ฝึกตัวเองให้เคยชินให้เป็นนิสัยไว้
มีเวลาว่าง 5 นาที 10 นาที อย่าทิ้ง
ภาวนาไปเลย
เอาให้เคยชิน เก็บเล็กเก็บน้อยไปเรื่อยๆ
พอจิตมันคุ้นเคยที่จะปฏิบัติ
มันจะขยันภาวนา
จิตใจที่ไม่อยากภาวนา ทำบ้างไม่ทำบ้าง
จิตมันติดโลก ติดกาม
เมื่อเช้ามีทิดเก่าคนหนึ่งมาส่งการบ้าน
บอกว่าสังเกตดูว่าเวลาถือศีล 8
สติเกิดน้อยกว่าตอนถือศีล 5
ฉะนั้นศีล 5 ดีกว่า เขาว่าอย่างนี้
บอกไปสังเกตให้ดี จิตมันติดกาม
ติดความสุขความสบาย
พอไปบังคับตัวเองถือศีล 8 มันก็เครียด
พอเครียดสติก็ไม่เกิด
ไม่ใช่ว่าศีลไม่ดี
แต่ใจตัวเองมันไม่ถึง
ใจยังอ่อนแออยู่
ถ้าเรารู้จุดอ่อนของตัวเอง
ใจมันอ่อนแอมันติดโลก
ก็ต้องเข้มแข็งสู้มัน
ไม่หาข้ออ้าง
ที่จะทำให้การปฏิบัติย่อหย่อนลง
อย่างบอกว่า
ศีล 5 ดีกว่าศีล 8 อะไรอย่างนี้
สำหรับคนนี้ บางคนศีล 5 ดีกว่าจริงๆ
ถ้าเอามาเป็นข้ออ้างสนองกิเลสตัวเอง
โอกาสพัฒนามันก็ยาก
อยากจะพ้นทุกข์อยากข้ามวัฏฏะต้องเข้มแข็ง
อ่อนแอไปไม่รอดหรอก
ต้องอดทน
คนรุ่นหลังๆ นี่ความอดทนน้อยลงไปเยอะเลย
เมื่อเช้ายังเล่าให้พวกทิดมาส่งการบ้าน
บอกคนรุ่นนี้อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ
รักสุขรักสบายเหลือเกิน
คนรุ่นหลวงพ่อเรียกรุ่นเบบี้บูม
บ้านเมืองเพิ่งผ่านสงครามโลกมาใหม่ๆ
บอบช้ำ
ตอนที่หลวงพ่อเกิด
สงครามโลกเพิ่งจบไปไม่ถึง 10 ปี
บ้านเมืองทรุดโทรม
เศรษฐกิจย่ำแย่ ผู้คนลำบาก
เราเกิดในยุคนั้น เราก็ต้องรู้สึก
ว่าเราต้องสู้ต้องอดทน
ฉะนั้นคนรุ่นนั้นจะอดทน
แต่คนรุ่นนั้นเทียบกับรุ่นครูบาอาจารย์
ยังเทียบไม่ติด
รุ่นครูบาอาจารย์ลำบากมากๆ เลย
อย่างไปปฏิบัติอยู่ในป่า
เป็นไข้ป่าก็ตายแล้ว
รอดบ้างตายบ้าง
บางองค์อดอาหารเป็นประจำ
อาหารไม่พออะไรอย่างนี้
อยู่มาพอพ้นยุคยากลำบาก
หลัง 2500 อะไรอย่างนี้
ร่างกายท่านทรุดโทรมมาก
เพราะช่วงก่อนหน้านั้นสู้หนักมาก
ก็สิ้นไปอย่างรวดเร็วก็มี
สังเกตดูคนที่เคยผ่านความยากลำบาก
ใจมันต่อสู้มากกว่าคนที่เกิดมาก็สบาย
รุ่นหลังๆ นี่พ่อแม่เคยลำบากมา
ไม่อยากให้ลูกลำบาก
เลี้ยงลูกประคบประหงมเอาอกเอาใจ
จนกระทั่งอ่อนแอมาก ดูแล้ว
หลวงพ่อไม่ได้ดูอื่นดูไกล
ดูจากพระนี่ล่ะ
พระรุ่นก่อนๆ เข้มแข็ง สู้
คนไหนไม่แข็งแรงไม่เข้มแข็งก็ออกไป
พวกที่เหลืออยู่นี่แกร่งจริงๆ
หลังๆ นี่ดูป้อแป้ๆ กลัวลำบาก
จะไปอยู่กับโลกก็กลัวลำบากกลัวเหนื่อย
มาบวชจะภาวนาก็กลัวลำบากอีก
คนชนิดนี้อยู่ที่ไหนไม่เจริญหรอก ไม่สู้
พวกเราอยากได้ดี
จิตใจต้องกล้าหาญต้องเข็มแข็งต้องต่อสู้
เหยาะแหยะไม่ได้เรื่องหรอก
หาข้ออ้างเพื่อปกป้องกิเลส
ฉลาดในการหาข้ออ้าง
แต่ไม่ฉลาดในจิตของตนเอง
ต้องเข็มแข็งจริงๆ
เส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทาง
ที่โรยด้วยกลีบกุหลาบหรอก
เส้นทางแห่งความพ้นทุกข์นี่ต้องสู้จริงๆ
ประเภทนั่งสมาธิก็กลัวปวดหลัง กลัวเมื่อย
ก็อ้างนั่งสมาธิมากๆ เนิ่นช้า
เอาคำหลวงปู่มั่นมาพูดอีก
นั่งสมาธิมากเนิ่นช้า
ไม่ได้แปลว่านั่งหลายชั่วโมง
แล้วทำให้เนิ่นช้า
หมายถึงเอาแต่นั่งสมาธิไม่ยอมเดินปัญญา
มันก็เลยเนิ่นช้า
ทำสมาธิแล้วก็สงบสบายเพลินๆ ไป
ผ่านวันผ่านเวลาไปมากมาย
บางทีเอาธรรมะมาอ้าง
เพื่อปกป้องความขี้เกียจ
วันนี้เจอพวกอ่อนแอหลายคนทั้งพระทั้งโยม
ธรรมะก็เลยดุนิดหนึ่ง
นี่นิดเดียว
ถ้าเจอรุ่นครูบาอาจารย์หนักกว่านี้เยอะเลย
ครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อยังเหลืออีกองค์
หลวงปู่ทองท่านเป็นกรรมวาจาจารย์
อยู่ที่ลำปลายมาศ
ใครไปถามกรรมฐานท่าน
บอกอยากได้มรรคผลนิพพาน
ท่านบอกแค่ศีลเอ็งก็รักษาไม่ได้แล้ว
อย่ามาคุยอวดเลยจะไปเอานิพพาน
หรือเสียสละอะไรเล็กๆ น้อยๆ
ยังทำไม่ได้เลย
แล้วจะไปนิพพานได้อย่างไร
นิพพานต้องสละโลกได้
ท่านใช้วิธีด่าเอา
ครูบาอาจารย์บางองค์สมัยก่อนดุจริงๆ
แต่ไม่มีประเภทเอากระโถนขว้างอะไร ไม่มี
มีแต่นิยายปรัมปราว่า
ครูบาอาจารย์โมโหแล้วเอากระโถนขว้าง
เมื่อก่อนหลวงพ่อก็เชื่ออย่างนั้น
ว่าครูบาอาจารย์กรรมฐานนี่ดุ
ถ้าเราไม่ถูกใจเอากระโถนขว้าง
ตอนไปหาหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรกยังกลัวเลย
ไม่รู้จักท่าน
ไปถึงก็ไปจดๆ จ้องๆ
ไม่กล้าเข้าไปในกุฏิ
ไปรอดูหลวงปู่จะออกมาไหม
ออกมาเราจะเข้าไปถามกรรมฐาน
ทั้งพระทั้งคนในวัดบอกเข้าไปเลย
ตอนนี้ท่านกำลังฉันอาหารอยู่
บอกท่านฉันให้ท่านฉันไปก่อนเถอะ
ที่จริงไม่ใช่อะไร ที่จริงยังกลัวอยู่
นั่นเป็นครั้งเดียว
ที่หลวงพ่อกลัวครูบาอาจารย์
เพราะเราไม่คุ้นกับครูบาอาจารย์กรรมฐาน
เลยคิดว่าท่านดุ
ได้ยินนิทานเล่าว่าถ้าทำไม่ดี
แล้วเอากระโถนขว้าง
อย่างไรท่านก็ไม่ขว้าง ท่านเสียดายของ
ขว้างเดี๋ยวกระโถนแตก
จดๆ จ้องๆ อยู่ ในที่สุดหลวงปู่ทนไม่ไหว
หลวงปู่เดินออกมาหน้ากุฏิเอง
เลยเข้าไปกราบท่านได้
หลวงปู่ครับผมอยากปฏิบัติ
ท่านก็เงียบๆ ไม่พูด
เราก็นึกหลวงปู่อายุ 90 กว่า
ฉันข้าวเสร็จแล้วนั่งหลับไปแล้ว
ตอนนั้นโง่มากนึกว่าท่านนั่งหลับ
ที่จริงท่านกำลังสอบประวัติเราอยู่
