ผมอยากจะพูดถึงการพัฒนา ศักยภาพของมนุษย์ และผมขอเริ่มจากเรื่องราว ที่มีอิทธิพลมากที่สุดของยุคสมัยใหม่ หลายท่านในที่นี้คงจะเคยได้ยินเรื่องของ กฎ 10,000 ชั่วโมง หรือบางทีก็กำลังใช้วิธีคิดนี้กับตัวเอง ง่าย ๆ คือ กฎนี้บอกว่า การที่จะเชี่ยวชาญ ในเรื่องอะไรก็ตาม จะต้องใช้เวลาฝึกฝนอย่างจดจ่อ ถึง 10,000 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นคุณควรเริ่ม ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นคนดังอย่าง ไทเกอร์ วูดส์ พ่อของเขาได้มอบไม้พัตเตอร์ให้กับเขา เมื่อตอนอายุ 7 เดือน ภายใน 10 เดือน เขาก็เริ่มที่จะเลียนแบบ การเหวี่ยงไม้ของพ่อ เมื่ออายุ 2 ขวบ คุณเข้าไปดูในยูทูบได้เลย ที่เขาออกรายการโทรทัศน์ เมื่ออายุ 21 เขาเป็นโปรกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก นี่คือผลของกฎ 10,000 ชั่วโมง อีกด้านหนึ่ง ในบรรดาหนังสือที่ขายดีที่สุด คือเรื่องของพี่น้องครอบครัวโพลการ์ ที่พ่อของพวกเธอตัดสินใจสอน การเล่นหมากรุกอย่างจริงจัง ตั้งแต่ยังอายุไม่มาก จริง ๆ เขาอยากแสดงให้เห็นว่า ด้วยการออกตัวเร็วในการฝึกฝนอย่างจดจ่อ เด็กทุกคนก็สามารถเป็น อัจฉริยะในเรื่องอะไรก็ได้ และอันที่จริง ลูกสาวสองคนจากสาม กลายมาเป็นปรมาจารย์ด้านหมากรุก เมื่อผมได้เป็นนักเขียนแนววิทยาศาสตร์ ให้กับนิตยสาร Sport Illustrated ผมเริ่มสงสัย เพราะหากกฎ 10,000 ชั่วโมงนี้เป็นจริง เราก็น่าจะเห็นนักกีฬาเก่ง ๆ นำหน้าไปแล้ว จากการ "ฝึกฝนแบบเจาะจง" นี่คือการฝึกฝน ที่เน้นการแก้จุดบกพร่อง ไม่ใช่แค่เล่นเฉย ๆ อันที่จริงนักวิทยาศาสตร์ ได้ศึกษานักกีฬาแนวหน้า และพบว่านักกีฬาแนวหน้า ใช้เวลาไปกับการฝึกแบบเจาะจงมากกว่า ก็ไม่หน้าแปลกใจอะไร แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ติดตาม ความก้าวหน้าของการพัฒนา พวกเขาพบรูปแบบดังนี้ จริง ๆ แล้วนักกีฬาแนวหน้า ใช้เวลาน้อยกว่า ในการฝึกแบบเจาะจง ในกีฬาประเภทสุดท้าย และมักจะมีช่วงที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า "ช่วงทดลอง" ที่นักกีฬาจะทดลอง กิจกรรมกีฬาหลากหลายประเภท จนมีทักษะทัวไปและรอบด้าน ได้เรียนรู้ความชอบและทักษะของตัวเอง และชะลอการฝึกให้เชี่ยวชาญ เมื่อเทียบกับคนรอบข้างที่ใช้เวลามากกว่า เมื่อผมเห็นข้อเท็จจริงนี้ ผมพูดออกมาว่า "เฮ้ย นี่มันขัดแย้งกับ กฎ 10,000 ชั่วโมงไม่ใช่เหรอ" ผมจึงเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงกับความจำเป็น ในการฝึกให้เชี่ยวชาญตั้งแต่แรกเริ่ม อย่างดนตรี ผลออกมากลับพบว่ามีรูปแบบที่คล้ายกัน นี่คืองานวิจัยจากสถาบันดนตรีระดับโลก และสิ่งที่ผมอยากให้ทุกท่านให้ความสนใจ คือเรื่องนี้ นักดนตรีชั้นยอดไม่ได้เริ่ม โดยการใช้เวลาฝึกฝนอย่างเจาะจง มากกว่านักดนตรีทั่วไป จนกว่าจะถึงเครื่องดนตรีที่ 3 พวกเขาก็เหมือนกัน ที่มีแนวโนมจะมีช่วงทดลอง ไม่เว้นนักดนตรีที่เราคิดว่า เก่งตั้งแต่ยังเล็ก อย่าง