ผมเป็นแพทย์เฉพาะทาง ด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และวันนี้ ผมอยากจะคุยกับคุณ เกี่ยวกับระบบการบริบาลสุขภาพ ผมอยากจะคุยกับคุณ เกี่ยวกับระบบการบริบาลและสุขภาพ ของประชากรกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ในประเทศของเรา กลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ ที่ซับซ้อนและร้ายแรงที่สุด ผมอยากจะคุยกับคุณ เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจด้วยครับ และความทับซ้อนของสองเรื่องนี้ ที่ควรจะทำให้คุณกลัวมาก ๆ มันทำให้ผมกลัวโคตรกลัวเลยครับ และผมอยากจะคุยถึงเรื่อง การรักษาแบบประคับประคอง ขอบข่ายการบริบาลสำหรับประชากรกลุ่มนี้ บนรากฐานของคุณค่าที่พวกเขายึดถือ การดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยถือคุณค่าของพวกเขาเป็นรากฐาน ที่ช่วยให้ประชากรกลุ่มนี้ มีชีวิตที่ดีขึ้นและยาวนานขึ้น เป็นระบบการบริบาลที่พูดความจริง ให้ความสนใจแบบปัจเจกบุคคล และเข้าถึงคนไข้ในแบบที่พวกเขาต้องการ ผมอยากเริ่มด้วยการเล่าเรื่อง คนไข้คนแรกสุดของผม วันนั้นเป็นวันแรก ที่ผมทำงานเป็นหมอ ใส่เสื้อกาวน์ยาวสีขาว ผมเดินงง ๆ เข้าไปในโรงพยาบาล ตอนนั้นเองที่คุณผู้ชายคนหนึ่ง แฮโรลด์ อายุ 68 ปี มาที่แผนกฉุกเฉิน เขามีอาการปวดหัวมา 6 อาทิตย์ และอาการปวดก็แย่ลง แย่ลง แย่ลงเรื่อย ๆ ผลการตรวจพบว่า เขาเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายไปสมอง แพทย์เจ้าของไข้ ให้ผมไปพบกับแฮโรลด์และครอบครัว เพื่อแจ้งผลการวินิจฉัย การพยากรณ์โรค และทางเลือกในการรักษา ห้าชั่วโมงหลังจากได้เริ่มงานใหม่ ผมทำเพียงสิ่งเดียวที่รู้ว่าทำอย่างไร ผมเดินเข้าไป นั่งลง จับมือของแฮโรลด์ และภรรยาของเขา และ หายใจ เขาพูดขึ้นว่า "ข่าวร้ายใช่มั้ยหมอ" ผมตอบว่า "ไม่ดีครับ" เราได้พูดคุย รับฟัง และแบ่งปันประสบการณ์ที่เรามี สักพักนึง ผมเลยพูดว่า "แฮโรลด์ มีอะไร ที่มีความหมายกับคุณบ้างครับ" "อะไรที่คุณรู้สึกว่าเป็นสิ่งสำคัญ" เขาตอบผมว่า "ครอบครัวของผม" ผมถามเขาว่า "แล้วคุณอยากทำอะไรครับ" เขาตบเข่าผม ตอบว่า "ผมอยากไปตกปลา" ผมบอกว่า "เรื่องนั้น ผมจัดให้ได้ครับ" แฮโรลด์ได้ไปตกปลาในวันต่อมา เขาเสียชีวิตในอีกอาทิตย์ถัดมา ในตอนที่ผมเรียนแพทย์ไปจนจบนั้น ผมคิดย้อนไปถึงแฮโรลด์ และผมคิดว่า นั่นเป็นการพูดคุย ที่เกิดขึ้นได้น้อยครั้งเกินไปครับ เป็นบทสนทนาที่พาเราเข้าสู่วิกฤต เข้าสู่ภาวะคุกคามที่ร้ายแรงที่สุด สู่วิถีชีวิตของชาวอเมริกันทุกวันนี้ นั่นคือ ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ เรารู้อะไรบ้างครับ เรารู้ว่า ประชากรกลุ่มนี้ กลุ่มที่ป่วยหนักที่สุด ใช้เงินมากถึง 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ คนป่วยที่สุด 15% ใช้เงิน 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม หากเราคาดการณ์เรื่องนี้ ไปอีกสองทศวรรษหน้า ร่วมกับการแก่ตัวของคนยุคเบบี้บูม ด้วยอัตราเร็วขนาดนี้ จะคิดเป็น 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ใช้จ่าย 60% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวม ของสหรัฐอเมริกา ถึงตอนนั้น คงส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย ต่อระบบบริบาลสุขภาพ แต่จะไปส่งผลกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัย ส่งผลกับทุกอย่างที่มีคุณค่ากับเรา และทุกอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน สิ่งนี้มีเดิมพันเป็นระบบเศรษฐกิจ แบบตลาดเสรีและระบบทุนนิยม ของสหรัฐอเมริกา เรามาลืมเรื่องสถิติและตัวเลขกัน สักแป๊ปนึงนะครับ เรามาคุยกันถึงความคุ้มค่า ที่เราได้จากการใช้จ่ายแต่ละดอลลาร์ ผลการศึกษาของ สถาบันการแพทย์ Darthmouth Atlas เมื่อประมาณ 6 ปีก่อน ศึกษาทุก ๆ ดอลลาร์ที่ใช้จ่าย ในระบบประกันสุขภาพ ของประชากรกลุ่มนี้ เราพบว่าผู้ป่วย ที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงที่สุด มีความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวด และเป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุด และส่วนใหญ่จะเสียชีวิตเร็วกว่า เป็นไปได้อย่างไรครับ เราอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีระบบบริบาลสุขภาพ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก เราใช้จ่ายเงินมากเป็น 10 เท่า กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ มากกว่าประเทศ ที่เป็นผู้นำอันดับสองในโลก มันไร้เหตุผลนะครับ แต่สิ่งที่เรารู้คือ จากประเทศชั้นนำ 50 ประเทศในโลก ที่มีระบบจัดการการบริบาลสุขภาพ เราอยู่อันดับที่ 37 กลุ่มอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก และกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ ของทะเลทรายซาฮาร่า ต่างก็อยู่อันดับที่ดีกว่าเรา ทั้งในด้านคุณภาพและความคุ้มค่า มีสิ่งที่ผมสัมผัสได้ จากการทำงานของผมในทุก ๆ วัน และผมมั่นใจว่า คุณหลายคน คงก็เคยสัมผัสจากชีวิตของคุณ การทำมาก ไม่ได้แปลว่า ได้ผลมาก คนไข้ที่ได้รับการตรวจที่มากกว่า การตรวจที่ไม่จำเป็น ได้รับยาคีโมมากกว่า ผ่าตัดมากกว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่มากกว่า ยิ่งเราทำอะไรกับชีวิตคนไข้มากขึ้น คุณภาพชีวิตของเขาจะยิ่งลดลง บ่อยครั้ง ก็ทำให้ชีวิตสั้นลงด้วย เราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี เราจะทำอะไรกับเรื่องนี้ และจะทำไปทำไม ความจริงที่โหดร้าย ทุกท่านครับ คือเรา อุตสาหกรรมการบริบาลด้านสุขภาพ แพทย์ในเสื้อกาวน์ยาวสีขาว ขโมยจากคุณ ขโมยโอกาสจากคุณ โอกาสที่คุณจะเลือกการใช้ชีวิต ในแบบที่เหมาะกับความเจ็บป่วยของคุณ เราจดจ่ออยู่กับตัวโรค ผลชิ้นเนื้อ การผ่าตัด และการใช้ยา เราละเลยความเป็นมนุษย์ เราจะรักษา "โรค" ได้อย่างไร โดยที่ไม่เข้าใจ "ความเป็นมนุษย์" เราจะรักษา "โรค" ได้ เราต้องรักษา "ความเป็นมนุษย์" ครับ จุดมุ่งหมายสามอย่าง ของการบริบาลทางสุขภาพ หนึ่ง พัฒนาประสบการณ์ของผู้ป่วย ที่มีกับการรักษาและโรงพยาบาล สอง สร้างเสริมสุขภาพของประชากร สาม ลดค่าใช้จ่ายต่อหัวในผู้ป่วยทุกกลุ่ม กลุ่มการรักษาแบบประคับประคองของเรา ในปี ค.ศ. 2012 เราได้ทำงานกับ คนที่เจ็บป่วยที่หนักที่สุด ของที่สุด ทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต ความจำเสื่อม เราจะพัฒนาประสบการณ์ของผู้ป่วย ที่มีกับการรักษาและโรงพยาบาลอย่างไรครับ "หมอ ฉันอยากกลับบ้าน" "ได้ครับ เราจะรักษาคุณที่บ้านครับ" ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อเราตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ ข้อสอง สุขภาพของประชากร เรามองประชากรกลุ่มนี้ต่างกัน ข้องเกี่ยวกับเขาในระดับที่ต่างกัน ในระดับความรู้สึกที่ลึกลงไป เราจะเข้าใจสภาวะของมนุษย์ ที่นอกเหนือจากตัวเราให้มากขึ้นได้อย่างไร เราดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างไร ให้ผู้ป่วยนอกจำนวน 94% ของเรา ไม่ต้องไปโรงพยาบาลเลย ในปี ค.