ว่าเราเคยภาวนามาแบบไหนอะไรอย่างไร
ท่านหลับตาไปสัก 45 นาที 40 นาที
ลืมตามาถึงสอน
ไม่ใช่เจอหน้าก็สอน
หลวงปู่ดูลย์ถ้าใครไปถามอะไรก็ตอบ
แต่ถ้าจะเรียนจริงๆ ท่านจะเงียบๆ
เราก็ต้องนั่งภาวนาของเราไป
รอให้ท่านค่อยพูดเอง
นี่กว่าจะได้ธรรมะมาก็ลำบากเหมือนกัน
บางทีไปหาที่ภาวนาตามวัด
แต่ละวัดก็มีเจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งนั้นล่ะ
เรียกผีบ้าน ผีเรือน
ผีป่า ผีเขา มีทั้งนั้น
ผีนี่หมายถึงคน
คนที่ไปตั้งตัวเป็นใหญ่ตามวัด
เข้าไปเราไม่รู้จักใครเลย
จะไปกินข้าวที่ไหนเราก็ไม่รู้
เข้าไปทีแรก
ครูบาอาจารย์ท่านตักอาหารเสร็จแล้ว
พระท่านก็ฉันข้าว
โยมก็ทำวัตรเช้า สวดมนต์ทำวัตรเช้า
เห็นเขาขนอาหารไปวางข้างล่าง
มีโต๊ะยาวๆ อยู่ อาหารไปวางไว้เยอะเลย
ก็นึกว่าเดี๋ยวสวดมนต์เสร็จคงได้ไปกินข้าว
พอสวดมนต์เสร็จลงมา
แต่ละคนเขาหายไปหมดเลย พวกที่นั่งสวดมนต์
แล้วอาหารที่โต๊ะไม่มีเหลือเลย
คือแต่ละคนจะมีพรรคพวก
มีลูกน้องมีคนรับใช้
ขนเกลี้ยงเลยไม่มีอะไรเหลือเลย
เรา เอ เราอยู่วัด เราไม่มีอะไรกินเลย
เราจะอยู่อย่างไร ก็ช่างมัน
ไม่กินวันสองวันไม่เป็นไรหรอก
หลวงพ่อก็เดินกลับขึ้นศาลามา
ครูบาอาจารย์ท่านเห็น
รู้ว่าเราไม่มีข้าวกิน ท่านกวักมือเรียก
เอาบาตรให้ บาตรของท่าน
ไม่ได้ให้บาตรอย่างเดียว
ในบาตรมีข้าวมีอะไร
เรารู้เลยครูบาอาจารย์ความเมตตาสูงมาก
สูง แต่ใจเราต้องเข้มแข็งพอ
ประเภทห่วงกินห่วงนอน
ไม่ได้กินไม่ได้ปฏิบัติจริง
ไปวัดทีแรกบางทีไม่รู้จักใครเลย
จะค้างที่วัดไปขอครูบาอาจารย์
ขอค้างที่วัด ท่านอนุญาต
เราก็ไม่รู้เขาพักกันที่ไหน
หาที่พักไม่ได้ ไปอยู่โคนต้นไม้
นั่งสมาธิเดินจงกรมไป
ผ่านกลางคืนไปมีความสุขมหาศาลเลย
ไม่ได้ห่วงเรื่องกินเรื่องนอนอะไรนักหนา
อยู่ไปๆ ฝนตก
ฝนตกอยู่กลางแจ้งไม่ไหว ฝนแรงแล้วหนาว
ก็ไปหลบอยู่ใต้ถุนกุฏิ
มีกุฏิของใครก็ไม่รู้เป็นส่วนโยม
หลบอยู่ใต้ถุน
ไม่บ่นสักคำ สู้เอา
ถ้าเรื่องแค่นี้เราสู้ไม่ไหว
เราจะสู้มารไหวหรือ สู้กิเลสไหวหรือ
ฉะนั้นถ้าพวกเราสังเกตให้ดี
มาเรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่โอ๋
ไม่เคยประคบประหงมแบบโอ๋ๆ
เอาอกเอาใจอะไร ไม่เคย
เพราะหลวงพ่อไม่เคย
ให้ครูบาอาจารย์ต้องมาโอ๋หลวงพ่อ
เราสู้เอา
พวกชอบโอ๋ส่วนใหญ่ก็มีความต้องการแฝงเร้น
โอ๋โยมนี่โอ๋คนรวยๆ เขาจะได้ให้เงินเยอะๆ
ครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อเรียนด้วย
ท่านไม่ได้ทำอย่างนั้น
ตอนนั้นเรารับราชการ
ไปอยู่วัดทีหนึ่งหลายวัน
ช่วงวันหยุดนี่ ช่วงต้นธันวา
มีวันหยุดเยอะ จะลางานบ้างอะไรบ้าง
ไปอยู่วัดได้ 10 วัน 11 วัน
9 วัน อะไรอย่างนี้ แต่ละปีไม่เท่ากัน
ถวายปัจจัยท่านเล็กน้อยเท่านั้นเอง
ท่านกลับดูแลเรามาก ดูแลละเอียด
เข้าไปกราบ ท่านก็สั่งพระอุปัฏฐาก
ให้ไปจัดกุฏิพระให้หลวงพ่ออยู่
ท่านสั่งอย่างนี้
บอกคนนี้เขาภาวนาจริง ให้ไปอยู่โซนพระ
คนร่ำคนรวยคนใหญ่คนโตไปกราบ ท่านก็ยิ้มๆ
ถวายอะไรท่านก็ยิ้มๆ เฉยๆ
ตอนเวลาไปเรียนกับครูบาอาจารย์
บางทีคนใหญ่คนโตอะไรมากราบท่าน
พระอุปัฏฐากก็ให้พวกนี้กราบๆ ไป
แล้วก็ออกไปเลย
แล้วก็เปิดโอกาสให้หลวงพ่อส่งการบ้าน
นี่เราอยู่ในบรรยากาศที่อบอุ่น
แต่ไม่ใช่อบอุ่นแบบลูกแหง่
ครูบาอาจารย์ไม่ได้มาประคบประหงมเรา
แต่ดูแลให้เราภาวนา
ตอนแรกหลวงพ่อก็เลยนึกว่า
โอ้ พระกรรมฐานดีทุกองค์
เพราะเราเข้าไปวัดไหนก็เจอครูบาอาจารย์
ท่านก็ดีทั้งนั้นเลย
เลยนึกว่าพระปฏิบัติจะต้องดีทุกองค์
กว่าจะฉลาดก็โง่มาก่อนทั้งนั้นล่ะ
ก็มีดีบ้างไม่ดีบ้าง
ฉะนั้นอย่างบางทีพวกเรา
ร่อนเร่ไปที่โน้นที่นี่
มีบุญก็เจอที่ดีๆ
อกุศลให้ผลก็เจอที่หลอกๆ ถมเถไป
สิ่งที่จะช่วยเราได้มากที่สุด
เราแยกแยะยาก
ว่าครูบาอาจารย์องค์ไหนดีหรือไม่ดี
อย่างจะมาเชื่อว่าหลวงพ่อดีนี่โง่
รู้ได้อย่างไรว่าหลวงพ่อดี
เป็นแค่ความเชื่อของเรา เชื่อตามๆ กัน
นั่นเป็นความไม่ฉลาดเลย
ฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยเราได้มาก
คือการอ่านตำรับตำราไว้บ้าง
อ่านพระไตรปิฎกอะไรอย่างนี้
จับหลักการปฏิบัติให้แม่นๆ
หรืออย่างฟังหลวงพ่อ
จับหลักให้แม่นแล้วไปลงมือทำ
ไม่ต้องเชื่อแต่ไม่ได้ปฏิเสธ
เวลาเราฟังธรรมะ
ถ้าเป็นหลวงพ่อฟัง
เราก็จะดูว่าคำสอนนี้
สอดคล้องกับพระไตรปิฎกไหม
ถ้าไม่สอดคล้อง เราสังเกตต่อ
ไม่สอดคล้องที่ Wording ที่คำพูด
อย่างครูบาอาจารย์บางองค์
ท่านไม่ได้เรียนปริยัติเลย
ท่านก็ใช้ภาษาตามสะดวกของท่าน
เราก็ต้องฟังดู
ว่าเนื้อหาสาระที่ท่านเทศน์นี่ถูกต้องไหม
บางทีโดยพยัญชนะโดยภาษา
โดยตัวหนังสือไม่ถูก
แต่โดยเนื้อหาแล้วถูก อย่างนี้ก็มี
ฉะนั้นถ้าเราได้ปฏิบัติด้วย
ได้อ่านตำราด้วย
จะช่วยให้เราคัดกรอง
ก็จะได้ไม่หลงตกเป็นเหยื่อ
ถ้าเราภาวนาไปถึงช่วงหนึ่ง
เราจะเข้าใจอันไหนจริงอันไหนไม่จริง
มันรู้ด้วยตัวเองได้
บางทีรู้แล้วแต่มันไม่สนองกิเลส
บางคนอ่อนแอ
อยากได้ครูบาอาจารย์ที่คอยโอ๋อย่างนี้ก็มี
อยากได้ครูบาอาจารย์ที่คอยโอ๋