โหยว โหยว หม่า เขาก็มีช่วงทดลองเหมือนกัน เขาเพียงแค่ผ่านช่วงทดลองนั้น เร็วกว่านักดนตรีทั่ว ๆ ไป อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ ก็แทบไม่ได้รับความสนใจ และสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือหน้าแรกของหนังสือ "แม่เสือสอนลูก" ที่ผู้เขียนเล่าถึง การให้ลูกสาวไปเรียนไวโอลิน มักไม่มีใครจำได้ว่า ในตอนหลัง ๆ ของหนังสือ ที่ลูกสาวเธอมาหาเธอแล้วบอกว่า "แม่เลือกเอง ไม่ใช่หนู" และก็เลิกเล่นไปเลย การที่ได้เห็นรูปแบบที่คล้ายกัน อย่างหน้าประหลาดใจ ของกีฬาและดนตรี ผมเริ่มสงสัยเกี่ยวกับแวดวง ที่ส่งผลต่อคนจำนวนมาก อย่างการศึกษา นักเศรษฐศาสตร์ได้ทำการทดลองแบบธรรมชาติ ในสถาบันอุดมศึกษาที่อังกฤษและสก็อตแลนด์ ระหว่างที่เขาศึกษา ระบบการศึกษาของทั้งสองแห่งคล้ายกัน เว้นแต่ว่าในอังกฤษ นักเรียนจะต้อง ฝึกเฉพาะทางในช่วงกลางวัยรุ่น โดยเลือกเรียนวิชาเฉพาะ และในสก็อตแลนด์ นักเรียนสามารถ ทดลองเรียนได้จนถึงระดับมหาวิทยาลัย หากพวกเขาต้องการ คำถามของเขาคือ ระหว่างการฝึกเฉพาะทางแต่เนิ่น ๆ หรือชะลอไปก่อน ดีกว่ากัน และเขาก็พบว่าคนที่ฝึกเฉพาะทางแต่เนิ่น ๆ มีรายได้ที่สูงกว่า เพราะว่ามีทักษะเฉพาะ และตรงสาขา คนที่ฝึกเฉพาะทางทีหลัง ได้โอกาสทดลองหลาย ๆ สิ่ง และพวกเขาก็เลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง หรือที่เรียกว่า "การจับคู่ที่ตรงกัน" เพราะฉะนั้น อัตราการเติบโตจึงเร็วกว่า และใน 6 ปี พวกเขาก็มีรายได้มากกว่า ในขณะเดียวกัน คนที่ฝึกฝนเฉพาะทาง แต่เนิ่นเริ่มออกจากสายงานที่ทำ ในตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เหตุผลสำคัญคือ พวกเขา ถูกบีบให้เลือกเร็วเกินไป พวกเขาจึงเลือกตัวเลือกที่ไม่ดี คนที่ฝึกฝนเฉพาะทางทีหลัง จึงเสียเปรียบในระยะแรก แต่ได้เปรียบในระยะยาว ผมคิดว่า หากเรามองการเลือกงาน เหมือนการออกเดท เราคงจะไม่บีบบำคับให้ผู้คน รีบตัดสินใจเร็วเกินไป การพบรูปแบบดังกล่าวอีกครั้ง ทำให้ผมเริ่มสนใจ ที่จะศึกษาพื้นฐานการพัฒนา ของผู้คนที่ผมนับถือ อย่าง ดุค เอลลิงตัน ผู้ที่ขยาดการเรียนดนตรี แต่หันมาสนใจเบสบอล และการวาดภาพระบายสี หรือ มาเรียม มีร์ซาคานี ผู้ที่ตอนเด็ก ๆ ไม่เคยสนใจคณิตศาสตร์เลย ใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเขียนนวนิยาย แต่กลับได้กลายเป็น ผู้หญิงคนเดียว ที่ได้รับเหรียญฟิลด์ส์ รางวัลที่ทรงเกียรติที่สุด ในโลกของคณิตศาสตร์ หรือ วินเซนต์ แวน โก ที่มี 5 อาชีพที่แตกต่างกัน และเขาก็คิดว่าเป็นงานในฝันของตัวเอง ก่อนที่เขาจะเปล่งประกาย และในช่วง 20 ปลาย ๆ เขาได้หยิบ หนังสือชื่อ "คู่มือวาดเขียนเบื้องต้น" และผลก็ออกมาอย่างที่เห็น คล้อด แชนนอน วิศวกรไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เขาได้ลงเรียนวิชาปรัชญา เพื่อที่จะเรียนให้ครบตามหลักสูตร และในชั้นเรียนนั้นเขาได้เรียนเรื่องตรรกะ ที่มีมานานเกือบศตวรรษ ว่าประโยคที่เป็นจริงหรือเท็จนั้น สามารถแทนด้วย 1 หรือ 0 เหมือนการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ สิ่งนี่นำไปสู่การพัฒนาระบบเลขฐานสอง ที่เป็นพื้นฐานของ คอมพิวเตอร์ในทุกวันนี้ คนสุดท้าย แบบอย่างของผม ฟรานเซส แฮสเซิลไบน์ นี่รูปผมกับเธอ เธอเริ่มทำงานอย่างมืออาชีพ ตอนอายุ 54 และได้เติบโตเป็นซีอีโอ ขององค์กรลูกเสือหญิง ที่เธอได้ให้การช่วยเหลือ เธอเพิ่มสมาชิก ที่เป็นคนกลุ่มน้อย อาสาสมัครกว่า 130,000 คน และนี่คือเครื่องหมายวิชาพิเศษ ขณะที่เธอดำรงตำแหน่ง ตราระบบเลขฐานสอง สำหรับลูกเสือหญิงที่เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ทุกวันนี้ ฟรานเซสบริหารองค์กรพัฒนาผู้นำ ที่เธอทำงานทุก ๆ วันธรรมดา ในแมนแฮตตัน และเธอก็อายุเพียง 104 ปี ใครจะรู้ว่า ต่อไปเธอจะทำอะไร (เสียงหัวเราะ) เราไม่ค่อยจะได้ยินเรื่องราว ของการพัฒนาแบบนี้ใช่ไหมครับ เรามักไม่ค่อยได้ยินงานวิจัย ที่พบว่านักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล มีความเป็นไปได้กว่า 22 เท่า ที่จะมีงานอดิเรกนอกเหนือจากงาน เหมือนนักวิทยาศาสตร์ทั่วไป เราไม่เคยได้ยินเลย แม้นักดนตรีที่มีชื่อเสียง หรือผลงานที่โด่งดัง เราก็มักจะไม่ได้ยิน เกี่ยวกับการพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น นักกีฬาคนนี้ ที่ผมติดตาม นี่คือตอนที่เขาอายุ 6 ขวบ ใส่ชุดรักบี้ทีมสก็อตติช เขาลองทั้งเทนนิส สกี มวยปล้ำ แม่ของเขาจริง ๆ แล้วเป็นผู้ฝึกสอนเทนนิส แต่เธอปฏิเสธที่จะสอนเขา เพราะเขามักจะไม่ยอม เขวี้ยงลูกบอลกลับมาดี ๆ เขาเล่นบาสเกตบอล ปิงปอง ว่ายน้ำ เมื่อผู้ฝึกสอนต้องการให้เขา เข้าพัฒนามากขึ้น เพื่อจะได้เล่นกับเด็กโต เขาปฏิเสธ เพราะเขาต้องการ พูดคุยเล่นเรื่องนักมวยปล้ำมือโปร กับเพื่อน ๆ หลังการฝึกซ้อม และเขาก็ยังคงลองเล่นกีฬาอื่น ๆ แฮนด์บอล วอลเล่บอล ฟุตบอล แบตมินตัน สเกตบอร์ด เด็กที่ไม่จริงจังอะไรคนนี้เป็นใครกัน นี่คือ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ที่โด่งดังในทุก ๆ ด้าน เหมือนกับไทเกอร์ วูดส์ แม้แต่แฟนเทนนิสก็ไม่ค่อยรู้ เรื่องราวการพัฒนาของเขาหรอก ทำไมล่ะ ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องธรรมดาก็เถอะ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เรื่องของไทเกอร์นั้นซับซ้อน แต่ก็เป็นเพราะมันดูเป็นเรื่องที่ เล่าแล้วเข้าใจง่าย และเราสามารถนำไปใช้กับอะไรก็ได้ ที่เราอยากพัฒนา ในชีวิตของเรา แต่ผมคิดว่าความคิดแบบนี้มีปัญหา เพราะปรากฏว่าจากหลายแง่มุม กอล์ฟเป็นแบบอย่างที่แย่มาก สำหรับอะไรก็ตามที่มนุษย์ต้องการเรียนรู้ (เสียงหัวเราะ) กอล์ฟเป็นตัวอย่างที่ดี ของ "สภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบอ่อนโยน" ตามที่นักจิตวิทยาโรบิน โฮกาธ เรียก สภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบอ่อนโยน จะมีขั้นตอนและเป้าหมายที่ชัดเจน กฎที่ชัดเจนและไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อคุณทำอะไรคุณจะได้ผลตอบรับ ที่เร็ว และตรงไปตรงมา หากคุณทำอีกในปีหน้า ก็เหมือนที่คุณทำปีที่แล้ว หมากรุก ก็เป็น สภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบอ่อนโยน ขอได้เปรียบของปรมาจารย์ คือการการใช้ความรู้ ของรูปแบบที่เกิดซ้ำ ๆ นั้นก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมหุ่นยนต์ถึงเล่นได้ ที่ขั้วตรงข้าม คือ สภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบบิดเบี้ยว ที่ขั้นตอนและเป้าหมาย อาจจะไม่ชัดเจน กฎอาจเปลี่ยน คุณอาจได้หรือไม่ได้รับผลตอบรับ เมื่อคุณทำอะไร มันอาจจะถูกเลื่อน หรือไม่ถูกต้องแม่นยำ งานในปีหน้า อาจจะไม่เหมือนปีที่แล้ว แล้วสภาพแบบไหนกัน ที่ดูเหมือนโลกที่เรากำลังอยู่ตอนนี้ อันที่จริง ความจำเป็นในการคิด เพื่อที่จะปรับตัวได้ และการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เป็นพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลง รูปแบบการคิดของเรา เมื่อคุณมองที่แผนภาพนี้ วงกลมตรงกลางด้านขวา อาจดูใหญ่สำหรับคุณ และสมองของคุณถูกถึงดูด ไปที่ความสัมพันธ์ ระหว่างองค์ประกอบและภาพรวม ในขณะที่คนที่ไม่เคยเห็นภาพ ของยุคสมัยใหม่ ที่ต้องใช้ความสามารถในการปรับตัว ทางความคิด ก็จะสามารถมองเห็นได้ทันทีว่า วงกลมตรงกลางทั้งสองมีขนาดเท่ากัน เราอยู่ในโลกที่มีสภาพบิดเบี้ยว และการมุ่งพัฒนาความเชี่ยวชาญ อาจะไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ ยกตัวเอย่างเช่น งานวิจัยในหลายประเทศ ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง จำนวนปีของพ่อแม่ในการศึกษา คะแนนสอบของตัวเอง และจำนวนปีในการศึกษา ของตัวเอง ความแตกต่างคือ บางคนเรียนโดยมุ่งอาชีพเฉพาะทาง บางคนเรียนแบบกว้างไม่เจาะจง รูปแบบที่พบคือ คนที่เรียนมาตรงกับสายงาน มักจะได้งานหลังเรียนจบ และจะทำเงินได้มากกว่าในทันที แต่ไม่สามารถปรับตัวได้ กับโลกที่เปลี่ยนแปลง พวกเขาเลยใช้เวลาน้อยกว่า ในการทำงานโดยภาพรวม ทำให้พวกเขาชนะในช่วงสั้น ๆ แต่ต้องแพ้ในระยะยาว ลองพิจารณาการศึกษา ที่ใช้เวลา 20 ปี ที่ผู้เชี่ยวชาญ ทำนายเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ คนที่ทำนายสิ่งต่าง ๆ ได้แย่ที่สุด คือพวกผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ผู้ที่ใช้เวลาทั้งชีวิต ไปกับการแก้ปัญหา เพียงหนึ่งหรือสองปัญหา และมองโลกทั้งโลก ด้วยตาข้างเดียว หรือติ๊ต่างเอา บางคนคือแย่จริง ๆ แม้ว่าจะสั่งสมประสบการณ์และคุณวุฒิมามาก คนที่ทำนายได้ดีที่สุด คือคนที่มี ความคิดใหม่ ๆ และมีความสนใจรอบด้าน ในบางสาขาอย่างการแพทย์ การพัฒนาความเชี่ยวชาญ เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้และจำเป็น ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร ที่ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นดาบสองคม ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการผ่าตัด เพื่อแก้ไขอาการปวดเข่า และมีการศึกษาควบคุมด้วยยาหลอก มีคนไข้บางรายถูก "ผ่าตัดแบบหลอก ๆ" นั่นหมายความว่า แพทย์ลงมีดแล้ว ทำเสียงนั่นนี่ให้เหมือนว่ากำลังผ่าตัด และก็เย็บปิดเหมือนเดิม และก็ได้ผลดีทีเดียว แม้ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็ยังคงทำแบบเดิมต่อไป เป็นล้าน ๆ หากการฝึกให้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่กลเม็ดในโลกที่บิดเบี้ยว แล้วอะไรล่ะ นี่เป็นเรื่องที่ยากที่จะพูดถึง เพราะมันไม่ได้เป็นเส้นตรงแบบนี้ บางครั้งมันก็ดูคดเคี้ยว วนไปวนมา หรือมองเห็นเป็นภาพกว้าง ๆ มันอาจจะดูเหมือนว่าอยู่รั้งท้าย แต่ผมอยากจะพูดถึงกลเม็ดที่ได้ผล หากเราดูงานวิจัยทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของจำนวน สิทธิบัตรที่มีผลในวงกว้าง ไม่ได้ถือครองโดยบุคคล ที่มีความสามารถแบบลึกมาก ๆ ในด้านใดด้านหนึ่งของเทคโนโลยี ที่สำนักงานสิทธิบัตรอเมริกา จัดประเภท และถือโดยกลุ่มบุคคล หรือบุคคล ที่ทำงานข้ามสาขาทางเทคโนโลยี และมักจะผสานหลาย ๆ สิ่ง จากหลายแวดวงเข้าด้วยกัน บุคคลหนึ่งที่ผมชื่นชมผลงานของเขา เป็นคนที่อยู่แถวหน้าของวงการ คือชายญี่ปุ่นนาม กุนเป โยโคอิ โยโคอิ ทำคะแนนได้ไม่ดี ในการสอบวิชาอิเล็กทรอนิกส์ เขาจึงต้องหันไปทำงานที่ไม่ยากมาก อย่างการเป็นช่างซ่อมบำรุง ที่บริษัทเกมไพ่ในเกียวโต เขารู้ตัวดีว่าตัวเอง ไม่มีทักษะการทำงานที่ทันสมัย แต่ก็มีข้อมูลบางอย่าง ที่เขาสามารถเข้าถึงได้ ที่ทำให้เขาสามารถผสมผสานบางสิ่ง ที่มีอยู่แล้วเข้ากัน ในแบบที่ผู้เชี่ยวชาญ มองไม่ได้จากมุมมองแคบ ๆ นั้น เขาจึงผสานเทคโนโลยีที่เด่น ๆ จากอุตสาหกรรมเครื่องคิดเลข เข้ากับเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรม การผลิตนามบัตร และเขาก็ได้พัฒนาเกมพกพา และมันได้สะเทือนวงการ จนได้เปลี่ยนบริษัทเกมไพ่ ที่ก่อตั้งบนอาคารไม้ชั้นล่าง ในศตวรรษที่ 19 สู่องค์กรที่ผลิตของเล่นและเกม คุณคงจะเคยได้ยินชื่อของบริษัทนี้ บริษัทนินเทนโด ปรัชญาการสร้างสรรค์ ของเขา คือ "การมองรอบ ๆ กับเทคโนโลยีที่คนทิ้งแล้ว" ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว และใช้มันในรูปแบบใหม่ ผลงานที่โดงดังที่สุดของเขาคือ เกมบอย เทคโนโลยีที่ถูกล้อเลียนอยู่บ่อย ๆ ที่ปล่อยออกมาพร้อมกับคู่แข่งที่มีสี อย่าง ซากา และ อาตาริ และก็ชนะขาดลอย เพราะโยโคอิรู้ดีว่า ลูกค้าต้องการอะไร ไม่ใช่สี แต่คือ ความทนทาน สะดวกพกพา ราคาไม่แพง แบตเตอรี่อึด การมีเกมให้เลือก นี่คือเกมบอยของผม ที่ผมเจอในห้องเก็บของ (เสียงหัวเราะ) คิดถึงวันวานเหมือนกัน แต่คุณก็เห็นหนิ ว่าไฟยังติด ผมลองเปิดและเล่นเกมเตอตริส ซึ่งผมประทับใจมาก เพราะถ่านหมดอายุไปแล้ว ในปี 2007 และ 2013 (เสียงหัวเราะ) ข้อได้เปรียบนี้ ก็เอาไปใช้ได้ กับวงการอื่น