อะไรคุกคามสุขภาพคนอเมริกันได้เร็วที่สุด มะเร็ง หัวใจวาย เบาหวาน คำตอบจริงๆ ไม่ใช่ทั้งหมดนี้ มันคือโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ในทุกๆ 67 วินาที คนในสหรัฐฯ ถูกวินิจฉัยว่า เป็นอัลไซเมอร์ คนป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า เมื่อถึงปีค.ศ. 2050 การดูแลพวกเขา รวมทั้งคนสูงอายุอื่นๆ จะเป็นความท้าทายอย่างมากต่อสังคม ครอบครัวผมประสบด้วยตัวเอง ในการดิ้นรนดูแลรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผมโตมาในครอบครัวสามชั่วอายุคน ได้ไกล้ชิดอย่างยิ่งกับคุณตา ตอนผมอายุ 4 ขวบ คุณตากับผม กำลังเดินอยู่ในสวนสาธารณะในญี่ปุ่น ในทันใดคุณตาก็จำอะไรไม่ได้ เป็นชั่วขณะหนึ่งที่ผมกลัวที่สุดในชีวิต และยังเป็นเหตุการณ์แรกที่บอกเราว่า คุณตาเป็นโรคอัลไซเมอร์ ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา อาการของท่านก็แย่ลงๆ โดยเฉพาะการเดินเตร่ของท่าน ทำให้ครอบครัวของเราเครียดมาก คุณป้าผมคนสำคัญที่ให้การดูแล ลำบากมากที่ต้องอดนอนเพื่อคอยเฝ้าดูคุณตา แต่บ่อยครั้งก็ยังจับคุณตา ที่ลุกออกจากเตียงได้ไม่ทัน ผมเป็นห่วงสุขภาพของคุณป้าอย่างมากๆ เท่าๆ กับความปลอดภัยของคุณตา ผมค้นหาวิธีแก้ปัญหานี้ของครอบครัวไปทั่ว แต่ก็หาไม่พบ แล้วคืนหนึ่ง ราว 2 ปีมาแล้ว ขณะกำลังดูแลคุณตาเห็นท่านกำลังก้าวจากเตียง ชั่วขณะที่เท้าของท่านวางลงบนพื้น ผมก็คิดถ้าผมใส่เซนเซอร์ที่ส้นเท้าท่านล่ะ ทันทีที่ก้าวถึงพื้น และลงจากเตียง มันก็จะจับแรงกดที่เพิ่มขึ้นจากนํ้าหนักตัว แล้วส่งเสียงเตือนผ่านสมาร์ทโฟนของคนดูแล โดยวิธีนี้ คุณป้าก็จะหลับได้ดีขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าคุณตาจะเดินเตร็ดเตร่ไปไหน ตอนนี้ผมจะแสดงการสาธิตถุงเท้านี้ให้ดู ขอนางแบบถุงเท้าบนเวทีด้วยครับ เยี่ยม ทันทีที่ผู้ป่วยเหยียบพื้น (เสียงกริ่งดังขึ้น) สัญญาณเตือนจะถูกส่งไปที่สมาร์ทโฟนของคนดูแล ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ) ขอบคุณครับพี่ นี่เป็นภาพวาดของการออกแบบตอนเริ่มแรก ผมปรารถนาจะสร้างเทคโนโลยีจากเซนเซอร์ น่าจะเกิดจากความรักที่มีต่อมันมาตลอดชีวิต ตอนผมอายุ 6 ขวบ เพื่อนสูงวัยของครอบครัวล้มในห้องนํ้า และทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บที่รุนแรง ผมจึงเป็นห่วงปู่ย่าตายายของผม และตัดสินใจจะประดิษฐ์ระบบห้องนํ้าฉลาด มีเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหวในพื้นกระเบื้อง จับการล้มของคนไข้ชราเมื่อเขาล้มลงบนพื้น ผมอายุแค่ 6 ขวบในตอนนั้น และยังไม่จบชั้นอนุบาล ไม่มีทรัพยากร ผมไม่มีเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้แนวคิดเป็นจริง แต่อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์วิจัยของผม