สวัสดีค่ะ ฉันขอแนะนำทุกคนให้รู้จักไลก้ากัน มันอาจดูเป็นหมูน่ารักธรรมดาตัวหนึ่ง แต่สำหรับผู้ป่วยรอการปลูกถ่ายอวัยวะ หลายแสนคนนั้น ไลก้าเปรียบเสมือนความหวังของพวกเขา ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970 เมื่อมีการใช้วิธีปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อรักษาผู้ป่วยได้นั้น สำหรับผู้ป่วยไตวายหรือ โรคที่อวัยวะส่วนอื่น ๆ อวัยวะที่จะใช้รักษากลับไม่เพียงพอ ในหลายสิบปีมานี้ ปัญหานี้กลับแย่กว่าเดิม เนื่องจากมีความต้องการที่สูงขึ้นมาก ในเวลานี้ที่อเมริกา มีผู้ป่วยเกือบ 115,000 ราย ที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะ และจะมีเพิ่มอีก 1 ราย เมื่อการพูดของฉันจบลง วันนี้ผู้ป่วยราว 100 ราย จะได้อวัยวะใหม่ โอกาสใหม่ในชีวิต แต่เมื่อวันนี้สิ้นสุดลง อีก 20 ชีวิต ต้องตายจากไป นับเป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสลด ต่อผู้ป่วย รวมทั้งครอบครัว และแพทย์ผู้รักษา ในบางประเทศ เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาสังคมที่น่าวิตก ดังเช่นในเอเชีย มีข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยที่อับจนหนทาง ต้องซื้ออวัยวะจากตลาดมืดที่ไร้ศีลธรรม เห็นได้ชัดว่าวิกฤตินี้ต้องการทางออก หลายชีวิตต่างตกอยู่ในความเสี่ยง ในฐานะนักชีววิทยาและนักพันธุศาสตร์ ฉันตั้งเป้าที่จะแก้ไขปัญหานี้ วันนี้ฉันพูดได้ว่า เรากำลังไปถึงเป้าหมายนั้น เพราะไลก้า ตอนนี้เราสามารถใช้ เทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรม สร้างอวัยวะปลูกถ่ายให้มนุษย์ จากหมูได้อย่างปลอดภัย ก่อนที่จะกล่าวถึง วิทยาการอันน่าเหลือเชื่อนี้ มาทำความเข้าใจ การปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์กันก่อน กระบวนการนี้ทำโดย ปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่มนุษย์ อาจสงสัยว่าทำไมถึงใช้อวัยวะหมู เพราะอวัยวะหมูบางส่วนมีขนาดและกลไก คล้ายกับของมนุษย์ ตลอดครึ่งศตวรรษมาแล้ว ที่นักวิจัยพยายาม ทดลองปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์ แต่กลับล้มเหลวหรือแทบไม่คืบหน้าเลย เพราะอะไรน่ะหรือ มีอุปสรรคสำคัญ 2 ประการ หนึ่งคือการต่อต้านโดยระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อมีการตรวจพบอวัยวะแปลกปลอม ร่างกายจะเกิดการต่อต้าน สองคือปัญหาที่เกิดจากอวัยวะหมู หมูมีไวรัส ที่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวมันเอง แต่สามารถถ่ายทอดสู่มนุษย์ได้ เรียกว่า the porcine endogenous retrovirus (PERV) ไวรัสนี้สามารถแพร่ระบาดได้ คล้ายกับเชื้อเอชไอวี เนื่องจากยังไม่มีวิธีป้องกันที่ใช้ได้ผล ทำให้การวิจัยปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์ หยุดชะงักมากว่า 10 ปี จนถึงตอนนี้ก็แทบไม่เห็นความก้าวหน้าเลย มาฟังความเป็นมาของฉันกับไลก้ากันค่ะ จุดเริ่มต้นของฉัน คือภูเขาเอ๋อเหมยในประเทศจีน ซึ่งถูกกล่าวถึงในนวนิยายชื่อดังต่าง ๆ เช่นเรื่อง "เสือหมอบมังกรซุ่ม" ที่แห่งนี้คือบ้านของฉัน การที่ได้โตมาที่ภูเขานี้ ฉันกับธรรมชาติ จึงมีความผูกพันที่แน่นแฟ้นต่อกัน นี่เป็นรูปของฉันตอน 7 ขวบ ถ่ายที่หน้าวัดพุทธโบราณ มีลิงเกาะอยู่บนไหล่ด้วย ฉันยังจำได้ชัดเจนตอนนั้นที่ฉันกับเพื่อน โยนถั่วไปมาเพื่อล่อลิงไปทางอื่น เพื่อที่เราจะข้ามหุบเขาไปเดินเล่นได้ ฉันรักธรรมชาติ ตอนเลือกคณะศึกษาต่อ ฉันจึงเลือกเรียนชีววิทยา ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เมืองปักกิ่ง