สิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้น มีคุณสมบัติพิเศษสุดอย่างหนึ่ง นั่นคือ มันอายุยืนยาวกว่าเรา เราล้มหายตายจาก มันอยู่รอด เรามีหนึ่งชีวิต มันมีหลายชีวิต และในแต่ละชีวิต มันมีความหมายได้หลากหลาย ซึ่งหมายความว่า ในขณะที่เรามีชีวประวัติหนึ่งเดียว มันมีชีวประวัติมากมาย เช้าวันนี้ ผมอยากจะพูดถึง เรื่องราวหรือชีวประวัติอันหลากหลาย ของวัตถุชิ้นหนึ่ง วัตถุอันน่าทึ่ง ผมเห็นด้วย มันไม่ได้ดูพิเศษสักเท่าไหร่ ขนาดของมันประมาณลูกรักบี้ ถูกทำขึ้นจากดิน และขึ้นรูปเป็น ทรงกระบอก ปกคลุมไปด้วยตัวอักษรแน่นขนัด จากนั้นถูกนำไปตากแดดจนแห้ง แล้วก็อย่างที่คุณเห็น มันถูกกะเทาะออกไปบางส่วน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะมันถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ 2,600 ปีก่อน และถูกขุดขึ้นมา ในปี 1879 แต่ในปัจจุบัน ผมเชื่อว่าวัตถุชิ้นนี้ เป็นผู้เล่นหลัก ในการเมืองของโลกตะวันออกกลาง มันเป็นวัตถุที่ เต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าหลงใหล และเรื่องราวเหล่านั้นยังไม่สิ้นสุด จุดเริ่มของเรื่อง เกิดขึ้นในสงครามอิหร่าน-อิรัก ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำไปสู่ การบุกอิรัก โดยกองกำลังต่างชาติ การโค่นล้มผู้นำเผด็จการ และการเปลี่ยนแปลงระบอบอย่างฉับพลัน ผมจึงอยากเริ่มต้นด้วย เรื่องราวตอนหนึ่งจากเหตุการณ์เหล่านั้น ซึ่งพวกคุณน่าจะคุ้นเคยกันดี งานเลี้ยงของเบลชัซซาร์ เรากำลังพูดถึงสงครามอิหร่าน-อิรัก เมื่อ 539 ปีก่อนคริสตกาล แต่ความสอดคล้องของเหตุการณ์ ในช่วง 539 ปีก่อนคริสตกาล กับปี 2003 และในระหว่างนั้น เป็นสิ่งที่น่าตกใจ นี่คือภาพของเรมแบรนด์ท ซึ่งตอนนี้อยู่ที่เนชันแนล แกลเลอรีในลอนดอน แสดงเรื่องราวจากพระคัมภีร์ฮีบรู ของโหรชื่อดาเนียล พวกคุณน่าจะพอรู้เรื่องราวอยู่แล้ว เบลชัซซาร์เป็นบุตรของเนบูชัดเนซซาร์ ผู้พิชิตอิสราเอล ปล้นนครเยรูซาเล็ม และกวาดต้อนชาวยิว กลับไปยังนครบาบิลอน นอกจากชาวยิว พระองค์ยังเอาวัตถุในวิหารกลับไปด้วย พระองค์ปล้นสะดมและทำลายวิหารต่างๆ ภาชนะทองคำล้ำค่าจากวิหารในเยรูซาเล็ม ถูกนำกลับไปยังบาบิลอน เบลชัซซาร์ บุตรของพระองค์ ตัดสินใจให้มีงานเฉลิมฉลองขึ้น และเพื่อให้เร้าใจกว่าเดิม พระองค์เพิ่มการดูหมิ่นสิ่งเคารพเข้าไปในงานรื่นเริง โดยนำภาชนะศักดิ์สิทธิ์ออกมาใช้ ขณะนั้นพระองค์เข้าสู่สงครามกับอิหร่านแล้ว กับกษัตริย์แห่งเปอร์เซีย และในคืนนั้นเอง ตามคำบันทึกของดาเนียล ขณะที่งานเลี้ยงกำลังสนุกสุดเหวี่ยง มีมือหนึ่งปรากฏขึ้นและเขียนลงบนผนังว่า "เจ้าได้ถูกชั่งบนตราชูและพบว่ายังพร่องอยู่ อาณาจักรของเจ้าจะถูกส่งต่อ ให้ชาวมีดส์และเปอร์เซีย" และในคืนนั้นเอง ไซรัส กษัตริย์แห่งเปอร์เซีย บุกเข้าบาบิลอน