ศ. 2012 ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาไปไม่ได้ แต่พวกเขาไม่จำเป็นต้องไป เราให้การรักษาพวกเขาถึงที่ เรารักษาคุณค่าและคุณภาพชีวิต ของพวกเขาให้อยู่ในระดับเดิม ข้อสาม รายจ่ายต่อหัว สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ณ ปัจจุบัน คือ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ และใน 20 ปีข้างหน้า จะเป็น 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม เราลดค่าใช้จ่าย ทางการแพทย์ต่อหัวได้เกือบ 70% พวกเขาได้สิ่งที่ต้องการมากขึ้น และเป็นสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่ามีคุณค่า มีชีวิตที่ดีขึ้นและนานขึ้น โดยใช้จ่ายน้อยลง ถึงสองในสาม ในขณะที่แฮโรลด์มีเวลาจำกัด การรักษาแบบประคับประคอง ไม่จำกัดเวลา การรักษาแบบประคับประครอง เริ่มต้นตั้งแต่การวินิจฉัยโรคไปจนสิ้นสุดชีวิต นานเป็นชั่วโมง เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เป็นปี นานไปเรื่อยๆ จะมีการรักษา หรือไม่มีการรักษาก็ตาม นี่คือ คริสทีน ครับ เธอเป็นมะเร็งปากมดลูก ระยะที่ 3 มะเร็งได้แพร่กระจาย จากบริเวณปากมดลูกของเธอ ไปทั่วร่างกาย เธออายุ 50 ปีกว่าๆ และยังคง "ใช้ชีวิต" นี่ไม่ใช่เรื่องการสิ้นสุดของชีวิตครับ แต่เป็นเรื่องของชีวิต ไม่ใช่เพียงเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน นี่คือ ริชาร์ด ครับ เขาเป็นมะเร็งปอด ระยะสุดท้าย "ริชาร์ด อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับคุณครับ" "ลูก ๆ ของผม ภรรยา แล้วก็มอเตอร์ไซค์ฮาร์ลีย์" (เสียงหัวเราะ) "ครับผม ผมคงพาคุณขับมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ เพราะแค่ปั่นจักรยานผมก็แย่แล้ว แต่มาลองดูว่า เราจะทำอะไรได้บ้างนะครับ" ริชาร์ดมาหาผม และเขาดูไม่ดีเท่าไหร่ เขาพอรู้ตัวว่า เวลาของเขา คงเหลือเพียงไม่กี่อาทิตย์ ไม่กี่เดือน และเราก็คุยกันครับ ผมได้ยิน และพยายามที่จะฟัง -- มันแตกต่างกันมากนะครับ เราต้องใช้หูมากกว่าใช้ปาก ผมบอกว่า ดีครับ ค่อยเป็นค่อยไป วันต่อวันนะครับ เหมือนที่เราทำในทุกบททุกตอนของชีวิต เรารับการตัดสินใจของริชาร์ดได้ ที่จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปในแต่ละวัน และโทรศัพท์หากัน ทุกอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ แต่ริชาร์ดก็ใช้ชีวิตได้อย่างดี สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ปัจจุบัน การรักษาแบบประคับประคอง ไม่ใช่สำหรับผู้งสูงอายุเท่านั้นครับ ไม่ใช่สำหรับวัยกลางคน แต่สำหรับทุกคน เชิญพบกับเพื่อนของผม โจนาธานครับ เราได้รับเกียรติ และยินดีมาก ที่โจนาธานและคุณพ่อ มาอยู่กับเราในงานวันนี้ โจนาธานอายุประมาณ 20 กว่าปีครับ ผมได้พบเขาเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เขากำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งอัณฑะ ระยะแพร่กระจาย แพร่ไปที่สมอง เขามีภาวะเส้นเลือดอุดตันในสมอง ได้รับการผ่าตัดสมอง ฉายแสง รับยาเคมีบำบัด ตอนที่ผมได้พบเขาและครอบครัว เขากำลังจะได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก ในอีกไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้า