ภาษาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตเรา ที่เรามักมองข้ามความสำคัญของมันไป ด้วยการใช้ภาษา พวกเราสามารถที่จะสื่อสาร ความคิดและความรู้สึกของเรา หลงเข้าไปในนิยาย ส่งข้อความ และทักทายเพื่อน ๆ มันยากที่จะจินตนาการ ถึงการที่เรา ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดให้กลายเป็นคำได้ แต่ถ้าหากเครือข่ายภาษา อันละเอียดอ่อนในสมองของคุณ ถูกรบกวนด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง, ความเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บที่สมอง คุณจะพบว่าตนเองนั้นจะอยู่ใน ภาวะพูดไม่ออกอย่างแท้จริง โรคนี้ถูกเรียกว่า อะเฟเชีย ซึ่งสามารถทำให้เกิด การเสื่อมสภาพในทุกแง่มุมของการสื่อสาร คนที่เป็นโรคอะเฟเชียนั้น ยังคงมีเชาวน์ปัญญาเหมือนเดิม พวกเขารู้ว่า พวกเขาต้องการจะพูดอะไร แต่ก็ไม่สามารถเลือกหาคำเหล่านั้น และพูดออกมาได้อย่างถูกต้องเสมอไป พวกเขาอาจจะใช้วิธีการแทนที่คำ อย่างไม่ตั้งใจ ซึ่งเรียกว่า การใช้คำไม่ถูก ซึ่งก็คือ การสับเปลี่ยนคำที่เกี่ยวข้องกัน อย่างเช่น พูดว่า "หมา" แทนที่จะพูดว่า "แมว" หรือคำที่เสียงใกล้เคียงกัน เช่น "เฮาส์" (บ้าน) แทนที่ "ฮอสส์" (ม้า) บางครั้ง คำพูดของพวกเขา อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ โรคอะเฟเชียมีอยู่หลายขนิด ที่ถูกจัดกลุ่มได้เป็นสองประเภท อะเฟเชียแบบพูดได้อย่างคล่องแคล่ว หรือที่เกี่ยวกับการรับรู้ผิดปกติ และ อะเฟเชียแบบพูดไม่คล่องแคล่ว หรือมีการแสดงออกผิดปกติ คนที่เป็นอะเฟเชียแบบพูดอย่างคล่องแคล่ว อาจใช้น้ำเสียงปกติ หากแต่กลับใช้คำที่ไม่มีความหมาย พวกเขามีปัญหา ในการทำความเข้าใจคำพูดของผู้อื่น และบ่อยครั้ง พวกเขาไม่สามารถ รู้ถึงข้อผิดพลาดในการพูดของตนเอง ในทางตรงกันข้าม คนที่เป็นอะเฟเชียแบบพูดไม่คล่องแคล่ว จะมีการเข้าใจความหมายที่ดี แต่จะลังเลอยู่นานกว่าจะพูดแต่ละคำ และมักใช้ไวยากรณ์ผิด พวกเราล้วนแล้วแต่มีอาการติดอยู่ที่ริมผีปาก บ้างเป็นบางครั้ง เมื่อพวกเรานึกคำไม่ออก แต่โรคอะเฟเชียทำให้การเรียกชื่อ สิ่งของในชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องยาก แม้แต่การอ่าน และการเขียนก็เป็น เรื่องยาก และน่าหงุดหงิดใจ แล้วการสูญหายไปของภาษานี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร สมองของมนุษย์มีสองซีก ในคนส่วนใหญ่ สมองซึกซ้าย ควบคุมด้านภาษา พวกเรารู้เรื่องนี้เป็นเพราะ ในปี ค.ศ. 1861 นายแพทย์ พอล โบรคาได้ทำการศึกษาคนไข้ ที่สูญเสียความสามารถในการใช้ภาษาทั้งหมด เว้นแต่ คำ ๆ เดียวคือ "แทน" (tan) ระหว่างการศึกษาโดยการชันสูตร สมองของผู้ป่วย โบรคาได้ค้นพบบาดแผลขนาดใหญ่ ในซีกซ้ายของสมอง ซึ่งตอนนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ บริเวณ โบรคา (Broca's area) นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อว่า บริเวณโบรคา เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการเรียกชื่อสิ่งของ และประสานงานกับกล้ามเนื้อ ที่เกี่ยวข้องกับการพูด หลังบริเวณโบรคา คือ บริเวณเวอร์นิกี (Wernicke's