สวัสดีค่ะ วิวจากแชนเนล Point of View ค่ะ
ตอนนี้เรามาอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิอีกแล้ว
แปลว่าเรากำลังจะไปสักที่นึง
แต่ขอบอกว่าคราวนี้ไม่ใช่ต่างประเทศค่ะ คราวนี้เป็นในประเทศนะคะ
เพราะว่าวิวได้ยินมาว่าที่เชียงรายนะคะ
กำลังจะมีการแสดงอันนึงที่หาดูยากมากเลย
นั่นก็คือการแสดงโขนกลางแปลงนั่นเองค่ะ
ดังนั้นนะคะ วิวก็เลยตัดสินใจว่า
เดี๋ยวเราขึ้นเครื่องบินไปที่จังหวัดเชียงราย
ไปดูโขนกลางแปลงกันดีกว่าค่ะ
ว่าโขนกลางแปลงคือการแสดงอะไร
และแตกต่างยังไงจากการแสดงโขนปกติที่เราเคยดูกันนะคะ
ก่อนที่เราจะไปถึงเชียงรายกัน
อย่าลืมกดติดตามวิวให้ครบทุกช่องทางนะคะ
โอเค พร้อมจะไปฟังเรื่องราวที่ทั้งสนุกแล้วก็มีสาระกันหรือยังคะ
ถ้าพร้อมกันแล้วก็ ตามวิวไปเที่ยวกันเลยค่ะ
บอกว่าจะไปเชียงราย ไปดูโขนกลางแปลงนะคะ
ทุกคนก็คงจะงงว่าแบบ เฮ้ย ทำไมต้องมาเชียงราย
จังหวัดอื่นในประเทศไทยเยอะแยะ ทำไมไม่ไปดู
ก็ต้องบอกว่า เพราะว่าตอนนี้ที่เชียงรายมีอีเว้นท์นึงที่สำคัญมากๆ นะคะ
ก็คืออีเว้นท์เทศกาลบอลลูนนานาชาติ 2019
หรือว่า Singha Park Chiangrai International Balloon Fiesta 2019 นั่นเองค่ะ
งานนี้ก็จัดขึ้นในวันที่ 13 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์นะคะ
ณ สิงห์ปาร์ค จังหวัดเชียงรายนั่นเอง
ทีนี้บอกว่าเขาจัดงานบอลลูนนานาชาติกัน
เขาก็ต้องมีการแข่งบอลลูน
มีการเอาบอลลูนสีๆ มาเทียบกันสิ
แล้วเกี่ยวข้องอะไรกับโขนนะคะ
ก็ต้องบอกว่าในงานเทศกาลบอลลูนนานาชาติเนี่ยนะคะ
มันไม่ได้มีแต่บอลลูนค่ะ แต่ว่ามันมีกิจกรรมอื่นๆ เต็มไปหมดเลยนะคะ
ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดังมากมาย
อย่างที่วิวไปดูมา ก็มีคอนเสิร์ตพี่ปาล์มมี่
นูโว
โพลี่แคท
พี่ฮิวโก้ก็มา
โอย เยอะแยะเต็มไปหมด ไล่เรียงกันไม่หมดเลยค่ะ
นอกจากนี้นะคะ ก็มีออกร้านขายอาหารต่างๆ มากมาย
เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นกิจกรรมสำหรับครอบครัวนะคะ
และพิเศษสุดๆ เลยค่ะ
เพราะว่างานนี้เขาก็เล็งเห็นความสำคัญของเอกลักษณ์ไทยนะคะ
ดังนั้น เขาก็เลยเอาการแสดงโขนมาแสดงในงานนี้ด้วย
เพราะว่ามีชาวต่างชาติมาเต็มไปหมดเลยไง
เท่านั้นยังไม่พอนะคะ
โขนที่เอามายังเป็นโขนกลางแปลงด้วยค่ะ
ซึ่งปีนี้ก็จัดมาเป็นปีที่ 2 แล้วนะคะ
ปีที่แล้วนี่ถือเป็นครั้งแรกนะคะ
ที่มีการเอาโขนกลางแปลงมาเล่นในงานเทศกาลบอลลูนนานาชาติเนี่ยนะคะ
เห็นในภาพแล้วใช่มั้ยคะ
เรียกได้ว่ามางานนี้งานเดียววิวคุ้มเลยนะคะ
ได้ดูทั้งโขน ได้ดูทั้งคอนเสิร์ต ได้ทั้งกินของอร่อย
แล้วก็ได้ถ่ายรูปสวยๆ เต็มไปหมดเลย
ที่หลายๆ คนได้เห็นไปแล้วในอินสตาแกรมของวิวนะคะ
แหม นอกเรื่องไปไกล
โขนเขาเล่นกันแค่ 2 วัน
ขึ้นมาอยู่เชียงรายซะหลายวัน
เที่ยวจนเต็มอิ่มเลยนะคะ
ดังนั้น ถ้าพร้อมแล้ว เราไปดูโขนกลางแปลงกันดีกว่าค่ะ
โอเคค่ะทุกคน
หลังจากที่วิวมาถึงเชียงรายได้ทั้งหมด 2 วันนะคะ
วิวก็แอบแวะไปทำนั่นทำนี่มาเยอะมากค่ะ
เที่ยวงานบอลลูนมา 2 วันแล้วนะคะ
ไม่ว่าจะเป็นแอบไปดูคอนเสิร์ต แอบไปขึ้นบอลลูน
แล้วก็ที่สำคัญนะ แอบไปดูซ้อมมาแล้ว
ในที่สุดก็ถึงวันนี้แล้วค่ะ
วันที่จะมีการแสดงโขนกลางแปลงจริงๆนะคะ
ซึ่งตอนนี้ก็มาอยู่ที่นี่แล้วนะคะ
สิงห์ปาร์คนะคะ ที่จังหวัดเชียงราย
เดี๋ยววิวจะพาทุกคนไปดูโขนกลางแปลงกันค่ะ
จะบอกว่าโขนกลางแปลงเนี่ย เหมาะกับการเล่นที่นี่มากๆ เลย
เพราะว่าเวลาเล่นโขนกลางแปลงคือแปลว่าต้องเล่นที่สนามกว้างๆ อย่างนี้ใช่มั้ย
แล้วก็เน้นเป็นฉากที่แบบยกรบอะไรต่างๆ
แล้วก็หาชมยากมากๆ เลยนะคะ
ที่สำคัญ คนที่จะมาเล่นให้เราดูในวันนี้
เป็นถึงศิลปินวังหน้าด้วยนะ
เมื่อคืนแอบไปดูมาแล้วเล็กน้อย
บอกเลยว่า มันส์แน่ๆ
เดี๋ยวเราตามไปดูโขนกลางแปลงกันดีกว่าค่ะ
แล้วเดี๋ยววิวจะอธิบายให้ฟังว่า
ทำไมต้องเป็นโขนกลางแปลง
โขนกลางแปลงแตกต่างจากโขนธรรมดายังไง
โขนมีกี่ประเภทนะคะ
ไป ไปชมโขนกลางแปลงกัน
เอาล่ะนะคะทุกคน
ตอนนี้เราก็มาปักหลักอยู่ที่หน้าเวที
เดี๋ยวจะไปดูโขนกลางแปลงแล้วนะคะ
แต่ก่อนอื่น เราไปดูกันดีกว่าว่าโขนมีกี่ประเภทนะคะ
แล้วโขนกลางแปลงแตกต่างจากโขนประเภทอื่นยังไงค่ะ
ไป ไปดูกันเลย
โอเคนะคะ เมื่อกี้อยู่ในงาน
อาจจะอธิบายไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่เนอะ
เพราะว่าเราต้องเกรงใจศิลปินนิดนึง
เขากำลังแสดงอยู่ จะไปพูดๆๆๆ ตลอดเวลา
ก็รบกวนคนที่ดูรอบข้างนะคะ
ดังนั้นออกมาอธิบายข้างนอกดีกว่าเนอะ
เราทุกคนรู้กันดีนะคะว่าโขนเนี่ยเป็นการแสดง
ที่เป็นการแสดงสวมหน้ากาก
มีการรำท่าทางต่างๆ ประกอบเพลงประกอบอะไรใช่มั้ยคะ
แต่ว่า รู้มั้ยว่าจริงๆ แล้วโขนน่ะ มีหลายประเภทนะ
ไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว
คือพอทุกคนนึกภาพโขนก็จะนึกภาพ
ของการแสดงที่อยู่บนเวทีอะไรอย่างนี้ที่คุ้นเคยกันใช่มั้ย
แต่จริงๆ แล้วนะคะ โขนแบ่งเป็น 5 ประเภทด้วยกันนะคะ
แบบแรกนะคะ ก็คือโขนโรงในนั่นเอง
ซึ่งโขนโรงในนี้ปัจจุบันเราคุ้นเคยกันดีที่สุดนะคะ
เพราะว่ากรมศิลปากรเนี่ยชอบใช้โขนโรงในในการแสดง
