ผมจะพูดกับคุณ เกี่ยวกับวิกฤติผู้ลี้ภัยทั่วโลก เป้าหมายของผมก็คือ การแสดงให้คุณเห็นว่าวิกฤตินี้ สามารถจัดการได้ ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้ และเพื่อแสดงให้คุณเห็นว่า มันเป็นเรื่องของเราและเกี่ยวข้องกับเรา พอ ๆ กับที่เป็นเรื่องที่เหล่าผู้ลี้ภัย กำลังเผชิญอยู่โดยตรง สำหรับผมแล้ว นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ภาระทางหน้าที่การงาน เพราะผมดูแลองค์กร NGO ที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นทั่วโลก มันเป็นเรื่องในระดับบุคคล ผมชอบภาพนี้ ผู้ชายรูปหล่อที่อยู่ด้านขวา นั่นไม่ใช่ผมนะครับ นั่น ราฟ คุณพ่อของผม ที่ลอนดอน ปี ค.ศ. 1940 กับคุณพ่อของเขาชื่อซามูเอล พวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยชายยิวจากเบลเยี่ยม พวกเขาหนีภัยสงครามตอนที่กองทัพนาซีบุก ผมชอบรูปนี้เช่นกัน เป็นรูปกลุ่มเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัย จากโปแลนด์ที่เพิ่งไปถึงเกาะอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1946 คนที่อยู่ตรงกลางนั่นคือแม่ของผม มาเรียน เธอถูกส่งมาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในประเทศใหม่ ด้วยตัวเองของเธอเอง ในตอนที่เธออายุ 12 ปี ผมรู้ว่า หากอังกฤษไม่รับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ ในช่วง 1940 ผมคงไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้แน่ ๆ แม้จะล่วงเลยมา 70 ปี วัฏจักรได้เวียนบรรจบครบวง เสียงเกิดก่อเป็นกำแพง วาทะทางการเมืองเต็มไปด้วยความชัง คุณค่าและหลักมนุษยธรรม ตกเป็นประเด็นร้อน ในประเทศต่าง ๆ ที่เมื่อ 70 ปีก่อน บอกว่า พอเสียที กับเหยื่อสงคราม ผู้ไร้สัญชาติและไร้ความหวัง ปีที่แล้ว ทุกนาที คนอีก 24 คน ต้องพลัดถิ่น จากบ้านของพวกเขา เนื่องจากความขัดเเย้ง ความรุนแรง และการถูกข่มเหง การถูกโจมตีด้วยอาวุธเคมีอีกครั้งในซีเรีย การออกอาละวาดของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน เด็กหญิงถูกขับไล่จากโรงเรียน ในภาคอีสานของไนจีเรีย โดย โบโก ฮาราม พวกเขานี้ไม่ใช่คนที่ย้ายไปต่างประเทศ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า แต่พวกเขาหนีเอาชีวิตรอด โศกนาฏกรรมที่แท้จริงก็คือ ผู้ลี้ภัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ไม่อาจมาพูดกับคุณที่นี่ในวันนี้ได้ พวกคุณหลาย ๆ คนคงรู้จักภาพนี้ ที่แสดงให้เห็นถึงร่างไร้วิญญาณ ของอลัน เคอร์ดิ เด็กชายห้าขวบ ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่เสียชีวิต ในทะเลเมดิเตอเรเนียน ปี ค.ศ. 2015 พร้อมคนอีก 3,700 คน ที่พยายามจะไปให้ถึงยุโรป ถัดมาในปี ค.ศ. 2016 คน 5,000 คน เสียชีวิต มันสายเกินไปสำหรับพวกเขา แต่มันยังไม่สายเกินไป สำหรับคนอีกหลายล้านคน มันยังไม่สายเกินไปสำหรับคนอย่างเฟรดริก ผมพบเขาในค่ายผู้ลี้ภัยนารูกูซู ประเทศแทนซาเนีย เขามาจากประเทศบุรุนดี เขาต้องการทราบว่า จะไปเรียนต่อจนจบหลักสูตรได้ที่ไหน เขาเรียนมาแล้ว 11 ปี ต้องการเรียนปีที่ 12 อีกปีเดียว เขาบอกผมว่า "ผมภาวนาว่าชีวิตของผม จะไม่จบลงในค่ายนี้" และมันยังไม่สายเกินไปสำหรับเฮลัด พ่อแม่ของเธอเป็นผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายยาร์มูค นอกกรุงดามัสกัส เธอคนในครอบครัวผู้ลี้ภัย และตอนนี้เธอเองก็เป็นผู้ลี้ภัย ในเลบานอน เธอทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยคนอื่น ให้คณะกรรมการช่วยเหลือนานาชาติ ทว่าเธอไม่มีความมั่นคง เกี่ยวกับอนาคตของเธอเลยสักนิด ว่ามันอยู่ที่ไหนหรือหน้าตาเป็นอย่างไร การบรรยายนี้ เกี่ยวกับเฟรดริก เกี่ยวกับเฮลัด และคนอีกหลายล้านที่เหมือนกับพวกเขา ทำไมพวกเขาถึงต้องพลัดถิ่น รอดชีวิตได้อย่างไร ต้องการความช่วยเหลือแบบไหน และความรับผิดชอบของเราคืออะไร ผมเชื่อว่า คำถามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเรา ที่มีต่อคนที่เราไม่รู้จัก "คุณ" ในอนาคตเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของคุณ ที่มีต่อคนที่คุณไม่รู้จัก คุณรู้ดีกว่าใคร ว่าโลกนี้เชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่าที่เคย ทว่าภัยที่ใหญ่หลวงกว่าเดิม กลับเป็นการแบ่งแยกที่กลืนกินพวกเรา และไม่มีบททดสอบไหนแล้ว ที่จะดีไปกว่าการที่เราปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย นี่คือข้อเท็จจริงครับ คน 65 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นออกจากบ้านเนื่องจาก ความรุนแรงและการถูกข่มเหงเมื่อปีก่อน ถ้าหากคิดเป็นประเทศ นั่นคงจะเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับที่ 21ของโลก คนประมาณ 40 ล้านคนเหล่านี้ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศบ้านเกิด แต่ 25 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัย นั่นหมายความว่า พวกเขาข้ามพรมเเดน ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศที่ยากจน ค่อนข้างยากจน หรือมีรายได้ปานกลางถึงต่ำ อย่างเช่น เลบานอน ที่ซึ่งเป็นที่เฮลัดอาศัยอยู่ในตอนนี้ ในประเทศเลบานอน ทุก ๆ สี่คนคือผู้ลี้ภัย คิดเป็นหนึ่งในสี่ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลานาน ระยะเวลาเฉลี่ยของการพลัดถิ่น คือ 10 ปี ผมไปยังค่ายผู้อพยพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทางตะวันออกของเคนย่า ชื่อว่า ดาดับ มันถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1991 - 92 ในฐานะ "ค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราว" สำหรับ ชาวโซมาลีที่หนีภัยสงครามกลางเมือง ผมพบ ซิโล และถามซิโลอย่างซื่อ ๆ ว่า "เคยคิดว่าจะได้กลับไปบ้านที่โซมาลีไหม" แล้วเธอก็บอกว่า "หมายความว่าอย่างไรกัน กลับบ้านเนี่ยนะ ฉันเกิดที่นี่" และเมื่อผมถามฝ่ายบริหารของค่าย ว่าในบรรดาคน 330,000 คนในค่ายนี้ มีคนเกิดที่นี่กี่คน พวกเขาให้คำตอบผมว่า 100,000 คน นี่แหละครับ ความหมายของคำว่า การพลัดถิ่นระยะยาว ต้นสายปลายเหตุของปัญหา หยั่งลึกลงไปเกี่ยวกับเรื่อง ประเทศอ่อนแอที่ไม่อาจ ช่วยเหลือประชากรของตัวเองได้ ระบบการเมืองระหว่างประเทศ ที่ย่ำแย่ลงกว่าช่วงไหน ๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 และความแตกต่างด้านศาสนา