เราเสียเวลาในโรงเรียน ไปกับการเรียนรู้ที่จะสะกดคำ ทุกวันนี้ เด็ก ๆ ก็ยังคงเสียเวลา ที่โรงเรียนไปกับการสะกดคำ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ฉันจึงอยากจะตั้งคำถามที่ว่า "เราต้องการกฎการสะกดคำใหม่หรือ" ฉันเชื่อว่าใช่ค่ะ เราต้องการมัน หรือถ้าจะให้ดี ฉันคิดว่าเราต้องการ ที่จะให้การสะกดคำที่เรามีง่ายขึ้นกว่าเดิม ทั้งคำถามและคำตอบนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เลยสำหรับภาษาสเปน พวกมันโต้กลับไปกลับมา ทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1492 ในคู่มือ ไวยากรณ์ภาษาสเปนฉบับแรก อันโตนิโอ เดอร์ เนบริคา บอกหลักการสะกดคำ ไว้อย่างชัดเจนและเรียบง่ายว่า "... ดังนั้น เราจะต้องเขียนคำต่าง ๆ ดังเช่นที่เราออกเสียงพวกมัน และการออกเสียงคำเหล่านั้น เฉกเช่นที่เราเขียนมัน" แต่ละเสียงสอดคล้องกับตัวอักษรแต่ละตัว แต่ละตัวอักษร เป็นตัวแทนของเสียงเดี่ยวแต่ละเสียง และตัวอักษรที่ไม่ได้เป็นตัวแทนเสียงใดเลย ก็สมควรถูกลบทิ้งไป วิธีการนี้ เป็นวิธีการทางสัทศาสตร์ (Phonetic Approach) ซึ่งบอกว่าเราจะต้องเขียนคำศัพท์ต่าง ๆ ดังที่เราออกเสียงพวกมัน ทั้งเป็นและไม่เป็นรากของการสะกดคำ ที่เราปฏิบัติกันในทุกวันนี้ เพราะว่าภาษาสเปนต่างจากภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ตรงที่ภาษาสเปนที่ไม่ยอมเขียนคำต่าง ๆ ให้ต่างจากที่เราอ่านออกเสียง มากจนเกินไป แต่เป็นเพราะเมื่อศตวรรษที่ 18 เราตัดสินใจว่าเราจะวางมาตรฐาน การเขียนของเราอย่างไร และนี่เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่งแนะแนวทางที่ดีสำหรับการตัดสินใจ มันเป็นวิธีการทางศัพทมูลวิทยา (Etymological Approach) ซึ่งกล่าวว่า เราจะต้องสะกดคำต่าง ๆ ตามแบบที่มันถูกเขียน ในภาษาดั้งเดิมของมัน เช่น ตามภาษาละติน หรือตามภาษากรีก นั่นทำให้เรามีอักษร H ที่ไม่ออกเสียง ซึ่งเราเขียนมันเอาไว้ แต่ไม่ได้ออกเสียง นั่นทำให้เรามีอักษร B และ V ซึ่งทั้งสองตัวอักษรนี้ ไม่ได้ออกเสียงแตกต่างกันเลยในภาษาสเปน อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ นั่นจึงทำให้เราปวดหัวกับตัว G ที่บางครั้งก็เป็นเสียงธนิต อย่างคำว่า "gente" [เคนเต้] และบางครั้งก็เป็นเสียงสิถิล อย่างเช่นคำว่า "gato"[กาโต้] นั่นทำให้เรามีตัว C, S และ Z อักษรทั้งสามที่ในบางแห่ง ก็ให้เสียงเหมือนกัน แต่ในบางแห่งอาจให้เสียงต่างกันเป็นสองเสียง