โขนโรงในนี่คือการแสดงที่มีการเอาละครในมาผสมกับโขนนะคะ
คือนอกจากจะมีการรำโขน
มีบทพากย์เจรจาแบบโขนแล้วเนี่ย
ก็จะมีการจับระบำรำฟ้อน อะไรต่างๆ
แล้วก็มีปี่พาทย์ 2 วงช่วยกันบรรเลงนะคะ เป็นสไตล์นี้
ปัจจุบันเนี่ย ถ้ากรมศิลป์ไปเล่นที่ไหนก็ตาม
ไม่ว่าจะเป็นในโรง นอกโรงที่ไหนก็ตาม
ส่วนใหญ่จะมีความเป็นโขนโรงในผสมอยู่ด้วยนะคะ เพราะว่ามันก็สวยงามไง
มันมีการจับระบำรำฟ้อนนะคะ
เมื่อมีโขนโรงในแล้ว แน่นอนประเภทที่ 2 ก็ต้องเป็น
โขนโรงนอกนั่นเอง
โขนโรงนอกเนี่ยก็ แตกต่างจากโขนโรงในนิดนึง
คือมันจะเป็นโรงที่ไม่ได้เป๊ะเหมือนโรงใน
ไม่ได้มีฉากมีนู่นมีนี่เรียบร้อย
แต่ว่าก็จะเป็นโรงปกติแล้วก็จะมีราวนะคะ
พาดอยู่ระหว่างโรงโขน
นึกสภาพเป็นโรงโขนเนอะ
แล้วมีไม้ไผ่พาดตั้งแต่สุดปลายหนึ่งไปอีกสุดปลายหนึ่ง
ดังนั้น ปกติเวลาเราดูโขน
เห็นเขาจะมีที่นั่ง มีอะไรที่เหมือนตั่ง
แบบ บัลลังก์อะไรงี้ใช่มั้ยคะ
โขนโรงนอกจะไม่มีพวกนั้นค่ะ
แต่ว่าจะสมมติใช้ราวที่พาดเป็นพวกบัลลังก์แทน
ซึ่งทำให้โขนประเภทนี้ มีอีกชื่อนึงว่า
โขนนั่งราวนั่นเองค่ะ
ประเภทถัดไปนะคะ เขาเรียกว่าโขนหน้าจอค่ะ
โขนหน้าจอเนี่ย เป็นโขนที่พัฒนามาจากการเล่นหนังใหญ่นะคะ
คือหลายๆ คนน่าจะรู้จักการเล่นหนังใหญ่กันดี
ก็คือการที่เขาขึงฉากขึ้นมาใช่มั้ย
แล้วก็มีการเอาตัวหนัง เอาอะไรต่างๆ ที่แกะสลักมาเนี่ย
มาเล่นเป็นเงาเป็นนู่นเป็นนี่
มีคนเต้นอยู่
ทีนี้ พอเล่นจากเงาเฉยๆ บางทีมันก็น่าเบื่อไง
บางครั้งเขาก็เลยเอาการเล่นโขนเนี่ยมาผสมกับการเล่นหนังใหญ่
คือเหมือนแบบว่า เชิดๆ อยู่ มีคนเดินออกมาจริง
พรึ่บ ออกมาเลยเป็นตัวโขนนะคะ
แต่ว่าหลังจากเล่นไปเล่นมา
ปรากฏว่าบางทีเนี่ย การเล่นโขนมันก็สนุกกว่าการเล่นหนังใหญ่ไง
ก็เลยกลายเป็นว่าใช้ฉากหนังใหญ่นั่นแหละ
แล้วก็ใช้คนเล่นโขนเนี่ยเล่นแทนหมดเลย
เอาตัวหนังใหญ่ออกไปหมดเลยค่ะ
นี่ก็เป็นการเล่นโขนอีกประเภทนึงนะคะ
ส่วนการเล่นโขนประเภทที่ 4 นะคะ
เป็นการเล่นโขนที่พัฒนามามากที่สุดค่ะ
เขาเรียกว่า โขนฉาก
โขนฉากนี่เพิ่งจะเกิดในสมัยประมาณรัชกาลที่ 5 นะคะ
เพราะว่ามีการเล่นละครดึกดําบรรพ์เกิดขึ้นไง
เป็นละครที่มีเวที มีบท
มีอะไรแล้วใช่มั้ย
แล้วก็มีการร้องรำทำเพลง
ซึ่งเขารู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมเราไม่เอาโขนมาลองเล่นแบบนี้ดู
ก็เลยทำให้เกิดโขน ประเภทโขนฉากขึ้นค่ะ
แต่ว่าการเล่นโขนฉากเนี่ย จะแตกต่างจากการเล่นโขนปกติทั่วไปนิดนึง
คือมันจะต้องมีการจัดเป็นชุดการแสดงให้เหมือนแบบ เป็นละครเวทีที่จบในตัว
