ่ะค่ะ เพราะว่าคำว่า คน สมัยก่อนใช้ ค แต่ว่าคำว่า คอ ที่เป็น neck เนี่ย มันใช้ ฅ นะคะ และอีกตัวนึงก็คือตัว ฬ นั่นเอง ซึ่งตอนนั้นไม่ได้ใช้ตัว ฬ แต่ว่าจะเป็น ล ลานะคะ ลาก็คือแบบ ลาที่ใช้ลากของอ่ะ ลากับล่อสมัยก่อน ใช้ตัว ฬ ค่ะ อ่ะ ฟังมาถึงตรงนี้นะคะ ใครที่อยากรู้ว่า ฌ ฌาน เปลี่ยนมาเป็น ฌ เฌอตอนไหน? ก็เปลี่ยนมาในสมัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนี่แหละค่ะ เพราะว่าพระองค์เนี่ย เปลี่ยนจาก ฌ ฌาน เป็น ฌ เฌอ นะคะ ซึ่งแปลว่า ต้นไม้ ซึ่งเราจะไม่ไปเจาะลึกนะคะว่า ในภาษาเขมร คำว่า เฌอ ใช้เดี่ยวๆ แปลว่า ต้นไม้ ได้จริงหรือเปล่า? อะไรอย่างนี้นะ เอาเป็นว่า แปลง่ายๆ คร่าวๆ ก่อน อนุโลมได้ว่า คำว่า เฌอ แปลว่า ต้นไม้ ค่ะ แล้วก็เริ่มมาใช้กับตัว ฌ เนี่ย ในสมัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเนี่ยแหละค่ะ รวมถึงอีกตัวนึงนะคะที่หลายๆ คนสนใจ ก็คือตัว ฑ ซึ่งแต่เดิมก็คือ ฑ บิณฑบาตเนี่ย ก็เปลี่ยนมาเป็น ฑ นางมณโฑ ในยุคสมัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เช่นเดียวกันนะคะ ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมจะต้องเป็น ฑ นางมณโฑ? ทำไมถึงไม่เป็นนางในวรรณคดีคนอื่น? อะไรต่างๆ วิวเดาว่านะคะ อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวเนอะ ไม่มีอ้างอิงอะไรทั้งสิ้น คือเรื่องรามเกียรติ์เนี่ย เป็นเรื่องที่ค่อนข้างดังในสังคมไทย ทุกคนรู้จักนางมณโฑค่ะ ดังนั้นเมื่อต้องการหาคำที่สะกดด้วย ฑ เนี่ย มันมีไม่กี่คำหรอกค่ะ คำว่า นางมณโฑ ก็เป็นอีกหนึ่งคำที่มันแบบเด้งขึ้นมาในใจของคนได้ง่ายเนอะ ส่วนถามว่า ทำไมไม่มีตัวละครวรรณคดีตัวอื่นมาเป็นชื่อตัวอักษรเลย? ก็ต้องบอกว่า ส สีดา มันคงยากกว่า ส เสือ อ่ะ หรือว่า ร พระราม มันก็ไม่ใช่ไหม? ร มันก็ควรเป็น ร เรือ มันเข้าใจง่ายกว่า คิดว่า เพราะว่าตัว ฑ เนี่ย มันเป็นตัวอักษรที่หาคำสะกดด้วยคำนี้แบบง่ายๆ ยากค่ะ แล้วคำว่า นางมณโฑ น่าจะเป็นคำที่ง่ายที่สุดที่ใช้ตัว ฑ นะคะ อ่ะ อย่างไรก็ตาม เรากลับเข้าเรื่องของเรากันต่อค่ะ หลังจากที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเนี่ย ทรงตั้งชื่อให้กับตัวอักษรทั้งหลายขึ้นมาให้คล้ายกับปัจจุบันมากๆ นะคะ ก็เกิดยุคสมัยของการเขียนแบบเรียนหนังสือขึ้นค่ะ เพราะว่าเป็นยุคสมัยที่การพิมพ์ค่อนข้างจะแพร่หลายแล้ว การโรงเรียนอะไรต่างๆ มีการปฏิรูปการศึกษา ก็เลยมีการพิมพ์แบบเรียนแบบหลายเวอร์ชัน บริษัทนั้นพิมพ์แบบนี้ บริษัทนี้พิมพ์แบบนั้น หน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้พิมพ์กันขึ้นมานะคะ ยกตัวอย่างเช่น ดรุณศึกษา ซึ่งเป็นหนังสือเรียนของมิชชันนารีที่ใช้กับคณะอัสสัมชัญเนี่ยนะคะ ก็มีการใช้ ก ไก่ ข ไข่ อะไรอย่างนี้ ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ เช่นเดียวกันค่ะ แต่ว่า อย่างไรก็ตามนะคะ ในสมัยนั้นก็ไม่ได้มีใครมาจัดระเบียบ หรือว่ามีใครมากำหนดมาตรฐานอะไรมากมาย ดังนั้นแต่ละสำนักพิมพ์ แต่ละเจ้าเนี่ย บางทีก็มีการปรับเปลี่ยนอะไรกันบ้าง บางอันก็ไม่ตรงกันบ้าง อะไรบ้างนะคะ อาจจะเปลี่ยนบ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น บางคนก็ไม่ใช้ ฌ เฌอ แต่ว่าใช้ ฌ ฤาษีเข้าฌาน หรือว่า บางคนก็ไปใช้ ฌ คิชฌะ อะไรประมาณยังงี้ เอาเป็นว่า บางที ใครคุ้นกับคำไหน ใครรู้สึกว่า เออ ใช้คำนี้มันจำง่ายกว่า ก็เอาไปใส่ในเวอร์ชันของหนังสือเรียนตัวเองนะคะ เรื่องราวก็เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ นะคะ จนกระทั่งถึงปี 2490 ค่ะ มีบริษัทๆ นึงนะคะ นั่นก็คือ บริษัท ประชาช่าง จำกัดนั่นเอง ก็จัดพิมพ์แบบเรียนของตัวเองขึ้นมาค่ะ ซึ่งในยุคสมัยของแบบเรียนเล่มนี้นี่เอง นี่แหละค่ะ ที่ตัว ฅอ ฅ เนี่ย เปลี่ยนจากฅอที่หมายถึง neck เนี่ย กลายเป็นคำว่า ฅ ฅน ในที่สุดนะคะ แม้ว่าคำว่า คน เดิมจะสะกดด้วย ค ก็ตามนะ แล้วอีกตัวนึงที่เปลี่ยนไปก็คือตัว ฬ ค่ะ ก็เกิดเป็น ฬ จุฬา ขึ้น ส่วนลาที่แบบใช้ลากจูงอะไรต่างๆ ก็ไปใช้ ล แทนซะอย่างนั้นเลยนะคะ นอกจากนี้เนี่ย ในแบบเรียนเล่มนี้ ก็มีอีกอย่างนึงที่สำคัญมากๆ ค่ะ คือ เค้าน่าจะกลัวว่าเด็กจะท่องไม่ได้ แบบ ก ไก่ ข ไข่ ฃ ขวด ค ควาย ง งู ท่องไปเรื่อยๆ มันก็ไม่คล้องจองอะไรกัน ก็เลยมีการแต่งคำคล้องจองเข้าไปนะคะ เพื่อให้เด็กเนี่ย จำ ก-ฮ เนี่ย ได้ง่ายขึ้นค่ะ ดังนั้นบริษัทนี้ค่ะ ก็คือบริษัทแรกที่มีการแต่ง ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่ในเล้า ฃ ขวดของเรา ค ควายเข้านา แล้วก็แต่งไปจนกระทั่งถึง ฮ นกฮูกตาโตที่เราท่องกันนี่แหละค่ะ แต่ว่าขออนุญาตไม่ท่องทั้งหมดตรงนี้ เพราะว่าต้องบอกว่า ทั้งหมดนี้มีลิขสิทธิ์นะคะทุกคน ดังนั้นไอ้ที่เราท่องๆ กันเนี่ย มีลิขสิทธิ์กันหมด ถ้าสมมติว่า ใครจะมาจัดพิมพ์ซ้ำ หรืออะไรต่างๆ ต้องมีการขอลิขสิทธิ์ หรือต้องมีการแต่งใหม่ เราจะเห็นหนังสือเรียนเวอร์ชันใหม่ๆ เนี่ย บางทีมันก็จะเป็น ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่วางตั้ง อะไรอย่างนี้ คือเค้าต้องแต่งใหม่ของตัวเอง เพราะว่า ถ้าใช้จะผิดลิขสิทธิ์ค่ะ อย่างไรก็ตามนะคะ ในหนังสือของประชาช่างเล่มนี้ ก็มีอีกจุดนึงที่ไม่เหมือนกับที่เราใช้ในปัจจุบันค่ะ นั่นก็คือตัว ฌ เฌอ นั่นเอง เพราะว่าในของประชาช่างนะคะ เค้าไปเขียนว่า ฌ กระเฌอ ค่ะ ซึ่งคำว่า กระเฌอ เนี่ย ไม่สามารถแปลว่า ต้นไม้ ได้นะคะ ดังนั้นมันก็จะไปมีดราม่าของตัวเองใหญ่โตนะคะ จนกระทั่งเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วเนี่ย ถึงจะมีแบบ มีคนไปทักท้วงอะไรหนักมาก เพราะว่าทั้งประเทศเนี่ย ท่องกันผิดหมดเลย จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการเนี่ย ต้องออกมาร่อนหนังสือเวียนเลยนะคะ ประมาณว่า ทุกคน หยุดท่องว่า ฌ กระเฌอ นะ จงท่องว่า ฌ เฌอ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่า มันแปลว่า ต้นไม้ จ้า นะคะ และนี่ก็คือเรื่องราวที่มาของ ก เอ๋ย ก ไก่ ข ในเล้า ที่เราท่องกันมาตั้งแต่สมัยอนุบาลนั่นเองค่ะ เป็นยังไงบ้าง ชอบเรื่องราวแบบนี้ไหม? ถ้าใครชอบเรื่องราวแบบนี้นะคะ อย่าลืมกดไลก์เป็นกำลังใจให้วิว แล้วก็กดแชร์ เพื่อชวนเพื่อนๆ มาดูด้วยกันค่ะ พบกันใหม่โอกาสหน้านะคะ บ๊าย บาย สวัสดีค่ะ โอ๋ ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่า เรื่องราวของ ก เอ๋ย ก ไก่เนี่ย เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นานมานี้เองนะคะ ไม่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในยุคสมัยแรก แต่ก็เป็นที่น่าดีใจนะที่คนไทยของเราเนี่ย มีการท่อง ก เอ๋ย ก ไก่ขึ้น ทำให้เราสามารถจำตัวอักษรของเราเนี่ยได้ง่ายนะคะ ไม่งั้นอาจจะต้องลำบากนิดนึง มานั่งท่อง ก ข ฃ ค ฅ อะไรต่างๆ ส่วนตัวเนี่ย ท่องแบบนี้ก็ไม่ได้นะ ถ้าเป็น ก เอ๋ย ก ไก่ ท่องได้ค่ะ ทุกคนท่อง ก-ฮ กันได้ไหมคะ? ไหนลองคอมเมนต์มาคุยกันก่อน แต่สำหรับวันนี้ลาไปก่อนละกันค่ะทุกคน บ๊าย บาย สวัสดีค่ะ