แต่ไม่ใช่สามเสียง ฉันไม่ได้มาที่นี่เพื่อจะบอกคุณ เกี่ยวกับสิ่งที่คุณยังไม่รู้ จากประสบการณ์ของคุณ เราทุกคนไปโรงเรียน เราทุกคนทุ่มเวลามากมายไปกับการศึกษา ทุ่มช่วงวัยเยาว์ที่สมองยังเป็นไม้อ่อนดัดง่าย เสียเวลาไปกับการเขียนตามคำบอก ในการจดจำกฎในการสะกดคำ ที่ไม่ว่าอย่างไรเสีย ก็เต็มไปด้วยข้อยกเว้น เราถูกบอกหลายต่อหลายครั้ง ทั้งโดยตรงและโดยนัย ว่าในการสะกดคำ สิ่งที่เป็นพื้นฐานต่อการสอนสั่งของเรา กำลังอยู่ในความเสี่ยง กระนั้น ฉันก็ยังรู้สึกว่า คุณครูทั้งหลายไม่ได้ถามตัวเองว่า ทำไมมันถึงสลักสำคัญนัก อันที่จริง พวกเขาไม่ได้ถามตัวเอง ด้วยคำถามก่อนหน้านี้ว่า จุดประสงค์ของการสะกดคำคืออะไร เราต้องการสะกดคำไปเพื่ออะไร และความจริงก็คือ เมื่อใครสักคน ถามตัวเองด้วยคำถามนี้ คำตอบนั้นเรียบง่ายกว่า แต่กลับสำคัญน้อยกว่า ที่พวกเรามักจะเชื่อกัน การสะกดคำ ทำให้การเขียนของเรามีเอกภาพ เพื่อที่พวกเราจะได้เขียนเหมือน ๆ กัน และเพื่อทำให้มันง่ายต่อความเข้าใจของเรา เมื่อเราอ่านการเขียนของกันและกัน แต่ที่แตกต่างจากแง่มุมอื่น ๆ ของภาษา เช่น การแบ่งวรรคตอน ในการสะกดคำนั้น มันไม่มีการใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ในการแบ่งวรรคตอน ด้วยการแบ่งวรรคตอน ฉันสามารถเลือก ที่จะเปลี่ยนความหมายของวลีได้ ด้วยการแบ่งวรรคตอน ฉันสามารถที่จะกำหนด บางจังหวะของการเขียนของฉันได้ แต่ไม่ใช่ด้วยการสะกดคำ เมื่อมันเป็นเรื่องของการสะกดคำ มีเพียงแค่ถูกหรือผิด ตามแต่ว่ามันเข้ากันหรือไม่เข้ากัน กับกฎในตอนนั้น แต่แล้ว มันจะไม่เป็นเหตุเป็นผลกว่าหรือ ที่จะทำให้กฎในปัจจุบันเรียบง่าย เพื่อให้เรียนและสอนกันง่ายยิ่งขึ้น และใช้การสะกดคำได้อย่างถูกต้อง มันจะไม่เป็นเหตุเป็นผลกว่านี้หรือ ที่จะทำให้กฎในปัจจุบันเรียบง่าย เพื่อให้เวลาทั้งหมด ที่เราอุทิศแก่การสอนการสะกดคำ จะสามารถถูกนำไปอุทิศให้กับเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับภาษา ซึ่งความซับซ้อนของพวกมัน สมควรได้รับเวลาและความใส่ใจ สิ่งที่ฉันอยากนำเสนอ ไม่ใช่การล้มเลิกการสะกดคำ ไม่ใช่ให้ทุกคนเขียนอย่างไรก็ได้ อย่างที่อยากจะเขียน ภาษาเป็นเครื่องมือสาธารณะ ดังนั้น ฉันก็ยังเชื่อว่ามันเป็นพื้นฐาน ว่าเราควรใช้มันตามเกณฑ์ที่มีร่วมกัน แต่ฉันยังพบว่ามันเป็นพื้นฐาน ที่เกณฑ์ที่มีอยู่ร่วมกันนั้น จะต้องเรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพราะ ถ้าเราทำให้การสะกดคำของเราเรียบง่าย เราก็ไม่ต้องลดระดับมันให้ต่ำลงมา เมื่อการสะกดคำของเราเรียบง่าย คุณภาพของภาษาก็ไม่ได้รับผลกระทบเลย ทุก ๆ วัน ฉันทำงานเกี่ยวกับ วรรณกรรมยุคทองของสเปน ฉันอ่าน การ์ซิลาโซ่, เซร์บันเตส, กอนโกร่า, เกเบโด ผู้ซึ่งบางครั้งก็เขียนคำว่า "hombre" [ออมเบร] แบบที่ไม่มีตัว H และบางครั้งก็เขียนคำว่า "escribir" [เอสคริบริ] ด้วยตัว V และมันชัดเจนสำหรับฉัน ว่าความแตกต่างระหว่างการสะกดคำเหล่านั้น กับการสะกดคำของเราคือการตกลงกัน หรืออาจพูดได้ว่า การไร้ซึ่งข้อตกลง ในช่วงเวลาของพวกเขา แต่ไม่ใช่ความแตกต่างเรื่องคุณภาพ แต่ขอให้ฉันวกกลับไปพูดถึง ครูบาอาจารย์สักหน่อย เพราะพวกเขาเป็นตัวละครสำคัญ ในเรื่องราวนี้ ก่อนหน้านี้ ฉันเล่าถึงการยืนกราน ที่ค่อนข้างจะไร้เหตุผล ที่ครูของเราจู้จี้กับเราเหลือเกิน ในเรื่องการสะกดคำ แต่ความเป็นจริงก็คือ สิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างที่มันเป็น มันมีเหตุผลที่ชัดเจน ในสังคมของเรา การสะกดคำทำหน้าที่เป็นดัชนีแห่งเอกสิทธิ์ ที่แยกผู้ทรงวัฒนธรรมออกจากผู้ป่าเถื่อน แยกผู้มีการศึกษาออกจากผู้ไร้การศึกษา โดยไม่เกี่ยวข้องเลยว่า บริบทที่กำลังถูกเขียนอยู่นั้นคืออะไร คนคนหนึ่งอาจได้งานหรือไม่ได้งาน ด้วยเหตุที่เขาเขียน H หรือว่าไม่ได้เขียน คนคนหนึ่งอาจกลายเป็นตัวตลกของสังคม เพียงเพราะเขียนตัว B ไว้ผิดตำแหน่ง ดังนั้น ในบริบทนี้ แน่นอนล่ะว่า เราควรสละเวลาให้กับการสะกดคำ แต่เราไม่ควรลืมว่า ตลอดประวัติศาสตร์ของภาษาเรา มีแต่ครู หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาภาษา ในระดับเบื้องต้นเท่านั้น ที่ส่งเสริมการปฏิรูปการสะกด ที่ตระหนักว่าการสะกดคำของเรา มักจะมีอุปสรรค ในเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของเรา เซอร์เมียนโต และ อันเดรส เบลโย่ เป็นหัวหอกในการปฏิรูปการสะกดคำ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นกับภาษาสเปน ซึ่งก็คือ การปฏิรูปในชิลี เมื่อกลางศตวรรษที่ 19 แล้วทำไมเราไม่รับเอาผลสำเร็จ จากครูบาอาจารย์เหล่านั้น และนำมันมาพัฒนาการสะกดคำของเราล่ะ นี่คือ กลุ่มคำที่เราคุ้นเคยจำนวน 10,000 คำ ที่ฉันอยากจะหยิบยกขึ้นมา เพื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของพวกมัน ที่ฉันคิดว่ามันสมเหตุสมผล ที่จะนำมาอภิปรายกัน ลองกำจัด H ที่ไม่ต้องออกเสียงออกไป ตรงที่เราเขียน H แต่ไม่อ่านออกเสียง