โทรศัพท์มือถือเครื่องนี้
เริ่มชีวิตของมัน
ในเหมืองพื้นบ้าน
ทางภาคตะวันออกของประเทศคองโก
แร่ถูกขุดด้วยแก๊งติดอาวุธ
ที่ใช้เด็กเป็นทาส
เป็นแร่ที่คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ
เรียกว่า "แร่เลือด"
ต่อมามันเดินทางมาอยู่ในชิ้นส่วนประกอบ
และลงเอยในโรงงานแห่งหนึ่ง
ในเมืองเฉินจิ้น ประเทศจีน
ลูกจ้างในโรงงานนี้กว่า 12 คนฆ่าตัวตายไปแล้ว
เฉพาะปีนี้ปีเดียว
ชายคนหนึ่งตายหลังจากทำงานไม่หยุด 36 ชั่วโมง
เราทุกคนชอบช็อกโกแลต
เราซื้อมันให้ลูกๆ
ร้อยละ 80 ของโกโก้ทั่วโลกมาจากโคตดิวัวร์ (Cote d'Ivoire) และกานา
เก็บเกี่ยวโดยเด็กๆ
โคตดิวัวร์มีปัญหาใช้เด็กเป็นทาสเยอะมาก
เด็กๆ มักจะถูกส่งตัวมาจากพื้นที่อื่นที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้ง
ถูกใช้ทำงานในไร่กาแฟ
เฮปาริน (Heparin) น้ำยาเจือจางเลือด
ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมตัวหนึ่ง
กำเนิดในร้านช่างท้องถิ่น
แบบนี้ในประเทศจีน
เพราะส่วนประกอบที่สำคัญ
มาจากไส้หมู
เพชรของคุณ - ทุกท่านคงเคยได้ยินหรือได้ดูหนังเรื่อง "เพชรเลือด (Blood Diamond)" แล้ว
นี่คือเหมืองเพชรในซิมบับเว
ตอนนี้
ฝ้าย - อุซเบกิสถานคือผู้ส่งออกฝ้าย
อันดับสองของโลก
ทุกปีเมื่อมาถึงฤดูเก็บเกี่ยวฝ้าย
รัฐบาลจะปิดโรงเรียน
ไล่เด็กขึ้นรถเมล์ ส่งพวกเขาไปที่ไร่ฝ้าย
บังคับให้เก็บฝ้ายตลอดเวลาสามสัปดาห์
นี่คือการใช้แรงงานเด็ก
ในระดับสถาบัน
และผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้อาจจะจบสิ้นวงจรชีวิต
ในกองขยะหน้าตาแบบนี้ในมะนิลา
เมืองเหล่านี้ ที่มาทั้งหมดนี้
สะท้อนช่องว่างของธรรมาภิบาล
นี่คือคำอธิบายที่นิ่มนวลที่สุด
ที่ผมคิดได้เกี่ยวกับเรื่องนี้
นี่คือทะเลมืด
ที่ห่วงโซ่อุปทานโลกเริ่มต้น
ห่วงโซ่อุปทานโลก
ที่นำส่งสินค้าหลากยี่ห้อที่เราโปรดปราน
ช่องว่างธรรมาภิบาลบางช่อง
บริหารจัดการโดยรัฐเถื่อน
บางรัฐไม่ใช่รัฐอีกต่อไปแล้วด้วย
แต่เป็นรัฐล้มเหลว
บางประเทศ
เป็นแค่ประเทศที่เชื่อว่าการผ่อนปรนกฏเกณฑ์หรือการไร้ซึ่งกฏเกณฑ์ใดๆ
คือวิธีที่ดีที่สุดในการดึงดูดเงินลงทุน
และส่งเสริมการค้า
รัฐทั้งสองแบบนี้ทำให้เราเผชิญกับ
ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรมและจริยธรรมขนาดใหญ่
ผมรู้ว่าไม่มีใครหรอกที่อยากเป็นคนสมรู้ร่วมคิด
หลังจากที่รู้แล้ว
ว่าเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในห่วงโซ่อุปทานโลก
แต่ ณ ขณะนี้
บริษัทส่วนใหญ่ที่มีส่วนในห่วงโซ่อุปทานที่ว่า
ไม่มีวิธีอะไรเลย
