คุณเคยสงสัยบ้างไหม ทำไมเราถูกล้อมรอบ ด้วยสิ่งที่ช่วยเราทำทุกสิ่งทุกอย่าง เร็วขึ้น และเร็วขึ้น และเร็วขึ้น ? สื่อสารเร็วขึ้น แต่ก็ต้องทำงานเร็วขึ้น การเงินที่เร็วขึ้น เดินทางเร็วขึ้น หาคนรักเร็วขึ้น ทำอาหารเร็วขึ้น ทำความสะอาดเร็วขึ้น และทำทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ? คุณรู้สึกอย่างไรที่ถูกยัดเยียดมากขึ้น ในทุกเวลาที่ตื่นนอน ? สำหรับคนอเมริกันรุ่นของฉัน ความเร็วเปรียบเสมือนสิทธิที่มีตั้งแต่เกิด บางครั้ง ฉันคิดว่าความเร็วต่ำสุด ของเราคือ มัค 3 ถ้าน้อยกว่านี้ พวกเรากลัวว่าจะสูญเสีย ความสามารถในการแข่งขันไป แต่แม้กระทั้งคนรุ่นของฉัน ก็เริ่มตั้งคำถาม ว่าเราเป็นเจ้านายของความเร็ว หรือความเร็วเป็นเจ้านายของเรา ฉันเป็นนักมานุษยวิทยา ที่ แรนด์ คอร์ปอเรชั่น และในขณะที่นักมานุษยวิทยาคนอื่น กำลังศึกษาวัฒนธรรมโบราณ ฉันมุ่งเน้นไปที่วัฒนธรรมสมัยใหม่ และวิธีการที่เราปรับตัว เข้าหาการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ที่เกิดขึ้นบนโลก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฉันได้ร่วมทีมกับวิศวกร เซฟู ชอนเด เพื่อศึกษาความเร็ว พวกเราสนใจทั้งเรื่อง วิธีการที่มนุษย์ ปรับตัวเข้ากับยุคแห่งความเร็ว รวมทั้งนัยด้านความปลอดภัยและนโยบาย โลกของเราจะเป็นอย่างไรในอีก 25 ปี หากความเร็วของการเปลี่ยนแปลง เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ? มันจะมีผลอย่างไรกับการเดินทาง การศึกษา การติดต่อสื่อสาร การผลิต อาวุธ หรือแม้กระทั่งการคัดกรองตามธรรมชาติ ? อนาคตที่รวดเร็วมากขึ้น จะทำให้เรา มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพมากขึ้นไหม ? หรือมันจะทำให้เรายิ่งเปราะบาง ? ในงานวิจัยของเรา ผู้คนยอมรับว่า ความเร็วเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น และควบคุมได้ยาก พวกเขากลัวว่า ถ้าพวกเขาช้าลง พวกเขาจะมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นพวกตกรุ่น พวกเขากล่าวว่า พวกเขายอมที่จะหมดแรง ดีกว่าที่จะขึ้นสนิม แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขากังวลว่าความเร็วจะค่อย ๆ กัดกร่อนวัฒนธรรม และความรู้สึกของความเป็นบ้าน แม้กระทั่งคนที่ชนะ ในเกมของความเร็ว ก็ยังยอมรับว่ามีความรู้สึกไม่สบายใจ พวกเขาเห็นว่า ความเร็วยิ่งถ่างช่องว่าง ระหว่างคนที่มีฐานะ พวกที่นั่งเครื่องบินเจ็ท เดินทางไปทั่ว กับคนที่ไม่มี ซึ่งถูกทิ้งไว้ในฝุ่นของดิจิทัล ใช่ เรามีเหตุผลที่ดีในการทำนายว่า อนาคตจะรวดเร็วขึ้น แต่เราก็รับรู้ว่า ความเร็วก็มีความขัดแย้ง และเหมือนความขัดแย้งทั้งหมด มันสอนเราเกี่ยวกับประสบการณ์ของมนุษย์ ที่มีทั้งความไร้สาระและความซับซ้อน ความขัดแย้งแรก คือ เรารักความเร็ว และเราก็ตื่นเต้นกับความรุนแรงของมัน แต่สมองในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของเรา ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อสิ่งนี้ ดังนั้น เราสร้างรถไฟเหาะ รถแข่ง และเครื่องบินเหนือเสียง แต่แรงเหวี่ยงก็ทำให้เราเจ็บปวด เมารถ เพลียเพราะนั่งเครื่องบิน พวกเราไม่ได้วิวัฒน์ เพื่อทำงานหลายอย่างพร้อมกัน แต่เราถูกพัฒนาเพื่อทำงานอย่างเดียว