สวัสดีค่ะ วิว จากแชนเนล Point of View ค่ะ หลังจากที่คราวที่แล้วนะคะ เมื่อนานแสนนานมาเนี่ย วิวเคยทำคลิปวิดีโอคลิปนึงค่ะ ชื่อว่า 7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับรัชกาลที่ 7 นะคะ จากคลิปนั้นเนี่ยมีหลายคนเรียกร้องเข้ามามากมายค่ะ ว่าให้ทำเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์อื่นด้วย แต่วิวก็ไม่ได้โอกาสซะทีนะคะ อย่างไรก็ตาม โอกาสนั้นมาถึงแล้วค่ะ เพราะหลาย ๆ คนเนี่ยน่าจะเห็น จากคลิปก่อน ๆ ของวิว หลาย ๆ คลิป ที่เกี่ยวข้องกับพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ใช่มั้ยคะว่า ตอนนี้ วิวมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม ในนิทรรศการ นิทรรศการนึงค่ะ นั่นก็คือ นิทรรศการมหาวชิราวุธราชบรรณาลัย นิทรรศการว่าด้วยพระราชประวัติของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในด้านต่าง ๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์คำว่า บันดาลใจ ซึ่งนิทรรศการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย นะคะ ตัวนิทรรศการส่วนมหาวชิราวุธราชบรรณาลัยเนี่ย วิวก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็น curator (ภัณฑารักษ์) ร่วมกับพี่ฮ่องเต้ กนต์ธร เตโชฬาร เพื่อเลือกเรื่องราวต่าง ๆ มานำเสนอ ให้ทุกคนเข้าถึงพระองค์ได้มากขึ้นค่ะ สำหรับครึ่งแรกของนิทรรศการ วิวเคยพาชมไว้แล้ว สามารถกดเข้าไปดูได้ที่มุมขวาบนเลยนะคะ ทีนี้แน่นอนนะคะว่าในนิทรรศการนั้นเนี่ย ก็จะต้องมีข้อมูลเกี่ยวข้องกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจำนวนมากมายเลยค่ะ และหลาย ๆ ข้อเนี่ย ก็เป็นหลาย ๆ ข้อ ที่แม้แต่วิวเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลยนะคะ ดังนั้น วันนี้นะคะ วิวก็เลยรวบรวมเรื่องน่ารู้ทั้งหมด 6 เรื่อง เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มาเล่าให้ทุกคนฟังค่ะ ซึ่งขอออกตัวก่อน ณ ที่นี้นะคะว่า ข้อแรก ภาษาที่ใช้ในคลิปนี้ อาจจะเป็นภาษาที่ค่อนข้างสามัญธรรมดา ราชาศัพท์จะมั่วบ้างอะไรบ้างนะคะ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ดีที่สุด ถ้าสมมติว่าวิวใช้ราชาศัพท์เป๊ะทุกคำเนี่ย มันอาจจะเต็มไปด้วยคำศัพท์ต่าง ๆ ที่เราไม่คุ้นเคยเต็มไปหมด แล้วทำให้สารเนี่ยส่งไปไม่ถึงคนดูค่ะ และข้อที่สองนะคะ เรื่องที่วิวจะเล่าต่อไปนี้นะคะ เป็นแค่เรื่องน่ารู้ทั้งหมด 6 ข้อที่วิวยกขึ้นมาค่ะ ไม่ใช่พระราชประวัติทั้งหมดนะคะ ดังนั้น ถ้าสมมติว่าใครอยากศึกษาพระราชประวัติจริง ๆ เอาตั้งแต่ต้นจนจบ เอาทุกแง่มุมต่าง ๆ เนี่ย แนะนำให้เข้าไปศึกษาที่ นิทรรศการมหาวชิราวุธราชบรรณาลัยค่ะ ซึ่งนิทรรศการนี้นะคะ มีทั้งจัดแบบเป็นห้องนิทรรศการจริง ๆ ด้วย ซึ่งเดี๋ยวจะมาประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไปนะคะ รวมถึงเป็นนิทรรศการออนไลน์ ซึ่งตอนนี้มีบทความที่เกี่ยวข้องกับ พระราชประวัติหลายบทความด้วยกันนะคะ ซึ่งวิวก็มีโอกาสได้เข้าไปเป็นบรรณาธิการนะ ตีพิมพ์อยู่ในนั้นค่ะ รวมถึงมีหนังสือพระราชนิพนธ์ของทั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จำนวนมาก ๆ ๆ ๆ เลยนะคะ เปิดให้ใช้งานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น อยู่ในเว็บไซต์ของจุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัยค่ะ ก็สามารถเข้าไปดูได้ ตาม QR Code นี้เลยนะคะ สำหรับตอนนี้เราจะไม่เกริ่นไปมากกว่านี้แล้วค่ะ ถ้าพร้อมกันแล้วก็เข้าไปฟังเรื่องราวที่ทั้งสนุก แล้วก็ได้สาระกันเลยค่ะ ปะ! สำหรับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ข้อแรกที่วิวจะนำมาฝากทุกคนในวันนี้นะคะ เริ่มจากเรื่องเบา ๆ ก่อนแล้วกันนะ หลายคนน่าจะทราบกันดีค่ะว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เนี่ย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกเลยนะคะ ที่เสด็จไปเรียนต่อที่ต่างประเทศค่ะ โดยเริ่มตั้งแต่เรียนที่ Home School นะคะ มีพระอาจารย์ต่าง ๆ มาสอน ไล่ไปจนกระทั่งถึงทรงไปเรียนด้านการทหาร ที่โรงเรียนนายร้อยแซนเฮิสต์นะคะ ต่อด้วยเรียนด้านพลเรือนที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดค่ะ ซึ่งที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดเนี่ย