เอาล่ะ มาลองยกมือกันหน่อยว่า มีกี่คนในที่นี้ที่อันเฟรนด์บางคนในเฟซบุ๊ค เพราะว่าพวกเขาพูดสิ่งที่ทำให้ คุณไม่พอใจเกี่ยวกับศาสนา หรือการเมือง การเลี้ยงลูก หรืออาหาร (เสียงหัวเราะ) แล้วกี่คนที่มีคนที่คุณจงใจเลี่ยง อย่างน้อยหนึ่งคน เพราะว่าคุณแค่ไม่อยากจะคุยกับคน ๆ นั้น (เสียงหัวเราะ) สมัยก่อน การที่จะมีบทสนทนาที่สุภาพนั้น เราก็แค่ต้องทำตามคำแนะนำ ของเฮนรี่ ฮิกกินส์ ในเรื่อง My Fair Lady พยายามคุยแค่เรื่องอากาศ กับสุขภาพก็พอ แต่ว่าสมัยนี้ ด้วยเรื่องโลกร้อน การต่อต้านการฉีดวัคซีน หัวข้อพวกนั้น... (เสียงหัวเราะ) ก็ไม่ปลอดภัยอีกเช่นกัน บนโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ โลกที่ทุกการสนทนา มีโอกาสที่จะกลายเป็นการโต้เถียงกันได้ โลกที่นักการเมืองของเรา ไม่สามารถพูดคุยกันได้ และเป็นโลกที่แม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่สุด ก็มีทั้งคนที่ต่อสู้สุดตัวเพื่อมัน และต่อต้านมัน ซึ่งมันไม่ปกติ สถาบันวิจัยพิว ทำการศึกษาจาก ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวน 10,000 คน และพวกเขาพบว่า ในตอนนี้ พวกเราแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้น พวกเราแบ่งแยกกันมากขึ้น มากกว่าที่ครั้งไหน ๆ ในประวัติศาสตร์ เรามีแนวโน้มที่จะประนีประนอมน้อยลง ซึ่งนั่นแปลว่า เรากำลังไม่ฟังกันและกัน และเรากำลังตัดสินใจว่า เราจะอยู่ที่ไหน จะแต่งงานกับใคร หรือแม้แต่ ใครคือคนที่จะเป็นเพื่อนของเรา โดยอ้างอิงจากสิ่งที่เราเชื่อไปแล้ว นั่นก็อีก มันหมายความว่า เรากำลังไม่ฟังคนอื่น การสนทนากัน ต้องการความสมดุล ระหว่างการพูด และการฟัง แต่ตอนไหนไม่รู้ ที่เราเสียความสมดุลนั้นไป ทีนี้ จริง ๆ สาเหตุหนึ่งก็เพราะเทคโนโลยี สมาร์ทโฟนที่พวกคุณทุกคน อาจจะถืออยู่ในมือ หรือไม่ก็อยู่ใกล้พอ ที่คุณจะหยิบได้อย่างรวดเร็ว อ้างอิงจากสถาบันวิจัยพิว ประมาณหนึ่งในสามของวัยรุ่นอเมริกัน ส่งข้อความมากกว่าร้อยข้อความในหนึ่งวัน และหลายคนในนั้น เกือบทั้งหมดในนั้น มีแนวโน้มที่จะส่งข้อความหาเพื่อน แทนที่จะพูดคุยกัน แบบเห็นหน้า มีข้อความหนึ่ง จากหนังเรื่อง The Atlantic ซึ่งถูกเขียนโดยคุณครูมัธยมปลาย ชื่อพอล บาร์นเวล และเขาให้เด็ก ๆ ทำโครงงาน เกี่ยวกับการสื่อสาร เขาอยากจะสอนพวกเขา เรื่องการพูดในหัวข้อเฉพาะ โดยไม่ใช้โน้ต และเขากล่าวว่า "ผมเพิ่งตระหนักว่า..." (เสียงหัวเราะ) "ผมเพิ่งตระหนักว่า ความสามารถในการสนทนานั้น อาจจะเป็นทักษะหนึ่งเดียว ที่เรามองข้ามมากที่สุด และลืมที่จะสอนมัน เด็ก ๆ ใช้เวลาหลายขั่วโมงในหนึ่งวัน