ด้วยความตั้งใจอย่างสูง เหมือนกับการล่า ซึ่งความเร็วสูง ไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่ความอดทนในการเดินทางไกลต่างหากที่จำเป็น แต่ในปัจจุบัน เราเพิ่มช่องว่าง ระหว่างชีวภาพกับการใช้ชีวิตของเรา การจับคู่ที่ไม่ถูกต้อง ระหว่างสิ่งที่ ร่างกายถูกสร้างขึ้น กับสิ่งที่เราให้มันทำ มันเป็นปรากฏการณ์ที่อาจารย์ของฉันเรียกว่า "มนุษย์ยุคหินบนทางด่วน" (หัวเราะ) ความขัดแย้งที่สองของความเร็ว คือ มันถูกวัดในเชิงวัตถุวิสัย ใช่ไหม ? ไมล์ต่อชั่วโมง กิกะไบต์ต่อวินาที แต่เรารู้สึกอย่างไรกับความเร็ว และเราชอบมันรึเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องอัตวิสัยอย่างมาก ดังนั้น เราอาจบอกได้ว่า ความเร็วที่เรายอมรับเทคโนโลยีใหม่ นั้นเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ต้องใช้เวลา 85 ปี นับจากจุดเริ่มต้น กว่าที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ จะมีโทรศัพท์ในบ้าน ในทางกลับกัน ใช้เวลาเพียง 13 ปี ที่พวกเราส่วนใหญ่จะมีสมาร์ทโฟน และการตอบสนองของคนกับความเร็ว ก็แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม และแม้แต่ คนที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน ปฏิสัมพันธ์บางอย่างที่มองว่า เป็นความคล่องแคล่วและสะดวก ในบางวัฒนธรรม กลับถูกมองว่าเป็นเรื่อง หยายคายในที่อื่น ๆ ฉันหมายถึง คุณคงจะไม่สั่งชาพร้อมดื่ม ในพิธีชงชาของญี่ปุ่น เพื่อคุณจะได้รีบไปสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป ใช่รึเปล่า ? ความขัดแย้งที่สาม คือ ความเร็ว ก่อให้เกิดความเร็ว ยิ่งฉันตอบสนองเร็ว ฉันก็ได้รับตอบสนองมากขึ้น และฉันต้องตอบสนองเร็วขึ้นไปอีก การมีการสื่อสาร และข้อมูลมากขึ้นที่ปลายนิ้วของเรา ในชั่วขณะเวลาหนึ่ง น่าจะทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และสมเหตุสมผลมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ยังมีความขัดแย้งอีกอย่างหนึ่ง หากเราหวังว่าเทคโนโลยีที่เร็วขึ้น จะช่วยให้เราพ้นจากงานที่น่าเบื่อหน่าย แล้วทำไมเรายังรู้สึกกดดันตลอดเวลา ? ทำไมเรายังขับรถชนอยู่มาก เพราะเราต้องคอยตอบข้อความรึเปล่า ? การใช้ชีวิตอย่างรวดเร็ว ไม่ทำให้เรารู้สึกสนุกขึ้น หรือกระวนกระวายน้อยลงหรือ ? นักพูดเยอรมันเคยยกคำพูดว่า "Eilkrankheit." ในภาษาอังกฤษแปลว่า "ความป่วยจากการรีบ" เมื่อเราต้องตัดสินใจอย่างเร็ว ระบบอัตโนมัติในสมองของเราจะทำงาน และเราจะใช้พฤติกรรมที่เราเรียนรู้ การตอบสนองของเรา อคติของเรา เพื่อช่วยเราในการพิจารณา และตอบสนองอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งก็ช่วยชีวิตเราไว้ จริงไหม ? สู้หรือหนี แต่บางครั้ง มันก็พาเราหลงทางในระยะยาว บ่อยครั้ง เมื่อสังคมเรา เกิดความล้มเหลวครั้งใหญ่ มันไม่ใช่ความล้มเหลวทางเทคโนโลยี มันคือความล้มเหลว ที่เกิดเมื่อเราตัดสินใจเร็วเกินไป ด้วยระบบอัตโนมัติของสมอง เราไม่ได้คิดอย่างสร้างสรรค์หรือรอบคอบ ตามที่ควรจะเป็น เพื่อเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ หรือกรองข้อมูลที่ผิดพลาดออกไป หรือทำความเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อน การคิดแบบนี้ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว