ผมว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้
ผมเชื่อแบบนั้น
และพวกเราล่ะครับ
พวกเราเชื่อว่า
เราเปลี่ยนแปลงโลกได้หรือเปล่า
ผมได้ทุนพสวท.ครับ
โครงการพัฒนาและส่งเสริม
ผู้มีความสามารถพิเศษ
ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ค้นพบวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ตอนนั้นครับ
พบความน่าทึ่งของวิทยาศาสตร์
แล้วก็คิดว่า
"นี่แหละ เดี๋ยวเราจะใช้วิทยาศาสตร์นี่แหละ
ในการเปลี่ยนแปลงโลก"
ผมเซ็ตแล็บ ทำแล็บฉายรังสี
เพาะเชื้อตั้งแต่ม.ปลาย
ตอนปี 1 ก็ไปนำเสนอเปเปอร์ที่อังกฤษ
ถ้าเข้าใจไม่ผิด จบ 3 ปีครึ่งเป็นคนแรก
ของมหาวิทยาลัยมหิดล
เสร็จแล้วก็ไปต่อที่เยล (Yale) ครับ
ที่ที่เต็มไปด้วยคนที่
อยากจะออกไปเปลี่ยนแปลงโลก
พอกลับมาเมืองไทย
คิดว่าจะเริ่มจากการเปลี่ยนแปลง
ชั้นเรียนของตัวเองก่อน
ตอนเรียนอยู่ที่เมืองนอก
ถ้าลงวิชานึง ก็กะไว้ว่า
เราจะได้อ่านหนังสือ
ประมาณสักสัปดาห์ละเล่ม
หนึ่งเดือนก็ 4 เล่ม
กลับมาเมืองไทย เอาละ
เริ่มจากเดือนละเล่มก่อน
หนึ่งเทอมก็ประมาณสัก 4-5 เล่ม
จบเทอมครับ
พวกเราคิดว่านักศึกษาอ่านจบสักกี่เล่มครับ
หลายคนอาจจะพอเดาออกครับ
อ่านไม่จบเลยสักเล่ม
ผมก็งงมาก
"เฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้นกับชั้นเรียน"
ค้นไปก็พบว่า
เราไม่ได้รู้จักนักศึกษาสักเท่าไหร่
ค้นลึกลงไปอีก
พบว่านักศึกษาก็ไม่ได้รู้จักตัวเอง
สักเท่าไหร่เหมือนกัน
เลยคิดว่า
"สงสัยเราจะต้องจัดกระบวนการ
ให้นักศึกษาเค้ารู้จักตัวเองมากขึ้น"
ก็ทำหลายอย่างครับ
แต่ว่า พอจะสรุปได้สัก 3 อย่าง
อย่างแรกก็คือฝึกฟังครับ
เพราะเชื่อว่าการฟัง
มันเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้
พื้นฐานของการเข้าใจตนเอง
นักศึกษาในชั้นเรียนจะต้องฝึกที่จะฟังด้วยหู
ฟังด้วยตา
แล้วก็ฟังด้วยใจ
เค้าจะต้องฝึกฟังเพื่อนๆ คนอื่น
แล้วก็ฝึกฟังตัวเองด้วย
อย่างที่ 2 ก็คือ
เค้าควรที่จะฝึกที่จะมีเครื่องมือ
ที่จะใช้สะท้อนตนเองครับ
อาจจะเป็นเจอร์นัลหรือว่าบันทึก
คล้ายๆ กับบันทึกประจำวัน
ที่เค้าจะต้องเขียนส่งมาทุกสัปดาห์
แล้วก้มีกิจกรรมที่เรียกว่า
เช็คอินหรือเช็คเอาท์
เป็นกิจกรรมที่ทำให้เค้าได้เช็คสภาวะตนเอง
ช่วงก่อนเรียน ระหว่างเรียน แล้วก็หลังเรียน
อย่างที่ 3
นักศึกษาจะต้องได้ออกไปทำอะไรบางอย่าง
ได้ลงมือจริงๆ
ทำอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยง
ตัวเค้ากับโลกภายนอก
ผลก็น่าทึ่งครับ
ยกตัวอย่างบอส
บอสเป็นเด็กหัวดีครับ
แต่ว่าอารมณ์ร้อน
เป็นเด็กแว้นมาก่อนครับ
แล้วเข้ามาเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ก็อกหัก
ไม่ได้โดนผู้หญิงหักอกนะครับ
แต่ว่าอกหักเพราะว่าเค้ามาเจอว่า
วิทยาศาสตร์ที่เค้าเจอ
มันคนละอย่างกัน
ไม่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ที่เค้าคิดอยู่ในใจ
