อะไรคือสาเหตุของการติดเฮโรอีน คำถามง่ายๆ แบบนี้ จะถามทำไม ของมันแน่อยู่แล้ว ใครๆ ก็รู้ ก็เฮโรอีนนั่นแหละที่ทำให้คนติดเฮโรอีน หลักการก็คือว่า... ถ้าเสพเฮโรอีนซัก 20 วัน พอวันที่ 21 เราก็จะอยากยาอย่างรุนแรง เพราะในยามีสารที่ทำให้ติด ถึงได้เรียกว่า ยาเสพติด ไงล่ะ แต่มันยังมีมากกว่านั้น เรื่องยาเสพติดที่เรารู้ ใช่ว่าถูกต้องเสียทั้งหมด สมมุติว่าคุณกระดูกหัก เข้าโรงพยาบาล หมอจะให้ไดมอร์ฟีนระงับอาการปวด หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ไดมอร์ฟีนก็คือเฮโรอีนนั่นแหละ มันแรงกว่าเฮโรอีนที่ซื้อขายกันตั้งหลายเท่า เพราะมันไม่ได้ผสมสารอื่นๆ ลงไป อย่างที่พ่อค้ายาทำ มีคนมากมายใกล้ๆ ตัวคุณ รับเฮโรอีนชั้นเลิศนี้จากโรงพยาบาล บางคนก็น่าจะติดยาใช่มั้ย แต่การศึกษาอย่างใกล้ชิด พบว่าไม่ใช่ แม้แต่คุณย่าที่ผ่าตัดสะโพก ก็ไม่กลายเป็นคนติดยา ทำไมล่ะ ทฤษฏีใหม่ว่าด้วยการเสพติดนี้ ผ่านการทดลองหลายครั้ง ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นการทดลองที่แสนธรรมดา คือเอาหนูมาใส่ในกรงที่มีน้ำดื่มให้ 2 ขวด ขวดหนึ่งเป็นน้ำเปล่า อีกขวดเป็นน้ำ ผสมเฮโรอีนหรือโคเคน ทุกครั้งที่ทำการทดลองแบบนี้ หนูจะกินแต่น้ำที่ผสมยาเสพติด กินอยู่อย่างนั้น จนตายในที่สุด แต่ช่วงปี 1970 บรูซ อเล็กซานเดอร์ อาจารย์จิตวิทยา สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติในการทดลอง นั่นคือ หนูถูกขังไว้ในกรงเพียงตัวเดียว ไม่มีอะไรให้ทำ นอกจากกินน้ำผสมยา เขาเลยคิดว่า ลองเปลี่ยนอะไรสักนิดดีมั้ย เขาสร้างสวนสนุกสำหรับหนู สวรรค์ของหนูทดลองทั้งหลาย มีลูกบอลหลากสี มีท่อวางไว้ให้วิ่งเล่น มีเพื่อนๆ หนู และแน่นอนว่า มีเซ็กซ์ได้มากมายอีกด้วย เรียกว่ามีทุกอย่างที่หนูต้องการ ในกรงก็มีขวดน้ำ 2 แบบ คือน้ำเปล่า และน้ำผสมยา แล้วเรื่องน่าตื่นเต้นก็เกิดขึ้น ในสวนนั้น พวกหนูแทบไม่แตะต้อง น้ำผสมยา ไม่มีหนูที่มีทีท่าว่าอยากกินน้ำนั้น ไม่มีหนูตายเพราะรับยาเสพติดเกินขนาด แต่ก็อาจเพราะมันเป็นหนู ที่จริงแล้ว มีการทดลองกับคนด้วยนะ ในสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกัน 20% ใช้เฮโรอิน คนทางบ้านก็ตื่นตระหนก กลัวว่าหลังจากสงครามสงบแล้ว จะมีทหารผ่านศึกติดยาเต็มเมืองไปหมด แต่จากผลการศึกษา ก็พบว่า ทหารเหล่านั้นไม่ได้ไปค่ายบำบัด ไม่ต้องทำอะไรเพื่อเลิกยา แต่ 95% ของพวกเขา หยุดได้ทันทีที่กลับบ้าน ถ้าคิดตามทฤษฏีเดิม ก็ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ถ้านึกถึงทฤษฏีของอาจารย์อเล็กซานเดอร์ มันเป็นไปได้แน่นอน ถ้าเราอยู่ในป่าลึก ในประเทศที่ไม่คุ้นเคย มีหน้าที่ต้องฆ่าคน อาจจะตายเมื่อไหร่ไม่รู้ การเสพเฮโรอีนก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่พอกลับบ้าน