จะไม่ย้อนไปย้อนมา
เหมือนในเรื่องรามเกียรติ์ปกติ
ที่แต่งขึ้นมาสำหรับการเล่นละครการเล่นโขนในรูปแบบดั้งเดิมนะคะ
อันนี้จะค่อนข้างเป็นละครเวทีสมัยใหม่เนอะ
ดังนั้น เขาก็จะจัดเป็นชุดๆ เป็นพิเศษ
เหมือนแต่งขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อเล่นโขนฉากค่ะ
และประเภทสุดท้าย
ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นประเภทที่เก่าแก่ที่สุดนะคะ
ก็คือประเภทที่เรากำลังจะไปดูในวันนี้นี่แหละ
ก็คือ โขนกลางแปลง นั่นเอง
โขนกลางแปลงนี่เป็นลักษณะการเล่นโขนที่เล่นกันอยู่ในบริเวณลานกว้างๆ อะไรอย่างนี้นะคะ
คือ ไม่ได้มีฉาก ไม่ได้มีอะไร
เล่นกันอยู่ในพื้นที่เปิดเลย
ซึ่งเขาจะนิยมเล่นตอนที่เป็นการยกรบ
หรืออะไรที่เป็นสองฝั่งยกทัพออกมารบกันต่างๆ
เพราะว่าพื้นที่มันกว้างไง เหมาะที่สุดนะคะ
ดังนั้น เรารู้กันแล้วนะว่าโขนกลางแปลงคืออะไร
เดี๋ยวเราไปดูโขนกลางแปลงกันค่ะ
เริ่มแล้วนะคะการแสดงโขน
ซึ่งจะบอกว่าก่อนที่จะแสดงโขนทุกครั้งเนี่ย
มันก็จะต้องมีการเบิกโรงก่อนนะคะ
เดี๋ยวเรามาดูกันไปตั้งแต่ตอนเบิกโรงไปจนถึงตัวการแสดงหลัก
แล้วก็การแสดงปิดท้ายกันเลยค่ะ
สำหรับการแสดงในวันนี้นะคะ
ก็แบ่งออกเป็น 3 พาร์ทด้วยกันค่ะ
พาร์ทแรกก็คือ การแสดงเบิกโรงนั่นเอง
ซึ่งการแสดงเบิกโรงในวันนี้ก็เป็นตอน เทพสิงหาวตาร นะคะ
ซึ่งเป็นตอนที่แต่งขึ้นมาใหม่
เพื่อการแสดงครั้งนี้โดยเฉพาะเลยค่ะ
ส่วนการสอนการแสดงชุดที่ 2 นะคะ
ก็คือเนื้อเรื่องหลักนั่นเอง
เป็นตอน ศึกอินทรชิต นะคะ
ซึ่งเรื่องราวก็คือตอนที่อินทรชิตออกไปสู้รบกับพระลักษมณ์นะคะ
ซึ่งแน่นอนว่าสู้ธรรมดาก็สู้ไม่ได้
เพราะพระลักษมณ์เก่งมากนะคะ พระลักษมณ์นี่ไม่ได้อ่อนเลยนะ
แต่ว่าพอสู้ไม่ได้
อินทรชิตก็เลยเอาอาวุธไม้ตายของตัวเองขึ้นมาใช้ค่ะ
ก็คือ ศรนาคบาศ นั่นเอง
ศรนาคบาศนี่เป็นลูกศรที่แผลงออกไปแล้วเป็นพญานาคออกมาพ่นพิศต่างๆ นะคะ
ถ้าเห็นในภาพเนี่ย ก็จะเห็นว่า
พระลักษมณ์โดนศรนาคบาศเข้าไปก็สลบไปนะคะ
แต่ว่าสุดท้ายแล้วพระรามก็มาช่วยได้ค่ะ
โดยการแผลงศรออกไปเรียกให้พญาครุฑเนี่ย มาถึง
แล้วก็ไล่พญานาคจากไปค่ะ
เพราะว่าครุฑเนี่ยถือเป็นศัตรูตามธรรมชาติของนาคใช่มั้ยคะ
ครุฑกินนาคเป็นอาหารค่ะ
เหมือนที่เคยเล่าไว้แล้วเลย
ส่วนการแสดงชุดสุดท้ายนะคะ
เป็นสไตล์การการรำถวายพระพรค่ะ
ก็เป็นการรำถวายพระพรในหลวงรัชกาลที่ 10 ของเรานี่เองค่ะ
จริงๆ การแสดงโขนเนี่ยถือเป็นการแสดงชั้นยอดเลยนะคะ
เพราะว่าในการแสดงโขนแต่ละครั้ง