ฝังแน่นในตัวผม ที่จะใช้เซนเซอร์ช่วยผู้สูงวัย ผมเชื่อมั่นว่ามันจะทำให้ชีวิตผู้สูงวัยดีขึ้น ตอนวางแผน ผมเผชิญปัญหาใหญ่ 3 อย่าง ข้อแรก การสร้างเซนเซอร์ขึ้นมา ข้อสอง การออกแบบวงจร และข้อสาม เขียนโปรแกรมบนสมาร์ทโฟน ทำให้ตระหนักว่าโครงการผมนั้น ยากกว่าที่คิดไว้ในตอนต้น เริ่มแรกต้องสร้างเซนเซอร์ที่ใส่ได้ บาง ยืดหยุ่นพอ ที่จะใส่อย่างสบาย ที่ส่วนล่างของเท้าคนป่วย หลังจากศึกษา และทดสอบวัสดุหลายอย่างเช่น ยาง ซึ่งหนาเกินกว่าจะสวมได้สบายที่ด้านล่างเท้า จึงตัดสินใจพิมพ์เซ็นเซอร์ฟิลม์ ประกอบด้วยตัวนำไฟฟ้าขนาดจิ๋ว ที่ไวต่อแรงกด เมื่อมีแรงกดการเชื่อมต่อกัน ระหว่างอนุภาคจะสูงขึ้น ผมจึงสามารถออกแบบวงจรที่วัดแรงกดได้ โดยการวัดความต้านทานไฟฟ้า ขั้นต่อมา ต้องออกแบบวงจรไร้สายที่สวมใส่ได้ แต่การส่งสัญญาณไร้สายใช้พลังงานมาก และต้องใช้แบตเตอรี่ที่ใหญ่ และหนัก โชคดี ผมพบเทคโนโลยีพลังงานตํ่า อย่างบลูทูธ ซึ่งใช้พลังงานน้อยมาก ผ่านแบตเตอรี่ขนาดเท่าเหรียญ ช่วยป้องกันระบบไม่ให้ตายตอนกลางดึก สุดท้าย ผมต้องโปรแกรมสมาร์ทโฟน ที่จะแปรมือถือของคนดูแล เป็นเครื่องเฝ้าดูทางไกล ผมต้องขยายความรู้เรื่อง Java และ XCode และยังต้องเรียนรู้วิธีโปรแกรมอุปกรณ์บลูทูธ โดยดูโปรแกรมการสอนยูทูบ อ่านหนังสือสารพัด รวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ผมสร้างได้ 2 ต้นแบบ แบบหนึ่ง ตัวเซนเซอร์ฝังอยู่ในถุงเท้า อีกแบบ ตัวเซนเซอร์ที่ติดประกอบใหม่ได้ ติดที่ไหนก็ได้ที่เป็นจุดสัมผัส ตรงด้านล่างของเท้าผู้ป่วย ทดลองเครื่องนี้กับคุณตาได้ราวหนึ่งปีแล้ว ได้อัตราความสำเร็จ 100% ในการตรวจจับการเดินเตร็ดเตร่กว่า 900 ครั้ง ฤดูร้อนที่แล้วผมทดสอบเครื่องรอบสอง ณ บ้านพักผู้ป่วย ในแคลิฟอร์เนียหลายแห่ง ปัจจุบันผมกำลังรวบรวมผลตอบรับที่ได้กลับมา ปรับปรุงเครื่องมือให้เป็นผลิตภัณฑ์สู่ตลาด การทดสอบเครื่องมือ กับคนป่วยจำนวนมากนั้น ทำให้ผมเรียนรู้ว่าจำเป็นต้องประดิษฐ์วิธี แก้ปัญหาให้กับคนที่ไม่อยากใส่ถุงเท้านอน ข้อมูลเซ็นเซอร์ที่ได้จากผู้ป่วยจำนวนมาก จึงเป็นประโยชน์ ต่อการดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น ยังอาจนำไปสู่การรักษาโรคให้หายได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ขณะนี้ผมกำลังตรวจสอบ ความสัมพันธ์ของความถี่การเดิน เตร่ตอนกลางคืน กับกิจกรรมที่ทำตอนกลางวัน และอาหารที่ทาน สิ่งหนึ่งผมจะไม่ลืมเลยคือ เมื่อเครื่องจับ การเดินเตร่ของคุณตาเป็นครั้งแรกตอนกลางคืน ช่วงนั้นผมตื่นตะลึงจริงๆ กับพลังของเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น ผู้คนมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข และสุขภาพดี นั่นเป็นโลกที่ผมนึกฝันไว้ ขอบคุณมากครับ (เสียงปรบมือ)