การเรียนรู้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร? ผมมีแผนสำหรับอนาคตครับ แต่ก่อนที่ผมจะบอกคุณว่าแผนนั้นคืออะไร ผมต้องเล่าเรื่องให้คุณฟังเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มาของแผนนี้ ที่ผ่านมาผมพยายามศึกษาว่า วิธีการเรียนรู้ต่างๆ ที่เราใช้กันในโรงเรียน มันมาจากไหน? เราอาจจะมองย้อนไปในอดีตไกลๆ เลย แต่ถ้าคุณลองดูการเรียนการสอนในโรงเรียนปัจจุบันนี้ คุณจะเห็นได้ชัดเลยว่ามันมาจากไหน มันมาจากเมื่อ 300 ปีที่แล้ว จากจักรวรรดิสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด บนโลกใบนี้ นั่นคือจักรวรรดิอังกฤษ ลองจินตนาการว่าคุณเป็นผู้ปกครอง ที่พยายามปกครองโลกทั้งใบ โดยไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์ ด้วยข้อมูลที่เขียนด้วยลายมือบนกระดาษ และเดินทางด้วยเรือ ชาววิคตอเรียนทำได้มาแล้วนะครับ วิธีของพวกวิคตอเรียนนั้นน่าทึ่งมาก พวกเขาสร้างคอมพิวเตอร์ระดับโลก โดยมีองค์ประกอบเป็นผู้คน และมันก็ยังอยู่กับเรามาจนวันนี้ โดยมีชื่อเรียกว่า ระบบการบริหารงานแบบราชการ เครื่องจักรในระบบนี้จะขับเคลื่อนได้ คุณต้องอาศัยคนจำนวนมากมายมหาศาล พวกเขาก็เลยสร้างเครื่องจักรอีกตัวหนึ่ง มาผลิตคนเหล่านี้ นั่นคือโรงเรียน โรงเรียนทำหน้าที่ผลิตคน ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องจักรกล ของระบบบริหารงานแบบราชการ พวกเขาต้องถูกผลิตออกมาเหมือนกันหมด พวกเขาต้องรู้สามอย่าง ต้องลายมือสวย เพราะเขาต้องบันทึกข้อมูลด้วยลายมือ ต้องอ่านหนังสือออก และต้องบวก ลบ คูณ หาร ในใจได้ ทุกคนต้องออกมาเหมือนกันมากๆ จนคุณเลือกใครก็ได้สักคนจากนิวซีแลนด์ ส่งเขาไปแคนาดา แล้วสามารถทำงานได้ทันที ชาววิคตอเรียนเป็นวิศวกรที่เยี่ยมมาก พวกเขาออกแบบระบบที่ทนทานมาก มันจึงยังอยู่กับเราจนวันนี้ ยังคงผลิตคนแบบเดิมๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้อนเข้าสู่เครื่องจักรที่ไม่มีตัวตนแล้ว ระบบจักรวรรดิล่มสลายไปแล้ว แล้วเรากำลังทำอะไรกับระบบโรงเรียน ที่ผลิตคนให้ออกมาเหมือนๆ กัน แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าหากเราอยากเปลี่ยนแปลงมัน "โรงเรียนอย่างที่เราเคยรู้จักนั้น มันล้าสมัยแล้ว" นั่นเป็นคำวิจารณ์ที่ค่อนข้างแรง ผมพูดว่า โรงเรียนอย่างที่เราเคยรู้จักนั้น มันล้าสมัยไปแล้ว ผมไม่ได้บอกว่ามันพังนะครับ เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดว่า ระบบการศึกษาพังเสียแล้ว มันไม่ได้พังนะครับ มันถูกสร้างมาอย่างยอดเยี่ยม เพียงแต่เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว เพราะมันเชยไปแล้ว