ลองไม่ต้องเขียนมันดูนะคะ (เสียงปรบมือ) ฉันจินตนาการไม่ออก ว่ามันจะเกิดเป็นเรื่องอ่อนไหว ที่ใครสักคนจะถูกตัดสินเพราะความยุ่งยาก ที่เกิดจาก H ที่ไม่ออกเสียงได้อย่างไร อย่างที่เราพูดถึงไปก่อนหน้านี้ว่า B และ V ไม่เคยมีความแตกต่างกันเลย ในภาษาสเปน (เสียงปรบมือ) เลือกมาสักตัว จะเป็นตัวไหนก็ได้ ปรึกษากัน และตัดสินใจเลย ทุกคนมีความชื่นชอบเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว และอาจจะถกเถียงกัน เลือกมาตัวเดียวก็พอ แล้วทิ้งอีกตัวไป มาแยกหน้าที่ให้กับ G และ J G ควรจะคงเสียงเสียงสิถิลของมันไว้ แบบใน "กาโต้" "มาโก" "อะกิล่า" และ J ควรคงเสียงเสียงธนิต อย่างใน "คาราบี" "คาราฟา" "เคนเต้" "อาร์เคนติโน" เอาไว้ กรณีของ C, S และ Z ก็น่าสนใจ เพราะมันแสดงว่าวิธีการที่เกี่ยวข้องกับ การออกเสียงนั้นจะต้องเป็นตัวชี้แนะ แต่ไม่อาจเป็นหลักการแต่เพียงอย่างเดียวได้ ในบางกรณี ความแตกต่างในการอ่าน ออกเสียงจะต้องได้รับการบ่งบอก ค่ะ อย่างที่ฉันพูดถึงก่อนหน้านี้ C, S และ Z ในบางที่ มีเสียงเพียงแบบเดียว ในบางที่มีเสียงสองแบบ หากเราลดตัวอักษรจากสามตัว เหลือเป็นสองตัวก็ดีมากแล้ว สำหรับบางคน การเปลี่ยนแปลงนี้ อาจเป็นอะไรที่สุดโต่ง แต่จริง ๆ แล้วไม่เลยค่ะ ราชบัณฑิตยสถานสเปน และสถาบันทางภาษาทุกแห่ง ยังเชื่อว่าการสะกดคำ ควรที่จะได้รับการพัฒนาปรับปรุง ในแบบที่ว่า ภาษานั้นถูกเชื่อมโยงกับ ประวัติศาสตร์ ธรรมเนียม และประเพณี แต่ในขณะเดียวกัน มันจะต้องเหมาะสม ต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน และบางครั้ง การเชื่อมโยงกับ ประวัติศาสตร์ ธรรมเนียม และประเพณีนี้ ก็กลายเป็นอุปสรรคสำหรับการใช้ในปัจจุบัน แน่นอนล่ะว่า นี่เป็นการอธิบายข้อเท็จจริงที่ว่า ภาษาของเรานั้น เป็นมากกว่าภาษาเพื่อนบ้าน ตรงที่ภาษาของเราได้ดัดแปลงตัวเอง โดยพวกเราเองมาโดยตลอด ยกตัวอย่างเช่น เราเปลี่ยนจากการเขียน "ortographia" เป็น "ortografía", จาก "theatro" เป็น "teatro", จาก "quantidad" เป็น "cantidad", จาก "symbolo" เป็น "símbolo", และตัว H ที่ไม่ออกเสียง ก็ค่อย ๆ ถูกกำจัดออกไป จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน "arpa" และ "armonía" สามารถสะกด แบบมีหรือไม่มี H ก็ได้ และทุกคนก็เห็นด้วยกับมัน ฉันยังเชื่อด้วยว่า เวลานี้แหละที่เหมาะสมต่อการอภิปราย เราพูดกันเสมอว่า ภาษาเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จากรากฐานขึ้นมา