ผมอยากคุณมองไปรอบ ๆ ห้องสักหนึ่งนาที และพยายามมองหาคนที่ดูขี้ระแวงที่สุดในห้อง (เสียงหัวเราะ) จากนั้นชี้ตัวคน ๆ นั้นให้ผมที (เสียงหัวเราะ) อย่าทำจริงนะครับ (เสียงหัวเราะ) แต่ในฐานะนักจิตวิทยาองค์กร ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในองค์กรหลายแห่ง และพบคนขี้ระแวงอยู่ทุกที่ ความระแวงเกิดจากคนที่ผมเรียกว่า "ผู้รับ" ผู้รับ คือคนเห็นแก่ตัวเมื่อมี ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มีแต่ "คุณทำอะไรให้ฉันได้บ้าง" ตรงกันข้าม คือ "ผู้ให้" หรือผู้ที่มักถามผู้อื่นว่า "ฉันทำอะไร ให้คุณได้บ้าง" ผมอยากให้ทุกคนนึกถึง สไตล์ของคุณ เราทุกคนล้วนมีช่วงเวลาที่เป็นผู้ให้และรับ สไตล์ คือ วิธีการที่คุณปฏิบัติต่อ คนส่วนใหญ่โดยส่วนใหญ่ โหมดอัตโนมัติของคุณ ผมมีแบบประเมินสั้น ๆ ให้คุณทำ เพื่อดูว่าคุณมีความเป็นผู้ให้หรือผู้รับ มากกว่ากัน และคุณสามารถลองทำได้เลยตอนนี้ [แบบทดสอบความหลงตัวเอง] [ขั้นตอนที่ 1: ใช้เวลาไตร่ตรองตัวเอง] (เสียงหัวเราะ) [ขั้นตอนที่ 2: ถ้าทำถึงขั้นตอนที่ 2 คุณไม่ใช่พวกหลงตัวเอง] (เสียงหัวเราะ) สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้จะเป็นสิ่งเดียว ที่พูดในวันนี้โดยไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่ผมเชื่อว่ายิ่งคุณใช้เวลากว่าจะหัวเราะ การ์ตูนนี้นานเท่าไหร่ ก็ยิ่งน่ากังวลมากขึ้นว่าคุณจะเป็นผู้รับ (เสียงหัวเราะ) แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้รับทุกคน เป็นพวกหลงตัวเอง บางคนเป็นเพียงผู้ให้ ที่ถูกทำร้ายหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็มีผู้รับอีกประเภท ที่เราจะไม่พูดถึงในวันนี้ ซึ่งเราเรียกว่า พวกโรคจิต (เสียงหัวเราะ) แต่ผมเคยสงสัยว่าจะมีคนแต่ละประเภท อยู่เท่าไหร่ ผมเลยทำการสำรวจคนกว่า 30,000 คน จากหลากหลายอาชีพ หลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก และพบว่าคนส่วนใหญ่อยู่ตรงกลาง ระหว่างการเป็นผู้ให้กับผู้รับ พวกเขาเลือกแบบที่ 3 ที่เรียกว่า ผู้แลกเปลี่ยน ถ้าคุณอยู่กลุ่มนี้ คุณจะพยายาม บาลานซ์ระหว่างการให้และการรับ หมูไปไก่มา ผมจะทำให้คุณถ้าคุณทำให้ผม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่ปลอดภัย ในการใช้ชีวิต แต่มันเป็นวิธีที่ได้ผลและก่อให้เกิดผลดี ในการใช้ชีวิตรึเปล่า คำตอบสำหรับคำถามนี้ชัดเจนมาก... อาจจะครับ (เสียงหัวเราะ) ผมศึกษาองค์กรหลายแห่ง และคนหลายพันคน ผมให้วิศวกรวัดผลผลิตของพวกเขา (เสียงหัวเราะ) ผมศึกษาผลการเรียนของนักศึกษาแพทย์ และรายได้ของพนักงานขาย (เสียงหัวเราะ) และโดยไม่คาดคิด ผมพบว่าคนที่ผลงานแย่ที่สุด ในแต่ละกลุ่ม คือ ผู้ให้ วิศวกรที่ทำงานเสร็จน้อยที่สุด คือคนที่ช่วยเหลือคนอื่นมากกว่า การที่คนมาช่วยตอบแทน พวกเขายุ่งอยู่กับการทำงานของคนอื่น พวกเขาไม่มีเวลาและพลังงานที่จะทำงาน ของตัวเองให้เสร็จ ในคณะแพทย์ ผลการเรียนที่ต่ำที่สุด เป็นของนักศึกษาแพทย์ ที่เห็นด้วยมากที่สุดกับข้อความอย่างเช่น "ฉันชอบที่จะช่วยเหลือผู้อื่น" ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเราควรไว้ใจหมอ ที่มาเรียนเป็นหมอโดยไม่มีความต้องการ ที่จะช่วยใครเลย (เสียงหัวเราะ) ในการขายก็เช่นกัน รายได้ที่ต่ำที่สุดเป็นของ เหล่าพนักงานขายที่ใจกว้างมากที่สุด ผมติดต่อไปยังหนึ่งในพนักงานขายเหล่านั้น เป็นคนที่ได้คะแนนผู้ให้สูงสุด และถามเขาว่า "ทำไมคุณถึงห่วย ในอาชีพของคุณ?" ผมไม่ได้ถามแบบนั้นจริง ๆ แต่... (เสียงหัวเราะ) "อะไรคือข้อเสียของความใจกว้างในการขาย" และเขาตอบว่า "คือ ผมใส่ใจลูกค้าของผมมากๆ ถึงขนาดที่ว่า ผมจะไม่มีวันขายของห่วยๆ ให้กับพวกเขา" (เสียงหัวเราะ) ผมอยากรู้จริง ๆ ว่า คุณกี่คนที่ระบุตัวเองว่า เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับหรือผู้แลกเปลี่ยน ยกมือขึ้นครับ ครับ อาจจะมีมากกว่านี้ ถ้าผมถามก่อนบอกข้อมูลเหล่านี้ แต่จริงๆ แล้ว มีเรื่องหักมุมตรงนี้ครับ แม้ว่าผู้ให้มักจะเสียสละตัวเอง แต่พวกเขาทำให้องค์กรดีขึ้น มีหลักฐานมากมายครับ มีงานวิจัยหลายต่อหลายชิ้น ที่ศึกษาความถี่ของพฤติกรรมของผู้ให้ ที่อยู่ในทีมหรือในองค์กร และพบว่ายิ่งคนให้ความช่วยเหลือ และแบ่งปันความรู้ และให้คำแนะนำสอนงานมากเท่าไหร่ องค์กรจะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ในทุกมิติที่เราศึกษา ทั้งผลตอบแทนและความพึงพอใจ ของลูกค้าสูงขึ้น การรักษาบุคลากรดีขึ้น แม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง ผู้ให้ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการช่วยผู้อื่น พัฒนาทีมงาน แล้วก็โชคไม่ดีที่พวกเขา จะต้องลำบากไปตลอดทาง ผมอยากจะพูดถึงสิ่งที่ต้องทำ เพื่อสร้างวัฒนธรรม ที่ช่วยให้เหล่าผู้ให้ประสบความสำเร็จ ผมสงสัยว่าหากผู้ให้ คือ ผู้ที่ทำงานแย่ที่สุด แล้วใครคือผู้ที่ทำงานดีที่สุด เริ่มที่ข่าวดีที่ว่า ไม่ใช่ผู้รับครับ เหล่าผู้รับมักจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ตกต่ำอย่างรวดเร็วในเกือบทุก ๆ อาชีพ และพวกเขาก็ตกต่ำด้วยน้ำมือของผู้แลกเปลี่ยน ถ้าคุณเป็นผู้แลกเปลี่ยน