ก็มีการจัดวิชาเป็นหลักสูตรพิเศษให้ท่านได้ทรงศึกษานะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองการปกครองอะไรต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ปกครองในสมัยนั้น อย่างเช่นราชวงศ์อังกฤษต่าง ๆ ได้เรียนค่ะ ท่านก็เข้าไปเรียนในหลักสูตรนี้ด้วยนะคะ แต่รู้กันมั้ยคะว่าท่านเรียนอยู่ที่วิทยาลัยไหน ในมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด คือต้องบอกว่าออกฟอร์ดเนี่ยเป็นเมืองมหาวิทยาลัยค่ะ หลายคนน่าจะเคยดูคลิปที่ วิวพาไปเที่ยวที่ออกฟอร์ดมาแล้วนะคะ คือในออกฟอร์ดเนี่ยจะประกอบไปด้วย วิทยาลัยต่าง ๆ หลายวิทยาลัย อัดรวมกันอยู่ในเมืองค่ะ ซึ่งแต่ละวิทยาลัยเนี่ยก็จะมีความสำคัญ แล้วก็มีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกันค่ะ แต่วิทยาลัยที่พระองค์เสด็จไปศึกษาต่อเนี่ยนะคะ บอกเลยว่าน่าสนใจมาก ๆ สำหรับวิวค่ะ เพราะว่าวิทยาลัยที่พระองค์ทรงไปศึกษาต่อเนี่ยนะคะ ก็คือ Christ Church College นั่นเอง ชื่อคุ้น ๆ มั้ย ถ้าใครได้ดูคลิปที่วิวพูดถึงไปเนี่ย ก็จะเห็นว่าวิวได้ไปที่ Christ Church College ด้วยนะคะ เพราะว่าอะไร เพราะว่า Christ Church College ค่ะ เป็นสถานที่ถ่ายทำเรื่อง Harry Potter นั่นเองนะคะ ก็จะเห็นว่าภาพภายในของ Christ Church เนี่ยนะคะ จะเป็นภาพที่แฟนคลับของหนัง แฮร์รี่ พอตเตอร์เนี่ยคุ้นเคยกันดีค่ะ นอกจากนี้นะคะ แอบบอกเลยว่า Christ Church เนี่ยยังเป็นยังเป็น หนึ่งในแรงบันดาลใจที่สำคัญมาก ๆ นะคะ ของโรงเรียนฮอกวอตส์ในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์นั่นเอง เพราะอย่างเช่น ห้องรับประทานอาหารรวมเนี่ย ก็จะเห็นว่า ของที่ Christ Church เนี่ย เป็นห้องโถงยาว ๆ นะคะ แล้วก็เป็นโต๊ะยาว ๆ ๆ ๆ ค่ะ ส่วนสุดปลายโต๊ะนี่ก็จะเป็นโต๊ะอาจารย์นะคะ ภาพคุ้น ๆ มั้ย นี่แหละห้องรับประทานอาหารของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เป๊ะ ๆ เลยนะคะทุกคน นอกจากนี้นะคะ ที่ Christ Church ยังมีความสำคัญอะไรอีก คือ ประมาณ 20-30 ปีก่อนที่พระองค์จะเสด็จไปศึกษาต่อเนี่ยนะคะ ที่ Christ Church แห่งนี้นะคะ ก็มีอาจารย์คนนึงค่ะ แต่งนิยายขึ้นมาเรื่องนึงนะคะ หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่ออยู่บ้างแหละ นั่นก็คือเรื่อง Alice in Wonderland นั่นเองนะคะ ซึ่งก็ใช้ Christ Church เป็นฉากในนั้นค่อนข้างมากเหมือนกันค่ะ ดังนั้น สำหรับแฟนคลับของสองเรื่องนี้ก็ไม่น่าเชื่อเลยนะคะ ว่าเรื่องนี้จะมาเกี่ยวข้องกันได้ค่ะ นี่ก็คือ เรื่องราวเบา ๆ เรื่องแรกที่วิวนำมาฝากทุกคนนะคะ ไปต่อที่ข้อที่สองกันดีกว่าค่ะ จะหนักหน่วงขึ้นนิดนึงนะคะ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อที่ 2 ที่วิวนำมาฝากทุกคนในวันนี้ ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องการศึกษาของพระองค์นะคะ ก็ต้องบอกเลยว่า การที่ทรงไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศเนี่ย แน่นอน ตามสไตล์ของคนที่ไปเรียนต่อทั่วไป ก็จะต้องมีการเขียนวิทยานิพนธ์ใช่มั้ยคะ แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้ศึกษาหลักสูตรปริญญาเต็มรูปแบบ ที่จำเป็นจะต้องมีการเขียนวิทยานิพนธ์ มีการสอบไล่ มีการรับปริญญาต่าง ๆ เพราะว่าหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นสำหรับราชวงศ์ใช่มั้ย แต่ก่อนที่พระองค์จะเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยเนี่ยนะคะ ฟรานซิส พาเจต์ (Francis Parget) นะคะ ซึ่งเป็นคณบดีของวิทยาลัยในตอนนั้นเนี่ย ก็ได้กราบบังคมทูลเชิญค่ะว่า ให้พระองค์เนี่ยพระราชนิพนธ์หนังสือทำนองวิทยานิพนธ์ได้มั้ย เพื่อเป็นที่ระลึกว่า ครั้งหนึ่งพระองค์เนี่ยเคยเสด็จมาศึกษาต่อที่นี่ค่ะ ซึ่งพระองค์ก็ตอบรับนะคะ แล้วก็พระราชนิพนธ์หนังสือวิทยานิพนธ์ ขึ้นมาทั้งหมด 1 เล่มด้วยกันค่ะ เล่มนั้นนะคะชื่อว่า "The War of The Polish Succession" ค่ะ หรือว่าที่มีการนำมาแปลเป็นภาษาไทยทีหลังว่า "สงครามสืบราชสมบัติโปลันด์" นั่นเองนะคะ ก็แน่นอนว่าพระองค์ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ แล้วก็การเมืองการปกครองเป็นหลักนะคะ วิทยานิพนธ์ของพระองค์ก็เลยเกี่ยวข้องกับ ทั้งประวัติศาสตร์แล้วก็การเมืองการปกครองนั่นเองค่ะ ซึ่งหนังสือเล่มนี้บอกเลยว่า ได้รับการตีพิมพ์ที่ออกฟอร์ดด้วยนะคะ แล้วก็ค่อนข้างจะแพร่หลายถึงขนาดที่ว่า มีการนำไปจัดพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสเลยทีเดียวนะคะ และต้องบอกเลยค่ะว่าหนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็น งานวิชาการเล่มแรก ๆ ของไทยเลยนะคะ ที่มีหลักการอ้างอิงแบบตะวันตกเป๊ะ ๆ ๆ เหมือนกับการทำงานวิชาการในสมัยปัจจุบันนี้ค่ะ เพราะว่าที่ผ่านมาเวลาคนไทยเขียนงานวิชาการอะไรก็ตาม ส่วนมากก็จะไม่ได้อ้างอิงอะไรเป๊ะ ๆ เท่าไหร่นะคะ ส่วนใครที่อยากลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูนะคะ หาไม่ยากเลยทีเดียวค่ะ ในจุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัยเนี่ย ก็มีไว้ให้อ่านทั้งเล่มเลยนะคะ แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะอ่านเวอร์ชันภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องค่ะ เพราะว่าราชเลขาธิการในพระองค์ในสมัยนั้นเนี่ย ก็ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต แปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยนะคะ นอกจากนี้พระองค์ก็ได้ทรงตรวจแก้เพิ่มเติมไว้ด้วยนะคะ ดังนั้นก็สามารถลองไปหาอ่านกันได้นะคะ สำหรับข้อที่ 3 นี้นะคะ บอกเลยว่าจะเข้มข้นกว่าสองข้อที่ผ่านมานิดนึงค่ะ แม้ว่าเราจะยังวนเวียนอยู่กับชีวิตของพระองค์ ในสมัยที่พระองค์อยู่ที่ยุโรปนะคะ เอาจริง ๆ ส่วนตัววิวเนี่ยค่อนข้างจะสนใจเรื่องพวกนี้ เพราะว่าปกติเวลาเราศึกษา เรื่องเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระองค์เนี่ย ก็จะมาวนอยู่ที่ประเทศไทยเนอะว่า ตอนที่อยู่ในไทยมีพระราชกรณียกิจอะไรยังไงต่าง ๆ ซึ่งก็หาอ่านที่อื่นได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้น เรื่องราวของพระองค์ในสมัยที่อยู่ที่ยุโรปเนี่ย จะค่อนข้างหาอ่านยากนิดนึง พอไปเจอมาวิวก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ย มันน่าสนใจมากเลยทุกคน ก็เลยรวบรวมมาให้ทุกคนฟังค่ะ สำหรับข้อสามเนี่ยนะคะ บอกเลยว่า ในตอนที่พระองค์เสด็จไปศึกษาต่อเนี่ย พระองค์ไม่ได้ไปศึกษาต่ออย่างเดียวนะคะ แต่ว่าพระองค์เนี่ยทำหน้าที่ต่าง ๆ มากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวรอบยุโรป ซึ่งการเดินทางไปท่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ของพระองค์เนี่ย ไม่ใช่ว่าไปเที่ยวอะนะ คือต้องบอกว่าจริง ๆ แล้วไปเป็นผู้แทนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บ้าง เดินทางท่องเที่ยวส่วนพระองค์บ้าง หรือว่าไปศึกษาดูงาน เช่น ด้านการทหารอะไรต่าง ๆ ที่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ซึ่งต้องนับว่าเป็นศูนย์กลางอำนาจของโลกในสมัยนั้นบ้างนะคะ เพื่อที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศสยามในที่สุดค่ะ ทีนี้ก็ต้องบอกว่าพระองค์เนี่ยก็เลยมีโอกาสได้เข้าไป อยู่ร่วมกับเหตุการณ์สำคัญของยุโรป ในช่วงนั้นค่อนข้างมากนะคะ ไม่ว่าจะเป็นพระราชพิธีสำคัญ ๆ อย่างเช่น พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี หรือว่า Diamond Jubilee ของควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษเนี่ย พระองค์เนี่ยก็เป็นหนึ่งในพระราชอาคันตุกะ ของควีนวิกตอเรียเช่นเดียวกันนะคะ หรือแม้กระทั่งพระราชพิธีพระบรมศพ ของควีนวิกตอเรียในเวลาต่อมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คิงเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ของอังกฤษ ที่ครองราชย์ต่อจากควีนวิกตอเรีย พระองค์ก็เข้าไปมีส่วนร่วมเช่นเดียวกันนะคะ รวมถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ คิงอัลฟองโซที่ 13 แห่งสเปน ที่กรุงมาดริดนี่ พระองค์ก็เสด็จ เป็นการส่วนพระองค์เช่นเดียวกันนะคะ เห็นมั้ย พระองค์มีโอกาสได้เข้าร่วม อีเวนต์สำคัญ ๆ ต่าง ๆ มากมายค่ะ ซึ่งการเข้าร่วมอีเวนต์เหล่านี้ ทำให้พระองค์มีโอกาสได้พบปะบุคคลที่เป็นบุคคลสำคัญ แล้วก็เป็นบุคคลที่เราจะคุ้นเคยในประวัติศาสตร์ยุโรปเนี่ย หลายต่อหลายคน และหลายต่อหลายพระองค์ค่ะ ตอนนี้วิวก็รวบรวมมาให้แล้วนะคะ เอาเฉพาะคนที่สำคัญ ๆ ที่เราคุ้นชื่อ ว่าพระองค์เนี่ยมีโอกาสได้ทรงพบเจอกับใครบ้างนะคะ อย่างใน พ.