และระบอบของเบลชัซซาร์ก็จบสิ้นลง แน่นอนว่านั่นคือชั่วขณะอันยิ่งใหญ่ ในประวัติศาสตร์ ของชาวยิว มันเป็นเรื่องราวยิ่งใหญ่ ที่เราทุกคนรู้จักดี "ข้อความบนผนัง" ยังอยู่ในภาษาที่เราใช้กันทุกวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เป็นเรื่องน่าทึ่ง และเป็นจุดที่กระบอกของเรา เข้าไปเกี่ยวข้อง ไซรัส กษัตริย์แห่งเปอร์เซีย บุกเข้าบาบิลอนโดยไม่ต้องต่อสู้ อาณาจักรบาบิลอนอันยิ่งใหญ่ ซึ่งกินบริเวณตั้งแต่อิรักตอนใต้ ไปจรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตกเป็นของไซรัส และไซรัสได้ออกพระราชโองการ และนั่นคือสิ่งที่กระบอกนี้เป็น ประกาศิตของผู้นำที่ทำตามบัญชาของพระเจ้า ผู้โค่นล้มกษัตริย์อิรัก และกำลังจะนำเสรีภาพมาสู่ประชาชน เพื่อสื่อสารกับชาวบาบิโลเนีย มันจึงถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาบาบิโลเนีย ไซรัสตรัสว่า "ข้าคือไซรัส กษัตริย์แห่งเอกภพทั้งมวล ราชาผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงอำนาจ กษัตริย์แห่งบาบิลอน เจ้าผู้ครองโลกทั้ง 4 ทิศ" คงเห็นนะครับว่าพวกเขาไม่อายที่จะพูดเกินจริง เป็นไปได้ว่านี่คือ ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับแรก โดยกองทัพของผู้มีชัย เท่าที่เรามีอยู่ อีกเดี๋ยวเราจะได้เห็นว่า มันถูกเขียนขึ้น โดยนักประชาสัมพันธ์มากประสบการณ์ ฉะนั้นจะพูดเกินจริงไปสักหน่อยก็ไม่แปลกอะไร แล้วราชาผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงอำนาจ เจ้าผู้ครองโลกทั้ง 4 ทิศ จะทำอะไรหรือ ไซรัสตรัสต่อว่า เมื่อเอาชนะบาบิลอนได้ พระองค์จะปลดปล่อยผู้คน ที่เนบูชัดเนซซาร์และเบลชัซซาร์ จับตัวมาเป็นทาส ให้เป็นอิสระทันที พระองค์จะให้พวกเขาได้กลับดินแดนของตนเอง และที่สำคัญกว่านั้นคือ พระองค์จะให้พวกเขา ได้นำเทพเจ้า รูปปั้น และภาชนะศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถูกริบมา กลับคืนไป ผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกเนรเทศ จะได้กลับบ้าน พร้อมกับพระเจ้าของพวกเขา พวกเขาจะได้ฟื้นฟูแท่นบูชาขึ้ันมาใหม่ และบูชาพระเจ้าของตน ในวิถีทางและพื้นที่ของตัวเอง นี่คือพระราชโองการ ที่มีวัตถุชิ้นนี้เป็นหลักฐาน เกี่ยวกับความจริงที่ว่าชาวยิว หลังจากถูกเนรเทศมาอยู่บาบิลอน วันปีที่พวกเขาต้องนั่งอยู่ริมน้ำ คร่ำครวญหวนไห้ถึงนครเยรูซาเล็ม ชาวยิวเหล่านั้นได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน พวกเขาได้รับอนุญาตให้กลับคืนสู่เยรูซาเล็ม และสามารถสร้างวิหารขึ้นใหม่ วัตถุชิ้นนี้คือเอกสารสำคัญ ในประวัติศาสตร์ชนชาติยิว พระธรรมพงศาวดารและเอสราในภาษาฮีบรู พูดถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้ และนี่คือเรื่องราวเดียวกัน ในเวอร์ชั่นของชาวยิว "แล้วไซรัส กษัตริย์แห่งเปอร์เซีย