ตอนที่ผมเรียนปริญญาเอกนั้น ผมติดแหงกเลยครับ ทุกหนทางการวิจัยที่ผมได้ลอง นำไปสู่ทางตัน มันเหมือนกับว่าความเชื่อพื้นฐานของผม หยุดทำงาน ผมรู้สึกเหมือนนักบินที่บินผ่านหมอก แล้วหลงทิศทาง ผมเลิกโกนหนวด ผมไม่ยอมลุกออกจากเตียงในตอนเช้า ผมรู้สึกไม่คู่ควร กับการเดินเข้าประตูมหาวิทยาลัย เพราะผมไม่ใช่ไอสไตน์ หรือนิวตัน หรือนักวิทยาศาสตร์ท่านใด ที่ผมได้เรียนรู้ผลงานของพวกท่าน เพราะในวิทยาศาสตร์ เราเรียนเกี่ยวกับผลลัพธ์เท่านั้น ไม่ใช่กระบวนการ และเห็นชัดๆ เลยว่า ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่ผมมีแรงสนับสนุนมากพอ และผมก็ผ่านมันไปได้ และค้นพบความรู้ใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติ มันเป็นความรู้สึกสงบอันน่าทึ่ง ที่เป็นบุคคลเดียวในโลก ที่รู้ถึงกฎใหม่แห่งธรรมชาติ และผมเริ่มโครงงานที่สอง ในการเรียนปริญญาเอก และมันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ผมเจออุปสรรค์ แล้วก็ผ่านมันไปได้ และผมก็เริ่มคิด บางที มันอาจมีรูปแบบอยู่ก็เป็นได้ ผมถามบัณฑิตทั้งหลาย แล้วพวกเขาก็บอกว่า "ใช่เลย เกิดอย่างนั้นกับพวกเขาเป๊ะๆ เลย เว้นแต่ว่าไม่มีใครบอกเรา" พวกเราอาจเรียนวิทยาศาสตร์อย่างกับว่า มันเป็นชุดขั้นตอนเชิงตรรกะ ระหว่างคำถามและคำตอบ แต่การทำวิจัยไม่ได้เป็นอะไรแบบนั้น ในเวลาเดียวกัน ผมยังได้เรียน การแสดงละครเวทีแบบด้นสด ฉะนั้น กลางวันเรียนฟิสิกส์ และกลางคืน หัวเราะ กระโดด ร้องเพลง เล่นกีต้าร์ของผม ละครเวทีแบบด้นสด ก็เหมือนกับวิทยาศาสตร์ คือ การเข้าหาสิ่งที่ไม่รู้ เพราะคุณต้องเล่นกันบนเวที โดยปราศจากผู้กำกับ ปราศจากบทละคร ไม่รู้เลยว่า คุณจะเล่นเป็นอะไร หรือตัวละครอื่นจะทำอะไร แต่ไม่เหมือนวิทยาศาสตร์ ในละครเวทีด้นสด พวกเขาบอกคุณแต่วันแรกว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับคุณเมื่อคุณอยู่บนเวที คุณจะทำพลาดไม่เป็นท่า คุณจะเจออุปสรรค และเราก็จะฝึกฝนให้มีความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ ในสถานการณ์ที่เจออุปสรรค ตัวอย่างเช่น เรามีแบบฝึกหัด ที่เราทุกคนยืนเป็นวงกลม และแต่ละคนต้องเต้นแท๊ปให้แย่สุดๆ และคนอื่นๆ ปรบมือ และเชียร์คุณ ให้กำลังใจคุณบนเวที เมื่อผมเป็นศาสตราจารย์ และต้องแนะแนวนักเรียนของผม ผ่านโครงงานวิจัยของพวกเขา ผมตระหนักอีกครั้งว่า ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ผมอาจเรียนฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี มาหลายพันชั่วโมง แต่ไม่มีสักชั่วโมง ไม่มีสักแนวคิดเดียว ที่จะสอนผมว่า จะให้คำปรึกษาอย่างไร แนะแนวใครสักคนอย่างไร