การปกครอง การปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ในโลกของชาวมุสลิมกลุ่มหลัก นี่คือความท้าทายระยะยาวหลายชั่วอายุคน นี่คือสาเหตุที่ผมบอกว่าวิกฤติผู้ลี้ภัย เป็นเรื่องต่อเนื่อง ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว มันซับซ้อน และเมื่อปัญหานั้น ใหญ่โต กินเวลานาน และซับซ้อน คนก็มักคิดกันว่าเราทำอะไรไม่ได้หรอก เมื่อสันตปาปาฟรานซิสเยือนแลมเบอดูซ่า ใกล้กับชายฝั่งอิตาลีในปี ค.ศ. 2014 ท่านกล่าวว่าพวกเราทุกคนและประชากรโลก ตกเป็นผู้ต้องหาที่ท่านนิยามว่า "โลกาภิวัตน์แห่งความนิ่งดูดาย" ช่างเป็นวลีที่ตามหลอกหลอน มันสื่อว่า หัวใจของเราแข็งกระด้างราวกับหิน ไม่รู้สิครับ คุณคิดว่าอย่างไรกันบ้าง คุณมีสิทธิเถียงกับสันตปาปาหรือเปล่า แม้จะเป็นในงานสัมนา TED ก็เหอะ แต่ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ผมคิดว่าคนต้องการ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พวกเขาแค่ไม่รู้ว่า มันจะมีทางแก้วิกฤตินี้ได้หรือเปล่า และผมอยากจะบอกคุณในวันนี้ว่า ถึงแม้จะมีปัญหาอยู่จริง ทางแก้ก็มีอยู่จริงได้เช่นกัน ทางที่หนึ่ง ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จำเป็นต้องทำงาน ในประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ และประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้น ต้องการการสนับสนุนทางเศรษฐกิจอย่างมาก ในยูกันดาปี ค.ศ. 2014 พวกเขาศึกษาพบว่า 80% ของผู้ลี้ภัยในเมืองหลวงแคมปาลา ไม่ต้องรับความช่วยเหลือด้านมนุษยชน เพราะพวกเขามีงาน พวกเขาได้รับการสนับสนุนให้งาน ทางออกที่สอง การศึกษาสำหรับเด็ก คือสิ่งจำเป็น ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย เมื่อคุณต้องพลัดถิ่นเป็นเวลานาน ๆ สถานะของเด็กฟื้นฟูกลับมาได้ หากได้รับ ความช่วยเหลือทางสังคมและจิตใจ ควบคู่ไปกับทักษะ ในการการอ่านเขียนและคำนวณ ผมได้เห็นมาด้วยตาของตัวเอง ทว่าครึ่งหนึ่งของเด็กผู้ลี้ภัยทั้งโลก ที่อยู่ในวัยประถมศึกษา ไม่ได้รับการศึกษาเลยแม้แต่น้อย และสามให้สี่ของเด็กมัธยม ไม่ได้รับการศึกษาเลยเเม้แต่น้อย มันบ้าไปแล้ว ทางออกที่สาม ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่อยู่ในย่านชุมชน ในตัวเมือง ไม่ใช่ในค่าย คุณหรือผมต้องการอะไร ถ้าหากเราเป็นผู้ลี้ภัยในเมือง เราต้องการเงิน เพื่อจ่ายค่าเช่าบ้านหรือซื้อเสื้อผ้า อนาคตของระบบด้านมนุษยธรรม หรือส่วนสำคัญของมัน คือการมอบเม็ดเงินให้พวกเขา เพื่อให้โอกาสกับผู้ลี้ภัย นั่นจะเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และทางออกที่สี่ ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียง แต่เราจำเป็นต้องพูดถึงมัน ผู้ลี้ภัยที่ได้รับความเสี่ยงที่สุด สมควรได้รับการเริ่มต้นใหม่ และชีวิตใหม่ในประเทศใหม่ รวมถึงในประเทศตะวันตก ตัวเลขหลักแสน ไม่ถึงหลักล้าน อาจดูไม่ค่อยมากเท่าไร แต่มีนัยที่สำคัญมาก ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะกีดกันผู้ลี้ภัย แบบที่คณะบริหารงานของทรัมป์เสนอ แต่เวลาที่เราต้องโอบกอด ผู้ที่เป็นเหยื่อของความโหดร้าย