ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้มาพูดในวันนี้ ผมศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรายได้ และการกระจายความมั่งคั่งมา 15 ปี บทเรียนหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ได้จากการวิจัยนี้ คือ ในระยะยาว อัตราผลตอบแทนของทุนมีแนวโน้ม จะสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง ถึงแม้จะไม่ใช่การกระจุกตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ยิ่งช่องว่างระหว่าง r และ g กว้างขึ้น ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งก็ยิ่งสูงขึ้น ซึ่งสังคมมักโน้มเอียงไปเช่นนั้นในที่สุด นี่คือปัจจัยหลักที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ แต่ผมขอออกตัวก่อนว่า นี่ไม่ใช่ปัจจัยหลักปัจจัยเดียว ที่มีผลต่อพลวัตของการกระจาย ของรายได้และความมั่งคั่ง ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่มีบทบาทสำคัญต่อพลวัตในระยะยาว ของการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง และยังมีข้อมูลอีกมากมาย ที่เราต้องไปเก็บมาทดสอบ วันนี้ เรารู้อะไรมากขึ้นนิดหนึ่ง เทียบกับที่เคยรู้ แต่ก็นับว่าน้อยมาก และที่สำคัญ ก็ยังมีอีกหลายปัจจัย -- ทั้งเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง -- ที่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม วันนี้ แม้ผมจะพูดถึงปัจจัยง่าย ๆ นี้ แต่ไม่ได้แปลว่าปัจจัยสำคัญอื่น ๆ จะไม่มีความหมาย ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ผมนำมาแสดง มาจากฐานข้อมูล ที่หาได้ในอินเทอร์เน็ต ข้อมูล World Top Income Database ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุด เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ เป็นผลงานการรวบรวม ของนักวิจัยนานาชาติมากกว่า 30 ท่าน มาดูข้อสรุปที่เราได้ จากฐานข้อมูลนี้กันก่อน แล้วเราจะกลับไปพูดถึง r ที่สูงกว่า g อีกครั้ง ข้อเท็จจริงประการแรกคือ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ในสหรัฐฯ และยุโรป เปลี่ยนแปลงแบบสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ในปี 1900, 1910 นั้น ความเหลื่อมล้ำของรายได้ ในยุโรปนั้น สูงกว่าในสหรัฐฯ มาก ในขณะที่วันนี้ ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ สูงกว่ามาก ผมขอขยายความหน่อยว่า เหตุผลไม่ได้มาจาก r ที่สูงกว่า g แต่มาจากการเปลี่ยนแปลง ของอุปสงค์และอุปทานในทักษะ, การแข่งขันระหว่างการศึกษาและเทคโนโลยี, โลกาภิวัฒน์, และการเข้าถึงแหล่งความรู้ และทักษะที่ไม่เสมอภาคกันในสหรัฐ ที่ที่คุณมีมหาวิทยาลัยระดับท็อป แต่ระบบการศึกษาในระดับล่าง กลับไม่ดีเท่าไหร่ ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค ในการเข้าถึงแหล่งทักษะความรู้ รวมถึงรายได้ผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จนยากจะอธิบายได้ โดยใช้เพียงระดับการศึกษา แล้วก็ยังมีอีกหลายปัจจัย แต่ผมจะไม่พูดถึงมันมากในวันนี้ เพราะผมอยากจะพุ่งประเด็นไปที่ ความเหลื่อมล้ำทางฐานะ ผมจะพูดถึงตัวชี้วัดง่ายๆ ของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ นี่คือส่วนแบ่งของรายได้ทั้งหมด ที่อยู่ในมือของกลุ่มคนรวยที่สุด 10% แรก คุณจะเห็นได้ว่า เมื่อร้อยปีก่อน อยู่ในระดับ 45-50% ในยุโรป และสูงกว่า 40% เล็กน้อย ในสหรัฐ ความเหลื่อมล้ำในยุโรปจึงสูงกว่าสหรัฐ จากนั้น ความเหลื่อมล้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 และในช่วงทศวรรษหลังๆ มานี้ คุณจะเห็นได้ว่า ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นกว่าในยุโรป และนี่คือข้อเท็จจริงแรกที่ผมพูดถึง ข้อเท็จจริงที่สอง เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง ข้อค้นพบสำคัญของเรื่องนี้ คือความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งนั้น จะสูงกว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้เสมอ และแม้ว่าความไม่เท่าเทียมด้านความมั่งคั่ง จะเพิ่มขึ้นในระยะหลังๆ มานี้ ก็ยังไม่สูงเท่า ที่เคยเป็นเมื่อร้อยปีก่อน ถึงแม้ว่าระดับความมั่งคั่งโดยรวม เมื่อเทียบกับรายได้นั้น ได้ฟื้นตัวจากผลกระทบ ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมจะให้ดูกราฟ 2 กราฟ ที่แสดงข้อเท็จจริงข้อที่ 2 และ 3 เริ่มต้นจากระดับความเหลื่อมล้ำ ของความมั่งคั่ง นี่คือสัดส่วนของความมั่งคั่ง ที่ครอบครองโดยกลุ่มที่รวยที่สุด 10% ซึ่งคุณจะเห็นแนวโน้มที่สวนทางกัน ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป แบบเดียวกับในกราฟความเหลื่อมล้ำ ของรายได้ที่เราได้เห็นไปแล้ว การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในยุโรป จึงสูงกว่าในสหรัฐฯ เมื่อร้อยปีก่อน แต่ตอนนี้ สถานการณ์กลับตรงข้ามกัน นอกจากนี้ คุณจะเห็นอีกสองประเด็นคือ หนึ่งคือระดับความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง จะสูงกว่าระดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้เสมอ กลับไปที่เรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สัดส่วนรายได้ในมือคนรวยที่สุด 10% แรก อยู่ที่ 30-50% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งนั้น สัดส่วนอยู่ระหว่าง 60% และ 90% เสมอ และนี่ก็คือข้อเท็จจริงข้อแรก ซึ่งสำคัญมากสำหรับเรื่องที่ผมจะพูดต่อไป คือการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง จะสูงกว่าการกระจุกตัวของรายได้เสมอ ข้อเท็จจริงข้อที่สองคือ การเติบโตของความเหลื่อมล้ำ ของความมั่งคั่งในระยะหลัง ๆ ยังไม่กลับไปสูงเท่ากับเมื่อปี 1910 ความแตกต่างที่เห็นชัดในวันนี้ คือความไม่เท่าเทียมทางฐานะยังคงสูงมาก คือ 60-70% ของความมั่งคั่งทั้งหมด ถูกครอบครองโดยกลุ่มที่รวยที่สุด 10% แต่ข่าวดีก็คือ จริง ๆ แล้ว ปัจจุบันนี้ก็ยังดีกว่าเมื่อร้อยปีที่แล้ว ที่ 90% ของความมั่งคั่งในยุโรป อยู่ในมือคนรวยที่สุด 10% ขณะที่ปัจจุบัน เรามีกลุ่มที่ผมเรียกว่า กลุ่มชนชั้นกลาง 40% คือ คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสูงสุด 10% แต่ก็ไม่ได้อยู่ต่ำกว่า 50% ซึ่งคุณอาจจะมองว่าเป็นชนชั้นกลางมีฐานะ ที่ถือครองประมาณ 20-30% ของความมั่งคั่งทั้งหมดของประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้เคยเป็นคนจนเมื่อศตวรรษที่แล้ว ตอนที่ยังไม่มีชนชั้นกลางที่มีฐานะเกิดขึ้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่น่าสนใจคือ ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง ยังไม่ย้อนกลับไปสูงถึงระดับยุค ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ว่าปริมาณความมั่งคั่งโดยรวมนั้น ได้ฟื้นตัวเต็มที่แล้ว นี่คือมูลค่ารวมทั้งหมด ของความมั่งคั่งต่อรายได้ คุณจะเห็นว่า โดยเฉพาะในยุโรป ความมั่งคั่งเกือบจะฟื้นกลับไป เท่าระดับก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้น เรากำลังพูดถึง สองด้านที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ ด้านแรกเกี่ยวกับ ปริมาณความมั่งคั่งมวลรวมที่เราสั่งสม