และตอนที่ผมได้พูดคุยและรับฟัง ครอบครัวของเขาบอกผมว่า "ช่วยให้เราเข้าใจหน่อยว่ามะเร็งคืออะไร" เรามาไกลขนาดนี้ได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ไม่เข้าใจ ว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับอะไร เรามาไกลขนาดนี้ได้อย่างไร โดยที่ไม่ให้เขาเข้าใจ ว่าสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่คืออะไร แล้วค่อยตัดสินใจเดินหน้าต่อ และปฏิบัติต่อเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์ เพื่อให้รู้ว่าเราสมควรจะทำอะไร พระเจ้าทรงทราบ ว่าเราจะทำอะไรกับคุณก็ได้ แต่ว่า เราควรจะทำหรือเปล่า ไม่ต้องเชื่อที่ผมพูดก็ได้ครับ ทุกวันนี้ หลักฐานทั้งหมดเกี่ยวกับ การดูแลรักษาแบบประคับประคอง แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วย มีชีวิตที่ดีขึ้นและยาวนานขึ้น มีบทความจากการประชุม ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ในปี ค.ศ. 2010 เป็นการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเพื่อนและผู้ร่วมงานของผม เกี่ยวกับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย กลุ่มหนึ่งได้รับการดูแลแบบประคับประคอง และอีกกลุ่มที่เหมือนกัน แต่ไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง กลุ่มที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง รายงานถึงอาการปวดที่น้อยกว่า มีภาวะซึมเศร้าน้อยกว่า พวกเขาเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาลน้อยครั้งกว่า และทุกท่านครับ พวกเขา มีชีวิตนานกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง สามถึงหกเดือน ถ้าหากการรักษาแบบประคับประคอง คือยารักษาโรคมะเร็ง แพทย์รักษาโรคมะเร็งทุกคนในโลกนี้ จะสั่งจ่ายมัน ทำไมถึงจะไม่สั่งล่ะครับ ครับ เพราะว่าพวกเรา หมอเด๋อด๋า ในเสื้อกาวน์ยาวสีขาว ได้เรียนรู้และฝึกให้รับมือกับตัวโรค แต่ไม่ใช่กับความเป็นมนุษย์ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเจอครับ ในจุดหนึ่งของชีวิต การพูดคุยวันนี้ ไม่ใช่เรื่องความตายครับ แต่เป็นเรื่องของการมีชีวิต ชีวิตที่ตั้งอยู่บนสิ่งที่เราให้คุณค่า สิ่งที่สำคัญสำหรับเรา และเราอยากจะเขียน แต่ละบทแต่ละตอน ในช่วงชีวิตของเราอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นบทสุดท้าย หรือห้าบทสุดท้าย สิ่งที่เรารู้นะครับ สิ่งที่เราได้พิสูจน์ คือการพูดคุยเช่นนี้ จำเป็นต้องเกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่อาทิตย์หน้า ไม่ใช่ปีหน้า ชีวิตของเราในวันนี้ มีเดิมพันเป็นอะไรบ้างครับ และชีวิตของเรา เมื่อเราแก่ตัวลง ชีวิตของลูกของเรา และหลานของเรา ไม่ใช่ที่ห้องในโรงพยาบาล หรือบนโซฟาที่บ้าน แต่ทุกที่ที่เราไป ทุกอย่างที่เราได้พบเจอ การแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือคำตอบที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ที่เปลี่ยนแปลงการเดินทาง ที่เราทุกคนจะต้องเจอ และเปลี่ยนมันให้ดีขึ้น ถึงเพื่อนร่วมงานของผมทุกคน คนไข้ทุกคน รัฐบาล และทุกคนครับ ผมขอให้เรายืนหยัด ส่งเสียง และเรียกร้อง การรักษาที่ดีที่สุดที่มีได้ เพื่อให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นวันนี้ และแน่ใจว่า เราจะมีชีวิตที่ดียิ่งกว่า ในวันต่อไป เราต้องเปลี่ยนแปลงวันนี้ เพื่อชีวิตในวันข้างหน้า ขอบคุณมากครับ (เสียงปรบมือ)