มีภาพเอาไว้ก่อน
คิดๆ วนไปวนมาว่า
"จะลาออกดีไหม"
มาร้องไห้แล้วก็มาปรึกษาว่า
จะเรียนต่อดีหรือเปล่า
พอเค้าได้อยู่ในชั้นเรียนที่ตั้งคำถาม
ให้รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง
ได้รู้จักเชื่อมโยงวิชา กับชีวิต
กับโลกภายนอก
เค้าก็รู้ว่า เค้าจะเรียนวิทยาศาสตร์
อย่างมีความสุขและมีความหมายอย่างไร
แต่ก็ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ
เค้ารู้สึกว่ามันขาดอะไรบางอย่าง
ที่ทำให้ชีวิตของเค้ามันมีพลัง
พอมาสำรวจตัวเองเยอะๆ
ก็พบว่าเค้ามีความสุข
กับการไปดูเว็บไซต์ซื้อขายเครื่องเสียงครับ
แล้วที่บ้านก็ทำกิจการติดตั้งแสงสี
แต่ว่า เค้าก็สับสนว่า
มันจะไปด้วยกันได้หรือเปล่า
แต่พอเค้ากลับไปสำรวจลึกๆ จริงๆ
ก็พบว่าเค้ามีความมั่นใจ
ที่จะทำทั้งการเรียนให้ได้ดี
แล้วก็ทำธุรกิจให้ได้ดี
ตอนกลางวัน
บอสก็ทำแล็บใช้เครื่องมือหลายล้าน
ที่แล็บซื้อมา
ส่วนตอนเย็นหรือว่าสุดสัปดาห์
เค้าก็ไปจัดคอนเสิร์ต
จัดแสงเสียงให้กับคอนเสิร์ต
หรืองานแต่งงาน
ใช้เครื่องมือมูลค่าเป็นล้าน
ที่เค้าซื้อมาด้วยตนเอง
มูลค่าธุรกิจของเค้าตอนนี้ก็หลายล้าน
จากเด็กที่สุ่มเสี่ยง
อาจจะเลือกทางเดินในชีวิตที่ไม่ถูกต้อง
กลายมาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการเรียน
เป็นว่าที่ด็อกเตอร์
แล้วก็ประสบความสำเร็จในธุรกิจ
พวกเราคิดว่าชีวิตของบอส
เปลี่ยนไปไหมครับ
ผมเรียกกระบวนการนี้ว่า
จิตตปัญญาศึกษาครับ
เป็นกระบวนการที่ทำให้คนเรียน
รู้จัก เข้าใจตนเอง
แล้วก็มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตนเอง
ผมกับเพื่อนๆ ตั้งศูนย์จิตตปัญญาศึกษา
ที่มหิดลขึ้นมา
เพื่อจะขับเคลื่อนเรื่องนี้
ในระดับมหาวิทยาลัย
แล้วก็ในระดับประเทศ
เราจัดประชุมวิชาการกันหลายครั้ง
มีครั้งหนึ่งเราจัดประชุมวิชาการที่ศิริราช
โดยมากคนที่มาประชุมก็จะเป็น
อาจารย์แล้วก็เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
อาจจะมีมหาวิทยาลัยอื่นมาเพิ่มด้วย
พอช่วงที่เปิดให้ถามตอบกัน
ปรากฏว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งยกมือขึ้น
แล้วก็ขอพูด
เธอแนะนำตัวเองว่า
เธอเป็นคุณแม่ของเด็กในชั้นเรียน
ของผมคนหนึ่ง
เธอบอกว่าเธอเป็นแม่ของน้องเอม
แล้วน้องเอมหนีออกจากบ้านไป
เธอเล่าว่าน้องเอมเป็นเด็กน่ารัก
สนิทกันมากเลยตอนสมัยที่เอมยังเด็กๆ อยู่
คุยกันได้ทุกเรื่อง สนิทสนมกันมาก
แต่พอโตขึ้นก็รู้สึกว่า
มันห่างเหินกันออกไปเรื่อยๆ
พูดจากันทีไรก็เหมือนกับจะทะเลาะกัน
เธอรู้สึกว่าลูกห่างออกจากตัวเอง
ไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งเธอรู้สึกว่า
เหมือนกับลูกหนีออกจากบ้านไป
หนีออกจากบ้านไป
ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในบ้านนี่แหละครับ
แต่ว่าเธอรู้สึกว่าลูกของเธอ