อยู่กับไอเดียและเพื่อน ๆ ผ่านหน้าจอ แต่มีช่วงเวลาน้อยมากที่พวกเขาจะมีโอกาส ได้พัฒนาทักษะการสื่อสารระหว่างกัน มันอาจจะฟังดูเป็นคำถามตลก ๆ แต่เราก็ต้องถามตัวเองว่า มีทักษะไหนอีกในยุคนี้ ที่จะสำคัญไปกว่าความสามารถในการ คงบทสนทนาที่เชื่อมโยงและมั่นใจเอาไว้ได้ ตอนนี้อาชีพหลักของฉันคือการพูดคุยกับผู้คน คนที่ได้รางวัลโนเบล คนขับรถบรรทุก เศรษฐีพันล้าน คุณครูอนุบาล นายกเทศมนตรี หรือช่างประปา ฉันคุยกับคนที่ฉันชอบ คุยกับคนที่ฉันไม่ชอบด้วยเหมือนกัน คุยกับคนที่ส่วนตัวแล้ว ฉันไม่เห็นด้วยเอามาก ๆ แต่ฉันก็ยังสามารถ มีบทสนทนาดี ๆ กับพวกเขาได้ เพราะฉะนั้น ฉันเลยอยากจะใช้เวลา 10 นาทีนี้ สอนพวกคุณว่าจะต้องพูดคุยกันอย่างไร และต้องฟังกันอย่างไร พวกคุณหลายคนคงจะเคยได้ยิน คำแนะนำมากมายในเรื่องนี้แล้ว อย่างเช่น ให้สบตาคนที่พูดด้วย เตรียมหัวข้อที่น่าสนใจไว้ล่วงหน้า สบตา พยักหน้า และยิ้ม เพื่อแสดงออกว่าคุณกำลังสนใจฟังอยู่ ทวนสิ่งที่คุณเพิ่งได้ฟังไป หรือลองสรุปใหม่ ฉันอยากให้ทุกคนลืมไปให้หมด มันไร้สาระมาก (เสียงหัวเราะ) ไม่มีความจำเป็นเลยที่คุณ จะต้องมานั่งเรียนรู้วิธีการแสดงออก ถ้าคุณสนใจฟังอยู่จริงๆ (เสียงหัวเราะ) (เสียงปรบมือ) จริงๆแล้ว ฉันก็ใช้ทักษะเดียวกันนี้ ในฐานะนักสัมภาษณ์มืออาชีพ ที่ฉันใช้มันในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ฉันจะมาสอนคุณว่า จะต้องสัมภาษณ์คนอื่นอย่างไร และนั่นคือสิ่งที่จะช่วยให้คุณเรียนรู้ว่า จะเป็นนักสนทนาที่ดีขึ้นได้อย่างไร เรียนรู้การสร้างบทสนทนา โดยไม่ต้องมัวเสียเวลา หรือต้องเบื่อหน่าย แล้วก็นะ ขอร้องล่ะ ไม่ต้องไปทะเลาะกับใครเขาด้วย พวกเราทุกคนเคยมีบทสนทนาที่ยอดเยี่ยมมาก่อน เคยผ่านมันมาแล้วแน่ ๆ และรู้ว่ามันเป็นยังไง เป็นบทสนทนาที่พอจบแล้วคุณรู้สึกยังอินอยู่ และช่วยจุดประกายความคิดขึ้นมา หรือเป็นอันที่คุณรู้สึกว่า คุณได้เข้าถึงมันจริง ๆ หรือรู้สึกว่ามีคนเข้าใจคุณอย่างดี มันไม่มีเหตุผลพิเศษอะไร ที่การมีปฏิสัมพันธ์ของคุณส่วนใหญ่ จะเป็นแบบนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ฉันเลยมีกฎง่าย ๆ 10 ข้อ ที่จะมาไล่ให้คุณฟังไปพร้อม ๆ กัน แต่เอาจริง ๆ นะ แค่คุณเลือกมาซักหนึ่งข้อ แล้วฝึกให้เชี่ยวชาญ คุณก็สามารถสนุกกับการสนทนาที่ดีขึ้นได้แล้ว ข้อแรก อย่าทำหลายอย่างพร้อมกัน และฉันก็ไม่ได้หมายถึง แค่ให้คุณวางโทรศัพท์ลงนะ หรือวางแท็บเล็ต วางกุญแจรถ หรืออะไรก็ตามที่คุณถืออยู่ตอนนั้น ฉันหมายความว่า ต้อง "อยู่" กับการสนทนานั้นจริง ๆ อย่าไปคิดถึงเรื่องที่คุณทะเลาะกับเจ้านาย