ผมเป็นประสาทศัลยแพทย์ และผมมาในวันนี้เพื่อบอกคุณว่า คนอย่างผมต้องการให้คุณช่วย อีกสักครู่ ผมจะบอกว่าต้องทำอย่างไร แต่อย่างแรก ผมขอเริ่มด้วยการบอกคุณ เกี่ยวกับคนไข้ของผมคนหนึ่ง เธอเป็นหญิงอายุราว ๆ 50 ปี โดยทั่วไปเธอมีรูปร่างที่ดี แต่เธอเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาล มาสองสามครั้งแล้ว เพื่อรับการรักษามะเร็งเต้านม ขณะนั้นเธอมีอาการปลิ้นของหมอนรองกระดูกคอ ทำให้เธอมีอาการปวดร้าวกระจาย ไปที่แขนขวา เมื่อดูผลการตรวจ MRI ก่อนที่จะให้คำปรึกษา ผมตัดสินใจเสนอให้ผ่าตัด ในปัจจุบัน การผ่าตัดที่คอในลักษณะนี้ ได้มาตรฐานและรวดเร็ว แต่ก็มีความเสี่ยง คุณเจาะเข้าไปตรงนี้ ผ่าเข้าไปอย่างระมัดระวังผ่านหลอดลม หลอดอาหาร และพยายามไม่ตัดโดน หลอดเลือดแดงหลักของคอด้านใน (เสียงหัวเราะ) จากนั้นก็เอากล้องจุลทรรศน์ส่องเข้าไป และนำหมอนรองกระดูกและส่วนที่ปลิ้นออก อย่างระมัดระวัง ในช่องทางเส้นประสาท โดยไม่ทำให้ไขสันหลัง และเส้นประสาทเสียหาย ซึ่งอยู่ข้างใต้แค่เพียงไม่กี่มิลลิเมตร กรณีที่เลวร้ายที่สุด คือ ไขสันหลังได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจทำให้เป็นอัมพาตจากคอลงมา เมื่ออธิบายเรื่องนี้กับคนไข้ เธอนิ่งเงียบไป และหลังจากนั้นครู่หนึ่ง เธอก็พูดคำที่ชี้ขาดอย่างยิ่ง สำหรับผมและเธอ "คุณหมอคะ นี่จำเป็นจริง ๆ หรือคะ?" (เสียงหัวเราะ) และคุณรู้ไหมว่าผมตระหนักได้ถึงอะไร ณ ตรงนั้น ตอนนั้น มันไม่จำเป็น นั้นทำให้เมื่อผมได้คนไข้ ที่เหมือนผู้หญิงคนนี้มา ผมมีแนวโน้มแนะนำให้ไม่ผ่าตัด ดังนั้น อะไรทำให้ผมตอบเช่นนี้ในตอนนั้น? ครับ คุณก็เห็น ส่วนที่ปลิ้นออกมานี้นำออกง่ายมาก ผมสามารถมองเห็นตัวเอง ดึงมันออกมาจากช่องผ่านเส้นประสาท ก่อนที่เธอจะเข้ามาในห้องตรวจเสียอีก ผมต้องยอมรับ ผมอยากผ่าตัดเธอ ผมรักการผ่าตัด การผ่าตัด ไม่ว่าจะยังไง มันก็เป็นส่วนที่สนุกที่สุดในงานของผม (เสียงหัวเราะ) ผมคิดว่าคุณเข้าใจความรู้สึกนี้นะ เพื่อนบ้านของผมที่เป็นสถาปนิกบอกว่า เขารักที่จะแค่นั่งวาดรูปเฉย ๆ และออกแบบบ้าน เขาชอบทำแบบนั้นทั้งวัน มากกว่าพูดคุยกับลูกค้า ที่จ่ายเงินสำหรับบ้านหลังนั้น ซึ่งลูกค้าอาจจะบอกเขาให้จำกัดในสิ่งที่จะทำ ก็เหมือนกับสถาปนิก ศัลยแพทย์ต้องมองเข้าไปในดวงตาของผู้ป่วย และพร้อมกับผู้ป่วย ทั้งสองต้องตัดสินใจว่าอะไรดีที่สุด สำหรับผู้ป่วยที่จะได้รับการผ่าตัด นั่นอาจจะฟังดูง่าย แต่ขอให้มาดูสถิติบางอย่างกัน ต่อมทอลซิลเป็นก้อนนูน อยู่ในด้านหลังของคอ มันสามารถผ่าตัดนำออกไปได้ และนั่นเรียกกันว่า การตัดต่อมทอนซิล แผนภูมินี้แสดงอัตราการตัดต่อมทอนซิล ในประเทศนอร์เวย์ ในเขตต่าง ๆ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีโอกาสแค่ 2 ครั้ง ที่ลูกของคุณ เพราะว่านี่เป็นเรื่องของเด็กนะ จะได้ผ่าตัดต่อมทอนซิลในเขตฟินน์มาร์ก มากกว่าในเขตทรอนด์เฮม ตัวชี้วัดในทั้งสองเขตนั้นเหมือนกัน มันควรจะไม่มีความแตกต่างกัน แต่มันมีครับ นี่เป็นอีกแผนภูมิหนึ่ง หมอนรองกระดูกช่วยทำให้เข่ามั่นคง แต่มันอาจฉีกหรือขาดเป็นชิ้น ๆ อย่างรุนแรงได้ โดยอย่างยิ่งขณะเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล ที่คุณเห็นตรงนี้เป็นอัตราการผ่าตัด สำหรับอาการนี้ และคุณก็เห็นว่าอัตราการผ่าตัดใน เขตเมอร์อุกรุมสดาล เป็น 5 เท่า ของการผ่าตัดในเขตสตาวังเงร์ 5 เท่า เป็นไปได้อย่างไรครับ? นักฟุตบอลในเขตเมอร์อุกรุมสดาล เล่นสกปรกกว่าที่อื่น ๆ ในประเทศหรือ? (เสียงหัวเราะ) ไม่น่าจะใช่ ตอนนี้ผมได้เพิ่มข้อมูลแล้ว สิ่งที่คุณเห็นอยู่ตอนนี้ คือ กระบวนการที่เกิดขึ้น ในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเป็นสีฟ้าอ่อน คลินิกเอกชนเป็นสีเขียวอ่อน มีกระบวนการนี้เกิดขึ้นมากในคลินิกเอกชน ในเขตเมอร์อุกรุมสดาล ใช่ไหมครับ? เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงอะไร? แรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ ในการรักษาผู้ป่วย ยังมีมากกว่านี้อีก การวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่า ความแตกต่างของผลการรักษา ระหว่างการบำบัดทางกายภาพอย่างสม่ำเสมอ และการผ่าตัดหัวเข่า ไม่แตกต่างกันเลย หมายความว่ากระบวนการที่เกิดขึ้น บนแผนภูมิที่เพิ่งแสดงให้ดูนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้กระทั่งในเขตสตาวังเงร์ ดังนั้น สิ่งที่ผมกำลังพยายามบอกคุณ ตรงนี้คืออะไร? ถึงแม้ว่าตัวบ่งชี้ส่วนใหญ่ สำหรับการรักษาในโลกนั้น ได้มาตรฐาน ยังมีตัวแปรที่ไม่จำเป็นต่อการตัดสินใจ ในการรักษาอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตก บางคนไม่ได้รับการรักษา ตามที่พวกเขาควรจะได้ แต่พวกคุณส่วนใหญ่แล้ว กลับได้รับการรักษาที่มากเกินไป "คุณหมอ นี่มันจำเป็นจริง ๆ หรือ?" ผมเคยได้ยินคำถามนั้นแค่ครั้งเดียว ในอาชีพของผม เพื่อนร่วมงานของผมบอกว่า พวกเขาไม่เคยได้ยินคำนี้จากผู้ป่วยเลย และในทางกลับกัน คุณคิดว่า คุณจะได้คำตอบ "ไม่จำเป็น" จากแพทย์บ่อยมากขนาดไหน ถ้าคุณถามคำถามแบบนี้? นักวิจัยได้ตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว และพวกเขาก็ได้ผลที่เท่า ๆ ออกมาว่า อัตราคำตอบ "ไม่จำเป็น" ไม่ว่าพวกเขาจะไปที่ไหน นั้นคือ 30 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า 3 ใน 10 ครั้งนั้น แพทย์ของคุณจะสั่งยาหรือแนะนำบางอย่าง ที่ไม่จำเป็นเลย และคุณรู้ไหมว่าพวกเขาอ้างเหตุผลอะไร? แรงกดดันจากผู้ป่วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คุณ คุณต้องการให้ทำอะไรสักอย่าง เพื่อนผมคนหนึ่งมาหาผม เพื่อขอคำแนะนำทางแพทย์ เขาเป็นนักกีฬา เขาเล่นสกีข้ามประเทศมามาก ในช่วงฤดูหนาว เขาวิ่งในฤดูร้อน และครั้งนี้ เขามีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง เมื่อไรก็ตามที่เขาวิ่งออกกำลังกาย มันปวดมากจนเขาต้องหยุดวิ่ง ผมได้ทำการตรวจ ผมถามเขาอย่างละเอียด และสิ่งที่พบก็คือ เขาน่าจะเป็น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ตรงส่วนล่างของกระดูกสันหลัง เมื่อใดก็ตามที่มันตึง มันจะเจ็บ เขาได้ลองไปว่ายน้ำ แทนการวิ่งออกกำลังกายแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรอย่างอื่นทำได้อีก ผมจึงบอกเขาไปว่า "คุณต้องรู้จักตัวเลือกให้มากขึ้น เมื่อมันเกี่ยวกับการฝึก กิจกรรมบางอย่างดีสำหรับคุณ แต่บางอย่างก็ไม่" คำตอบของเขาคือ “ผมอยากตรวจ MRI ดูที่หลังของผม” "ทำไมคุณถึงอยากตรวจ MRI ล่ะ?” “ผมสามารถทำได้ฟรี เพราะมีประกันจากที่ทำงาน” "ไม่เอาหน่า" ผมบอก ถึงอย่างไรก็เขาเป็นเพื่อนผม "นั่นไม่ใช่เหตุผลจริง ๆ สักหน่อย" "คือ ผมคิดว่ามันน่าจะดี ที่เห็นว่าตรงนั้นมันแย่ขนาดไหน" "คุณเริ่มคิดไปถึงการตวรจ MRI ตั้งแต่เมื่อไร?" ผมบอก (เสียงหัวเราะ) "เชื่อผมเถอะ คุณไม่จำเป็นต้องตรวจ MRI หรอก" "ถ้างั้น" เขาบอก และหลังจากนั้นครู่หนึ่ง เขาก็พูดต่อว่า "มันอาจจะเป็นมะเร็งก็ได้ไง" (เสียงหัวเราะ) ก็แน่นอนครับ เขาได้ตรวจ MRI และด้วยประกันจากที่ทำงาน เขาก็ได้ไปพบกับเพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่ง ซึ่งบอกเขาเกี่ยวกับ โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม และบอกว่าทำอะไรกับมันไม่ได้ นอกจากเขาควรจะว่ายน้ำต่อไป และเลิกวิ่งออกกำลังกายเสีย หลังจากนั้นไม่นานนัก ผมพบเขาอีกครั้ง และเขาก็บอกว่า "อย่างน้อยตอนนี้ ผมก็รู้แล้วว่ามันคืออะไร" แต่ผมขอถามคุณสักหน่อย จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทุกคนในห้องนี้ ที่มีอาการแบบเดียวกัน ได้รับการตรวจ MRI? และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าทุกคนในนอร์เวย์ ได้รับการตรวจ MRI เพราะอาการปวดหลังเป็นครั้งคราว? คิวที่รอตรวจ MRI ก็จะยาวขึ้น เป็น 4 เท่า หรืออาจมากกว่านั้น และคุณก็จะไปแย่งที่ในคิวนั้น ไปจากคนที่เป็นมะเร็งจริง ๆ ดังนั้นบางครั้งแพทย์ที่ดีก็อาจบอกปฏิเสธได้ แต่คนไข้ที่มีเหตุผลบางครั้งก็ปฏิเสธ โอกาสที่จะได้รับการตรวจวินิจฉัย หรือการรักษาด้วยเหมือนกัน "คุณหมอ นี่มันจำเป็นจริง ๆ หรือ?" ผมรู้ว่าคำถามนี้ อาจเป็นคำถามที่ยากที่จะถาม ที่จริงถ้าคุณกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน คำถามนี้ถือว่าหยาบคายมากเลยนะ (เสียงหัวเราะ) หากแพทย์ได้ตัดสินใจไปแล้ว ว่าจะทำอย่างไรกับคุณ นั่นก็เพราะคุณนั่นแหละ เพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่ง ที่ตอนนี้เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เคยถูกส่งไปสถานพักฟื้นผู้ป่วยวัณโรค ในขณะที่เธอยังเป็นเด็ก นานถึง 6 เดือน มันเป็นบาดแผลที่เลวร้ายสำหรับเธอ ภายหลังเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เธอกลับพบว่า การทดสอบวัณโรคของเธอนั้น มีผลเป็นลบมาตลอด แพทย์ได้ส่งเธอไปที่นั่นโดยไม่มีสาเหตุใด ๆ เลย นอกจากความสงสัยที่ผิด ๆ ไม่มีใครกล้า หรือกระทั่งคิด เผชิญหน้ากับแพทย์ในเรื่องนี้ แม้กระทั่งผู้ปกครองของเธอ ในปัจจุบัน รัฐมนตรีสาธารณสุขนอร์เวย์ พูดถึงการบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วย ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เกี่ยวกับสิ่งที่ควรจะทำ นี่เป็นความก้าวหน้าที่ใหญ่ยิ่ง แต่มันก็นำความรับผิดชอบมาให้ท่านมากขึ้น คุณจำเป็นต้องอยู่แถวหน้ากับแพทย์ของคุณ และเริ่มต้นช่วยกันตัดสินใจว่าจะไปทางไหน ดังนั้น ครั้งหน้าที่คุณ อยู่ในห้องตรวจกับแพทย์ ผมอยากให้คุณถามว่า "คุณหมอ นี่มันจำเป็นจริง ๆ หรือ?" และในกรณีผู้ป่วยหญิงของผม คำตอบก็คือ ไม่จำเป็น แต่ควรมีเหตุที่สมควรแก่การผ่าตัด "ถ้างั้นคุณหมอ การผ่าตัด มีความเสี่ยงอะไรที่พ่วงมาด้วย?” คือ 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย จะมีอาการเจ็บปวดที่เลวร้ายยิ่งขึ้น 1 ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย จะมีการติดเชื้อที่แผล หรืออาจมีการตกเลือดอีกครั้ง ซึ่งทำให้ต้องมีการผ่าตัดอีกครั้ง 0.5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย จะประสบกับเสียงแหบอย่างถาวรอีกด้วย และคนไม่กี่คน แต่ถึงแม้จะไม่กี่คน ก็จะประสบกับประสิทธิภาพของแขนหรือขาที่ลดลง “คุณหมอ ถ้างั้นมีทางเลือกอื่นอีกไหม?” มีครับ การพักผ่อนและการกายภาพบำบัดทาง สักระยะหนึ่ง อาจทำให้คุณหายได้อย่างสมบูรณ์ “และจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฉันไม่ทำอะไรเลย?” ผมไม่แนะนำนะครับ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีโอกาสอีกเล็กน้อย ที่คุณจะหายป่วย 4 คำถาม คำถามง่าย ๆ ถือว่าเป็นเครื่องมือใหม่ที่ช่วยคุณ นี่มันจำเป็นจริง ๆ หรือ? มีความเสี่ยงอะไรบ้าง? มีทางเลือกอื่นไหม? จะเกิดอะไร ถ้าฉันไม่ทำอะไรเลย? ถามคำถามเหล่านี้ เมื่อแพทย์ของคุณ อยากส่งคุณไปตรวจ MRI เมื่อเขาสั่งยาปฏิชีวนะ หรือแนะนำให้ผ่าตัด สิ่งที่เรารู้จากงานวิจัย คือ 1 ใน 5 ของคุณ หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ จะเปลี่ยนแปลงความคิดว่าควรจะทำอะไร และเมื่อทำสิ่งนั้น คุณจะไม่เพียงแค่ทำให้ชีวิตของคุณ ง่ายขึ้นมาก หรืออาจดีขึ้นด้วยซ้ำ แต่จะทำให้ภาคส่วนของการดูแลสุขภาพทั้งหมดนั้น ได้รับประโยชน์จากการตัดสินใจของคุณด้วย ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)