จึงตรัสว่า 'อาณาจักรทั้งปวงในโลกนี้ที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้แก่ท่าน พระองค์ทรงมีพระบัญชาให้ข้า สร้างพระนิเวศน์ของพระองค์ขึ้นในเยรูซาเล็ม ในเหล่าพวกท่าน ผู้ใดคือประชาชนของพระองค์ ขอพระองค์จงสถิตอยู่กับเขา และขอให้เขาขึ้นไปที่นั่น'" "ขึ้นไปที่นั่น" สู่พระเจ้า ใจความหลักยังคงเป็นเรื่องของ การหวนคืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ของศาสนายูดาย อย่างที่คุณรู้ การกลับคืนดินแดนในครั้งนั้น วิหารแห่งที่สอง ก่อร่างศาสนายูดายขึ้นมาใหม่ และความเปลี่ยนแปลงนั้น เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่นั้น เกิดขึ้นได้ด้วยไซรัส กษัตริย์แห่งเปอร์เซีย ดังที่ถูกบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ด้วยภาษาฮีบรู และบนแผ่นดินด้วยภาษาบาบิโลเนีย บันทึกสำคัญสองฉบับ เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องการเมือง สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือจุดเปลี่ยนสำคัญ ในประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง อาณาจักรอิหร่านของชาวมีดส์และเปอร์เซีย รวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ไซรัส มันกลายเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่แห่งแรกของโลก ไซรัสเริ่มปกครองในช่วง 530 ปีก่อนคริสตกาล และเมื่อถึงรัชสมัยของดาริอุส บุตรชายของพระองค์ ดินแดนฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจของเปอร์เซีย อาณาจักรแห่งนี้ แท้จริงก็คือ ดินแดนตะวันออกกลางที่เรารู้จักในปัจจุบัน และเป็นรากฐานของตะวันออกกลางอย่างที่เราเข้าใจ มันเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จักในขณะนั้น ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ มันเป็นรัฐแห่งแรก ที่หลอมรวมวัฒนธรรมและศรัทธาอันหลากหลาย ในระดับกว้าง การปกครองจึงต้องเป็นไปด้วยวิถีทางใหม่ ด้วยภาษาที่แตกต่างหลากหลาย เห็นได้จากการที่โองการนี้อยู่ในภาษาบาบิโลเนีย และรัฐนี้ยังต้องตระหนักถึงพฤติกรรมที่แตกต่าง ของผู้คน ศาสนา และศรัทธาอันหลากหลาย ซึ่งทั้งหมดได้รับการยอมรับจากไซรัส ไซรัสเป็นผู้ออกแบบ วิธีบริหารสังคม ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศรัทธา และวัฒนธรรม และผลลัพธ์ที่ตามมา คืออาณาจักรที่ครอบคลุมพื้นที่ที่คุณเห็นบนจอ และอยู่รอดอย่างมีเสถียรภาพมาถึง 200 ปี จนกระทั่งถูกตีแตกโดยอเล็กซานเดอร์ มันทิ้งความฝันของตะวันออกกลางที่เป็นหนึ่งเดียว ดินแดนที่ผู้คนซึ่งมีศรัทธาอันแตกต่าง สามารถอยู่ร่วมกันได้ การบุกรุกของกรีกดับความฝันนั้นลง แน่นอนว่า อเล็กซานเดอร์ไม่สามารถปกครองได้ ทำให้เปอร์เซียแตกออกเป็นส่วนๆ แต่สิ่งที่ไซรัสแสดงให้เห็น ยังคงเป็นหัวใจสำคัญ เซโนโฟน นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก เขียนเอาไว้ในหนังสือ "ไซโรพีเดีย" ยกย่องไซรัสในฐานะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ และในประวัติศาสตร์ตะวันตกหลังจากนั้น ไซรัสยังคงเป็นบุคคลต้นแบบ นี่คือภาพจากศตวรรษที่ 16 เพื่อแสดงให้คุณเห็นว่าไซรัส เป็นที่เคารพอย่างกว้างขวางเพียงใด และหนังสือเกี่ยวกับไซรัสของซีโนโฟน ที่พูดถึงวิธีในการบริหารสังคมที่หลากหลาย ถือเป็นตำราสำคัญเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าบิดาผู้สร้างชาติ สมัยการปฏิวัติอเมริกา เจฟเฟอร์สันคือหนึ่งในผู้ชื่นชม อุดมคติของไซรัสส่งอิทธิพล ต่อแนวคิดในสมัยศตวรรษที่ 18 อย่างเด่นชัด ถึงการสร้างขันติธรรมทางศาสนา ในรัฐใหม่ ในระหว่างนั้น กลับมาที่บาบิลอน สถานการณ์ไม่ได้ดำเนินไปด้วยดีนัก หลังจากอเล็กซานเดอร์และอาณาจักรอื่นๆ ล่มสลาย บาบิลอนเสื่อมลง กลายเป็นสิ่งปรักหักพัง และร่องรอยของอาณาจักรบาบิลอนอันยิ่งใหญ่ก็สูญหายไปจนสิ้น จนกระทั่งปี 1879 เมื่อกระบอกนี้ถูกค้นพบ ในนครบาบิลอน โดยคณะนักโบราณคดีจากบริติช มิวเซียม ถึงตอนนี้ อีกเรื่องราวหนึ่งเกิดขึ้นมา และมันก็เข้าสู่วิวาทะครั้งใหญ่ ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 -- คำบันทึกนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ เราจะไว้ใจมันได้หรือเปล่า เรารู้เฉพาะเรื่องราว การคืนกลับถิ่นของชาวยิวและโองการของไซรัส จากพระคัมภีร์ในภาษาฮีบรู ไม่มีหลักฐานอื่นใดอีก แต่แล้ว วัตถุนี้ก็ปรากฏขึ้น สร้างความตื่นเต้น ให้กับโลกของผู้ที่เชื่อในพระคัมภีร์นั้น ผู้ซึ่งศรัทธาถูกทำให้สั่นคลอน โดยทฤษฎีวิวัฒนาการ ธรณีวิทยา นี่ไงคือหลักฐาน ว่าข้อความ ในพระคัมภีร์ถูกต้องจริงตามประวัติศาสตร์ มันเป็นชั่วขณะอันยิ่งใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 19 แต่แน่นอนว่า นี่คือส่วนที่ทำให้เรื่องราวซับซ้อน สิ่งที่ถูกบันทึกไว้เป็นของแท้ น่ายินดีสำหรับโบราณคดี แต่การตีความนั้นค่อนข้างจะซับซ้อนกว่ามาก เหตุเพราะเนื้อหาบนกระบอกและในพระคัมภีร์ฮีบรู มีสิ่งหนึ่งที่ต่างกันในสาระสำคัญ กระบอกบาบิลอนถูกบันทึก โดยนักบวชผู้บูชามาร์ดุค พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งบาบิลอน จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะบอกคุณว่า มาร์ดุคคือผู้ที่ทำให้ทุกสิ่งเกิดขึ้น "มาร์ดุคที่เคารพ เรียกชื่อไซรัส" มาร์ดุคคว้ามือของไซรัส และตรัสสั่งให้ดูแลประชาชนของพระองค์ และมอบตำแหน่งผู้ปกครองแห่งบาบิลอนให้ มาร์ดุคตรัสกับไซรัสว่า เขาจะเป็นผู้กระทำสิ่งที่เอื้ออารีและยิ่งใหญ่ นั่นคือ การปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราควรสำนึกในบุญคุณ และบูชามาร์ดุค สำหรับผู้บันทึกภาษาฮีบรู ในพันธสัญญาเก่า คุณจะไม่แปลกใจที่ได้รู้ว่า พวกเขาเห็นต่างออกไป แน่นอนว่าสำหรับพวกเขา หาใช่มาร์ดุคที่ทำให้เกิดเรื่องทั้งหมดขึ้น หากแต่เป็นพระยะโฮวาห์ ในพระธรรมอิสยาห์ มีบทบันทึกอันแสนวิเศษ ยกความดีความชอบทั้งหมด ไม่ใช่แด่มาร์ดุค หากมอบแด่พระผู้เป็นเจ้าแห่งอิสราเอล พระผู้เป็นเจ้าแห่งอิสราเอล ผู้เรียกขานชื่อของไซรัส และจับมือของไซรัสเอาไว้ บอกให้เขาช่วยดูแลคนของพระองค์ นี่เป็นตัวอย่างอันน่าทึ่ง ของการฉกฉวยอำนาจในการถ่ายทอด เหตุการณ์ทางการเมืองอันเดียวกัน ตามมุมมองของแต่ละศาสนา เราต่างรู้ว่า พระเจ้า มักอยู่ข้างคนหมู่มากเสมอ คำถามก็คือ พระเจ้าของใคร วิวาทะนี้สร้างความปั่นป่วน ให้กับทุกคนในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ได้ทราบว่าบทบันทึกในคัมภีร์ฮีบรู เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กว้างกว่าโลกทางศาสนา และค่อนข้างชัดเจนว่า กระบอกเก่าแก่กว่าบทบันทึกในพระธรรมอิสยาห์ กระนั้นพระดำรัสของพระยะโฮวาห์ ช่างคล้ายคลึงกับคำพูดของ มาร์ดุคเหลือเกิน มีเงื่อนงำบางอย่างที่บอกว่าอิสยาห์รู้เห็นในเรื่องนี้ เพราะเขากล่าวว่า นี่คือพระดำรัสของพระเจ้า "ข้าเรียกชื่อของเจ้า แม้ว่าเจ้าอาจจะไม่รู้จักข้า" แสดงว่าเป็นที่รับรู้ว่า ไซรัสอาจไม่รู้ตัวเลยว่า กำลังกระทำการภายใต้บัญชาของพระยะโฮวาห์ และเขาคงจะประหลาดใจพอๆ กัน หากรู้ว่าตัวเองกำลังทำตามบัญชาของมาร์ดุค เพราะแน่นอนว่า ไซรัสเป็นชาวอิหร่านที่ดี ผู้ศรัทธาในพระเจ้าที่ต่างออกไป ซึ่งไม่ถูกกล่าวถึงเลยในบทบันทึกเหล่านั้น (เสียงหัวเราะ) นั่นคือปี 1879 40 ปีถัดมา ตอนนี้เราอยู่ในปี 1917 และกระบอกชิ้นนี้ได้เข้าสู่อีกโลกหนึ่ง เป็นโลกของการเมืองที่แท้จริง ในโลกร่วมสมัย ช่วงเวลาของปฏิญญาบอลโฟร์ ปีที่อังกฤษ เจ้าอาณานิคมใหม่ในตะวันออกกลาง ตัดสินใจว่าจะประกาศ มอบบ้านให้แก่ชาวยิว เพื่อให้ ชาวยิวได้กลับไป เสียงตอบรับต่อเรื่องนี้ โดยชาวยิวที่อาศัยอยู่ในยุโรปตะวันออกคือ เสียงสรรเสริญ ทั่วยุโรปตะวันออก ชาวยิวแสดงภาพของไซรัส และพระเจ้าจอร์จที่ 5 เคียงข้างกัน ผู้ปกครองผู้ยิ่งใหญ่สองพระองค์ ผู้อนุญาตให้ชาวยิวคืนกลับสู่เยรูซาเล็ม กระบอกไซรัสปรากฏต่อสาธารณชนอีกครั้ง และเนื้อหาของกระบอก เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี 1918 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการศักดิ์สิทธิ์ พวกคุณรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น รัฐอิสราเอลก่อกำเนิดขึ้น และในอีก 50 ปีต่อมา ในช่วงปลายทศวรรษ 60 บทบาทของอังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคมยุติลง และเรื่องราวใหม่ของกระบอกได้เริ่มต้นขึ้น อังกฤษและอเมริกาตัดสินใจว่าตะวันออกกลาง ต้องถูกป้องกันจากภัยคอมมิวนิสต์ อำนาจใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจนี้ คืออิหร่าน ภายใต้พระเจ้าชาห์ พระเจ้าชาห์ได้สร้างประวัติศาสตร์อิหร่านขึ้นใหม่ หรือคืนกลับสู่ประวัติศาสตร์อิหร่าน โดยเข้าไปอยู่ในศูนย์กลางประเพณีอันยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งผลิตเหรียญกษาปณ์ ที่แสดงตัวพระองค์ คู่กับกระบอกไซรัส เมื่อมีการจัดงานเฉลิมฉลองที่นครเปอร์เซโปลิส พระองค์ต้องการกระบอกดังกล่าว โดยขอยืมจากบริติช มิวเซียม กระบอกไซรัสจึงเดินทางไปยังเตหะราน และเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ ของราชวงศ์ปาห์ลาวี กระบอกไซรัสเป็นเครื่องรับรองพระเจ้าชาห์ 10 ปีต่อมา เกิดอีกเรื่องราวขึ้น นั่นคือการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ในสมัยการปฏิวัติอิสลาม ไม่มีไซรัสอีกต่อไป พวกเราไม่สนใจประวัติศาสตร์นั้น เราสนแค่อิหร่านในฐานะที่เป็นรัฐอิสลาม จนกระทั่งอิรัก มหาอำนาจใหม่ที่เราเลือกให้ปกครองภูมิภาคดังกล่าว บุกรุกอิหร่าน เกิดเป็นสงครามอิหร่าน-อิรักอีกครั้ง ถึงตอนนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวอิหร่าน ที่จะจดจำประวัติศาสตร์ของตน อดีตอันยิ่งใหญ่ สมัยที่พวกเขาต่อสู้และเอาชนะอิรักได้ พวกเขาจำเป็นต้องหาสัญลักษณ์ ที่จะหลอมรวมชาวอิหร่านท้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งที่เป็นมุสลิม และไม่ใช่มุสลิม ชาวคริสต์ พวกบูชาไฟ และชาวยิวที่อาศัยอยู่ในอิหร่าน ผู้คนที่มีศรัทธา รวมทั้งที่ไม่มี ไซรัสคือสัญลักษณ์ที่ชัดเจนนั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อบริติช มิวเซียมและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเตหะราน ร่วมมือและทำงานร่วมกัน ชาวอิหร่านร้องขอเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ที่จะขอยืม วัตถุเพียงชิ้นเดียวที่พวกเขาต้องการ คือกระบอกไซรัส และในปีที่แล้ว กระบอกไซรัสได้เดินทางสู่เตหะราน เป็นครั้งที่สอง มันถูกแสดงโดยใส่ไว้ในกล่องดังที่เห็นอยู่นี้โดย ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเตหะราน ผู้หญิงอิหร่านเพียงไม่กี่คนที่ได้อยู่ในตำแหน่งสูง เธอคือคุณอาร์ดากานิ มันเป็นงานใหญ่ นี่คืออีกด้านของภาพเดียวกัน กระบอกถูกแสดงในเตหะราน สู่สายตาของประชาชนหนึ่งถึงสองล้านคน ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน นี่เป็นนิทรรศการที่ได้รับความนิยมยิ่งกว่า นิทรรศการยอดฮิตใดๆในโลกตะวันตก และกลายเป็นกระเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก ว่ากระบอกหมายความว่าอย่างไร ไซรัสหมายถึงอะไร แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไซรัสที่ถูกสร้างขึ้นผ่านกระบอกนี้ ไซรัสในฐานะผู้ปกป้องมาตุภูมิ และแน่นอน ในฐานะสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์อิหร่าน และของชาวอิหร่าน