เพื่อให้เดินไปด้วยกันสู่สิ่งที่ไม่รู้ เพื่อสร้างแรงผลักดัน ผมจึงหันไปพึ่งละครเวทีด้นสด และผมบอกนักเรียนตั้งแต่วันแรกว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้นเมื่อคุณเริ่มทำงานวิจัย เรื่องนี้เกี่ยวกับมโนภาพที่เราคาดหวัง (schema) ว่างานวิจัยจะเป็นเช่นไร เพราะว่า เมื่อคนเราทำอะไรก็ตามแต่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมต้องการจะจับกระดานดำนี้ สมองของผมจะคาดมโนภาพขึ้นก่อน ทำนายว่ากล้ามเนื้อของผมจะทำอะไร ก่อนที่ผมจะเริ่มขยับมือเสียอีก และถ้าผมถูกขัดขวาง ถ้ามโนภาพของผมไม่เข้ากับความเป็นจริง จะเกิดความเครียดขึ้น เรียกว่า การรับรู้ไม่ลงรอยกัน (cognitive dissonance) จึงเป็นการดีกว่า ถ้ามโนภาพของคุณ ตรงกับความเป็นจริง แต่ถ้าคุณเชื่อในวิทยาศาสตร์แบบที่ถูกสอนกันมา และถ้าคุณเชื่อตามตำรา ก็มีแนวโน้ม ว่าคุณน่าจะมีมโนภาพของงานวิจัย ตามนี้ครับ ถ้า เอ เป็นคำถาม และ บี เป็นคำตอบ ดังนั้นแล้ว งานวิจัยก็เป็นทางตรง ปัญหาคือว่า ถ้าการทดลองไม่สำเร็จ หรือนักเรียนเกิดความเครียด เรื่องแบบนี้ จะถูกมองว่าผิดปกติอย่างยิ่ง และทำให้เกิดความเครียดอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ผมจึงสอนให้นักเรียนของผม สร้างมโนภาพที่ยึดความเป็นจริงมากกว่า นี่คือตัวอย่าง เวลาที่อะไรๆ ไม่เป็นไปตามมโนภาพของคุณครับ (เสียงหัวเราะ) (เสียงปรบมือ) ผมจึงสอนมโนภาพแบบใหม่ ให้นักเรียนของผม ถ้า เอ เป็นคำถาม บี เป็นคำตอบ คิดสร้างสรรค์ฝันฟุ้งในเมฆไปเรื่อยๆ และคุณก็เริ่มลงมือ และการทดลองมันไม่ได้ผล และก็ไม่ได้ผล และก็ไม่ได้ผล และก็ไม่ได้ผล จนคุณไปถึงดินแดนที่เชื่อมกับอารมณ์ด้านลบ ที่ซึ่งกระทั่ง ความเชื่อพื้นฐานของคุณ ยังดูไม่เป็นเหตุเป็นผล เหมือนมีใครมากระชากพรมใต้เท้าคุณ และผมเรียกที่นั่นว่า เมฆ คุณอาจหลงอยู่ในเมฆนี้ สักวัน สัปดาห์ เดือน ปี หรือชั่วชีวิตทำงานของคุณ แต่บางที ถ้าคุณโชคดีพอ และคุณได้แรงสนับสนุนพอ คุณจะเห็นได้ เมื่อดูสิ่งที่อยู่ในมือ หรือ ตั้งสติศึกษารูปร่างของเมฆ ถึงคำตอบแบบใหม่ นั่นคือ ซี แล้วตกลงใจลองทางใหม่ดู และการทดลองก็ไม่ได้ผล การทดลองไม่ได้ผล แต่คุณก็ถึงในที่สุด จากนั้น คุณก็บอกเรื่องนี้กับทุกคน โดยตีพิมพ์ผลงานที่บอกว่า เอ ไปยัง ซี ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสื่อสาร ตราบใดที่คุณยังไม่ลืมหนทาง ที่นำคุณไปตรงนั้น ทีนี้ เมฆที่ว่านี้มีอยู่ตามปกติวิสัย ของการวิจัย ตามปกติวิสัยของงานประดิษฐ์ เพราะว่า เมฆจะลอยขวาง ตรงพรมแดน มันจะอยู่ตรงพรมแดน ระหว่าง ความรู้ และความไม่รู้ เพราะถ้าอยากค้นพบบางอย่างที่ใหม่จริงๆ นั้น อย่างน้อย ความเชื่อพื้นฐานสักอย่างของคุณ จะต้องเปลี่ยนไป ฉะนั้น การศึกษาวิทยาศาสตร์ จึงเป็นเรื่องกล้าหาญชาญชัยทีเดียว ทุกๆ วัน เราพยายามเดินทาง สู่พรมแดนระหว่างความรู้ และความไม่รู้ และเผชิญหน้ากับเมฆ ทีนี้ สังเกตว่าผมเขียน บี ไว้ในดินแดนของความรู้ เพราะเรารู้จักมันตั้งแต่แรกแล้ว แต่ ซี นั้น น่าสนใจยิ่งกว่า และสำคัญเสียยิ่งกว่า บี บี ก็สำคัญสำหรับการดำเนินงานวิจัย แต่ ซี เป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่า และนั่นคือสิ่งมหัศจรรย์เกี่ยวกับงานวิจัย ทีนี้ แค่รู้จักคำนั้น 'เมฆ' มันทำให้กลุ่มวิจัยของผมเปลี่ยนไปเลย เพราะนักเรียนเข้ามาหาผม แล้วบอกว่า "ยูริ ผมติดอยู่ในเมฆ" และผมก็บอกว่า "ยอดเลย รู้สึกเศร้าระทมเลยล่ะสิตอนนี้" (เสียงหัวเราะ) แต่ผมมีความสุขนะครับ เพราะเราอาจใกล้ถึงพรมแดน ระหว่างความรู้และความไม่รู้ และเรายังมีโอกาสในการค้นพบ อะไรบางอย่างที่ใหม่จริงๆ เพราะวิธีที่สมองของเราทำงานนั้น พอสมองรู้แล้วว่า เมฆนั้น เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งจำเป็น และอันที่จริงสวยงาม เราก็จะได้เข้าร่วมชมรมคนรักมวลเมฆ และบำบัดความรู้สึกที่ว่า ฉันมีอะไรที่ผิดปกติมากๆ และในฐานะผู้เป็นอาจารย์ ผมรู้ว่าต้องทำอย่างไร นั่นคือ เพิ่มกำลังใจให้นักเรียนของผม เพราะการวิจัยทางจิตวิทยาแสดงว่า ถ้าคุณรู้สึกกลัว หรือหมดหวัง จิตใจคุณจะตีกรอบ กลับไปใช้วิธีคิดแบบปลอดภัย และระมัดระวัง ถ้าคุณอยากสำรวจหนทางที่เสี่ยงกว่า ถ้าจะหนีออกจากเมฆ คุณต้องพึ่งอารมณ์แบบอื่นด้วย ความสามัคคี กำลังใจ ความหวัง ซึ่งได้จากความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ มันก็เหมือนกับละครเวทีด้นสด ในวิทยาศาสตร์ มันดีที่สุดที่จะเดินทางสู่ความไม่รู้ ไปด้วยกัน การที่รู้ถึงเรื่องเมฆ คุณยังได้เรียนรู้จากละครเวทีด้นสด ถึงวิธีการสนทนาอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่ออยู่ในเมฆ มันตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ ของละครเวทีด้นสด ตรงนี้ ละครเวทีด้นสด ได้ช่วยผมไว้อีกครั้ง เป็นการตอบว่า "ใช่ แล้วก็" กับสิ่งที่นักแสดงคนอื่นเสนอมาให้ ความหมายของมันคือ การรับคำเสนอ และต่อยอดจากนั้น โดยบอกว่า "ใช่ แล้วก็" ตัวอย่างเช่น ถ้านักแสดงคนหนึ่งบอกว่า "นี่คือสระนำ้" และอีกคนบอกว่า "ไม่หนิ นี่มันเวที" การด้นสดก็จบ มันตายสนิท และทุกคนก็จะสับสนหงุดหงิด มันเรียกว่า ติดทางตัน ถ้าคุณไม่ใส่ใจเรื่องวิธีสนทนาแล้ว การสนทนาทางวิทยาศาสตร์ ก็จะติดทางตันได้ง่ายมากครับ การตอบ "ใช่ แล้วก็" เป็นแบบนี้ครับ "นี่คือบ่อน้ำ" "ช่าย