และจำไว้นะครับว่า (เสียงปรบมือ) หากใครมาถามคุณว่า "พวกเขาถูกตรวจสอบ มาอย่างเหมาะสมหรือเปล่า" นั่นเป็นคำถามที่สมเหตุสมผล และเป็นคำถามที่ควรถาม ความจริงก็คือ ผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้ามา เพื่อลงหลักปักฐาน ถูกตรวจสอบมามากกว่าคนกลุ่มไหน ที่เดินทางเข้ามาในประเทศของพวกเรา ดังนั้น ในขณะที่มันสมเหตุสมผล ที่จะถามคำถามนั้น มันไม่สมเหตุสมผลที่จะบอกว่า ผู้ลี้ภัยกับผู้ก่อการร้ายคือสิ่งเดียวกัน ทีนี้ สิ่งที่เกิด -- (เสียงปรบมือ) เมื่อผู้ลี้ภัยไม่มีงานทำก็คือ พวกเขาไม่สามารถส่งลูกเข้าโรงเรียนได้ พวกเขาไม่มีเม็ดเงิน พวกเขาไม่อาจ สร้างโอกาสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพวกเขาเสี่ยงเดินทาง ผมไปที่เลสบอส เกาะแสนสวยในประเทศกรีก เมื่อสองปีก่อน มันเป็นบ้านของคน 90,000 คน ในหนึ่งปี ผู้ลี้ภัย 500,000 คน เดินทางผ่านเกาะเเห่งนี้ และผมอยากจะให้ได้เห็นสิ่งที่ผมเห็น เมื่อผมขับรถข้ามไปยังตอนเหนือของเกาะ กองเสื้อชูชีพของผู้ที่รอดมาถึงชายฝั่ง และเมื่อผมมองดูให้ละเอียด มันมีเสื้อชูชีพเล็ก ๆ สำหรับเด็กด้วย สีเหลืองนั่น ผมถ่ายภาพนี้มา คุณอาจไม่เห็นตัวหนังสือตรงนี้ แต่ผมจะอ่านให้คุณฟังครับ "คำเตือน: เสื้อนี้ไม่ป้องกันการจมน้ำ" ในศตวรรษที่ 21 เด็ก ๆ ได้รับเสื้อชูชีพ เพื่อเดินทางไปยุโรปอย่างปลอดภัย แม้ว่าเสื้อชูชีพเหล่านั้น จะไม่ช่วยชีวิตพวกเขาได้ หากพวกเขาพลัดตกจากเรือ ที่พาพวกเขาไปยังที่หมาย นี่ไม่เป็นเพียงแค่วิกฤติ มันคือบททดสอบ มันคือบททดสอบที่อารยธรรมทั้งหลาย ได้เผชิญผ่านมาหลายยุคสมัย มันคือบททดสอบความเป็นมนุษย์ มันคือบททดสอบพวกเราในโลกตะวันตก ถึงตัวตนและจุดยืนของเรา มันคือบททดสอบนิสัยใจคอของเรา ไม่ใช่แค่นโยบายของเรา และเรื่องผู้ลี้ภัยก็เป็นประเด็นสำคัญ พวกเขาดั้นด้นมาจากเเดนไกล พวกเขาผ่านเรื่องราวน่าหดหู่ พวกเขามักนับถือศาสนาที่ต่างจากเรา นั้นคือเหตุผล ว่าทำไมเราควรให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ไม่ใช่เหตุผลที่จะปฏิเสธพวกเขา มันคือเหตุผลที่เราช่วยพวกเขา เพราะมันบ่งบอกความเป็นเรา มันเผยให้เห็นคุณค่าของเรา ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกับความเอื้อเฟื้อ คือเสาหลักของอารยธรรม ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจนั้นมาเป็นการกระทำ และใช้ชีวิตของเราบนหลักศีลธรรมพื้นฐาน ในสมัยปัจจุบันนี้ เราไม่มีข้ออ้าง เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพูดว่า เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่จูบา ในซูดานใต้ หรืออะเลปโป ประเทศซีเรีย มันอยู่บนหน้าจอโทรศัพท์ของเรา ที่อยู่ในมือของเรา ความไม่รู้ไม่ใช่ข้ออ้างเลย หากเราช่วยเขาไม่ได้ก็แสดงว่า เราไม่มีหลักนำทางศีลธรรมเลย มันยังแสดงให้เห็นอีกว่า ว่าเราเข้าใจประวัติศาสตร์ของเราหรือไม่ สาเหตุที่ผู้ลี้ภัยมีสิทธิทั่วโลก ก็เพราะความเป็นผู้นำที่ไม่ธรรมดา ของชาวโลกตะวันตก ทั้งรัฐบุรุษและสตรี ยุคภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทำให้มันกลายเป็นสิทธิสากล การเพิกเฉยต่อการปกป้องผู้ลี้ภัย