อย่าคิดเรื่องเมนูอาหารเย็นวันนี้ ถ้าคุณอยากจะออกจากการสนทนานั้น ก็ออกมาเลย อย่าอยู่แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ข้อสอง อย่าวางท่า ถ้าคุณอยากจะเสนอความคิดเห็น โดยไม่อยากให้มีคนตอบ โต้แย้ง คำตอบที่ไม่ถูกใจ หรือการพัฒนา ไปเขียนบล็อกแทนแล้วกัน (เสียงหัวเราะ) จริง ๆ แล้วมันก็มีเหตุผลว่า ทำไมฉันถึง ไม่ให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าฟังบรรยายของฉัน เพราะพวกเขาน่าเบื่อมาก ๆ ถ้าพวกเขาเป็นพวกอนุรักษ์นิยม พวกเขาจะเกลียดโอบามา คูปองอาหาร การทำแท้ง แต่ถ้าพวกเขาเป็นพวกเสรีนิยม พวกเขาก็จะเกลียด ธนาคารใหญ่ ๆ บริษัทน้ำมัน และดิ๊ก เชนีย์ เดาได้ง่าย ๆ เลย และคุณก็ไม่คงไม่อยากจะเป็นแบบนั้น คุณควรจะต้องเริ่มการสนทนาทุกครั้ง ด้วยความรู้สึกว่าจะต้องได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เอ็ม สก็อตต์ เพ็ค นักบำบัดชื่อดัง กล่าวไว้ว่า การฟังที่แท้จริง คือการปล่อยวางตัวเอง และในบางครั้งนั่นก็หมายถึง การละทิ้งความเห็นส่วนตัวของคุณ เขาบอกว่า การรับรู้ได้ถึงการยอมรับนี้ ผู้พูดจะค่อย ๆ รู้สึกมั่นคงขึ้น และมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเปิดเผยตัวตนจริง ๆ ออกมาให้ผู้ฟังได้รับรู้มากขึ้น แต่ก็นั่นแหละ มันอยู่บนพื้นฐานว่า คุณมีสิ่งที่จะได้เรียนรู้ บิล นายย์ บอกไว้ว่า "ทุกคนที่คุณได้เจอ จะรู้บางอย่างที่คุณไม่รู้" ฉันจะอธิบายแบบนี้แล้วกัน ทุกคนมีความเชี่ยวชาญในบางสิ่งบางอย่างอยู่ ข้อสาม ใช้คำถามปลายเปิด ในกรณีนี้ ให้ใช้วิธีของพวกนักข่าว เริ่มต้นคำถามด้วยคำว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และเพราะอะไร ถ้าคุณถามคำถามที่ซับซ้อน คุณก็จะได้คำตอบง่าย ๆ กลับมา ถ้าฉันถามคุณว่า "คุณกลัวไหม" คุณก็จะตอบ คำที่มีพลังรุนแรงที่สุดในคำถามนั้นกลับมา นั่นก็คือคำว่า "กลัว" และคุณจะตอบว่า "ใช่ ฉันกลัว" หรือ "ไม่ได้กลัว" "คุณโกรธไหม" ก็จะได้เป็น "ใช่ ฉันโกรธมาก" ปล่อยให้เขาอธิบาย เขาเป็นคนที่รู้เรื่องมันมากที่สุด พยายามถามอะไรเช่น "มันเป็นอย่างไรล่ะ" "แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง" เพราะแบบนั้น คนฟังอาจจะต้องหยุด และใช้เวลาคิดถึงมันก่อน แล้วคุณก็จะได้รับคำตอบ ที่น่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ ข้อที่สี่ ปล่อยไปตามสถานการณ์ นั่นแปลว่า ให้ความคิดไหลเข้ามาในใจคุณ แล้วคุณก็จะต้องปล่อยให้มันออกมาจากใจคุณ เรามักได้ยินการสัมภาษณ์หลายครั้ง ที่แขกรับเชิญพูดอยู่หลายนาที แล้วพิธีกรค่อยเดินกลับเข้ามา