ที่จะทำให้เรามั่นใจว่า
ไม่มีใครต้องจำนองอนาคตของตัวเอง
ไม่มีใครต้องเสียสละสิทธิของพวกเขา
ในการนำส่งสินค้า
ยี่ห้อต่างๆ ที่เราโปรดปราน
ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อทำให้คุณหดหู่
เกี่ยวกับสถานการณ์ของห่วงโซ่อุปทานโลก
แต่เราต้องเผชิญหน้ากับความจริง
เราต้องตระหนักว่านี่คือปัญหาร้ายแรง
ปัญหาการด้อยสิทธิ
นี่คือสาธารณรัฐที่เป็นอิสระ
อาจเข้าข่ายรัฐล้มเหลว
ไม่ใช่รัฐประชาธิปไตยแน่ๆ
และตอนนี้
สาธารณรัฐห่วงโซ่อุปทานที่เป็นอิสระนี้
ไม่มีใครกำกับดูแล
ในทางที่จะทำให้เรามั่นใจว่า
เราจะสามารถค้าขายหรือบริโภคอย่างมีศีลธรรม
โอเค เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
คุณเคยเห็นภาพยนตร์สารคดีหลายเรื่อง
เกี่ยวกับโรงงานนรกในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ทั่วโลก แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว
ถ้าคุณอยากเห็นโรงงานนรกแบบคลาสสิก
ก็ไปเจอผมได้ครับที่ แมดิสัน สแควร์ การ์เด้น (Madison Square Garden)
ผมจะพาคุณเดินไปดูโรงงานนรกของคนจีน
ลองดูเฮปารินเป็นตัวอย่าง
นี่คือผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม
คุณคงคาดว่าห่วงโซ่อุปทานที่นำส่งมันไปยังโรงพยาบาล
จะสะอาดเอี่ยมไร้มลทิน
ปัญหาคือส่วนประกอบหลักในผลิตภัณฑ์ตัวนี้
อย่างที่ผมพูดไปแล้ว
มาจากหมู
ผู้ผลิตรายใหญ่ในอเมริกา
ที่ทำส่วนประกอบชนิดนี้
ตัดสินใจเมื่อไม่กี่ปีก่อนว่าจะย้ายโรงงานไปที่จีน
เพราะจีนเป็นประเทศที่เลี้ยงหมูมากที่สุดในโลก
ตอนที่โรงงานของพวกเขาในจีน
ซึ่งก็คงจะสะอาดมากๆ
รับซื้อส่วนประกอบทั้งหมด
มาจากโรงฆ่าสัตว์หลังบ้านของคนจีน
ที่ครอบครัวเชือดหมู
และสกัดเอาส่วนผสมนี้ออกมา
เมื่อสองสามปีก่อน เกิดกรณีอื้อฉาว
มีคนตายประมาณ 80 คนทั่วโลก
จากสารปนเปื้อน
ที่ซึมเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของเฮปาริน
ที่แย่กว่านั้นคือ ซัพพลายเออร์ (supplier) บางราย
ตระหนักว่าพวกเขาสามารถทดแทนผลิตภัณฑ์
ด้วยตัวอื่นที่สร้างผลเหมือนกับเฮปารินในการทดสอบ
ผลิตภัณฑ์ตัวแทนนี้มีราคาเพียง 9 ดอลลาร์ต่อปอนด์ (ประมาณ 600 บาท/ก.ก.)
ขณะที่เฮปาริน ส่วนประกอบที่แท้จริง
มีราคา 900 ดอลลาร์ต่อปอนด์ (ประมาณ 6 หมื่นบาท/ก.ก.)
เรื่องนี้ไม่ต้องคิดเลย
ปัญหาคือมันฆ่าคนมากกว่าเดิม
ทีนี้คุณจะถามตัวเองว่า
"ทำไมองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (U.S.FDA)
ถึงปล่อยให้เกิดเรื่องอย่างนี้?"
องค์การอาหารและยาของจีน
ปล่อยเรื่องอย่างนี้ได้อย่างไร?"