ก็เท่ากับเราละทิ้งอดีตของเรา นี่ยังเป็น -- (เสียงปรบมือ) การเผยถึงพลังของประชาธิปไตย ในฐานะที่พำนักที่ไกลจากเผด็จการ คุณได้ยินนักการเมืองมากี่คนแล้วที่พูดว่า "เราเชื่อในพลังจากสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่พลังของเราที่จะทำการใด ๆ " ซึ่งหมายถึงคือจุดยืนของเรา สำคัญยิ่งกว่าลูกระเบิดที่เราทิ้ง ผู้ลี้ภัยแสวงหาที่พึ่งพิง มองว่าโลกตะวันตก เป็นแดนสวรรค์ที่ให้ความหวัง ชาวรัสเซีย ชาวอิหร่าน ชาวจีน ชาวเอริเทรีย ชาวคิวบา พวกเขาเข้ามายังโลกตะวันตก เพื่อความปลอดภัย เรากลับผลักไสเพราะเห็นเขาเป็นภัยคุกคาม และมันได้เผยถึงตัวตนอีกอย่างของเรา ว่าเราจะลดอัตตายอมรับ ความผิดพลาดของตัวเราเองไหม ผมไม่ใช่คนหนึ่ง ที่เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างในโลก มีเกิดจากน้ำมือของชาวโลกตะวันตก มันไม่ใช่แบบนั้น แต่เมื่อเราทำผิดพลาด เราควรรู้ว่าเราทำผิด มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งรับผู้ลี้ภัยมากกว่าประเทศอื่น รับผู้ลี้ภัยจากเวียดนาม มากกว่าประเทศใด ๆ มันบอกเล่าประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น แต่มันยังมีประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ในอิรักและอัฟกานิสถาน คุณไม่สามารถชดเชย นโยบายการต่างประเทศที่ผิดพลาดได้ ด้วยวิถีแห่งมนุษยธรรม แต่เมื่อคุณทำบางอย่างเสียหาย คุณก็มีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือซ่อมแซม และนั่นเป็นหน้าที่ของพวกเรา ตอนนี้ คุณจำตอนต้นของการบรรยายนี้ได้ไหม ผมบอกว่าผมต้องการอธิบายว่า วิกฤติการณ์ผู้ลี้ภัย สามารถจัดการได้ ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้ จริงอยู่ ผมต้องการให้คุณคิดใหม่ แต่ก็อยากให้คุณลงมือทำด้วย หากคุณเป็นนายจ้าง รับผู้ลี้ภัยเข้าทำงาน หากคุณโดนโน้มน้าวจากการโต้เถียง อธิบายชี้แจงความเชื่อเก่า ๆ นั้น ให้ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงาน เมื่อพวกเขากล่าวถึงมัน หากคุณมีเงิน บริจาคให้กับองค์กร ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้ลี้ภัยทั่วโลก หากคุณเป็นพลเมือง ให้คะแนนเสียงกับนักการเมือง ที่จะนำแนวทางการแก้ปัญหาที่ผมพูดถึง มาปฏิบัติให้เกิดผลจริง (เสียงปรบมือ) หน้าที่ที่เรามีต่อคนที่ไม่รู้จัก แสดงตัวตนของมันออกมา ในแบบที่ไม่เอิกเริกแต่ยิ่งใหญ่ เรียบง่ายแต่น่าเชิดชู ในปี ค.ศ. 1942 คุณป้าและคุณยายของผม อาศัยอยู่ในกรุงบรัสเซล ภายใต้การปกครองของเยอรมัน ท่านได้รับคำสั่งจากกองกำลังนาซี ให้ไปรวมตัวกันที่สถานีรถไฟบรัสเซล คุณยายของผมฉุกคิดขึ้นว่า ต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากล ท่านร้องขอญาติ ๆ ไม่ให้ไปที่สถานีรถไฟบรัสเซล ญาติของท่านบอกว่า "ถ้าหากเราไม่ไป หากเราไม่ทำตามคำสั่ง เราก็ต้องเดือดร้อนแน่" คุณคงรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น กับบรรดาญาติที่เดินทาง ไปที่สถานีรถไฟบรัสเซล พวกเขาไม่ได้เจอกันอีกเลย แต่คุณยายและป้าของผม พวกท่านไปยังหมู่บ้านเล็ก ๆ ตอนใต้ของบรัสเซล ที่ซึ่งพวกเขาเคยไปพักผ่อนเมื่อสิบปีที่แล้ว