ผมขอเริ่มด้วยคำถามง่าย ๆ
ทำไมคนจนถึงมักตัดสินใจแย่ ๆ
ผมรู้ว่าคำถามนี้โหด
แต่ลองมาดูข้อมูลก่อน
คนจนกู้ยืมมาก ออมน้อย
สูบบุหรี่จัด ออกกำลังกายน้อย
ดื่มเหล้าหนัก
แถมกินอาหารไม่ค่อยมีประโยชน์
ทำไมกันล่ะ
คำอธิบายพื้นฐาน
ถูกสรุปไว้โดยมาร์กาเรต แธตเชอร์
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
เธอเรียกความยากจนว่า
"ความบกพร่องทางบุคลิกภาพ"
(เสียงหัวเราะ)
เรียกง่าย ๆ ว่า การขาดอุปนิสัยที่ดี
แต่ผมเชื่อว่าคนไม่มาก
ที่จะใช้คำทื่อ ๆ แบบนั้น
แต่แนวคิดที่ว่าพวกคนจนน่ะผิดปกติ
ไม่ได้มีแค่คุณแธตเชอร์คนเดียวที่เชื่อ
พวกคุณบางคนอาจคิดว่า
คนจนควรต้องรับผิดชอบ
ในความผิดพลาดของตัวเอง
บางคนอาจแย้งว่า
เราควรช่วยให้พวกเขาตัดสินใจดีขึ้น
แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีสมมติฐานเดียวกัน
คือพวกคนจนน่ะผิดปกติ
ถ้าหากเราเปลี่ยนพวกเขาได้
ถ้าสามารถสอนวิธีใช้ชีวิตให้พวกเขา
ถ้าเพียงแต่พวกเขารับฟัง
ด้วยความสัตย์จริงนะครับ
ตัวผมก็คิดแบบนั้นอยู่นานพอสมควร
ผมเพิ่งมาตระหนักไม่กี่ปีมานี้เอง
ว่าที่ผมคิดว่ารู้เกี่ยวกับ
ความยากจน นั้นผิด
ทุกอย่างเริ่มขึ้นเมื่อผมบังเอิญพบงานวิจัย
โดยนักจิตวิทยาอเมริกันกลุ่มหนึ่ง
พวกเขาเดินทาง 8,000 ไมล์ ไปที่อินเดีย
เพื่อทำการศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
เป็นการทดลองกับชาวไร่อ้อย
คุณควรทราบว่าชาวไร่เหล่านี้
ได้เงินราว 60 เปอร์เซนต์
ของรายได้ทั้งปี
ในคราวเดียว
ทันทีหลังจากเก็บเกี่ยว
ซึ่งแสดงว่าพวกเขาเป็นคนจนช่วงนึง
และเป็นคนรวยในอีกช่วงหนึ่ง
นักวิจัยขอให้พวกเขาทำแบบทดสอบไอคิว
ก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว
สิ่งที่พวกเขาค้นพบทำให้ผมถึงกับอึ้ง
ช่วงก่อนเก็บเกี่ยว
ชาวบ้านทำคะแนนได้ต่ำกว่ามาก
การดำรงชีวิตอย่างยากจนส่งผลให้
ไอคิวลดลง 14 แต้ม
เพื่อให้คุณเห็นภาพชัด
มันเทียบได้กับการอดนอนหนึ่งคืน
หรือมีอาการโรคพิษสุราเรื้อรัง
หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ผมได้ข่าวว่า
เอลดาร์ ชาฟีร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน
และหนึ่งในผู้เขียนของการศึกษานี้
จะมาฮอลแลนด์ ประเทศที่ผมอาศัยอยู่
เราพบกันที่อัมสเตอร์ดัม
เพื่อพูดถึงทฤษฎีระดับปฏิวัติวงการของเขา
ที่ว่าด้วยความยากจน
ผมขอสรุปเนื้อหาด้วยคำสองคำ
ความขาดแคลนทางความคิด
กลายเป็นว่าคนมีพฤติกรรมต่างออกไป
เมื่อเข้าใจว่าตนขาดแคลนบางอย่าง
สิ่งนั้นจะเป็นอะไรไม่ใช่สาระสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นการมีเวลา เงิน
หรืออาหาร ไม่เพียงพอ
คุณทุกคนเข้าใจความรู้สึกนี้ดี
เวลามีงานล้นมือเต็มไปหมด
หรือเวลาไม่ยอมไปพักกินข้าว
แล้วระดับน้ำตาลในเลือดตก
จิตใจคุณจะจดจ่อแต่สิ่งที่คุณขาด
แซนวิชที่ต้องได้กินเดี๋ยวนี้