ห่างไกลจนกระทั่งเธอเอื้อมมือไปไม่ถึง
ถึงขนาดที่เธอตัดใจว่า
ชีวิตนี้คงจะไม่ได้ใกล้ชิดกับลูกแบบเดิมอีก
แต่พอลูกของเธอได้มาเข้าในชั้นเรียน
เรื่องราวก็เปลี่ยนไป
เธอว่าลูกของเธอฟังเป็นมากขึ้น
กลับมาใกล้ชิดกันในครอบครัวมากขึ้น
วันนี้เธอก็เลยลางาน
เธอยอมลางานที่งานของเธอ
แล้วก็มาประชุมงานนี้
เพื่อจะบอกว่า
ขอบคุณ
ขอบคุณที่พาลูกของเธอกลับบ้าน
แม่น้องเอมขอบคุณผม
ขอบคุณชั้นเรียน
ขอบคุณคณะวิทยาศาสตร์
แล้วก็ขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดลแห่งนี้
ที่ทำให้ชีวิตครอบครัวของเธอ
กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง
พวกเราคิดว่า
โลกของน้องเอมกับโลกของคุณแม่
เปลี่ยนไปไหมครับ
นี่หรือเปล่าการเปลี่ยนแปลงโลกที่แท้จริง
การที่ทำให้คนสามารถรู้จัก เข้าใจตนเอง
แล้วก็สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้
ผมก็มีฝันครับว่า
ทำยังไงเจ้ากระบวนการดีๆ แบบนี้
มันจะเข้าถึงคนเยอะๆ
ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็น
นักเรียน นิสิต หรือว่านักศึกษา
ผมพบคำตอบในงานอาสาครับ
เพราะว่างานอาสา
มันไม่ใช่แค่ว่าจะต้องเป็นนักเรียนนักศึกษา
ใครๆ ก็เข้าถึงได้
ทุกเพศ ทุกวัย แล้วก็ทุกสถานภาพด้วย
เราเริ่มต้นจากการที่ทำรีแบรนด์ครับ
เพิ่มคุณค่าแล้วก็ความหมายใหม่ให้กับงานอาสา
เมื่อตอนปี 2547
ตอนช่วงเกิดสึนามิ
ผมกับเพื่อนๆ
เราคิดคำใหม่ขึ้นมา
คือคำว่า "จิตอาสา"
เป็นการเอาคำว่า "จิต" มารวมกับคำว่า "อาสา"
เพื่อให้คุณค่า ความหมายใหม่
เพิ่มเติมขึ้นกับงานอาสา
ว่าเป็นเรื่องของจิตใจ
เป็นเรื่องของการเรียนรู้
แล้วพอช่วงปี 2554
ช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่
ผมกับเพื่อน
แล้วก็ศิษย์เก่าในชั้นเรียน
เรารวมกันตั้ง "ธนาคารจิตอาสา" ขึ้น
เป็นธนาคารที่รับฝากของมีค่าของพวกเราครับ
ไม่ใช่เงินทอง
แต่ว่าเป็นของที่มีค่ามากกว่านั้นอีก
เป็นของที่พวกเราทุกคนได้มาเท่าๆ กัน
วันละ 24 ชั่วโมงเท่ากันครับ
ก็คือ "เวลา"
เป็นธนาคารที่รับฝากเวลาครับ
แล้วก็พาให้ทุกคนมาเจองานอาสา
ที่ตรงกับโปรไฟล์
ตรงกับความสนใจ แล้วก็ความถนัดของตัวเอง
มาเจองานอาสาที่ทำให้เรารู้จักตนเอง
แล้วก็ทำให้เราเชื่อมโยงกับโลก
เวลาพูดถึงธนาคารนะครับ
คนก็มักจะชอบถามถึง พูดถึงตัวเลข
คนมักจะชอบพูดถึงตัวเลขว่า
ธนาคารมีคนมาฝากเวลาไว้ 2.7 ล้านชั่วโมง
มีสมาชิกอยู่ข้างในห้าหมื่นกว่าคน
แล้วก็มีองค์กรมาเป็นสมาชิก
สองร้อยกว่าองค์กร
องค์กรเหล่านี้
ปีปีหนึ่งมาเปิดงานอาสา
ที่ทำให้คนได้มาทำงานอาสา
ประมาณพันงาน
ตัวเลขพวกนี้มันก็น่าสนใจนะครับ
แต่ว่า ผมคิดว่ามีอีกสิ่งหนึ่ง
ที่น่าสนใจไม่แพ้ตัวเลขเหล่านี้
ก็คือเรื่องราว ความมหัศจรรย์
ของคนที่อยู่ข้างใน
ก็คืออาสาสมัครต่างๆ ครับ
มันมหัศจรรย์ยังไงครับ
มันมหัศจรรย์เหมือนกับที่บอส
