วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ดูแปลก ดูสงบผิดปกติ
ธรรมดามาฟังเทศน์วันเสาร์จะวอกแวกๆ
เตรียมจะไปเที่ยวต่อ
พยายามศึกษาธรรมะเอาไว้
ดูพระไตรปิฎกได้ก็ดู
ดูฉบับเต็มไม่ได้ดูฉบับย่อก็ได้
พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน
ของ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นเบื้องต้น
สนใจรายละเอียดตรงไหนก็ไปอ่านฉบับเต็มเอา
ก่อนหลวงพ่อจะเจอหลวงปู่ดูลย์
หลวงพ่อพยายามแสวงหาหนทางปฏิบัติ
ตั้งแต่เด็กๆ ทำแต่สมาธิ
ทำอานาปานสติสงบเฉยๆ
คิดว่าศาสนาพุทธมีอะไรมากกว่าความสงบ
ก็พยายามช่วยตัวเอง
ตอนนั้นไม่มีครูบาอาจารย์
ยังทำงานอยู่
อ่านพระไตรปิฎก อ่านหลายรอบ
ได้เห็นธรรมะดีๆ มากมายในพระไตรปิฎก
แต่ว่าเราไม่รู้จะตั้งต้นอย่างไร
หลักของการปฏิบัติมีมากมายเหลือเกิน
ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้
จนมาเจอหลวงปู่ดูลย์
ท่านสอนให้หลวงพ่ออ่านจิตตัวเอง
พื้นฐานเราเคยอ่านตำรับตำรา มา
หลวงปู่ดูลย์ท่านก็บอกว่า
“อ่านหนังสือมามากแล้ว
ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”
ท่านทราบว่าอ่านมามาก
แล้วท่านก็แนะนำให้อ่านจิตตนเอง
ก็พยายามมาอ่านจิตตัวเองมาเรื่อยๆ
ทีแรกอ่านไม่เป็นก็ไปแทรกแซงจิต
ไปฝึกจิตให้ว่างๆ
ยังติดคำว่าว่างอยู่
อ่านหนังสือท่านอาจารย์พุทธทาส
มีคำว่า ว่างๆ เยอะ
อ่านหนังสือเซนก็มีแต่คำว่าว่างเยอะแยะเลย
เลยไปทำจิตว่างๆ
ไปเจอหลวงปู่ดูลย์
ทำอยู่ 3 เดือนแล้วขึ้นไปกราบท่านอีกที
ท่านบอกทำผิดแล้วล่ะ
ให้ไปอ่านจิตไม่ได้ให้ไปแต่งจิต
ให้มันนิ่งๆ ว่างๆ นี้เป็นการปรุงแต่งเอาเอง
ให้อ่านเอาท่านบอกอย่างนี้
หลวงพ่อก็มาเริ่มอ่าน
เวลาเราอ่านหนังสือ คิดถึงการอ่านหนังสือ
เราไม่ใช่นักประพันธ์เราไม่ใช่คนแต่งหนังสือ
เราเป็นแค่คนอ่าน เราไม่ใช่นักวิจารณ์
เราเป็นแค่คนอ่าน
เพราะฉะนั้นเวลาจะอ่านจิตตัวเอง
ก็อ่านเหมือนเราอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง
หรือดูเหมือนดูละคร
เวลาเราดูละครเราไม่ใช่คนแต่งบทละคร
เราไม่ใช่ผู้กำกับ
เราไม่ใช่นักวิจารณ์ เราเป็นแค่คนดู
กว่าจะจับเคล็ดคำว่า “ดู” ได้
คำว่า “เห็นตามความเป็นจริง” ได้
ใช้เวลาเหมือนกัน ทำผิดอยู่ 3 เดือน
พยายามไปปรุงแต่งจิตเป็น
นักประพันธ์แต่งให้จิตมันดี
เวลามันไม่ดีเราก็เป็น
นักวิจารณ์บอกตอนนี้มันไม่ดี
ไม่ใช่นักดู ไม่ใช่นักอ่าน
พอมาอ่านทำอย่างไร ก็ดูไป
จิตใจของเราแต่ละวันไม่เคยเหมือนกัน
บางวันจิตใจเรามีความสุข
บางวันจิตใจเรามีความทุกข์
บางวันจิตเราเป็นกุศลเยอะ
บางวันเป็นอกุศลเยอะ
บางวันสงบ บางวันฟุ้งซ่าน
ภาวนาแล้วเห็นแต่ละวัน
จิตเราไม่เคยเหมือนกันเลย
เราก็ภาวนาไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ
เดินจงกรมเหมือนกันทุกวัน
แต่จิตเราไม่เหมือนกัน
เห็นแต่ละวันไม่เหมือนกัน
อย่างหลวงพ่อเวลาอยู่ที่บ้าน
จะไหว้พระสวดมนต์แล้วก็นั่งสมาธิ ไม่ได้เดิน
เพราะบ้านเป็นบ้านโบราณบ้านไม้
เวลาเดินแล้วมันร้องเอี๊ยดๆ หนวกหูคนอื่นเขา
แต่เวลาออกมาจากบ้าน ทุกก้าวที่เดิน
รู้สึกไปเรื่อยๆ
ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ
พอมาอ่านเราก็จะเห็นเลย
แต่ละวันจิตเราไม่เหมือนกัน
ทั้งๆ ที่ภาวนาเหมือนกัน
ต่อมาดูได้ละเอียดมากขึ้น
ไม่ได้ดูเป็นวันๆ หรอก
ดูเป็นช่วงเวลา
ตอนเช้าตอนตื่นนอนจิตใจเราเป็นแบบนี้
ตอนสายๆ หน่อยเป็นอย่างนี้
ตอนเที่ยงจิตใจเราเป็นอย่างนี้
ตอนบ่ายจิตใจเป็นอย่างนี้
ตอนเย็นๆ จิตใจเป็นอย่างนี้
ตอนค่ำๆ ตอนดึกๆ จิตใจไม่เหมือนกันสักที
ทั้งๆ ที่เป็นวันเดียวกัน
ก่อนจะมาเห็นตรงนี้ได้ก็
เห็นแต่ละวันไม่เหมือนกัน
พอภาวนามากเข้าๆ
เราเห็นว่าแต่ละห้วงเวลาไม่เหมือนกัน
อย่างตอนเช้าตื่นมา
แล้วเช้าแต่ละวันก็ยังไม่เหมือนกันอีก
อย่างเช้าวันจันทร์ตอนนั้นรับราชการ
เช้าวันจันทร์เบื่อ ขี้เกียจ
เช้าวันอังคารก็เบื่อมาก
เช้าวันพุธชักจะอุเบกขาแล้ว เฉยๆ แล้ว
เช้าวันพฤหัสเริ่มสดชื่น
พอเช้าวันศุกร์นี้กระดี๊กระด๊า
แต่ละวันไม่เหมือนกัน
ทั้งๆ ที่เป็นห้วงเวลาเดียวกัน
แต่ละวันก็ยังไม่เหมือนกันอีก
ตอนสายๆ แต่ละวันก็ไม่เหมือนกัน
ตอนเที่ยงก็ไม่เหมือนกัน สังเกตไป
ตอนเย็นๆ หลวงพ่อสังเกตตัวเอง
จิตหลวงพ่อจะมีกำลังมาก
ตอนเป็นโยมจิตจะมีกำลังมาก
ตอนสัก 4 โมงเย็นไปแล้ว
คล้ายๆ ทำงานใกล้จะเลิกงานแล้ว
จิตใจเริ่มสดชื่น
ตอนทำงานก็เครียดไม่ใช่ไม่เครียด
เพราะงานที่ทำนี้ งานที่เครียดมากๆ เลย
งานอยู่สภาความมั่นคง
วันๆ ก็เป็นเรื่องหาข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูล
หาทางออกในการแก้ปัญหาแต่ละเรื่อง
เรื่องปวดหัวทั้งนั้นล่ะ
พอได้เวลาจะเลิกงานใจเริ่มผ่อนคลาย
ฉะนั้นเวลาสังเกตตัวเอง
ตอนเย็นๆ ตอนเลิกงานจิตจะมีกำลัง
จิตจะสดชื่นเกิดสมาธิโดยที่ไม่ต้องนั่งสมาธิ
ฉะนั้นตรงนี้เป็นนาทีทองสำหรับหลวงพ่อ
พวกเราก็ต้องไปดูตัวเอง
เวลาช่วงไหนในแต่ละวัน
เป็นช่วงที่สติของเราดีสมาธิของเราดี
ช่วงเวลานั้นเป็นเวลานาทีทองของวันนั้น
เราควรจะสงวนควรจะรักษา
ช่วงเวลานี้เอาไว้ภาวนา
เพราะฉะนั้นหลวงพ่อ
พอเลิกงานแล้วไม่ทำอะไรหรอก
กลับบ้าน
ไม่เอานาทีทองตัวนี้ไปทำลายทิ้ง ไปเที่ยว
คนเขาก็ชวนไปเที่ยว
ผับเที่ยวบาร์อะไรอย่างนี้
ไม่ไป บอกไม่ชอบ
แล้วจริงๆ ก็คือไม่ชอบไม่ได้โกหก
เคยหลุดเข้าไปในบาร์หรือในผับอะไรทีหนึ่ง
นี่มันนรกชัดๆ เลย
เสียงก็ดัง ไฟก็วูบๆ วาบๆ คนก็หลง
แล้วก็ดื่มน้ำทองแดงกัน
เข้าไปเห็นครั้งเดียวเข็ดเลย หนีตลอด ไม่ยอม
ใครชวนอย่างไรก็ไม่ไป
เรื่องอะไรอยู่ดีๆ
เป็นมนุษย์ดีๆ ไปตกนรกเล่น
ฉะนั้นพอเลิกงานตกเย็นตกค่ำ
หลวงพ่อภาวนา
ขึ้นรถเมล์กลับบ้านก็ภาวนา
ตอนเช้าขึ้นรถเมล์ไปทำงานก็ภาวนา
ตอนจะกินข้าวก็ภาวน
า ภาวนาไม่ใช่ไปนั่งพุทโธๆ อะไรหรอก
มีสติอ่านจิตใจตัวเองไปไม่หยุด
จิตใจเรามีความสุขก็รู้ จิตใจเราทุกข์ก็รู้
จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้
ฝึกไปเรื่อยๆ
ต่อมาสติแข็งแรงมากขึ้นๆ สมาธิดีขึ้น
คราวนี้ไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง
ของจิตตามห้วงเวลาแล้ว
ถ้าอ่อนที่สุดก็เห็นว่าแต่ละวันไม่เหมือนกัน
ถ้าพัฒนาขึ้นมาแล้วเห็นว่า
แต่ละเวลาไม่เหมือนกัน
พอสติเราเร็วจริงๆ สมาธิเราดีจริงๆ
เราจะเห็นว่าแต่ละขณะไม่เหมือนกัน
อย่างตอนเช้านี้
จิตเราเปลี่ยนไป
ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้งแล้ว
แค่ช่วงเช้าแป๊บเดียวนั้น
ค่อยๆ สังเกตเอา
อย่างออกจากบ้านหรืออยู่ในบ้าน
ตอนเช้าจะไปทำงาน
พยายามจะขับถ่ายกลัวไปปวดท้องกลางทาง
วันนี้ขับถ่ายสะดวก
จิตใจสบายรู้สึกผ่อนคลาย
วันนี้ท้องผูกไม่ยอมถ่ายกลุ้มใจ
ไม่ได้รู้แค่ว่าถ่ายได้ไม่ได้
รู้เข้ามาถึงจิตถึงใจเลย
จิตใจยินดีพอใจหรือจิตใจกลุ้มใจ
นี่คือการปฏิบัติ
ถ้าปฏิบัติเก่งเฉพาะตอนนั่งสมาธิ
เดินจงกรมถือว่ายังอ่อนหัดมากเลย
ต้องฝึกให้ได้ มีสติอยู่ทุกขณะ
คำว่า “ทุกขณะ” ไม่ถึงขณะตามตำราอภิธรรม
ตำราอภิธรรมบอกว่าลัดนิ้วมือหนึ่ง
จิตเกิดดับแสนโกฏิขณะ
ลัดนิ้วมือ ดีดนิ้วทีหนึ่ง
จิตเกิดดับแสนโกฏิขณะ อันนั้นตำรา
ทางวิทยาศาสตร์ก็พบว่า
มันมีช่วงเวลากว่าที่จิตจะ
ขึ้นมารับอารมณ์แต่ละครั้ง
แล้วรู้เรื่องว่าอะไรเป็นอะไร ใช้เวลา
แต่ไม่ถึงวินาทีผุดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว
เราก็ดูจากความเป็นจริงที่เราเห็น
ไม่ได้ดูจากตำรา
ตำราก็อาจจะถูกก็ได้
แต่สติเราไม่ละเอียดพอที่จะเห็น
ต้องตีความอย่างนี้ไว้ก่อน ไม่ใช่
ทำได้ไม่เหมือนตำราบอกตำราผิด
อันนั้นเซลฟ์จัดเกินไปแล้ว
เราดูเท่าที่เราดูได้
หลวงพ่อเห็นว่าจิตมันเปลี่ยนอยู่ทุกขณะ
ขณะอะไรไม่ใช่ขณะจิตหรอก
ขณะที่ตาเห็นรูปก็เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต
ขณะที่หูได้ยินเสียง
ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต
ขณะที่จมูกได้กลิ่น
ลิ้นกระทบรสกายกระทบสัมผัส
ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต
ขณะที่จิตมันคิด
จิตมันคิดนึกปรุงแต่งก็เกิดความเปลี่ยนแปลง
คิดเรื่องนี้เกิดสุข คิดเรื่องนี้เกิดทุกข์
คิดเรื่องนี้เกิดราคะ คิดเรื่องนี้เกิดโทสะ
อยู่เฉยๆ จะมีโทสะได้ไหม ไม่ได้หรอก
ต้องตามหลังความคิดเรียกพยาบาทวิตกมาก่อน
อยู่ๆ จะเกิดราคารุนแรงอะไรได้ไหม ไม่ได้
ต้องมีกามวิตกมาก่อน
แล้วทั้งหมดต้องหลง
ทีแรกเราไม่เห็นขนาดนั้น
เราภาวนาเราเห็นว่าจิตเราเปลี่ยนทุกขณะ
ขณะที่กระทบอารมณ์นั่นล่ะ ไม่ใช่ขณะจิตหรอก
ตาเห็นรูป
ทีแรกบอกเห็นรูปใจก็โกรธขึ้นมาอะไรอย่างนี้
ดูละเอียดลงไปอีก ไม่ต้องตั้งใจดู
แต่เราฝึกสติของเราไปเรื่อยๆ
ฝึกสมาธิของเราไปเรื่อยๆ
มันจะเห็นได้ละเอียดๆๆ เข้าไปอีก
ขณะที่ตาเห็นรูป
จิตไม่มีความสุขไม่มีความทุกข์
จิตเฉยๆ ขณะที่ตามองเห็น
จะเกิดสุขเกิดทุกข์
เกิดกุศลอกุศลมาเกิดทีหลัง
พอตาเห็นรูปปุ๊บมันจะมีการแปล
เราจะเห็นการแปลความหมายของรูป
รูปนี้คืออะไร
แล้วอนุสัยความคุ้นเคยมันก็ให้ค่าออกมา
พอใจรูปนี้สวยงาม เห็นดอกไม้สวย
ตรงที่ตาเห็นดอกไม้สวยไม่มีคำว่าสวยหรอก
ตาเห็นรูปเฉยๆ ตาไม่เห็นของสวยหรอก
ตาเห็นแล้วก็จิตมันแปล
ว่านี่ดอกไม้นี่ดอกกุหลาบ
สวยเชียว ดอกก็โตสวย
พอมีการให้ค่าขึ้นมา
ใจก็ยินดีพอใจ ราคะก็เกิด
ตามหลังความคิดมา ความคิดที่เป็นกามวิตก
กระบวนการมันจะค่อย
ยิ่งภาวนามันยิ่งละเอียดๆๆ เข้าไป
เราจะรู้เลยว่าขณะที่ตามองเห็นไม่มีกิเลส
แล้วจิตก็เป็นอุเบกขา
ขณะหูได้ยินเสียงก็ไม่มีกิเลส
ขณะที่จมูกได้กลิ่น
ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส
ก็ยังไม่มีกิเลส
ตรงที่ใจมันกระทบความคิดแล้วความคิดมันนำไป
กิเลสมันก็ทำงานขึ้นมาได้
คอยรู้คอยดูค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ
แล้ววันหนึ่งก็เข้าใจหรอก
สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ
ไม่มีสิ่งใดที่เกิด
แล้วสิ่งนั้นไม่ดับ ไม่มีเลย
เราภาวนาเรื่อยๆ
เราก็เห็นสุขเกิดแล้วสุขก็ดับ
ทุกข์เกิดแล้วทุกข์ก็ดับ
กุศลเกิดแล้วกุศลก็ดับ
อกุศล โลภ โกรธ หลงเกิดแล้วมันก็ดับ
จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วก็ดับ ตรงนี้ละเอียด
ละเอียดกว่าที่จะรู้
จิตสุขจิตทุกข์จิตดีจิตชั่ว
คือเห็นจิตมันเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6
จิตเกิดที่ตาดับที่ตา จิตเกิดที่หูดับที่หู
จิตเกิดที่จมูกดับที่จมูก
เกิดที่ลิ้นดับที่ลิ้น
เกิดที่ร่างกายดับที่กาย
จิตเกิดที่ใจก็ดับที่ใจ
จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น
จิตไม่ได้มีดวงเดียว
หัดภาวนาทีแรกเรารู้สึกจิตมีดวงเดียว
แล้วก็เที่ยวร่อนเร่ไปทางทวารทั้ง 6
คิดว่าจิตมีดวงเดียว
ดวงนี้หลงไปดูพอรู้ทันมันก็วิ่งกลับมา
มันหลงไปฟังพอรู้ทันมันก็วิ่งกลับมา
เข้าฐาน เห็นจิตเหมือนตัวแมงมุม
เดี๋ยวก็วิ่งไปข้างซ้าย
เดี๋ยวก็วิ่งไปข้างขวา
เดี๋ยวขึ้นข้างบนเดี๋ยวลงข้างล่าง
แมงมุมมีตัวเดียววิ่งไปวิ่งมา
พอเราภาวนาละเอียดเข้าๆ เราเห็น
จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น
จิตเสวยอารมณ์อันไหนก็ดับพร้อมอารมณ์อันนั้น
เกิดดับไปด้วยกัน
มันถี่ยิบขึ้นมา จะเห็น
ทีแรกเรายังไม่เห็นหรอก
เราต้องฝึกให้มีจิตที่เป็นผู้รู้ก่อน
จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา
เป็นมหากุศลจิตประกอบด้วยปัญญา
เกิดขึ้นโดยไม่ได้จงใจ
ต้องเป็นจิตชนิดนี้ถึงจะมีกำลังมากพอ
ที่จะเดินปัญญาได้จริง
ไม่อย่างนั้นยังเป็นปัญญาพื้นๆ คิดๆ เอา
แต่ถ้าจะขึ้นวิปัสสนาปัญญา
จิตต้องตั้งมั่นอัตโนมัติมีกำลัง
ของฟรีไม่มีก็ต้องฝึก
วิธีฝึกให้จิตตั้งมั่นทำอะไรดี
ทำได้ 2 วิธี หนึ่ง
ฝึกเข้าฌานที่ประกอบด้วยสติ
อันที่สอง อาศัยสัมมาสติ
หรือสติระลึกรู้รูปนามกายใจ
พอสติเราระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม
ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
จิตที่ตั้งมั่นก็จะเกิดขึ้นเอง
เพราะฉะนั้นเจริญสัมมาสติให้มาก
แล้วสัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วย
เกิดด้วยกันกับสัมมาสติ
ขาดสตินี่
สัมมาสัมมาทั้งหลายหายหมดเลยไม่เหลือเลย
ฉะนั้นต้องฝึกสติให้ดี
วิธีฝึกสติอยู่ในหลักสูตร
ชื่อการเจริญสติปัฏฐาน
มี 4 อย่าง กาย เวทนา จิต ธรรม
ถนัดอันไหนเอาอันนั้น แล้วได้ทุกอัน
สุดท้ายได้ทั้งหมดล่ะ
อย่างเราหัดรู้สึกร่างกาย
ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก
ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึกไปเรื่อยๆ
ต่อมาจิตเราหลงไป
ร่างกายเราขยับปุ๊บเรารู้เลยว่าจิตหลงไปแล้ว
มันก็เข้ามารู้จิตได้
สติปัฏฐาน 4 มันก็
เหมือนโต๊ะตัวเดียวกันนี้ล่ะ
แต่มันมี 4 มุม
แข็งแรงหน่อยก็ยกมุมใด
มุมหนึ่งมันก็ขึ้นมาหมดแล้ว
ได้หมดล่ะ ไม่ยาก
ชาวพุทธเราอย่าทิ้งการเจริญสติปัฏฐาน
ตราบใดที่ยังมีการเจริญสติปัฏฐานอยู่
การบรรลุมรรคผลนิพพานยังมีความเป็นไปได้
ไม่เจริญสติปัฏฐาน
ไม่มีทางบรรลุมรรคผลอะไรหรอก
วิชาสติปัฏฐานเป็นวิชาที่ดี
ส่วนวิชาที่จะอยู่กับโลก
เขาเรียก เดรัจฉานวิชา
พระพุทธเจ้าไม่ได้ด่าเดรัจฉานวิชา
อย่าเข้าใจผิด
ตัวอย่างเดรัจฉานวิชาคืออะไร
แพทยศาสตร์นี้เดรัจฉานวิชา
รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
ทันตแพทยศาสตร์ นิเทศศาสตร์
เดรัจฉานวิชาทั้งนั้นเลย
วิชาหมอนวดก็เดรัจฉานวิชา
คำว่าเดรัจฉานวิชาไม่ได้แปลว่า
วิชาของสัตว์เดรัจฉาน
ดิรัจฉาน ตัวนี้แบบไปทางขวางไปทางนี้ ขวาง
สัตว์เดรัจฉาน สังเกตไหม
กระดูกสันหลังมักจะขวาง คือขนานกับโลก
เดรัจฉานวิชาคือวิชาที่จะอยู่กับโลก
จำเป็นต้องมีไหม จำเป็น
ถ้าขืนไม่มีเดรัจฉานวิชาทำมาหากินไม่เป็น
รู้วิธีเลี้ยงเด็กก็เดรัจฉานวิชา
รู้วิธีเลี้ยงเสือ ตอนนี้หมูเด้งจืดแล้ว
ตอนนี้มีเสือชื่ออะไร น้องเอวา
คนเลี้ยงเสือได้เขาก็มีวิชาของเขา
ให้เราไปเลี้ยง เสือเอาไปกิน
ฉะนั้นเดรัจฉานวิชาไม่ใช่วิชาต่ำต้อย
เป็นวิชาที่ต้องเอาไว้อยู่กับโลก
สิ่งที่ตรงข้ามกับเดรัจฉานวิชา
คือวิชาทางตั้ง แนวตั้ง
เดรัจฉานวิชามันแนวขนาน ขนานไปกับโลก
แนวตั้งคือการปฏิบัติธรรมนั่นล่ะ
พัฒนาไตรสิกขาศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา
แล้วลงท้ายไปเจริญสติปัฏฐานให้ได้
ในที่สุดก็จะพ้นโลก
เหมือนยิงจรวด ยิงจรวดขึ้นไปอย่างนี้
ถ้าเครื่องบินมันขนานกับโลกมันก็ไปอย่างนี้
ไปจากที่หนึ่งของโลกไปอีกที่หนึ่งของโลก
ถ้าเป็นทางจิตใจก็คือ
จากภพนี้ก็ย้ายไปอีกภพหนึ่ง
ก็เวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่
แต่วิชาโลกุตตระ วิชาแนวตั้ง
เหมือนจรวดลอยขึ้นไปพ้นจากโลก
อยู่เหนือโลกก็คือคำว่า โลกุตตระ
คนยุคนี้ไม่เรียนธรรมะ ก็
ชอบวิจารณ์ตัดสินพระบ้าง ตัดสินฆราวาสบ้าง
ว่าทำไม่ถูกอะไร อย่างนี้
อย่างวิชาหมอดูเป็นเดรัจฉานวิชา
พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ว่าอะไร
ที่ท่านห้ามมีอันเดียว
ห้ามพระประกอบอาชีพทางเดรัจฉานวิชา
ท่านห้ามตัวนี้ต่างหากล่ะ
ท่านไม่ได้ห้ามฆราวาส อย่ามั่ว
ถ้าพระไปรักษาโรค
พระสมัยโบราณจะรักษาโรค
คนไม่สบายไม่รู้จะไปไหน โรงพยาบาลไม่มี
หามกันไปหาพระ กระดูกหักให้พระต่อให้
พระทำเดรัจฉานวิชาไหม ทำ
อาบัติไหมไม่อาบัติ
เพราะไม่ได้เอาไว้ทำมาหากิน
ทำเพื่อสงเคราะห์โลก
ไม่มีความละเอียดรอบคอบไม่เข้าใจ
เรื่องธรรมวินัยแล้วชอบตัดสิน