ผู้มีขันติธรรมต่อทุกศรัทธา กระทั่งอิหร่านในปัจจุบัน พวกลัทธิบูชาไฟและชาวคริสต์ล้วนมีที่นั่ง ในรัฐสภาอิหร่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพื่อชมวัตถุชิ้นนี้ในเตหะราน ชาวยิวหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในอิหร่าน เดินทางมาเตหะรานเพื่อชมมัน มันกลายเป็นสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ เป็นหัวข้อวิวาทะว่าอิหร่านในสายตาอิหร่าน และอิหร่านในสายตาโลกภายนอกเป็นอย่างไร ยังเป็นอิหร่านที่ต่อสู้เพื่อผู้ที่ถูกกดขี่หรือไม่ อิหร่านจะปลดปล่อยผู้คนที่ทรราช จับมาเป็นทาสและยึดครองดินแดนไปหรือไม่ นี่คือโวหารระดับชาติที่ถูกนำเสนออย่างมุ่งมั่น และทั้งหมดถูกนำมารวมอยู่ด้วยกัน ในงานมหรสพยิ่งใหญ่ เพื่อฉลองการกลับมาของกระบอก ที่คุณเห็นคือกระบอกไซรัสขนาดใหญ่บนเวที พร้อมตัวละครสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์อิหร่าน ที่มารวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วม ในมรดกของชาติอิหร่าน มันคือเรื่องราวที่ถูกนำเสนอ ด้วยตัวประธานาธิบดีเอง สำหรับผม การนำวัตถุชิ้นนี้ไปยังอิหร่าน การได้รับมอบหมายให้นำวัตถุชิ้นนี้ไปอิหร่าน ถือเป็นการได้เป็นส่วนหนึ่ง ของวิวาทะอันแสนวิเศษนี้ ซึ่งถูกนำไปสู่จุดสูงสุด ว่าอิหร่านคืออะไร มีอิหร่านอยู่กี่แบบ มีประวัติศาสตร์ใดบ้างของอิหร่าน ที่อาจส่งผลต่อโลกทุกวันนี้ นี่คือวิวาทะที่ยังไม่สิ้นสุด และจะยังคงดำเนินต่อไป เพราะวัตถุชิ้นนี้ ถือเป็นคำประกาศที่ยิ่งใหญ่ ถึงแรงปรารถนาของมนุษย์ มันยืนอยู่เคียงคู่รัฐธรรมนูญอเมริกา มันพูดถึงเรื่องเสรีภาพที่แท้จริงมากกว่า ธรรมนูญแม็คนา คาร์ตา มันเป็นเอกสารที่มีความหมายได้หลายอย่าง ทั้งกับอิหร่านและตะวันออกกลาง แบบจำลองของกระบอกนี้ อยู่ที่องค์การสหประชาชาติ มันจะถูกแสดงในนิวยอร์กช่วงฤดูใบไม่ร่วงนี้ เมื่อการถกเถียงสำคัญ เกี่ยวกับอนาคตของตะวันออกกลางเริ่มขึ้น ผมอยากจบโดยการถามคุณว่า เรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร ที่มีวัตถุนี้เข้าไปเกี่ยวข้อง แน่นอนว่า กระบอกนี้จะปรากฏ ในอีกหลายเรื่องราวของโลกตะวันออกกลาง เรื่องราวใดในตะวันออกกลาง เรื่องราวใดในโลก ที่คุณอยากเห็น ซึ่งสะท้อนถ้อยคำ และความหมายบนกระบอกนี้ สิทธิของผู้คน ที่จะอยู่ร่วมในรัฐเดียวกัน โดยนับถือความเชื่อที่แตกต่างอย่างเสรี ตะวันออกกลางหรือโลก ที่ศาสนาไม่ได้เป็นสิ่งขวางกั้น หรือความขัดแย้ง อย่างที่คุณรู้ โลกตะวันออกกลางขณะนี้ ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นไปอย่างเข้มข้น แต่ผมยังเชื่อว่ามันเป็นไปได้ ที่เสียงที่มีอำนาจและปราดเปรื่องที่สุดในสังคมนั้น จะเป็นเสียงเดียวกับ วัตถุที่เงียบงันนี้ กระบอกไซรัส ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)