อยู่กับหลวงพ่อไม่ได้ เพราะหลวงพ่อไม่โอ๋
แบบนี้พอเขาทนไม่ไหว
เขาก็ต้องไปหาที่เรียนที่อื่น
ที่มีครูบาอาจารย์คอยโอ๋อยู่
สิ่งที่หลวงพ่อพยายามสอนพวกเรา
คือเรียนให้รู้เรื่องฟังให้รู้เรื่องก่อน
รู้แนวแล้วเอาไปลงมือทำ
ลงมือทำแล้วก็วัดผลด้วยตัวเอง
ที่เราปฏิบัตินี่
เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเองไหม
มักน้อยสันโดษบ้างไหม
คลุกคลีน้อยลงไหม
สังเกตตัวเองไป
ใฝ่หาความสงบวิเวกบ้างไหม
หรือกระดี๊กระด๊าอยู่ตลอดเวลา
วัดใจตัวเองวัดความเปลี่ยนแปลงของตัวเองไป
ละเอียดขึ้นมาก็ใจคิดถึงการปฏิบัติบ่อยไหม
นานๆ คิดทีอะไรอย่างนี้ไม่ได้กินหรอก
ถ้าเราภาวนา
อย่างฟังหลวงพ่อไปแล้วเจริญสติรู้กายรู้ใจ
ตามความเป็นจริง
ด้วยจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง
ในเวลาไม่นาน
เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง
เคยโกหกหน้าตาย
เวลาจะโกหกแล้วคราวนี้ชักละอายใจแล้ว
อย่างนี้ถือว่ามีพัฒนาการ
เลวแล้วรู้ว่าเลว
มุสาวาทไม่ดีหรอก
แล้วเรารู้ว่ามันไม่ดี
มันเคยชินที่จะพูดไม่ดี
ฉะนั้นเวลาพูดไปแล้ว
บางทีมันหลุดปากออกไป มันละอายใจ
อย่างนี้ถือว่าก้าวหน้า
ชั่วแล้วรู้ว่าชั่ว ก้าวหน้า
ก็สังเกตได้ด้วยตัวเอง
หรือบางคนบอกทำสมาธิจิตไม่เคยมีสมาธิเลย
แต่มามีสติรู้กายรู้ใจ
ตามความเป็นจริงไปเรื่อยๆ
อยู่ๆ มันมีความสุขผุดขึ้นมาเอง
ความสุขผุดขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้ทำอะไร
นั่นล่ะจิตมันมีสมาธิ
มีสมาธิตามธรรมชาติแล้ว
มีความสุขผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ
คล้ายๆ เป็นรางวัลปลอบใจ
ให้เราเข้มแข็งในการปฏิบัติต่อไป
อย่างช่วงแรกๆ ที่เราภาวนา
เรายังไม่เห็นผลที่สำคัญ
อย่างเรายังไม่ถึงมรรคถึงผลอะไรอย่างนี้
ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง
แบบพลิกฟ้าคว่ำดิน
ยังไม่เห็น
มันมีความสุขผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ
บางที 3 วันผุดขึ้นมาทีหนึ่ง
อาทิตย์หนึ่งผุดขึ้นมาทีหนึ่ง
มันก็มีกำลังใจ
มีกำลังใจ ธรรมะนี้ดี
ปฏิบัติแล้วอยู่ๆ มีความสุขผุดขึ้นมาได้
ก็จะขยันภาวนา
เวลาหลวงพ่อภาวนาแต่ก่อน
ความสุขมันมีอยู่แล้วล่ะ
เพราะนั่งสมาธิมานาน
แต่บางครั้งมันเกิดปัญญา
เกิดความรู้ความเข้าใจ
บางสิ่งบางอย่างขึ้นมา
พอมีความรู้ความเข้าใจผุดขึ้นมาทีหนึ่ง
เราก็มีความสุขหลายวัน
แต่ก็ไม่เกิน 7 วัน
แล้วพอมีความรู้อย่างนี้ผุดขึ้นมา
เราก็มีการบ้านไปส่งครูบาอาจารย์แล้ว
ก็จะไปเล่าถวายท่าน
ว่าผมภาวนาแล้วมันมีอาการอย่างนี้
ผมจัดการมันอย่างนี้ๆ ทำอย่างนี้
ที่กระผมทำอยู่นี่ถูกหรือไม่ถูก
ถ้าไม่ถูกครูบาอาจารย์ช่วยบอกด้วย
ถ้าถูกแล้วครูบาอาจารย์ช่วยแนะนำ
วิธีปฏิบัติที่ยิ่งๆ กว่านี้
ที่ดีกว่านี้อีก
ส่วนใหญ่ท่านก็จะบอกว่าที่ทำน่ะถูกแล้ว
ให้ทำต่อไป
อันนี้เป็นการวัด
ฉะนั้นการวัดมี 2 อัน
อันหนึ่งวัดใจตัวเอง
สติเกิดบ่อยขึ้นไหม
ทำผิดศีลได้หน้าตาเฉย
หรือว่าละอายใจบ้างหรือยัง
สมาธิเกิดขึ้นบ้างไหม
นี้เราวัดใจตัวเอง
มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์บางทีเราก็ต้องถาม
ที่ผมทำอยู่นี่ มันถูกไหม
ถ้าถูกแล้วทำอย่างไรมันจะดีกว่านี้อีก
ท่านก็จะบอกว่าทำต่อไป
ถ้าบอกว่าทำต่อไปแสดงว่าทำถูกแล้ว
ถ้าทำไม่ถูกเดี๋ยวท่านก็บอกเองล่ะ
เห็นไหมไม่มีไปอ้อนเลย
“หลวงปู่ครับหลวงปู่” ต้องทำเสียงอ้อนๆ
“หลวงปู่ครับอย่างโน้นอย่างนี้
ผมอย่างโน้นผมอย่างนี้
ผมอยากปฏิบัติ แต่ๆๆๆๆ”
เต็มไปด้วยคำว่าแต่
เจอหลวงปู่ปราโมทย์โดนเบิ๊ดกะโหลกเลย
เงื่อนไขเยอะ
ตั้งใจภาวนา สู้เอา แล้วสังเกตตัวเอง
การปฏิบัติมันก็ไม่ได้ยากอะไร
ขั้นแรกถือศีล 5 ข้อไว้ก่อน
ศีล 8 ถือเป็นครั้งคราว
เป็นฆราวาสทำงานหนักๆ
อดข้าวเย็นทุกวันเดี๋ยวก็เป็นโรคกระเพาะ
ก็ดูสภาวะของตัวเอง
ผู้หญิงบางคนมีสามีแล้วก็ปฏิญาณตนถือศีล 8
ไม่ให้สามีถูกตัว
บอกไม่เอาแล้วฉันจะไปนิพพานแล้ว
ลูกผัวฉันไม่เอาแล้ว
พอสามีไปมีผู้หญิงอื่น
คราวนี้นิพพานไม่เอาแล้ว
อาละวาดแล้ว ร้องห่มร้องไห้
คุณแม่จะได้ยินเรื่องพวกนี้บ่อย
คนชอบมาร้องห่มร้องไห้
นี่ถือศีลเกินฐานะ
เป็นฆราวาส แหม อยากถือศีล 8 อะไรอย่างนี้
พอสามีไม่ยอมด้วย ทนไม่ได้
กรรมฐานที่ฝึกไว้ล่มเลย
ฉะนั้นถือศีลให้พอดีกับตัว ให้พอดี
ถือศีลนี่เอาแบบลำบากนิดๆ
ข่มใจนิดๆ ไม่ต้องข่มใจแบบหักดิบ
มันจะไม่ไหว
พอไม่ไหวนี่ต่อไปใจมันฝ่อ
อย่างตั้งใจว่าจะประพฤติพรหมจรรย์
แล้วทำไม่ได้ใจมันฝ่อ
แต่ตั้งใจว่า
ไม่ไปผิดลูกผิดเมียใครเขาอย่างนี้
เห็นเมียคนอื่นสวย
ข่มใจตัวเองนิดหน่อย อย่างนี้ดี
ใจมันจะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น
ศีลต้องรักษา สมาธิต้องทำ
หลวงพ่อเคยพลาด
พลาดหลายครั้งเรื่องไม่อยากทำสมาธิ
เพราะทำมาแต่เด็ก
ทำแล้วก็รู้สึกมันไม่ได้อะไร
ได้แต่ความสงบ ก็ขี้เกียจทำแล้ว
มาเจริญปัญญารู้สึก แหม ดีๆ
พอสมาธิเรากำลังไม่พอเมื่อไร
การเจริญปัญญาจะผิดทันทีเลย