งานที่เราทำกันทุกวันนี้เป็นอย่างไรครับ? งานเสมียน เราก็มีคอมพิวเตอร์ นับเป็นพันๆ เครื่องในทุกที่ทำงาน แล้วคุณก็มีคนที่คอยควบคุม เครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านี้ ให้ทำงานเสมียนต่างๆ คนพวกนี้ไม่จำเป็นต้องลายมือสวย เขาไม่จำเป็นต้องคิดเลขในใจได้ เขายังต้องอ่านหนังสือออก ที่จริง เขาต้องอ่านหนังสือออก และแยกแยะได้ด้วย นี่ว่ากันเฉพาะปัจจุบันนะ เรายังไม่รู้เลยนะครับ ว่างานในอนาคตจะหน้าตาเป็นอย่างไร เรารู้ว่าคนเราจะสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ และทำอย่างไรก็ได้ แล้วโรงเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะเตรียมเด็กๆ ให้พร้อม สำหรับโลกอนาคตอย่างไร? ผมเจอเข้ากับประเด็นเหล่านี้โดยบังเอิญ ผมเคยสอนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่กรุงนิวเดลี เมื่อ 14 ปีก่อน ติดกับที่ทำงานของผม มีชุมชนแออัดอยู่แห่งหนึ่ง ผมเคยคิดว่า เด็กในสลัมพวกนี้จะมีโอกาส เรียนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ไหม? หรือพวกเขาไม่ควรจะได้เรียน? ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้ปกครองมากมาย คนรวย ที่มีคอมพิวเตอร์น่ะครับ เขาเคยพูดกับผมว่า "คุณรู้ไหม ลูกชายผมน่ะ เขามีพรสวรรค์นะ เขาทำอะไรเจ๋งๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ได้เยอะแยะ ส่วนลูกสาวผมนะ โอ้ เธอฉลาดล้ำเหลือเกิน" อะไรทำนองนี้ ผมเลยสงสัยขึ้นมาทันทีว่า ทำไมคนรวยทุกคนถึงได้มีลูก ที่มีพรสวรรค์เหนือมนุษย์มนากันทั้งนั้น? (เสียงหัวเราะ) คนจนทำอะไรผิดไปเหรอ? ต่อมา ผมเลยเจาะกำแพงรั้ว ของสลัมที่อยู่ติดกับที่ทำงานของผม เอาคอมพิวเตอร์ใส่เข้าไปเครื่องหนึ่ง แล้วรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผมให้คอมพิวเตอร์แก่เด็กที่ไม่เคยมี ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ไม่รู้ว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร เด็กๆ วิ่งกรูกันเข้ามา เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่สูงจากพื้นสามฟุต เด็กๆ ถามว่า "นี่อะไร?" ผมตอบว่า "มันคือ เอ่อ ลุงก็ไม่รู้เหมือนกัน" (เสียงหัวเราะ) เด็กๆ ถามต่อว่า "แล้วลุงเอามาไว้ตรงนี้ทำไม?" ผมบอกว่า "ก็ไว้อย่างงั้นแหละ" เด็กๆ บอกว่า "พวกเราขอเล่นหน่อยได้ไหม?" ผมบอกว่า "ก็เอาสิ" แล้วผมก็เดินหนีไป แปดชั่วโมงให้หลัง เราก็พบว่าเด็กๆ กำลังเปิดดูเว็บไซต์ต่างๆ และสอนกันและกันว่าทำอย่างไร ผมบอกว่า "เป็นไปไม่ได้อ่ะ มันจะเป็นไปได้ยังไง พวกเขาไม่รู้อะไรเลย" เพื่อนร่วมงานผมบอกว่า "ไม่หรอก มันง่ายนิดเดียว นักเรียนของคุณสักคนหนึ่งคงเดินผ่านไป และบอกเด็กๆ ว่าใช้เมาส์อย่างไร" ผมว่า "เออ นั่นก็เป็นไปได้ " ผมเลยทำการทดลองซ้ำ ผมออกจากเมืองเดลีไปทางใต้ 300 ไมล์ ในหมู่บ้านห่างไกล ซึ่งโอกาสที่วิศวกรนักพัฒนาซอฟต์แวร์จะผ่านมา มีน้อยมาก (เสียงหัวเราะ) ผมทำงานทดลองซ้ำที่นั่น ผมไม่มีที่พัก ผมเลยติดตั้งคอมพิวเตอร์ กลับบ้าน แล้วอีกสองสามเดือนก็กลับมาดู เจอเด็กๆ กำลังเล่นเกมในคอมพิวเตอร์ พอพวกเขาเห็นผม ก็พูดว่า "เราอยากได้โปรเซสเซอร์ที่เร็วขึ้น กับเมาส์ที่ดีกว่านี้" (เสียงหัวเราะ) ผมพูดว่า "พวกหนูรู้เรื่องพวกนี้ได้ยังไง?" เด็กๆ ตอบมาน่าสนใจมากๆ พวกเขาพูดด้วยเสียงหงุดหงิดว่า "ลุงเอาเครื่องที่มีแต่ภาษาอังกฤษมาให้เรา เราเลยต้องสอนภาษาอังกฤษให้ตัวเองก่อน ถึงจะใช้มันได้ " (เสียงหัวเราะ) นั่นเป็นครั้งแรกที่ผม ในฐานะคนเป็นครู ได้ยินคนพูดคำว่า "สอนตัวเอง" เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ธรรมดาๆ นี่คือภาพบางส่วนจากการทดลองของผมสมัยนั้น นั่นคือวันแรก ที่ผมติดตั้ง "คอมพิวเตอร์ในช่องกำแพง" ทางขวานั่นคือเด็กแปดขวบ ทางซ้ายนั่นคือนักเรียนของเขา เด็กผู้หญิงอายุหกขวบ เขากำลังสอนเธอเปิดดูเว็บไซต์ต่างๆ แล้วผมก็ไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ ทำงานทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า และได้ผลเหมือนเดิมเป๊ะ (คอมพิวเตอร์ในช่องกำแพง - ปี 1999) เด็กแปดขวบคนหนึ่งกำลังบอกพี่สาวว่าต้องทำอะไร และในที่สุดเด็กผู้หญิงก็อธิบาย เป็นภาษามาราติว่ามันคืออะไร และบอกว่า "มันมีโปรเซสเซอร์อยู่ข้างใน" แล้วผมก็เลยเริ่มตีพิมพ์ผลการทดลอง ผมส่งงานไปตีพิมพ์ทุกที่ ผมจดและวัดทุกอย่าง และสรุปว่า ภายในเก้าเดือน เด็กกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกปล่อยให้อยู่ลำพังกับคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าในภาษาใด จะใช้คอมพิวเตอร์ได้ดีเทียบเท่า เลขานุการคนหนึ่งในประเทศตะวันตก ผมเห็นกับตามาแล้วหลายค่อหลายครั้ง แต่ผมก็สงสัยต่อว่า เด็กๆ จะทำอะไรได้อีก ถ้าพวกเขาทำได้ขนาดนี้แล้ว? ผมเริ่มทดลองกับวิชาอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การออกเสียง มีเด็กๆ ในชุมชนแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งมีสำเนียงภาษาอังกฤษที่แย่มาก พวกเขาต้องฝึกสำเนียงให้ดี เพราะมันจะช่วยให้เขาได้งานดีขึ้น ผมลงโปรแกรมแปลงเสียงพูดเป็นตัวหนังสือในคอมพิวเตอร์ แล้วบอกเด็กๆ ว่า "พูดเข้าไป จนกว่าเครื่องจะพิมพ์คำที่เธอพูด" (เสียงหัวเราะ) เด็กๆ ก็ทำตาม ลองดูวิดีโอนี้สักนิดหนึ่งนะครับ คอมพิวเตอร์: ยินดีที่ได้รู้จัก เด็ก: ยินดีที่ได้รู้จัก ซูกาตา มิตรา: เหตุผลที่ผมหยุดภาพที่ใบหน้า