มันเริ่มต้นจากการไอ หรือเสียงหวีดระหว่างหายใจ ต่อมาคุณจะรู้สึกแน่นหน้าอก คุณหายใจถี่ขึ้น และหายใจตื้นขึ้นไปทุกขณะ ทำให้คุณรู้สึกหายใจไม่ทัน นี่คืออาการที่พบบ่อยของ การจับหืด (asthma attack) ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหืดกว่า 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 250,000 คนต่อปี ทว่า เหตุใดคนเราจึงป่วยด้วยโรคหืด แล้วโรคนี้อันตรายถึงตายได้อย่างไร โรคหืดเป็นโรคที่เกิดกับระบบหายใจ โดยเฉพาะในทางเดินหายใจที่มีขนาดเล็ก เช่น หลอดลม (bronchus) และหลอดลมฝอย (bronchiole) ทางเดินหายใจส่วนนี้มีผิวชั้นใน เรียกว่าผิวเยื่อเมือก (mucosa) ซึ่งล้อมรอบด้วยชั้นของกล้ามเนื้อเรียบ ในผู้ป่วยโรคหืด ทางเดินหายใจเหล่านี้ มีการอักเสบเรื้อรังอยู่แต่เดิม ซึ่งทำให้พวกมันมีความไวผิดปกติ ต่อสิ่งกระตุ้นบางอย่าง สิ่งกระตุ้นโรคหืดเหล่านี้ อาทิ ควันบุหรี่ ละอองเกสร ฝุ่น น้ำหอม การออกกำลังกาย อากาศเย็น ความเครียด หรือแม้กระทั่งไข้หวัด เมื่อผู้ป่วยโรคหืด สัมผัสสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ ก็อาจเกิดอาการจับหืด หรือโรคหืดกำเริบขึ้นได้ แต่ปัจจัยที่พบได้โดยทั่วไปเช่นนี้ ทำให้เกิดอาการจับหืดได้อย่างไร เมื่อผู้ป่วยโรคหืดสัมผัสสิ่งกระตุ้น ชั้นกล้ามเนื้อเรียบที่ห่อหุ้ม ทางเดินหายใจขนาดเล็กเหล่านี้ จะหดตัว ทำให้ช่องทางแคบลง ขณะเดียวกัน สิ่งกระตุ้นพวกนี้ ก็ทำให้การอักเสบทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ชั้นเยื่อเมือกบวมมากขึ้น และหลั่งเมือกออกมามากกว่าปกติ ในสภาวะปกติแล้ว ร่างกายจะใช้เมือกเหล่านี้ในการดักจับ และขับสิ่งแปลกปลอม เช่น เกสร หรือฝุ่น แต่ในขณะที่เกิดการจับหืดอยู่นั้น เมือกจะไปอุดกั้นทางเดินหายใจที่ตีบแคบ ทำให้ผู้ป่วยยิ่งหายใจลำบากขึ้นกว่าเดิม ผลดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ของโรคหืด จากการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกแน่นหน้าอก เมือกที่มีปริมาณมากผิดปกติ และการอักเสบที่รุนแรงขึ้นทำให้เกิดอาการไอ ส่วนเสียงหวีดนั้นน่ะหรือ เสียงนั้นเกิดขึ้นเพราะ เมื่อทางเดินหายใจตีบแคบลง แล้วอากาศไหลผ่านช่องที่ตีบแคบ จึงเกิดเป็นเสียงหวีดขึ้น อาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้ผู้ป่วย รู้สึกราวกับว่าไม่มีอากาศจะหายใจ ถึงกระนั้น จริง ๆ แล้ว ขณะที่กำลังจับหืด การอักเสบทำให้การหายใจออก ยากกว่าการหายใจเข้า เมื่อเวลาผ่านไป จะทำให้ในปอด มีอากาศคั่งอยู่มากเกิน เป็นปรากฏการณ์การขยายเกินของปอด (lung hyperinflation) การมีอากาศถูกขังไว้ภายในปอด ทำให้ร่างกายต้องทำงานหนัก เพื่อที่จะหายใจเข้าและหายใจออก หากยังเป็นอยู่ จะทำให้ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายมีปริมาณลดลง บางครั้ง ในผู้ป่วยที่มีอาการจับหืดอย่างรุนแรง และไม่ได้รับการรักษา ร่างกายจะไม่สามารถทนไหว และนำไปสู่การเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจน ถ้าเช่นนั้น เราจะป้องกันอาการหืดกำเริบ ที่ทั้งทรมานและอาจถึงตาย ในผู้ป่วยโรคหืดได้อย่างไร หนทางหนึ่งก็คือ การลดโอกาสสัมผัสสิ่งกระตุ้น โชคร้ายที่โลกแห่งความเป็นจริง เราไม่สามารถทำนายอะไรได้ และบางครั้ง การสัมผัสสิ่งกระตุ้น ก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา จุดนี้เองที่ยาพ่น (inhaler) ซึ่งเป็น การรักษาปฐมภูมิของโรคหืด เข้ามามีบทบาท ยาเหล่านี้ช่วยให้ผู้ป่วยโรคหืด ได้ทั้งป้องกันและควบคุมอาการ ยาพ่นเหล่านี้สามารถส่งตัวยา เข้าไปยังทางเดินหายใจที่เป็นโรคได้ โดยใช้ละอองยาหรือผงยาละเอียด เข้าไปแก้ปัญหาที่ตำแหน่งต้นเหตุ ยาชนิดนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือยาบรรเทาอาการ (reliever) ซึ่งรักษาอาการได้ทันที โดยมียากระตุ้นตัวรับเบต้า (beta-agonist) ยากระตุ้นตัวรับเบต้า จะไปคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง ทำให้ทางเดินหายใจเปิดโล่งขึ้น อากาศผ่านเข้าออกปอดได้สะดวกขึ้น อีกกลุ่มหนึ่งใช้เป็นยาป้องกันการเกิดอาการ ช่วยรักษาอาการของโรคหืด ได้ในระยะยาว มีตัวยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์จะลดการอักเสบ และความไวเกินของทางเดินหายใจ ทำให้สามารถควบคุมโรคหืดเอาไว้ได้ นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญ ในการป้องกันความเสียหายในระยะยาว จากการอักเสบเรื้อรังอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลเป็นในทางเดินหายใจได้ ยาพ่นเหล่านี้มีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง และได้ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยจำนวนมาก มีชีวิตที่ดีขึ้น ถึงแม้เราจะมีการพัฒนาวิธีในการรักษา และการวินิจฉัยโรคหืดที่ก้าวหน้าก็ตาม แต่เราก็ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ ปัจจุบันเราเชื่อว่าโรคหืดเกิดจาก หลายปัจจัย ทั้งจากพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม และอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงวัยเด็ก งานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ถึงกับเชื่อมโยง ความยากจนเข้ากับการเป็นโรคหืด ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ นับตั้งแต่การได้สัมผัสมลพิษ และสิ่งระคายเคืองในสิ่งแวดล้อมมากกว่า ไปจนถึงความยากลำบาก ในการเข้าถึงการบริการสุขภาพหรือการรักษา หากเรามีความรู้เรื่องโรคหืดมากขึ้นในวันหน้า เราก็จะพบหนทางใหม่ในการทะนุถนอมทางเดินหายใจ ของผู้คนให้ปกติสุขและสุขภาพดีได้