แต่ว่ายิ่งฉันศึกษามากขึ้น กลับยิ่งสงสัยมากขึ้น ลักษณะทางพันธุกรรมของคนกับสัตว์คล้ายกัน แต่ทำไมภายนอกแทบดูไม่เหมือนกันเลย ระบบภูมิคุ้มกันของเราสามารถ ทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ แต่ทำไมถึงฉลาดพอที่จะไม่ทำร้ายตัวเองล่ะ คำถามพวกนี้รบกวนฉันอย่างมาก อาจฟังดูคงแก่เรียน แต่อย่าลืมว่า ฉันเป็นนักวิทยาศาสตร์ หลักจากเรียนจบ ฉันคิดได้ว่า ฉันไม่อยากสงสัยอีกต่อไป ฉันจึงตัดสินใจลงมือหาคำตอบด้วยตัวเอง ในปี 2008 ฉันโชคดีมากที่ได้ศึกษาต่อ ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้ร่วมงานกับดร.จอร์จ เชิร์ช ตอนทำงานในห้องทดลองของเขา ฉันได้เรียนและทำการทดลอง ลักษณะพันธุกรรมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งจากการทดลองทั้งหมด มีครั้งหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้มีการทดลองไลก้าขึ้น ปี 2013 ฉันและเพื่อนร่วมงาน ทดลองดัดแปลงเซลล์ของมนุษย์ โดยใช้วิธีที่เรียกว่า คริสเปอร์ (CRISPR) พวกเราเป็นหนึ่งในคณะวิจัย 2 กลุ่ม ที่สามารถใช้คริสเปอร์ ในการดัดแปลงดีเอ็นเอได้สำเร็จ นับเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ที่น่าตื่นเต้นอย่างมาก เทคโนโลยีคริสเปอร์ มีองค์ประกอบ 2 ส่วน ส่วนที่ทำหน้าที่เหมือนกรรไกร เรียกว่าเอนไซม์คริสเปอร์ และอีกส่วนคืออาร์เอ็นเอนำทาง ลองคิดว่ามันเป็นกรรไกรตัดต่อยีน กับกล้องจุลทรรศน์นะคะ ตัวกล้องจุลทรรศน์ก็คืออาร์เอ็นเอนำทาง ที่ช่วยนำกรรไกรไปยังตำแหน่งที่ต้องการ แล้วบอกให้รู้ว่าตัดตรงนี้นะ จากนั้นเอนไซม์คริสเปอร์จะ ตัดหรือซ่อมแซมดีเอ็นเอตามที่เราต้องการ ไม่นานหลังจากเราเสนอผลการวิจัยนี้แล้ว แพทย์ที่โรงพยาบาลทั่วไปแมส สนใจเรื่องการนำผลการวิจัยของเรา มาใช้ทางการแพทย์ พวกเขาจึงติดต่อมา และนั่นทำให้พวกเราได้เห็นถึงศักยภาพ ในการใช้วิธีคริสเปอร์ มาแก้ปัญหาวิกฤติขาดแคลนอวัยวะปลูกถ่าย แล้วเราทำได้อย่างไร วิธีที่ใช้นั้นง่ายดายแต่กลับซับซ้อนมาก เริ่มจากดัดแปลงเซลล์ในหมูให้ปลอดเชื้อไวรัส และไม่ถูกต้านจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ จากนั้นฝังนิวเคลียสของเซลล์นั้นในไข่ของหมู และให้เกิดการแบ่งตัวเป็นตัวอ่อน ฝังตัวอ่อนที่ได้ในมดลูกของแม่หมู และให้ตัวอ่อนแบ่งตัวจนเป็นหมูเต็มตัว ซึ่งก็คือกระบวนการโคลนนิ่ง อวัยวะลูกหมูจะมีลักษณะพันธุกรรม ที่เข้ากันได้ภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ ในปี 2015 ทีมวิจัยของเราได้จัดการ ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสก่อนในขั้นแรก โดยการนำสำเนาสารพันธุกรรม ไวรัส PERV ทั้ง 62 ออกมาจากจีโนมของหมู แต่ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย แม้จะใช้วิธีคริสเปอร์ เราดัดแปลงเซลล์ได้เพียง 1-2 แบบ ซึ่งสถิติที่เราทำได้ มีแค่ 5 เท่านั้น หากอยากได้ผลที่ต้องการ เราต้องทำเพิ่ม ให้ได้มากกว่า 10 เท่า เราได้วางแผนการทดลองอย่างดี และปฏิบัติการนับร้อย ๆ ครั้ง จนในที่สุดก็นำไวรัสทั้งหมดออกได้สำเร็จ และทำลายสถิติเดิมลงได้ ที่สำคัญกว่านั้น การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถยับยั้งไม่ให้ไวรัสอันตรายตัวนี้ ถ่ายทอดไปสู่มนุษย์ได้ ปีที่แล้ว บริษัท eGenesis ของเรา ใช้เทคโนโลยีดัดแปลงเซลล์และโคลนนิ่ง ให้กำเนิดไลก้าขึ้นมาได้ นับเป็นหมูตัวแรก ที่ไม่มีไวรัส PERV ตั้งแต่เกิด (เสียงปรบมือ) ไลก้านับเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ของการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธ์ุ ที่มีความปลอดภัย และสามารถใช้เป็นแนวทาง ต่อการศึกษาดัดแปลงพันธุกรรมในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาด้านภูมิคุ้มกันได้ จากนั้นมา เราได้สร้างหมูที่ไม่มีไวรัส มากกว่า 30 ตัวแล้ว พวกมันอาจเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ที่ล้ำหน้าที่สุดในโลกก็ว่าได้ ชื่อของไลก้ามาจากสุนัขของโซเวียต ที่่เป็นสัตว์ตัวแรกที่ได้โคจรรอบโลกในอวกาศ เราหวังว่าไลก้าและพี่น้องของมัน สามารถนำเราไปสู่การค้นพบวิทยาการใหม่ ทั้งทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ลองจินตนาการนะคะ หากผู้ป่วยตับล้มเหลว มีตับใหม่มารักษาได้ทันที โดยไม่ต้องรอผู้บริจาค หรือรอรับจากผู้เสียชีวิต หรือหากผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ต้องพึ่งอินซูลินหลังอาหารทุกมื้อ เพราะเราสร้างเซลล์ในตับอ่อน ให้สามารถผลิตอินซูลินเองได้ และลองคิดดูว่าหากผู้ป่วยไตวาย ไม่ต้องทนทำการฟอกไตอีกต่อไป เรามุ่งมั่นที่จะสร้าง จินตนาการนั้นให้เป็นจริง โดยมีอวัยวะรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างทั่วถึง และในที่สุดเราก็มีสิ่งที่ใช้แก้ปัญหา ที่ไม่สามารถจัดการได้ก่อนหน้านี้ และไลก้าเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น เราต้องรู้จักผ่อนโอนต่อธรรมชาติ เพราะยังมีปัญหาอีกหลายประการ ให้เราต้องจัดการ รวมถึงด้านระบบภูมิคุ้มกัน และสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เหนือความคาดการณ์ อย่างไรก็ดี นี่เป็นหน้าที่ของเรา ในการนำวิทยาการล้ำสมัยนี้ มาช่วยชีวิตผู้ป่วยทุกคนที่รอการรักษาอยู่ ขอบคุณมากค่ะ (เสียงปรบมือ) ผลงานวิจัยนี้ยอดเยี่ยมมากครับคุณลู่หาน มาข้างหน้าเลยครับ แล้วขั้นต่อไปเป็นอะไรครับ ในเมื่อคุณกำจัดไวรัสได้แล้ว สิ่งต่อไปคือพยายาม ไม่ให้ร่างกายมนุษย์ต่อต้านอวัยวะปลูกถ่าย จะมีการดำเนินการอย่างไรบ้างครับ กระบวนการนี้นับว่าซับซ้อนมากค่ะ คือต้องมีการนำสารก่อภูมิต้านทาน ออกจากตัวหมู ซึ่งเราสามารถศึกษาเรื่องนี้ได้จากโรคมะเร็ง เช่นมะเร็งลุกลามหรือหลบหลึก ระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างไร เราสามารถเลียนแบบวิธีที่มันใช้ มาใช้กับอวัยวะของหมู เพื่อหลอกไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันเรา ต่อต้านอวัยวะนั้น คุณพอคาดการณ์ได้ไหมครับ ว่าการปลูกถ่ายอวัยวะวิธีนี้จะสำเร็จเมื่อใด จะเหมือนฉันพูดไม่จริงจัง ถ้าให้ระบุเวลาไปเลยนะคะ แต่ที่ TED เราก็ไม่ได้จริงจังตลอดนี่ครับ ค่ะ เราได้มีการเร่งดำเนินการ เพื่อใช้วิธีนี้รักษาผู้ป่วยได้โดยเร็วค่ะ สรุปว่าคุณก็ไม่คิด ว่าจะสำเร็จภายใน 5 ปี 10 ปี ใช่ไหมครับ แน่นอนว่าเราได้แต่หวัง ว่าจะเป็นจริงได้ใน 10 ปีค่ะ (เสียงหัวเราะ) ครับ หลายคนอาจตื่นเต้น กับพัฒนาการอันยอดเยี่ยมนี้ แต่คนอีกส่วนอาจคิดว่า เราไม่ควรนำหมูน่ารัก ๆ มาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวมนุษย์เลย คุณเห็นว่าอย่างไรบ้างครับ ค่ะ ลองนึกดูว่าหมู 1 ตัว ช่วยคนได้ 8 ชีวิตนะคะ และเช่นเดียวกับการบริจาคอวัยวะในคน ถ้าใช้ไตหมูแค่ข้างเดียว หมูก็มีชีวิตต่อไปได้ ซึ่งเราตระหนักดีถึงประเด็นนี้ แต่ท้ายที่สุด จุดประสงค์เราคือ การนำมาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ เพื่อตัวผู้ป่วยและครอบครัวค่ะ และไม่มีใครมีสิทธิ์ว่าคุณด้วย ถ้าเขายังกินเบคอนอยู่นะ จริงไหมครับ พูดได้ดีค่ะ (เสียงหัวเราะ) ขอบคุณอย่างยิ่งครับ คุณลู่หาน ขอบคุณมากค่ะ (เสียงปรบมือ)