โดดลงไปกันเหอะ" "ดูสิ มีปลาวาฬด้วย จับหางมันเลย มันดึงเราไปดวงจันทร์แล้ว" การบอกว่า "ใช่ แล้วก็" จึงข้ามผ่านการวิพากษ์ในใจเรา เราทุกคนมีข้อวิพากษ์ในใจ ซึ่งคอยจับผิด ว่าเราจะพูดอะไร คนอื่นจะได้ไม่คิดว่า เราน่ารังเกียจ หรือบ้า หรือซ้ำซาก และในวิทยาศาสตร์ ใครๆ ก็กลัว ว่าตัวเองจะดูซ้ำซาก การบอกว่า "ใช่ แล้วก็" ก้าวผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ และปลดปล่อยความสร้างสรรค์แอบแฝง ที่คุณไม่อาจรู้ด้วยซ้ำว่าคุณมี และพวกมันมักให้คำตอบ เกี่ยวกับเมฆด้วย ครับ การรู้เกี่ยวกับเมฆ และการพูดว่า "ใช่ แล้วก็" ทำให้ห้องทดลองของผมมีความคิดสร้างสรรค์มาก นักเรียนเริ่มเล่นกับความคิดของคนอื่นๆ จนค้นพบความรู้ใหม่อันน่าประหลาดใจ ในส่วนเชื่อมต่อระหว่างฟิสิกส์กับชีววิทยา ตัวอย่างเช่น เราง่วนอยู่เป็นปี ในการทำความเข้าใจ เครือข่ายชีวเคมีอันซับซ้อนในเซลล์ของเรา และพวกเราบอกว่า "เราอยู่ในกลุ่มเมฆทึบ" แล้วก็คุยกันสนุกๆ ไปเรื่อย จนนักเรียนของผม ไช เชน ออร์ (Shai Shen Orr) พูดขึ้นว่า "มาวาดเครือข่ายที่ว่าบนกระดาษกันเหอะ" และแทนที่จะบอกว่า "แต่เราทำอย่างนั้นมาตั้งหลายครั้งแล้ว และมันก็ไม่เห็นจะได้อะไรเลย" ผมกลับบอกว่า "เอาสิ แล้วก็ ใช้กระดาษใหญ่ๆ นะ" จากนั้น รอน ไมโล (Ron Milo) ก็บอกว่า "เอากระดาษใหญ่ๆ แบบที่นักออกแบบใช้ทำพิมพ์เขียวดีกว่า ผมรู้ว่าจะเอาไปพิมพ์ได้ที่ไหน" และพวกเราก็พิมพ์เครือข่าย และมองดูมัน ตอนนั้นเอง ที่เราค้นพบความรู้ข้อสำคัญที่สุด ซึ่งก็คือ เครือข่ายอันซับซ้อนนี้มันก็แค่ เครือข่ายรูปแบบง่ายๆ จำนวนมากซ้ำๆ กัน เหมือนกับแม่ลายของกระจกสี (motif) พวกเราเรียกมันว่า เครือข่ายแม่ลาย (network motifs) และพวกมันเป็นวงจรพื้นฐาน ที่ช่วยให้เราเข้าใจ ตรรกะของการตัดสินใจของเซลล์ ในทุกสิ่งมีชีวิต รวมถึงร่างกายของคุณ ไม่นาน หลังจากนั้น ผมเริ่มได้รับเชิญไปบรรยาย ให้กับนักวิทยาศาสตร์หลายพันทั่วโลก แต่ความรู้เกี่ยวกับเมฆ และการพูดว่า "ใช่ แล้วก็" ยังคงอยู่แต่ในห้องทดลองของผม เพราะว่า ในวิทยาศาสตร์ เราไม่พูดกันถึงกระบวนการ สิ่งที่เกี่ยวกับความรู้สึก หรืออารมณ์ เราพูดถึงผลลัพธ์ จึงไม่มีทางจะได้พูดถึงมันในงานสัมมนา นึกภาพไม่ออกเลยครับ และผมเห็นนักวิทยาศาสตร์กลุ่มอื่นๆ ติดอยู่ที่ทางตัน หาคำมาบรรยายไม่ได้ด้วยซ้ำ ถึงสิ่งที่พวกเขาเผชิญ และวิธีการที่พวกเขาคิด ก็บีบแคบลงมาที่ทางปลอดภัย วิทยาศาสตร์ของพวกเขาไม่อาจไปถึงศักยภาพสูงสุด จนพวกเขาดูซึมกันมากๆ ผมคิดว่า มันก็ธรรมดาอย่างนี้แหละ ผมจะพยายามทำให้ห้องทดลองของผม มีความสร้างสรรค์มากเท่าที่จะทำได้ และถ้าคนอื่นๆ ทำอย่างนี้เช่นกัน ถึงวันหนึ่ง วิทยาศาสตร์ ก็จะดีขึ้นกว่าเดิมในที่สุด แต่ความคิดนั้น เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อผมได้ฟัง เอวลิน ฟ๊อกส์ เคลเลอร์ (Evelyn Fox Keller) โดยบังเอิญ ตอนเธอพูดถึงประสบการณ์ของเธอ ในฐานะผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์ และเธอถามคำถามว่า "ทำไมเราไม่พูดถึงการทำงานทางวิทยาศาตร์ ในแง่มุมเชิงความรู้สึก และอารมณ์กันบ้าง?" ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลย นี่เป็นเรื่องของค่านิยม" คืออย่างนี้ครับ วิทยาศาสตร์ค้นหาความรู้ ซึ่งมีรากฐานจากหลักเหตุผล และข้อเท็จจริง นั่นคือความงดงามของวิทยาศาสตร์ แต่เรายังมีมายาคติอีกด้วยว่า การทำงานทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เราทำกันทุกวัน เพื่อเสาะหาความรู้ ก็ใช้แค่หลักเหตุผล และข้อเท็จจริงเช่นกัน เหมือน มิสเตอร์ สป๊อค (Mr. Spock) พอคุณตีตราอะไรก็ตาม ว่ามีแค่ข้อเท็จจริง และหลักเหตุผล โดยอัตโนมัติ ขั้วตรงข้าม คือความรู้สึก และอารมณ์ ย่อมถูกตีตราว่า 'ไม่เป็นวิทยาศาสตร์' หรือต่อต้านวิทยาศาสตร์ หรือเป็นภัยต่อวิทยาศาสตร์ เราก็เลยไม่พูดถึงมันกัน และเมื่อผมได้ยินอย่างนั้น ว่าวิทยาศาสตร์มีวัฒนธรรม ทุกอย่างเข้าล๊อคสำหรับผม เพราะว่า ถ้าวิทยาศาสตร์มีวัฒนธรรมแล้ว วัฒนธรรมก็สามารถเปลี่ยนได้ โดยมีผมเป็นตัวกระตุ้น ให้วัฒนธรรมของวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไป ในที่ๆ ผมทำได้ พอถึงการบรรยายถัดไปที่งานสัมมนา ผมจึงพูดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของผม และเมื่อผมพูดถึงความสำคัญ ของแง่มุมด้านอารมณ์ และความรู้สึกของวิทยาศาสตร์ และวิธีการที่เราควรพูดถึงมัน และผมก็มองไปยังผู้ชม พวกเขาดูด้านชา พวกเขาไม่ได้ยินว่าผมกำลังพูดอะไร ในบริบทของ การบรรยายผ่านเพาเวอร์พอยท์ 10 สไลด์ต่อกัน และผมลองอีกครั้ง และอีกครั้ง สัมมนาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ผมก็ยังคงติดชะงัก ผมติดอยู่ในเมฆ แต่ในที่สุด ผมก็หลุดออกมาจากเมฆได้ โดยใช้การด้นสดและดนตรี ตั้งแต่นั้น ทุกงานสัมมนาที่ผมไป ผมจะบรรยายทางวิทยาศาสตร์ และแถมด้วยการบรรยายพิเศษ ชื่อว่า "ความรักและความกลัวในห้องทดลอง" ผมจะเริ่มต้นด้วยเพลง เกี่ยวกับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กลัวที่สุด ซึ่งคือ การที่เราทำงานอย่างหนัก เราค้นพบสิ่งใหม่บางอย่าง แต่ดันมีคนอื่น ชิงตีพิมพ์มันไปก่อนเราเสีย เราเรียกมันว่า โดนงาบไปรับประทาน และการโดนงาบไปรับประทานนั้น รู้สึกแย่มากๆ ทำให้เราไม่กล้าคุยกัน ซึ่งไม่สนุกเลย