การประชุมที่จะเริ่มในอีกห้านาที
หรือหนี้ที่ต้องจ่ายพรุ่งนี้
ดังนั้น การคิดเรื่องระยะยาว
จึงยังไม่อยู่ในสมอง
คุณอาจจะเทียบกับคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่
ที่เปิดโปรแกรมหนัก ๆ เป็นสิบตัว
เครื่องจะทำงานช้าลงเรื่อย ๆ
และผิดพลาดบ่อย
จนสุดท้ายก็ค้างไป
ซึ่งไม่ใช่เพราะเครื่องไม่ดี
แต่เพราะมันต้องทำหลายอย่าง
พร้อม ๆ กันต่างหาก
คนจนก็ประสบปัญหาแบบนี้เช่นกัน
ไม่ได้ตัดสินโง่ ๆ เพราะพวกเขาโง่
แต่เพราะสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่
ทำให้ไม่ว่าใครก็คงตัดสินใจโง่ ๆ เช่นกัน
ตอนนั้นเอง ผมถึงได้เข้าใจขึ้นมาว่า
ทำไมโครงการขจัดความยากจน
ของพวกเราจึงไม่ได้ผล
เช่น การลงทุนด้านการศึกษามักไม่ได้ผล
ความยากจนไม่ใช่การขาดความรู้
ผลวิเคราะห์จากการศึกษา 201 ชิ้น
ว่าด้วยประสิทธิผลใน
การสอนเรื่องการจัดการเงิน
ได้ข้อสรุปว่ามันแทบไม่มีผลใด ๆ
อย่าเข้าใจผมผิดนะครับ
นี่ไม่ได้หมายความว่า
คนจนไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย
พวกเขาฉลาดมากขึ้นแน่นอน
แต่แค่นั้นมันไม่พอครับ
หรืออย่างที่อาจารย์ชาร์ฟีร์บอกผม
"เหมือนเวลาเราสอนคนว่ายน้ำ
แล้วโยนเขาลงทะเลตอนมรสุมเข้า"
ผมยังจำภาพตัวเองนั่งอึ้ง
งุนงง
แล้วจู่ ๆ ก็นึกขึ้นได้ว่า
เราควรจะเข้าใจเรื่องนี้
ตั้งแต่หลายสิบปีก่อนแล้ว
นักจิตวิทยาไม่เห็นต้องใช้
กรรมวิธีซับซ้อนสแกนสมอง
แค่ต้องวัดไอคิวชาวไร่อ้อย
แบบทดสอบไอคิว
ก็มีมามากกว่าร้อยกว่าปีแล้ว
ผมนึกออกด้วยซ้ำ ว่าเคยอ่าน
เรื่องจิตวิทยาของความยากจนมาก่อน
จอร์จ ออร์เวลล์
นักเขียนชั้นครูตลอดกาลคนหนึ่ง
เคยสัมผัสความยากจนในทศวรรษ 1920
เขาเขียนไว้ว่า "แก่นแท้ของความยากจน"
คือมัน "ทำลายอนาคตจนไม่เหลือซาก"
เขาพรึงเพริดมากที่ ผมขอยกคำพูดนะ
"ผู้คนไม่ตระหนักในข้อนี้
แล้วต่างถือสิทธิเทศนาคุณ
และสวดภาวนาให้คุณ
ทันทีที่รายได้คุณลดต่ำกว่าจุด ๆ หนึ่ง"
คำพูดของเขายังใช้ได้จนถึงทุกวันนี้
แน่นอน คำถามสำคัญก็คือ
เราทำอะไรได้บ้าง
นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่
มีคิดทางแก้เก็บไว้บ้าง
เราสามารถช่วยจัดการปัญหางานเอกสาร
หรือส่งข้อความเตือนให้ไปจ่ายหนี้
นักการเมืองสมัยใหม่นิยมมาก
กับทางแก้จำพวกนี้
นั่นเพราะ
มันแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายไงครับ
ผมว่าทางแก้แบบนี้เป็นภาพแทนยุคเราได้ดี
ยุคที่เราเน้นรักษาอาการ
แต่ละเลยสาเหตุของโรค
ผมจึงสงสัยว่า
ทำไมไม่เปลี่ยนสภาพชีวิตคนจนเสียใหม่
หรือถ้าจะให้เปรียบกับคอมพิวเตอร์
ทำไมมัวนั่งซ่อมซอฟต์แวร์
ทั้งที่ปัญหาแก้ได้ง่ายดาย
เพียงแค่เพิ่มความจำเข้าไป
พอผมพูดจบ อาจารย์ชาฟีร์จ้องหน้าผมนิ่ง
หลังเงียบอยู่สองสามวินาที
เขาพูดว่า
"อ๋อ เข้าใจละ
คุณอยากแจกเงินเพิ่มให้คนจน