ซึ่งไม่ได้เลวร้ายอะไร ที่เราสั่งสมความมั่งคั่งนี้ โดยเฉพาะถ้ามีการกระจายตัวมากขึ้น และกระจุกตัวน้อยลง แต่สิ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญ คือ วิวัฒนาการของ ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราจะอธิบายอย่างไร ว่าทำไมช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ความเหลื่อมล้ำทางฐานะจึงสูงมาก ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้วอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? คราวนี้ มาพูดถึงคำอธิบายของเหตุการณ์นี้ และความน่าจะเป็นในอนาคตกันบ้าง ผมขอพูดก่อนว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะใช้อธิบาย เหตุที่การกระจุกตัวของความมั่งคั่ง สูงกว่าการกระจุกตัวของรายได้ น่าจะเป็นโมเดลพลวัตการสืบทอดมรดก ที่ผู้คนมองกลยุทธ์ระยะยาว และสะสมทรัพย์สมบัติด้วยเหตุผลหลายประการ หากผู้คนเพิ่มพูนความมั่งคั่ง เพียงเพื่อประทังชีวิตตัวเอง เช่น เอาไว้จับจ่ายใช้สอย เมื่อแก่ตัวลง หากเป็นเช่นนั้น ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ แต่มันยากที่จะอธิบาย ว่าทำไมเราจึงมี ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง สูงกว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้มาก หากดูจากช่วงชีวิตคนคนเดียว ดังนั้น เราจึงต้องมองจากมุม ที่ผู้คนสะสมทรัพย์สมบัติ ด้วยเหตุผลนอกเหนือจากนั้นด้วย โดยทั่วไป ผู้คนต้องการส่งต่อ ทรัพย์สมบัติไปสู่ลูกหลานรุ่นต่อไป หรือเขาอาจต้องการสะสมความมั่งคั่ง เพื่อเกียรติยศ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ดังนั้น ต้องมีเหตุผลอื่นๆ ที่คนสะสมความมั่งคั่ง นอกเหนือจากเพียงเพื่อประทังชีวิต ที่จะนำมาอธิบายข้อมูลต่างๆ นี้ได้ ทีนี้ ในภาพใหญ่ของโมเดลพลวัต ของการเพิ่มพูนความมั่งคั่ง ซึ่งมีเจตนาสะสมและสืบทอดความมั่งคั่ง คุณจะเห็นว่ามีปัจจัยที่ส่งผลกระทบ มากมายหลายอย่าง เช่น บางครอบครัว ที่มีลูกหลายคน ทรัพย์สมบัติก็ถูกแบ่งกระจายออกไป แต่บางครอบครัวก็มีลูกน้อยคน คุณจะได้เห็นผลกระทบของอัตราผลตอบแทน บางครอบครัวได้กำไรมหาศาล จากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ บางครอบครัวขาดทุน จากการลงทุนที่ผิดพลาด คุณจะเห็นการขยับตัว ของความมั่งคั่งอยู่ตลอดเวลา บ้างก็มีฐานะสูงขึ้น บ้างก็แย่ลง ประเด็นที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะใช้โมเดลใด กับปัจจัยกระตุ้นใดก็ตาม สภาวะสมดุลของความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง เท่ากับค่าฟังก์ชั่นของ r ลบด้วย g ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และโดยธรรมชาติ สาเหตุที่ผลต่าง ระหว่างอัตราผลตอบแทนจากความมั่งคั่ง กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นสำคัญ ก็เพราะความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง จะขยายกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จาก r ลบ g ที่ใหญ่ขึ้น ตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อ r เท่ากับ 5% และ g เท่ากับ 1% คนรวยต้องใช้เงินเพียง 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งหมดของเขาไปลงทุน เพื่อให้อัตราการโตของทรัพย์สินของเขา เร็วเท่ากับการโตของเศรษฐกิจ นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ การสร้างความร่ำรวยไม่รู้จบได้ง่ายดาย เพราะคุณสามารถใช้เงิน 4 ใน 5 สำหรับจับจ่าย สมมุติว่าไม่มีภาษี และลงทุนเพียง 