อะไรทำให้เราแข็งแรงและมีความสุข ในการใช้ชีวิต หากตอนนี้จะต้องลงทุน สร้างตัวเองที่ดีที่สุดในอนาคต คุณจะใช้เวลาและพลังไปกับสิ่งใด? เมื่อเร็วๆ นี้ มีการสำรวจคนยุค Millennials ถามพวกเขาว่าเป้าหมายสูงสุด ในชีวิตของพวกเขาคืออะไร และมากกว่า 80% ตอบว่า เป้าหมายสูงสุดคือความร่ำรวย และอีก 50% ของคนกลุ่มเดียวกันนี้ บอกว่าเป้าหมายในชีวิตอีกอย่างหนึ่ง คือการมีชื่อเสียงโด่งดัง (เสียงหัวเราะ) เรามักจะถูกสอนให้มุ่งไปที่งาน ทุ่มเทให้กับงานมากๆ และประสบความสำเร็จให้มากขึ้น เราถูกฝังหัวว่านี่คือสิ่งที่เราต้องไขว่คว้า เพื่อที่จะมีชีวิตที่ดี ภาพของชีวิต ภาพของทางเลือกที่เราเลือกเดิน และผลลัพธ์ของทางเลือกเหล่านั้น ภาพเหล่านั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทุกสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ได้จากการให้ผู้คนนึกย้อนอดีต และเท่าที่เรารู้ การมองย้อนอดีต มันไม่ได้คมชัด เที่ยงตรง เรามักจะลืมสิ่งที่เกิดขึ้นมากมายในชีวิต และบางครั้งส่วนที่จำได้ ก็ถูกแต่งเติมขึ้นมาอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าเราสามารถมองดูชีวิตทั้งชีวิต ในขณะที่ชีวิตค่อยๆ เป็นไปตามกาลเวลาล่ะ? หากเราสามารถศึกษาผู้คน ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น จนกระทั่งแก่ชรา เพื่อดูว่าอะไรทำให้เราแข็งแรง และมีความสุขอย่างแท้จริงล่ะ? พวกผมทำแล้วครับ โครงการ Harvard Study of Adult Development อาจจะเป็นโครงการศึกษาชีวิตมนุษย์ ที่นานที่สุดเท่าที่เคยมีมา ตลอด 75 ปี เราศึกษาชีวิตของชาย 724 คน ถามพวกเขาเกี่ยวกับงาน ความเป็นอยู่ และสุขภาพ ปีแล้วปีเล่า และแน่นอนว่าเราถามคำถามโดยไม่รู้เลยว่า สุดท้ายแล้วชีวิตของพวกเขา จะเป็นอย่างไร การศึกษาวิจัยแบบนี้ หายากครับ เกือบทุกโครงการ ลักษณะแบบเดียวกันนี้ มักล้มเลิกไปภายใน 10 ปี เพราะมีกลุ่มตัวอย่าง ขอออกจากโครงการจำนวนมาก หรือไม่ก็ ไม่มีเงินสนับสนุนโครงการต่อ หรือไม่ นักวิจัยดันเกิดหมดความสนใจ หรือไม่ นักวิจัยเสียชีวิต และไม่มีใครสานต่อโครงการ แต่ด้วยโชคช่วย และด้วยความตั้งใจของนักวิจัยรุ่นต่อรุ่น โครงการศึกษานี้รอดมาได้ กลุ่มตัวอย่างของเราราวๆ 60 คน จาก 724 คน ยังมีชีวิตอยู่ และยังร่วมอยู่ในโครงการนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อายุราวๆ 90 ปีแล้ว และตอนนี้เราก็เริ่มศึกษา ลูกหลานของคนเหล่านี้ ซึ่งมีมากกว่า 2,000 คน และผมเป็นหัวหน้าคณะวิจัยรุ่นที่ 4 ของโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 1938 เราติดตามชีวิต ของชายสองกลุ่ม กลุ่มแรกเริ่มเข้าโครงการ ขณะเรียนอยู่ปีสองที่วิทยาลัยฮาร์วาร์ด พวกเขาทุกคนจบวิทยาลัย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกือบทุกคนก็ออกมา เข้าร่วมสงคราม กลุ่มที่สองที่เราติดตามศึกษา เป็นกลุ่มเด็กชายจากชุมชน ที่จนที่สุดในบอสตัน เด็กๆ ถูกคัดเลือกเข้าโครงการ เพราะพวกเขามาจากครอบครัวที่มีปัญหา และด้อยโอกาสมากที่สุด ในบอสตันช่วงปี 1930 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในห้องเช่า ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีน้ำใช้ เมื่อพวกเขาเข้าร่วมโครงการ เด็กทุกคนถูกสัมภาษณ์ และได้รับการตรวจร่างกาย เราไปที่บ้านของพวกเขาและสัมภาษณ์พ่อแม่ จากนั้น พวกเขาก็เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และมีชีวิตที่แตกต่างกัน พวกเขากลายเป็นพนักงานโรงงาน ทนายความ ช่างปูน และหมอ หนึ่งคนเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา บางคนติดสุราเรื้อรัง จำนวนหนึ่งเป็นโรคจิตเภท บางคนไต่บันไดของสังคม จากชนชั้นล่างสุดไปเป็นชนชั้นสูงสุด บางคนดำเนินชีวิตไปในทางตรงกันข้าม ผู้ก่อตั้งโครงการนี้ คงไม่เคยคิดไม่เคยฝัน ว่าผมจะมายืนอยู่ตรงนี้ 75 ปีให้หลัง และบอกกับคุณว่าโครงการนี้ยังดำเนินต่อ ทุกๆ สองปี นักวิจัยที่ทุ่มเท และมีความอดทนสูง จะโทรหากลุ่มตัวอย่าง และถามพวกเขาว่าจะเป็นอะไรมั้ย หากเราจะส่งคำถาม ถามเกี่ยวกับ ชีวิตของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง ชายในกลุ่มเด็กยากจนจากบอสตัน หลายคนถามเราว่า "ทำไมพวกคุณถึงยังอยากศึกษาชีวิตผม? ชีวิตผมไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น" แต่ชายจากฮาร์วาร์ดไม่เคยถามคำถามนั้น (เสียงหัวเราะ) เพื่อให้เห็นภาพชีวิตของคนเหล่านี้ชัดที่สุด เราไม่ได้ส่งไปแค่ชุดคำถาม แต่เราสัมภาษณ์พวกเขาในห้องนั่งเล่น ขอบันทึกเอกสารทางการแพทย์ของพวกเขา เก็บตัวอย่างเลือดและสแกนสมองของพวกเขา คุยกับลูกๆ ของพวกเขา อัดวิดีโอขณะที่พวกเขา เล่าความกังวลใจให้ภรรยาฟัง และ 10 ปีก่อน เมื่อเราขอให้ภรรยาของพวกเขา เข้าร่วมในโครงการนี้ ภรรยาหลายคนตอบว่า "ได้เวลาพอดีเลย คุณรู้รึเปล่า" (เสียงหัวเราะ) แล้ว เราเรียนรู้อะไร? อะไรคือบทเรียนจากข้อมูล จำนวนหลายหมื่นหน้าที่เราเขียนขึ้น จากชีวิตของคนเหล่านี้? บทเรียนไม่ได้เกี่ยวกับความร่ำรวย ความโด่งดัง หรือการทำงานหนัก สิ่งที่ชัดเจนที่สุด ที่เราได้จากการวิจัย 75 ปี คือ ความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้เรา มีความสุขและแข็งแรงมากขึ้น จบครับ เราได้ข้อคิด 3 ข้อหลักๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ ข้อแรก คือ ความสัมพันธ์ทางสังคม มีประโยชน์กับเรามาก และความโดดเดี่ยวฆ่าเรา กลายเป็นว่า คนที่มีความสัมพันธ์อันดี กับครอบครัว เพื่อน และสังคมของเขา มีความสุข สุขภาพดี และอายุยืน กว่าคนที่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยกว่า เราพบว่า