ๆ เหมือนกัน ในการศึกษาที่น่าประหลาดใจ เกี่ยวกับเหตุผลที่นักเขียนการ์ตูน สามารถสร้างการ์ตูน ที่ดังกระฉ่อนได้ มีงานวิจัยสองชิ้นที่พบว่า มันไม่เกี่ยวกับจำนวนปีของประสบการณ์ ไม่เกี่ยวกับทรัพยากรของสำนักพิมพ์ ไม่เกี่ยวกับจำนวนการ์ตูนที่เคยตีพิมพ์ แต่เป็นจำนวนประเภทของหนังสือ ที่ผู้สร้างได้ทำงานมา และสิ่งที่น่าสนใจคือ บุคคลที่มีความสนใจรอบด้าน ไม่สามารถแทนที่ได้ ด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เราอาจไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะก่อนหน้านี้ พวกเขาดูเหมือนรั้งท้าย และเรามักไม่สนับสนุน คนที่ไม่น่าจะก้าวหน้าได้เร็ว หรือไม่มีความเชี่ยวชาญ อันที่จริงเจตนาดี ของการสนับสนุนคนที่หัวไว เรามักจะลดขั้นตอน ซึ่งกลับทำให้ได้ผลที่ตรงข้าม รวมถึงวิธีการเรียนสิ่งใหม่ ในระดับพื้นฐาน ในงานวิจัยเมื่อปีที่แล้ว นักเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เกรด 7 ในสหรัฐฯ ได้ถูกสุ่ม และให้เรียนรู้ ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน บางคนก็ได้เรียนด้วย "การฝึกที่ละประเภท" เหมือนกับเวลาคุณได้โจทย์ประเภท A คุณจะได้ AAAA BBBB ไปเรื่อย ๆ การพัฒนาเร็วมาก เด็ก ๆ มีความสุข ทุกอย่างเรียบร้อยดี แต่เด็กอีกกลุ่มได้เรียนแบบ "การฝึกเว้นช่วง" นั่นหมายถึง คุณจะได้ โจทย์ทุกรูปแบบในคราวเดียว และมาจากการสุ่ม การพัฒนาเกิดขึ้นช้า เด็ก ๆ หงุดหงิด แต่แทนที่จะเรียนรู้ แค่กระบวนการทำงาน เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การใช้กลวิธี เพื่อจัดการโจทย์ประเภทต่าง ๆ และเมื่อถึงเวลาสอบ กลุ่มที่เรียนแบบเว้นช่วง นำโด่งกลุ่มที่เรียนแบบฝึกที่ละประเภท ไม่ได้ใกล้กันเลย ผมมองว่าผลงานวิจัยนี้ นั้นขัดต่อความเข้าใจ แนวคิดของการเริ่มได้เร็วในช่วงแรก ไม่ว่าจะทำงานอะไรหรือเรียนอะไร หรือแต่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ บางที่ก็สามารถส่งผลเสียในระยะยาวได้เช่นกัน และโดยธรรมชาติแล้ว มีวิธีการมากมายที่จะประสบความสำเร็จ เพราะยังมีผู้คน และผมคิดว่าเรายังคงมักจะสนับสนุน แต่คนที่จะเดินไปตามเส้นทางแบบไทเกอร์ ในขณะที่โลกก็บิดเบี้ยวมากขึ้น และเราต้องการคนที่จะเดินไปในเส้นทาง แบบโรเจอร์เหมือนกัน หรือนักฟิสิกส์หรือนักคณิตศาสตร์ ที่มีชื่อเสียง และนักเขียนที่เก่งกาจอย่าง ฟรีแมน ไดสันกล่าวไว้ และไดสันได้เสียชีวิตลงเมื่อวานนี้ และผมหวังว่าจะพูดเพื่อให้เกียรติเขา เขากล่าวว่า สำหรับระบบนิเวศที่สมดุล เราต้องการทั้งนกและกบ กบที่อยู่ข้างล่างในโคลน มองเห็นสิ่งเล็ก ๆ นกที่บินสูงอยู่ข้างบน มองไม่เห็นรายละเอียดเหล่านั้น แต่ด้วยการผสานความรู้จากกบ เราต้องการทั้งคู่ ไดสันกล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่ เราเอาแต่พร่ำบอกให้ทุกคนเป็นกบ และผมคิดว่า ในโลกที่บิดเบี้ยวนี้ หลายสิ่งก็เริ่มไม่ชัดเจน ขอบคุณมากครับ (เสียงปรบมือ)