1 ใน 5 แน่นอนว่าบางครอบครัวใช้จ่ายมากกว่านั้น และบางครอบครัวก็ใช้จ่ายน้อยกว่า เลยเกิดการเคลื่อนที่ของความมั่งคั่ง แต่โดยเฉลี่ยคือต้องลงทุนเพียง 1 ใน 5 และนี่คือสิ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำ ของความมั่งคั่งคงอยู่ต่อ ในตอนนี้ คุณคงไม่แปลกใจ ที่อัตรา r จะสูงกว่า g ตลอดไป เพราะนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมา ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และมันค่อนข้างชัดเจนสำหรับทุกคน ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ อยู่ในระดับใกล้ 0% มาตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ อาจจะเท่ากับ 0.1% 0.2% หรือ 0.3% แต่มีการเติบโตอย่างช้า ๆ ของจำนวนประชากร และผลผลิตต่อหัว ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของทุน แน่นอน ไม่ได้อยู่ในระดับ 0% ในกรณีของที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินรูปแบบดั้งเดิม มาตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 5% แฟนนิยายของ เจน ออสติน น่าจะรู้ดี หากคุณต้องการมีรายได้ 1,000 ปอนด์ต่อปี คุณควรมีทรัพย์สินเริ่มต้นที่มูลค่า 20,000 ปอนด์ เพื่อให้ 1 ใน 5 ของ 20,000 เท่ากับ 1,000 จะว่าไปแล้ว เรื่องนี้ ถือเป็นรากฐานสำคัญของสังคมเลย เพราะ r ที่ใหญ่กว่า g ทำให้คนที่มีทรัพย์สินมากมาย เลี้ยงตัวเองได้ ด้วยผลตอบแทนจากการลงทุน และหันไปทำกิจกรรมอื่น นอกเหนือจากการหาเลี้ยงประทังชีพได้ บทสรุปสำคัญจากการวิเคราะห์ข้อมูล จากประวัติศาสตร์เหล่านี้ คือ การเติบโตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ กลับไม่ส่งผลต่อสภาพการณ์นี้ มากอย่างที่เราคาดคิดเลย แน่นอน อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ในช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปรับตัวสูงขึ้น จาก 0% เป็น 1% เป็น 2% แต่ในขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนของทุนก็เพิ่มขึ้นด้วย ช่องว่างระหว่างสองอย่างนี้ จึงไม่เปลี่ยนไปเลย ในศตวรรษที่ 20 เราได้ผ่านเหตุการณ์พิเศษหลายๆ อย่าง อย่างแรก คือ อัตราผลตอบแทนที่ต่ำมาก ซึ่งเกิดจากสงครามเมื่อปี 1914 และ 1945 และจากการล่มสลายของความมั่งคั่ง, ภาวะเงินเฟ้อ และการล้มละลาย ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ อัตราผลตอบแทน ลดลงอย่างน่าใจหาย ระหว่างปี ค.ศ. 1914 และ 1945 แล้วในช่วงหลังสงคราม เศรษฐกิจก็เติบโตในอัตราสูงกว่าปกติ ส่วนหนึ่ง เป็นผลจากการบูรณะ และฟื้นฟูประเทศ ในเยอรมัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น มีอัตราการเติบโตถึง 5% ระหว่างปี ค.ศ. 1950 และ 1980 ซึ่งส่วนใหญ่ เกิดจากการบูรณะและฟื้นฟู และจากการขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากยุคเบบี้บูม แต่เราเห็นว่าเหตุการณ์นั้น จะไม่คงอยู่เป็นเวลานาน อย่างน้อย อัตราการเพิ่มประชากร มีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคต และการคาดการณ์ที่ดีที่สุดตอนนี้ บอกเราว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ จะอยู่ประมาณ 1% หรือ 2% แทนที่จะเป็น 4% หรือ 5% ถ้าคุณดูที่กราฟนี้ นี่คือค่าประมาณการเติบโตของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั่วโลก และอัตราผลตอบแทนจากทุน และค่าเฉลี่ยของอัตราผลตอบแทนจากทุน คุณจะเห็นว่าในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนจากทุนอยู่มาก แต่แล้ว ในศตวรรษที่ 20 จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นสูงมาก หลังจากสงครามสงบ และการบูรณะก่อสร้าง ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาอยู่ในระดับใกล้เคียง กับอัตราผลตอบแทนจากทุน ผมใช้ประมาณการจำนวนประชากร ของสหประชาชาติ ข้อมูลพวกนี้ จึงยังเปลี่ยนแปลงได้ เป็นไปได้ว่า พวกเราอาจ มีลูกเพิ่มขึ้นในอนาคต อัตราการเพิ่มประชากร ก็จะสูงขึ้น แต่ในเวลานี้ นี่คือประมาณการดีที่สุดเท่าที่เรามี มันแปลว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ จะลดลง และช่องว่างระหว่าง อัตราผลตอบแทนของทรัพย์สินจะสูงขึ้น เหตุการณ์พิเศษอีกอย่าง ในศตวรรษที่ 20 อย่างที่ผมกล่าวไว้ เช่น การตกต่ำของเศรษฐกิจ การเก็บภาษีทรัพย์สิน นี่คืออัตราผลตอบแทนก่อนหักภาษี ส่วนนี่คืออัตราผลตอบแทนหลังหักภาษี หลังเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งทำให้ อัตราเฉลี่ยของผลตอบแทน หลังหักภาษี หลังเศรษฐกิจพัง อยู่ต่ำกว่าอัตราการเติบโต ของเศรษฐกิจเป็นเวลานาน แต่ ถ้าหากเศรษฐกิจไม่พัง และไม่มีภาษี สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น สรุปคือ ความสมดุลระหว่าง อัตราผลตอบแทนจากทุนและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่ยากจะคาดเดา เทคโนโลยีและการพัฒนา การผลิตที่ใช้ทุนมาก (capital-intensive) ตอนนี้ เรามีการพัฒนาแบบนี้มาก ในภาคการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน แต่ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ ว่าเราจะนำหุ่นยนต์มาใช้เยอะขึ้น ในหลากหลายอุตสาหกรรม แล้วจะมีสัดส่วนใหญ่ขึ้นในตลาด เมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งหมด แต่ก็ยังอีกไกลจากวันนี้ และจากนี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ในภาคอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน เป็นส่วนสำคัญหลักทั้งในทรัพย์สินรวม และในการจัดสรรตลาดอีกด้วย สิ่งสำคัญอีกประเด็น คือ ขนาดของการลงทุน ผนวกเข้ากับหลักทางการเงินที่ซับซ้อน การควบคุมการเงินที่หละหลวม ทำให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้นได้ง่ายขึ้น ในพอร์ตการลงทุนที่ใหญ่มาก ซึ่งจะเห็นได้เยอะในหมู่มหาเศรษฐี ที่มีกำลังลงทุนสูง ผมจะพูดถึงตัวอย่างหนึ่ง เป็นข้อมูลจากการจัดอันดับมหาเศรษฐี โดยนิตยสารฟอร์บส์ ระหว่างปี ค.ศ. 1987-2013 คุณจะเห็นว่ากลุ่มที่รวยที่สุด รวยขึ้นประมาณ 6-7% ต่อปี มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่รายได้เฉลี่ยในโลก และความมั่งคั่งเฉลี่ยในโลก ขยายตัวเพียง 2% ต่อปี คุณจะเห็นตัวอย่างแบบนี้ ในมหาวิทยาลัยที่ทุนหนา การลงทุนเริ่มต้นยิ่งมีมูลค่าสูงเท่าไหร่ อัตราผลตอบแทนจะยิ่งสูงขึ้น แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง? สิ่งแรกสุด ผมคิดว่าเราจำเป็น ต้องเพิ่มความโปร่งใสทางการเงิน เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของเงินน้อยมาก เราจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลการโอน ข้อมูลจากธนาคาร เราควรมีการจดทะเบียนทรัพย์สินของโลก มีการร่วมมือกันในการเก็บภาษีคนรวย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเก็บในอัตราสูง เพื่อให้เราสามารถเก็บข้อมูล แล้วนำมาปรับให้เข้ากับนโยบาย บนพื้นฐานของข้อมูลเหล่านั้นต่อไป ในระดับหนึ่ง การต่อสู้กับ การหนีภาษี และการโอนข้อมูลอัตโนมัติ ก็กำลังผลักดันเราไปในทางนั้นอยู่แล้ว ทีนี้ การกระจายความมั่งคั่งก็มีอีกหลายวิธี ที่ดูน่าสนใจ เช่น