และผู้ใช้ภาษาก็คือผู้ที่นำคำใหม่ ๆ เพิ่มเติมเข้าไป และเป็นผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทางไวยากรณ์ และผู้มีอำนาจหน้าที่ เช่นองค์กรทางวิชาการในบางแห่ง หรือพจนานุกรมในบางฉบับ หรือกระทรวงกรมในบางแห่ง หลังจากระยะเวลาอันยาวนาน ก็ยอมรับและจัดรวมพวกมันเข้าไป มันเป็นจริงเฉพาะกับบางระดับของภาษา มันเป็นจริงเฉพาะในระดับคำศัพท์ ทว่ามันไม่ค่อยจะเป็นเช่นนั้น ในระดับของไวยากรณ์ และฉันเกือบจะพูดได้ว่า มันไม่เป็นจริงเช่นนั้นเลยในระดับการสะกดคำ ที่ตามประวัติศาสตร์แล้ว เปลี่ยนแปลงแบบรับคำสั่งจากเบื้องบนลงมา สถาบันต่าง ๆ เป็นผู้คอยออกกฏและกำหนดวัตถุประสงค์ ในการเปลี่ยนแปลงเสมอมา ทำไมฉันถึงพูดว่านี่คือเวลาเปลี่ยนแปลง ที่เหมาะสมน่ะหรือคะ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเขียนถูกจำกัดมากกว่า และเป็นส่วนตัวมากกว่าการพูด แต่ในยุคของเรานี้ ที่เป็นยุคของโซเชียลเน็ตเวิร์ก จะกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงรูปแบบปฏิวัติ ผู้คนไม่เคยเขียนกันแพร่หลายเช่นนี้มาก่อน คนไม่เคยเขียนเพื่อให้ผู้อ่าน จำนวนมากมายเท่านี้มาก่อน และเป็นครั้งแรกในสังคมออนไลน์ เราจะได้เห็นการใช้การสะกดคำ ในรูปโฉมใหม่ในระดับมหาชน ที่ซึ่งผู้มีการศึกษาชั้นสูงที่สะกดคำ ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เมื่ออยู่ในสังคมออนไลน์ ก็มีพฤติกรรมส่วนใหญ่ เหมือน ๆ กับพฤติกรรม ของผู้ใช้งานสังคมออนไลน์โดยมาก นั่นบ่งบอกว่า พวกเขาผ่อนปรน การตรวจสอบการสะกดคำ และให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว และความสะดวกในการสื่อสารมากกว่า สังคมออนไลน์เวลานี้ เราจะเห็นความสับสน ในการใช้ของแต่ละคน แต่ฉันคิดว่า เราต้องให้ความสนใจกับมัน เพราะว่ามันอาจกำลังบอกเราว่า ยุคที่จะกำหนดการเขียนแนวใหม่ กำลังหาจุดยืนให้กับการเขียนแบบใหม่นี้ ฉันเชื่อว่ามันคงไม่ถูกต้อง ถ้าเราปฏิเสธหรือเขี่ยมันทิ้งไป ด้วยเหตุผลที่ว่า เราระบุว่าพวกมันเป็นอาการของการเสื่อมสลาย ทางวัฒนธรรมในยุคของเรา ไม่ค่ะ ฉันเชื่อว่าเราจะต้องสังเกต จัดระเบียบ และเปิดทางให้พวกมัน ด้วยแนวทางที่สอดคล้องกับความต้องการ ในยุคของเราอย่างเหมาะสมยิ่งกว่า ฉันคาดเดาได้ถึงผลลัพธ์บางอย่าง จะมีคนพูดว่า ถ้าเราทำให้การสะกดคำนั้นเรียบง่าย เราจะสูญเสียศัพทมูลวิทยาไป ว่ากันตามจริงแล้ว หากเราอยากจะอนุรักษ์ศัพทมูลวิทยา