ศ. 2437 เนี่ยนะคะ ก็มีบันทึกค่ะ ว่าพระองค์เสด็จไปเสวยพระสุธารสชา กับควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษนะคะ แหม่ ก็เรียกได้ว่าสนิทชิดเชื้อกันพอสมควรนะในสมัยนั้น นอกจากนี้ค่ะ ในตอนที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินนะคะ ไปที่ประเทศออสเตรีย-ฮังการีเนี่ย พระองค์ก็มีโอกาสได้พบกับ อาร์ชดยุกฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ นะคะ คุ้นชื่อกันมั้ยคะทุกคน ใครฟังเรื่องประวัติสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมา น่าจะคุ้นกันดีค่ะ เพราะว่าอาร์ชดยุกฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ พระองค์นี้ก็คือมกุฎราชกุมารของออสเตรีย-ฮังการี ที่โดนลอบปลงพระชนม์พร้อมกับพระชายา แล้วกลายเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นเองนะคะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ของเราเนี่ย ก็มีโอกาสได้พบกับอาร์ชดยุกฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ พระองค์นี้ แล้วก็ถึงขนาดที่ทรงได้รับเชิญนะคะไปที่วัง ของอาร์ชดยุกฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ เลยทีเดียวค่ะ นอกจากนี้นะคะ ในตอนที่พระองค์สำเร็จการศึกษาแล้วเนี่ยนะคะ ตอนที่พระองค์จะเสด็จนิวัตพระนครเนี่ยนะคะ ปกติแล้วเนี่ยในสมัยที่ยังไม่มีเครื่องบิน เวลาเราจะกลับจากยุโรปมาที่สยามเนี่ย เราก็ควรจะกลับผ่านทางประมาณเส้นทางสายไหมถูกมั้ย คือผ่านทางอินเดีย มาพม่า แล้วก็มาที่สยามนะคะ แต่ตอนนั้นเนี่ยนะคะ ทางสยามจัดเส้นทางนิวัตพระนครให้พระองค์เนี่ย ให้กลับไปอีกด้านนึงค่ะ ก็คือ เสด็จผ่านทางสหรัฐอเมริกาแล้วก็ผ่านทางญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งพระองค์ถือว่าเป็น พระบรมวงศานุวงศ์ไทยพระองค์แรกเลยนะคะ ที่เสด็จไปที่สหรัฐอเมริกาค่ะ และที่สหรัฐอเมริกาเนี่ยก็มีการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติเนอะ โดยพระองค์มีโอกาสได้พบกับ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ นะคะ ที่เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในยุคสมัยนั้น ซึ่งถ้าใครคุ้น ๆ ชื่อของ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ คนนี้ก็คือ ประธานาธิบดี 1 ใน 4 คน ที่มีหน้าอยู่บนเมานท์รัชมอร์นะคะ และที่สำคัญ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ เนี่ยก็มีชื่อเล่นว่าเท็ดดี้ ที่เป็นที่มาของ Teddy Bear นั่นเองค่ะ หลังจากเสด็จออกจากสหรัฐอเมริกาแล้วเนี่ยนะคะ พระองค์ก็เสด็จต่อมายังประเทศญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งที่ญี่ปุ่นนี่ก็มีการจัดการต้อนรับ แบบสมพระเกียรติเช่นเดียวกันนะคะ และพระองค์ก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระจักรพรรดิมัทสึฮิโตะนะคะ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิของญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้นด้วยค่ะ ก็เป็นการกระชับความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้นนะคะ ถ้าใครหลาย ๆ คนจำได้จากคลิปที่วิวเคยทำว่า ศาลเจ้าญี่ปุ่นกับวัดญี่ปุ่นแตกต่างกันยังไง แล้ววิวพาไปดูวัดไดบุทสึที่วัดโคโตคุอิน ที่คามาคุระเนี่ย ก็จะเห็นว่าวิวเล่าว่าในวัดเนี่ย มีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมา ทรงปลูกต้นสนไว้เมื่อคราวเสด็จมาที่นี่นะคะ ก็ในคราวนั้นนั่นเองค่ะ คือพระองค์นี่นอกจากจะอยู่ที่เมืองหลวงแล้ว ก็มีการท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกันค่ะ สำหรับเรื่องน่ารู้ข้อที่ 4 เนี่ยนะคะ ยังอยู่ที่การเดินทางค่ะ เพราะว่าในระหว่างที่พระองค์เดินทางไปที่ต่าง ๆ เนี่ย นอกจากพระองค์จะไปศึกษาดูงานด้านการทหาร ไปเจริญสัมพันธไมตรีอะไรต่าง ๆ แล้วเนี่ยนะคะ พระองค์ยังได้จดบันทึกเหตการณ์เหล่านั้น ออกมาเป็นพระราชนิพนธ์หลายต่อหลายเล่มด้วยกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง The Germany Series นะคะ หรืออีกเล่มนึงที่วิวชอบมาก ๆ เลยค่ะ นั่นก็คือ The Letters to the Butterflies นะคะ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในเวลาต่อมา โดย ม.ล.