(ระฆังครึ่งเสียง) เราจะตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรงเพื่อยุติการเข่นฆ่ากันได้ไหม นมัสการหลวงปู่ สวัสดีสังฆะ คำถามนี้เกี่ยวกับข้อฝึกอบรมสติข้อที่หนึ่ง เมื่อมีความรุนแรงขั้นสุดอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น การตอบโต้ความรุนแรงด้วยการกระทำ รวมถึงการกระทำที่รุนแรง เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ไหม ฉันทำอาชีพเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และฉันนึกถึงเชอร์ชิล หรือเชมเบอร์ลินกับฮิตเลอร์ หรือตัวอย่างที่สมัยใหม่กว่าอย่างเช่น รวันดา ซูดาน ซึ่งการรับฟังด้วยความกรุณาแบบที่ เชมเบอร์ลินใช้กับฮิตเลอร์ อาจไม่เพียงพอ และฉันไม่รู้จะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ นมัสการหลวงปู่ เพื่อนของเราถามเกี่ยวกับ สถานการณ์ที่รุนแรงขั้นสุด และเธอยกตัวอย่าง เมื่อกลางศตวรรษที่ 20 ที่ฮิตเลอร์ก่อให้เกิดความทุกข์แสนสาหัส และมีข้าราชการในอังกฤษคนหนึ่ง พยายามรับฟังฮิตเลอร์ด้วยความกรุณา และดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จ อันที่จริงแล้ว เปิดโอกาสให้ฮิตเลอร์ทำร้ายผู้คนมากขึ้น เธอถามว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ การใช้ความรุนแรงเพื่อยุติความรุนแรงนั้น เหมาะสมหรือไม่ การกระทำโดยไม่ใช้ความรุนแรง (สันติวิธี) ไม่ใช่เทคนิค แต่เป็นหนทาง..ไม่ใช่เทคนิค และพื้นฐานของสันติวิธีก็คือ ความเข้าใจและความกรุณา เมื่อเธอมีความเข้าใจและความกรุณาในหัวใจ ทุกสิ่งที่เธอทำจะปราศจากความรุนแรง สมมุติว่า มีคนฆ่าใคร มีคนทำผิดกฎหมาย แล้วเธอจับเขาเข้าคุก การจับกุมเขา และขังไว้ในคุก ถือเป็นความรุนแรงหรือไม่รุนแรง ขึ้นอยู่กับ สถานการณ์ ถ้าเธอจับคนๆ นั้นขังไว้ แต่เธอทำด้วยความเข้าใจและความกรุณา นั่นคือ การกระทำที่ปราศจากความรุนแรง แต่ถ้าเธอไม่ทำอะไรเลย แต่เธอปล่อยให้ ผู้คนเหล่านั้นเข่นฆ่าและทำลาย แม้เธอจะไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย นั่นก็เรียกว่า ความรุนแรง ความรุนแรงอาจมาจากการกระทำ หรือการไม่กระทำ ดูภายนอกอาจจะดูรุนแรง แต่ถ้าเธอกระทำด้วยจิตใจที่เข้าใจและกรุณา นั่นก็ไม่ใช่ความรุนแรงจริงๆ สมมุติว่า ม้าตัวหนึ่งทรมานมากและใกล้จะตาย แต่ไม่ตายสักที หากเธอกระทำการบางอย่างเพื่อให้มันจบชีวิตลงได้ ดูเหมือนจะเป็นความรุนแรง แต่นั่นเกิดจากความกรุณาของเธอ เธอไม่อยากให้ม้าตัวนั้นทุกข์ทรมานอีกนานเกินไป ภาพนั้นสะท้อนให้เธอเห็นว่า การกระทำนั้นๆ จะเป็นความรุนแรงหรือไม่ อยู่ที่หัวใจของเธอ ถ้าเธอตั้งใจที่จะลดทอนความทุกข์... ถ้าเธอเข้าใจว่า ทำไมคนๆ นั้นถึงทำเรื่องรุนแรงอย่างนั้น แม้เธอจะขังเขาไว้ หรือปล่อยให้เขาอดอาหาร 2-3 วัน นั่นก็ยังไม่ใช่ความรุนแรง เพราะการไม่ให้อาหารคนบางคนสองสามวัน เพื่อช่วยให้เขาตระหนักว่า การมีอะไรกินนั้นช่างดีนักหนา เพื่อให้เขาเกิดปัญญา เธอไม่ได้มีความตั้งใจที่จะลงโทษเขา แต่ตั้งใจช่วยให้เขาได้เรียนรู้และเห็นคุณค่า นั่นคือ สันติวิธี