และถามคำถาม ที่เหมือนไม่มีที่มาที่ไป หรือไม่ก็ถูกตอบไปแล้วในการพูดก่อนหน้า นั่นแสดงว่าพิธีกรเองคง ไม่ได้ฟังตั้งแต่สองสามนาทีที่แล้ว เพราะเขามัวแต่นั่งคิด เรื่องคำถามแสนบรรเจิดนี้อยู่ หรือไม่เขาก็ตั้งใจที่จะพูดแบบนั้นอยู่แล้ว แล้วเราก็ทำแบบเดียวกันนั่นแหละ เรานั่ง และพูดคุยอยู่กับใครสักคน แล้วอยู่ดี ๆ เราก็นึกถึงตอนที่ เคยเจอฮิวจ์ แจ็คแมนในร้านกาแฟ (เสียงหัวเราะ) จากนั้นเราก็หยุดฟังไป เราแค่รอจังหวะที่จะพูดเรื่องของตัวเอง เกี่ยวกับฮิวจ์ แจ็คแมน และกาแฟ เรื่องราวและไอเดียต่าง ๆ จะเข้ามาหาคุณ คุณต้องปล่อยให้มันมาหา และปล่อยมันผ่านไป ข้อที่ห้า ถ้าคุณไม่รู้ ให้บอกว่าคุณไม่รู้ สมัยนี้ คนที่จัดรายการวิทยุต่างๆ โดยเฉพาะสถานีสาธารณะ ต่างก็ให้ความสนใจ กับสิ่งที่ตัวเองพูดมากขึ้น ทุกวันนี้เขาระมัดระวังตัวกันมากขึ้น ในสิ่งที่อ้างว่าตัวเองเชี่ยวชาญ หรือสิ่งที่อ้างว่ารู้แน่นอน ทำแบบนั้นเถอะ แต่ว่าก็ระวังไว้ด้วย การพูดนั้นไม่ควรจะแค่ผิวเผิน ข้อหก อย่าเอาประสบการณ์ของตัวเองไปวัดคนอื่น ถ้าคนอื่นกำลังเล่าว่า เขาเสียสมาชิกในครัวครัวไป อย่าพูดถึงตอนที่ คุณเสียสมาชิกในครอบครัวของตัวเอง ถ้าเขากำลังเล่าเรื่องปัญหา ที่เจอในที่ทำงาน อย่าเล่าว่าคุณเกลียดงานของตัวเองแค่ไหน มันไม่เหมือนกัน และไม่เคยเหมือนกัน ประสบการณ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องของแต่ละคน และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น มันไม่ใช่เรื่องของคุณ คุณไม่ต้องใช้ช่วงเวลานั้น พิสูจน์ว่าตัวเองยอดเยี่ยมแค่ไหน หรือคุณผ่านความยากลำบากมาขนาดไหน มีคนเคยถามสตีเฟ่น ฮอว์คิงว่าไอคิวเท่าไหร่ แล้วเขาก็ตอบว่า "ผมไม่รู้เลย มีแต่พวกขี้แพ้ ที่อวดเรื่องไอคิวตัวเอง" (เสียงหัวเราะ) การสนทนานั้นไม่ใช่โอกาสในการส่งเสริมการขาย [ การสนทนาในศตวรรษที่ 21 ] [ คุณเป็นยังไงบ้างวันนี้ อ่านบล็อคของฉันสิ! ] ข้อเจ็ด พยายามอย่าพูดย้ำไปย้ำมา มันลดคุณค่าตัวเอง และน่าเบื่อสุด ๆ แล้วเราก็มีแนวโน้มจะทำมันบ่อยๆ โดยเฉพาะในการสนทนาเรื่องงาน หรือการพูดกับลูก ๆ ของเรา เรามีจุดที่อยากจะเน้นย้ำ เราเลยแค่ปรับคำพูดนิดหน่อย แล้วย้ำมันอยู่ซ้ำ ๆ อย่าทำอย่างนั้น ข้อแปด อย่าพูดในสิ่งที่ไม่จำเป็น เอาตรง ๆ ก็คือ คนอื่นไม่ได้อยากรู้ ไม่ว่าจะเรื่องปี เรื่องชื่อ เรื่องวันที่ รายละเอียดพวกนั้น ที่คุณพยายามจะนึกอยู่ในใจ พวกเขาไม่ได้อยากรู้ เขาอยากรู้เรื่องคุณ เขาสนใจว่าคุณเป็นยังไง คุณมีอะไรที่คล้ายกันบ้าง ดังนั้น ลืมเรื่องรายละเอียดไป ทิ้งมันไว้ ข้อเก้า นี่ไม่ใช่ข้อสุดท้าย