คำตอบนั้นเรียบง่ายมาก
จีนได้ระบุประเภทโรงงานที่ผลิต
ว่าเป็นโรงงานเคมี ไม่ใช่โรงงานเภสัชกรรม
รัฐก็เลยไม่ตรวจสอบโรงงานเหล่านี้
ส่วนองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ
ก็เจอปัญหาขอบเขตการกำกับดูแล
เพราะโรงงานอยู่ในจีน
ที่จริง องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ สอบสวนกรณีที่เกิดนอกประเทศ
ประมาณ 12 เรื่องต่อปี อาจจะถึง 20 ในปีที่ดี
มีโรงงานแบบนี้ 500 แห่ง
ที่ผลิตสารทดแทนเฮปาริน
เฉพาะในจีนเพียงประเทศเดียว
อันที่จริง ประมาณร้อยละ 80
ของสารประกอบหลักในยา
ตอนนี้มาจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะจีนและอินเดีย
และเราก็ไม่มีระบบธรรมาภิบาล
เราไม่มีระบบกำกับดูแล
ที่จะทำให้มั่นใจว่า
การผลิตยานั้นปลอดภัย
เราไม่มีระบบที่จะมั่นใจว่า
สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีขั้นพื้นฐาน
จะได้รับการคุ้มครอง
ดังนั้น ในระดับชาติ
และเราก็ทำงานในประมาณ 60 ประเทศ
ในระดับชาติ
เราเห็นการพังทลายย่อยยับของความสามารถของรัฐบาล
ที่จะกำกับดูแลการผลิต
บนแผ่นดินของตัวเอง
ปัญหาที่แท้จริงของห่วงโซ่อุปทานโลก
ก็คือมันเป็นห่วงโซ่ข้ามชาติ
รัฐบาลที่กำลังเข้าสู่ภาวะล้มเหลว
ที่กำลังปล่อยปละละเลย
ในระดับประเทศ
ยิ่งไม่สามารถรับมือกับปัญหา
ระดับนานาชาติได้
ดูจากพาดหัวข่าวก็ได้ครับ
อย่างที่โคเปนเฮเกน ปีที่แล้ว
รัฐบาลต่างๆ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ในการทำสิ่งที่ถูกต้อง
เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายระดับสากล
หรือลองดูการประชุมจี 20 (G20) เมื่อสองสัปดาห์ก่อนก็ได้
ถดถอยจากพันธกรณีที่ประกาศเพียงเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
คุณจะเลือกประเด็น
ความท้าทายขนาดใหญ่ระดับโลก ประเด็นไหนก็ได้ที่เราคุยกันสัปดาห์นี้
และถามตัวเองว่า ไหนล่ะภาวะผู้นำจากรัฐบาล
ที่จะก้าวออกมาและประกาศวิธีแก้ไข
มาตรการรับมือ
กับปัญหาสากลเหล่านี้?
คำตอบสั้นๆ คือ พวกเขาทำไม่ได้ พวกเขาอยู่ระดับชาติ
ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอยู่ในประเทศ
พวกเขามีผลประโยชน์เฉพาะเขตแดน
พวกเขาตั้งผลประโยชน์เหล่านั้นเป็นรอง
เอาสินค้าสาธารณะระดับนานาชาติเป็นหลักไม่ได้
ดังนั้น ถ้าเราจะมั่นใจได้ว่าจะมี
สินค้าสาธารณะสำคัญๆ
ในระดับนานาชาติ
ในกรณีนี้คือ ห่วงโซ่อุปทานโลก
เราก็จะต้องมองหากลไกอื่น
ต้องใช้เครื่องจักรตัวอื่น
โชคดีที่เรามีตัวอย่างบางกรณีแล้ว
ในทศวรรษ 1990
มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นหลายเรื่อง
เกี่ยวกับการผลิตสินค้ามียี่ห้อในอเมริกา
ประเด็นการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ
การบั่นทอนสุขภาพและความปลอดภัยขั้นรุนแรง
ในที่สุด ในปี 1996 (พ.ศ.2539) ประธานาธิบดีคลินตัน
ก็เรียกประชุมที่ทำเนียบขาว
เชิญนักอุตสาหกรรม นักสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ
สหภาพแรงงาน กระทรวงแรงงาน
เชิญฝ่ายเหล่านี้มาอยู่ในห้อง
แล้วบอกว่า "เอาล่ะ
ผมไม่อยากให้โลกาภิวัตน์เป็นการวิ่งแข่งไปสู่จุดเสื่อม
ผมไม่รู้ว่าจะป้องกันมันได้อย่างไร
แต่อย่างน้อยผมก็จะเปิดห้องทำงานของผม
ให้พวกคุณทุกคนมารวมตัวกัน
หาหนทางแก้ปัญหา"
คนกลุ่มนี้ก็เลยจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแห่งทำเนียบขาวขึ้นมา
ใช้เวลาประมาณสามปีถกเถียงกัน
ว่าใครควรจะมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง
ในห่วงโซ่อุปทานโลก
บริษัทไม่รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของพวกเขา
เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงาน
ไม่ได้เป็นนายจ้างของแรงงานเหล่านั้น
ไม่มีความรับผิดชอบทางกฎหมาย
คนที่เหลือรอบโต๊ะประชุม
บอกว่า "โทษนะ พูดอย่างนั้นไม่ได้หรอก
คุณมีพันธะที่จะต้องดูแล มีพันธกิจ