วิปัสสนูปกิเลสจะเกิด
เคยเกิดวิปัสสนูหลายแบบ
ประเภทว่างอย่างนี้ พวกเราจะเจอบ่อย
ดูจิตๆ แล้วมันว่างไป
แล้วก็ยินดีพอใจในความว่าง
แล้วติดอยู่ในความว่าง
ตัวนี้ก็ไปไม่รอดก็อยู่แค่นั้น
หลวงพ่อเคยเจออีก 2 - 3 แบบ
แบบหนึ่งสติเข้มแข็งมากเลย
เข้มแข็งถึงขนาดมันแยกสภาวะ
แยกรูปธรรมนามธรรมได้ละเอียดยิบเลย
มองอากาศข้างหน้าสติมันแข็งแรงมาก
เห็นอากาศนี่จริงๆ แล้วเป็นเม็ดๆ
เห็นอย่างนั้น
หรือบางทีเกิดปัญญามาก
ภาวนาแล้ว
ก็เกิดความรู้ความเข้าใจอะไรขึ้นมา
แล้วก็พยายามจำไว้ โอ้ ธรรมะอันนี้ดี
พอภาวนาไปอีก อ้าว เกิดความรู้อีกแล้ว
ก็จำเอาไว้อีก
แค่อาทิตย์เดียวมีสภาวะเหมือนคนบ้า
ไม่ได้บ้าจริงหมายถึงเทียบให้ฟัง
เหมือนคนบ้าชนิดที่ว่า
ไปไหนก็เดินแบกตู้พระไตรปิฎกไป
คนดีที่ไหนจะไปทำอย่างนั้น
เรา เอ๊ เราต้องผิดที่ไหนสักที่หนึ่ง
ทำไมภาวนาแล้วแทนที่ใจจะโปร่งโล่งเบา
คลายความยึดถือ
นี่เรากลับไปยึดถือปัญญามากมาย
เห็นเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูก
มีปัญญาขึ้นมาแล้วเสียดาย
เก็บๆๆ ใส่สมองไว้เต็มไปหมดเลย
อันนั้นก็รู้อันนี้ก็รู้
นี่ก็เป็นวิปัสนูอย่างหนึ่ง รู้เยอะไป
เหมือนปัญญามากมาย ก็ใช้ไม่ได้
ภาวนาแล้วก็ยิ่งหนักขึ้นๆ
แสดงว่าผิดแล้วล่ะ
ภาวนาแล้วมันต้องปล่อยวางได้
ไม่ใช่ภาวนาแล้วยิ่งยึดถือ
แล้วปล่อยวาง
ต้องให้จิตมันปล่อยวางด้วยปัญญา
ไม่ใช่แกล้งปล่อย
หลวงพ่อเคยอ่านหนังสือของเซน
อ่านแล้วใจเราโล่งๆ ว่างๆ
รู้สึกอย่างนี้ดี
ก็น้อมจิตไปอยู่กับใจที่ว่างๆ โล่ง
เห็นโลกนี้ว่างไปหมด อะไรๆ ก็ว่าง
คิดว่าดี เสร็จแล้วก็พบว่าไม่ใช่หรอก
นี่เราปรุงแต่งขึ้นมา
ฉะนั้นเวลาเราภาวนาก็ต้องค่อยสังเกตไป
อะไรที่ภาวนาไปแล้ว
มันขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้า
สภาวะอะไรเกิดขึ้นนี่
เป็นไปเพื่อความปล่อยวาง
หรือเพื่อความยึดถือ
สภาวะทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ไหม
ถ้าภาวนาแล้วไม่เข้าหลักไตรลักษณ์
ผิดแน่นอน
หรือที่เราปฏิบัติอยู่นี่
เป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนาต้องแยกให้ออก
ถ้าแยกไม่ออกเราก็หลงทำสมถะอยู่
แล้วเราก็คิดฟุ้งซ่านไป
แล้วบอกเราเกิดปัญญา
อันนี้ก็ใช้ไม่ได้
หรือบางทีเดินปัญญามากสมาธิไม่พอ
อันนี้ก็ใช้ไม่ได้
ต้องสังเกตตัวเอง
ไม่ต้องรอถามครูบาอาจารย์
นานๆ จะมีโอกาสถามครูบาอาจารย์
สักครั้งหนึ่ง
แต่สติปัญญามันอยู่กับตัวเราทุกวัน
อาศัยสิ่งที่อยู่กับตัวเรานี่ล่ะ
คอยสังเกตสิ่งที่เราทำอยู่นี่
ทำให้อกุศลลดลงไหม
ทำให้อกุศลเกิดยากขึ้นไหม
ทำให้กุศลเกิดบ่อยไหม
เกิดแล้วถี่ขึ้นๆ ไหม หรือนานๆ เกิดที
นี่วัดใจตัวเอง สังเกตไป ดูไปเรื่อยๆ
การสังเกตกิเลสเป็นเรื่องสำคัญ
ภาวนาแล้วสังเกตกิเลสออกนี่ดีมากๆ เลย
ในเบื้องต้นจิตใจเรามีกิเลสอะไร เราคอยรู้
ก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ
ต่อไปพอเราเข้าใจธรรมะ
ตรงที่เราคิดว่าเราบรรลุมรรคผล
เราก็จะวัดว่าบรรลุจริงหรือไม่จริง
วัดที่ไหน วัดที่กิเลส
อย่างเราภาวนาแล้วจิตเรารวมวูบลงไป
ถอยออกมา
หลายคนรีบสรุปเลย ได้โสดาบัน
จะได้หรือไม่ได้ วิญญูชนต้องสังเกตเอา
ไม่มีใครเขาบอกกันหรอก
เพราะบอกแล้วมันอันตราย
บางทีเขาก็หลอกเอา
ไปภาวนา เฮ้ย ได้โสดาบันแล้ว
เขาให้ตำแหน่งก็ดีใจ
มีเงินมีทองก็ยกให้เขาอะไรอย่างนี้
หรือเลื่อมใสศรัทธางมงายไปเลย
เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาแล้วเราคิดว่า
เราได้โสดาบัน
หรือภาวนาแล้วมีใครมารับรองเรา
ว่าได้โสดาบัน
ทั้ง 2 นัยยะ คิดเอง
หรือมีใครมาบอกก็ตาม
ให้สังเกตที่กิเลส
พระโสดาบันละกิเลสบางอย่างได้เด็ดขาดแล้ว
ละสักกายทิฏฐิ
คือละความเห็นว่าตัวเรามีอยู่จริง
มีตัวมีตน
แล้วสังเกตลงไปว่ามีไหม
อย่างบางทีภาวนาจิตมันว่างๆ ไป
แล้วบอกว่าตัวเราไม่มีแล้ว
บอกใจเย็นๆ ดูไปหลายๆ วัน
ตอนที่สมาธิเสื่อมลง
จิตใจเป็นคนธรรมดานั่นล่ะ
ดูสิมันจะมีตัวเราอีกไหม
บางทีพอจิตมันทรงสมาธิอยู่
ก็มองตัวเราไม่เห็น มันสบาย มันว่างๆ
พอสมาธิเสื่อมก็ไม่มีตัวเรา มีแต่ตัวกู
หนักกว่าตัวเราอีก
นี่สังเกตเอามันละได้จริงหรือเปล่า
บางคนก็ภาวนาเขานึกว่าได้โสดาบัน
หรือมีคนรับรองว่าได้โสดาบัน
ก็ดูลงไปที่ตัวเอง
ละสักกายทิฏฐิได้ไหม
ศีล 5 ของเราดีไหม
ถ้าศีล 5 ยังด่างพร้อยอยู่ ยังไม่ใช่หรอก
เพราะฉะนั้นวัดตรงนี้ วัดที่กิเลสของเรานี่
ถ้ากิเลสยังหยาบๆ จนทำผิดศีลได้
ไม่ใช่หรอก
ค่อยๆ สังเกตเอา
พวกที่ชอบพยายามมาถามหลวงพ่อ
ว่าได้โสดาบันหรือยัง
บางคนหนักกว่านั้น มาบอกว่าได้โสดาบันแล้ว
เคยเจอหนักที่สุดเป็นพระ
บอกได้พระอรหันต์แล้ว
หลวงพ่อบอกยังไม่ได้หรอก
จิตใจเศร้าหมองเลย
มัว ขุ่นมัว เศร้าหมองไปหมด
บอกเห็นไหมจิตมีโทสะแล้ว
เห็น ไม่ใช่พระอนาคามีหรอก
วัดกันด้วยกิเลสอย่างนี้
ไล่ๆๆๆ ต้อนลงไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นใครบอกเราได้โน้นได้นี่
อย่าเพิ่งเชื่อ
หรือเราภาวนาแล้วเราเชื่อของเราเอง