เพื่อขจัดความยากจนสินะ
อ๋อ ได้ ความคิดดีนะ
แต่ผมเกรงว่าการเมืองฝ่ายซ้าย
แบบที่คุณเห็นในอัมสเตอร์ดัม
จะไม่มีในอเมริกา"
แต่นี่ใช่แนวคิดเก่าแก่
ของฝ่ายซ้ายจริง ๆ หรือ
ผมจำได้ว่าเคยอ่านแผนการเก่า ๆ
ที่นักคิดชั้นนำในอดีตเคยเสนอ
โธมัส มอร์ นักปรัชญาเขียนเป็นนัยถึงแผนนี้
ครั้งแรกในหนังสือของเขา "ยูโทเปีย"
เมื่อกว่า 500 ปีมาแล้ว
ผู้สนับสนุนแผนนี้มีทั้งจากฝ่ายซ้ายและขวา
มีตั้งแต่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง
นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
จนถึงมิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์
เป็นแนวความคิดที่เรียบง่ายจนน่าตกใจ
การประกันรายได้พื้นฐาน
คืออะไรหรือครับ
ง่ายมากเลย
เงินรายเดือนจากรัฐ
ที่เพียงพอต่อความต้องการพื้นฐาน
ซึ่งคือ ค่าอาหาร
ที่อยู่อาศัย การศึกษา
เงินนี้เป็นเงินให้เปล่า
จะไม่มีใครคอยพร่ำสอน
ว่าต้องทำยังไงถึงมีสิทธิได้
ไม่มีคนคอยสั่งว่าต้องใช้เงินอย่างไร
การประกันรายได้ไม่ใช่การสงเคราะห์
หากแต่เป็นสิทธิ
ไม่ถือเป็นตราบาปหรือมลทินใด ๆ
หลังเข้าใจธรรมชาติของความยากจนที่แท้
ผมเลิกสงสัยไม่ได้เลย
นี่คือแนวคิดที่เรารอคอยจริงหรือ
มันง่ายแค่นี้จริงหรือ
ตลอดสามปีหลังจากนั้น
ผมไล่ตามอ่าน
ข้อมูลเรื่องการประกันรายได้
ผมค้นคว้าข้อมูล
การทดลองที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ไม่นานผมก็เจอข้อมูลของเมืองแห่งหนึ่ง
ที่เคยทดลองและขจัดความยากจนได้สำเร็จ
แต่แล้ว
แทบทุกคนกลับลืมเลือนมันไป
(ตอนสอง: เมืองที่ไร้ความยากจน)
เรื่องนี้เริ่มต้นที่เมืองดอฟิน
ประเทศแคนาดา
ปี 1974 ชาวเมืองทุกคนมีประกันรายได้พื้นฐาน
เพื่อรับรองว่าไม่มีใครตกไป
ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ตอนแรกเริ่มการทดลอง
นักวิจัยกลุ่มใหญ่เดินทางมาเมืองนี้
ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดีเป็นเวลาสี่ปี
แต่แล้วก็มีรัฐบาลใหม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา
คณะรัฐบาลใหม่เห็นว่า
การทดลองราคาแพงนี้ไร้ประโยชน์
เมื่อรู้แน่ว่าไม่เหลืองบให้วิเคราะห์ผล
เหล่านักวิจัยเก็บเอกสาร
ลงกล่อง 2,000 กว่าใบและจากไป
ผ่านไป 25 ปี
เอเวอลิน ฟอร์เจต์ อาจารย์ชาวแคนาดา
ไปพบเอกสารเหล่านั้นเข้า
เธอใช้เวลา 3 ปีวิเคราะห์ข้อมูล
ด้วยวิธีการทางสถิติต่าง ๆ นานา
ไม่ว่าจะทำอย่างไร
ผลลัพธ์ที่ได้เหมือนเดิมทุกครั้ง
การทดลองประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง
เอเวอลิน ฟอร์เจต์ค้นพบว่า
ชาวเมืองดอฟินร่ำรวยขึ้น
มิหนำซ้ำยังฉลาด
และสุขภาพแข็งแรงกว่าเดิม
นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นชัดเจน
อัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาล
ลดลงมากถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์
การใช้ความรุนแรงในครัวเรือนลดลง
เช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิต
ชาวเมืองไม่ได้ลาออกจากงานนะครับ
คนที่ทำงานน้อยลงนิดหน่อย
คือแม่เพิ่งคลอด และเด็กนักเรียน
ที่ได้เรียนสูงกว่าเดิม
การทดลองคล้ายคลึงกัน
ต่างก็ให้ผลลัพธ์ที่เหมือนกันทั่วโลก
ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาไปจนถึงอินเดีย
ดังนั้น
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ
พอพูดถึงความยากจน
พวกเรา คนรวยทั้งหลาย
ควรเลิกแสร้งทำเป็นรู้ดีกว่าใคร
เราควรเลิกบริจาครองเท้าและตุ๊กตาหมีให้คนจน
ให้กับคนที่เราไม่เคยเห็นหน้า
และควรยกเลิกตำแหน่งงาน
ที่มีข้าราชการชอบทำเป็นสั่งสอน
ในเมื่อเราเอาเงินเดือนของคนพวกนั้น
ไปแจกจ่ายให้คนจน
ซึ่งพวกเขาควรจะช่วยอยู่แล้ว
(เสียงปรบมือ)
ข้อดีของเงินน่ะ
คือคนเราสามารถใช้ซื้อสิ่งของจำเป็น
ไม่ใช่ของที่พวกผู้เชี่ยวชาญ
คิดเอาเองว่าจำเป็น
นึกดูสิครับว่ามีนักวิทยาศาสตร์ฉลาดล้ำ
ผู้ประกอบการและนักเขียน
อย่างจอร์จ ออร์เวลล์ อยู่กี่คน
ที่ตอนนี้หมดแรงหมดใจ
เพราะความขัดสน
ลองนึกดูว่าเราจะปลดปล่อย
ศักยภาพได้สักแค่ไหน
หากเราขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป
ผมเชื่อว่าการประกันรายได้พื้นฐาน
เป็นเหมือนการลงทุนในศักยภาพของประชาชน
และเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ทำ
เพราะความยากจนมีราคาแพงเหลือเกิน
ดูสิ่งที่ต้องจ่ายจากความยากจน
ของเด็กในสหรัฐฯ สิครับ
ตัวเลขคาดการณ์คือปีละ 5 แสนล้านเหรียญ
ทั้งด้านค่าบริการสุขภาพ
อัตราการเลิกเรียนกลางคันที่สูง
และอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น
นี่คือการผลาญศักยภาพโดยเสียเปล่า
เปลี่ยนมาพูดเรื่องที่เห็นตำตากันดีกว่า
ต้องทำยังไงถึงจะมีประกันรายได้พื้นฐาน
ราคามันอาจจะถูกกว่าที่คุณคิด
เมืองดอฟีนทดลอง
โดยอาศัยเกณฑ์ภาษีเงินได้ติดลบ
แปลว่าเมืองจะเติมเงินเพิ่มให้
เมื่อรายได้คุณเองตกไป
ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ในสถานการณ์แบบนั้น
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินไว้อย่างดีว่า
จะมีต้นทุนสุทธิ 1.75 แสนล้านเหรียญ
หนึ่งในสี่ของงบการทหารในสหรัฐฯ
หรือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
ขอแค่นี้ คุณจะพาคนยากคนจนทั่วอเมริกา
ขึ้นมาอยู่เหนือเส้นความยากจนได้
คุณจะขจัดความยากจนหมดสิ้น
เราควรตั้งเป้าอย่างนี้สิครับ
(เสียงปรบมือ)
หมดเวลาของการ
มักน้อยค่อย ๆ พัฒนา
ผมว่าถึงเวลาที่เราต้องคิดการใหญ่
อีกทั้งรายได้พื้นฐานไม่ได้เป็นแค่นโยบาย
แต่คือการเปลี่ยนความคิด
ว่างานคืออะไรกันแน่
และในแง่นั้น
ไม่เพียงแต่แนวคิดนี้จะปลดปล่อยคนจน
แต่ยังช่วยพวกเราที่เหลือด้วย