เราจะต้องทำอะไรมากกว่า แค่จดจ่ออยู่ที่การสะกดคำ เราจะต้องเรียนภาษาละติน กรีก และอาหรับ ด้วยการสะกดคำที่ถูกทำให้เรียบง่าย เราอาจทำให้ศัพทมูลวิทยา เป็นอย่างที่มันเป็นในตอนนี้ ซึ่งก็คือทำพจนานุกรมศัพทมูลวิทยานั่นเอง ผลลัพธ์ที่สองจะมาจากคนที่บอกว่า "ถ้าเราทำให้การสะกดคำเรียบง่าย เราก็จะแบ่งแยกความแตกต่าง ระหว่างคำที่มีตัวอักษรแตกต่างกัน เพียงตัวเดียวไม่ได้" นั่นก็จริงอยู่ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ภาษาของเรามีคำพ้องรูป ที่มีความหมายแตกต่างกัน แต่ว่าเราก็ไม่เห็นจะสับสนระหว่าง คำว่า "banco" ที่แปลว่าม้านั่ง กับ "banco" ที่แปลว่าธนาคาร เลย หรือคำว่า "traje" ที่แปลว่าสูท กับคำว่า "trajimos" ที่แปลว่าสวมใส่ ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ บริบทช่วยขจัดความสับสนต่าง ๆ แต่ก็ยังมีข้อโต้เถียงที่สามอยู่ดี สำหรับฉันแล้ว มันเป็นข้อโต้แย้ง ที่เข้าใจได้มากที่สุด นั่นก็คือ คนที่บอกว่า "ฉันไม่อยากเปลี่ยนเลย ฉันเติบโตมากับการสะกดคำแบบนี้ ฉันเคยชินกับอะไรแบบนี้ พออ่านคำที่สะกดแบบเรียบง่ายนี่ มันทำเอาตาฉันแทบบอด" (เสียงหัวเราะ) ส่วนหนึ่งของข้อโต้แย้งนี้ มีอยู่ในตัวเราทุกคน เราควรจะทำอย่างไรน่ะหรือคะ ฉันคิดว่า เราควรทำในสิ่งที่ เราทำกันเสมอ ๆ ในกรณีเช่นนี้ ซึ่งก็คือ เปลี่ยนแปลงมันซะ เด็ก ๆ ก็ได้รับการสอนกฎใหม่ พวกเราที่ไม่อยากปรับเปลี่ยนตาม ก็สามารถเขียนในแบบที่เราคุ้นเคยได้ และหวังว่า เวลาจะช่วยทำให้กฎใหม่ เข้าที่เข้าทาง ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำ ที่ส่งผลลึกลงไปต่อรากเหง้าของนิสัย ตั้งอยู่บนความระมัดระวัง, ความเห็นพ้องต้องกัน, ความค่อยเป็นค่อยไป และความอดทน ในเวลาเดียวกัน เราก็ไม่อาจยอม ให้การยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ เหนี่ยวรั้งเราไว้ไม่ให้เราก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะรำลึกถึงอดีต ก็คือการพัฒนาสิ่งที่ตกทอดมาสู่เรา ฉะนั้น ฉันจึงเชื่อว่าเราต้องเข้าถึงข้อตกลง สถาบันวิชาการจะต้องเข้าถึงข้อตกลง และเลิกนิสัยเดิม ๆ ของเรา ในเรื่องกฏกติกาการสะกดคำ ที่เราทำไปเพื่อรักษาธรรมเนียมปฏิบัติ แม้ว่าเดี๋ยวนี้มันจะไร้ประโยชน์แล้วก็ตาม ฉันเชื่อว่า ถ้าเราทำอย่างนั้น กับส่วนหนึ่งของภาษาที่เรียบง่าย แต่มีความสำคัญยิ่งนี้ เราจะส่งมอบอนาคตที่สดใสกว่า ไว้ให้กับลูกหลานของเรา (เสียงปรบมือ)