(เสียงระฆัง) อาจารย์มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ กำเนิดจักรวาล? (ภาษาฝรั่งเศส) นมัสการท่านอาจารย์ ท่านมีความเห็นอย่างไร เกี่ยวกับกำเนิดจักรวาลครับ ไม่มี (เสียงหัวเราะ) เพราะการคิดอย่างนี้มันไม่มีสาระ อาจารย์จึงใช้เวลากับอะไร ที่เป็นรูปธรรมมากกว่า จะเห็นว่าเมื่อเรามาที่หมู่บ้านพลัม เราไม่เรียนทฤษฎีการทำสมาธิ เราให้เริ่มต้นฝึกเลย เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปในทางดีขึ้น ทั้งทางกาย ความรู้สึก ความรับรู้ และอะไรทั้งหลายที่ยังไม่ตรงอยู่ พวกเราทุกคนเป็นทุกข์จากการรับรู้ที่ผิด มุมมองไม่ถูกต้องจะนำทุกข์มาให้มากมาย การมาเจริญสติคือการมาทำให้ความคิดเงียบลง มาทำให้ใจสงบลง มาเห็นสิ่งต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น จึงสามารถแก้มุมมองที่ผิดๆ ได้ มุมมองที่ผิดๆ จะนำมาซึ่งความกลัว ความโกรธเกรี้ยว ความผิดหวัง เราจึงต้องมาพิจารณาอย่างถ่องแท้ การเจริญสติคือการมาค่อยๆ พิจารณา มาปรับทัศนะให้ตรง เพื่อที่จะได้ไม่เป็นทุกข์ และไม่ไปทำให้ใครเป็นทุกข์ สิ่งนี้ต่างหากที่สำคัญ และใช้ได้จริง สังเกตมั้ยว่าขณะที่เธอ สาธยายทฤษฎีจักรวาลอยู่นั้น ส่วนมากมันคิดเอา เป็นสติปัญญา ส่วนตรรกะ แต่การคิดแบบตรรกะ มันไปได้ไม่ไกล เพราะมักจะติดข้องอยู่กับอคติ สิ่งที่เราได้ยิน ได้เรียนรู้มา เราเชื่อในสิ่งเหล่านั้น ยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้น บ่อยครั้งแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ ก็ติดกับในความคาดหมายล่วงหน้า การจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวจริงเสียงจริง เธอจะต้องทำใจกว้างๆ กล้าปล่อยสิ่งที่รู้แล้ว เพื่อไปสู่ความเข้าใจที่ยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้น อาตมาไม่เห็นว่าการใช้ตรรกะ มาอธิบายความเป็นไปของจักรวาล จะช่วยให้ได้อะไรขึ้นมา มันใช้เวลานาน นานจนไม่ต้องทำอย่างอื่นกัน นักวิทยาศาสตร์หลายคนครุ่นคิด ถกเถียงอยู่กับคำถาม จักรวาลคืออะไร? จักรวาลมาจากไหน? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าจักรวาลดับไป? คำถามเหล่านี้กินเวลาพวกเราไปมาก เมื่อเราเข้าสมาธิลึกได้ เราจะระลึกรู้ถึงความจริงของธรรมชาติ อันไม่เกิดไม่ดับ คำถามเหล่านี้จะไม่มีที่ตั้งอีกต่อไป หนึ่งเพราะมันไม่จริง หนึ่งเพราะมันไม่เป็นไปตามธรรม เราจะไม่มาเสียเวลากับคำถามทำนองนี้ ความเข้าใจนี้เป็นสิ่งที่เราเข้าไปเห็น ด้วยสมาธิ เช่นนี้จึงเป็นความเข้าใจในทุกข์ ทุกข์ในตนเอง ทุกข์ในผู้อื่น ความเข้าใจในทุกข์นี้นำมาซึ่ง ความเมตตาเห็นอกเห็นใจ และสิ่งนี้เองที่มีพลังเยียวยาทั้งตนเอง และทั้งผู้อื่น นี่ต่างหากเป็นสิ่งที่เร่งด่วนมากๆ ที่จะต้องเข้าใจ และความเข้าใจนี้จะพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อเข้าใจทุกข์ จะเข้าใจสุข เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความทุกข์และความสุข และความเข้าใจนี้จะขยายขอบเขตไปกว้างขวาง เราจะเข้าใจไปถึง ความมีตัวตน และความไม่มีตัวตน นี่เป็นเพียงความคิด การเริ่มต้น หรือการสิ้นสุดเป็นเพียงความคิด ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่สิ่งแรกที่เราต้องมาทำความเข้าใจก่อน คือการมาเข้าใจทุกข์ นี่เป็นพื้นฐานเริ่มต้นของชาวพุทธ และเป็นภาคปฏิบัติ ถ้าความทุกข์เราลดลงแล้ว ใจสงบ เราจะเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัว ง่ายดาย และรวดเร็ว เชื่อมโยง บันดาลใจ เติมเต็ม (เสียงระฆัง)