การสร้างภาวะเงินเฟ้อ การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มนั้น ง่ายกว่าการออกภาษีใหม่ จึงดูเป็นวิธีที่น่าทำ แต่บางครั้งเราไม่รู้ว่าจะใช้เงินนั้นทำอะไร ซึ่งก็เป็นปัญหา การเวนคืนก็น่าสนใจ เมื่อใดที่เห็นใครรวยเกินไป ก็ไปเวนคืนกลับมา แต่มันไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพ ในการบริหารการกระจายตัวของความมั่งคั่ง สงครามก็ยิ่งเป็นวิธี ที่มีประสิทธิภาพน้อยลงไปอีก ทำให้ผมจึงเอียงไปในการเก็บภาษีแบบขั้นบันได แต่แน่นอน ประวัติศาสตร์ (หัวเราะ) ประวัติศาสตร์จะสร้างวิธีดีที่สุดให้ตัวเอง ซึ่งน่าจะประกอบไปด้วย สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ) บรูโน่ กิอุสสานี: คุณโธมัส พิคเก้ตตี้ ขอบคุณครับ โธมัส ผมอยากถามซัก 2-3 คำถามนะครับ ข้อมูลต่างๆ ที่คุณนำเสนอในวันนี้น่าทึ่งมาก คุณกำลังเสนอว่า การกระจุกตัวของความมั่งคั่ง เป็นแนวโน้มทางธรรมชาติในระบบทุนนิยม แล้วถ้าเราปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น มันก็อาจจะทำลายตัวเองในที่สุด คุณจึงแนะนำว่าเราควรเริ่มลงมือ วางนโยบายเพื่อให้เกิด การกระจายตัวของความมั่งคั่ง อย่างตัวอย่างที่เราชมไป เช่น ภาษีขั้นบันได เป็นต้น ในบริบทของสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? คุณคิดว่าเป็นไปได้แค่ไหน ที่สิ่งเหล่านี้จะถูกนำมาปฏิบัติ? โธมัส พิคเก้ตตี้: ผมคิดว่า หากคุณมองย้อนกลับไป ประวัติศาสตร์ของรายได้ ความมั่งคั่ง และภาษี นั้นเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ผมไม่ค่อยมั่นใจ คนที่พูดว่า อนาคตจะเกิดอะไรหรือไม่เกิดอะไร ผมคิดว่า เมื่อศตวรรษก่อน คงมีหลายคนกล่าวไว้ว่า การเก็บภาษีแบบขั้นบันไดไม่มีวันเกิดขึ้นได้ แต่แล้ว มันก็เกิดขึ้น หรือแม้แต่เมื่อห้าปีที่แล้ว หลายคนเชื่อว่าข้อมูลธนาคารในสวิสเซอร์แลนด์ จะเป็นความลับตลอดไป มีความเชื่อว่าสวิสเซอร์แลนด์ เป็นประเทศมหาอำนาจ แต่แล้ว สหรัฐก็ออกกฎต่างๆ ออกมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับธนาคารสวิส แล้วตอนนี้ เรากำลังเดินไปสู่ ความโปร่งใสทางการเงินยิ่งขึ้นไปอีก ผมคิดว่า มันไม่ยากเกินไป ที่จะมีการร่วมมือกันในส่วนการเมือง เพื่อร่างสนธิสัญญาร่วมกัน โดยมีกลุ่มประเทศที่มี GDP ครึ่งหนึ่งของโลก สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ถ้าหาก GDP ครึ่งหนึ่งของโลกไม่พอ ที่จะผลักดันให้เกิดความโปร่งใสทางการเงิน หรือแม้แต่ทำให้มีการ จัดเก็บภาษีขั้นต่ำจากบริษัทข้ามชาติ แล้วเราจะทำอะไรได้อีก? ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ยากในเชิงเทคนิค ผมคิดว่าเราสามารถก้าวหน้าต่อไปได้ หากเราเน้นแนวทางปฏิบัติที่ตอบโจทย์นี้ และกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม เพื่อจับตามองกลุ่มคนที่ ได้รับประโยชน์จากความไม่โปร่งใส บรูโน่: ข้อโต้แย้งอีกอย่าง เกี่ยวกับมุมมองของคุณ คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่แค่ลักษณะอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยม แต่เป็นกลไกหลักเลย ถ้าเราลงมือต่อสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะลดลงตามกันไปด้วย คุณจะตอบพวกเขาอย่างไรบ้างครับ? โธมัส: ใช่ครับ ผมคิดว่าความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง ผมคิดว่า การมีความเหลื่อมล้ำในระดับหนึ่ง มีประโยชน์ต่อนวัตกรรม และการเติบโตของเศรษฐกิจ ปัญหาอยู่ที่ ระดับของมัน เมื่อความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับที่สูงเกินไป