แต่เป็นข้อที่สำคัญที่สุด ฟัง ฉันไม่สามารถบอกได้ว่า กี่ครั้งแล้วที่คนสำคัญ ๆ ได้กล่าวไว้ว่า ว่าบางทีแล้ว การฟังอาจจะเป็นทักษะ ที่สำคัญที่สุด ที่คุณสามารถสร้างมันได้ พระพุทธเจ้ากล่าว และฉันถอดความได้ว่า ถ้าปากคุณกำลังเปิด นั่นคือคุณไม่ได้ฟังอยู่ และเคลวิน คูลิดจ์ ก็เคยกล่าวไว้ว่า "ไม่เคยมีใครถูกไล่ออกเพราะการฟัง" (เสียงหัวเราะ) ทำไมเราถึงไม่ฟังกันล่ะ ข้อแรก เพราะเราเอาแต่พูดมากกว่า เมื่อฉันกำลังพูด ฉันคือคนที่กุมอำนาจ ฉันไม่ต้องได้ยินสิ่งที่ฉันไม่สนใจ ฉันเป็นจุดศูนย์กลางของความสนใจ ฉันได้เน้นย้ำตัวตนของตัวเอง แต่มันก็มีอีกเหตุผลหนึ่ง เราถูกเบนความสนใจ คนปกติทั่วไปจะพูดประมาณ 225 คำต่อนาที แต่เราสามารถฟังได้ถึง 500 คำต่อนาที เพราะอย่างนั้น สมองของเราจึงเติมอีก 275 คำที่เหลือเอง แต่โอเค ฉันก็เข้าใจนะ ว่ามันต้องใช้ความพยายามและพลังงานมาก เพื่อจะให้ความสนใจกับใครสักคน แต่ถ้าคุณทำไม่ได้ งั้นคุณก็ไม่ได้อยู่ในการสนทนา คุณจะเป็นแค่คนสองคนที่ตะโกน ประโยคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันไปมา ในบริเวณเดียวกัน (เสียงหัวเราะ) คุณต้องฟังกันและกัน สตีเฟ่น โควีย์ กล่าวไว้อย่างสวยหรูว่า "พวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้ฟัง ด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจ เราฟังด้วยความตั้งใจที่จะตอบคนอื่น" อีกข้อนึง ข้อที่สิบ ซึ่งมันก็คือ พูดให้กระชับ [ การสนทนาที่ดีก็เหมือนมินิสเกิร์ต สั้นพอที่จะเรียกความสนใจ แต่ก็ยาวพอที่จะครอบคลุมสิ่งสำคัญ - น้องสาวของฉัน ] (เสียงหัวเราะ) (เสียงปรบมือ) ทั้งหมดนี้ สรุปลงมาเหลือแค่แนวคิดง่าย ๆ ซึ่งก็คือ สนใจคนอื่นบ้าง ฉันโตขึ้นมากับคุณตาที่มีชื่อเสียง แล้วมันก็เหมือนเป็นธรรมเนียมที่บ้านว่า จะมีคนมาที่บ้าน เพื่อคุยกับคุณตาคุณยาย แล้วเมื่อพวกเขากลับไป แม่ก็จะเข้ามาหาเรา แล้วถามว่า "รู้ไหมว่านั่นใคร" เธอเคยเป็นรองมิสอเมริกา เขาเคยเป็นนายกฯ เมืองซาคราเมนโต เธอเคยชนะรางวัลพูลิเซอร์ไพรซ์ หรือเขาเคยเป็นนักบัลเลต์มาก่อน เพราะอย่างนั้นฉันเลยโตขึ้นมาโดยคอยเดาว่า แต่ละคนมีบางสิ่งบางอย่างที่สุดยอดซ่อนอยู่ ซึ่งฉันก็คิดด้วยว่า มันคือสิ่งที่ทำให้ฉัน เป็นพิธีกรได้ดีกว่าหลายคน ฉันรูดซิบปากสนิท ให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ ฉันเปิดใจ ฉันพร้อมจะรับความประหลาดใจเสมอ และฉันก็ไม่เคยต้องผิดหวังเลย คุณก็แค่ทำแบบเดียวกัน ออกไปคุยกับคนอื่น ฟังคนอื่น และที่สำคัญที่สุด เตรียมใจให้พร้อมรับความประหลาดใจ ขอบคุณค่ะ (เสียงปรบมือ)