พระทำอย่างนี้ไม่ถูก
อันนี้ก็ไม่ถูก นั่นก็ไม่ถูก
พระดีๆ ก็คือพระพุทธรูป
ห้ามกระดุกกระดิกทำอะไรไม่ได้เลย
พอไม่ได้เรียนไม่ได้ศึกษาแล้วก็
ชอบมั่วชอบตีความชอบตัดสิน มั่วมาก
ทำให้พระธรรมวินัยศาสนาอยู่ยาก อยู่ลำบาก
ธรรมะจริงๆ สูญหายไป
สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นมาแทนที่
บางทีพูดแล้วโก้เก๋ดี
พูดแล้วแหมดูดีจังเลย
คนที่พูดแล้วดูดีที่มีชื่อเสียงที่สุดเลย
คือเทวทัต
เทวทัตเป็นคนเสนอพระพุทธเจ้า
บอกต่อไปนี้พระต้องมักน้อยสันโดษ
ต้องดำรงชีวิตด้วยอาหารบิณฑบาตเท่านั้น
ต้องใช้ผ้าบังสุกุลจีวรเท่านั้น
ต้องไม่มีกุฏิไม่มีอะไร
ไม่สร้างวัดสร้างวาอะไร
อยู่ตามธรรมชาติธรรมดา
ต้องกินมังสวิรัติ ฟังแล้วดี
พวกคนไม่ฉลาดก็เคลิ้ม
เทวทัตเคร่งครัดกว่าพระพุทธเจ้าอีก
ส่วนหนึ่งพวกพระก็ยังตามไปเลย
ตามเทวทัตไปเป็นร้อยๆ เลย
แล้วต่อมาพระโมคคัลลานะ สารีบุตร
ท่านไปอธิบายธรรมะให้ฟัง
ตอนที่ท่านเข้าไปสำนักของเทวทัต
เทวทัตกำลังเทศน์ให้ลูกศิษย์ฟังอยู่
พอเห็นพระโมคคัลลานะ สารีบุตรเข้าไปก็ดีใจ
นึกว่าแปรพักตร์จากพระพุทธเจ้า
มาเป็นสาวกของเทวทัตแล้ว
เทวทัตก็บอกว่าช่วยเทศน์แทนหน่อย
เมื่อยแล้วจะไปนอน
พอตื่นมาลูกศิษย์หายไปหมดแล้ว
มาฟังเทศน์พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร
รู้ผิดชอบชั่วดีถอยออกมาเลย
เหลือที่ไม่ถอยออกมาไม่มาก
พวกที่ถอยออกมาก็มาภาวนา
จำไม่ได้ว่าออกมาแล้วภาวนาแล้วผลเป็นอย่างไร
แต่มีเรื่องเล่าอันหนึ่ง
อันนี้ต้องใช้วิจารณญาณในการฟัง
สำนวนนี้เคยคุ้นๆ ไหม
ต้องใช้วิจารณญาณในการฟัง
เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยรู้จักพระองค์หนึ่ง
ตอนหลวงพ่อยังไม่บวช
ท่านพิการมือนิ้วท่านติดกันอย่างนี้
ติดกันหมดเลย
แล้วท่านบอกท่านพิการมาแต่เด็กเลย
สงสัยบาปกรรมอะไรทำให้พิการอย่างนี้
ท่านก็ระลึกๆ ไป จริงหรือเปล่าไม่รู้
อันนี้ท่านเล่าพิสูจน์ไม่ได้
ท่านบอกท่านเคยเป็นลูกศิษย์เทวทัต
แต่กลับใจแล้ว กลับใจแล้ว
ตอนเป็นลูกศิษย์เทวทัตก็ประกาศ
ว่าต่อไปนี้จะไม่ไหว้พระพุทธเจ้าแล้ว
แล้วต่อมาก็เปลี่ยนใจกลับเข้ามา
บอกว่าอกุศลนี่ นิ้วของท่านเป็นแบบนี้
แยกออกจากกันไม่ได้ ทำได้แค่นี้
จริงหรือเปล่าไม่รู้
อันนี้เรื่องของกรรมเป็นเรื่องอจินไตย
แต่การกระทำทั้งหลายทั้งปวงย่อมมีผลแน่นอน
ลูกศิษย์เทวทัตปรามาสพระพุทธเจ้า
ปรามาสพระสาวก
ก็ต้องรับวิบาก เทวทัตก็ต้องรับวิบาก
เพราะฉะนั้นเวลาเราได้ยินใครเขาเสนอวาทะ
คมคายดูดีเหลือเกินเลย
ต้องทบทวนว่ามันตรงกับพระไตรปิฎกหรือเปล่า
บางทีการเสนออะไรที่เข้มมากๆ
พระพุทธเจ้าท่านไม่เอา ท่านบอก
เดี๋ยวศาสนาจะอยู่ยาก ศาสนาจะอันตรธานเร็ว
อย่างเป็นพระบอกต้องฉันเจอย่างเดียว
ชาวบ้านเขาไม่ได้กินเจ
ใครเขาจะมาหาอาหารเจให้ทุกวันๆ
สุดท้ายพระอาหารไม่พอแล้วก็อยู่ไม่ได้
ศาสนาก็หายไป พระหายไปไม่มีใครสืบทอด
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจะไม่สุดโต่งๆ
ศาสนาถึงได้ยืนยาวมาถึงทุกวันนี้
ทำไมมาเรื่องนี้ได้ก็ไม่รู้
รวมความก็คือต้องเจริญสติปัฏฐาน
หลวงพ่อสอนอยู่ทุกวี่ทุกวันก็เรื่องนี้ล่ะ
แต่ก่อนที่เราจะมาเจริญสติปัฏฐานได้
บทเรียนของเราต้องครบ ไตรสิกขา
ศีลต้องรักษา
ตั้งใจไว้ก่อนจะรักษาศีล 5
ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
เรื่องรักษาศีลก็เคยมี
คนถามหลวงปู่เทสก์กระมัง
บอกว่า ถ้าท่านเดินไปแล้วเห็นผู้หญิงตกน้ำ
พระจะกระโดดลงไปช่วย
อาบัติไหมไปจับตัวผู้หญิง
ไม่ช่วยจิตจะเศร้าหมองไหม
ถ้าจิตเศร้าหมองแสดงว่า
ตรงนั้นเราต้องทำชั่วอะไรสักอย่างแล้ว
อย่างเราเห็นผู้หญิงตกน้ำ แล้วเราก็อุเบกขา
จริงๆ แล้วจิตจะไม่ดีเลย จิตจะกระด้าง
เห็นสัตว์ลำบากแล้วเฉยเมย
คิดว่าความเฉยเมยคืออุเบกขา ไม่ใช่
เป็นความใจไม้ไส้ระกำ
ท่านบอกว่าท่านก็ใช้วิธีนี้สิ
ท่านกระโดดลงไปในน้ำไปอยู่ใกล้ๆ เขา
เดี๋ยวเขาก็เกาะท่านท่านก็ว่ายเข้าฝั่ง
ท่านว่าอย่างนี้ แต่หลวงพ่อคงไม่เอา
ขืนมาเกาะเราก็พากันจมแน่เลย
หาไม้หาอะไรโยนให้ ให้เกาะ ก็ต้องช่วย
จำเป็นจริงๆ
ก็ลงไปลากขึ้นมาแล้วมาปลงอาบัติเอา
บางทีก็ต้องคิดต้องพิจารณา
ถือศีลเคร่งๆ ไปเลยแบบงมงายก็ใช้ไม่ได้
ศีลรักษาไปเพื่อให้จิตใจเป็นปกติ
เพื่อให้หมู่สงฆ์สงบสุข
เพื่อให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสเกิดเลื่อมใส
เพื่อให้คนที่เลื่อมใสแล้ว
มีความมั่นคงในพระศาสนา เลื่อมใสมั่นคง
ศีลไม่ได้ถือเอาไว้ทรมานตัวเอง
ศีลไม่ได้ถือไว้ใจร้ายกับคนอื่น
เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้จักอะไรควรอะไรไม่ควร
เห็นมีพระมีข่าวเรื่อยเลย ดูแลแม่
เช็ดอึเช็ดฉี่อาบน้ำให้อะไรให้
ถามว่าถูก ไม่ถูก ก็ไม่ถูก
ถ้าไม่มีใครทำให้ก็ต้องทำ
อาบัติร้ายแรงไหม อาบัติไม่ร้ายแรง
อาบัติที่ร้ายแรงคือภิกษุมี
ความกำหนัดจับต้องกายหญิง
ไม่ได้มีความกำหนัดมีแต่ความเมตตา
ดีกรีมันมี
ว่ามันผิดร้ายแรงแค่ไหน
ไม่ใช่เห็นอะไรก็บอกจับสึกๆ
ทุกวันนี้ง่ายเหลือเกิน
เจอพระไม่ชอบใจ บอกจับสึก
เพราะฉะนั้นต้องเรียน ขอแนะนำ