ดังนั้น เราจึงไม่ควรรอจนเกิดเรื่องขึ้นก่อน แล้วถึงจะตัดสินใจว่า ควรจะตอบโต้ด้วยความรุนแรงหรือสันติวิธี เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น เราจะสามารถกระทำการด้วยความกรุณา ซึ่งหมายถึงการใช้สันติวิธี และการกระทำแบบสันติวิธีควร… ควร เป็นการกระทำระยะยาว เมื่อเธอสอนลูก เวลาที่เธอบอกลูกว่า ให้ประพฤติตนอย่างไร เธอพ่วงการกระทำที่ปราศจากความรุนแรงเข้าไปด้วย อย่ารอจนกระทั่งเด็กกลายเป็นคนโหดเหี้ยม และเริ่มทำลายหรือเข่นฆ่า แล้วถึงจะสอนเขา เธอต้องใช้มาตรการป้องกันไว้ก่อน ดังนั้น ในแวดวงการศึกษา แวดวงการเกษตร แวดวงศิลปะ เธอสามารถนำเสนอ การคิดแบบสันติวิธี การกระทำแบบสันติวิธี และสอนผู้คนให้เลิกเลือกปฏิบัติ นั่นคือ การกระทำพื้นฐานของสันติวิธี เพราะความรุนแรงเกิดจากการเลือกที่รักมักที่ชัง จากการแบ่งแยก จากความเกลียดชัง ความกลัว ความโกรธ ดังนั้น การช่วยผู้คนให้แปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ ก่อนที่มันจะแปรสภาพเป็นการกระทำ ถือเป็นการกระทำที่ปราศจากความรุนแรงที่แท้จริง เราควรจะเริ่มต้นเดี๋ยวนี้ ไม่ควรรอจนเกิดอะไรบางอย่างขึ้น ถึงจะมาคิดว่า เราควรจะกระทำรุนแรงหรือไม่ และหลวงปู่คิดว่า... สันติวิธีไม่ใช่คำตอบที่เบ็ดเสร็จ เราอาจใช้คำว่า เราควรจะไม่ใช้ความรุนแรงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เมื่อเรานึกถึงทหาร เราคิดว่า ทหารทำแต่สิ่งที่รุนแรง แต่การคุมกองทัพ การปกป้องบ้านเมือง การป้องกันการรุกรานจากกองทัพต่างชาตินั้น ทำได้หลายวิธี มีทั้งวิธีที่รุนแรงมากกว่า และวิธีที่รุนแรงน้อยกว่า และเธอเลือกได้เสมอ ถ้าเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้สันติวิธีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้สันติวิธีสัก 80 เปอร์เซนต์ ก็ยังดีกว่าแค่ 10 เปอร์เซ็นต์... เห็นไหม...ดังนั้น อย่าถามหาความเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ นั่นก็เป็นแนวทางที่เราใช้ในการฝึกปฏิบัติตามข้อฝึกอบรมสติห้าประการ เธอไม่อาจปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่าไปกังวลว่า เธอจะรักษาศีล 14 หรือศีล 5 ได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ สิ่งสำคัญคือ เธอตั้งจิตมั่นที่จะไปทางนั้น เธอทำให้เต็มที่ที่สุด นั่นคือ สิ่งที่พวกเราต้องการ เหมือนกับในป่า เธอหลงทางอยู่กลางป่าในตอนกลางคืน ไม่รู้ว่าจะออกมาได้อย่างไร และเธอต้องมองไปยังดาวเหนือเพื่อหาหนทาง ถ้าเธอเดินไปทางทิศเหนือ ก็ไม่ได้หมายความว่า เธออยากไปให้ถึงดาวเหนือ เธอไม่จำเป็นต้องไปให้ถึง เพียงแค่ต้องไปทางทิศเหนือ (เสียงหัวเราะ) ข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการก็เป็นเช่นนั้นแหละ เธอควรเดินไปในทิศทางแห่งความเข้าใจและกรุณา เธอไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ถ้าเธอรู้ว่า เธอทำดีที่สุดแล้ว ก็ดีพอแล้วสำหรับสังฆะ ดีพอแล้วสำหรับพระพุทธองค์ สันติวิธีก็เหมือนกัน เราต้องทำให้เต็มที่ที่สุด ขอบคุณ