ข่าวดีเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวก็คือ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ในความหมายของครอบครัว ใน 50 ปีที่ผ่านมา เรามีครอบครัวผสม ครอบครัวบุญธรรม เรามีครอบครัวเดี่ยวที่แยกกันอยู่คนละบ้าน และก็มีครอบครัวที่หย่าร้างกันแล้ว แต่อยู่รวมกันในบ้านเดียว แต่โดยรวมๆ แล้ว สถาบันครอบครัวเข้มแข็งมากขึ้น คน 8 ใน 10 คนบอกว่า ครอบครัวที่มีในวันนี้ มีความเข้มแข็งเท่ากัน หรือมากกว่าครอบครัวที่เขาเติบโตมา ทีนี้ก็มาถึงข่าวร้ายบ้าง แทบทุกคนต่างก็เผชิญปัญหามากมาย เกินรับไหว กับความวุ่นวายยุ่งเหยิงในชีวิตครอบครัว ผู้ปกครองทุกคนที่ผมรู้จัก รวมถึงตัวผมเองด้วย รู้สึกว่าเราต้องเล่นเกมรับอยู่ตลอดเวลา พอลูกๆ หมดปัญหาเรื่องฟัน ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องเจ้าอารมณ์ พอเด็กๆ พอจะช่วยตัวเองได้แล้วเรื่องการอาบน้ำ ก็จะเริ่มต้องการความช่วยเหลือเรื่องการถูกรังแกทางเน็ต และข่าวร้ายที่สุดก็คือ ลูกๆ ของพวกเราก็รับรู้ได้ว่า เราเริ่มคุมเกมไม่อยู่แล้ว เอลเลน กาลินสกี้ แห่งสถาบันครอบครัวและอาชีพ ได้สำรวจเด็กๆ 1,000 คน โดยถามว่า "ถ้าหนูมีพรวิเศษ ขอได้หนึ่งอย่างเกี่ยวกับพ่อแม่ หนูจะขออะไร?" พวกผู้ใหญ่ก็คาดเดากันว่า เด็กๆ น่าจะขอ ให้ผู้ใหญ่ใช้เวลากับพวกเขามากขึ้น ผิดครับ ความปรารถนาอันดับแรกของเด็กๆ ก็คือ ขอให้พ่อแม่ของพวกเขา เหนื่อยและเครียดน้อยกว่านี้ แล้วเราจะเปลี่ยนสถานการณ์นี้ได้อย่างไร? มีวิธีไหนที่ได้ผลบ้างไหม ที่เราจะลดความเครียด นำพาให้ครอบครัวใกล้ชิดกันมากขึ้น และยังช่วยเตรียมความพร้อมให้ลูกๆ ของเราที่จะเผชิญโลกต่อไป ผมใช้เวลาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พยายามหาคำตอบ เดินทางพบปะหลากหลายครอบครัว พูดคุยกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาตั้งแต่ ผู้แทนเจรจาสันติภาพ ไปจนถึงนักธนาคารของวอเร็น บัฟเฟต รวมไปถึงพวกกรีนแบร์เร่ ผมพยายามที่จะค้นหาว่า ครอบครัวที่มีความสุข ทำกันได้อย่างไร และผมสามารถเรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อทำให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น ผมอยากเล่าให้ฟังถึงครอบครัวหนึ่งที่ผมพบ และทำไมผมถึงคิดว่า พวกเขาชี้ทางสว่างให้ได้ ในเมืองฮิดเดนสปริงส์ รัฐไอดาโฮ หนึ่งทุ่มวันอาทิตย์ สมาชิกทั้งหกคนของครอบครัวสตารร์ นั่งลงพร้อมกัน เข้าสู่ช่วงสำคัญของสัปดาห์ คือการประชุมครอบครัว ครอบครัวสตารร์เป็นครอบครัวอเมริกันธรรมดา และก็มีปัญหาเหมือนๆ กับครอบครัวอเมริกันอื่นๆ เดวิดเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ ส่วนเอเลนอร์ก็ดูแล ลูกๆ ทั้งสี่คน อายุตั้งแต่ 10 ถึง 15 ขวบ เด็กคนหนึ่งต้องกวดวิชาเลข ที่ฝั่งตรงข้ามของเมือง อีกคนหนึ่งต้องซ้อมกีฬาลาครอสที่อีกด้านของเมือง คนหนึ่งมีอาการแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม และมีคนหนึ่งเป็นโรคสมาธิสั้น เอเลนอร์บอกว่า "เราเคยมีชีวิตอยู่อย่างวุ่นวายโกลาหล" สิ่งที่ครอบครัวสตาร์ทำต่อจากนั้น เป็นเรื่องน่าแปลกใจ แทนที่จะขอคำปรึกษาจากเพื่อนหรือญาติ พวกเขากลับมองไปที่ที่ทำงานของเดวิด แล้วหันไปใช้วิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบใหม่ เรียกว่า อไจล์ วิธีการนี้เริ่มมาจากกลุ่มผู้ผลิตในญี่ปุ่น แพร่หลายมาสู่เหล่าบริษัทหน้าใหม่ในซิลิคอนวัลเลย์ การทำงานแบบอไจล์ สมาชิกจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ และทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยเวลาที่สั้นมากๆ ดังนั้นแทนที่จะต้องมีการสั่งการจากผู้บริหารมาเป็นทางการ แต่จะทีมต่างก็บริหารงานกันเอง มีการให้คำติชมกันเป็นประจำ มีการรายงานความคืบหน้าทุกวัน มีการทบทวนประจำสัปดาห์ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เดวิดเล่าว่า เมื่อนำระบบแบบนี้มาใช้ในบ้าน เกิดการสื่อสารกันมากขึ้น โดยเฉพาะในการประชุมครอบครัว ความเครียดลดลง และทำให้ทุกคน มีความสุขมากขึ้น กับการเป็นส่วนหนึ่งของทีมครอบครัว เมื่อผมและภรรยา เริ่มนำการประชุมครอบครัวและเทคนิคอื่นๆ มาลองใช้กับชีวิตเรา ที่มีลูกสาวฝาแฝดอายุตอนนั้น 5 ขวบ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ลูกสาวของพวกเราเกิดมา และการประชุมเหล่านั้นก็สร้างผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่มันใช้เวลาแต่ละครั้งแค่ 20 นาทีเท่านั้น อไจล์คืออะไร แล้วมันจะมาช่วยอะไร กับบางอย่างที่แตกต่างไปอย่างชีวิตครอบครัวได้ ในปี 1983 เจฟฟ์ ซัสเตอแลนด์ เป็นนักเทคโนโลยี ในบริษัทการเงินแห่งหนึ่งในนิวอิงแลนด์ เขาหงุดหงิดเป็นอย่างมากกับวิธีการออกแบบซอฟต์แวร์ ตอนนี้บริษัทต่างใช้วิธีการแบบน้ำตก ซึ่งผู้บริการออกคำสั่งที่จะถูกส่งผ่านลงมาเป็นขั้นๆ ไหลมาอย่างช้าๆ สู่เหล่าโปรแกรมเมอร์ด้านล่าง และไม่เคยมีใครได้ปรึกษาเหล่าโปรแกรมเมอร์เลย โครงการต่างๆ ล้มเหลวถึง 83 เปอร์เซ็นต์ ผลลัพธ์ที่ได้เทอะทะ และล้าสมัย ไปในทันทีที่พัฒนาเสร็จ ซัตเตอแลนด์ต้องการสร้างระบบที่ ไอเดียต่างๆ ไม่ได้เพียงมาจากเบื้องบน แต่สามารถมาจากด้านล่างได้ด้วย และสามารถปรับเปลี่ยนได้ในทันทีทันใด เขาอ่านบทความต่างๆ ในฮาร์วาร์ดบิสิเนสรีวิวย้อนหลังไป 30 ปี ก่อนจะสะดุดใจเข้ากับบทความหนึ่งในปี 1986 ชื่อ "วิธีการใหม่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่" บทความกล่าวถึงสภาพธุรกิจที่เร่งเร็วขึ้น นั่นเป็นเรื่องที่พูดกันเมื่อปี 1986 -- และบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด มีความยืดหยุ่นสูง มีการอ้างถึงโตโยต้าและแคนอน และเปรียบลักษณะทีมงานที่คล่องตัวเหมือนกับทีมสกรัมรักบี้ ซัสเตอแลนด์บอกผมว่า พอเราเจอบทความนั่น เรารู้ว่า "นี่แหละ ใช่เลย" ในระบบของซัสเตอแลนด์ บริษัทต่างๆ จะไม่ใช้ การทำโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาถึงสองปี พวกเขาทำสิ่งต่างๆ เป็นงานย่อยๆ ไม่มีงานไหนที่ใช้เวลานานกว่าสองสัปดาห์ แทนที่จะบอกว่า "เอาละ คุณไปกักตัวซุ่มพัฒนางานมา แล้วกลับมาพร้อมกับโทรศัพท์หรือเครือข่ายสังคมที่เสร็จสมบูรณ์" เรากลับบอกว่า "ไปพัฒนามาแค่ส่วนเดียวก่อน" แล้วเอากลับมาคุยกัน เราจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คุณจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างรวดเร็ว มาถึงวันนี้ แนวทางอไจล์ถูกใช้ในกว่าร้อยประเทศ และเริ่มแพร่หลายเข้าไปสู่กลุ่มผู้บริหารระดับสูง ผู้คนต่างก็เริ่มใช้เทคนิคเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนำมาประยุกต์ใช้ในครอบครัว มีการเขียนบล็อก มีการเขียนคู่มือ ครอบครัวซัสเตอแลนด์ถึงกับมีการ จัดเทศกาลขอบคุณพระเจ้าด้วยเทคนิคอไจล์ โดยมีกลุ่มหนึ่งรับผิดชอบเรื่องอาหาร กลุ่มหนึ่งจัดโต๊ะ และอีกพวกคอยต้อนรับแขกหน้าบ้าน ซัสเตอแลนด์เล่าว่า มันเป็นวันขอบคุณพระเจ้าที่ดีที่สุด เอาละ ลองมาดูปัญหาหนึ่งที่หลายครอบครัวมักเจอ คือความโกลาหลในยามเช้า และดูซิว่าอไจล์จะช่วยได้อย่างไร พื้นฐานสำคัญคือความรับผิดชอบ แต่ละทีมต่างก็ใช้บอร์ดแสดงข้อมูล บอร์ดใหญ่เหล่านี้แสดงความรับผิดชอบของแต่ละคน ครอบครัวสตารร์ ก็นำเอาแนวคิดนี้มาใช้ในบ้าน โดยการสร้างรายการที่ต้องทำยามเช้า โดยที่เด็กๆ แต่ละคนถูกคาดหมายให้ทำงานบ้านแต่ละอย่าง เช้าวันที่ผมไปแวะไปเยี่ยม เอเลนอร์ลงบันไดมา รินกาแฟให้ตัวเองแก้วหนึ่ง แล้วนั่งบนเก้าอี้โยก ระหว่างที่นั่งอยู่นั่น เธอก็คุยกับเด็กๆ แต่ละคน ตอนที่เด็กๆ พากันลงบันไดมาทีละคน เช็คที่รายการ ทำอาหารเช้าของตัวเอง ติ๊กรายการอีกที เอาจานไปใส่เครื่องล้างจาน ติ๊กรายการ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง หรือทำกิจวัตรอื่นๆ ที่ต้องทำ ติ๊กรายการอีกที เก็บข้าวของเตรียมตัว แล้วก็ออกไปขึ้นรถโรงเรียนที่มารับ มันเป็นฉากครอบครัวยามเช้าที่น่าอัศจรรย์ที่สุดที่ผมเคยเห็นมา และเมื่อผมโต้แย้งว่า แบบนี้คงไม่เวิร์คที่บ้านผมแน่ ลูกๆ ของพวกเราต้องคอยกำกับดูแลมากกว่านี้มาก เอเลนอร์มองมาที่ผม เธอว่า "นั่นเป็นสิ่งที่ฉันเคยคิดเหมือนกัน" "ฉันบอกเดวิดว่า 'อย่าเอางานของเธอมาในครัวฉัน' แต่ฉันเป็นฝ่ายผิด" ผมเลยหันไปหาเดวิด "ทำไมมันถึงได้ผล?" เขาบอกว่า "อย่าได้ดูถูกพลังของการทำแบบนี้" แล้วเขาก็เขียนเครื่องหมายถูก เขาบอกว่า "ในที่ทำงาน ผู้ใหญ่ต่างก็ชอบติ๊กถูก" กับเด็กๆ มันเป็นสวรรค์เลยละ สัปดาห์ที่เราเอารายการเช็คลิสต์ตอนเช้ามาใช้ที่บ้าน มันลดการกรีดร้องของผู้ใหญ่ลงไปได้ตั้งครึ่งนึง (เสียงหัวเราะ) แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ยังไม่เกิดขึ้น จนเมื่อเรามีการประชุมครอบครัว โดยการใช้โมเดลอไจล์ เราถามสามคำถาม อะไรเป็นไปได้ดีในครอบครัวเราสัปดาห์นี้ อะไรที่ไปได้ไม่ค่อยสวยนัก และอะไรที่เราตกลงกัน ว่าจะปรับปรุงในสัปดาห์หน้า ทุกคนต่างก็ออกคำแนะนำ แล้วเราก็เลือกมาสองข้อเพื่อเน้นความสำคัญ และทันใดนั้น สิ่งวิเศษหลายอย่างก็เริ่มพรั่งพรู ออกจากปากลูกสาวเรา อะไรที่เป็นไปได้ดีสัปดาห์นี้? เอาชนะความกลัวขี่จักรยาน จัดเตียงของตัวเอง อะไรไม่ค่อยดีนัก? การบ้านเลขของพวกเรา หรือการต้อนรับแขกหน้าบ้าน คงไม่ต่างจากพ่อแม่ทั้งหลาย ลูกๆ ของพวกเรา ก็เหมือนสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา คือ ความคิดและไอเดียต่างๆ ไหลเข้าไป แต่ไม่เคยออกมาได้เลย ผมหมายถึงอย่างน้อยก็ไม่ค่อยเปิดเผยเท่าไหร่ วิธีนี้ช่วยให้เราเข้าถึงความคิดของเด็กๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ช่วงที่น่าประหลาดใจที่สุดคือตอนที่เราถามว่า เราจะทำอะไรในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ แนวคิดหลักของอไจล์ก็คือว่า แต่ละทีมต่างก็บริหารจัดการตัวเอง มันได้ผลในการทำซอฟต์แวร์ และปรากฎว่า มันก็ได้ผลกับพวกเด็กๆ ด้วยเช่นกัน ลูกๆ ของพวกเราชอบกระบวนการนี้ พวกเขาต่างออกไอเดียต่างๆ มากมาย อย่างเช่น เปิดประตูต้อนรับแขกห้ารายสัปดาห์นี้ อ่านหนังสือเพิ่มอีกสิบนาทีก่อนนอน เตะใครบางคน งดของหวานทั้งเดือน กลายเป็นว่า ลูกๆ ของเราเฉียบขาดอย่างกับสตาลิน เราต้องคอยดึงให้เพลาๆ ลงหน่อยอยู่เสมอ ทีนะ เป็นเรื่องปกติที่มักจะมีความแตกต่าง ระหว่างการแสดงออกในการประชุม กับพฤติกรรมที่เด็กๆ ทำตลอดทั้งสัปดาห์ แต่เรื่องนั้นไม่ได้ทำให้เรากังวลใจเลย มันให้ความรู้สึกเหมือนกับว่า เรากำลังวางรากฐานที่สำคัญ ที่จะยังไม่ได้แสดงออกจนกระทั่งในอีกหลายปีต่อมา เวลาผ่านไปสามปี ตอนนี้ลูกของเราเกือบแปดขวบแล้ว เรายังจัดประชุมแบบนี้อยู่ ภรรยาผมถือว่าการประชุมเหล่านี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในฐานะแม่ แล้วเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง? คำว่า "อไจล์" บรรจุเข้าพจนานุกรมในปี 2001 เมื่อเจฟฟ์ ซัสเตอแลนด์และนักออกแบบกลุ่มหนึ่ง พบกันในรัฐยูท่าห์ และเขียนแถลงการอไจล์ 12 ข้อ ผมคิดว่า ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะ ที่จะเขียนแถลงการครอบครัวอไจล์ ผมรับเอาไอเดียบางอย่างจากสตารร์และครอบครัวอื่นๆ ที่ได้พบ ผมขอเสนอแถลงการ 3 ข้อ ข้อที่หนึ่ง ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เมื่อผมกลายเป็นพ่อแม่ ผมได้พบว่า เราจะกำหนดกฎเกณฑ์บางอย่างขึ้นมา แล้วก็ยึดอยู่กับมัน ซึ่งนั่นสมมติเอาว่า ในฐานะพ่อแม่ เราสามารถ คาดการณ์ปัญหาทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นได้ แต่เราคาดการณ์ไม่ได้หรอก ข้อดีอย่างยิ่งสำหรับระบบอไจล์คือ คุณจะสร้างระบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นคุณจึงสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ตอนที่เกิดขึ้นได้ เหมือนกับที่ว่ากันไว้ในโลกอินเตอร์เน็ต ถ้าคุณทำอะไรบางอย่างวันนี้เหมือนที่เคยทำมาเมื่อหกเดือนที่แล้ว คุณกำลังทำอะไรบางอย่างผิดๆ อยู่ พ่อแม่ทั้งหลายสามารถเรียนรู้จากสิ่งนี้ได้ แต่สำหรับผมแล้ว "ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา" มีความหมายมากไปกว่านั้น เราต้องปลดปล่อยเหล่าพ่อแม่ออกจากความเชื่อบ้าๆ ที่ว่า ไอเดียต่างๆ ที่เราสามารถลองทำได้ที่บ้านนั้น จะต้องมีที่มาจากจิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาตัวเอง หรือไม่ก็ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวเท่านั้น ความจริงก็คือ แนวคิดเหล่านั้นล้าสมัยไปเสียแล้ว ในแวดวงสังคมอื่นๆ มีความคิดใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมาย ที่จะทำให้กลุ่มคนและทีมงานทำงานมีประสิทธิภาพ ลองดูตัวอย่างเหล่านี้ดู ลองดูปัญหาที่ใหญ่ที่สุดดู มื้อค่ำของครอบครัว ใครๆ ต่างก็รู้ว่า การทานอาหารค่ำร่วมกันในครอบครัว พร้อมกับเด็กๆ เป็นเรื่องที่ดีสำหรับเด็ก แต่สำหรับพวกเราหลายคน มันไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ผมเคยพบกับเชฟชื่อดังในนิวออร์ลีนส์ ผู้ซึ่งบอกว่า "ไม่มีปัญหา ผมแค่เปลี่ยนเวลาทานอาหารร่วมกันของครอบครัว ผมไม่อยู่บ้าน ไม่สามารถกลับมากินข้าวเย็นพร้อมหน้ากันได้หรือ? เราก็กินข้าวเช้าพร้อมกันทั้งครอบครัว หรือไม่ก็นั่งกินของว่างยามดึกก่อนนอนด้วยกัน เราแค่ทำให้มื้ออาหารวันอาทิตย์มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น" และความจริงก็คือ มีผลการวิจัยเร็วๆ นี้สนับสนุนเขา กลายเป็นว่า ตลอดช่วงการทานอาหารร่วมกันในครอบครัว มีช่วงเวลาเพียงแค่ 10 นาทีเท่านั้นที่มีความหมาย ส่วนเวลาที่เหลือหมดไปกับเรื่องอย่างเช่น "เอาศอกลงจากโต๊ะ" หรือ "ส่งซอสมาหน่อย" คุณสามารถเอาเวลา 10 นาทีนั้น แล้วย้ายมันไป ยังส่วนใดก็ได้ของวัน แล้วยังคงได้รับประโยชน์เหมือนเดิม แค่ย้ายเวลาทานข้าวร่วมกันของครอบครัว นั่นคือการปรับเปลี่ยน นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อมคนหนึ่ง บอกผมว่า "ถ้าคุณนั่งอยู่บนเก้าอี้หลังตรง บนพื้นแข็ง คุณจะเข้มงวดมากกว่า การที่คุณนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่มีนวม คุณจะเปิดกว้างมากกว่า" เธอบอกผมว่า "ถ้าคุณกำลังอบรมวินัยให้กับลูกๆ ให้นั่งบนเก้าอี้หลังตรงที่มีเบาะรอง จะทำให้การสนทนาราบรื่นกว่า" ผมและภรรยาย้ายที่นั่งกัน เมื่อเราต้องพูดคุยเรื่องที่ลำบากใจ เพราะว่า ผมนั่งอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ ดังนั้นย้ายตำแหน่งในการนั่ง นั่นก็เป็นการปรับเปลี่ยนเช่นกัน ประเด็นก็คือ แนวคิดใหม่ๆ เหล่านี้เริ่มแพร่หลายมากขึ้น เราจำเป็นต้องให้เหล่าพ่อแม่นำมาใช้บ้าง ดังนั้นข้อแรก ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา หยืดหยุ่น