มาเจอครอบครัว เพื่อนฝูง ก็เหมือนหนูที่ย้ายจากกรงที่ไม่มีอะไรเลย ไปอยู่ในกรงที่มีสวนสนุก สาเหตุไม่ใช่สารเคมี แต่เป็นสภาพแวดล้อม ลองมองอาการเสพติดในมุมใหม่ มนุษย์เราต้องการเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ถ้าเรามีความสุขดี แข็งแรงดี เราก็ปฎิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ แต่เมื่อเราทำไม่ได้ เพราะเจอเรื่องโหดร้าย ถูกทอดทิ้ง หรือช่วงจังหวะที่ชีวิตตกต่ำ เราจะเชื่อมตัวเองกับสิ่งที่ทำให้เราสบายใจ เช่น เช็คหน้าจอโทรศัพท์ตลอดเวลา ติดหนังโป๊ ติดเกมส์ ติดสื่อ ติดพนัน ติดยา เราต้องเชื่อมตัวเองกับอะไรสักอย่าง เพราะมันคือธรรมชาติของมนุษย์ การป้องกันไม่ให้เราไปติดอะไรร้ายๆ ก็คือต้องติดอะไรดีๆ ปฏิสัมพันธ์กับคนที่เราอยากอยู่ด้วย การติดยาเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ อาการ ของการถูกตัดขาดจากสังคม ซึ่งเกิดรอบๆ ตัวเราทุกวัน เรารู้สึกได้ ตั้งแต่ช่วงปี 1950 เป็นต้นมา คนอเมริกัน มีเพื่อนสนิทน้อยลงอย่างน่าใจหาย ในขณะเดียวกัน พื้นที่ว่างในแต่ละบ้าน ก็ขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว เลือกพื้นที่ ทิ้งเพื่อน เลือกสิ่งของ ทิ้งสังคม เราเปิดสงครามกับยาเสพติดมาเนิ่นนานแล้ว แต่ยิ่งสู้ เหตุการณ์ยิ่งเลวร้าย แทนที่จะช่วยดูแลและประคับประคอง ให้ชีวิตเขากลับมาเหมือนเดิม เรากลับผลักเขาออกไปจากสังคม พวกเขาไม่มีโอกาส หางานทำเพื่อสร้างชีวิตใหม่ ทันทีที่เราจับได้ว่าเขาติดยา เราก็แทบไม่ใยดีเขาอีกเลย เราเองนั่นแหละที่เป็นคนจับเขา ไปใส่ในกรงนั้น เมื่อเขาตกอยู่ในสภาวะลำบาก เรากลับทำให้เขารู้สึกแย่กว่าเดิม และตำหนิเขาว่าทำไมไม่ยอมดีขึ้นสักที เราเชื่อมานานแล้วว่า การเลิกยาจะสำเร็จ ก็ต่อเมื่อคนเลิกยาทำให้มันสำเร็จได้เอง เราน่าจะนึกถึงการรักษาจากสังคมด้วย เพราะจริงๆ แล้ว เราทั้งหมดนั่นแหละที่มีปัญหา เราต้องช่วยกันสร้างสังคมที่เป็นเหมือน สวนสนุกของพวกหนู ไม่เป็นกรงขังเดี่ยวแบบเดิมๆ เปลี่ยนวิธีปฏิสัมพันธ์ที่แปลกประหลาด ให้เห็นตัวตนของคนที่เราสื่อสารด้วย คำตรงข้ามของการติดยา ไม่ใช่การเลิกยา แต่คือการเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับคนอื่นๆ ได้ วีดีโอนี้ได้รับความร่วมมือจาก โยฮาน ฮารี ผู้เขียนหนังสือ “Chasing the Scream: The First and Last Days of the War on Drugs” โยฮานใจดีมากที่มาผลิตวีดีโอกับเรา และส่งต่อข้อความนี้ไปยังคนอื่นๆ เราเลยขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้คุณด้วย ขอขอบคุณการสนับสนุนจาก Patreon.com เรายินดีรับการสนับสนุนจากทุกท่าน เพื่อผลิตวีดีโอดีๆ ต่อไป ชมข้อมูลแบบ Interactive ได้ ผ่านลิงค์ใน Description