คุณเชื่อเรื่องของ "ตาต่อตา" หรือโลกที่ยุติธรรม และเมื่อเจอกับเหล่าผู้รับ คุณจะรู้สึกเหมือนว่าเป็นหน้าที่ของคุณ ที่จะลงโทษคนคนนั้นให้สาสม (เสียงหัวเราะ) เป็นทางเดียวที่จะ คืนความยุติธรรม คนส่วนใหญ่เป็นผู้แลกเปลี่ยน และหมายความว่าหากคุณเป็นผู้รับ ในที่สุดผลการกระทำจะตามสนองคุณทัน ทำอะไรก็ได้อย่างนั้น ถ้าสรุปแบบมีเหตุมีผลก็คือ ผู้ที่ทำงานได้ยอดเยี่ยม คือ เหล่าผู้แลกเปลี่ยน แต่ก็ไม่ใช่อยู่ดี ในทุกอาชีพ ในทุกองค์กร ที่ผมเคยศึกษามา กลับเป็นเหล่าผู้ให้ อีกแล้วครับ เรามาดูข้อมูลที่ผมรวบรวมจาก พนักงานขายหลายร้อยคน ติดตามดูรายได้ของพวกเขา จะเห็นได้ว่าเหล่าผู้ให้ อยู่ทั้งสองกลุ่ม พวกเขาอยู่ในกลุ่มคนส่วนใหญ่ ที่มีรายได้น้อยที่สุด และในกลุ่ม ที่มีรายได้มากที่สุด เช่นเดียวกับผลการทำงาน ของเหล่าวิศวกร และผลการเรียนนักศึกษาแพทย์ เหล่าผู้ให้อยู่กลุ่มที่ต่ำสุดและสูงสุด ในทุกตัวชี้วัดความสำเร็จ ที่ผมสามารถวัดได้ สิ่งนี้นำมาซึ่งคำถามที่ว่า เราจะสร้างโลกที่เหล่าผู้ให้ ก้าวสู่ความเป็นเลิศขึ้นได้อย่างไร? ผมอยากพูดถึงวิธีการ ที่ไม่จำกัดอยู่แค่ในวงการธุรกิจ แต่ใช้ได้กับองค์กรไม่แสวงหากำไร โรงเรียน หรือแม้กระทั่งภาครัฐ คุณพร้อมรึยัง? (เสียงเชียร์) ยังไงผมก็จะพูดอยู่แล้ว แต่ขอบคุณที่เชียร์ (เสียงหัวเราะ) สิ่งแรกที่สำคัญมาก ๆ คือ การมองเห็นว่าเหล่าผู้ให้ คือคนที่มีคุณค่ามากที่สุด แต่ถ้าพวกเขาไม่ระวังพวกเขาก็จะหมดแรง คุณจึงต้องคอยดูแลเหล่าผู้ให้ ในที่ทำงานของคุณ ผมเรียนรู้เรื่องที่สำคัญมากนี้จาก ผู้มีเครือข่ายดีที่สุด จากนิตยสาร Fortune ผู้ชายนะครับ ไม่ใช่แมว (เสียงหัวเราะ) เขาชื่อ อดัม ริฟท์กิน เขาเป็นเจ้าของธุรกิจจำนวนมาก ที่ประสบความสำเร็จ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการช่วยผู้อื่น และเคล็ดลับของเขา คือ ความช่วยเหลือ 5 นาที อดัมบอกว่า "คุณไม่ต้องเป็นแม่ชีเทเรซ่า หรือคานธี" เพื่อเป็นผู้ให้ คุณแค่หาทางทำสิ่งเล็กน้อย เพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ ให้กับชีวิตของผู้อื่น อาจจะเป็นสิ่งง่าย ๆ เช่น การแนะนำ ให้คนสองคนได้ประโยชน์ จากการรู้จักกัน อาจจะเป็นการแบ่งปันความรู้ หรือให้ข้อมูลป้อนกลับ หรือเป็นสิ่งธรรมดา ๆ เช่น การพูดว่า "คุณรู้มั้ย ผมจะลองดูว่า ผมจะจำผู้ที่ไม่เคยมีใครมองเห็นงานของเขา ได้หรือไม่" และการให้ความช่วยเหลือ 5 นาทีนั้นสำคัญมาก ๆ ในการช่วยให้เหล่าผู้ให้กำหนดขอบเขต และปกป้องตัวเอง สิ่งที่สองที่สำคัญ ถ้าอยากสร้างวัฒนธรรม ช่วยผู้ให้สู่ความสำเร็จ คือสร้างวัฒนธรรมที่ การขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องปกติ ที่ผู้คนถามคำถามจำนวนมาก นี่อาจจะแทงใจดำหลาย ๆ คนนิดหน่อย [คุณต้องเป็นผู้ให้ตลอดเวลา ในทุกความสัมพันธ์เลยหรือ?] (เสียงหัวเราะ) สิ่งที่คุณเห็นในเหล่าผู้ให้ ที่ประสบความสำเร็จ คือพวกเขารู้ว่า การเป็นผู้รับเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ถ้าคุณบริหารองค์กร คุณสามารถทำให้มันง่ายขึ้นได้ อย่างเรื่องการขอความช่วยเหลือ ผมและเพื่อนร่วมงาน ศึกษาโรงพยาบาลหลายแห่ง เราพบว่าในบางชั้น พยาบาลขอความช่วยเหลือกันบ่อยครั้ง และน้อยมากในชั้นอื่น ๆ ปัจจัยที่โดดเด้งขึ้นมา ในชั้นที่การขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องปกติ เป็นบรรทัดฐาน คือ การมีพยาบาลหนึ่งคนที่มีหน้าที่แค่ ช่วยพยาบาลคนอื่น ๆ ในหน่วยอย่างเดียว เมื่อหน้าที่เอื้อ พยาบาลกล่าวว่า "มันไม่น่าอาย ไม่อันตรายที่จะขอความช่วยเหลือ มันกลับได้รับการสนับสนุน" การขอความช่วยเหลือไม่ใช่แค่สำคัญต่อ การปกป้องความสำเร็จ และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ให้ มันยังสำคัญและทำให้ ผู้อื่นมีพฤติกรรมเป็นผู้ให้มากขึ้น เพราะข้อมูลบอกเราว่า การให้กว่าร้อยละ 75 ถึง 90 ในองค์กร เริ่มจากการขอ แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ขอ เพราะไม่อยากถูกมองว่า ไม่มีความสามารถ พวกเขาไม่รู้จะหันไปหาใคร พวกเขาไม่อยากเป็นภาระของใคร แต่ถ้าไม่มีใครขอความช่วยเหลือ คุณจะพบแต่ผู้ให้ที่หัวเสียจำนวนมาก ในองค์กร ที่ชอบการเสนอตัวและให้ความช่วยเหลือ ถ้าเพียงแค่พวกเขารู้ว่าการให้ เป็นประโยชน์กับใคร อย่างไร แต่ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด หากอยากสร้างวัฒนธรรม ของผู้ให้ที่ประสบความสำเร็จ คือการรอบคอบเวลาที่คุณจะให้ใครเข้าทีม ผมคิดว่า เมื่ออยากได้วัฒนธรรม ของความใจกว้างที่สร้างผลลัพธ์ คุณควรสรรหาผู้ให้จำนวนเยอะ ๆ แต่ผมก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่า จริง ๆ แล้วนั่นไม่ถูกต้อง ว่าผลกระทบทางลบของ การมีผู้รับในองค์กรต่อวัฒนธรรม มักรุนแรงเป็นสองถึงสามเท่าของ ผลกระทบทางบวกของการมีผู้ให้ ลองคิดดูนะครับ ปลาเน่าตัวเดียว เหม็นไปทั้งข้อง แต่ไข่ดีฟองเดียว ไม่ทำให้ได้ไข่ดีทั้งโหล ผมไม่รู้ว่าคืออะไร (เสียงหัวเราะ) แต่ผมหวังว่าคุณจะเข้าใจ แค่ลองให้ผู้รับเข้ามาในทีม เพียงแค่หนึ่งคน และคุณก็จะเห็นว่า ผู้ให้ในทีม จะเลิกให้ความช่วยเหลือคนอื่น พวกเขาจะพูดว่า "ฉันอยู่ท่ามกลาง เหล่าสิงสาราสัตว์ ทำไมฉันต้องช่วย?" แต่ถ้ารับผู้ให้เข้ามาในทีม หนึ่งคน คุณจะไม่เห็นความใจกว้าง ที่แผ่กระจายออกไป โดยมาก คนจะพูดว่า "เยี่ยม! เขาทำงานทั้งหมดได้" การคัดเลือกที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างทีม จึงไม่ใช่การรับผู้ให้เข้ามา แต่เป็นการกรองผู้ให้ออกไป ถ้าคุณทำเช่นนั้นได้ดี องค์กรจะมีแต่ผู้ให้ และผู้แลกเปลี่ยน ผู้ให้ก็จะใจกว้าง เพราะไม่ต้องกังวลถึง ผลของการให้ และข้อดีของผู้แลกเปลี่ยน คือ พวกเขาทำตามบรรทัดฐาน แล้วคุณจะตรวจจับผู้รับ ก่อนจะสายได้อย่างไร เราไม่ค่อยเก่งเรื่องการมองหาเหล่าผู้รับ โดยเฉพาะเมื่อแรกพบ มีลักษณะบุคลิกภาพที่ มักจะทำให้เราสับสน นั่นคือ ความประนีประนอม หนึ่งในบุคลิกภาพ ที่มีอยู่ทุกวัฒนธรรม คนที่ประนีประนอมจะดูอบอุ่นและเป็นมิตร พวกเขาน่าคบ สุภาพ คุณจะเจอพวกเขาได้เยอะในแคนาดา (เสียงหัวเราะ) ซึ่งเป็นที่ที่มีการประกวด ระดับชาติ เพื่อเฟ้นหาคำขวัญของแคนาดา และเติมประโยคนี้สมบูรณ์ "เป็นชาวแคนาดาดั่ง..." ผมว่าคำขวัญที่ชนะเลิศน่าจะเป็น "เป็นชาวแดนาดาดั่งเมเปิลไซรัป" หรือ "...ดั่งฮอกกี้น้ำแข็ง" แต่ไม่ครับ ชาวแคนาดาโหวตให้ คำขวัญประจำชาติ คือ ผมไม่ได้ล้อเล่น "เป็นชาวแคนาดาให้ได้มากที่สุด ในทุกโอกาส" (เสียงหัวเราะ) สำหรับท่านที่เป็นคนประนีประนอมสูง หรือไม่ก็มีเชื้อสายชาวแคนาดา คุณจะเข้าใจทันที ผมจะพูดได้อย่างไรว่าผมเป็นคนอย่างหนึ่ง ในขณะที่ปรับตัวตลอดเวลา เพื่อเอาใจคนอื่น คนที่ไม่ประนีประนอมจะไม่ค่อยทำแบบนั้น พวกเขาจะโต้แย้ง ขี้สงสัย และท้าทาย และมีแนวโน้มที่จะเรียนกฎหมาย มากกว่าคนอื่น (เสียงหัวเราะ) นั่นไม่ใช่มุข นั่นเป็นเรื่องจริง (เสียงหัวเราะ) ผมมักคิดว่า คนประนีประนอม คือ ผู้ให้ และคนไม่ประนีประนอม คือ ผู้รับ แต่แล้วผมก็รวบรวมข้อมูล และอึ้งเมื่อไม่พบ ความสัมพันธ์กันเลย เพราะกลายเป็นว่า ความประนีประนอมหรือไม่นั้น เป็นเพียงเปลือกนอก หรือการพูดคุยกับคุณ น่าพึงใจเพียงใด แต่การให้และการรับเป็นเรื่องของ แรงจูงใจภายใน ค่านิมยมของคุณคืออะไร เจตนาของคุณต่อผู้อื่นคืออะไร หากคุณอยากจะตัดสินผู้อื่นได้อย่างแม่นยำ คุณต้องรอให้ถึงเวลาที่ ผู้ให้คำปรึกษาทุกคนในห้องรอคอย แล้ววาดตารางเมทริกซ์ 2X2 (เสียงหัวเราะ) เรามักหาผู้ให้ที่ประนีประนอมเจอได้ง่าย พวกเขาจะตอบรับคำขอทุกอย่าง เรามักมองเห็นผู้รับที่ไม่ประนีประนอม ได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าคุณอาจจะเรียกพวกเขาด้วยชื่อ ที่ค่อนข้างต่างออกไป (เสียงหัวเราะ) เรามักลืมคนอีกสองประเภท เรามีผู้ให้ที่ไม่ประนีประนอมอยู่ในองค์กร