ชาวออสเตรเลียเรียกมันว่า "รันเนอร์" ชาวอังกฤษเรียกมันว่า "เทรนเนอร์" ชาวอเมริกันเรียกมันว่า "รองเท้าเทนนิส" หรือ "สนีกเกอร์" ไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่าอะไร รองเท้าลำลองพื้นยางพวกนี้ มีคนสวมใส่นับพันล้านคนทั่วโลก มันถูกคิดค้นขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ตอนปลาย สิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากผ้าใบและยางเหล่านี้ ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่มีการตบเท้าเข้ามาขายเป็นครั้งแรก ทุกวันนี้ การใช้จ่ายไปกับรองเท้าผ้าใบ อยู่ในจุดที่สูงเป็นประวัติการณ์ และไม่มีประเทศไหนซื้อรองเท้าผ้าใบ เยอะไปมากกว่าสหรัฐอเมริกา ที่ที่คนซื้อรองเท้าเฉลี่ยปีละ 3 คู่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการ จึงมีการผลิต รองเท้าปีละราวๆ 2.3 หมื่นล้านคู่ โดยหลักๆ จะผลิตที่โรงงานในประเทศจีน และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การผลิตรองเท้านั้นเริ่มซับซ้อนมากขึ้น ใช้แรงงานมากขึ้น และบางครั้งอาจอันตรายมากขึ้น ทั้งต่อคนงานที่เกี่ยวข้อง และโลกของเรา การผลิตรองเท้านั้นปล่อย ก๊าซคาร์บอนต่างๆ ออกมาราว 1 ใน 5 ส่วนของทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น แค่รองเท้าผ้าใบอย่างเดียวก็ปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 313 ล้านตันทุกปี ซึ่งเทียบเท่ากับรถ 66 ล้านคันต่อปีรวมกัน เพื่อให้เข้าใจร่องรอยคาร์บอนฟุต ในรองเท้าของคุณมากขึ้น เราไปดูโครงสร้างของรองเท้าผ้าใบกันดีกว่า เริ่มกันที่ ส่วนของส้นรองเท้า อินโซล มิดโซล และตัวรองเท้า เป็นส่วนที่ผลิตมาจากผ้าใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ ไนลอน ลาเท็กซ์ และโพลียูรีเทน การขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลมาทำวัสดุเหล่านี้ ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาล และการแปรรูปวัตถุดิบ ให้กลายเป็นผ้าใยสังเคราะห์นั้น ใช้พลังงานเยอะมากเช่นกัน ซึ่งทำให้มลพิษทวีคูณขึ้นอีก ตัวรองเท้าบางรุ่นทำจากวัสดุธรรมชาติ อย่างเช่นหนัง แต่การฟอกหนังจำเป็นต้องใช้โครเมี่ยม สารเคมีก่อมะเร็งที่สามารถ สร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศน้ำจืดได้ พื้นรองเท้าส่วนใหญ่จะทำมาจากยาง ที่ผ่านกระบวนการวัลแคไนซ์ หรือการคงรูปยาง กระบวนการนี้จะเติมกำมะถัน ลงในยางที่มีความร้อนสูง เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ยืดหยุ่นและแข็งแรง รองเท้าผ้าใบใช้ยางธรรมชาติ ในกระบวนการนี้จนถึงปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้ พื้นรองเท้าทำมาจาก วัสดุสังเคราะห์ผสมจากยางธรรมชาติ และผลิตผลพลอยได้จากน้ำมันกับถ่าน การผลิตวัสดุเหล่านี้คิดเป็น 20% ของร่องรอยคาร์บอนในรองเท้าคู่หนึ่ง แต่อีก 2 ใน 3 ส่วนจะเกิดขึ้นในขั้นตอนต่อไป ซึ่งก็คือกระบวนการผลิตรองเท้านั่นเอง รองเท้าผ้าใบทั่วไปประกอบด้วย ชิ้นส่วนที่ต่างกัน 65 ชิ้น แต่ละชิ้นก็จะผลิตโดยเครื่องจักรเฉพาะของมัน นั่นหมายความว่า ถ้าให้ 1 โรงงานผลิต 1 ชิ้น แต่ผลิตทีละเยอะๆ ก็จะถูกกว่า แทนที่จะผลิตชิ้นส่วนทุกชิ้น ในโรงงานเดียวกัน แต่การขนส่งชิ้นส่วนพวกนี้ ไปยังโรงงานประกอบรองเท้าโรงเดียว ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากยิ่งขึ้น เมื่อชิ้นส่วนไปถึงสายการประกอบ ก็จะไปผ่านการตัด เท หลอม อบ เย็นตัว และติดกาว ก่อนที่จะเย็บรองเท้าเข้าด้วยกัน การประกอบรองเท้าผ้าใบทั่วๆ ไป มีขั้นตอนมากถึง 360 ขั้นตอน และคิดเป็น 20% ของมลภาวะจากรองเท้าคู่หนึ่ง โรงงานที่กระจัดกระจายกัน ทำให้เกิดอีกปัญหา : การละเมิดสิทธิแรงงาน แบรนด์ส่วนมากไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงาน และไม่ได้บริหารโรงงาน ฉะนั้นโรงงานที่ทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ มักเป็นประเทศที่ไม่มีกฏหมายคุ้มครองแรงงาน หรือมีน้อยมาก เป็นผลให้แรงงานหลายคน ได้ค่าแรงต่ำกว่าค่าครองขีพ และได้รับสารเคมีอันตรายเข้าไป อย่างเช่นไอควันจากกาว เมื่อการผลิตเสร็จสมบูรณ์ รองเท้าจะถูกบรรจุและส่งไปตามร้านค้าทั่วโลก รองเท้าสามารถอยู่ได้หลายปีสำหรับหลายๆ คน แต่กับคนที่วิ่ง 20 ไมล์ต่อสัปดาห์ รองเท้าวิ่ง 1 คู่จะเริ่มสึกหรอ เมื่อใช้งานราวๆ 6 เดือน เนื่องจากรองเท้าทำมาจากวัสดุหลายชนิด มันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะแยกชิ้นส่วนมารีไซเคิล รองเท้า 20% ถูกนำไปเผาทำลาย และที่เหลือก็ลงหลุมฝังดินไป ซึ่งใช้เวลามากถึง 1,000 ปีเพื่อย่อยสลาย แล้วเราจะสมดุลความรักที่มีต่อรองเท้า กับการรักษาธรรมชาติอย่างยั่งยืนยังไงล่ะ? ขั้นแรก นักออกแบบควรปรับปรุง องค์ประกอบของการออกแบบ และให้ความสนใจกับวัสดุที่เป็นมิตรต่อโลก โรงงานจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการผลิต ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถรวบขั้นตอนทำรองเท้า กับชิ้นส่วนรองเท้าให้เร็วขึ้น และผู้บริโภคควรสนับสนุน ให้บริษัทใช้พลังงานสะอาด และกระบวนการผลิตที่มีจริยธรรม เราสามารถซื้อรองเท้าให้น้อยลงได้ ใส่รองเท้าให้นานขึ้นได้ และสามารถบริจาคคู่ที่ไม่ใช้แล้วได้ ฉะนั้น ไม่ว่าสไตล์ของคุณจะเป็นแบบไหน เราจะก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยกัน