มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ไม่ได้พูดว่า "ผมมีฝันร้าย" ตอนที่เขาสร้างแรงบันดาลใจให้กับขบวนการสิทธิพลเมือง เขาพูดว่า "ผมมีความฝัน" ผมก็มีความฝัน ผมมีความฝันว่าเราจะหยุดคิดได้ ว่าอนาคตจะเป็นฝันร้าย เรื่องนี้ท้าทายแน่ๆ เพราะถ้าคุณนึกถึง ภาพยนตร์ยอดฮิตในช่วงไม่กี่ีปีที่ผ่านมา วิสัยทัศน์เกี่ยวกับมนุษยชาติในภาพยนตร์ แทบทุกเรื่องคือการล่มสลาย ผมคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ "เดอะ โรด" ทำให้คนดูหนักใจที่สุดเรื่องหนึ่ง มันถ่ายทำสวยมาก แต่ทุกสิ่งทุกอย่างแร้นแค้น ทุกอย่างตายแล้ว มีแต่พ่อลูกคู่หนึ่ง พยายามเอาตัวรอด เดินไปตามถนน ผมคิดว่าขบวนการสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมก็เป็นส่วนหนึ่ง มีส่วนต้องรับผิดชอบ ที่สร้างภาพอนาคตแบบนี้ นานเกินไปแล้ว ที่เราขายภาพแบบฝันร้าย ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราเน้นแนวโน้มที่เลวร้ายที่สุด เราเน้นแต่ปัญหา เราไม่ได้คิดมากพอ เกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหา ในแง่หนึ่ง เราใช้ความกลัว เป็นตัวดึงดูดความสนใจของคน นักจิตวิทยาทุกคนบอกคุณได้ ว่าความกลัวในสิ่งมีชีวิต ผูกติดกับกลไกหนีตาย มันเป็นส่วนหนึ่งของกลไกสู้และหนี เวลาที่สัตว์หวาดกลัว นึกถึงกวางก็ได้ มันจะทำตัวแข็งและยืนนิ่งมากๆ เตรียมตัวกระโดดหนี ผมคิดว่าเรากำลังทำแบบนั้น เวลาที่เราขอให้คนมีส่วนร่วมกับวาระของเรา เรื่องความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คนกำลังทำตัวแข็งและวิ่งหนี เพราะเรากำลังใช้ความกลัว ผมคิดว่ากลุ่มต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมจะต้องรู้จักโตเป็นผู้ใหญ่ และเริ่มคิดว่า ความก้าวหน้าคืออะไร อะไรคือการปรับปรุงความเป็นอยู่ของมนุษย์? ผมคิดว่าปัญหาหนึ่งที่เราเจอ คือกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่ครอบงำความคิด ในเชิงของความก้าวหน้า มองความก้าวหน้าแต่ในนิยามทางการเงิน นิยามทางเศรษฐศาสตร์ มองว่าด้วยเหตุบางประการ ถ้าเราสามารถ ทำให้ตัวเลขที่ถูกต้องสูงขึ้นได้ เราก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขดัชนีหุ้น ตัวเลขจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) หรืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ชีวิตเราจะดีขึ้น ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง นี่คือนิยามที่ดึงดูดความโลภของมนุษย์ แทนที่จะเป็นความกลัว มันบอกว่า มากกว่าเดิมคือดีกว่าเดิม เอาล่ะครับ ในโลกตะวันตก เรามีพอแล้ว บางทีบางประเทศยังไม่พอ แต่เรามีพอแล้ว และเราก็รู้มานานแล้วว่านี่ไม่ใช่ตัวชี้วัด สวัสดิการของชาติที่ดีเลย อันที่จริง สถาปนิกผู้สร้างระบบบัญชีประชาชาติ ไซมอน คุซเนทส์ ในทศวรรษ 1930 ก็บอกว่า "สวัสดิการของชาติ ไม่อาจบ่งชี้ด้วยรายได้ประชาชาติ" แต่เราได้สร้างระบบบัญชีประชาชาติ ที่ตั้งอยู่บนตัวเลขการผลิต สินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งก็มีเหตุมีผลถ้าดูจากประวัติศาสตร์ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เราต้องผลิตของต่างๆ มากมาย และที่จริงเราก็ประสบความสำเร็จสูงมากในการผลิตของบางอย่าง จนทำลายยุโรปไปหลายส่วน และต้องฟื้นฟูมันขึ้นมาใหม่ ระบบบัญชีประชาชาติของเรา จึงหมกมุ่นอยู่กับการนับว่าเราผลิตอะไรได้ แต่นานมาแล้ว ในปี 1968 โรเบิร์ต เคนเนดี ชายผู้เปี่ยมวิสัยทัศน์ ในแคมเปญชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนที่เขาจะถูกสังหาร ถอดรื้อนิยามของจีดีพี อย่างสละสลวยที่สุด ในประวัติศาสตร์ เขาจบสุนทรพจน์ด้วยประโยคว่า "ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ วัดทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้น สิ่งที่ทำให้ชีวิตคุ้มค่าแก่การอยู่" เพี้ยนขนาดไหนครับ? ที่ตัวชี้วัดความก้าวหน้าของเรา ตัวชี้วัดความก้าวหน้าในสังคม กำลังวัดทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นสิ่งที่ทำให้ชีวิตคุ้มค่า? ผมเชื่อว่าถ้าเคนเนดียังมีชีวิตอยู่วันนี้ เขาก็คงจะขอให้นักสถิติอย่างผม ออกไปดูว่า มีอะไรบ้างที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า เขาคงจะขอให้เราออกแบบ ระบบบัญชีประชาชาติเสียใหม่ ให้ตั้งอยู่บนคุณค่า ที่สำคัญอย่างเช่นความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขของผู้คน และอันที่จริง นักสังคมศาสตร์ก็ออกไปแล้ว ออกไปถามคำถามเหล่านี้ทั่วโลก ภาพนี้มาจากผลการสำรวจระดับโลก ถามคนว่าพวกเขาต้องการอะไร ไม่น่าแปลกใจเลย คนทั่วโลก บอกว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการ คือความสุข สำหรับตัวเอง ครอบครัว ลูกหลาน และชุมชนของพวกเขา โอเค พวกเขาคิดว่าเงินก็สำคัญเหมือนกัน แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับความสุข และสำคัญน้อยกว่าความรักมาก พวกเราล้วนต้องมีความรักและถูกรัก เงินไม่สำคัญเท่ากับสุขภาพ เราอยากมีสุขภาพดีและใช้ชีวิตจนสิ้นอายุขัย ดูเหมือนว่าเหล่านี้จะเป็นคุณค่าที่มนุษย์มีร่วมกัน แล้วทำไมนักสถิติถึงไม่วัดมัน? ทำไมเราถึงไม่คิดถึงความก้าวหน้าของชาติในแง่มุมเหล่านี้ แทนที่จะวัดว่าเรามีสมบัติขนาดไหน? นี่คือสิ่งที่ผมทำตั้งแต่โตเป็นผู้ใหญ่ คิอคิดว่าเราจะวัดความสุขได้ยังไง วัดความอยู่ดีมีสุขได้ยังไง วัดมันภายใต้ขีดจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมได้ยังไง และที่องค์กรที่ผมทำงานให้ คือมูลนิธิเศรษฐศาสตร์แบบใหม่ เราได้สร้างดัชนีที่เราเรียกว่า ดัชนีโลกมีสุข เพราะเราคิดว่าคนควรมีความสุข