พวกเขาไปที่บ้านของชาวนาคาธอลิก ในพื้นที่คนหนึ่ง ชื่อ เมอซิเออร์ มัวริส และขอร้องให้เขารับพวกท่านไว้ ชาวนาคนนั้นตกลง และเมื่อสงครามสิ้นสุด ชาวยิว 17 คน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น ตอนที่ผมเป็นวัยรุ่น ผมขอป้าของผมว่า "ป้าพาผมไปพบกับ เมอซิเออร์ มัวริส ได้ไหม" ท่านตอบว่า "ได้สิ เขายังมีชีวิตอยู่ ไปเยี่ยมเขากัน" มันคงเป็นช่วงราว ๆ ยุค 83 หรือ 84 เราเดินทางไปพบเขา และตามประสาเด็กวัยรุ่น เมื่อผมพบเขา สุภาพบุรุษผมสีดอกเลาคนนั้น ผมพูดกับเขาว่า "ทำไมคุณถึงทำแบบนั้นล่ะ ทำไมคุณถึงยอมเสี่ยง" เขามองผมแล้วก็ยักไหล่ และตอบเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "On doit" "เราต้องทำ" มันอยู่ในจิตวิญญาณของเขา มันเป็นไปตามธรรมชาติ ประเด็นที่ผมอยากจะบอกก็คือ มันควร เป็นธรรมชาติและจิตวิญญาณของเราเช่นกัน บอกตัวเองครับ วิกฤติผู้ลี้ภัยนี้จัดการได้ ไม่ใช่เรื่องที่เเก้ไขไม่ได้ เราทุก ๆ คน มีส่วนต้องช่วยรับผิดชอบ เพราะนี่คือการกู้ตัวตนและคุณค่าของเรา เช่นเดียวกับการกู้ชีวิตของเหล่าผู้ลี้ภัย ขอบคุณมากครับ (เสียงปรบมือ) บรูโน กิอัสซานิ: ขอบคุณครับ เดวิด เดวิด มิลิแบนด์: ขอบคุณครับ บรูโน: เป็นคำแนะนำที่หนักแน่นมากครับ การเรียกร้องให้ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ ก็หนักแน่นมาก ๆ เช่นกัน แต่ผมรู้สึกไม่สบายใจกับแนวคิดหนึ่ง จากคำพูดของคุณที่ว่า "ความเป็นผู้นำ ที่ไม่ธรรมดาของชาวโลกตะวันตก" ซึ่งเมื่อประมาณ 60 กว่าปีก่อน นำมาซึ่งการสนทนาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ฯลฯ ความเป็นผู้นำนั้น เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ร้าย และเกิดขึ้นในกรอบการตกลงทางการเมือง ตอนนี้เรามีความเห็นทางการเมือง ที่แตกต่างกัน เรามีความคิดที่ต่างกันมาก ในเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัย ทีนี้ ความเป็นผู้นำในปัจจุบันควรมาจากไหน เดวิด: ครับ คุณมีสิทธิ์ที่จะพูดว่า ความเป็นผู้นำที่ก่อกำเนิดขึ้นในยามสงคราม มีอารมณ์ จังหวะจะโคน และทัศนคติ ที่ต่างไปจากความเป็นผู้นำ ที่ก่อกำเนิดขึ้นในยามสันติ ฉะนั้น คำตอบของผมก็คือ ความเป็นผู้นำต้องมาจากระดับพื้นฐาน ไม่ใช่จากส่วนบน ผมต้องการบอกว่า หัวข้อหลัก ๆ ในงานสัมนาสัปดาห์นี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำให้อำนาจ มีความเป็นประชาธิปไตย เราก็ต้องรักษา ความเป็นประชาธิปไตยของเรา แต่เราก็ต้องนำความเป็น ประชาธิปไตยของเราออกมาใช้งาน และเมื่อคนพูดกับผมว่า "มีคนที่ต่อต้านแนวคิดเรื่องผู้ลี้ภัย" สิ่งที่ผมตอบกลับไปหาก็คือ "ไม่ครับ นั่นเป็นขั้วความเห็น และในตอนนี้ ผู้ที่หวาดกลัวกำลังเสียงดัง กว่าคนที่เห็นด้วย" ฉะนั้นคำตอบของผมก็คือ เราจะสนับสนุน กระตุ้น และให้ความมั่นใจกับความเป็นผู้นำ เมื่อเราเดินหน้าไปด้วยกัน ผมคิดว่าเมื่อคุณมีหน้าที่ มองหาความเป็นผู้นำ คุณต้องมองลึกลงไปข้างใน ผลักดันคนในสังคมของคุณ เพื่อพยายามสร้างเงื่อนไข เพื่อการลงหลักปักฐานในหลาย ๆ รูปแบบ บรูโน: ขอบคุณครับ เดวิด ขอบคุณที่มาที่ TED นะครับ (เสียงปรบมือ)