เราจะเห็นศิลปะด้านต่างๆ ที่ต้องใช้ความสุดยอดมากๆ มาผสมรวมกัน
เพื่อแสดงให้เห็นเป็นการแสดงโขนครั้งนึงนะคะ
เริ่มตั้งแต่ด้านเสื้อผ้า
ก็ต้องมีการปักการเย็บอะไรต่างๆ
วงดนตรี ก็จะต้องเป็นวงดนตรีปี่พาทย์
ซึ่งเพลงแต่ละเพลงก็จะสะท้อนถึงเนื้อเรื่องแต่ละเรื่องนะคะ
ส่วนตัวคนรำเองค่ะ
การแสดงท่าทางต่างๆ ของคนรำเนี่ย แม้ว่าคนที่รำโขน
จะไม่ได้ออกเสียงพูดหรือว่าอะไรนะคะ แต่ว่า
ท่าทางแต่ละท่าทางก็จะมีความหมายในตัวค่ะ
เช่น บางท่าก็จะแสดงให้เห็นว่าโกรธ
บางท่าจะแสดงให้เห็นว่าอาย
ถ้าคนที่มีความรู้เนี่ยนะคะ
แค่ดูท่าทางของตัวละครก็จะพอรู้แล้วค่ะ ว่าตอนนี้ตัวละครกำลังจะพูดอะไรอยู่
โดยที่ไม่ต้องมีบทพากย์เลย
ส่วนด้านวรรณกรรมนะคะก็เช่นกัน
ก็จะสะท้อนให้เห็นความงามของวรรณกรรมผ่านบทพากย์โขน
ผ่านบทร้องต่างๆ นะคะ
ที่เล่นศัพท์เล่นอะไร งดงามไปหมดเลยค่ะ
ที่สำคัญนะคะ ที่เราได้มาดูในวันนี้เนี่ย
ก็เป็นการแสดงโขนโดยกลุ่มศิลปินวังหน้านะคะ
ซึ่งเป็นกลุ่มที่ศึกษาศิลปะแขนงโขน ละคร ดุริยางค์ แล้วก็คีตศิลป์ของไทย
ที่มาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์นะคะ
ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็นวังหน้าเดิมค่ะ
วังหน้านี่ก็เป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรในยุคต่างๆ นะคะ
อย่างองค์นี้นะคะ ที่เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยนาฏศิลป์ก็คือ เป็นวังของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเองค่ะ
นอกจากนี้นะคะ กลุ่มคนที่มาแสดงก็ยังมีผู้ที่ทำงานหรือว่าเคยทำงานที่วิทยาลัยนาฏศิลป์
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
หรือว่าสำนักการสังคีต กรมศิลปากรด้วยค่ะ
เรียกได้ว่ารวมผู้เชี่ยวชาญมาแสดงให้ดูจริงๆ เลยนะคะ
เป็นศิลปะชั้นยอดจริงๆ ค่ะ
ก็จบไปเรียบร้อยแล้วนะคะสำหรับการแสดงโขน
เป็นไงบ้างคะทุกคน สนุกสนานมั้ย
ได้เห็นการแสดงโขนในมุมมองใหม่ๆ นะคะ
อาจจะแตกต่างจากการแสดงบนเวทีปกตินะคะ
ก็เป็นการแสดงโขนกลางแปลงเนอะ
เอาเป็นว่าถ้าใครมีความคิดเห็นอะไรยังไง
เห็นจุดไหนที่วิวพูดพลาดไป
เห็นสัญลักษณ์อะไรพิเศษของตัวละครไหน
ก็ลองคอมเมนต์มาคุยกันด้านล่างได้ค่ะ
แล้วก็ใครที่เจอกันในงานนี้นะคะ
ถ่ายรูปไปอย่าลืมแท็กมาให้วิวดูนะคะ
สำหรับใครที่ชื่นชอบคลิปวีดีโอนี้นะคะ
อย่าลืมกดไลก์เป็นกำลังใจให้วิว แล้วก็กดแชร์เพื่อชวนเพื่อนๆ มาดูด้วยกันค่ะ
ยังไงก็ แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้านะคะ
บ๊ายบาย สวัสดีค่ะ