ก็อย่าเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์
สังเกตกิเลสไปนานๆ
เมื่อก่อนมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง
ชื่อหลวงพ่อกิม
หลวงพ่อกิมนี่ภาษาเขมรไม่ใช่ภาษาจีน
เป็นคนสุรินทร์
หลวงพ่อกิมบอกว่าไปภาวนานี่
ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์
แล้วคิดว่าบรรลุอะไรแล้วนี่
ให้ดู 3 เดือน
ดูไปเรื่อยๆ 3 เดือนนี้กิเลสจะกลับมาไหม
กระทั่งคิดว่าเป็นพระอรหันต์
ดูไป 3 เดือนเดี๋ยวก็เจอ
แต่ถ้าตั้งใจว่าเราเป็นไปแล้ว เชื่อไปแล้ว
คราวนี้ไม่ยอมดูแล้ว ไม่กล้าดู
หลายคนภาวนาได้ใบเซอร์ฯมาจากที่อื่น
บอกไม่กล้าดูแล้ว
เพราะว่ากลัวจะไม่ได้เป็นโสดาบัน
ไปเรียนสะเปะสะปะ อันตราย
รู้ปริยัติไว้บ้างก็ดี
เอาไว้ตรวจสอบตัวเอง
เคยได้ยินคำว่าโยนิโสมนสิการไหม
โยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย
คำว่าแยบคายไม่ใช่เจ้าเล่ห์แสนกล
แยบคายนี่ก็คือดูว่า
อันนี้สอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า
และพระอรหันตสาวกทั้งหลายไหม
แยบคายตรงนี้คือดูว่ามันสอดคล้องไหม
วันนี้สอนวิธีตรวจสอบตัวเอง
เราจะได้ไม่งมงาย ไม่ต้องฟังใคร
หลวงพ่อภาวนาหลวงพ่อไม่เคยสงสัยตัวเองเลย
ภาวนาอย่างไร เพราะเราตรวจสอบตัวเองเสมอ
บางทีเข้าไปหาครูบาอาจารย์
ก็ไปเล่าให้ท่านฟัง
ท่านก็ชมว่าฉลาดๆ คอยรู้ทันจิตใจตัวเอง
ถ้าได้โสดาบัน สกทาคามี
ศีลของเราต้องบริบูรณ์
สมาธิยังเล็กน้อย
แต่ว่าละกิเลสไปอีกกลุ่มหนึ่ง
ละความเห็นผิด
ว่าในขันธ์ 5 นี่มีตัวเราอยู่
หรือมีตัวเรานอกเหนือจากขันธ์ 5
เป็นอย่างไร ตัวเรานอกขันธ์ 5
บางคนนั่งสมาธิ ถอดจิตออกไปอยู่ข้างบน
ย้อนมาดู ขันธ์ 5 มันอยู่ข้างล่าง
นี่มีตัวเราอยู่นอกขันธ์ 5 อีก
มีตัวเรา ขันธ์ 5 เป็นตัวเรา
ตัวเราเป็นขันธ์ 5 อะไรอย่างนี้
ถ้าได้จริงจะไม่มี
มันจะรู้เลยขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา
ไม่มีตัวเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 ก็ไม่มี
ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยจะไม่มี
ถ้าเราได้โสดาบัน
เราจะไม่สงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงไหม
พระพุทธเจ้าตรัสรู้จริงไหม
สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนี่
นำเราพ้นทุกข์ได้จริงไหม
จะไม่สงสัยในตัวพระพุทธเจ้าเลย
เด็กยุคนี้บอกพระพุทธเจ้าไม่มีหรอก
คิดอย่างนั้นเลย
พูดไปทั้งๆ ที่ไม่ได้พิสูจน์
พูดด้วยความเห็น
แล้วความเห็นตัวนั้นเป็นความเห็นผิด
ความเห็นที่ไม่ทนต่อการพิสูจน์
แต่พอถ้าภาวนาได้ธรรมะแล้ว
จะรู้พระพุทธเจ้ามีจริง
คำสอนของท่านมีจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง
พระธรรมมีจริงไหม มี
พระธรรมนำทางเราไปสู่ความพ้นทุกข์ได้
มีจริงๆ
พระสงฆ์มีไหม มี
เราอาจจะไม่รู้ว่าองค์ไหนเป็นพระสงฆ์
แต่ตัวเองเป็นพระสงฆ์ไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งๆ ที่ยังนุ่งกางเกง
ใส่ผ้านุ่งผ้าถุงอะไรอย่างนี้
ก็เป็นพระสงฆ์ไปเรียบร้อยแล้ว
มันจะรู้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจริง
ไม่สงสัย
รู้ว่าการปฏิบัติที่ถูกเป็นอย่างไร
ละสีลัพพตปรามาส
การถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงาย
อย่างบางคนบำเพ็ญพรตงมงาย เช่น
คิดว่ากินเจแล้วบรรลุได้เร็วกว่า
ถ้ากินเจถึงจะบรรลุได้
วัวควายกินหญ้ามาตลอดคงบรรลุหมดแล้วล่ะ
หรือบางคนคิดว่าต้องอาบน้ำในแม่น้ำคงคา
แล้วจะบรรลุเร็ว
ถ้าอย่างนั้นปลาในแม่น้ำคงคา
ก็บรรลุหมดแล้วล่ะ
อย่างนี้ที่เรียกว่าสีลัพพตปรามาส งมงาย
เราจะละความงมงาย
เราจะรู้เลยสิ่งที่ทำให้เราบรรลุพระโสดาบัน
คือไตรสิกขา ศีลสิกขา จิตตสิกขา
ปัญญาสิกขา
เดินอยู่ในหลักของสติปัฏฐาน
ลงมือทำสติปัฏฐาน
ในเบื้องต้นทำให้เกิดสติ
พอมีสติแล้วศีล สมาธิ ปัญญา
ก็จะค่อยๆ แก่รอบขึ้น
เราจะรู้ว่าเส้นทาง
ที่ไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น
สุดท้ายหนีไม่พ้นเรื่องสติปัฏฐานหรอก
สติปัฏฐานเป็นทางสายเอกเป็นทางสายเดียว
เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น
ฉะนั้นวัดที่ตัวเอง
หลายคนบางทีเขียนจดหมายมา
มาเล่าหลวงพ่อบอกว่าได้โสดาบันแล้ว
บางคนบอกว่าเห็นจิตกับ
สภาพธรรมที่แวดล้อมอยู่
เป็นสิ่งเดียวกันแล้ว
มันเห็นด้วยกำลังสมาธิเป็นครั้งคราวหรอก
เดี๋ยวก็ไม่เห็น มันยังไม่ใช่ของแท้
ฉะนั้นต้องค่อยๆ สังเกตตัวเองให้ดี
อย่าเข้าข้างตัวเอง
แล้วเคล็ดลับสำคัญในการสังเกตจิตตนเอง
ต้องดูจิตตนเองในภาวะปกติ
อย่าไปทรงสมาธิอยู่
อย่างถ้าเราไปทรงฌานอยู่
แล้วเราบอกว่า เราไม่มีราคะแล้ว
ไม่มีโทสะแล้ว
ไม่มีกามราคะ ไม่มีโทสะ
เป็นพระอนาคามีแล้ว
ออกจากสมาธิมา อ้าว กิเลสกลับมาอีกแล้ว
ราคะก็แรงยิ่งกว่าเก่า
โทสะก็ยิ่งแรงยิ่งกว่าเก่าอีก
พวกนั่งสมาธิหลุดออกมาจากสมาธิแล้ว
กิเลสแรง กิเลสมันคิดดอกเบี้ย
มันถูกเก็บกดอยู่ช่วงหนึ่ง
มีโอกาสมันซัดเราหงายท้องเลย
