เราจะเรียนรู้ได้อย่างไร ทำไมคนบางคน ถึงเรียนรู้อะไรได้ง่ายกว่าคนอื่น ฉันลาร่า บอยด์ ตอนนี้ฉันเป็นนักวิจัยสมอง ที่ University of British Columbia คำถามเหล่านี้ติดอยู่ในใจฉัน (เสียงปรบมือ) การวิจัยเกี่ยวกับสมอง เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ ในการทำความเข้าใจสรีรวิทยาของมนุษย์ รวมถึงในการพิจารณาว่า อะไรทำให้เราเป็นเรา มันเป็นช่วงเวลาที่วิเศษมาก ที่ได้เป็นนักวิจัยสมอง และฉันอยากจะบอกกับทุกคน ว่าฉันได้ทำงานที่น่าสนใจที่สุดในโลก สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับสมอง เปลี่ยนแปลงเร็วเท่าชั่วลมหายใจ และอะไรก็ตามที่เราคิดว่า เรารู้และเข้าใจเกี่ยวกับสมอง กลายเป็นเรื่องไม่จริงหรือไม่สมบูรณ์ ความเข้าใจผิดเหล่านี้ บางเรื่องก็เห็นได้ชัดเจนกว่าเรื่องอื่น เช่น พวกเราเคยคิดว่า หลังพ้นวัยเด็กแล้วสมองจะ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ กลับกลายเป็นว่า ความเชื่อนี้ ผิดจากความจริงเสียยิ่งกว่าอะไร อีกความเข้าใจผิดหนึ่งเกี่ยวกับสมอง คือความเชื่อว่าในขณะหนึ่งๆ คุณใช้สมองแค่เพียงบางส่วน และสมองจะหยุดทำงาน เมื่อคุณไม่ได้ทำอะไรเลย เรื่องนี้ก็ไม่จริงเช่นกัน เรากลับพบว่า แม้แต่เวลาที่คุณกำลังพักผ่อน และไม่ได้คิดอะไรเลย สมองก็ยังทำงานเต็มที่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น MRI ทำให้เราได้ข้อค้นพบเหล่านี้ และข้อค้นพบที่สำคัญอื่น ๆ การค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุด น่าสนใจที่สุด และปฏิรูปความรู้ด้านสมองมากที่สุด ในบรรดาการค้นพบเหล่านี้ นั่นคือ ทุกครั้งที่คุณเรียนรู้ ทักษะหรือความรู้ใหม่ คุณเปลี่ยนสมองของคุณไปด้วย นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่าการยืดหยุ่น ปรับตัวของสมอง (Neuroplasticity) เมื่อ 25 ปีที่แล้ว พวกเราคิดว่าหลังจากช่วงวัยรุ่น สมองมีแต่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ เซลล์สมองลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ผลกระทบจากความเสียหายในสมอง เช่น เส้นเลือดตีบหรือแตก แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีการศึกษา ที่พบการปรับโครงสร้างจำนวนมาก ในสมองของผู้ใหญ่ และการวิจัยที่ตามมาก็แสดงให้เราเห็นว่า ทุกพฤติกรรมของเรา เปลี่ยนแปลงสมองของเราได้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอายุ มันเป็นข่าวดีใช่มั้ย และที่จริง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเลย ที่สำคัญมากคือ การปรับโครงสร้างในสมอง ช่วยส่งเสริมการฟื้นตัว หลังจากที่สมองได้รับความเสียหาย กุญแจของการเปลี่ยนแปลงนี้คือ ความยืดหยุ่นปรับตัวของสมอง แล้วความสามารถนี้มันเป็นอย่างไรล่ะ สมองของคุณสามารถเปลี่ยนแปลง ได้ด้วยกระบวนการพื้นฐาน 3 อย่าง เพื่อช่วยในการเรียนรู้ วิธีแรกก็คือสารเคมี การทำงานของสมองเกิดจากการส่งต่อ ของสัญญาณทางเคมี ระหว่างเซลล์ของสมอง ที่เราเรียกว่าเซลล์ประสาท การส่งสัญญาณเคมีเหล่านี้ กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ เพื่อที่จะช่วยในการเรียนรู้ สมองของคุณสามารถเพิ่มปริมาณ หรือความเข้มข้นของสัญญาณเคมี