มันก็จะไม่มีประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และจะทำให้แย่ลงด้วย เพราะมันมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดภาวะ ความเหลื่อมล้ำที่ไม่มีที่สิ้นสุด และการกระจายความมั่งคั่งลดน้อยลง ยกตัวอย่าง การกระจุกตัวของความมั่งคั่ง ในช่วงศตวรรษที่ 19 เรื่อยมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ของประเทศในยุโรป ผมคิดว่าไม่ช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจ แล้วการกระจุกตัวนั้นก็ถูกทำลายลง ด้วยเหตุการณ์ที่น่าสลดและการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย การขยายตัวของเศรษฐกิจจึงกลับมาอีกครั้ง และความเหลื่อมล้ำอย่างสุดโต่ง ไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อสังคมประชาธิปไตย หากมันทำให้เกิดการไม่เสมอภาค ในการออกเสียงทางการเมือง การแทรกแซงของเงินจากเอกชน ในการเมืองสหรัฐในขณะนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก ดังนั้น เราจึงไม่ควรปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำ กลับไปสู่จุดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 อีก การแบ่งสัดส่วนของความมั่งคั่งที่เหมาะสม ให้กลุ่มคนชั้นกลางนั้น มีผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ มันดีทั้งในแง่มูลค่าทรัพย์สิน และในแง่ประสิทธิภาพ บรูโน: ผมได้กล่าวในตอนต้นว่า หนังสือของคุณได้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก ข้อมูลของคุณถูกวิจารณ์ การเลือกชุดข้อมูลมานำเสนอก็ถูกวิจารณ์ คุณโดนกล่าวหาว่าเลือกเฉพาะข้อมูล ที่สนับสนุนทฤษฎีของตัวเอง โธมัส: ผมขอตอบว่า ผมยินดี ที่หนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดการถกเถียง นี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจให้เกิดขึ้น เหตุผลที่ผมใส่ข้อมูลทั้งหมดบนอินเตอร์เนท พร้อมอธิบายวิธีการคำนวนอย่างละเอียด ก็เพื่อแสดงความโปร่งใสและเปิดเผย ในการถกเถียงเรื่องนี้ ผมได้ตอบได้ตรงประเด็น กับข้อสงสัยทุกข้อ หากผมกลับไปเขียนหนังสือเล่มนี้ใหม่อีกครั้ง ผมจะสรุปว่า ความไม่เท่าเทียมของความมั่งคั่งที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐ จริงๆ แล้ว สูงกว่าที่ผมระบุไว้ในหนังสืออีก มีงานวิจัยโดยนักวิจัย 2 ท่าน เซซและซูคแมน ที่แสดงข้อมูลใหม่ ที่ผมไม่มีตอนเขียนหนังสือเล่มนี้ นั่นคือ การกระจุกตัว ของความมั่งคั่งในสหรัฐนั้น เพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ และก็จะมีข้อมูลอื่นๆ อีกในอนาคต ซึ่งข้อมูลบางอย่างอาจจะไปในทิศตรงกันข้าม เราใส่ข้อมูลเพิ่มเข้าไป ในอินเทอร์เน็ตทุกอาทิตย์ ทั้งข้อมูลอัพเดทจาก World Top Income Database และเราก็จะยังคงเก็บข้อมุลต่อไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะข้อมูลของประเทศเกิดใหม่ ผมยินดีรับข้อมูลจาก ทุกคนที่ต้องการมีส่วนร่วม ในการช่วยเก็บข้อมูล ในความเป็นจริง ผมเห็นด้วย ว่าความโปร่งใสของการกระจายตัว ของความมั่งคั่งนั้นยังไม่มากพอ ทางที่ดีที่จะช่วยเก็บข้อมูลนี้ ก็คือการเก็บภาษีคนรวย เริ่มจากอัตราต่ำ ๆ เพื่อให้ทุกคนยอมร่วมมือ ทำให้เกิดวิวัฒนาการที่สำคัญ และเริ่มร่างกฎเกณฑ์ และนโยบายที่จำเป็นต่อไป การเก็บภาษีคือการเก็บฐานข้อมูลอย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในเวลานี้ บรูโน: โธมัส พิคเก้ตตี้ ขอบคุณมากครับ โธมัส: ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)