เพราะเราเข้าวงการวิทยาศาสตร์มา เพื่อแบ่งปันความคิด และเรียนรู้จากกันและกัน และผมก็เลยเล่นเพลงบลู ซึ่งมันก็ - (เสียงปรบมือ) - เรียกว่า "โดนงาบไปอีกแล้ว" และผมก็ขอผู้ชมเป็นนักร้องลูกคู่ให้ผม และผมพวกบอกพวกเขาว่า "เนื้อร้องคือ 'งาบ งาบ'" ทำนองประมาณนี้ครับ "งาบ งาบ" มันออกมาแบบนี้ครับ ♪ โดนงาบไปอีกแล้ว ♪ ♪ งาบ งาบ ♪ และเมื่อผมร้อง ♪ โดนงาบไปอีกแล้ว ♪ ♪ งาบ งาบ ♪ ♪ โดนงาบไปอีกแล้ว ♪ ♪ งาบ งาบ ♪ ♪ โดนงาบไปอีกแล้ว ♪ ♪ งาบ งาบ ♪ ♪ โดนงาบไปอีกแล้ว ♪ ♪ งาบ งาบ ♪ ♪ โอ้แม่จ๋า รู้ไหมว่ามันเจ็บ ♪ ♪ สวรรค์ช่วยลูกด้วย โดนงาบอีกแล้ว ♪ (เสียงปรบมือ) ขอบคุณครับ ขอบคุณที่ช่วยเป็นนักร้องลูกคู่นะครับ ทุกคนก็เริ่มหัวเราะ และหายใจ รู้สึกตัวกันว่า ยังมีนักวิทยาศาสตร์คนอื่นรอบๆ ตัว ที่เจอเรื่องอย่างเดียวกันมา และเราก็เริ่มพูดถึงเรื่องอารมณ์ และความรู้สึก ที่เกิดขึ้นในงานวิจัย มันรู้สึกเหมือนกับเรื่องแน่นอกถูกยกออก แล้วเราก็พูดถึงเรื่องนี้ ในงานสัมมนาวิทยาศาสตร์ได้เสียที และนักวิทยาศาสตร์ก็ดำเนินการต่อ เพื่อก่อตั้งกลุ่มเพื่อนวิจัย ที่พวกเขามาพบปะกันเป็นประจำ และได้มีพื้นที่มาพูดคุยกันเรื่องอารมณ์ และความรู้สึกที่เกิดขึ้น ตอนที่พวกเขาได้สอน ตอนที่พวกเขาเดินทางสู่ความไม่รู้ และแม้กระทั่งเปิดหลักสูตร เกี่ยวกับกระบวนการในการทำงานทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการเดินทางสู่ความไม่รู้ไปด้วยกัน และสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย วิสัยทัศน์ของผมก็คือ ก็เหมือนที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนรู้จักคำว่า "อะตอม" รู้ว่าสสารประกอบด้วยอะตอม นักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะรู้จักคำศัพท์อย่าง "เมฆ" การพูดว่า "ใช่ แล้วก็" และวิทยาศาสตร์จะสร้างสรรค์ขึ้นกว่านี้มาก จะมีการค้นพบที่ไม่คาดฝันอีกมากมาย เพื่อประโยชน์สำหรับเราทุกคน และมันจะมีความสนุกขึ้นอีกมากด้วย และที่ผมจะขอจากพวกคุณให้จำไปจากการบรรยายนี้ ก็คือ ครั้งหน้าที่คุณได้เผชิญ กับปัญหาที่คุณไม่สามารถแก้ได้ ในการงาน หรือในชีวิต คุณใช้คำนี้ เรียกสิ่งที่คุณจะเจอได้: เมฆ และคุณสามารถผ่านเข้าไปในเมฆ ไม่ใช่ตัวคนเดียว แต่ไปด้วยกัน กับใครสักคนที่คอยสนับสนุน และพูดว่า "ใช่ แล้วก็" ต่อความคิดของคุณ และช่วยคุณพูดว่า "ใช่ แล้วก็" ต่อความคิดของคุณเอง เพื่อที่จะเพิ่มโอกาส เมื่อผ่านก้อนปุยเมฆแล้ว คุณจะพบกับวินาทีแห่งความสงบ ที่ซึ่งคุณได้เห็นแสงแวบแรก จากการค้นพบเหนือความคาดฝัน ซี ของคุณ ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)