ที่เกิดขึ้นระหว่างเซลล์ประสาทเหล่านี้ และเพราะการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มันจึงช่วยสนับสนุนความจำระยะสั้น หรือเพิ่มความสามารถหรือทักษะ การเคลื่อนไหวได้ชั่วคราวด้วย วิธีที่สองที่สมองเปลี่ยนแปลง เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง ระหว่างที่เรียนรู้อยู่ สมองสามารถเปลี่ยน การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทได้ วิธีนี้ โครงสร้างทางกายภาพของสมอง เปลี่ยนแปลงไปจริงๆ จึงต้องใช้เวลามากขึ้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบนี้ จะเกี่ยวข้องกับความจำระยะยาว และพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวในระยะยาว กระบวนการเหล่านี้มีผลกระทบต่อกัน ฉันจะยกตัวอย่างให้ฟังว่าเป็นอย่างไร พวกเราพยายามเรียนรู้ ทักษะการเคลื่อนไหวใหม่ๆ อาจจะเป็นการเล่นเปียโน บางทีก็การเล่นกล พวกเรามีประสบการณ์ว่าเรา ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในการฝึกฝนครั้งหนึ่งๆ แล้วก็คิดว่า "เราทำได้แล้ว" จากนั้น คุณอาจกลับมาทำอีกครั้งในวันต่อไป ทุกพัฒนาการที่ได้ฝึกในวันก่อนหน้ากลับหายไป เกิดอะไรขึ้น ในช่วงระยะสั้น สมองของคุณสามารถเพิ่ม สัญญาณทางเคมีระหว่างเซลล์ประสาท แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง การเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความจำระยะยาว อย่าลืมว่าความจำระยะยาวต้องใช้เวลา และสิ่งที่คุณเห็นในระยะสั้น ไม่ได้สะท้อนว่าเกิดการเรียนรู้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ซึ่งช่วยให้เกิดความจำระยะยาว ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางเคมี จะช่วยความจำระยะสั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างยังสร้างเครือข่าย ที่ประสานระหว่างพี้นที่ต่างๆ ในสมอง ที่ร่วมกันทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ และยังอาจทำให้สมองบางส่วน ที่สำคัญต่อพฤติกรรมจำเพาะบางอย่าง เปลี่ยนโครงสร้างหรือขยายขนาดขึ้น นี่คือตัวอย่าง คนที่อ่านอักษรเบลล์ มีสมองส่วนที่เกี่ยวกับประสาทสัมผัสที่มือ ขนาดใหญ่กว่าคนที่ไม่ได้อ่าน สมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวมือข้างที่ถนัด ซึ่งอยู่บนสมองซีกซ้าย ถ้าคุณเป็นคนที่ถนัดขวา พี้นที่ดังกล่าว บนสมองซีกซ้ายจะใหญ่กว่าอีกด้าน และงานวิจัยพบว่าคนขับรถแท็กซี่ในลอนดอน ที่ต้องจำแผนที่ในลอนดอนให้ได้ เพื่อรับใบอนุญาตขับรถแท็กซี่ มีพื้นที่สมองที่ทำงานด้านมิติสัมพันธ์ หรือการจดจำแผนที่ ที่ใหญ่กว่าคนปกติ วิธีสุดท้ายที่สมองคุณสามารถเปลี่ยน เพื่อเอื้อในการเรียนรู้ คือการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การทำงาน เมื่อคุณใช้สมองส่วนใดส่วนหนึ่ง มันจะไวต่อการกระตุ้นมากขึ้น และง่ายที่จะถูกใช้งานอีกครั้ง และเมื่อสมองของคุณมีพื้นที่ ที่ไวต่อการกระตุ้นเหล่านี้มากขึ้น รูปแบบและจังหวะเวลา ที่สมองถูกกระตุ้นก็เปลี่ยนไป เมื่อเกิดการเรียนรู้ เราจะเห็นได้ว่า เครือข่ายของกิจกรรมในสมองทั้งหมด มีการขยับปรับเปลี่ยนเกิดขึ้น ดังนั้น ความยืดหยุ่นปรับตัวของสมอง จึงได้รับการสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลง ของสารเคมี, โครงสร้าง, และหน้าที่การทำงาน และเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วทั้งสมอง สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นเดี่ยวๆ ก็ได้ แต่ส่วนมากจะเกิดร่วมกัน ทั้งหมดช่วยในการเรียนรู้ และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉันบอกคุณแล้วว่าความยืดหยุ่นปรับตัวได้ ของสมองเรามันเจ๋งแค่ไหน แต่ ทำไมคุณไม่สามารถเรียนรู้ สิ่งที่คุณอยากเรียนได้ง่าย ๆ ล่ะ ทำไมเด็ก ๆ ถึงล้มเหลวในการเรียน ทำไมเมื่ออายุมากขึ้นเราจึงมักขี้ลืม และทำไมคนเราจึงไม่สามารถ ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์หลังสมองเสียหาย อะไรคือข้อจำกัดของความสามารถ ในการยืดหยุ่นปรับตัวของสมอง นี่แหละคือสิ่งที่ฉันศึกษาอยู่ ฉันศึกษาเจาะลึกว่ามันสัมพันธ์กับ การฟื้นตัวจากโรคสมองขาดเลือดอย่างไร ไม่นานมานี้ โรคสมองขาดเลือดลดอันดับ จากการเป็นสาเหตุการตาย อันดับ 3 ในสหรัฐอเมริกา เป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 4 เป็นข่าวดีใช่มั้ยคะ แต่จริง ๆ แล้วมันกลายเป็นว่า จำนวนของคนที่เป็นโรคไม่ได้ลดลง พวกเราแค่ทำให้คนไข้มีชีวิตอยู่ได้ หลังจากที่โรคมีอาการรุนแรงขึ้น มันยากมากที่จะช่วยฟื้นฟูสมอง จากโรคสมองขาดเลือด พูดกันตรง ๆ เลยก็คือ พวกเราล้มเหลวในการพัฒนา ประสิทธิภาพของการฟื้นฟูผู้ป่วยเหล่านี้ ผลลัพธ์โดยรวมของเรื่องนี้ คือโรคสมองขาดเลือดเป็นสาเหตุหลัก ของภาวะพิการระยะยาวในวัยผู้ใหญ่ทั่วโลก คนอายุน้อยป่วยด้วยโรคสมองขาดเลือดมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีชีวิต อยู่กับภาวะพิการยาวนานขึ้น และการวิจัยจากกลุ่มของฉันแสดงให้เห็นว่า คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของชาวแคนาดา ที่เป็นโรคสมองขาดเลือดนั้นตกต่ำลง มันชัดเจนมากที่เราจะต้องปรับปรุง การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ป่วย จากโรคสมองขาดเลือดให้ดีขึ้น นี่เป็นปัญหาที่ใหญ่มากของสังคม และเป็นหนึ่งในปัญหาที่เรา ยังไม่ได้เข้าไปแก้ไข แล้วเราจะทำอะไรได้ล่ะ มีอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมาก คือ สิ่งที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลง ความสามารถของสมองก็คือพฤติกรรมของคุณ ปัญหาคือปริมาณของพฤติกรรม จำนวนครั้งของการฝึกฝน ที่จำเป็นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ และเรียนรู้พฤติกรรมเก่าซ้ำ ต้องทำซ้ำเยอะมากๆ และจะทำอย่างไรให้การฝึกฝนนั้นมีประสิทธิภาพ เป็นปัญหาที่ยากมากและแพงมากด้วย แนวทางที่ฉันใช้ในงานวิจัยนั้น คือการสร้างการบำบัดที่เหนี่ยวนำ หรือเตรียมสมองให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ ซึ่งวิธีพวกนี้รวมถึงการจำลองสมอง การฝึกซ้อม และสมองกลหุ่นยนต์ แต่จากงานวิจัย ทำให้ฉันได้รู้ว่า ข้อจำกัดที่สำคัญ ในการพัฒนาการรักษาที่สามารถฟื้นฟูสมอง จากโรคสมองขาดเลือดได้อย่างรวดเร็ว คือรูปแบบของความสามารถของความสามารถของสมอง ซึ่งแตกต่างหลากหลายมาก จากคนหนึ่งถึงอีกคน ในฐานะนักวิจัย ความแตกต่างหลากหลายนี้ทำให้ฉันปวดหัว มันทำให้ยากมากที่จะใช้สถิติ เพื่อทดสอบข้อมูลและความคิดของคุณ เพราะอย่างนี้ การศึกษา วิธีบำบัดรักษาทางการแพทย์ จึงถูกออกแบบมาให้ช่วยลด ความแตกต่างหลากหลายให้เหลือน้อยที่สุด แต่ในการวิจัยของฉัน มันเห็นได้ชัดว่า สิ่งสำคัญที่สุด และข้อมูล ที่มีความหมายที่สุดที่เรารวบรวมมาได้ ก็คือข้อมูลที่แสดงให้เห็น ความหลายหลายเหล่านี้ ดังนั้น จากการศึกษาสมองของผู้ป่วย ภาวะสมองขาดเลือด พวกเราได้เรียนรู้มากมาย และฉันคิดว่าบทเรียนนี้ มีค่ามากกับวงการอื่นๆ ด้วย บทเรียนแรกก็คือ ปัจจัยหลักที่ทำให้สมองของคุณเปลี่ยน ก็คือพฤติกรรมของคุณเอง มันไม่มียาที่กินแล้ว ทำให้สมองของคุณเปลี่ยนแปลงไปได้ ไม่มีอะไรมีประสิทธิภาพไปมากกว่าการฝึกฝน ที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ สำคัญที่สุดคือคุณต้องลงมือทำ และที่จริง งานวิจัยของฉันแสดงให้เห็นว่า ยิ่งยาก ยิ่งดิ้นรนพยายาม ในช่วงของการฝึกฝนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งนำไปสู่ ทั้งการเรียนรู้ที่ดีขึ้น และการเปลี่ยนแปลงใน โครงสร้างของสมองที่มากขึ้น ปัญหาคือ ความยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ของสมอง อาจเกิดขึ้นได้ทั้งสองรูปแบบ มันสามารถเป็นไปในแง่บวก คุณได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ได้ปรับปรุงทักษะการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้น แต่มันก็อาจเป็นไปในแง่ลบก็ได้ เช่น คุณลืมสิ่งที่คุณเคยรู้ คุณเริ่มติดยาบางอย่าง หรืออาจมีอาการเจ็บปวดเรื้อรัง สมองของคุณเป็นเหมือนพลาสติกอันน่าทึ่ง ที่ถูกปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง และหน้าที่การทำงานได้ จากทุกสิ่งที่คุณทำ รวมถึงสิ่งที่คุณไม่ได้ทำด้วย บทเรียนที่สองที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับสมอง คือไม่มีรูปแบบการเรียนรู้ใดๆ ที่จะทำให้ ทุกคนเข้าใจได้เท่ากัน ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการเรียนรู้ จากความเชื่อที่แพร่หลายว่า เราต้องใช้เวลาฝึกฝน 10,000 ชั่วโมง เพื่อเรียนรู้และชำนาญในทักษะใหม่ ฉันรับรองได้เลยว่ามันไม่ง่ายแบบนั้น สำหรับพวกเราบางคน จำเป็นต้องมีการฝึกมากมาย แต่คนอื่นที่อาจจะใช้เวลาฝึกน้อยกว่า ดังนั้น การปรับเปลี่ยนสมองของเรานั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวสูง เกินกว่าจะมีวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ที่จะได้ผลสำหรับทุกคน การตระหนักถึงความจริงข้อนี้ ทำให้เรา เริ่มคิดถึงการแพทย์เฉพาะตัวบุคคล คือแนวคิดที่ว่า เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ละคนต้องการวิธีรักษาบำบัด ที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับตนเอง แนวคิดนี้ได้มาจากการรักษาโรคมะเร็ง ที่แสดงให้เห็นว่าพันธุกรรม เป็นปัจจัยสำคัญมากในการจับคู่ ยาเคมีบำบัดบางตัว กับโรคมะเร็ง ที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง งานวิจัยของฉันแสดงให้เห็นว่าแนวคิดนี้ นำไปใช้ในการฟื้นฟูโรคสมองขาดเลือดได้ด้วย โครงสร้างและหน้าที่การทำงานของสมอง มีลักษณะบางอย่าง ที่เราเรียกว่าตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ปรากฏว่าตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเหล่านี้ มีประโยชน์อย่างมาก และช่วยเราในการจับคู่ การรักษาในรูปแบบเฉพาะกับผู้ป่วยแต่ละคนได้ ข้อมูลจากห้องทดลองของฉันชี้ให้เห็นว่า เมื่อใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพหลายอย่างรวมกัน จะช่วยทำนายการเปลี่ยนแปลงของสมอง และแบบแผนการฟื้นตัวของผู้ป่วยได้ดีที่สุด ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย เพราะสมองคนเราซับซ้อนมาก แต่ฉันคิดว่าเราสามารถมองแนวคิดนี้ ในมุมกว้างขึ้นกว่าเดิมได้ โครงสร้างและการทำงานของสมอง มีลักษณะเฉพาะเจาะจงในแต่ละคน ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงได้ของสมอง หลังเกิดภาวะสมองขาดเลือด นำไปใช้กับทุกคน พฤติกรรมที่คุณทำในแต่ละวันนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญ พฤติกรรมเหล่านั้นกำลังเปลี่ยนสมองของคุณ ฉันเชื่อว่าเราต้องพิจารณา ไม่ใช่แค่การแพทย์เฉพาะบุคคล แต่ต้องคิดถึงการเรียนรู้เฉพาะบุคคลด้วย รูปแบบที่เฉพาะเจาะจงของสมอง จะมีผลกระทบกับตัวคุณ ทั้งในฐานะผู้เรียนรู้และผู้ให้ความรู้ ความคิดนี้ช่วยให้เราได้เข้าใจ ว่าทำไมเด็กบางคนถึงมีความก้าวหน้า ในรูปแบบการศึกษาแบบเก่า แต่เด็กคนอื่นไม่สามารถทำได้ ทำไมพวกเราบางคนถึงเรียนภาษาได้อย่างง่ายดาย และหลายคนสามารถเล่นกีฬาได้ดี ดังนั้น หลังจากที่คุณออกจากห้องนี้ สมองของคุณจะไม่เหมือนกับ ตอนที่คุณเข้ามาเมื่อเช้านี้ และฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก แต่พวกคุณแต่ละคนจะมีการเปลี่ยนแปลง ของสมองที่แตกต่างกัน ความเข้าใจในความแตกต่างเหล่านี้ ในแบบแผนพฤติกรรมของแต่ละคน ในตัวแปรและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะช่วยสร้างความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ต่อไป ในวงการประสาทวิทยาศาสตร์ ทำให้เราได้พัฒนาวิธีบำบัดรักษาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มีการจับคู่ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และระหว่างผู้ช่วยกับวิธีบำบัดรักษา แนวคิดนี้ใช้ได้ไม่เพียง ในการฟื้นฟูโรคสมองขาดเลือด แต่ยังใช้ได้กับพวกเราแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่, ครู, ผู้จัดการ และพวกคุณที่อยู่ที่ TEDx ในวันนี้ ในฐานะนักเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย ค้นหาวิธีและสิ่งที่คุณเรียนรู้ได้ดีที่สุด ทำพฤติกรรมที่ดีต่อสมองของคุณเหล่านั้นซ้ำๆ เลิกทำพฤติกรรมที่ไม่ได้ช่วยในการเรียนรู้ ฝึกฝน การเรียนรู้คือการลงมือ ทำสิ่งที่สมองของคุณต้องการ ดังนั้น แผนการที่ดีที่สุด จะแตกต่างไปในแต่ละคน ที่จริง คุณรู้ไหมว่ามันยังแตกต่างกัน ภายในตัวคนแต่ละคนอีก การเรียนดนตรีสำหรับคุณอาจจะง่ายมาก แต่การเรียนสโนว์บอร์ดอาจจะยากกว่า ฉันหวังว่าหลังจากจบงานในวันนี้ คุณจะกลับไปด้วยความภูมิใจ ว่าสมองของคุณพิเศษมากแค่ไหน คุณและสมองของคุณถูกปั้นแต่ง ด้วยโลกที่อยู่รอบตัวคุณ เข้าใจว่าทุกสิ่งที่คุณได้ลงมือทำ ทุกสิ่งที่คุณได้พบ ทุกประสบการณ์ที่สัมผัส จะเปลี่ยนแปลงสมองของคุณ และมันจะเปลี่ยนให้ดีขึ้น หรือว่าแย่ลงก็ได้ ดังนั้น หลังจากจบงานนี้ ขอให้คุณ ออกไปสร้างสมองแบบที่คุณต้องการ ขอบคุณมากค่ะ (เสียงปรบมือ)