ของสาวน้อยคนนี้ เพราะผมว่าพวกคุณหลายคนอาจรู้จักเธอ ตอนนี้เธอเข้าไปทำงานในคอล เซนเตอร์ที่เมืองไฮเดอราบัด และอาจเคยทรมานใจคุณเรื่องใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต ด้วยสำเนียงภาษาอังกฤษที่ชัดเจน ทีนี้คนก็ตั้งคำถามว่า แล้วโครงการนี้มันจะไปได้ไกลแค่ไหน? มันจะไปจบตรงไหน? ผมตัดสินใจว่าจะทำลายหลักการที่ผมเสนอไว้ โดยสร้างข้อเสนอที่ไร้เหตุผลขึ้นมา ผมสร้างสมมุติฐานที่น่าขำขึ้นมาข้อหนึ่ง ทมิฬ เป็นภาษาอินเดียทางใต้ ผมตั้งคำถามว่า เด็กที่พูดภาษาทมิฬในหมู่บ้านทางใต้ของอินเดีย จะเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีชีวภาพของการทำสำเนาดีเอ็นเอ ในภาษาอังกฤษ จากคอมพิวเตอร์ข้างถนนได้ไหม? ผมทดสอบความรู้เด็กๆ พวกแกได้ศูนย์คะแนน ผมตั้งคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้สองสามเดือน แล้วกลับไปทดสอบใหม่ เด็กๆ ก็ยังได้ศูนย์คะแนน ผมกลับไปที่แล็บและบอกว่า เราจำเป็นต้องมีครู ผมเลือกหมู่บ้านหนึ่ง ชื่อว่าคัลลิคุปปัม อยู่ทางใต้ของอินเดีย ผมติดตั้งคอมพิวเตอร์ในช่องกำแพง ดาวน์โหลดทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับการทำสำเนาดีเอ็นเอ มาจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่ผมเองยังไม่เข้าใจเลย เด็กๆ วิ่งกรูกันมา ถามว่า "นี่อะไรอ่ะ?" ผมบอกว่า "เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก สำคัญมาก แต่เป็นภาษาอังกฤษหมดเลยนะ" เด็กๆ บอกว่า "แล้วเราจะเข้าใจศัพท์ภาษาอังกฤษยากๆ แผนภูมิ และเรื่องทางเคมีพวกนี้ได้ยังไง?" ถึงจุดนี้ ผมได้สร้างเทคนิควิธีการสอนแบบใหม่ขึ้นมาแล้ว ผมเลยบอกไปว่า "ลุงก็ไม่รู้เหมือนกัน" (เสียงหัวเราะ) "เอาละ ลุงไปละนะ" (เสียงหัวเราะ) ผมปล่อยเด็กๆ ไปสองสามเดือน ผมทดสอบความรู้เด็กๆ พวกแกได้ศูนย์คะแนน ผมกลับมาใหม่สองเดือนให้หลัง เด็กๆ มากันกลุ่มใหญ่และพูดว่า "พวกเรายังไม่เข้าใจอะไรเลย" ผมบอก "อืม ลุงก็ไม่ได้คาดหวังอะไรนี่?" แล้วก็พูดว่า "เอาล่ะ ว่าแต่ มันใช้เวลานานแค่ไหนล่ะ หนูถึงสรุปว่าหนูไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย?" เด็กๆ ตอบว่า "พวกเรายังไม่ยอมแพ้หรอกนะ เรามานั่งดูมันทุกวันเลย" ผมบอก "อะไรนะ พวกหนูไม่เข้าใจอะไรที่อยู่บนจอนี่เลย แต่ก็มานั่งจ้องมันอยู่ตั้งสองเดือนเลยเหรอ? เพื่ออะไรล่ะ? เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่คุณเห็นอยู่ตรงนี้ ยกมือขึ้น และพูดกับผมด้วยภาษาทมิฬ และอังกฤษกระท่อนกระแท่น เธอบอกว่า "เอ่อ เรารู้แค่ว่า ความผิดพลาดในการทำสำเนา โมเลกุลของดีเอ็นเอทำให้เกิดโรค