ทุกวันนี้ คนนับล้านรู้สึกว่า
งานที่ทำไร้ค่าหรือไม่มีความสำคัญ
การสำรวจความเห็นของพนักงาน 230,000 คน
จาก 142 ประเทศ
พบว่ามีคนแค่ 13 เปอร์เซ็นต์ที่ชอบงานของตน
การสำรวจความเห็นอีกแหล่งพบว่า
มีผู้ใช้แรงงานที่อังกฤษถึง 37%
คิดว่างานที่ตัวเองทำไม่จำเป็น
เหมือนที่แบรด พิตต์พูดในเรื่องไฟท์คลับ
"เรามักทนทำงานที่เกลียด
เพื่อมาซื้อของที่ไม่จำเป็น"
(เสียงหัวเราะ)
อย่าเพิ่งเข้าใจผมผิดนะ
ผมไม่ได้พูดถึงครู คนเก็บขยะ
หรืองานดูแลผู้คน
ถ้าพวกเขาหยุดทำงาน
พวกเราเจอปัญหาแน่นอน
ผมพูดถึงผู้เชี่ยวชาญ
เงินเดือนสูง ประวัติย่อหรู
ที่มีรายได้จากการเป็น
ผู้วางกลยุทธ์การประชุม
ระดมสมองเรื่องมูลค่าเพิ่ม
จากงานร่วมสร้างสรรค์
ที่ก่อความพลิกผันในสังคมเครือข่าย
(เสียงหัวเราะ)
(เสียงปรบมือ)
หรืองานเทือกนั้น
ลองนึกดูสิว่าเราผลาญ
ความสามารถคนไปแค่ไหน
เพราะเราบอกลูกหลานว่าต้อง
"ทำงานเลี้ยงชีพ"
หรือสิ่งที่นักคณิตศาสตร์หัวกะทิ
เขียนระบายบนเฟซบุ๊กเมื่อไม่กี่ปีก่อน
"บรรดาอัจฉริยะของรุ่นผม
ต้องมาจมปลักกับ
การคิดหาวิธีให้คนคลิกดูโฆษณา"
ตัวผมเป็นนักประวัติศาสตร์
ถ้าประวัติศาสตร์สอนอะไรเราได้บ้าง
นั่นคือสอนว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้
วิธีที่เราจัดโครงสร้างสังคม
และเศรษฐกิจนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้
ความคิดสามารถเปลี่ยนโลกได้จริง
ผมคิดด้วยว่าในช่วงสองสามปีมานี้
มันยิ่งชัดแจ่มแจ้งทีเดียว
ว่าเราคงสถานะเช่นนี้ต่อไปไม่ได้
ว่าเราต้องการแนวคิดใหม่
ผมรู้ว่าหลาย ๆ คนมองแง่ร้าย
เกี่ยวกับอนาคต
ที่ความไม่เทียมจะรุนแรงขึ้น
คนจะเกลียดกลัวคนต่างชาติ
และมีปัญหาโลกร้อน
แต่แค่การรู้อุปสรรคที่ต้องสู้
นั้นยังไม่พอ
เรายังต้องมีสิ่งยึดมั่น
มาร์ติน ลูเธอร์ คิงไม่ได้พูดว่า
"ข้าพเจ้าฝันร้าย"
(เสียงหัวเราะ)
เขามีความฝัน
(เสียงปรบมือ)
ฉะนั้นแล้ว...
นี่คือฝันของผมครับ
ผมเชื่อมั่นในอนาคต
ที่คุณค่าของผลงานเรา
ไม่ได้ถูกกำหนด
ด้วยจำนวนค่าตอบแทน
แต่ด้วยปริมาณความสุขที่คุณส่งต่อ
และความหมายที่คุณมอบแก่มัน
ผมเชื่อมั่นในอนาคต
ที่ซึ่งการศึกษาไม่ได้มีเพื่อ
เตรียมคุณให้พร้อมทำงานไร้ประโยชน์
แต่เพื่อชีวิตที่ควรค่า
ผมเชื่อมั่นในอนาคต
ที่ชีวิตอันปราศจากความยากจนไม่ใช่อภิสิทธิ์
หากแต่เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมี
นั่นแหละครับ
นั่นแหละครับ
เราทำการวิจัยแล้ว มีหลักฐานยืนยัน
และมีเครื่องมือพร้อม
โธมัส มอร์ เขียนเรื่องรายได้พื้นฐาน
เป็นครั้งแรกเมื่อ 500 กว่าปีที่แล้ว
ร้อยปีต่อมาหลังจอร์จ ออร์เวลล์
ค้นพบธรรมชาติของความยากจนที่แท้
เราต้องปรับมุมมองของเราใหม่
เพราะความยากจนไม่ใช่
การขาดอุปนิสัยที่ดี
แต่ความยากจนคือการขาดเงิน
ขอบคุณครับ
(เสียงปรบมือ)