คนที่แข็งนอก แต่ลึกๆ แล้วนึกถึงประโยชน์ของผู้อื่น หรือที่วิศวกรเรียกว่า "อ๋อ ผู้ให้ที่ไม่ประนีประนอม เหมือนกับคนที่มี User Interface ที่แย่ แต่มีระบบปฏิบัติการที่ยอดเยี่ยม (เสียงหัวเราะ) ถ้านั่นช่วยให้เข้าใจมากขึ้น (เสียงหัวเราะ) ผู้ให้ที่ไม่ประนีประนอม ถูกมองข้ามมากที่สุดในองค์กร เพราะพวกเขาให้ข้อคิดเห็น ตรงไปตรงมา ที่ไม่มีใครอยากได้ยิน แต่ทุกคนต้องฟัง เราต้องทำให้ดีกว่านี้ เพื่อเห็นค่าพวกเขา มากกว่าที่จะปิดกั้นพวกเขาอย่างรวดเร็ว และพูดว่า "แอ๊ น่ารำคาญ ต้องเป็นพวกผู้รับที่เห็นแก่ตัวแน่" อีกประเภทที่เรามักลืม ประเภทที่อันตรายที่สุด นั่นคือ ผู้รับที่ประนีประนอม หรือพวกจอมปลอม คนที่เป็นมิตรกับคุณเมื่ออยู่ต่อหน้า และแทงข้างหลังเมื่อคุณเผลอ (เสียงหัวเราะ) ผมมีวิธีที่ชอบในการจับ คนพวกนี้ตอนสัมภาษณ์ คือ การถามคำถามว่า "ขอให้คุณบอกชื่อคนสี่คน ที่คุณได้ช่วยส่งเสริมให้ เขาก้าวหน้าในงาน?" ผู้รับจะบอกชื่อคนสี่คน ที่มีอิทธิพลเหนือกว่าเขา เพราะผู้ให้เก่งเรื่องประจบประแจง และสร้างความเสียหาย ผู้ให้มักจะบอกชื่อคนที่อยู่ต่ำกว่าเขา คนที่ไม่มีอำนาจเท่า คนที่ไม่สามารถทำประโยชน์ ให้ได้ พูดกันตรง ๆ ทุกคนรู้ว่า คุณเรียนรู้ลักษณะคน ได้จากวิธีปฏิบัติต่อ พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร หรือคนขับรถ Uber และถ้าเราทำได้ ถ้าเราสามารถสกัดผู้รับ ออกจากองค์กร ถ้าเราทำให้การขอความช่วยเหลือ เป็นเรื่องปลอดภัย ถ้าเราสามารถปกป้อง ผู้ให้จากการหมดแรง และทำให้เป็นเรื่องโอเค หากพวกเขาจะมุ่งไปสู่เป้าหมายของตัวเอง และช่วยเหลือคนอื่น เราจะสามารถเปลี่ยนคำนิยามความสำเร็จ แทนที่จะพูดว่า มันเป็นเรื่องของ การชนะในทุกสนาม ทุกคนจะเริ่มตระหนักว่า ที่จริงความสำเร็จเป็นเรื่องของการช่วยเหลือ ผมเชื่อว่า หนทางสู่ความสำเร็จ ที่มีความหมายที่สุด คือการช่วยให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จ และหากเราส่งต่อความเชื่อนี้ เราจะสามารถเปลี่ยนความหวาดระแวง ไปอย่างสิ้นเชิง ที่จริงมีคำเรียกนะครับ เรียกว่า โพรนอยด์ (Pronoia) หรือความหลงเชื่อว่า คนอื่น ๆ อยากให้เรามีความสุข (เสียงหัวเราะ) ลับหลังเรา พวกเขาพูดถึงแต่สิ่งดีงามเกี่ยวกับเรา สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในวัฒนธรรมของผู้ให้ คือ นั่นไม่ใช่ภาพหลอน แต่เป็นความจริง ผมอยากอยู่ในโลกที่ ผู้ให้ประสบความสำเร็จ และหวังว่าคุณจะช่วยผม สร้างโลกแบบนั้นขึ้นมา ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)