ที่จะให้เรามั่นใจว่าผลิตภัณฑ์
จะเดินทางจากที่ไหนก็แล้วแต่ ไปยังร้านค้า
ในทางที่ทำให้เราบริโภคมันได้
โดยไม่ต้องห่วงความปลอดภัยของเรา
หรือไม่ต้องเสียสละมโนธรรมของเรา
เวลาบริโภคสินค้าตัวนั้น"
พวกเขาเลยตกลงกันว่า "โอเค สิ่งที่เราจะทำ
คือเราจะตกลงร่วมใช้มาตรฐานเดียวกัน
ร่วมใช้จรรยาบรรณแบบเดียวกัน
และประกาศใช้มันตลอดสาย
ห่วงโซ่อุปทานโลกของเรา
ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของหรือผู้ควบคุม
เราจะทำให้เป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญานี้"
นั่นคือวาบแห่งอัจฉริยะ
เพราะสิ่งที่พวกเขาทำ
คือการใช้พลังของพันธสัญญา
พลังของภาคเอกชน
ในการนำส่งสินค้าสาธารณะ
ความเป็นจริงก็คือ
สัญญาจ้างที่บริษัทยี่ห้อชั้นนำข้ามชาติยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง
ทำกับซัพพลายเออร์ในอินเดียหรือจีน
มีพลังการหว่านล้อม
สูงกว่ากฎหมายแรงงานในประเทศมาก
กฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศ
มาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศ
โรงงานเหล่านี้คงไม่มีวันเจอใครไปตรวจสอบเลย
และถ้ามีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ
ก็จะเป็นเรื่องน่าทึ่งมากถ้าเจ้าหน้าที่
ปฏิเสธไม่รับสินบน
แม้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทำงานเต็มที่
รายงานว่าโรงงานเหล่านี้ละเมิดกฎระเบียบ
ค่าปรับก็จะเล็กน้อยจนน่าขัน
แต่ถ้าคุณถูกบอกเลิกสัญญา
จากบริษัทยี่ห้อดัง
มันจะเป็นความแตกต่าง
ระหว่างการอยู่รอดของธุรกิจ หรือล้มละลาย
นี่คือความแตกต่าง
ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้
ที่ผ่านมาคือเราได้ใช้
พลังและอิทธิพล
ของสถาบันเพียงแห่งเดียวที่เป็นสถาบันข้ามชาติ
ในห่วงโซ่อุปทานโลก
นั่นคือ บริษัทข้ามชาติ
ผลักดันให้พวกเขาทำสิ่งที่ถูกต้อง
ใช้พลังเพื่อความดี
ในการนำส่งสินค้าสาธารณะสำคัญๆ
แน่นอน เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ
ของบริษัทข้ามชาติ
องค์กรของพวกเขาไม่ได้ถูกก่อตั้งมาทำเรื่องนี้ แต่ถูกก่อตั้งมาทำกำไร
แต่พวกเขาเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงมาก
พวกเขามีทรัพยากร
และถ้าเราสามารถเพิ่มเจตจำนง ความทุ่มเท
พวกเขาก็รู้ว่าจะต้องนำส่งสินค้าอย่างไร
ทีนี้ การจะบรรลุเป้านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
ห่วงโซ่อุปทานที่ผมฉายให้ดูก่อนหน้านี้
มันไม่มีอยู่จริง
คุณต้องมีพื้นที่ปลอดภัย
พื้นที่ที่คนจะมารวมตัวกัน
นั่งลงโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกใครตัดสิน
ไม่กลัวว่าใครจะกล่าวหา
จะได้เผชิญกับปัญหาจริงๆ
ตกลงกันว่าปัญหาคืออะไร และร่วมกันหาวิธีแก้ไข
เราทำเรื่องนี้ได้ วิธีแก้ไขทางเทคนิคมีอยู่แล้ว
ปัญหาอยู่ที่การขาดความไว้วางใจกัน ขาดความมั่นใจ
ขาดความเป็นแนวร่วม
ระหว่างเอ็นจีโอ กลุ่มรณรงค์
องค์กรภาคประชาสังคม
และบริษัทข้ามชาติ
ถ้าเราสามารถนำกลุ่มทั้งสองฝั่งนี้มาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
ทำให้พวกเขาทำงานร่วมกัน
เราก็จะสามารถนำส่งสินค้าสาธารณะได้เลย
หรือภายในเวลาไม่นาน
นี่คือข้อเสนอที่สุดโต่ง
และก็บ้ามากถ้าคิดว่า
ถ้าคุณเป็นเด็กสาวอายุ 15 ชาวบังกลาเทศ
ออกจากหมู่บ้านในชนบท
ไปทำงานในโรงงานในเมืองดาก้า
และค่าแรง 22, 23, 24 ดอลลาร์ต่อเดือน (ประมาณ 700 บาท)
โอกาสที่ดีที่สุดของคุณที่จะมีสิทธิในที่ทำงาน
คือถ้าโรงงานนั้นกำลังผลิต
ให้กับบริษัทยี่ห้อดัง
ที่มีจรรยาบรรณเป็นลายลักษณ์อักษร
และบรรจุจรรยาบรรณนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างกับโรงงาน
เป็นเรื่องบ้า
ที่คิดว่าบริษัทข้ามชาติกำลังพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
ผมรู้ว่าคุณคงไม่เชื่อหูตัวเอง
คุณจะบอกว่า "เราจะไว้ใจพวกเขาได้ยังไง?"