เปิดกว้าง แล้วปล่อยให้ความคิดดีๆ เข้ามามีบทบาท ประเด็นที่สอง มอบอำนาจให้เด็กๆ ของคุณ สัญชาตญาณพ่อแม่บอกว่า เราต้องสั่งเด็กๆ เท่านั้น มันง่ายกว่า และเอาจริงๆ นะ เราถูกอยู่เสมอแหละ มันมีเหตุผลอยู่นะ ที่มีเพียงไม่กี่ระบบเท่านั้นที่มีลักษณะ เป็นน้ำตกมากไปกว่า สถาบันครอบครัว แต่บทเรียนสำคัญที่สุดที่เราได้เรียนรู้ก็คือ ให้พยายามกลับทิศทางของน้ำตกให้มากที่สุด ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการอบรมสั่งสอนพวกเขาเอง เมื่อวานนี้เอง เรากำลังมีการประชุมครอบครัวอยู่ และเราโหวตกันว่า เราจะแก้ปัญหา การแสดงออกที่ "เยอะ" เกินไป เราบอกว่า "เอาละ มากำหนดรางวัล และบทลงโทษกันดีกว่า โอเคมั้ย" ลูกสาวเราคนหนึ่งเสนอว่า ให้แต่ละคน มีเวลาวีนแตกไม่เกินห้านาทีต่อสัปดาห์ เราชอบไอเดียนั้น แล้วลูกสาวอีกคนก็เริ่มลองคิดให้ละเอียดขึ้น เธอถามว่า "หนูจะได้วีนแตกหนึ่งครั้ง นานห้านาที หรือจะเป็นวีนแตกได้สิบครั้ง ครั้งละ 30 วินาที?" ผมชอบมาก ใช้เวลายังไงก็ได้ตามที่เธอต้องการ เอาละ เราจะลงโทษกันยังไงดี ถ้าเรากำหนดให้ลิมิตอยู่ที่ 15 นาทีของการออกอาการวีนแตก ทุกนาทีที่วีนเกิน เราต้องวิดพื้นหนึ่งที คุณจะเห็นได้ว่า มันได้ผล ระบบแบบนี้ไม่ได้หย่อนยานนะครับ ผู้ปกครองยังคงมีอำนาจในการชี้นำอยู่ แต่เราให้โอกาสเด็กๆ ได้ฝึกการดูแลตัวเองเป็นอิสระ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของพวกเรา ก่อนที่ผมจะออกมาพูดที่นี่ค่ำนี้เอง ลูกสาวของเราคนหนึ่งเริ่มส่งเสียงกรีดร้อง อีกคนหนึ่งก็พูดเลยว่า "วีนแตกแล้ว! วีนแตกแล้ว!" แล้วเริ่มต้นนับ ภายในแค่ 10 วินาที มันก็หยุดลง สำหรับผมแล้ว นี่คือมหัศจรรย์ของอไจย์ที่ผ่านการรับรองแล้ว (หัวเราะ) (ปรบมือ) แล้วก็นะ มีผลวิจัยรองรับด้วย เด็กๆ ที่่มีการวางแผนเป้าหมายของตัวเอง กำหนดตารางสัปดาห์เอง ประเมินผลงานของตัวเอง จะมีการพัฒนาสมองส่วนหน้ามากกว่า และสามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้ดีกว่า ประเด็นก็คือ เราต้องปล่อยให้เด็กๆ ของเรา ประสบความสำเร็จในแบบของเขาเอง และใช่ครับ ในบางครั้ง ก็ปล่อยให้ล้มเหลวเองด้วยเช่นกัน ผมเคยพูดคุยกับนักธนาคารของวอร์เรน บัฟเฟ็ตต์ เขาต่อว่าผม เรื่องที่ไม่ยอมให้ลูกๆ ได้ทำอะไรผิดพลาดเสียบ้างกับการใช้จ่ายเงินค่าขนม ผมก็บอกว่า "แล้วถ้าพวกเขาทำพลาดแบบดิ่งเหวไปเลยละ?" เขาว่า "มันดีกว่านะ ที่จะปล่อยให้เขาพลาดกับ เงินเบี้ยเลี้ยง 6 เหรียญ ดีกว่าผิดพลาด กับเงินเดือนปีละ 60,000 เหรียญ หรือกับมรดกมูลค่า หกล้าน เหรียญ" ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือ การให้อำนาจเด็กๆ ของพวกคุณ ข้อที่สาม เล่าเรื่องราวของคุณ ความหยืดหยุ่นปรับตัวได้เป็นเรื่องดี แต่เราก็จำเป็นต้องมีรากฐานที่ดีด้วย จิม คอลลินส์ ผู้แต่งหนังสือ "Good To Great" บอกผมว่า องค์กรของมนุษย์ ไม่ว่าแบบใดก็ตาม