ภาวนาเวลาเราจะสังเกตกิเลสตัวเอง
สังเกตในภาวะปกติในใจที่เป็นปกติอย่างนี้
ไม่ใช่ใจที่ทรงสมาธิอยู่
บางคนเพ่งเอาไว้อย่างนี้
แล้วบอกว่าไม่มีกิเลสแล้ว
หลวงพ่อพยายามทำหน้าให้ดู
จิตก็เป็น ทำทั้งหน้าทั้งใจ
เพ่งอยู่อย่างนี้ แล้วบอกไม่มีกิเลส
ใครด่าก็ไม่โกรธ ใครชมก็เฉยๆ
เห็นผู้หญิงสวยๆ เดินโป๊ๆ ก็เฉยๆ
ทำไมมันเฉย จิตมันติดสมาธิอยู่
มันก็ข่มกามราคะได้
มันข่ม มันไม่ได้ละ
มันข่มไว้ชั่วคราว
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราภาวนา
แล้วเรานึกว่าเราได้โน้นได้นี้
เราวัดกิเลสตัวเอง
วัดในภาวะที่จิตใจเป็นปกติ
อย่าไปน้อมจิตให้นิ่งๆ ทื่อๆ อยู่
แล้วก็มาวัดตอนที่มันนิ่งๆ ทื่อๆ
อันนั้นจะวัดไม่ออก
ถ้าเป็นคนปกติอย่างเวลานั่งสมาธิ
จิตรวมอยู่อย่างนี้ คนมาด่าก็เฉย
เวลาออกจากสมาธิคนยังไม่ทันด่า
มันมองหน้าโดดถีบมันแล้ว
นี่มันจะต่างกัน
เพราะฉะนั้นต้องวัดตัวจริง
ไม่ถูกฌานสมาบัติอะไรมาห่อหุ้มเอาไว้
ฉะนั้นเวลาวัดกิเลส
วัดตอนที่ใจเราเป็นปกตินี่ล่ะถึงจะเห็นชัด
พอได้หลักไหม
ในการที่จะไปตรวจสอบการปฏิบัติของตัวเอง
เราตรวจสอบการปฏิบัติของตัวเอง
ใช้โยนิโสมนสิการเป็นสำคัญ
จะรู้โยนิโสมนสิการได้
ต้องมีสุตตะ มีการเรียนรู้
สุตตะไม่ใช่พระสูตรเฉยๆ สุตตะ การฟังๆ
การอ่านก็ใช้ได้
อ่านพระไตรปิฎกอะไรอย่างนี้
อ่านให้รอบคอบ
อ่านแล้วก็จับประเด็นผิดๆ ถูกๆ
อะไรอย่างนี้
อันตรายเหมือนกัน
อ่านต้องรอบคอบ
อย่างบอกว่าถ้าพระไปรักษาโรคให้คน
พระหมอนี่ทำผิดศีล
เป็นเดรัจฉานวิชา วิชาแพทย์
พระไปทำเดรัจฉานวิชา อาบัติ นี่พูดเอาเอง
ที่จริงพระหากินด้วยเดรัจฉานวิชา อาบัติ
แต่พระใช้เดรัจฉานวิชา
ช่วยเหลือสงเคราะห์โลกอะไรอย่างนี้
เป็นความเมตตากรุณาต่างหาก
พอตีความผิดก็ใส่ร้ายพระไปทั่ว
องค์โน้นผิดองค์นี้ผิด ผิดอะไรนักหนา
ต้องเรียนต้องอ่านบ้าง
แต่อ่านแล้วก็เอาแขวนขึ้นหิ้งไว้ก่อน
ตอนที่ลงมือภาวนา ลืมไปก่อน
แล้วภาวนาเสร็จแล้วลองมาเทียบดูกับตำรา
ถ้าภาวนาถูกต้องตรงกัน ต้องตรงกัน
ฉะนั้นโยนิโสมนสิการไม่ใช่คิดเรื่อยเปื่อย
ไม่ใช่คิดตามใจกิเลส
แต่คิดโดยดูหลักเกณฑ์
พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร
พระอรหันตสาวกท่านสอนไว้อย่างไร
ดูตรงนั้น
แล้วก็จุดสำคัญ หัดสังเกตตัวเอง
สังเกตใจไว้
แล้วก็มีโอกาสถามครูบาอาจารย์
ตรงนี้เสี่ยงมากเลย
บางทีเราภาวนาดี เราไปเจอครูบาอาจารย์เก๊
ไปถามเขาแก้ของเรา
เมื่อก่อนมีเรียนกับที่อื่นมา
แล้วมาฟังกับหลวงพ่อ เราก็แก้ให้
กลับไปหาอาจารย์
อาจารย์แก้กลับไปอย่างเดิมอีก
อย่างกับตีปิงปอง ตีกลับไปกลับมา
สุดท้ายหลวงพ่อตบทีเดียว
กระเด็นออกนอกโต๊ะไปเลย ไม่เอาด้วยแล้ว
ฉะนั้นวัดใจตัวเองให้ได้ดีที่สุด
แล้วเครื่องมือในการวัด โยนิโสมนสิการ
วัดด้วยตัวนี้
ฉะนั้นอย่าได้โง่งมงาย
ทุกวันนี้คนออกมาสอนมากมายเหลือเกิน
เราภาวนาชำนิชำนาญ
เราฟังปุ๊บเราก็รู้แล้วนี่ธรรมะระดับไหน
ธรรมะระดับคิดเอาหรือว่ามีประสบการณ์ตรง
ประสบการณ์นั้นตรงถูกหรือไม่ถูก
ไปอีกหลายระดับ ค่อยๆ ดูเอา
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้
ทำไมไม่สอนวิธีปฏิบัติ สอนไปเยอะแล้ว
วันนี้สอนการตรวจการบ้านตัวเอง
จะได้ไม่ต้องมาถามหลวงพ่อบ่อย
เบอร์ 1 เบอร์ 1 ต้องตกใจด้วย
เรียกเบอร์ 1 ทีเดียว
เบอร์ 1: ในรูปแบบนั่งสมาธิอยู่กับลมหายใจ
อยู่กับอารมณ์อันเดียวบ้าง
ดูจิตทำงานบ้าง รู้ทันบ้างไม่ทันบ้าง
ยังจงใจมากไป
เพราะมันยังไม่ยอมรับความจริง
และความอยากดี
ชีวิตประจำวันคอยมีสติรู้ทันจิตคิด
แต่รวมๆ แล้วสติยังช้าและอ่อนอยู่
รู้จักกิเลสตัวเองมากขึ้น
ทั้งมานะ โทสะ ความอยาก
มันวนเวียนกลับมาเรื่อยๆ ขอคำสั่งสอนครับ
ที่รู้ที่เห็นถูกแล้ว ดี
จุดที่ยังผิดอยู่คือจิต
จิตของเราปกติเป็นแบบนี้ไหม
พยักหน้าเอาหรือส่ายหน้า
ไม่เป็นอย่างนี้
ถ้าจิตเป็นอย่างนี้ใช้ไม่ได้
ไปล็อกนิ่งๆ เฉยๆ
จิตเฉยๆ อย่างนี้ ใครด่าก็เฉย
จิตตรงนี้ก็ยังไม่ปกติ ดูออกไหม
เออ รู้ทันแล้ว ใช้ได้ ดีที่ทำอยู่
หลวงพ่อถึงบอกอย่างไรเวลาวัด
ต้องวัดด้วยใจที่ปกติ
ถ้าใจไปทรงไว้อย่างนี้
มันวัดอะไรไม่ได้หรอก
มันเห็นกิเลสก็เห็นไม่จริง
เบอร์ 2: ในรูปแบบนั่งสมาธิ
หายใจเข้าพุทออกโธ
ในชีวิตประจำวันบริกรรม
พุทโธ ธัมโม สังโฆ ในใจ
มีเผลอบ้าง
ไม่ทราบว่าควรดูกายหรือจิตครับ
บริกรรมไปเรื่อยๆ เอาสติ
พอเราได้สติ อย่างเราพุทโธๆ ไป
เผลอแล้วเรารู้ เผลอแล้วรู้
เราได้สติได้สมาธิขึ้นมา
แล้วคราวนี้สติระลึกรู้ลงในกาย
เราก็ดูเห็นไตรลักษณ์
สติไปรู้การทำงานของจิต
เราก็เห็นจิตใจแสดงไตรลักษณ์
ดูไป สติรู้อะไรก็รู้อันนั้นล่ะ
ไม่ต้องบังคับว่าจงรู้เฉพาะร่างกาย
หรือจงรู้เฉพาะจิต
อย่าไปบังคับมัน จะตึงไป
สังเกตไหมใจเราตึงๆ ไปนิดหนึ่ง
สบายๆ รู้ไปธรรมดาๆ
ใจธรรมดาดีที่สุดเลย
ตรงนี้ไม่ธรรมดาแล้วรู้สึกไหม
เมื่อกี้ธรรมดา
ตอนนี้ไม่ธรรมดา เพราะเราไปรวบเข้ามา
ตัวนี้โมหะแทรกแล้วรู้สึกไหม มันซึมลงไป
เพราะฉะนั้นทำสมาธิก็ทำไป
จะบริกรรมก็บริกรรมไป