ปิ่น มาลากุล น่ะนะ ว่า จดหมายถึงผีเสื้อ ซึ่งเล่มนี้นะคะ จะเป็นบันทึกการเดินทางของพระองค์ ระหว่างที่เสด็จไปที่ออสเตรีย-ฮังการีค่ะ ที่วิวเล่าไปเรื่องไปพบอาร์ชดยุกฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ ก็อยูในเล่มนี้ด้วยเช่นกันนะคะ นอกจากนี้นะคะ ในเล่มนี้พระองค์ก็ได้บันทึกพระราชกรณียกิจ ที่ได้ทำในแต่ละวัน รวมถึงบันทึกสิ่งที่พระองค์พบเห็น กึ่ง ๆ เป็นหนังสือบันทึกการเดินทางเอาไว้ด้วยนะคะ ซึ่งหลายคนที่ชอบอ่านบันทึกการเดินทาง pocketbook ต่าง ๆ ในยุคสมัยนี้ บอกเลยว่าเล่มนี้สนุกค่ะ แล้วก็เป็นสไตล์ประมาณนั้นเลยนะคะ โดย Letters to the Butterflies เนี่ยนะคะ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น The Letters นะ ก็คือเป็นจดหมาย ในเล่มนี้จะเขียนเป็นรูปแบบของจดหมายค่ะ ซึ่งส่งไปถึงคณะผีเสื้อนะคะ ซึ่งก็คือ พระสหายของพระองค์น่ะแหละ ทีนี้เราไม่มีหลักฐานนะคะว่า จดหมายเหล่านี้ได้ส่งออกไปจริง ๆ หรือว่าเป็นแค่เหมือนกับพระราชนิพนธ์ในรูปแบบจดหมายค่ะ แต่ว่าในทุกวันเนี่ย ก็จะเหมือนพระองค์เขียนจดหมายหนึ่งฉบับ ๆ ๆ เพื่อพระราชทานให้กับพระสหายนั่นเองค่ะ ทีนี้ เนื้อหาด้านในนะคะ ก็จะเล่าถึงสถานที่สำคัญต่าง ๆ หลากหลายสถานที่เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น วังเชิงบรุน ซึ่งปัจจุบันนี้ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ที่ใครไปเที่ยวออสเตรียก็จะต้องไปดูใช่ไหมคะ เพราะว่าเป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแวร์ซายส์ หรือว่าพูดถึงพระราชวังฮอฟบูรก์ ซึ่งพระราชวังแห่งนี้ก็จัดเป็นที่ประทับ ให้กับพระองค์ตอนที่เสด็จไปที่นั่นนะคะ ปัจจุบันนี่ก็เป็นทำเนียบประธานาธิบดีออสเตรียใช่มั้ย ถ้าสมมติว่าใครเคยไปที่ออสเตรียเนี่ยน่าจะชอบเล่มนี้มาก ๆ ค่ะ เพราะว่าสามารถอ่านแล้วก็ลองเทียบกับสมัยปัจจุบันได้ว่า เออสิ่งที่พระองค์พบเห็นในสมัยนั้น กับในสิ่งที่เราจะไปเจอในสมัยนี้ มันยังเหมือนยังต่างกันยังไง เพราะเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ยุโรปเนี่ยค่อนข้างเก่ง ด้านการเก็บพวกโบราณสถานเหล่านี้เอาไว้นะคะ ในสภาพที่มันเคยเป็นอยู่เมื่อหลายร้อยปีก่อนค่ะ เอาจริง ๆ ที่กำลังมากรี๊ดกร๊าดเล่มนี้ให้ทุกคนฟังเนี่ย เพราะว่าวิวอ่านเล่มนี้แล้ว ค่อนข้างชอบสำนวนมาก ๆ ๆ ๆ เลยนะคะ หลายคนจะคุ้นเคยกับพระราชนิพนธ์ที่เป็นร้อยกรอง เป็นโคลงกาพย์ร่ายกลอนของพระองค์นะคะ แต่จะไม่คุ้นเคยกับงานเขียนที่เป็นร้อยแก้ว บอกเลยว่าถ้าอ่านแล้วจะติดใจค่ะ เรียกได้ว่าสำนวนดีกว่านักเขียนดัง ๆ หลาย ๆ คน ในยุคสมัยปัจจุบันมากเลยทีเดียวนะคะ ไม่ว่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ตาม บอกเลยว่าคมคายจริง ๆ ค่ะ อย่างเล่มนี้ขออนุญาตหยิบมาแค่ 1 paragraph มาอ่านให้ทุกคนฟังนะคะ เพราะว่าอันนี้ตอนที่วิวอ่านเจอ วิวกรี๊ดมากค่ะ แล้ววิวก็เอาไปโพสต์เป็นสเตตัสลงในเฟซบุ๊ก มีคนมากด Like เต็มไปหมดเลยนะ แทบทุกคนนี่ตื่นเต้นมากเลยนะคะว่า เฮ้ย พระราชนิพนธ์มีเขียนอะไรแบบนี้ด้วย อะ มาอ่านให้ฟังเลยดีกว่าค่ะ ในนี้พระราชนิพนธ์เป็นจดหมายใช่มั้ย ดังนั้น นี่คือข้อความที่ส่งไปหาคณะผีเสื้อนะคะ พระองค์พระราชนิพนธ์ไว้ว่า "ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า "ฉันเสียใจปานใด และเหงาปานใด ที่ต้องจากพี่จากน้องที่รักมา "ฉันบอกแล้วว่าเหมือนหัวใจแตกออกเป็นชิ้น ๆ สามพันชิ้น "และพี่น้องสามคนรับเอาไปคนละพันชิ้น" อู้หู เป็นไง อ่านแค่นี้ให้ฟัง แค่สี่บรรทัด I love you 3,000 ก่อนกาลที่แท้ทรูนะคะทุกคน ก็ถ้าใครอยากหาจดหมายถึงผีเสื้อ หรือว่า The Letters to the Butterflies อ่านนะคะ ในจุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย ก็มีเวอร์ชันแปลให้อ่านเช่นเดียวกันค่ะ ผ่านไปแล้วสี่ข้อนะคะ บอกเลยว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในต่างประเทศล้วน ๆ ดังนั้น ข้อห้าเรากลับมาที่ประเทศไทย หรือว่าประเทศสยามในยุคนั้นกันดีกว่าค่ะ บอกเลยนะคะว่าสยามในยุคของรัชกาลที่ 6 เนี่ย มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกมากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นธงไตรรงค์ที่เราใช้กันถึงปัจจุบันนี้ การนับเวลาแบบ GMT+7 หรือว่าการนับเวลาตาม Greenwich Mean Time เนี่ย ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เช่นเดียวกันค่ะ รวมไปถึงการกำหนดสีขบวนเสด็จนะคะ ว่ารถยนต์พระที่นั่งจะต้องเป็นสีงาช้าง อะไรแบบปัจจุบันใช้กันก็เกิดขึ้นในสมัยนี้เช่นเดียวกันนะคะ แต่เรื่องที่วิวจะนำมาเล่าให้ทุกคนฟังในวันนี้ ก็คือเรื่องราวของคำคำนึงค่ะ ซึ่งเป็นคำที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนรู้จักกันดีอยู่แล้วนะคะ น่าจะเคยใช้กันด้วยแหละ โดยเฉพาะใครก็ตามที่เคยร้องเพลงชาติไทย เคยร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี หรือว่าเคยไปงานแต่งงานเคยใช้คำคำนี้แน่ ๆ นะคะ นั่นก็คือคำว่า ชโย หรือคำว่า ไชโย นั่นเองค่ะ บอกเลยว่าคำคำนี้ ชาวไทยเริ่มมาใช้กันในสมัยรัชกาลที่ 6 นี่แหละค่ะ และที่สำคัญเกิดขึ้นจากพระราชนิพนธ์นะคะ ว่าแต่มันเกิดขึ้นได้ยังไง ก็ต้องบอกว่าเกิดขึ้นจากเพลงสรรเสริญพระบารมีนี่แหละค่ะ แม้ว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีเนี่ย จริง ๆ จะไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 นะคะ เพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยเนี่ย ต้องบอกว่ามีประวัติยาวนานค่ะ ถ้าเล่าจะยาวมาก แต่เอาเป็นว่ามันมีตั้งแต่เวอร์ชันเพลงไทย เป็นเพลงประโคมอะไรต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 มาเรื่อย ๆ นะคะ จนกระทั่งเพลงสรรเสริญพระบารมี เวอร์ชันแบบคล้าย ๆ ปัจจุบันที่เราใช้อยู่เนี่ย เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ค่ะ ความแตกต่างจุดหนึ่งที่ต่างจากในสมัยปัจจุบันก็คือ เพลงสรรเสริญพระบารมีในสมัยนั้นเนี่ยนะคะ มีเนื้อร้องถึง 5 เวอร์ชันด้วยกันค่ะ คือแต่ละเวอร์ชันเนี่ยก็แต่งขึ้นตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะได้ใช้เพลงในครั้งนั้น ๆ นะคะ ประมาณว่า อะ ครั้งนี้ใช้กับแบบนี้ก็ใช้เนื้อเพลงแบบนี้ ครั้งนี้เกิดขึ้นแบบนี้ก็ใช้เนื้อเพลงแบบนั้นนั่นเองค่ะ และที่สำคัญนะคะ เรื่องราวที่เราจะเล่าต่อไปนี้ มันอยู่ที่ประโยคสุดท้ายของเพลงสรรเสริญพระบารมีค่ะ ในสมัยปัจจุบันเราร้องกันว่าอะไรคะ "ดุจถวายชัย ชโย" ใช่มั้ยคะ แต่ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 เนี่ย เพลงนี้จบลงด้วยคำว่า "ดุจถวายชัย ฉะนี้" ก็แปลว่า อาจจะถวายชัยแบบนี้นี่แหละ ประมาณนี้นะคะ ทีนี้ เรื่องราวก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ค่ะ ในคราวนึงนะคะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวค่ะ นำลูกเสือ เสือป่า ตำรวจตระเวนชายแดนอะไรต่าง ๆ เนี่ยนะคะ เดินทางไกลค่ะ จากพระราชวังสนามจันทร์นะคะ ไปที่พระเจดีย์ยุทธหัตถี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นะคะ ที่ดอนเจดีย์ค่ะ ก็ตั้งใจจะไปบวงสรวงสังเวยอะไรต่าง ๆ ใช่มั้ย ทีนี้ค่ะ ในคืนที่สองของการเดินทางไกลเนี่ยนะคะ ก็สไตล์การเข้าค่ายเนี่ย ปกติก็จะต้องมีการเรียกลูกเสือ มาชุมนุมกันอะไรต่าง ๆ ก่อนนอนใช่มั้ย คืนนั้นก็เช่นเดียวกันค่ะ พระองค์ก็ทรงเรียกลูกเสือ เสือป่า อะไรต่าง ๆ มาชุมนุมพร้อมกันที่หน้าพลับพลาที่ประทับนะคะ แล้วก่อนนอนก็ต้องมีการจุดเทียน สวดมนต์อะไรต่าง ๆ หลังจากที่เสร็จสิ้นพิธีการอะไรต่าง ๆ แล้วเนี่ย ก็จะต้องมีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีกันเกิดขึ้นใช่มั้ยคะ ถามว่าพอร้องขึ้นมาเกิดอะไรขึ้น คือเสือป่า ลูกเสืออะไรต่าง ๆ เนี่ย มาจากคนละหมู่กันใช่มั้ยคะ มาจากคนละหมู่คนละกอง คนละที่กัน พอมาร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นพร้อมกันเนี่ย แต่ละที่ร้องกันคนละเวอร์ชันค่ะ ดังนั้น พอร้องกันขึ้นมาก็ตีกันเละไปหมดนะคะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เลยทรงมีพระราชดำรินะคะว่า เราควรจะมีเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่เป็นเวอร์ชันหลักเวอร์ชันเดียวได้แล้วค่ะ ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นนะคะ พระองค์ก็เลยพระราชนิพนธ์ เนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีเวอร์ชันใหม่ขึ้นมาค่ะ โดยปรับเปลี่ยนจากเวอร์ชันเดิมนะ แทบจะไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย แต่ว่าจุดหลัก ๆ ที่เปลี่ยนจุดนึงเนี่ยก็คือ ตอนจบของเพลงเนี่ยล่ะค่ะ เวอร์ชันเดิมร้องว่าอะไรคะ "ดุจถวายชัย ฉะนี้" ทีนี้ "นี้" คือเสียงสูงใช่มั้ย แต่ถ้าใครเล่นดนตรีเป็นแล้วเคยอยู่วงดุริยางค์โรงเรียนอะไร น่าจะคุ้นเคยกับโน้ตเพลงสรรเสริญพระบารมีกันดีนะคะ โน้ตเพลงตอนจบ ทำนองมันเป็นยังไง [ดนตรี] เสียงมันกลาง ๆ ใช่มั้ย มันไม่ได้ขึ้นสูงแบบ "ฉะนี้" ดังนั้น เวลาคนเอาเนื้อร้องมาร้องประกอบกับโน้ตเนี่ย มันก็เลยกลายเป็น [ดนตรี] ดุจถวายชัย ชะนี ซึ่ง อันนี้มีบันทึกนะว่าพระองค์รู้สึกว่า มันเหมือนคำว่า "ชะนี" เกินไป มันไม่โอเค ซึ่ง ชะนี ในสมัยนั้น ไม่ได้มีความหมายแบบทุกวันนี้นะ แต่ว่ามันก็ดูเป็นเหมือนแบบ "ดุจถวายชัย ชะนี" ไม่ได้เป็น "ฉะนี้" สุดท้ายค่ะ พระองค์ก็เลยทรงเปลี่ยนเนื้อเพลงนะคะ จาก "ดุจถวายชัย ฉะนี้" กลายเป็น "ดุจถวายชัย ชโย" นั่นเอง ซึ่งคำว่า "ชโย" เนี่ย มันก็มีความหมายที่เป็นความหมายดีอยู่แล้วใช่มั้ย หมายถึง victory หมายถึง ชัยชนะ อะไรต่าง ๆ ค่ะ ดังนั้น คำว่า "ชโย" นะคะ ก็เลยเริ่มใช้ในประเทศสยามเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2456 นั่นเองค่ะ และที่สำคัญนะคะ หลังจากนั้นไม่กี่วัน หลังจากวันที่ 22 เนี่ย ในวันที่ 28 เนี่ย หลังจากที่บวงสรวงสังเวย อนุสรณ์ดอนเจดีย์สำเร็จแล้วเนี่ยนะคะ ปกติตามธรรมเนียมดั้งเดิมเนี่ยเวลาจบพิธีบวงสรวงอะไรต่าง ๆ คนไทยจะทำยังไงคะเพื่อแสดงความยินดีต่าง ๆ เขาก็มักจะ "โห่ ฮิ้ว!!" กันใช่มั้ยคะ เหมือนที่เราได้ยินกันตามงานบวช อะไรแบบ โห่ ฮี้ โห่ ฮี้ โห่ ฮี้ โหย ฮิ้ว สามครั้ง ซึ่งเขาเรียกว่า โห่สามลาค่ะ แต่ทีนี้ หลังจากเกิดคำว่า ชโย ขึ้นแล้ว ก็เกิดธรรมเนียมใหม่ขึ้นมานะคะ คือพวกเสือป่า ลูกเสือ ทหาร ตำรวจ นะคะ ก็เปลี่ยนจากการโห่ฮิ้วแบบเดิมเนี่ยนะคะ เป็นการร้องคำว่า ไชโย ๆ ๆ แทนค่ะ ดังนั้น ธรรมเนียมของการใช้คำว่า ไชโย เนี่ย ก็เผยแพร่ไปเรื่อย ๆ นะคะ เข้าไปในวงการโขน ไปใช้แทนการโห่ฮิ้ว และอื่น ๆ อีกมากมาย สุดท้ายคำว่าไชโยก็เลยแพร่หลาย มาจนถึงในสมัยปัจจุบันนั่นเองค่ะ และแล้วนะคะเราก็มาถึงข้อสุดท้ายในที่สุดค่ะ เสียใจมากนะคะ จริง ๆ มีเกร็ดความรู้สนุก ๆ อีกมากมายเลย ที่อยากเล่าให้ทุกคนฟัง แต่ว่าด้วยความที่มันจำกัดแค่ 6 ข้อนะ ดังนั้น ข้อนี้วิวขออนุญาต ยกพระราชสมัญญาของพระองค์ ขึ้นมาเล่าให้ทุกคนฟังค่ะ เราทุกคนเนี่ย น่าจะรู้กันดีว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนี่ย ได้รับการถวายพระราชสมัญญานามนะคะว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ที่แปลว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ นั่นเองค่ะ ถามว่าเพราะอะไร แน่นอนว่า เราเห็นได้ชัดนะคะว่า พระองค์เนี่ย เป็นทั้งนักคิดนักเขียน อะไรต่าง ๆ สมกับคำว่านักปราชญ์อย่างแท้จริงค่ะ เราสามารถเห็นได้จากงานต่าง ๆ ของพระองค์มากมาย เอาเฉพาะพระราชนิพนธ์เนี่ยนะคะ บอกเลยว่ารวบรวมครบยากมากจริง ๆ คือ เราก็ยังไม่รู้จนถึงทุกวันนี้นะว่าครบรึเปล่า แต่ว่าตามหนังสือ "คดีรหัส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ของอาจารย์รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ นะคะ บอกว่า พระราชนิพนธ์ของพระองค์เนี่ย มีอยู่ทั้งหมดถึง 1,236 เรื่องนะคะ ก็รวมวรรณคดี เรื่องสั้น บทความ อะไรต่าง ๆ แล้ว เรียกได้ว่าเยอะมาก ๆ เลยทีเดียวค่ะ และในบรรดาพระราชนิพนธ์มากมายขนาดนี้ เรื่องแรกคือเรื่องอะไรรู้มั้ยคะ เรื่องแรกเนี่ยนะคะที่เราค้นพบกัน แล้วเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องแรกจริง ๆ เนี่ย เกิดขึ้นตอนพระองค์มีพระชนมายุแค่ 12 พรรษาด้วยกันนะคะ ก็ตอนนั้นในโรงเรียนราชกุมารนะ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตั้งขึ้นเพื่อให้พระโอรสต่าง ๆ ได้เข้ามาเรียนเนี่ย ก็มีหนังสือพิมพ์นะคะ ชื่อว่าหนังสือพิมพ์ราชกุมาร ในนั้นเนี่ย พระองค์ก็ทรงพระราชนิพนธ์งานเขียนชิ้นนึงนะคะ เป็นเรื่องสั้นแฝงคติ ชื่อเรื่องว่า ไม่กลัวผี นั่นเองค่ะ แต่เอาจริง ๆ มันมีพระราชนิพนธ์ที่เก่ากว่านั้นนะ แต่เป็นพระราชนิพนธ์แปล ซึ่งเป็นกึ่ง ๆ เหมือนแบบการบ้านสมัยนั้นน่ะ การบ้านวิชาการแปลว่าอย่างนั้นเถอะค่ะ คือพระองค์ก็เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กนะ อย่างในช่วงพระชนมายุ 8-9 พรรษาเนี่ยนะคะ ก็ทรงพระราชนิพนธ์แปลบทละคร เรื่อง Mikado นะคะ ของ Gilbert กับ Sullivan นะ ซึ่งเป็นโอเปราตลกของฝรั่งน่ะนะ ที่เขียนเนื้อเรื่องเป็นญี่ปุ่นเอาไว้เหมือนกันนะคะ อย่างไรก็ตาม ส่วนมากนักวิชาการก็จะยอมรับกันว่า พระราชนิพนธ์เรื่องแรกจริง ๆ ก็คือเรื่อง ไม่กลัวผี ที่วิวพูดไปถึงนี่แหละค่ะ ส่วนเรื่องสุดท้ายเนี่ยก็คือเรื่อง มัทนะพาธา นะคะ เวอร์ชันภาษาอังกฤษ ที่น่าเสียดายมาก ๆ ที่พระองค์พระราชนิพนธ์ ไม่ทันได้จบทั้งเรื่องค่ะ พระราชนิพนธ์ไปประมาณแบบ เกินครึ่งมานิดหน่อยเท่านั้นเองนะคะ และทั้งหมดนี้คือการนอกเรื่องค่ะทุกคน เรากลับไปที่คำว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า