ที่จริงเราไม่ไว้ใจครับ
เราใช้กฏจากยุคควบคุมขีปนาวุธ
"ไว้ใจ แต่ตรวจสอบ"
เราจึงไปตรวจสอบ
เราหาข้อมูลเรื่องห่วงโซ่อุปทาน จดชื่อโรงงานทั้งหมด
เราสุ่มเลือกบางโรงงาน
ส่งนักตรวจสอบเข้าไป โดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า
เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ในโรงงาน
เสร็จแล้วเราก็ตีพิมพ์ผลการตรวจสอบ
ความโปร่งใสคือหัวใจของเรื่องนี้
คุณอ้างได้ว่าคุณรับผิดชอบ
แต่ความรับผิดชอบที่ปราศจากการตรวจสอบ
มักจะใช้ไม่ได้
ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังทำคือ ไม่เพียงแต่ชักจูงบริษัทข้ามชาติ
แต่เรากำลังมอบเครื่องมือให้พวกเขานำส่งสินค้าสาธารณะ
ที่เรียกว่า ความเคารพในสิทธิมนุษยชน
และเราก็กำลังตรวจสอบ
คุณไม่ต้องเชื่อผมนะครับ และคุณก็ไม่ควรเชื่อผมด้วย
แต่ไปที่เว็บไซต์ ดูผลการตรวจสอบ
และถามตัวเองว่า บริษัทนี้กำลังทำตัว
ในทางที่รับผิดชอบต่อสังคมหรือเปล่า?
ฉันจะซื้อผลิตภัณฑ์นี้ได้หรือไม่
โดยไม่ต้องอ่อนข้อจุดยืนทางศีลธรรม?
นี่คือวิธีที่ระบบนี้ทำงาน
ผมเกลียดความคิด
ที่ว่ารัฐบาลไม่ได้ปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
ผมเกลียดความคิด
ที่ว่ารัฐบาลได้ปล่อยปละละเลย
และผมก็ทำใจยอมรับไม่ได้
กับความคิดที่่ว่าเราทำให้รัฐบาลทำหน้าที่ไม่ได้
ผมทำเรื่องนี้มา 30 ปีแล้ว
ตลอดเวลานั้นผมได้เห็น
ความสามารถ ความทุ่มเท และเจตจำนงของรัฐบาล
ที่ทำให้เรื่องนี้เสื่อมถอย
และผมก็ไม่เห็นว่าพวกเขาจะทำตัวดีขึ้น
ตอนนั้นเราเริ่มจากความคิด
ที่ว่านี่คือมาตรการชั่วคราว
แต่ตอนนี้เรากำลังคิดว่า ที่จริงแล้ว
นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น
ของการกำกับดูแลแบบใหม่ และการรับมือ
กับความท้าทายสากล
คุณอาจเรียกมันว่า ธรรมาภิบาลแบบเครือข่าย เรียกว่าอะไรก็ได้
ผู้มีส่วนร่วมจากภาคเอกชน
บริษัทและเอ็นจีโอทั้งหลาย
จะต้องมาช่วยกันคิด
เพื่อรับมือกับความท้าทายหลักๆ ที่เรากำลังจะเผชิญ
แค่ดูเรื่องโรคระบาดก็ได้
โรคไข้หวัดหมู ไข้หวัดนก H1N1
ดูระบบสุขภาพในหลายๆประเทศ
พวกเขามีทรัพยากรพอไหม
ที่จะรับมือกับโรคระบาดรุนแรง?