แต่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับจิตใจ ให้คอยรู้ทัน
บริกรรมแล้วโมหะแทรก
ชักเคลิ้มชักลืมตัวรู้ทัน
ถ้ารู้ทันแล้วก็หายใจให้แรงขึ้น
นิดหนึ่งก็ได้
กระตุ้นความรู้สึกตัว
ไม่ให้มันหย่อนเคลิ้มลงไป
รู้สึกตัวไปแต่อย่าไปกระตุ้นมาก
มันจะแข็งไป
เอาแค่ไม่หลงไม่เคลิ้มไม่ถูกโมหะครอบ
รู้เนื้อรู้ตัวด้วยใจปกติ
โมหะแทรกตรงนี้ เราน้อมใจให้เคลิ้ม
อย่าน้อมใจให้เคลิ้ม รู้ตัวไว้
หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก
หรือจะพุทโธด้วยก็ได้ รู้สึก
อย่าไปดัดแปลงจิต
เบอร์ 2 ยังชินที่จะดัดแปลงจิตให้มันนิ่งๆ
รู้สึก ความรู้สึก
สำคัญยิ่งกว่าการบังคับให้นิ่ง
เออ ตรงนี้ถูก
เวลาถูกมันถูกแวบเดียวล่ะ
แล้วจิตมันก็ไปปรุงต่อ
หายใจไป พุทโธไปเรื่อยๆ ใจเคลิ้มให้รู้
หายใจไป พุทโธไป
ใจหนีไปคิดเรื่องอื่นให้รู้
เพราะฉะนั้นหายใจไปพุทโธไปแล้วรู้ทันใจไว้
เคลิ้มก็รู้ หลงไปก็รู้
ฝึกบ่อยๆ แล้วสติจะแข็งแรง สมาธิจะดีขึ้น
เบอร์ 3: ฟังธรรมตอนขับรถ
อ่านหนังสือธรรมะบ้าง
ในรูปแบบนั่งสมาธิเช้าเย็นครั้งละ 30 นาที
หายใจเข้าพุทออกโธ
ดูร่างกายหายใจ
มักฟุ้งซ่าน ยังติดเพ่ง
บางครั้งรู้สึกสว่างขึ้นคล้ายเปิดสวิตช์ไฟ
รู้สึกชอบ
แต่ไม่นานก็เผลอไปคิดเรื่องอื่น
ระหว่างวันดูร่างกายหายใจพร้อมพุทโธ
คอยรู้ทันโทสะและเผลอคิด
ดูร่างกายเคลื่อนไหวบ้าง ขอคำสั่งสอนค่ะ
ดูอย่างนั้นล่ะ
หายใจไปหรือเคลื่อนไหวไป
ก็ไม่ได้ไปบังคับจิตให้นิ่ง
หายใจไปเคลื่อนไหวจิตหลงไปก็รู้
พยายามไปดึงจิตคืนมาก็รู้
รู้ทันจิตตัวเองบ่อยๆ
ใช้กรรมฐานจะหายใจก็ได้เคลื่อนไหวก็ได้
แนะนำอันหนึ่งก็คือดูกายให้เยอะขึ้น
ใช้สติใช้ปัญญาสอดส่องเข้าไปในร่างกาย
ร่างกายนี้มันสวยอยู่ที่เปลือกนอก
สวยอยู่ที่ขนผมเล็บฟันหนังเท่านั้นเอง
เรากำหนดจิตมองเข้าไปภายใน
เห็นของไม่สวยไม่งามอยู่ภายในเยอะแยะ
ฝึกตัวนี้บ้าง มันถูกกับจริต
เพราะเราเป็นพวกรักสุขรักสบายรักสวยรักงาม
น้อมกลับเข้ามาดูตัวนี้จะดี
เบอร์ 1 ติดสมาธิ
จิตคงที่อยู่ตรงนี้ทั้งๆ ที่เผลอ
ตัวนี้ต้องไปดูให้ดี
ถ้ามันค้างกลางอากาศอยู่อย่างนี้
มันไม่เดินปัญญาจริง
เบอร์ 4:
ปฏิบัติในรูปแบบทุกวัน
มีอาการตึงๆ หน่วงๆ
ตรงกลางศีรษะ จนถึงปลายจมูก
มีความรู้สึกคล้ายการเข้าไปในสมาธิที่ลึก
เวลาทำงานจะทำความรู้สึกตัวทุกครั้ง
เมื่อมีทุกข์เข้ามา
จะรู้สึกไม่ทุกข์มากเหมือนแต่ก่อน
รู้สึกอยู่เหนือทุกข์
มองทุกอย่างเป็นสมมุติมากขึ้น
ขอการบ้านค่ะ
เวลาที่ใจเราทรงสมาธิอยู่มัน
จะรู้สึกอย่างที่เล่า
ถ้าอยากเห็นของจริง
อย่าค้างอยู่กลางอากาศแบบนี้
ถ้าเราน้อมจิตให้ทรงสมาธิอยู่อย่างนี้
อะไรๆ ก็เฉยๆ หมดล่ะ
ถ้าหลุดจากตรงนี้เมื่อไรมันร้ายเลย
ถอยออกมาสิ อย่าค้างอยู่อย่างนั้น
ถอยออกมา เออ อยู่ข้างนอกอย่างนี้
กิเลสไม่ได้อยู่ข้างในอย่างนั้น
อย่าหลุดเข้าไปค้างกลางอากาศอยู่
ถ้าอย่างนั้นจะไม่เดินปัญญาจริง
เพราะจะไม่เห็นกิเลสหรอก
จะรู้สึกเฉยๆ อะไรเกิดขึ้นก็เฉยๆ
จะรู้สึกไปทางนั้น
แต่ถ้าใจเราไม่ไปทรง
ค้างอยู่กับสมาธิข้างในอย่างนั้น
คราวนี้กระทบอารมณ์มันจะเกิดปฏิกิริยา
ตามธรรมชาติธรรมดาล่ะ
เราก็จะเห็นปฏิกิริยาทั้งหลาย
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้
ปัญญามันอยู่ตรงนี้ไม่ได้อยู่ตรงเฉย
เบอร์ 5:
ทำกรรมฐานใช้คำบริกรรมพุทโธ
ระหว่างวันพยายามคิดพุทโธแล้วสังเกตว่า
ยังคิดพุทโธอยู่หรือไม่มีพุทโธ
ทำในรูปแบบ
ด้วยการนั่งบริกรรมพุทโธก่อนนอน
และหลังตื่นนอน
ใช้การตั้งใจหายใจ
เพื่อช่วยในเวลาที่ง่วง เคลิ้ม
หรือคิดพุทโธไม่ค่อยได้
ขอคำชี้แนะการปฏิบัติต่อไปครับ
ถูกแล้วไปพุทโธต่อ
ทำได้ ทำวิธีนี้ก็ทำได้ ทำอีก
เบอร์ 5 ตรงนี้เราน้อมจิตเข้าไปรู้สึกไหม
น้อมเข้าไปรู้ว่าน้อม รู้ทันจิตตัวเอง
จิตตรงนี้ดี ตรงนี้จิตธรรมดา
รู้สึกไหม มันรู้ มันตื่น มันเบิกบาน
ส่วนที่น้อมเข้าไป มันก็ได้ซึมๆ
ตรงนี้ดี
จิตที่จะเดินปัญญา
หรือเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ใช้จิตอย่างตรงนี้
ส่วนต้องการพักผ่อนก็เข้าสมาธิลึกลงไป
ไม่เป็นไร
แต่พอออกจากสมาธิมาอยู่ข้างนอกนี้
แล้วกระทบอารมณ์แล้ว
เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตได้
จะเดินปัญญาได้คล่องตัว
ถ้านิ่งไปตลอดมันไม่เดินปัญญาจริงหรอก ดี
เบอร์ 6: ในรูปแบบดูลมหายใจ มีพุทโธกำกับ
ในชีวิตประจำวันดูอารมณ์ที่มากระทบบ้าง
อยู่กับลมหายใจบ้าง
เห็นโทสะเล็กๆ
และเบื้องหลังการกระทำบ่อยขึ้น
หลวงพ่อเคยให้ไปดูตัวนิ่งๆ
ที่เป็นโมหะสมาธิ
เห็นว่ามีการคุมและมีความหนักกลางอก
เวลาทำในรูปแบบรู้สึกว่ายังติดการคุม
และมีความหนัก
เมื่อมารู้ตัวในชีวิตประจำวัน
ขอคำชี้แนะค่ะ
เวลาเราจะทำสมาธิ
เบื้องต้นก็ต้องจงใจไว้ก่อน
มันก็คุมนิดหน่อย
ถ้าคุมมากสมาธิไม่ดีหรอก แน่นๆ อึดอัด
แต่ถ้าเราทำสมาธิแล้วเราออกมาอยู่ข้างนอก
เรายังรู้สึกว่ามีการคุมอยู่
แสดงว่าเราติด
เรายังไม่ได้ออกจากสมาธิอย่างแท้จริง
จิตติดซึมออกมาด้วย ตัวนี้ไม่ดี