ประสบการณ์อันโดดเดี่ยวนั้นเป็นพิษ คนที่ถูกโดดเดี่ยวจากคนอื่น มากกว่าที่เขาอยากจะเป็น กลายเป็นคนไม่มีความสุข สุขภาพเสื่อมโทรมตั้งแต่ช่วงกลางของชีวิต การทำงานของสมองเสื่อมลงเร็วกว่า และอายุสั้นกว่าคนที่ไม่โดดเดี่ยว และความจริงอันแสนเศร้าคือ ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ จะมีชาวอเมริกันมากกว่าหนึ่งในห้า บอกว่าตนเองโดดเดี่ยว และเราก็รู้ว่าคุณอาจรู้สึกโดดเดี่ยว ท่ามกลางผู้คนมากมาย และคุณอาจรู้สึกโดดเดี่ยวท่ามกลางชีวิตคู่ ดังนั้น ข้อคิดที่สอง ที่เราได้เรียนรู้ คือ ไม่ใช่แค่จำนวนเพื่อนที่คุณมี และไม่ใช่แค่การมีความสัมพันธ์ที่จริงจัง สิ่งสำคัญ คือ คุณภาพของความสัมพันธ์ใกล้ชิด เราพบว่าการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ชีวิตแต่งงานที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และร้างความรัก เป็นสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพของเรา อาจจะมากกว่าการหย่าร้างด้วยซ้ำไป และการมีชีวิตอยู่ท่ามกลาง ความสัมพันธ์ที่อบอุ่นช่วยปกป้องเรา เมื่อเราศึกษากลุ่มตัวอย่าง จนกระทั่ง พวกเขาอยู่ในช่วงอายุ 80 ปี เราต้องการที่จะย้อนกลับไปดู ชีวิตวัยกลางคนของพวกเขา เพื่อดูว่าเราจะสามารถทำนาย ว่าใครจะกลายเป็นชายวัย 80 ที่สุขภาพดี มีความสุข และใครไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเรารวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่เรารู้ เกี่ยวกับพวกเขา ตอนพวกเขาอายุ 50 ปี เราพบว่าระดับคอเลสเตอรอล ในช่วงวัยกลางคน ไม่ได้บ่งบอกเลยว่า พวกเขาจะเป็นอย่างไรเมื่อแก่ตัวลง แต่กลับเป็นระดับความพึงพอใจของพวกเขา ต่อความสัมพันธ์ที่พวกเขามี ชายที่พอใจกับความสัมพันธ์ที่มีตอนอายุ 50 เป็นชายที่แข็งแรงที่สุด ตอนอายุ 80 ความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่ดี ดูเหมือนจะช่วยปกป้องเรา จากผลเสียของการแก่ชรา ชายและหญิงที่ครองคู่กันอย่างมีความสุข บอกกับเรา เมื่ออายุ 80 ว่า ในวันที่พวกเขาเจ็บปวดทางกายเป็นอย่างมาก พวกเขายังคงมีความสุข แต่สำหรับคนที่มีความสัมพันธ์ ที่ไม่มีความสุข ในวันที่เขาเจ็บปวดทางกายเป็นอย่างมาก ความเจ็บปวดจะทวีคูณ ด้วยความเจ็บปวดทางอารมณ์ บทเรียนที่สาม ที่เราเรียนรู้ เกี่ยวกับความสัมพันธ์และสุขภาพของเรา คือ ความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ใช่แค่ปกป้องสุขภาพเท่านั้น แต่ยังปกป้องสมองของเราด้วย เราพบว่า การมีความสัมพันธ์ ที่แน่นแฟ้นและมั่นคง กับคนอีกคนในช่วงอายุ 80 เป็นสิ่งที่ปกป้องเรา คนที่มีความสัมพันธ์ ที่พวกเขารู้สึกว่า พึ่งพาอีกคนได้เมื่อต้องการ มีความจำที่เฉียบคมเป็นระยะเวลานาน ส่วนคนที่มีความสัมพันธ์ ที่พวกเขารู้สึกว่า ไม่สามารถพึ่งพาอีกคนได้ กลับมีสภาวะความจำเสื่อมถอยเร็วกว่า ความสัมพันธ์ที่ดีที่ว่านั้น ไม่จำเป็นต้องราบรื่นตลอดเวลา คู่รักวัย 80 บางคู่ อาจจะทะเลาะ ไม่หยุดไม่หย่อน แต่ตราบเท่าที่พวกเขารู้สึกว่า สามารถพึ่งพากันได้ เมื่อทุกอย่างแย่ การทะเลาะกันไม่ได้มีผลต่อ ความจำของพวกเขาเลย สิ่งที่เราต้องการจะบอก คือ ความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิด ดีต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี นี่เป็นความรู้ที่มีมานาน แล้วทำไมมันถึงทำได้ยาก และถูกลืมได้อย่างง่ายดาย ก็เพราะ เราเป็นมนุษย์ สิ่งที่เราชอบคือทางออกที่ง่ายและเร็ว อะไรก็ได้ที่เราหามาได้ ที่จะช่วยให้เรามีชีวิตที่ดี และดีต่อไปเรื่อยๆ ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ยุ่งยาก และซับซ้อน และความยุ่งยาก ในการใส่ใจครอบครัวและเพื่อน ก็ไม่น่าสนใจหรือดึงดูดใจเลย มันเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดชีวิต ไม่มีวันจบสิ้น กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย 75 ปีของเรา ที่มีความสุขที่สุดในชีวิตหลังเกษียณ คือผู้ที่คอยแทนที่เพื่อนร่วมงาน ด้วยเพื่อนร่วมเล่นอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับคนวัย Millennials จากการสำรวจล่าสุดนั่นแหละครับ ชายหลายคนในงานวิจัยของเรา เมื่อครั้งที่พวกเขายังเป็นหนุ่มวัยรุ่น เชื่อจริงๆ ว่า ชื่อเสียง ความร่ำรวย และการประสบความสำเร็จสูงสุด คือสิ่งที่พวกเขาต้องได้มา เพื่อการมีชีวิตที่ดี แต่ครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยของเราชี้ให้เห็นแล้วว่า คนที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือคนที่ทุ่มเทเวลาให้กับ ครอบครัว เพื่อน และสังคมของเขา แล้วคุณล่ะครับ ตอนนี้ คุณอาจจะอายุ 25 หรือ 40 หรือ 60 การทุ่มให้กับความสัมพันธ์อย่างที่ว่านี่ ต้องทำอย่างไร? เป็นอะไรก็ครับ ความเป็นไปได้มีไม่สิ้นสุด อาจจะเป็นอะไรง่ายๆ อย่างการ จัดสรรเวลาให้กับพวกเขา หรือการทำให้ความสัมพันธ์ที่น่าเบื่อ สดใสขึ้นด้วยการทำกิจกรรมใหม่ๆ ด้วยกัน การเดินด้วยกัน หรือการออกเดท หรือการติดต่อคนในครอบครัว ที่คุณไม่ได้คุยด้วยเป็นเวลานาน เพราะความบาดหมางธรรมดาๆ ในครอบครัว อาจส่งผลเสียร้ายแรง กับผู้ที่มีความแค้นฝังใจอยู่ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยคำพูด ของ Mark Twain หลายศตวรรษก่อน Mark Twain ได้มองย้อนกลับไปในชีวิตของเขา และได้เขียนสิ่งนี้ขึ้นครับ "ชีวิตสั้นนัก จนไม่มีเวลา สำหรับการทะเลาะ การขอโทษ การอิจฉาริษยา และการต่อว่า มีเพียงเวลาเพื่อรัก และจะว่าไปแล้ว ก็แสนสั้นเช่นกัน" ชีวิตที่ดีเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ดี ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)