นอกจากนั้นเรายังไม่เข้าใจอะไรเลยค่ะ" (เสียงหัวเราะ) (เสียงปรบมือ) แล้วผมก็เลยทดสอบพวกเขา และได้ผลที่เป็นไปไม่ได้ทางการศึกษา จากศูนย์เพิ่มเป็น 30% ภายใน 2 เดือน ในความร้อนของอากาศใกล้เส้นศูนย์สูตร กับคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่ง ใต้ต้นไม้ ในภาษาที่เขาไม่รู้ ในเรื่องที่ล้ำยุคกว่าความรู้ที่พวกเขามีนับสิบปี น่าตลกสิ้นดี แต่ผมก็ต้องยึดตามเกณฑ์ของพวกวิคตอเรียน 30% ก็ยังถือว่าตก ผมจะทำให้เขาผ่านเกณฑ์ได้ยังไง? ต้องทำให้เขาได้เพิ่มอีก 20 คะแนน ผมหาครูไม่ได้ แต่ผมเจอเพื่อนรุ่นพี่ของเด็กๆ สาวน้อยอายุ 22 ปีซึ่งเป็นนักบัญชี และเล่นกับเด็กๆ พวกนี้ตลอด ผมเลยถามสาวน้อยคนนี้ว่า "คุณช่วยเด็กๆ หน่อยได้ไหม?" เธอตอบว่า "ไม่ได้แน่เลยค่ะ หนูไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์มา หนูไม่รู้เลยว่า เด็กๆ ทำอะไรกันใต้ต้นไม้นั่นทั้งวี่ทั้งวัน หนูช่วยไม่ได้หรอก" ผมบอกเธอว่า "นี่ จะบอกอะไรให้ หนูแค่ใช้วิธีของคุณยายเท่านั้นเอง" เธอถามว่า "ทำยังไงเหรอ?" ผมตอบว่า "ก็ยืนข้างหลังเด็กๆ เมื่อไหร่เด็กๆ ทำอะไรก็ตาม หนูก็แค่พูดว่า "โอ้ ว้าว เธอทำอย่างนั้นได้ยังไงน่ะ? แล้วหน้าต่อไปมีอะไรน่ะ? ตอนอายุเท่าพวกเธอ ฉันทำแบบนี้ไม่ได้เลยนะเนี่ย หนูนึกออกนะว่าคุณยายทำยังไงน่ะ" แล้วเธอก็ทำอย่างนั้นอยู่สองเดือน คะแนนของเด็กๆ กระโดดไปเป็น 50% เด็กๆ ในคัลลิคุปปัม ตีเสมอเด็กๆ ในโรงเรียนเปรียบเทียบที่นิวเดลีแล้ว โรงเรียนเอกชนแพงๆ โดยครูที่จบมาทางเทคโนโลยีชีวภาพ เมื่อผมเห็นกราฟนั่น ผมรู้เลยว่า เรามีทางสร้างความเสมอภาคแล้ว นี่คือคัลลิคุปปัม (เสียงเด็กพูด) เซลล์ประสาท... สื่อสาร ผมวางมุมกล้องผิด ก็ถ่ายแบบมือสมัครเล่นน่ะครับ แต่สิ่งที่เธอพูด คุณคงฟังออก เป็นเรื่องเกี่ยวกับเซลล์ประสาท เธอทำมือแบบนี้ และพูดว่าเซลล์ประสาทสื่อสารกัน เธออายุแค่ 12 ขวบ เอาล่ะ แล้วงานในอนาคตจะหน้าตาเป็นอย่างไร? อืม เรารู้ว่าวันนี้มันเป็นอย่างไร แล้วการเรียนรู้ล่ะ จะเป็นอย่างไร? เรารู้ว่าวันนี้มันเป็นอย่างไร เด็กๆ นั้น มือหนึ่งก็สาละวนกับโทรศัพท์มือถือ แล้วก็อิดออดไม่อยากไปโรงเรียน เพื่อหยิบหนังสือมาอ่านด้วยมืออีกข้างหนึ่ง แล้วพรุ่งนี้ล่ะ มันจะเป็นอย่างไร? เราอาจจะไม่ต้องไปโรงเรียนเลยก็ได้ หรือเปล่า? เป็นไปได้ไหมว่า เมื่อคุณอยากรู้อะไรสักอย่าง คุณก็หาได้ภายในสองนาที? เป็นไปได้ไหมว่า... แหม คำถามนี้ทำร้ายจิตใจมาก เป็นคำถามที่นิโคลัส นีโกรปอนติถามผม ว่า เป็นไปได้ไหมว่า เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ อนาคตที่การ " รู้ " เป็นเรื่องล้าสมัย? นั่นคงแย่มาก เราเป็นมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ การ " รู้ " เป็นสิ่งที่จำแนกเราจากพวกมนุษย์ลิง แต่ลองมองมุมนี้นะครับ ธรรมชาติใช้เวลา 100 ล้านปี กว่าจะทำให้มนุษย์ลิงยืนขึ้นสองขา และกลายเป็นมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ แต่พวกเราใช้เวลาแค่ 10,000 ปี ทำให้การ " รู้ " เป็นเรื่องล้าสมัย นั่นเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งนะ แต่เราต้องบูรณาการมันเข้ากับอนาคตของเรา ดูเหมือนการให้กำลังใจจะเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าคุณดูที่เมืองคุปปัม ถ้าคุณลองดูการทดลองทั้งหมดที่ผมเคยทำ มันก็แค่การพูดว่า "ว้าว" เพื่อสดุดีการเรียนรู้ มีหลักฐานทางประสาทวิทยาศาสตร์ว่า ใจกลางของสมองคนเรา ส่วนที่เหมือนของสัตว์เลี้อยคลาน เมื่อถูกคุกความ มันจะไปหยุดการทำงานของส่วนอื่นๆ หมด มันปิดสวิทช์สมองส่วนหน้า ส่วนที่ใช้ในการเรียนรู้ มันหยุดการทำงานของส่วนนั้นหมด การลงโทษและการสอบก็คือภาวะคุกคาม เราปิดสวิทช์สมองของเด็กๆ แล้วก็สั่งให้เขา "ทำงาน" ทำไมเขาถึงสร้างระบบแบบนี้ขึ้นมา? เพราะเมื่อก่อนมันจำเป็น ในยุคจักรวรรดินิยม คุณต้องการคนที่เอาตัวรอดได้ในภาวะถูกคุกคาม เมื่อคุณยืนอยู่ในสนามเพลาะคนเดียว ถ้าคุณรอดมาได้ คุณโอเค คุณผ่าน ถ้าคุณไม่รอด คุณก็ตก แต่ยุคจักรวรรดินิยมนั้นผ่านไปแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับความคิดสร้างสรรค์ในยุคของเรา? เราต้องปรับเปลี่ยนสมดุล จากการคุกคามกลับไปสู่ความพึงพอใจ ผมกลับมาที่อังกฤษเพื่อตามหาคุณยายชาวอังกฤษ ผมเขียนประกาศในกระดาษว่า ถ้าคุณเป็นคุณยายชาวอังกฤษ มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และกล้องเว็บแคม คุณจะสละเวลาให้ผมสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมงได้ไหม? ผมหาคุณยายได้ 200 คนภายในสองสัปดาห์แรก ตอนนี้ผมรู้จักคุณยายชาวอังกฤษมากกว่าใครในจักรวาลแล้ว (เสียงหัวเราะ) เราเรียกคุณยายเหล่านี้ว่า คุณยายบนก้อนเมฆ คุณยายบนก้อนเมฆนั่งอยู่ในอินเทอร์เน็ต เมื่อเด็กๆ มีปัญหา เราก็ส่งสัญญาณไปหาคุณยาย คุณยายจะมาจัดการ ผ่านทางสไกป์ ผมเคยเห็นเขาทำแบบนี้ในหมู่บ้านชื่อดิกเกิลส์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ ลึกเข้าไปในหมู่บ้านในรัฐทมิฬนาดู อินเดีย ห่างออกไป 6,000 ไมล์ เธอทำได้ด้วยท่าทางเก่าแก่ที่คุ้นเคย "ชู่..." โอเค ลองดูนี่ คุณยาย: เธอจับฉันไม่ได้หรอก ไหนพูดซิ เธอจับฉันไม่ได้หรอก เด็กๆ: เธอจับฉันไม่ได้หรอก คุณยาย: ฉันคือมนุษย์ขนมปังขิง เด็กๆ: ฉันคือมนุษย์ขนมปังขิง คุณยาย: ถูกต้อง! ดีมาก ซูกาตา: เกิดอะไรขึ้นครับ? ผมว่าสิ่งที่เราต้องมาดูกันคือ เราต้องมองว่าการเรียนรู้ เป็นผลผลิตของการจัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ถ้าคุณยอมปล่อยให้กระบวนการศึกษาจัดระบบตัวมันเอง การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น มันไม่ใช่การ "ทำ" ให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น แต่เป็นการ "ปล่อย" ให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น ครูทำหน้าที่ผลักดันให้กระบวนการนี้เริ่มต้น แล้วถอยไปยืนอยู่เบื้องหลังด้วยความทึ่ง เมื่อมองเห็นการเรียนรู้เกิดขึ้น ผมคิดว่านั่นแหละคือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น แต่เราจะรู้แน่ได้อย่างไร? ผมตั้งใจจะสร้าง สภาพแวดล้อมเพื่อการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Organized Learning Environments - SOLE) ซึ่งก็คืออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ การร่วมมือกัน และการให้กำลังใจประกอบกัน ผมทดลองสูตรนี้ในหลายต่อหลายโรงเรียน ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยคุณครูหลายคน ยืนดูแล้วบอกว่า "แล้วการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเองเหรอ?" ผมบอกว่า "ใช่ มันจะเกิดขึ้นเอง" "รู้ได้ยังไงล่ะ?" ผมตอบว่า "คุณคงไม่เชื่อที่เด็กๆ บอกผม และคงไม่เชื่อด้วยว่าเขามาจากไหน" ลองดูนี่ นี่คือห้องเรียนแบบ SOLE (เสียงเด็กคุยกัน) อันนี้ที่อังกฤษ เขารักษากฎระเบียบในห้องเรียน เพราะ จำได้ใช่ไหมครับ ว่าไม่มีครูอยู่ด้วย เด็กผู้หญิง: จำนวนรวมของอิเล็กตรอนไม่เท่ากับจำนวนโปรตอน ซูกาตา: นี่ที่ออสเตรเลีย เด็กผู้หญิง: ทำให้ไอออนมีประจุไฟฟ้าบวกหรือลบ ระดับประจุของไอออนตัวหนึ่ง เท่ากับจำนวนโปรตอนในไอออน ลบด้วยจำนวนอิเล็กตรอน ซูกาตา: ความรู้ที่เกินอายุของเธอเป็นสิบปี ดังนั้น สำหรับ SOLE ผมว่าเราต้องการคำถามสำคัญที่น่าสนใจ คุณคงเคยได้ยินคำถามแบบนี้ คุณรู้ว่ามันหมายถึงอะไร สมัยก่อนนี้ หนุ่มสาวยุคหิน เคยนั่งมองขึ้นไปบนฟ้า แล้วถามว่า "แสงวิบวับพวกนั้นคืออะไร?" แล้วเขาก็สร้างหลักสูตรขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เราลืมคำถามน่าพิศวงพวกนี้ไปหมด แล้วย่อมันลงจนเหลือแค่ด้านของสามเหลี่ยม แต่มันไม่น่าสนใจพอ ถ้าคุณจะสอนเด็กเก้าขวบ คุณต้องบอกว่า "ถ้ามีอุกาบาตกำลังพุ่งมาทางโลก หนูจะรู้ได้ยังไงว่ามันจะชนโลกหรือเปล่า?" ถ้าเขาถามว่า "อะไรนะครับ? ทำยังไงล่ะครับ?" คุณก็บอกไปว่า "มีคำวิเศษคำหนึ่ง คำว่าด้านของสามเหลี่ยม" แล้วปล่อยเขาอยู่คนเดียว เขาจะหาคำตอบได้เอง นี่เป็นภาพบางส่วนจากโครงการ SOLE ผมลองตั้งคำถามยากๆ เช่น "โลกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? แล้วมันจะสิ้นสุดอย่างไร?" ถามเด็กอายุเก้าขวบ อันนี้ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับอากาศที่เราหายใจเข้าไป เด็กๆ เขียนออกมาเองโดยครูไม่ต้องช่วยเลย ครูเพียงแค่ตั้งคำถาม แล้วถอยไปข้างหลัง และชื่นชมคำตอบของเด็กๆ ดังนั้น พรที่ผมจะขอคืออะไร? พรที่ผมอยากขอคือ อยากให้เราออกแบบอนาคตของการเรียนรู้ เราไม่อยากเป็นแค่ชิ้นส่วนอะไหล่ ของเครื่องคอมพิวเตอร์มนุษย์ ใช่ไหมครับ? เราจึงต้องออกแบบอนาคตการเรียนรู้ และเราจะต้อง... เดี๋ยวนะครับ ผมต้องพูดให้ถูกต้องครบถ้วน เพราะ คุณรู้ใช่ไหม มันสำคัญมาก พรที่ผมอยากขอ คือ การสร้างอนาคตของการเรียนรู้ โดยสนับสนุนเด็กๆ ทั่วโลก ให้นำความรู้สึกพิศวงและสามารถของเขา ออกมาทำงานด้วยกัน โปรดช่วยผมสร้างโรงเรียนแห่งนี้ ผมจะเรียกมันว่า โรงเรียนบนก้อนเมฆ (School in the Cloud) เป็นโรงเรียนที่เด็กๆ จะได้ผจญภัยทางความคิด โดยแรงผลักดันจากคำถามสำคัญที่ครูหยอดมาให้ สิ่งที่ผมจะทำ คือ สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ผมสามารถศึกษากระบวนการนี้ได้ เป็นที่ที่ไม่ต้องมีคนมาอยู่ประจำ แค่มีคุณยายคนหนึ่ง คอยจัดการเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย อย่างอื่นที่เหลือหาได้จากอินเทอร์เน็ต แสงไฟเปิดปิดตามโปรแกรมในอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ทุกอย่างทำผ่านอินเทอร์เน็ตหมด แต่ผมอยากขอความช่วยเหลือจากคุณเรื่องหนึ่ง คุณสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ที่บ้าน ที่โรงเรียน นอกโรงเรียน ในคลับ ทำง่ายมาก เรามีเอกสารที่เยี่ยมมาก ที่ TED จัดทำขึ้น ซึ่งบอกคุณหมดเลยว่าจะทำอย่างไร ผมขอร้องให้คุณลองทำดู ทั่วทวีปทั้งห้า แล้วส่งข้อมูลมาให้ผม ผมจะเอาข้อมูลมารวมกัน และใส่เข้าไปในโรงเรียนบนก้อนเมฆ และสร้างอนาคตของการเรียนรู้ นั่นคือพรที่ผมขอ และท้ายสุดนี้ ผมจะพาคุณขึ้นไปบนยอดเขาหิมาลัย ที่ความสูง 12,000 ฟุต อากาศเบาบาง ผมเคยติดตั้งคอมพิวเตอร์ในช่องกำแพงสองเครื่อง และเด็กๆ ก็มาจับกลุ่มกันที่นั่น มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่คอยเดินตามผมไปทั่ว ผมบอกเธอว่า "หนูรู้ไหม ลุงอยากหาคอมพิวเตอร์ ให้ทุกคน ให้เด็กทุกคนเลย แต่ลุงไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี?" และขณะที่ผมกำลังพยายามถ่ายรูปเธอเงียบๆ ทันใดนั้น เธอก็ยกมือขึ้นมาแบบนี้ และบอกผมว่า "เลิกพูด แล้วลงมือทำสิ" (เสียงหัวเราะ) (เสียงปรบมือ) ผมว่านั่นเป็นคำแนะนำที่ดีนะ ผมจะทำตามคำแนะนำของเธอ ผมจะหยุดพูดละ ขอบคุณครับ ขอบคุณมากครับ (เสียงปรบมือ) ขอบคุณครับ ขอบคุณ (เสียงปรบมือ) ขอบคุณมากครับ ว้าว (เสียงปรบมือ)