เพราะฉะนั้นเวลาเรานั่งสมาธิ
อย่าให้ขาดสติ อย่าให้สติอ่อนเกินไป
ถ้าสติอ่อนเกินไปแล้วโมหะมันครอบ
แล้วพอเราถอยออกมาอยู่กับโลกข้างนอกนี่
โมหะมันติดออกมาด้วย
เพิ่มความรู้สึกตัวขึ้นนิดหนึ่ง
เวลานั่งสมาธิ อย่าให้เคลิ้มลงไป
แล้วเวลาอยู่ข้างนอก
สติจะทำงานได้คล่องแคล่ว
จิตไม่ติดโมหะ
นี่ตรงนี้น้อมแล้ว รู้สึกไหม
ใจเริ่มน้อมเข้าไปจะให้มันซึม
สมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ
สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต
ฉะนั้นไม่ได้ไปฝึกน้อมให้ซึมลงไป
เพื่อจะได้สงบ
อันนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ
ฉะนั้นต้องมีสติกำกับ
ถ้าขาดสติเมื่อไรก็เกิดมิจฉาสมาธิทันทีเลย
รู้สึกๆๆ มันจะเคลิ้มอยู่เรื่อย มันเคยชิน
ตอนนี้นั่งน้อยๆ ก็ได้ ออกมาทำงาน
เคลื่อนไหวทำงานบ้านแล้วรู้สึกตัวไป
ไปทำงานแล้วรู้สึกตัวที่มันทำงานไป
ดีกว่าไปนั่งสมาธิ มันติด มันติดโมหะ
เอาอยู่ข้างนอกนี่ล่ะ แล้วรู้สึกเอา
เบอร์ 7: ในรูปแบบ สวดมนต์ เดินจงกรม
ดูร่างกายหายใจ
วันละ 30 นาที - 2 ชั่วโมง
เวลาฟุ้งมาก จะฟังเทศน์หลวงพ่อ
สวดมนต์จนมีแรง แล้วกลับมาดูกายใจทำงาน
ระหว่างวันรู้กายเคลื่อนไหว ใจเปลี่ยน
เห็นโทสะ มานะ ขอการบ้านค่ะ
ดี ไปทำอีก ฝึกไปเรื่อยๆ
เบอร์ 7 อันนี้เราส่งจิตไปดู
สังเกตไหมจิตมันเคลื่อนออกไปดู
มันไปดูอะไรไม่สำคัญ
ที่สำคัญคือรู้จิตมันเคลื่อนไปดู
รู้ทันจิตที่เคลื่อน
แล้วก็ไม่ได้รักษาว่าห้ามเคลื่อน
เคลื่อนแล้วรู้ เคลื่อนแล้วรู้
เบอร์ 8: ภาวนาในรูปแบบทุกวัน
โดยการสวดมนต์ นั่งสมาธิ
ดูลมหายใจเข้าออก
ทำอานาปานสติ
และเดินจงกรมประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง
ชีวิตประจำวัน
ดูกาย เห็นกายที่ขยับเคลื่อนไหว
ดูจิตเปลี่ยนไปเมื่อเจอผัสสะกระทบอารมณ์
มีลมหายใจและกายเป็นเครื่องอยู่
ช่วงหลังเห็นกิเลสบ่อยขึ้น ขอคำชี้แนะค่ะ
ดีขึ้นเยอะเลย ใช้ได้
ระวังอันเดียวอย่าน้อมจิตไปให้มันไปนิ่งๆ
มันยังเคยชินที่จะทำจิต รู้สึกไหม
ไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ อยู่นิดหนึ่ง
ไม่มากหรอกแต่ว่ามี
อย่าไปปรุงแต่งจิต
แต่ถ้าจิตจะปรุงแต่งอะไร
เราคอยรู้ทัน ไม่ห้าม
แต่เราอย่าไปปรุงแต่งจิต
ให้มันนิ่งๆ เฉยๆ เสียเอง
ให้จิตทำงานตามธรรมชาติธรรมดา
วันนี้ 8 คนเป็นเรื่องของสมาธิเสียเยอะเลย
เบอร์ 4 ใจฟุ้งซ่าน
วันนี้เท่านี้
ต้องอดทน หลวงพ่อแถมนิดหนึ่ง
มีผู้หญิงอยู่คนเป็นคนฟุ้งซ่านมากๆๆๆ
ไม่ใช่มากอย่างเดียว มากๆๆ หลายตัว
แล้วชอบวุ่นวาย ชอบกิจกรรม แต่ว่าอยากดี
งานอดิเรกคือเล่นตุ๊กตา
ทีนี้หลวงพ่อก็นวดหนักๆ เลย
บังคับให้ภาวนา
ภาวนาทีแรกจะร้องห่มร้องไห้
โอ้ย มันทุกข์ทรมาน
นั่งแล้วทรมานมากเลย
แล้วเผลอเมื่อไรก็จะออกไปซนแล้วโดนดุทุกที
อดทน ถูกดุก็ทน
ภาวนาจนกระทั่งเมื่อวันศุกร์มาส่งการบ้าน
ภาวนาแล้วจิตมันรวมลง
ร่างกายหายไป โลกทั้งโลกก็หายไป
เหลือแต่จิตดวงเดียวมีสติกำกับอยู่
เห็นการทำงานภายในอยู่
แล้วก็มาบอกหลวงพ่อว่า
นี่เขาจะมีคอร์ส จะไปเข้าคอร์สดีไหม
บอกไปเข้าทำไมล่ะ
เราภาวนาของเราก็ดีๆ อยู่แล้ว
การปฏิบัติมันเรื่องเฉพาะตัว
ไปรวมกลุ่ม
ถ้าเราเจอคนซึ่งภาวนาดีกว่าเรา
หรือเสมอเรา เราก็ได้ดี
ถ้าเจอคนฟุ้งซ่าน
ธาตุสันดานเดิมพื้นฐานเดิมของเราฟุ้งซ่าน
มันก็จะดึงดูดเราฟุ้งซ่าน
กรรมฐานที่อุตส่าห์ฝึกมา
อย่างยากลำบากเสียหมด
เพราะฉะนั้นทางที่ดีไม่คลุกคลี
เล่าให้พวกเราฟังว่า
กระทั่งคนที่ฟุ้งสุดยอด
แต่อดทนมันก็ยังทำได้
ขอให้อดทนเถอะ
ทนต้องทนจริงๆ ทนเจ็บ ทนปวด
นั่งแล้วจะตายเอา เจ็บไปทั้งตัวเลย
ต้องอดทน ทนได้ก็ได้แก่นสารสาระ
อย่างน้อยชาตินี้ก็รู้แล้วว่า
จิตจริงๆ เป็นอย่างไร
มันเพิกโลกออกไป เพิกถอนโลก
เพิกถอนร่างกายออกไป
เหลือแต่จิตดวงเดียว
การปฏิบัติทีนี้ก็สามารถ
เจริญปัญญาอยู่ตรงนี้ได้เลย
แต่ถ้าย่อหย่อนเมื่อไรก็ฟุ้งซ่าน
ความเพียรที่ทำมาก็ล้มเหลว
ต้องเริ่มต้นไหม
เริ่มหลายๆ ทีก็ไม่มีแรงจะเริ่ม
คนนี้พื้นฐานแย่กว่าพวกเรา
ฉะนั้นพวกเราพื้นฐานยังดีกว่าเขาส่วนใหญ่
เขาฟุ้งมาก โมหะเยอะ
ราคะ หมายถึงชอบของสวยของงามเยอะ
เขายังสู้ได้เลย
เราก็ต้องสู้ ทำให้ได้
มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงบ
ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร
นานๆ เพียรทีไม่ได้กินหรอก
5 ข้อนี้พื้นฐานจะต้องมี
แล้วเราถึงจะเจริญ
ถัดจากนั้นก็รักษาศีล
ฝึกจิตให้ตั้งมั่น
เจริญปัญญา แยกธาตุแยกขันธ์
เห็นธาตุขันธ์แต่ละตัวแสดงไตรลักษณ์ไป
ถัดจากนั้นเป็นของที่เกิดเอง
เกิดมรรคผล เกิดวิมุตติ
แล้วก็เกิดวิมุตติญาณทัสสนะ
รู้ว่ากิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ
เดินแนวนี้ถึงจะเอาตัวรอด
ถ้าเริ่มต้นก็มักมาก อยากไปหมด
เห็นใครเขามีอะไรก็อยากไปหมด
ไม่เคยคิดจะทำความสงบเลย ชอบคลุกคลี
นานๆ คิดถึงการปฏิบัติทีหนึ่ง
มันก็ได้เท่าที่ควรจะได้นั่นล่ะ
ก็ได้นิดๆ หน่อยๆ
วันนี้สอนเท่านี้ อดทน