และโลกก็ควรมีความสุข ทำไมเราไม่คิดตัววัดความก้าวหน้าที่แสดงมันล่ะ? สิ่งที่เราทำ คือเราบอกว่าผลลัพธ์สุดท้ายของแต่ละประเทศ คือระดับความสำเร็จ ของการสร้างชีวิตที่มีความสุขและมีสุขภาพดีให้กับพลเมือง นี่ควรเป็นเป้าหมาย ของทุกประเทศบนโลกนี้ แต่เราก็ต้องตระหนักว่า เรื่องนี้มีปัจจัยการผลิตพื้นฐาน นั่นคือ ทรัพยากรของโลกที่เราใช้ เรามีโลกใบเดียว เราทุกคนต้องใช้มันร่วมกัน โลกนี้คือทรัพยากรหายากที่แท้จริง ดาวเคราะห์ดวงเดียวที่เราอาศัยอยู่ วิชาเศรษฐศาสตร์สนใจเรื่องความหายาก เมื่อมีทรัพยากรหายาก ที่อยากแปลงไปเป็น ผลลัพธ์ที่ต้องการ เศรษฐศาสตร์ก็คิดในมุมของประสิทธิภาพ คิดว่าเราได้อะไรบ้างจากปัจจัยที่ใช้ไป และนี่คือตัวชี้วัดที่บอกว่า เราผลิตความอยู่ดีมีสุข จากการใช้ทรัพยากรของโลกได้ดีเพียงใด ดัชนีโลกมีสุขเป็นตัววัดประสิทธิภาพ และวิธีที่ดีที่สุดที่จะสาธิตให้เห็น คือด้วยกราฟนี้ และไล่ตามแกนแนวนอนของกราฟนี้ คือ "รอยเท้านิเวศ" ซึ่งวัดว่าเราใช้ทรัพยากรไปเท่าไร และสร้างแรงกดดันต่อโลกเท่าไร ยิ่งมากยิ่งไม่ดี ที่แกนแนวตั้งของกราฟ คือตัววัดชื่อ "จำนวนปีที่มีสุข" มันสะท้อนความอยู่ดีมีสุขของแต่ละประเทศ คืออายุขัยเฉลี่ย ถ่วงน้ำหนักด้วยความสุข สะท้อนคุณภาพและปริมาณของชีวิตประชากร จุดสีเหลืองที่คุณเห็นคือค่าเฉลี่ยโลก ทีนี้ ประเทศจำนวนมาก กระจายอยู่รอบๆ ค่าเฉลี่ยนี้ ทางด้านขวาบนสุดของกราฟ คือประเทศที่ผลิตความอยู่ดีมีสุขได้ค่อนข้างดี แต่ใช้ทรัพยากรของโลกไปเยอะมาก พวกนี้คือสหรัฐอเมริกา ประเทศในโลกตะวันตก แสดงด้วยสามเหลี่ยม มีประเทศตะวันออกกลางบางแห่งด้วย ในทางตรงกันข้าม มุมซ้ายล่างสุด คือประเทศที่ผลิตความอยู่ดีมีสุขไม่ค่อยได้ ประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ทะเลทรายซะฮารา ในภาษาของธอมัส ฮอบส์ ชีวิตที่นั่นแสนสั้นและทารุณ อายุขัยเฉลี่ยในประเทศแถบนี้ อยู่แค่ 40 ปีเท่านั้น โรคมาเลเรีย โรคเอดส์ ซึ่งกำลังคร่าชีวิตคนเยอะมาก ในภูมิภาคแถบนี้ ทีนี้มาดูข่าวดีกัน! มีบางประเทศในนี้ พวกสามเหลี่ยมสีเหลือง ที่กำลังทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยโลก กำลังไปสู่มุมซ้ายบนของกราฟ นี่คือกราฟแห่งความหวัง เราอยากอยู่ในโซนซ้ายบน ที่ที่ชีวิตที่ดีไม่ทำร้ายโลก พวกนี้คือประเทศแถบอเมริกาใต้ ประเทศที่อยู่บนสุดเลย คือประเทศที่ผมไม่เคยไป พวกคุณบางคนอาจจะเคย นี่คือคอสตาริกา คอสตาริกา อายุขัยเฉลี่ยที่นั่นคือ 78 ปีครึ่ง สูงกว่าสหรัฐอเมริกา ผลสำรวจทั่วโลกของแกลลัพฉบับล่าสุด บอกว่าคือชาติที่คนมีความสุขมากที่สุด มากกว่าสวิสเซอร์แลนด์ มากกว่าเดนมาร์ก เป็นชาติที่มีความสุขที่สุด พวกเขาทำแบบนี้ได้ ด้วยการใช้ทรัพยากรเพียงหนึ่งในสี่ ของระดับที่ใช้ในโลกตะวันตก หนึ่งในสี่ของทรัพยากร