กันดีกว่า อยากรู้กันมั้ยคะว่าคำนี้ใครเป็นคนคิดขึ้นมา แล้วใครเป็นคนถวายพระราชสมัญญานามนี้ให้กับพระองค์ ก็ต้องบอกว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นในการซ้อมละครครั้งนึงค่ะ คือ มีคนคนนึงนะคะ ชื่อว่า หลวงสรรสารกิจ ค่ะ หรือว่า เคล้า คชนันทน์ นั่นเอง คุณหลวงคนนี้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชื่อว่า หนังสือพิมพ์ไทยเขษม ค่ะ ทีนี้เค้าก็มีความคิดนะคะ ที่จะชวน นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เนี่ย ขึ้นมาจัดแสดงละครพระราชนิพนธ์ทั้งหมด 2 เรื่องด้วยกันค่ะ นั่นก็คือเรื่องจัดการรับเสด็จ กับ เรื่องชิงนาง นะคะ จัดขึ้นในโอกาสในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2469 นั่นเองค่ะ ทีนี้ถามว่าจัดขึ้นมาทำไม เขาตั้งใจจะจัดขึ้นมาเพื่อระดมทุนนะคะ สร้างหอนาฬิกาให้กับโรงเรียนวชิราวุธนี่ล่ะค่ะ ทีนี้ระหว่างการซ้อมนะคะ ระหว่างที่ซ้อม ๆ อยู่เนี่ย ก็มีคนสำคัญคนนึงค่ะ นั่นก็คือ พระสารประเสริฐ นะคะ หรือว่า ตรี นาคะประทีป คุ้น ๆ ชื่อมั้ย นาคะประทีป ก็คือ เสฐียรโกเศศ กับ นาคะประทีป คนที่แปลกามนิตคนนั้นนั่นล่ะค่ะ พระสารประเสริฐเนี่ยนะคะ เสนอขึ้นมาว่า เราควรจะมีการถวายพระสมัญญานาม ให้กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นะ แล้วพระสารประเสริฐก็เสนอคำว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ขึ้นมาค่ะ ทีนี้เหล่านักเขียนคนดังต่าง ๆ ที่เราน่าจะคุ้นกันดีที่มีชีวิตอยู่ในยุคนั้น แล้วก็บังเอิญอยู่ในการซ้อมละครครั้งนั้นด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็น พระยาอุปกิตศิลปสาร หรือว่า นิ่ม กาญจนชีวะ ก็คนที่เขียนตำราหลักภาษาไทย พระยาอนุมานราชธน พระวรเวทย์พิสิษฐ์ รวมถึงจมื่นมานิตย์นเรศเนี่ยนะคะ ที่อยู่ตรงนั้นก็เห็นด้วยค่ะ ดังนั้นทั้งหมดก็เลยตัดสินใจ ถวายพระราชสมัญญานามให้กับพระองค์ว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ตั้งแต่นั้นมาค่ะ คำว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ก็เลยค่อย ๆ แพร่หลายไปเรื่อย ๆ แล้วก็ใช้มาจนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบันนั่นเองค่ะ นี่ก็คือเรื่องราวน่ารู้ทั้งหมด 6 ข้อนะคะ ที่วิวหยิบขึ้นมา จากนิทรรศการจุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย ตอน มหาวชิราวุธราชบรรณาลัย นะ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "บันดาลใจ" ค่ะ ถ้าสมมติว่าใครฟังแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย อยากรู้เรื่องราวให้ลึกกว่านี้ อยากรู้เกร็ดความรู้ต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งวิวอาจจะเอามาเล่าไม่หมด เช่น การจัดประกวดความสามารถในสมัยนั้น ที่พระองค์ก็เหมือนเป็น Host ขึ้นมาพระองค์แรก หรือว่าอะไรต่าง ๆ มากมายจริง ๆ นะคะ ก็สามารถเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหว ของนิทรรศการมหาวชิราวุธราชบรรณาลัย ได้ทั้งที่แฟนเพจและเว็บไซต์ จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย รวมถึงวิวเองก็จะมาคอยอัปเดตให้ทุกคนฟังเรื่อย ๆ ด้วยค่ะ จบโควิด-19 เมื่อไหร่ รอเจอนิทรรศการจริงเต็มรูปแบบกันได้เลยนะคะ ที่สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ เอาจริง ๆ คลิปนี้เป็นคลิปที่ วิวตัดสินใจยากพอสมควรเลยนะคะ ตอนที่จะต้องตัดสินใจเลือกมาแค่ 6 ข้อ เพราะจริง ๆ แล้วมันมีเรื่องราวที่น่าสนใจ อีกเยอะมาก ๆ ๆ ๆ เลยทีเดียวค่ะ และนี่เป็นหนึ่งในคลิปที่ วิวหาข้อมูลมาทำเยอะอันดับต้น ๆ เลยนะ เพราะว่าข้อมูลทั้งหมดที่เอามาทำคลิปนี้ ไม่ใช่ข้อมูลที่แค่เอามาทำคลิปนี้เข้าใจมั้ย คือมันเป็นข้อมูลที่เอามาทำทั้งนิทรรศการเลย และนิทรรศการนี้ไม่ใช่นิทรรศการที่จัดทำขึ้นคนเดียว คือวิวเนี่ยเป็น curator ร่วมกับพี่ฮ่องเต้ ซึ่งเป็นคนทำอาร์ตต่าง ๆ ในงานใช่มั้ยคะ แต่ภายในงานนี้มีนักวิชาการหลายต่อหลายท่านเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่ของวิว เป็นอาจารย์ เป็นอะไรต่าง ๆ มารวมกันนะคะ แล้วให้ข้อมูลไว้เยอะมากๆ เลยจริง ๆ ดังนั้น มีข้อมูลที่น่าสนใจเยอะมาก ๆ ๆ ๆ และวิวจะเสียใจมาก ๆ เลยค่ะ ถ้าสมมติว่าข้อมูลมันอยู่ตรงนั้น และมันฟรีแล้วไม่มีคนเข้าไปดู ดังนั้น อย่าลืมเข้าไปดูกันนะคะ วันนี้ลาไปก่อนแล้วกันค่ะทุกคน บาย ๆ สวัสดีค่ะ