อ่านพระไตรปิฎกดีที่สุดเลยหัดอ่านไป
พระวินัย พระสูตรพวกนี้ อ่าน
อภิธรรมอ่านไม่รู้เรื่อง
ต้องไปเรียนอภิธัมมัตถสังคหะอะไรพวกนั้นก่อน
ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก
ทุกวันแบ่งเวลาไว้เลย
ถึงเวลาจะต้องปฏิบัติในรูปแบบ
ทำไมหลวงพ่อไม่ใช้คำว่าถึงเวลา
ให้ไปนั่งสมาธิให้ไปเดินจงกรม
เพราะว่าแต่ละคนรูปแบบ
ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
บางคนกวาดพื้นอยู่เป็นเครื่องอยู่
นั่นคือการทำในรูปแบบของเขา
ตอนหลวงพ่อบวชครั้งแรกที่วัดชลประทาน
หลวงพ่อปัญญาเป็นพระอุปัชฌาย์
มีพระผู้เฒ่าองค์หนึ่งกุฏิอยู่ติดๆ กัน
ท่านกวาดวัด ฉันข้าวเสร็จตอนเช้าก็กวาดวัดไป
กวาดจากหน้าวัดไปท้ายวัด
ท้ายวัดกวาดมาหน้าวัด
กวาดอยู่อย่างนั้นทั้งวัน
หลวงพ่อตอนนั้นโง่ ก็ไปบอก
ท่านบอกหลวงพ่อทำไมไม่นั่งสมาธิไม่เดินจงกรม
ไม่ต้องห่วงเดี๋ยวผมช่วยกวาด
เราไปนั่งสมาธิกันดีกว่า
ท่านก็ยิ้มหวานหลวงพ่อ
ยังจำรอยยิ้มของท่านได้
ท่านบอกคุณบวชสั้นๆ คุณไปนั่งสมาธิเดินจงกรม
เดี๋ยวผมกวาดเอง
นี่ความโง่ของเรา
ที่จริงท่านภาวนาทั้งวันเลย
ร่างกายท่านเคลื่อนไหวท่านกวาดใบไม้
กวาดถนนกวาดใบไม้กวาดไปเรื่อยๆ
ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก
เห็นรูปเคลื่อนไหวใจเป็นคนรู้
เราภาวนาเป็นแล้วเราถึงนึกถึงท่านได้
โอ๊ยตายแล้ว
เราไปบอกท่านด้วยความโง่ของเราแท้ๆ
แต่ประกอบด้วยเมตตา
ความโง่นั้นไม่ได้ประกอบด้วย
ดูถูกว่าท่านไม่ยอมไปนั่งภาวนา
เรามีความเมตตาอยากให้
ท่านได้ภาวนาบ้างมีเวลาบ้าง
เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจะใช้คำว่าทำในรูปแบบ
รูปแบบแต่ละคนไม่เหมือนกัน
แค่กวาดวัดก็เป็นการปฏิบัติในรูปแบบแล้ว
ได้เห็นรูปเคลื่อนไหวใจเป็นคนรู้
อย่างบางคน
หลวงพ่อไปที่บ้านจิตสบาย
เห็นมีคนหนึ่งส่งการบ้าน
หลวงพ่อดูแล้วคนนี้
ไม่เคยช่วยเมียทำงานบ้านเลย
เมียก็ชักโมโห
บอกไปช่วยเมียทำงาน ช่วยเมียซักผ้า ถูบ้าน
เขาเชื่อเขาไปทำ แล้วจิตใจเขาก็สบาย
สบายเพราะอะไร เพราะเมียไม่ด่า
เมียไม่บ่นแล้วสบายใจ
ก็รู้เนื้อรู้ตัว ทำงานไปรู้เนื้อรู้ตัวไป
ในครอบครัวก็ดีจิตใจตัวเองก็ดี
นี่ทำในรูปแบบ
ไม่ใช่ทำในรูปแบบต้อง
นั่งสมาธิท่านี้ต้องเดินท่านี้
บางทีเดินจงกรมต้องกำหนดโน้นกำหนดนี้
มีเท่านั้นจังหวะเท่านี้จังหวะ ทำแล้วเครียด
ทำแล้วเครียดไม่ใช่การปฏิบัติหรอก
ทำอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด
ทำอกุศลที่เกิดแล้วให้แรงขึ้น
อย่างทำแบบเครียดๆ ไปเรื่อยๆ
อกุศลอะไรจะแรง กูเก่ง กูดีกว่าคนอื่น
อกุศลพวกนี้จะเด่นขึ้นมา
เพราะฉะนั้นถึงเวลาไปทำในรูปแบบ
ถนัดกรรมฐานอะไรเอานั้นล่ะ
มีต้นไม้เยอะก็ไปรดต้นไม้
อย่างที่นี่ตกเย็นพระต้องไปรดต้นไม้
ต้นไม้มี 2 ส่วน
ต้นไม้รอบๆ กุฏิอันนี้เช้าๆ เขาก็รดกันแล้ว
ทางเดินก็แบ่งกันกวาดทั่ววัด
แต่ฤดูนี้พอกวาดเสร็จคล้อยหลัง
ลมพัดทีเดียวใบไม้ลงมาเต็มเหมือนเดิม
แต่ไม่ต้องกวาดซ้ำแล้ว
เพราะถ้ากวาดก็คือไม่ต้องทำอย่างอื่นแล้ว
อย่างน้อยก็รักษาข้อวัตร
กวาดแล้ว ตั้งใจกวาด
ตอนเช้าก็รดต้นไม้รอบๆ กุฏิ
ตอนเย็นไปรดต้นไม้ฝั่งโน้น
ไปปลูกป่ากันไว้ร่วมร้อยไร่
แบกน้ำตักน้ำใส่ถังเอาไปรดต้นไม้
รดทีละต้นทีละต้น
ฝั่งโน้นไม่รู้ต้นไม้กี่พันต้น ฝั่งโน้น
ถามว่าเสียเวลาภาวนาไหม ไม่เสีย
เวลาตักน้ำรู้สึกตัวหิ้วน้ำไปรู้สึกตัว
ถ้าไม่รู้สึกทำอะไร ไม่รู้สึกตัวก็ทำน้ำหก
หรือเดินตกหลุมตกบ่อแข้งขาเคล็ด
บางองค์ขาเส้นเอ็นพลิกเดินเผลอไปหน่อย
นี่คือการปฏิบัติ ไปรดต้นไม้
ทุกวันทำอย่างนี้ล่ะ
เห็นไหมต้องมีรักษาศีล
ต้องทำในรูปแบบทุกวันๆ
แล้วก็ต้องเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ถ้าทำได้อย่างที่บอก 3 อย่างนี้
มรรคผลไม่ไกลหรอก
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ส่วนใหญ่ก็คือการเจริญสติปัฏฐานนั่นล่ะ
อย่างเรามีสติเห็นร่างกายหายใจออก
มีสติเห็นร่างกายหายใจเข้า
แล้ววันไหนจิตใจเราฟุ้งซ่าน
เราเห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้าสักพักหนึ่ง
จิตมันจะรวมลงไป จะพักผ่อนหายฟุ้งซ่าน
วันไหนจิตเรามีกำลังอยู่แล้ว
หายใจออกรู้สึกหายใจเข้ารู้สึก
เราก็จะเห็นว่าร่างกายที่
หายใจเป็นคนละอันกับจิต
ร่างกายกับจิตแยกออกจากกัน
ขึ้นเจริญปัญญาแล้ว
ฉะนั้นแค่เราหายใจมันมีทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา
อย่างเวลาจะทำสมาธิเราก็หายใจไป
แล้วถ้าจิตมันต้องการพักผ่อนมันจะรวมสงบลงไป
รวมเองไม่ต้องสั่งให้รวมเลย
ยกเว้นมีวสีชำนาญแล้ว
นึกอยากรวมเมื่อไรก็รวมได้ทันที
แต่ถ้ายังรวมไม่ได้ก็อย่าไปตกใจ
ถึงเวลาเราก็ทำกรรมฐานไป
แล้วถ้าจิตมันต้องการพัก
มันรวมเองมันเข้าเอง
ตอนที่เกิดอริยมรรคอริยผลจิตก็รวมเอง
ถ้าตั้งใจรวมไม่ค่อยได้เรื่องหรอก
ยังเจือโลภเจตนาอยู่
อย่างเราหายใจไป หายใจไป
วันนี้จิตเรามีกำลังแล้ว
มันไม่รวม ไม่เคลิ้ม
ตั้งมั่นทรงตัวขึ้นมา
สติระลึกรู้กายก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย
ใครเป็นคนรู้กาย จิตเป็นคนรู้กาย
แล้วก็เห็นไตรลักษณ์ของจิต