มันเป็นสิ่งที่ต้องทำช้า ๆ นักจิตวิทยา 2 คน แดเนียล คาเนอมาน และ เอมอส ทเวอร์สกี้ เริ่มชี้ให้เห็นประเด็นนี้ในปี 1974 และเรายังคงติดอยู่ในวังวน เพื่อทำบางอย่างจากการหยั่งรู้นั้น ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ทั้งหมด อาจถูกมองว่าเป็นการเร่งความเร็วขึ้น เหมือนกับว่า เราคิดว่า ถ้าเราเร็วขึ้นอีก เราจะหนีพ้นจากปัญหาของเราได้ แต่เราไม่เคยทำเช่นนั้นได้ เรารู้สิ่งนี้ในชีวิตของเรา และผู้กำหนดนโยบายก็รู้เช่นกัน ในตอนนี้ เราใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยเราให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น และฉลาดขึ้น เพื่อจัดการกับข้อมูล ที่ขยายตัวตลอดเวลา แต่เครื่องจักรที่คำนวณข้อมูล ก็ไม่สามารถแทนที่ การคิดแบบมีวิจารณญาณและยั่งยืน โดยมนุษย์ ซึ่งมีสมองในยุคหิน ที่ต้องการเวลา เพื่อลดแรงผลักดันของตนเอง เพื่อทำใจให้ช้าลง และปล่อยให้กระแสความคิดดำเนินไป ถ้าเราเริ่มคิดว่า เราน่าจะเหยียบเบรค นั่นอาจไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องเสมอไป เรารู้ว่า รถไฟที่เข้าโค้งเร็วเกินไปจะตกราง แต่วิศวกรอย่างเซฟู สอนฉันว่า รถไฟที่เข้าโค้งช้าเกินไป ก็ตกรางได้เช่นกัน การจัดการความเร็ว จึงต้องเริ่มด้วยความเข้าใจ ว่าเรามีความสามารถในการควบคุมความเร็ว มากกว่าที่เราคิด ทั้งในระดับปัจเจก และระดับสังคม บางครั้ง เราต้องทำตัวเองให้เร็วขึ้น เราอาจต้องแก้ไขปัญหาความติดขัด เร่งการบรรเทาทุกข์ให้เร็วขึ้น เพื่อช่วยเหยื่อพายุเฮอร์ริเคน หรือใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อสิ่งที่เราต้องการตรงนั้น ในเวลาที่เราต้องการมัน อย่างไรก็ตาม บางครั้ง เราต้องทำให้รอบตัวของเราช้าลง เพื่อควบคุมไม่ให้พุ่งชน ประสบการณ์ที่เร็วเกินไป และก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ที่จะไม่ต้องถูกกระตุ้นตลอดเวลา มันดีสำหรับผู้ใหญ่ และสำหรับเด็ก บางครั้งมันก็น่าเบื่อ แต่มันให้เวลากับเราในการใคร่ครวญ ความช้าไม่ใช่การเสียเวลา และเราต้องหวนพิจารณา ความหมายของการประหยัดเวลา วัฒนธรรมและพิธีการรอบโลก สร้างขึ้นในความเนิบช้า เพราะความเนิบช้าช่วยให้เราสามารถตอกย้ำ คุณค่าร่วมและความเชื่อมโยง และการเชื่อมโยงเป็นส่วนสำคัญ ของความเป็นมนุษย์ เราต้องอยู่เหนือความเร็ว และนั่นหมายถึงคิดให้รอบคอบ เกี่ยวผลดีผลเสียของเทคโนโลยีหนึ่ง ๆ มันจะช่วยเราเรียกคืนเวลาที่คุณสามารถ ใช้แสดงความเป็นมนุษย์หรือเปล่า ? มันจะทำให้คุณป่วยจากการรีบหรือไม่ ? มันจะทำให้คนอื่นป่วยจากการรีบหรือไม่ ? หากคุณโชคดีพอที่จะกำหนดความเร็ว ในการใช้ชีวิตได้ตลอด ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ จงใช้มันซะ คุณอาจตัดสินใจว่า คุณต้องการทั้งการทำให้เร็ว และการมีเวลาที่เนิบช้า เวลาในการใคร่ครวญ ในการกลั่นกรอง เท่าที่คุณต้องการ เวลาในการฟัง ในการเห็นอกเห็นใจ ในการพักใจ ในการอ้อยอิ่งที่โต๊ะอาหารค่ำ ดังนั้น เมื่อเรามองไปที่อนาคต เราควรพิจารณากำหนด เทคโนโลยีของความเร็ว วัตถุประสงค์ของความเร็ว และความคาดหวังของเราเกี่ยวกับความเร็ว ในจังหวะย่างก้าวที่เป็นมนุษย์มากขึ้น ขอบคุณ (เสียงปรบมือ)