เกิดอะไรขึ้น? คอสตาริกากำลังทำอะไร? ข้อมูลบางส่วนบอกเราได้ ไฟฟ้า 99% ที่พวกเขาใช้มาจากพลังงานทดแทน รัฐบาลของพวกเขาเป็นรัฐบาลแรกๆ ที่ประกาศว่าจะเป็นคาร์บอนสมดุลภายในปี 2021 พวกเขาล้มเลิกกองทัพ ในปี 1949 1949 และลงทุนในโครงการด้านสังคม สาธารณสุขและการศึกษา คอสตาริกามีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุดแห่งหนึ่งของทวีป และของโลก และก็รักสนุกแบบละติน มีความเหนียวแน่นทางสังคม (เสียงหัวเราะ) ความท้าทาย สิ่งที่เราอาจต้องนึกถึงคือ อนาคตของเรา อาจไม่ใช่อเมริกาเหนือ อาจไม่ใช่ยุโรปตะวันตก แต่อาจเป็นอเมริกาใต้ และความท้าทายจริงๆ แล้ว คือการดึงค่าเฉลี่ยโลกให้ขึ้นไปตรงนั้น นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ และถ้าเราจะทำอย่างนั้นได้ เราก็ต้องดึงประเทศจากซ้ายล่างสุด และดึงประเทศจากขวาสุดของกราฟ แล้วเราก็จะสร้างโลกมีสุขได้ นี่คือวิธีมองแบบหนึ่ง อีกวิธีคือ ดูจากกราฟเวลา เราไม่มีข้อมูลอดีตดีพอสำหรับทุกประเทศในโลก แต่เรามีข้อมูลที่ดีพอจากกลุ่มประเทศที่รวยที่สุด คือโออีซีดี และนี่คือระดับความอยู่ดีมีสุขผ่านกาลเวลา จะเห็นว่ามันโตขึ้นเล็กน้อย แต่นี่คือระดับรอยเท้านิเวศในช่วงเดียวกัน ดังนั้นในมุมมองของโลกมีสุข เห็นชัดว่าเรามีประสิทธิภาพแย่ลง ในการแปลงทรัพยากรที่หายากที่สุด ให้เป็นผลลัพธ์ที่เราต้องการ ผมคิดว่าประเด็นสำคัญคือ บางทีทุกคนในห้องนี้ด้วย จะอยากให้สังคมไปถึงปี 2050 ได้โดยไม่มีหายนะรุนแรง เกิดขึ้น 2050 ไม่ไกลเลยนับจากวันนี้ มันคือครึ่งชีวิตของมนุษย์ เด็กที่ไปโรงเรียนในวันนี้ จะมีอายุเท่าผมในปี 2050 นี่ไม่ใช่อนาคตที่อยู่ไกล นี่คือเป้าของรัฐบาลอังกฤษ ในการลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก ผมอยากจะบอกว่า นี่ไม่ใช่วิถีธุรกิจแบบเดิมๆ นี่คือการเปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจ เปลี่ยนวิธีที่เราสร้างองค์กรของเรา เปลี่ยนวิธีดำเนินโยบายรัฐ และเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต ประเด็นก็คือ เราต้องผลิตสร้างความอยู่ดีมีสุขต่อไป ไม่มีใครลงเลือกตั้ง และพูดว่าคุณภาพชีวิตจะแย่ลง ผมคิดว่าไม่มีใครหรอกครับ ที่อยากหยุดความก้าวหน้าของมนุษย์ ผมคิดว่าเราอยากให้มันดำเนินต่อไป ผมคิดว่าถ้าเราอยากให้มนุษยชาติดำเนินต่อไป และตรงนี้คือจุดที่พวกที่ปฏิเสธสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงคิด ผมคิดว่าพวกเขาอยากได้อย่างนั้น อยากเพิ่มคุณภาพชีวิต กอดสิ่งที่มีเอาไว้ และถ้าเราอยากจะโน้มน้าวพวกเขา สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นกว่าเดิม แน่นอนว่าการวาดกราฟนั้นง่ายมาก ประเด็นคือเราต้องเปลี่ยนเส้นเหล่านี้ ตรงนี้คือจุดที่ผมคิดว่าเราเรียนรู้ได้ จากทฤษฎีเชิงระบบ วิศวกรเชิงระบบ พวกเขาสร้างวงจรปฏิกิริยาตอบกลับ ใส่ข้อมูลที่ถูกต้องเข้าไปในเวลาที่ถูกต้อง ธรรมชาติมนุษย์ถูกจูงใจด้วย คำว่า "เดี๋ยวนี้" คุณติดมาตรวัดฉลาดในบ้าน มองเห็นว่ากำลังใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ ต้องจ่ายค่าไฟเท่าไหร่ แล้วลูกๆ ของคุณก็จะรีบปิดไฟทันที ในระดับสังคม เรื่องนี้จะเป็นแบบไหน? ทำไมเวลาที่ฟังข่าววิทยุทุกเช้า ผมจะได้รู้เรื่องดัชนีฟุทซี่ 100 ดัชนีดาวโจนส์ อัตราแลกเปลี่ยน ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอัตราแลกเปลี่ยนต้องเป็นเท่าไหร่ถึงจะเป็นข่าวดี ผมได้ยินเรื่องพวกนี้เพราะอะไร? ทำไมผมถึงไม่ได้ยินว่าเมื่อวานอังกฤษใช้พลังงานไปเท่าไหร่ หรืออเมริกาใช้พลังงานเท่าไหร่? เราลดคาร์บอนได้ตรงเป้า ที่ตั้งไว้ ร้อยละ 3 ต่อปีหรือเปล่า? นี่คือวิธีที่คุณสร้างเป้าหมายร่วม คุณใส่ข้อมูลเข้าไปในสื่อ และเริ่มคิดถึงมัน เราต้องการวงจรปฏิกิริยาตอบกลับเชิงบวก เพื่อเพิ่มความอยู่ดีมีสุข ในระดับรัฐบาล รัฐอาจสร้างระบบบัญชีความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ ในระดับธุรกิจ คุณอาจดูความอยู่ดีมีสุขของพนักงาน ซึ่งเรารู้แล้วว่าสัมพันธ์กับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเกี่ยวโยงกับนวัตกรรม เราต้องใช้นวัตกรรมมากมายในการรับมือกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ในระดับปัจเจก เราก็ต้องอาศัยการกระตุ้นเหมือนกัน บางทีเราอาจไม่ต้องใช้ข้อมูล แต่เราต้องใช้คำเตือน ในอังกฤษ เรามีคำเตือนสาธารณะที่ใครๆ ก็จำได้ ว่าให้กินผลไม้และผัก 5 ชนิดทุกวัน และการออกกำลังกาย ซึ่งผมไม่ถนัด เราจะพูดอย่างไรเกี่ยวกับความสุข? มีอะไร 5 อย่างที่คุณควรทำทุกวัน เพื่อจะมีความสุขมากขึ้น? เราทำโครงการให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้ โครงการใหญ่ชื่อ 'โครงการมองการณ์ไกล' ใช้คนจำนวนมาก มีผู้เชี่ยวชาญเยอะมาก ทุกอย่างมีข้อมูลหลักฐานอ้างอิง เป็นตำราเล่มใหญ่ แต่งานในส่วนของเราคือ อะไรที่เป็นกิจกรรม 5 อย่าง ที่ทำได้เพื่อเพิ่มความอยู่ดีมีสุขในชีวิต? ประเด็นของกิจกรรมเหล่านี้คือ มันไม่ใช่ความลับแห่งความสุขหรอก แต่มันก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจะล้นออกมาเป็นความสุข สิ่งแรกคือความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ทางสังคมของคุณ คือรากฐานที่สำคัญที่สุดในชีวิตคุณ คุณทุ่มเทเวลาให้กับคนที่คุณรัก ทุ่มเทพลังงานให้หรือเปล่า? สร้างความสัมพันธ์ให้มั่นคง สิ่งที่สองคือการมีชีวิตชีวา วิธีที่เร็วที่สุดที่จะออกจากอารมณ์บูด คือการออกไปเดินเล่นข้างนอก เปิดวิทยุ เต้นรำ การมีชีวิตชีวาช่วยสร้างอารมณ์เชิงบวก สิ่งที่สามคือสังเกตสิ่งต่างๆ คุณรู้ดีแค่ไหนเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบโลก การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล คนรอบตัว? คุณสังเกตเห็นหรือเปล่าว่าอะไรกำลังพองตัวขึ้นในใจคุณ? เรามีหลักฐานที่สนับสนุนการเจริญสติ (ตามอยู่กับปัจจุบัน) หลักฐานจากการบำบัดพฤติกรรม ว่ามันสำคัญมากสำหรับความอยู่ดีมีสุข สิ่งที่สี่คือการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ ต้องไม่หยุดเรียนรู้ เรียนรู้ไปตลอดชีวิต คนแก่ที่ไม่หยุดเรียนรู้และอยากรู้อยากเห็น มีสุขภาพดีกว่าคนที่หยุดเรียนรู้มาก ไม่ต้องเป็นการเรียนในระบบ และไม่ต้องตั้งอยู่บนความรู้ แค่อยากรู้อยากเห็นก็พอ มันอาจเป็นการเรียนรู้ที่จะทำอาหารจานใหม่ เรียนดนตรีที่ลืมไปแล้วตั้งแต่เด็ก เรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง สิ่งสำคัญประการสุดท้าย คือกิจกรรมที่ไม่เป็นเศรษฐศาสตร์ที่สุด นั่นคือ การให้ ความีน้ำใจของเรา การเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความเมตตากรุณาของเรา ล้วนผูกติดตามอย่างเป็นธรรมชาติ กับกลไกให้รางวัลในสมองของเรา เรารู้สึกดี เมื่อเราได้ให้ คุณลองทำการทดลองนี้ดูก็ได้ โดยที่คุณให้เงิน 100 ดอลลาร์กับคนสองกลุ่มตอนเช้า บอกกลุ่มแรกว่า ให้ใช้เงินเพื่อตัวเอง บอกกลุ่มที่สองว่า ให้ใช้เงินเพื่อคนอื่น แล้วก็วัดความสุขของพวกเขาเมื่อจบวัน คนที่เอาเงินไปใช้เพื่อคนอื่นนั้นมีความสุขมากกว่า คนที่ใช้เงินเพื่อตัวเองมาก วิธีห้าวิธีที่ว่ามานี้ ซึ่งเราเขียนสั้นๆ บนโปสการ์ดได้ ไม่ทำร้ายโลก ไม่มีคาร์บอน ไม่ต้องใช้สินค้าวัตถุเยอะแยะ ดังนั้นผมจึงคิดว่าเป็นไปได้แน่ๆ ที่่ความสุขจะไม่ทำร้ายโลก ทีนี้ ท่านมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ในคืนก่อนตาย ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ยอดเยี่ยม ท่านบอกว่า "ผมรู้ดีว่ามีความท้าทายรออยู่เบื้องหน้า อาจมีความเดือดร้อนรออยู่ แต่ผมไม่กลัวใคร ผมไม่สนใจ เพราะผมได้ไปถึงยอดเขา และมองเห็นดินแดนที่พระผู้เป็นเจ้าสัญญา" ท่านเป็นนักเทศน์(ของพระเจ้าผู้สรรค์สร้างโลก) แต่ผมเชื่อว่ากลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และ อันที่จริง รวมถึงภาคธุรกิจ รัฐบาล ต้องไปให้ถึงยอดเขา มองลงมา และต้องมองให้เห็นดินแดนแห่งสัญญา ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ และจะต้องมีวิสัยทัศน์ ว่าโลกที่เราทุกคนอยากได้เป็นอย่างไร และไม่หยุดแค่นั้น เราต้องสร้าง 'การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่' เพื่อไปสู่จุดนั้น และเราต้องปูทางที่ว่านี้ด้วยสิ่งดีๆ มนุษย์อยากมีความสุข ปูทางด้วยวิธีการ 5 วิธี และเราต้องมีป้ายบอกทาง รวบรวมคนและชี้ทางให้เห็น ป้ายอย่าง 'ดัชนีโลกมีสุข' และผมก็เชื่อว่า เราสามารถสร้างโลกที่เราทุกคนอยากได้ โลกที่ความสุขไม่จำเป็นต้องทำร้ายโลก (เสียงปรบมือ)