area) ซึ่งอยู่ใกล้กับสมองส่วนการได้ยิน ซึ่งเป็นบริเวณที่สมอง เชื่อมโยงความหมายกับเสียงพูดเข้าด้วยกัน บริเวณเวอร์นิกีที่ได้รับความเสียหาย จะบั่นทอน ความสามารถของสมองในการเข้าใจภาษา อะเฟเชียเกิดจากความเสียหายในหนึ่ง หรือทั้งสองบริเวณที่เกี่ยวกับภาษาโดยเฉพาะ โชคดีที่มีบริเวณอื่น ๆ ในสมอง ที่สนับสนุนศูนย์กลางด้านภาษาเหล่านี้ และสามารถช่วยเหลือในการสื่อสารได้ แม้แต่บริเวณของสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ก็ถูกเชื่อมต่อกับภาษา จากการศึกษาโดยใช้ FMRI พบว่าเมื่อเราได้ยิน คำที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว เช่น "วิ่ง" หรือ "เต้น" ส่วนของสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับ การเคลื่อนไหวจะมีการตอบสนอง ราวกับว่าร่างกายกำลังวิ่งหรือเต้นอยู่จริง ๆ สมองอีกซีกหนึ่งของเรา ก็มีส่วนในเรื่องของภาษาด้วยเช่นกัน โดยทำหน้าที่เพิ่มจังหวะ และการใช้เสียงสูงต่ำในการพูดของเรา ตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษาเหล่านี้ บางครั้งก็ช่วยเหลือคนที่เป็นโรคอะเฟเชีย เมื่อมีปัญหาในการสื่อสาร แล้วโรคอะเฟเชียพบได้มากแค่ไหน เพียงแค่ในสหรัฐอเมริกาแห่งเดียว มีคนประมาณ 1 ล้านคนที่เป็นโรคนี้ และมีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 80,000 คน ต่อปี ประมาณหนึ่งในสามของผู้รอดชีวิตจาก โรคหลอดเลือดสมองมีอาการอะเฟเชีย ทำให้โรคนี้ถูกพบได้มากกว่า ผู้ป่วยโรคพาคินสัน หรือคิดเป็นสองเท่าของผู้ป่วยเส้นเลือดตีบ แต่ทว่ามันยังเป็นที่รู้จักในวงแคบกว่า มีรูปแบบหนึ่งที่หายากของอะเฟเชีย ที่เรียกว่า ภาวะเสียการสื่อความแบบปฐมภูมิ หรือ PPA ซึ่งไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือการได้รับบาดเจ็บที่สมอง แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของโรคสมองเสื่อม ซึ่งการสูญเสียภาษาเป็น อาการอันดับแรกของโรคนี้ เป้าหมายในการรักษา PPA คือการประคับประคอง ด้านภาษาให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนที่อาการอื่น ๆ ของโรคสมองเสื่อม จะเกิดขึ้นในท้ายที่สุด อย่างไรก็ดี เมื่อโรคอะเฟเชียพัฒนามาจาก โรคหลอดเลือดสมอง หรือการบาดเจ็บที่สมอง การปรับปรุงด้านภาษาอาจทำได้ โดยการบำบัดเกี่ยวกับการพูด สมองของเรามีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเอง ที่เรียกกันว่า ความยืดหยุ่นของสมอง ที่ทำให้ส่วนที่อยู่รอบ ๆ บริเวณที่บาดเจ็บของสมอง เข้ามาควบคุมบางหน้าที่แทน ในระหว่างกระบวนการฟื้นฟู นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลอง โดยใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ที่พวกเขาเชื่อว่าอาจจะช่วยส่งเสริม ความยืดหยุ่นของสมองในคนที่เป็นอะเฟเชีย ในระหว่างนั้น คนที่เป็นโรคอะเฟเชีย จำนวนมากก็ยังคงรู้สึกแปลกแยก เกรงว่าคนอื่น ๆ จะไม่เข้าใจพวกเขา หรือจะไม่ยอมเสียเวลาให้พวกเขาได้พูด ด้วยการให้เวลาและความยืดหยุ่นในการสื่อสาร ในรูปแบบใดก็ตามที่พวกเขาสามารถทำได้ คุณสามารถช่วยเปิดประตูภาษา ของพวกเขาได้อีกครั้ง ให้พวกเขาก้าวขึ้นไป เหนือกว่าขีดจำกัดของโรคอะเฟเชีย