เคยเป็นนักเรียนที่อยากจะลาออก
กลายมาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
กลายมาเป็นนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จ
แล้วก็มีความสุข
มหัศจรรย์เหมือนกับน้องเอม
ที่จากเดิมห่างเหินจากคุณแม่
กลายมาเป็นคนที่ใกล้ชิดสนิทสนม
กับคุณแม่อีกครั้งหนึ่ง
อย่างพี่ต๋อยครับ
พี่ต๋อยเป็นชายวัยเกษียณ
ที่มักจะนั่งรถจากจังหวัดมุกดาหาร
ลงมาทำงานอาสาที่กรุงเทพฯ อยู่เนืองๆ
พี่ต๋อยมาทำงานอาสาสมัคร
ที่เรียกว่า "อาสารับฟัง"
งานอาสารับฟังทำให้พี่ต๋อยได้มีประสบการณ์
ที่เจอการฟังอย่างมีคุณภาพ
ได้ฝึกที่จะฟังด้วยใจ
ฟังเพื่อฟัง ฟังโดยไม่ตัดสิน
มีวันหนึ่งพี่ต๋อยมาเล่าให้พวกเราฟังว่า
เค้าขอบคุณงานอาสามากมาย
พี่ต๋อยเล่าให้ฟังว่า
"มีวันหนึ่งผมนั่งทานข้าวอยู่ที่ฟู้ดคอร์ท
แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
แล้วอยู่ๆ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งปรี่เข้ามา
เข้ามาถึงก็ทำท่าเหมือนกับจะหาเรื่อง
แล้วก็ตะคอกว่า
'นี่ เสื้อเหลืองใช่มั้ย' "
พี่ต๋อยก็งง
ก้มลงไปดู
เธอคงเห็นสายนกหวีดที่พี่ต๋อยห้อยอยู่
ตอนแรกก็กะว่าจะลุกและตวาดกลับไป
แต่พอนึกถึงงานอาสาที่ตัวเองไปฝึกมา
พี่ต๋อยก็ใจเย็นแล้วค่อยๆ ฟัง
พอผู้หญิงเห็นว่าไม่ได้มีทีท่ารุนแรงกลับไป
เธอก็เริ่มเย็นลงครับ
สุดท้ายก็ค่อยๆ คุยกัน
จากเดิมที่ตั้งท่าว่าจะทะเลาะกัน
กลายเป็นนั่งคุยกันที่ฟู้ดคอร์ทเป็นชั่วโมง
ได้ถาม รู้จักกันเพิ่มเติมมากขึ้น
ถามทั้งความเชื่อเรื่องการเมือง
แล้วก็ยาวไปถึงชีวิตส่วนตัว
พี่ต๋อยเล่าให้ฟังว่า
ปกติทำอาชีพอะไร แล้วสนใจเรื่องอะไร
เธอก็เล่าให้ฟังครับว่า
เธอเป็นนักแปลนิยาย
คุยกันสนิทสนมถึงขนาดเธอบอกว่า
จะมากรุงเทพฯ อีกเมื่อไหร่
เธอจะเตรียมนิยายที่เธอแปลให้
สุดท้าย
ผู้หญิงคนนั้นบอกว่า
"แหม ถ้าพวกเสื้อเหลือง
เป็นอย่างคุณเยอะๆ ก็ดีสิ"
พวกเราคิดว่าโลกของพี่ต๋อยเปลี่ยนไปไหมครับ
นี่แหละครับ มหัศจรรย์ของงานอาสา
งานอาสาที่ทำให้เรารู้จักตนเอง
แล้วก็ทำให้เราเชื่อมโยงกับโลกด้วย
เพราะว่าพอเรารู้จักตนเองและเชื่อมโยงกับโลก
เราก็จะเห็นว่าโลก
มันไม่ได้มีแต่โลกที่เราอาศัยอยู่
แต่ว่ามันมีโลกภายในที่เราสร้างขึ้นด้วย
และเราก็อาศัยอยู่ทั้งโลกที่เราสร้างอยู่
แล้วก็โลกที่เราอาศัยอยู่ภายนอก
แล้วเมื่อใดก็ตามที่โลกภายในของเราเปลี่ยน
โลกภายนอกก็เปลี่ยนไปด้วย
เรื่องแบบนี้ครับ
ถ้าฟังด้วยหัวก็เข้าหัว
แต่ถ้าเกิดว่าเราฟังด้วยใจเราก็จะเข้าใจ
เชิญนะครับ
มาเจอกับงานอาสาครับ
งานอาสาที่ทำให้เรารู้จักทั้งตนเอง
แล้วก็ทำให้เราเชื่อมโยงกับโลกภายนอกด้วย
แล้วพวกเราก็จะพบคำตอบด้วยตัวเองครับ
ว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลก
ผ่านการรู้จัก
แล้วก็เปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างไร
ขอบคุณครับ