เวทนาเกิดขึ้นในกาย
เเล้วก็เห็นว่าเวทนาในกายกับกายก็คนละอันกัน
แล้วเป็นคนละอันกับจิต
เวทนาทางกายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
จิตที่รู้เวทนาทางกายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
เราเห็นสังขาร จิตสังขาร
จิตที่เป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง
ทีแรกเราก็เห็นว่าจิตเราโลภจิตเราโกรธ
พอเราภาวนามากเข้าๆ เราเห็นว่า
ความโลภ ความโกรธ
ความหลงกับจิตเป็นคนละอันกัน
ความโลภกับจิตคนละอันกัน
ความโกรธกับจิตเป็นคนละอันกัน
เป็นองค์ธรรมคนละชนิดกัน
ตัวโลภตัวโกรธตัวหลงเป็นสังขาร
เรียกว่าสังขารขันธ์ อยู่ในสังขารขันธ์
จิตเป็นอีกขันธ์หนึ่งอยู่ในวิญญาณขันธ์
เป็นคนละอันกัน
คนทั่วไปบอกเราโกรธ
อันนี้โง่ที่สุดแต่ไม่โง่มากไม่ถึงที่สุด
โง่ที่สุดคือไม่รู้ว่าตัวเองกำลังโกรธ
ไปอาละวาดใส่คนอื่นแล้ว
ดีขึ้นมาหน่อยเห็นว่าเรากำลังโกรธ
ดีกว่านั้นก็คือเห็นว่า
ความโกรธกับจิตคนละอันกัน
มันแยกออกจากกัน
แล้วดีกว่านั้นก็คือเห็นว่า
ความโกรธก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
จิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
จิตก็เดินปัญญาละเอียดๆๆ เข้าไปเรื่อยๆ
สุดท้ายก็เข้ามาที่จิต
ก็เห็นจิตนั้นเกิดดับ
จิตเกิดที่ไหนจิตก็ดับที่นั้น
ตอนที่หลวงพ่อเห็นตรงนี้ทีแรก
จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับที่หูแล้วก็ดับ
เลยเกิดสงสัยแล้ว
เราจะเอาจิตไปตั้งไว้ที่ไหนดี
ก็เข้าไปกราบหลวงปู่ดูลย์
หลวงปู่ครับ จิตมันตั้งอยู่ที่ไหน
คิดว่ามันตั้งอยู่กลางอก
คิดว่ามันอยู่ตรงนี้
แล้วมันเกิดที่ตา ตัวนี้หายไป
เกิดที่ตาแล้วก็ดับ เกิดที่หูแล้วก็ดับ
แล้วเข้ามาตรงนี้ เห็นตัวนี้มันไหวๆๆ อยู่
ก็เลยนึกว่าจิตมันอยู่ตรงนี้กระมัง
แต่ไหนๆ เจอหลวงปู่แล้วถามหลวงปู่สักหน่อย
หลวงปู่ครับจิตมันอยู่ที่ไหน
จิตมันตั้งอยู่ที่ไหน
หลวงปู่บอกจิตไม่มีที่ตั้ง
บอกแค่นี้เราก็เข้าใจแล้ว
เราไม่ต้องเอาจิตไปตั้งไว้ที่ไหนหรอก
จิตตั้งอยู่กับอารมณ์
เกิดพร้อมกับอารมณ์ ดับพร้อมกับอารมณ์
จิตเกิดที่ไหน
เกิดออกไปรู้อารมณ์ทางตา
แล้วก็ดับพร้อมกับการรู้อารมณ์ทางตา
ออกไปฟังเสียงแล้วก็ดับพร้อมกับเสียง
พร้อมกับการฟังเสียง
นี่มันเกิดดับ
ภาวนาพอละเอียดๆ มันเข้ามาที่จิตนี่ล่ะ
แล้วเห็นจิตมันสร้างภพสร้างชาติตลอดเวลาเลย
แล้วภาวนาถ้าเราเข้าใจ
ธรรมะประณีตขึ้น ประณีตขึ้น
การปฏิบัติมันบีบวงมาที่จิต
บางทีเราก็เห็นจิต บางทีเราก็ไม่เห็นจิต
จิตตัวนี้คือจิตผู้รู้
อะไรทำให้เรามองจิตผู้รู้ไม่ออก
อาสวกิเลสทั้ง 4
อาสวกิเลสเกิดเมื่อไร หาจิตผู้รู้ไม่เจอแล้ว
อาสวะที่ดูง่ายๆ อย่างตัวภพดูง่าย
จิตสร้างภพเมื่อไร
จิตก็หลุดเข้าไปอยู่ไปเกิดในภพนั้น
ถ้ารู้ทันปุ๊บจิตหลุดออกจากภพ ภพดับ
จิตผู้รู้ก็เด่นดวงขึ้นมา
มันจะเข้ามารู้ที่ตัวจิตผู้รู้ได้
พอรู้ที่ตัวจิตผู้รู้ได้
สิ่งที่ปิดกั้นทำให้เรารู้จิตผู้รู้ไม่ได้
ก็คืออาสวกิเลสทั้ง 4 ตัวนั่นล่ะ
กามาสวะเข้ามามาดึงจิตเราไป
ดึงดูดจิตเราไปหากามคุณอารมณ์
ภวาสวะจิตไปสร้างภพแล้วหลงอยู่ในภพอันนั้น
อวิชชาสวะมันไม่รู้แจ้งอริยสัจ
ทิฏฐาสวะ เวลาเราติดในความคิดความเห็น
ถูกความคิดความเห็นย้อมเมื่อไร
ตัวจิตผู้รู้เราก็สูญหายไป
พอไม่ถูกอาสวะทั้ง 4 ย้อม สติสมาธิเราดี
อาสวะเข้ามาย้อมไม่ได้
จิตผู้รู้เด่นดวงขึ้นมา
แล้ววันหนึ่งเราก็จะเห็น
จิตผู้รู้เองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
จิตผู้รู้นั่นล่ะก็คือตัวทุกข์
แล้วคือหัวโจกของตัวทุกข์
ดูยากที่สุดเลยว่าคือตัวทุกข์
เพราะว่าถ้าเราภาวนาเรามีจิตผู้รู้
เรารู้สึกตัวนี้บรมสุข
ถ้าเมื่อไรไม่ถูกอาสวะย้อม
เห็นมันบ่อยๆ เนืองๆ รู้แจ้งแทงตลอด
จิตผู้รู้นั่นล่ะคือตัวบรมทุกข์
ทุกข์ยิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเลย
พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็หมดความรักใคร่ยินดี
หมดความอยาก หมดความยึดถือ
เพราะฉะนั้นพอรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง
สมุทัยคือตัณหาอุปาทาน
อะไรพวกนี้ก็ถูกทำลายทันที
ดับอัตโนมัติ
เราไม่ต้องดับตัณหา
รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรตัณหาดับเอง
ดับอัตโนมัติ
สิ้นตัณหาเมื่อไร นิโรธคือ
นิพพานปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตา
นิโรธคือสภาวะที่สิ้นตัณหา
หลวงพ่อเคยภาวนาผิด
กำหนดจิตลงไปแล้วว่างลงไป
คิดว่าฝึกเข้านิโรธไปแล้ว
หลวงปู่บุญจันทร์ท่านมาเจอ ท่านด่าเอา
นิพพานอะไรมีเข้ามีออก
เลยรู้เลยไม่ใช่แล้ว
ถ้ายังกำหนดจิตอย่างโน้นกำหนดจิตอย่างนี้
ไม่ใช่ของจริงแล้ว
ของจริงก็คือต้องรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งว่ามันคือตัวทุกข์
จิตก็หมดความอยากหมดความยึดถือในตัวจิต
สิ้นอยากเมื่อไรก็คือนิพพาน
นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา
แล้วขณะนั้นอริยมรรคเกิดขึ้น
นี่เส้นทาง เราทำไป
เดินไปเรื่อยๆ มาตรงนี้ได้ด้วยการรักษาศีล
ฝึกในรูปแบบให้จิตมีสมาธิขึ้นมา
แล้วก็เอาจิตที่ตั้งมั่น
มีสมาธิแล้วมาเดินปัญญา
แยกธาตุแยกขันธ์แยกรูปแยกนามไป
ทำสติปัฏฐาน 4 นั่นล่ะ
ฝึกเรื่อยๆ
สติปัฏฐานนั้นเป็นของวิเศษอีกอย่าง
ในเบื้องต้นที่เราฝึกทำให้สติเราดีขึ้น
ในเบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา
นี้หมดเวลาแล้ว เทศน์ละเอียดตรงนี้ไม่ทัน
ไปหาฟังเอาก็แล้วกัน
หลวงพ่อเทศน์เอาไว้เยอะแยะแล้ว
ต่อไปตรวจการบ้าน
เบอร์ 1: ในรูปแบบเดินจงกรม
และรู้สึกกายที่เคลื่อนไหว
เมื่อจิตใจหลงไปคิดแล้วรู้
เบอร์ 1: ในรูปแบบเดินจงกรม
และรู้สึกกายที่เคลื่อนไหว
เมื่อจิตใจหลงไปคิดแล้วรู้
ถ้าดูจิตไม่ได้จะทำสมถะโดยคิดถึงพระพุทธเจ้า
และครูบาอาจารย์พร้อมกับรู้สึกถึงร่างกาย
ในชีวิตประจำวันเจริญสติโดยการรู้สึกกาย
บางครั้งรู้ใจที่หลงไป
ถ้าอยู่กับผู้อื่นจะหลงไปกับโลก
นานๆ จะรู้สึกตัว
ที่ปฏิบัติอยู่นี้ถูกต้องไหมคะ
ถูก แล้วเรารู้ว่าตรงไหน
เป็นจุดอ่อนเราก็เลี่ยงเสีย
ยุ่งกับโลกน้อยๆ ยุ่งกับคนอื่นน้อยๆ
ใช้ได้ ภาวนาไป
เบอร์ 2
เบอร์ 1 ตรงนี้จิตไม่เข้าฐาน ดูออกไหม
จิตอยู่ข้างนอกนิดหนึ่ง
อย่าดึงๆ
หลวงพ่อบอกไว้เฉยๆ ไม่ต้องดึงจิตเข้ามา
หายใจสิ หายใจสบายๆ
เก่งๆ หายใจไป
รู้สึกไหมตรงนี้กับเมื่อกี้ไม่เหมือนกัน
เมื่อกี้จิตไม่ตั้งมั่นไม่ถึงฐาน
จำตัวนี้ได้ก็โอเค แต่ว่าตรงนี้จงใจทำไม่ได้
พอเรารู้ว่าจิตเราไม่เข้าฐาน
เราก็ทำกรรมฐานของเราไป
เดี๋ยวมันก็เข้าเองล่ะ
แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าจิตเราไม่
เข้าฐานทำอย่างไรมันก็ไม่เข้า
เบอร์ 2
ในรูปแบบทำทุกวัน
เดินรู้สึกตัว ดูจิตหลงคิด รู้
นั่งสมาธิ ดูจิตหลง รู้ เพ่ง รู้
หลังๆ หลงบ่อยกว่าเพ่ง
บางครั้งเห็นเหมือน
เราดูการนั่งสมาธินั้นอยู่
จิตทำงานเอง จนจิตสงบแต่ไม่นิ่งเฉย
บางครั้งก็มีเคลิ้มไปบ้าง
ขอหลวงพ่อตรวจการบ้านค่ะ
ใช้ได้ ดี ต้องเพิ่มนั่นนิดหนึ่ง
ทำความสงบเข้ามาเป็นระยะๆ
กำลังสมาธิไม่พอ ใจมันจะฟุ้งง่าย
ทำในรูปแบบแล้วก็ไม่เดินปัญญาตอนนั้น
เช่น พุทโธๆๆ ไป
สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่างทำไปเรื่อยๆ
เดี๋ยวมันสงบเอง แล้วจิตมันจะมีแรง
ของเบอร์ 2 จิตมันยังไม่ค่อยมีแรง
ที่ดูที่อะไรดูถูกแล้วล่ะ
แต่มันดูด้วยจิตที่ไม่ค่อยมีแรง
ฉะนั้นเรารู้ตรงนี้เป็นจุดอ่อน
เราก็เพิ่มสมาธิขึ้น
เบอร์ 3
ทำในรูปแบบสม่ำเสมอ
เมื่อก่อนคาดหวังจากการปฏิบัติ
เดี๋ยวนี้คาดหวังน้อยลง
เข้าใจความยึดมากขึ้น
เห็นจิตใจทำงานได้เองบ่อยขึ้น
รู้เผลอ รู้หลงมากกว่าเดิม
โดยรวมมั่นใจในการปฏิบัติ มีความเห็นถูกขึ้น
ตัวเราไม่มีอยู่จริง
ชีวิตประจำวันอยู่กับอิริยาบถ 4
เดิน ยืน นั่ง นอน คอยรู้สึก
ทำไปเรื่อยๆ ไม่ท้อไม่เลิก
ขอหลวงปู่ชี้แนะค่ะ
ดี ที่ทำอยู่ใช้ได้
แต่ปัญหาใหญ่ของนักปฏิบัติ
ก็คือสมาธิมันไม่ค่อยพอกัน
ของโยมสมาธิเยอะ เบอร์ 3
แต่มันไม่เข้าที่มันไม่เข้าฐาน
ขณะนี้จิตยังอยู่ข้างนอกรู้สึกไหม
มองเห็นไหมว่า
จิตมันไม่เข้ามาไม่เข้าหาตัวเอง
ไม่โอปนยิโกน้อมเข้ามา น้อมเข้ามา
สังเกตลงไปในร่างกายนี้
รู้สึกลงไปในร่างกายบ่อยๆ
เห็นแต่ความเป็นปฏิกูล อสุภะ
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ดูบ่อยๆ ดูอย่างนี้บ่อยๆ
เบอร์ 4
ภาวนาในรูปแบบ
ดูการเคลื่อนไหวของร่างกายทุกวันเป็นหลัก
ในชีวิตประจำวันดูร่างกาย
เคลื่อนไหวสลับกับลมหายใจเข้าออก
มีความคิดแทรกตอนที่ภาวนา
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในอดีต
พยายามไม่สนใจความคิดเหล่านั้น
และกลับมาดูที่อาการเคลื่อนไหวทางกายแทน
ตอนนี้ทำถูกหรือไม่คะ
ทำถูก แต่ตั้งใจมากไปหน่อย
ตั้งใจใจจะเครียด จะแน่นๆ จะหนักๆ
ถ้าภาวนาแล้วมันหนักมันแน่น
แสดงว่าเราจงใจเยอะไป
มันไม่ธรรมดา ตั้งใจเยอะไป
ภาวนาใช้ใจธรรมดาๆ อย่าตั้งใจแรง รู้สึกไป
คิดเยอะ อย่าคิดเยอะ
เห็นไหมร่างกายขยับ
รู้ว่าร่างกายขยับรู้ด้วยจิตธรรมดา
จิตธรรมดาเลย
ตรงนี้ไม่ธรรมดาแล้ว เมื่อกี้ธรรมดา
ตรงนี้จิตหลง หลงคิด
ยิ้มหวาน
เห็นร่างกาย ยิ้มอย่างนี้ไม่เอา ยิ้มจอมปลอม
ยิ้มแต่หน้า
ใจมันแน่นรู้สึกไหม ใจมันยังแน่นอยู่
ใจที่แน่นเกิดจากอยาก
อยากปฏิบัติ อยากรู้ อยากเห็น
อยากเป็น อยากได้ อยากดี
อยากไม่ขาดสติ อยากเจริญ
มีความอยากมาเมื่อไรใจจะแน่นๆ
ใจที่ดีคือใจธรรมดา
จิตธรรมดานั้นประภัสสรผ่องใส
จิตธรรมดานั่นล่ะคือจิตผู้รู้
แต่พอมีกิเลสมันเลยกลายเป็นจิตผู้หลงไป
เพราะฉะนั้นจิตโดยตัวมันประภัสสรผ่องใส
เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา
เราไม่ต้องทำอะไร
รู้ทันกิเลสที่จรมาก็แล้วกัน
อย่างอยากปฏิบัติ รู้ทันว่าอยาก
รู้ว่าอยากปฏิบัติ ความอยากปฏิบัติดับแล้ว
ทำอย่างไร ก็ปฏิบัติไปด้วยใจที่ไม่ต้องอยาก
ให้เป็นธรรมดาอย่างนี้
เบอร์ 4 ตึงไป
รู้สึกไหม มันจงใจมากไป ตั้งใจแรงไป
เบอร์ 4 คอยเคลื่อนไหวกระดุกกระดิก
แล้วก็เห็นร่างกายเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ
ไม่ต้องแกล้งทำ
เราเคลื่อนไหวอยู่แล้วโดยธรรมชาติ
เราหายใจร่างกายมันก็เคลื่อนไหว
เคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติธรรมดา
มีหน้าที่ใช้ร่างกายทำอะไรก็ทำไป
แต่มีสติรู้ไปเรื่อยๆ
ไม่ไปเพ่งเอาไว้ให้นิ่งๆ
เบอร์ 5
เห็นการเกิด
แต่ไม่เห็นการดับของความโลภและความโกรธ
เมื่อปวดกายก็ฝึกแยกใจกับ
กายความปวดออกจากกัน
โดยมีใจเห็นความปวดแทรกอยู่ในกาย
อยากเดินปัญญาเป็น
แต่ไม่รู้ว่าจิตตั้งมั่นมากพอ
และพร้อมที่จะเดินปัญญาไหมคะ
ภาวนาได้ดี จิตตั้งมั่น
เดินปัญญาได้แต่จิตมันไม่ค่อยชอบเดินปัญญา
ชอบเฉยๆ มากกว่า
พอเวลาภาวนาพอจิตตั้งมั่นแล้ว
มันกลัวจิตตั้งมั่นจะหายไปพยายามรักษาเอาไว้
เวลาจิตตั้งมั่นแล้ว เบอร์ 5
พิจารณาเข้าไปในร่างกายเลย
พิจารณาเข้าไปเลย
หัวกะโหลกเราเป็นอย่างนี้ มีตาโบ๋ๆ อย่างนี้
มีปากงับๆๆ ได้ ข้างล่างนะ
ข้างบนไม่เป็นอย่างนี้
ขากรรไกรอย่างนี้ ดูไปเรื่อยๆ ในร่างกาย
พิจารณาลงไปให้ถึงกระดูกเลย
เห็นกระดูก กระดูกมันหมุนแล้ว
กระดูกตัวนี้หมุน
คอยรู้สึกอย่างนี้ รู้สึกบ่อยๆ
ดีไม่ใช่ไม่ดี
เก่ง เบอร์ 5 ใช้ได้
แต่ว่าเดินปัญญาดูเข้าไปในกายเลย
ดูเข้าไปเลย ดูเข้าไปที่กระดูกเลยก็ได้
เห็นไหมกระดูกมันเคลื่อน
กระดูกมันขยับ เวลาปาก
เวลากินข้าวเราขยับขากรรไกรบนหรือขากรรไกรล่าง
ขยับอย่างนี้ เราก็รู้
บางคนไม่รู้
คิดว่าขยับข้างบน คิดว่าตัวนี้ขยับ
วิธีพิสูจน์ง่ายๆ เอาคางไปเกยโต๊ะไว้
แล้วจะพูดไม่ได้
ดูเข้าไปถึงกระดูกดูเข้าไป
เบอร์ 6
รักษาศีล 5
ภาวนาในรูปแบบด้วยการสวดมนต์
ทำวัตรเช้าเย็นทุกวัน
เพิ่งหยุดทำงานประจำ
จึงใช้เวลาศึกษาในเรื่องขันธ์ 5
ทุกข์ และการเดินอริยสัจ
ใช้โยนิโสมนสิการในการพิจารณากายใจ
เห็นทุกข์และกิเลสได้ละเอียดขึ้น
รู้ทันบ้าง ไม่ทันบ้าง
เห็นขันธ์แยกขณะผ่ารากฟันเทียม
เลยเข้าใจที่หลวงพ่อสอนว่า
แยกขันธ์แล้วให้ดูไตรลักษณ์
เห็นถูกต้องไหมคะ
ถูก ดี
จุดอ่อนยังมีนิดหนึ่ง
เราอย่าคิด ความคิดมันล้ำไป ปัญญามันล้ำไป
ตามรู้ตามเห็นสภาวะไปเรื่อยๆ
ไม่อย่างนั้นมันล้ำหน้าไป
คอยคิดแต่เรื่องไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ
ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องสมดุลกัน
ถ้าปัญญาล้ำหน้าไป สมาธิไม่พอ ใจมันจะฟุ้ง
เบอร์ 6 สังเกตไหมใจมันยังฟุ้งเล็กๆ อยู่
เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งการทำความสงบ ต้องทำ
เดินปัญญามากไป จิตจะฟุ้งซ่าน
เป็นคนปัญญาเยอะ
พวกปัญญาเยอะมีจุดอ่อนสมาธิคือไม่ค่อยพอ
ไปทำสมาธิเพิ่มขึ้น
ทำความสงบให้จิตอยู่กับเนื้อกับตัว
สงบ พักผ่อน
จิตมีกำลังแล้วค่อยถอยออกมาเดินปัญญาต่อ
ไม่น่าห่วงเรื่องเดินปัญญา
จิตมันเดินปัญญาเก่ง
เบอร์ 7
ปฏิบัติในรูปแบบทุกวันโดยทำ
อานาปานสติอย่างน้อย 30 นาที
ระหว่างวันเฝ้ารู้เวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกาย
เห็นทุกข์มากขึ้นและมักหลงคิดบ่อยๆ
บางครั้งก็หลงคิดไปนานแล้วถึงจะรู้สึกตัว
ขอหลวงปู่ช่วยแนะนำ
วิธีการปฏิบัติที่เหมาะกับจริตค่ะ
จิตมันชอบคิด
ถ้าจิตมันชอบคิดเราจะไปฝืน
บอกมันอย่าคิดมันไม่เชื่อ
พามันคิดไปเลยคิดอะไรก็ได้
คิดเรื่องโลกๆ ก็ยังได้เลย
แต่คิดแล้วต้องลงไตรลักษณ์ให้ได้
อย่างเราคิดถึงอะไรสวยๆ งามๆ
คิดว่าเราไปเดินสวนสาธารณะดูดอกไม้งาม
ดูทุ่งทานตะวัน ดูอะไรอย่างนี้
ดูไปแหมใจมีความสุข
แล้วลงท้าย ดอกไม้มันเหี่ยวลงไป
มันก็ไม่ยั่งยืน ของสวยของงามอะไรอย่างนี้
ฉะนั้นคิดอะไรก็ได้
แต่ให้ลงไตรลักษณ์ให้ได้
ลองไปทำดู เพราะจิตมันชอบคิด
จิตมันชอบคิดไปฝืนไม่ให้คิดมันทำไม่ได้หรอก
ส่วนที่กรรมฐานทำอยู่แล้ว
ดีอยู่แล้วทำต่อไป
ทำอานาปานสติ ทำอะไรไม่ผิดหรอก ทำไปเถอะ
แต่เวลาช่วงไหนที่จิตมันฟุ้งซ่านมากๆ
พามันคิดแล้วลงไตรลักษณ์
ถ้าเป็นช่วงปกติก็หายใจไปรู้สึกไป
อย่างที่ทำอยู่ถูกแล้ว
แยกออกไหม หมายถึงเวลาปกติก็ทำอย่างที่ทำนี้
แต่ช่วงไหนที่ใจมันฟุ้งมาก
คิดพิจารณาลงไปเลย
คิดอะไรก็ได้แล้วลงไตรลักษณ์ให้ได้ก็แล้วกัน
เบอร์ 8
เดินจงกรมวันละ 1.30 - 2 ชั่วโมง
ระหว่างวันดูกายและจิตทำงาน
ถ้าฟุ้งซ่านจะบริกรรมระลึกถึงพระรัตนตรัย
หลวงพ่อให้ดูความเป็นอนัตตา
คิดว่าพอจะเห็นว่ากายไม่ใช่เรา
แต่จิตยังคงเป็นเราอยู่
เวลานั่งจะเพ่งมากเลยต้องเดิน
หรือใช้การพิจารณากายเคลื่อนไหว
แล้วรู้สึกตัวแทน
ไม่แน่ใจว่าดูความเป็นอนัตตาได้จริงไหมคะ
จริง ไปดูอีก ทำไป
ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึกไป ดี ที่ทำอยู่
ไปทำต่อทำอีก
เบอร์ 7 อย่างนี้จงใจเยอะไปแล้วเบอร์ 7
คิดเอาเป็นเอาตาย
ใจมันไม่สบาย จะไม่ได้สมาธิ
คิดที่มันไม่รุนแรงนัก
คิดๆๆ ไป อันนี้เป็นอุบาย
เป็นอุบายในการแก้เรื่อง
จิตมันช่างคิดไม่ยอมหยุด
มันคิดไม่ยอมหยุด
ไปห้ามมันไม่ได้ก็พามันคิดไป
แล้วลงไตรลักษณ์ให้ได้
เดี๋ยวมันหยุดเองล่ะ
แต่ถ้าตอนไหนมันไม่ได้
ฟุ้งซ่านไม่ต้องไปคิดเยอะ รู้สึกไป
เดี๋ยวสับสน
ภาวนาอยู่ดีๆ บอกหลวงพ่อให้ไปนั่งคิด
เละเลย เสีย
แล้วมาโทษหลวงพ่อสอนยังอย่างไร ฟุ้งไปเลย
แค่อุบายไว้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
เวลามันคิดหนักๆ คิดไม่เลิก
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้
เชิญ