ที่ประสบความสำเร็จ มีสองสิ่งที่เหมือนกัน คือพวกเรารักษาแก่นแท้ไว้ และพวกเขากระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้า ดังนั้นอไจล์เป็นวิธีการที่ดีที่กระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้า แต่ผมมักจะได้ยินอยู่เสมอว่า เราจำเป็นต้องรักษาแก่นแท้เอาไว้ แล้วคุณจะทำอย่างนั้นได้อย่างไรละ คอลลินส์แนะนำให้พวกเราทำบางอย่างเหมือนกับ ที่องค์กรธุรกิจทำ นั่นคือการกำหนดพันธกิจ และนิยามแก่นคุณค่าขององค์กร เขาสอนเราถึงกระบวนการสร้างพันธกิจของครอบครัว เราสร้างกระบวนการคล้ายการออกไปสัมนาของบริษัท แต่ในครอบครัว เรามีปาร์ตี้ชุดนอนกัน ผมทำข้าวโพดคั่ว ความจริงแล้ว ทำไหม้ไปอันหนึ่ง เลยทำสองอัน ภรรยาผมเอากระดานฟลิปชาร์ทออกมาวาง แล้วเราก็นั่งสนทนากัน ในเรื่องอย่างเช่น อะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา? ค่านิยมอะไร ที่เรายึดถือมากที่สุด? ท้ายที่สุด เราสร้างคำแถลงการณ์ 10 ข้อ เราเป็นนักเดินทาง ไม่ใช่นักท่องเที่ยว เราไม่ชอบภาวะยุ่งยากใจ เราชอบทางแก้ปัญหา อีกครั้งที่มีผลวิจัย แสดงว่าพ่อแม่ควรใช้เวลาให้น้อยลง ในการมัวกังวลว่าทำอะไรผิดไปบ้าง และใช้เวลามากขึ้น ในการเน้นว่า ทำอะไรถูกต้องบ้าง วิตกกังวลเกี่ยวกับช่วงเวลาแย่ๆ ให้น้อยลง และสร้างช่วงเวลาดีๆ ให้มากขึ้น คำแถลงพันธกิจครอบครัวนี้เป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการ ระบุว่า อะไรบ้างที่เราทำได้ถูกต้อง ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เราได้รับโทรศัพท์จากโรงเรียน ลูกสาวเราคนหนึ่ง มีเรื่องทะเลาะวิวาทในโรงเรียน ทันใดนั้นเราก็เริ่มกังวล หรือว่าลูกเรา จะกลายเป็นเด็กเกเรขึ้นมาแล้ว? และเราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เราเลยเรียกลูกสาวเข้าไปผมในห้องทำงานผม คำแถลงพันธกิจครอบครัวติดอยู่บนผนัง ภรรยาผมพูดว่า "มีอะไรบ้างบนนี้ที่ดูเหมือนจะใช้ได้" เธอมองดูรายการ แล้วก็บอกว่า "ให้ทุกคนมีส่วนร่วม?" ทันใดนั้น เราก็มีหนทางที่จะเริ่มการสนทนาได้ วิธียอดเยี่ยมอีกอย่างหนึ่งในการเล่าเรื่อง คือการบอกเด็กๆ ว่า พวกเขามาจากที่ไหนบ้าง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอีมอรี่ ให้เด็กๆ ทำการทดสอบง่ายๆ ชื่อ "เธอรู้ไหม" รู้หรือไม่ว่าปู่ย่าตายายเกิดที่ไหน? รู้หรือไม่ว่าพ่อแม่เรียนมัธยมที่ไหน? เธอรู้จักใครในครอบครัวบ้างไหม ที่ตกอยู่ในสภาพแย่ เช่นป่วยหนัก แล้วก็สามารถเอาชนะมันมาได้? เด็กๆ ที่ได้คะแนนสูงที่สุดในแบบทดสอบ "เธอรู้ไหม" นี้ เป็นเด็กที่มีความภูมิใจในตัวเองสูง และตระหนักว่า พวกเขาสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ แบบทดสอบ "เธอรู้ไหม" กลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่สุด ของสุขภาพจิตและความสุขของเด็กๆ ผู้เขียนแบบทดสอบบอกผมว่า เด็กๆ ที่รู้สึกว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าอันยาวนาน จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงกว่าเด็กอื่น ดังนั้นประเด็นสุดท้ายของผมก็คือ เล่าเรื่องของคุณ ใช้เวลาเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก เกี่ยวกับช่วงเวลาดีๆ ของครอบครัว และวิธีการที่จะผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคในช่วงเวลาแย่ๆ ถ้าคุณเล่าเรื่องที่มีความสุขให้เด็กๆ ฟัง คุณกำลังให้เครื่องมือที่จะทำให้พวกเขา มีความสุขมากยิ่งขึ้น ผมอ่านนิยายเรื่อง "คาเรนิน่า" ครั้งแรก เมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น และประโยคเปิดที่มีชื่อเสียงก็คือ "ครอบครัวแสนสุขทั้งหลายต่างคล้ายคลึงกัน แต่ละครอบครัวทุกข์ยาก ล้วนลำเค็ญในแบบของตัวเอง" ผมอ่านครั้งแรก ผมก็คิดว่า "ประโยคนี้ช่างโง่จริงๆ" แน่นอนอยู่แล้วว่า ครอบครัวทั้งหลาย ที่มีความสุข แตกต่างกัน" แต่เมื่อผมเริ่มต้นทำงานในโครงการนี้ ผมเริ่มเปลี่ยนความคิดไป ผลงานวิชาการเร็วๆ นี้ ช่วยให้เราสามารถ เข้าใจถึงปัจจัยพื้นฐาน ที่ครอบครัวต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จมีร่วมกัน ผมแค่พูดถึงปัจจัยเหล่านั้นแค่สามประเด็นเท่านั้นในวันนี้ ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ให้อำนาจแก่เด็กๆ และเล่าเรื่องราวของคุณ เป็นไปได้ไหมว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทอลสตอยเป็นฝ่ายถูกมาตลอด? ผมเชื่อว่า คำตอบคือ ใช่ เมื่อลีโอ ทอลสตอยมีอายุห้าขวบ พี่ชายของเขา นิโคเลย์ มาหา แล้วก็บอกว่า เขาได้สลักความลับ ของความสุขครอบจักรวาล ลงในแท่งไม้สีเขียวเล็ก ซึ่งเขาเอาไปซ่อนไว้ ในหุบเขาแห่งหนึ่งที่เป็นที่ของครอบครัวในรัสเซีย ถ้าแท่งไม้นี้ถูกค้นพบ มนุษยชาติทั้งหมดจะมีความสุข ทอลสตอยหมกหมุ่นอยู่กับไม้แท่งนี้ แต่เขาก็ไม่เคยหามันพบ เขาถึงกับขอให้ฝังร่างของเขาไว้ในหุบเขา ที่เขาเชื่อว่าแท่งไม้นี้ถูกซ่อนอยู่ ร่างของเขายังอยู่ที่นั่นทุกวันนี้ ปกคลุมด้วยหญ้าเขียว เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะมากสำหรับผม บทเรียนสุดท้ายที่ผมได้เรียนรู้ ความสุขไม่ใช่เป็นอะไรที่เราค้นหา มันเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้น แทบทุกคนที่พิจารณาดูองค์กรที่ทำงานได้ดี ต่างก็ได้ข้อสรุปคล้ายๆ กัน ความยิ่งใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะโชคช่วย แต่มันเป็นเรื่องของการเลือก คุณไม่จำเป็นต้องมีแผนการที่ยิ่งใหญ่ คุณไม่ต้องมีสายบังคับบัญชา คุณเพียงแค่ต้องก้าวไปทีละก้าวเล็กๆ เก็บสะสมชัยชนะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ คอยมองหาแท่งไม้สีเขียวแท่งนั้นไว้ ท้ายที่สุดแล้ว นี่อาจจะเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดก็ได้ อะไรคือความลับสู่ครอบครัวที่มีความสุขน่ะหรือ? ความพยายามไง (เสียงปรบมือ)