ไม่เลย
ภาคเอกชนกับเอ็นจีโอ
จะมาร่วมกันแก้ไขได้หรือเปล่า?
ได้แน่นอน
สิ่งที่พวกเขาขาด คือพื้นที่ปลอดภัย
ที่จะมาร่วมกันหาข้อตกลง
และลงมือปฏิบัติ
นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะสร้าง
ผมรู้ดีว่า
เรื่องนี้มักจะดูเหมือน
ความรับผิดชอบที่ใหญ่โตเกินไป
สำหรับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
"คุณอยากให้ผมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ตลอดห่วงโซ่อุปทานโลกของผม
ที่มีซัพพลายเออร์หลายพันเจ้า
มันดูยากเกินไป อันตรายเกินไป
สำหรับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง"
แต่แล้วเราก็มีสมาชิก
มีบริษัท 4,000 แห่งมาเป็นสมาชิกเรา
บางแห่งเป็นบริษัทใหญ่ยักษ์มาก
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องกีฬา
พวกเขาตอบรับความท้าทายและทำสำเร็จ
เรามีตัวอย่าง มีต้นแบบ
และเมื่อไรก็ตามที่เราถกเถียง
ปัญหาหนึ่งที่เราต้องรับมือ
นั่นคือ แรงงานเด็กในไร่เมล็ดฝ้ายในอินเดีย
ปีนี้เราจะติดตามสถานการณ์ในไร่เมล็ดฝ้าย 50,000 แห่งในอินเดีย
เป็นตัวเลขที่ดูเยอะมาก
ตัวเลขขนาดนี้ทำให้คุณอยากปิดหูไม่รับรู้
แต่เราย่อยมันลงถึงระดับความเป็นจริงพื้นฐาน
และที่จริง สิทธิมนุษยชน
ก็ย่อยลงมาเหลือเพียงคำถามเดียว
คือ เราจะมอบศักดิ์ศรีคืนให้แก่คนคนนี้หรือเปล่า?
คนจน
คนที่สิทธิมนุษยชนถูกละเมิด
แก่นสารของปัญหานี้
คือการสูญเสียศักดิ์ศรี
การขาดศักดิ์ศรี
เรื่องนี้เริ่มจากการคืนศักดิ์ศรีให้กับผู้คน แค่นั้นเอง
ผมเคยไปเยือนสลัมนอกเมืองเกอร์กาอัน (Gurgaon)
ติดกับเดลี
เมืองใหม่เมืองหนึ่งที่กำลังพุ่งแรง
ในอินเดียตอนนี้
ผมไปคุยกับคนงาน
ที่ทำงานในโรงงานสิ่งทอ
ผมถามว่า พวกเขาอยากส่งสารอะไรไปถึงบริษัทยี่ห้อดัง
พวกเขาไม่ได้ตอบว่าเงิน
พวกเขาตอบว่า "คนที่จ้างพวกเรา
ทำกับเรายังกับไม่ใช่มนุษย์
ราวกับว่าเราไม่มีตัวตน
ขอให้ไปบอกพวกเขาว่า ช่วยทำกับเราเหมือนเป็นมนุษย์ด้วย"
นี่คือความเข้าใจพื้นๆ ของผมเรื่องสิทธิมนุษยชน
นี่คือข้อเสนอง่ายๆ ของผมต่อคุณ
ข้อเสนอง่ายๆ ต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ
ทุกคนในห้องนี้ และทุกคนนอกห้อง
พวกเราสามารถตัดสินใจได้
ว่าจะมารวมตัวกัน
รับมือกับปัญหา หยิบยกมันขึ้นมา
ปัญหาที่รัฐบาลปล่อยมือไปแล้ว
ถ้าเราไม่ทำ
ก็เท่ากับว่าเราละทิ้งความหวัง
ละทิ้งความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐานของเรา
ซึ่งผมก็รู้ว่าไม่ใช่จุดที่เราอยากยืน
และเราก็ไม่จำเป็นต้องยืน
ผมจึงขอวิงวอนตรงนี้
ขอเชิญให้มาร่วมกับเรา เข้ามาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
และเริ่มลงมือให้เกิดผล
ขอบคุณมากครับ
(เสียงปรบมือ)